คุยกับปราปต์ : โลกไม่สวยของการเป็นนักเขียนและบทเรียนจากการถูกโบยตีในโลกออนไลน์

ความสลับซับซ้อนของโคลงกลอนและการซ่อนเงื่อนกลทางภาษา กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจที่ทำให้ เต็ก-ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ หรือนามปากกา ปราปต์ นักเขียนเลือดใหม่วัย 28 ปี ในตอนนั้น เลือกหยิบวัตถุดิบซึ่งเป็นภูมิปัญญาของกวีโบราณมาใช้ใน กาหลมหรทึก นิยายแนวสืบสวนสอบสวนเล่มแรกของเขาได้อย่างมีเสน่ห์และชาญฉลาด

ปริศนากลโคลงในนิยายได้แรงบันดาลใจมาจากจารึกที่สลักอยู่ตามเสาระเบียงวัดโพธิ์ ปราปต์ชุบกลโคลงและกลอักษรในกรอบศิลาอายุร่วมร้อยปีให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตและโลดแล่นอีกครั้งในงานเขียนแนวสืบสวนได้อย่างน่าทึ่ง ‘แดน บราวน์ แห่งสยามประเทศ’ จึงกลายมาเป็นคำยกย่องพร้อมๆ กับเป็นคำโฆษณาที่สร้างภาพจำให้แก่นักเขียนหน้าใหม่ผู้นี้อย่างรวดเร็วหลังการประกาศรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี 2557

ความโดดเด่นในการเล่นโลดโผนกับถ้อยคำธรรมดากลายเป็นเอกลักษณ์ในงานเขียนของปราปต์ บ้างว่านี่คือความแตกฉานทางการใช้ภาษา บ้างว่านี่คือการตกแต่งถ้อยคำให้เข้าใจยากเกินจำเป็น หลากหลายคำวิจารณ์ทั้งบวกและลบหลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสายในช่วงหลังการประกาศผลรางวัล จนทำให้ชื่อของปราปต์และผลงานของเขากลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงหนึ่งบนโลกออนไลน์

การพยายามตีฝ่าขนบการเขียนนิยายสืบสวนแบบเดิมๆ ด้วยการนำโคลงกลอนแบบไทยๆ เข้าไปช่วยไขคดี ได้สร้างแนวทางใหม่สำหรับผู้ที่อยากลิ้มลองวรรณกรรมรสชาติไม่จำเจ แน่นอนว่างานเขียนชิ้นนี้ของเขาได้รับการพูดถึงในวงกว้าง ตั้งแต่ผู้สนใจนิยายสืบสวนสอบสวน กลุ่มคนที่สนใจงานเขียนเชิงสร้างสรรค์ ไปจนถึงนักวิจารณ์วรรณกรรมสายแข็ง

คำวิจารณ์ที่ดีย่อมเป็นเหมือนแรงไฟที่กระตุ้นพลังสร้างสรรค์ให้ทำงานต่อไป ในขณะที่คำวิจารณ์เชิงลบย่อมบั่นทอนกำลังใจผู้สร้างงาน และนั่นทำให้เขากลับไปตั้งคำถามกับตัวเองในเส้นทางสายนักเขียนที่เลือกเดิน

คำวิจารณ์เหล่านี้กลายมาเป็นแบบทดสอบสำคัญของชีวิตช่วงนั้น ทางแยกในการเดินตามความฝันกับความอยู่รอดในโลกของความเป็นจริงเป็นสองทางที่ยากจะดำเนินมาบรรจบกัน การผ่านวิกฤตเรื่องคำวิจารณ์และการไม่ยอมแพ้ในวันนั้น เป็นเหมือนเครื่องพิสูจน์ความมั่นคงของก้าวย่างบนเส้นทางสายน้ำหมึก ไม่เพียงแต่ต้องการพิสูจน์ตัวเองกับคนอื่น แต่สิ่งสำคัญคือ ‘เขากำลังพิสูจน์ตัวเองกับตัวเอง’

เพราะเป็นนักเขียนจึงเจ็บปวด และนี่เป็นทางเดินที่เขาเลือกจะกระโจนเข้ามาอย่างไม่คิดถอยหลังกลับ

ทุกบาท ทุกบท ทุกวรรค ทุกประโยค ที่ปราปต์ถ่ายทอดลงในงานเขียนของเขา เป็นสิ่งที่เขาเลือกทำด้วยความรักและทุ่มเท 4 ปีให้หลัง หลังจากการประกาศผลรางวัลในครั้งนั้น ปราปต์สร้างผลงานอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เขาขยายขอบเขตการเขียนของตนเองไปสู่แนวทางที่หลากหลาย

จนถึงวันนี้คำว่านักเขียน ‘หน้าใหม่’ ที่ห้อยท้ายชื่อของเขาในช่วงแรก ค่อยๆ เลือนรางจางลงจนเข้าใกล้คำว่านักเขียน ‘อาชีพ’ ขึ้นทุกวัน

หลังจากวิ่งตามความฝันที่จะได้ตีพิมพ์หนังสือมาตลอดสิบปีเต็ม ความคาดหวังค่อยๆ คลี่คลายมาเป็นการยอมรับความจริง การพยายามปรับตัว เรียนรู้ และหาจุดสมดุลระหว่างความฝันและความอยู่รอด ความคิดและชีวิตนักเขียนในขวบวัยที่ 31 ของปราปต์ กำลังรอให้เราเข้าไปสำรวจ

ทำไมคุณถึงเลือกหยิบกลโคลงไปใส่คดีฆาตกรรมใน กาหลมหรทึก และทำให้ดูโมเดิร์น ในขณะที่หลายคนมองว่าโคลงกลอนเป็นอะไรที่เก่าและเชย
ตอนแรกเราไม่รู้จักกลโคลงมาก่อน แต่พอจะแต่งกาพย์กลอนธรรมดาได้บ้าง มีครั้งหนึ่งเคยได้ฟังเรื่องกลโคลงวัดโพธิ์จากวิทยุ รู้สึกว่าน่าสนใจมาก ตอนที่ฟังก็นึกไปถึงการไขรหัสลับใน The Da Vinci Code และโดยพื้นฐาน เราชอบอ่านเรื่องแนวสืบสวนสอบสวน เรื่องระทึกขวัญอยู่แล้ว เลยลองแต่งกลอนและจับแนวเรื่องสืบสวนที่เคยอ่านมายำรวมกัน บางคนที่อ่าน The Da Vinci Code ก็จะบอกว่าสไตล์การเขียนของเราเหมือนแดน บราวน์ แต่บางคนที่อ่านงานของอากาธา คริสตี้ ก็จะบอกว่าโครงเรื่องเราคล้ายงานของอากาธา ในขณะที่บางคนจะบอกว่างานเขียนเรามีบรรยากาศเหมือนนิยายสืบสวนชุด คินดะอิจิ เพราะมีความยะเยือกเหมือนนิยายสืบสวนญี่ปุ่น เราอ่านแนวสืบสวนของทั้งญี่ปุ่น ฝรั่ง ไทย เลยดึงทุกอย่างมาผสมรวมกัน

ตอนเขียน กาหลมหรทึก เราทำรีเสิร์ชไว้หมดเลยว่าเรื่องสืบสวนที่เราชอบอ่านมีเทคนิคการเขียนยังไงบ้าง เวลาเราอ่านหนังสือแต่ละเล่มจบ เราจะทำลิสต์ออกมาว่าแต่ละเรื่องมีจุดเด่นยังไง แล้วค่อยเลือกหยิบมาใช้ในงานเรา อย่างตอนอ่าน คินดะอิจิ ก็จะลิสต์ไว้ว่ามีจุดเด่นอะไร หลายครั้งฆาตกรชอบทำลายหน้าศพเพราะเมื่อก่อนยังตรวจอีเอ็นเอไม่ได้ หรือเรื่องปมสังหารที่ติดพันกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เราหยิบเรื่องเด่นๆ เหล่านี้มาใช้ใน กาหลมหรทึก ด้วย เพียงแต่ใช้ปริศนาโคลงกลอนในการผูกเรื่อง

แสดงว่าคุณไม่ได้อ่านหนังสือเฉยๆ แต่อ่านแบบเลาะตะเข็บ เลาะโครงสร้างไปเรื่อยๆ คุณทำแบบนี้กับหนังสือทุกเล่มที่อ่านมั้ย
ใช่ ทุกวันนี้เลยกลายเป็นคนอ่านหนังสือช้า เพราะเราอ่านเพื่อจะดูว่านักเขียนเขียนยังไง ใช้ภาษาแบบไหน โชคดีที่เรารู้ตัวเร็วว่าอยากเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเด็ก เลยเริ่มอ่านเริ่มเขียนมาตั้งแต่ยังไม่รู้เลยว่าหนังสือแบบนี้เรียกว่านิยาย มีครั้งหนึ่งเคยได้อ่านเรื่อง หุบเขากินคน ของ มาลา คำจันทร์ อ่านแล้วชอบมาก รู้ตัวว่าเราเกิดมาเพื่อจะเขียนอะไรแบบนี้แหละ จากนั้นก็สังเกตเรื่องการใช้ภาษามาตลอด

ที่อ่านหนังสือละเอียด มีการตั้งเป้าหมายในการอ่านการเขียนชัดเจน เป็นเพราะปัจจัยเรื่องการส่งประกวดด้วยมั้ย
ใช่ครับ เราอ่านทุกแนว ทั้งนิยายแปลและนิยายไทย อย่างงานของทมยันตี โบตั๋น พอโตขึ้นก็เริ่มอ่านงานคุณชาติ กอบจิตติ กฤษณา อโศกสิน หรืออ่านเรื่องชีวิตที่หนักขึ้น อ่านทุกอย่าง ช่วงแรกๆ เราเขียนนิยายรักลงเว็บไซต์ dek-d.com ก็มีที่ได้ตีพิมพ์รวมเล่มบ้าง เพราะช่วงนั้นนิยายตาหวานบูมมาก พอถึงยุคขาลงเราก็พยายามขยับไปเขียนเรื่องที่จริงจังขึ้น แต่ปรากฏว่างานเราไม่ได้ตีพิมพ์อีกเลยประมาณสิบปี ระหว่างนั้นเราลองเปลี่ยนแนวการเขียนไปเรื่อยๆ ตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่าทำไมมันไม่ได้ตีพิมพ์สักที ตอนนั้นอายุเราก็ปาเข้าไป 28 แล้ว คนรอบตัวก็เริ่มเป็นหลักเป็นฐาน แต่ทำไมเราถึงยังไปไม่ถึงไหนเลย

เคยคิดถึงขนาดว่าการเป็นนักเขียนเหมือนเป็นคำสาปที่ทำให้เราไม่สามารถขยับไปทำอย่างอื่นที่เติบโตกว่านี้

ตอนนั้นมีหลายคนบอกว่าให้เราลองเขียนส่งประกวด เพราะอย่างน้อยจะได้มีคนรู้จักเรามากขึ้น แต่เราไม่ชอบอ่านหนังสือสายประกวดเลยและเรารู้สึกว่าเราเป็นคนมีฝีมืออยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น (หัวเราะ) ตอนนั้นคิดแบบนี้จริงๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่งานไม่ได้ตีพิมพ์สักทีก็เริ่มสงสัยตัวเองว่าหรือเราไม่เก่งพอ เราเลยกำหนดเส้นตายและให้เวลาตัวเองอีกปีเดียวเท่านั้น ถ้าปีนี้ยังไม่ได้พิมพ์ก็คงขยับไปทำอย่างอื่น เราจะเลิกฝันแล้ว

พอดีตอนนั้นเป็นช่วงที่มีการประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด ปี 2557 พอดี โจทย์ในปีนั้นคือนิยายแนวสืบสวนสอบสวนที่เราชอบ และเป็นจังหวะที่เรามีพล็อตนี้ติดอยู่ในใจมานานแล้ว เลยลองส่งประกวดดู คิดแค่ว่าถ้าได้รางวัลก็จะเขียนต่อ แต่ถ้าไม่ได้ก็จะเลิกเขียนหนังสือไปเลย

มีเวทีนี้เป็นตัวชี้วัดการเลือกทางเดินชีวิตในตอนนั้น
ใช่ ตอนนั้นมีเวลาแค่ 3 เดือนในการเขียนส่งประกวด พอเขียนจบแล้วเรารู้สึกว่าเราชนะตัวเองระดับหนึ่ง เราภูมิใจ สนุก มีความสุขกับมัน ตอนนั้นไม่รอผลรางวัลอะไรแล้ว พอเขียน กาหลมหรทึก จบก็เริ่มเขียนเล่มใหม่ทันทีเลย

พอรู้ว่าได้รางวัลชนะเลิศและได้ตีพิมพ์หนังสือ รู้สึกว่าได้เติมเต็มสิ่งที่อยากได้มาตลอดมั้ย
จริงๆ รู้สึกว่าได้เติมเต็มตั้งแต่เขียนจบแล้ว เรารู้สึกว่าเราทำได้ และงานชิ้นนี้ไม่เหมือนชิ้นอื่น เพราะเราจริงจังกับมันมาก พอรู้ว่าได้รางวัล มันก็ช่วยในแง่ที่ยืนยันความสามารถของเรามากกว่า แต่ก็ยังรู้สึกว่าการเขียนหนังสือเป็นคำสาปอยู่นะ (หัวเราะ)

ทำไม
นักเขียนเมืองไทยไม่สามารถอยู่รอดได้แบบนักเขียนเมืองนอก นักเขียนบางคนเขียนงานชิ้นเดียวสิบปี เขียนเสร็จแล้วดังเลย ไม่ต้องทำอะไรก็อยู่ได้ แต่อย่างเราพอได้รางวัลก็ดีใจอยู่วูบหนึ่งเพื่อจะแตกสลายและต่อสู้ใหม่ เรามองว่าตลาดสำหรับนักเขียนไทยยังน้อย เพราะเราไม่ได้แปลหรือทำเป็นภาพยนตร์ที่ส่งขายเมืองนอกได้ เรารู้สึกเหมือนกันว่าไม่ยุติธรรมกับเราเลย พอเรามาเขียนหนังสือและประสบชะตากรรมนี้ด้วยตัวเอง รู้สึกเลยว่าต้นทุนเราไม่เท่ากันจริงๆ นักเขียนบางคนเขียนหนังสือออกมาแล้วหยุดทำงานไปสิบปีได้เลย แต่พอเป็นเรา ถ้าไม่ได้เงินจากงานอื่นมาเลี้ยงตัว เราไม่รู้เลยว่าเราจะทำอาชีพนักเขียนยังไง

มีช่วงหนึ่งที่เราอยากจะเป็นนักเขียนแบบไม่ทำงานอย่างอื่นเลย แล้วเราก็ตาสว่างว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้

แสดงว่าคนที่จะทำงานเขียนเป็นอาชีพได้ต้องมีฟูกที่หนาพอ
ใช่ เราว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่นักเขียนจะอยู่ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ทำงานอื่น นักเขียนไทยไม่ได้เป็นเหมือน เจ. เค. โรว์ลิ่ง ส่วนหนึ่งที่เขาอยู่ได้เพราะรวยจากการขายลิขสิทธิ์หนังสือ ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และของพรีเมียมต่างๆ แต่เขาก็ยังเขียนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลของ แฮร์รี พอตเตอร์ ออกมาขายได้เรื่อยๆ แต่ที่ทำอย่างนั้นได้เพราะมันขายได้ไง แต่ลองคุณทำเพราะรักแต่ขายไม่ได้ดูสิ คุณจะยังทำต่อมั้ย เรารู้สึกว่าทุกวันนี้นักเขียนไม่สามารถเขียนหนังสือและอยู่แบบเดิมได้อีกแล้ว นอกจากคุณจะโชคดีมากหรือเก่งมากๆ และเรารู้ดีว่าชีวิตเราไม่ได้โชคดีหรือเก่งขนาดนั้น จึงต้องตะเกียกตะกายมากกว่าคนอื่นและทำงานประจำคู่กันไป

จุดพลิกผันเกิดขึ้นตอนไหนที่คุณบอกว่า ตาสว่างและตัดสินใจจะไม่ยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหลัก
เป็นตอนช่วงที่เล่ม นิราศมหรรณพ ออก เราโดนด่าหนักมาก เพราะเรื่องนี้เป็นแนวแฟนตาซี-ไซไฟ คนที่ตามมาจากเล่ม กาหลมหรทึก ก็จะด่าหนักเลย หนักจนเรารู้สึกว่านี่เราทำอะไรผิดไปหรือเปล่า ขนาดเจ้านายยังไม่กล้าด่าเราแรงขนาดนี้เลยนะ (หัวเราะ) พอจบจากเรื่องนี้ก็จะเป็นช่วงรางวัลซีไรต์ ตอนนั้นก็โดนลากไปด่ายาวเหมือนกัน เพราะงานเราผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้งสองเรื่อง คนเลยจับตามองเพราะเราเป็นนักเขียนใหม่ อย่างช่วงหลังๆ เราไม่กล้าเข้าไปใน goodreads.com เลยนะ จิตตก เพราะคนด่าเยอะมาก

หลังจากนั้นเรากลับมามองงานตัวเองใหม่ บางเรื่องเราเขียนเพราะสนุกที่จะเขียน แต่คนอ่านคาดหวังว่าต้องมีสาระ ต้องจรรโลงสังคม ตอนที่โดนด่าหนักๆ ในเรื่อง นิราศมหรรณพ รู้สึกว่าข้างในใจสั่นคลอนมากๆ ไม่รู้จะเขียนหนังสือต่อไปดีมั้ย พอถึงจุดหนึ่งก็หาเวทีใหม่แล้วก็ส่งประกวดไปเรื่อยๆ และเริ่มตัดสินใจได้ว่างานเขียนอาจจะไม่สามารถเป็นอาชีพหลักที่เลี้ยงเราได้ ความคาดหวังก็น้อยลงจากตอนแรก เราแค่เขียนให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ก็พอแล้ว

อย่างนี้เรียกว่าฝันสลายมั้ย
เหมือนเรามองโลกจากความจริงมากกว่า ถ้าถามว่าฝันสลายมั้ย ก็ใช่นะ เมื่อก่อนเราคิดว่ามันดูสวยงามนะที่มีคนชื่นชม ได้รางวัลวรรณกรรม ได้ไปสัมภาษณ์ที่นั่นที่นี่ แต่ว่าข้างในใจเราจะมีจุดที่ให้สัมภาษณ์อยู่แล้วรู้สึกเหมือนกำลังโกหกตัวเอง ต้องนั่งยิ้มทั้งๆ ที่ในใจร้องไห้อยู่ ไม่รู้ว่าจะเดินต่อไปยังไง จะเขียนยังไง พอเขียนออกมาคนอ่านก็ด่าอยู่ดี มันไม่เหมือนกับเส้นทางฝันที่เราวาดไว้ เพราะเรามองว่างานแต่ละชิ้นเป็นเหมือนลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ

ถ้าลูกโซ่อันใดอันหนึ่งขาด ก็เหมือนกับทางเดินไปสู่ฝันของเราขาดไปเหมือนกัน ช่วงนั้นรู้สึกหดหู่มากๆ เพราะเราคาดหวังมาก

ในตอนนั้นคุณใช้อะไรเป็นหลุมหลบภัย
สิ่งดีๆ ในช่วงนั้นคือการรู้ว่ายังมีคนตามอ่านงานเราอยู่ เริ่มมีฐานคนอ่านกลุ่มใหม่ๆ บางคนไม่เคยอ่านงานเรามาก่อน แต่มาอ่านเพราะเป็นช่วงโปรโมตละคร กาหลมหรทึก ในขณะเดียวกัน งานเขียนที่เราส่งประกวดก็มีได้รางวัลบ้าง เลยรู้สึกว่าพอจะมีทางไปได้อยู่ หลังๆ ลองขยายแนวการเขียน หันไปเขียนแนวที่จับตลาดคนอ่านกลุ่มใหญ่มากขึ้น และพยายามเขียนเรื่องที่จะหยิบไปทำละครได้ เพราะงานแต่ละชิ้นมีโจทย์ของมัน เป็นโจทย์จากทั้งสำนักพิมพ์ ทั้งการตลาด สุดท้ายแล้วคนที่ชอบงานเราก็มี คนที่ไม่เข้าใจก็มี แต่ไม่เป็นไร เพราะเราไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้ และไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปผูกกับอะไรที่ทำให้ตัวเองดิ่ง

ที่บอกว่าพยายามเขียนเรื่องที่ทำละครได้ คุณได้มองไปถึงการเขียนหนังสือเพื่อตอบโจทย์ให้เป็นบทละครระยะยาวเลยมั้ย
นักเขียนบางคนที่เขียนนิยายรักก็ตั้งใจเขียนให้เป็นแบบนั้น หรือสำนักพิมพ์เองก็จะมีโจทย์ว่าเขาจะเอาหนังสือไปเสนอค่ายละครนะ มันเป็นการต่อยอดในแง่ธุรกิจ ถ้าจะปิดกั้นตัวเองมันก็เหนื่อย แต่ถ้าถามว่าตัวเราเองจะทำแบบนั้นเลยมั้ย ก็คงต้องจัดสัดส่วน เราเขียนอยู่เรื่องหนึ่งที่กำลังทำร่วมกับสำนักพิมพ์สถาพรบุ๊คส์และช่อง 3 พยายามบาลานซ์ให้มีส่วนที่ยังเป็นตัวเราอยู่ สารที่เราจะสื่อ และมีส่วนที่คนดูละครจะชอบและขายได้ เรารู้สึกว่าละครแบบเดิมไม่ใช่ว่าจะขายได้เสมอไป หรือนิยายรักแบบเดิมที่จะเอาไปทำละครก็ต้องเปลี่ยน เพราะมันไม่ได้ตีตลาดได้แบบเดิม คนเสพละครไม่ได้อยากดูละครแบบเดิมๆ อีกแล้ว ถ้าคิดว่าจะเพลย์เซฟตบจูบแล้วยังขายได้ ไม่มีทางเป็นไปได้แน่นอน

ตอนที่หนังสือ กาหลมหรทึก ได้ไปทำเป็นละคร เรารู้สึกว่าได้ย้ายตัวเองเข้าไปสู่ธุรกิจอัสดงอีกแบบหนึ่งแล้วนะ คือเป็นช่วงที่สื่อโทรทัศน์กำลังได้รับผลกระทบ โฆษณาน้อยลง เรตติ้งน้อยลง มันทำให้เราตาสว่างจริงๆ ว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว เราจะไปยึดติดกับอะไรเดิมๆ ไม่ได้อีก เมื่อทุกอย่างเปลี่ยน เราต้องเปลี่ยนตามโลกให้ได้ ถ้าเปลี่ยนตามไม่ได้คุณก็จะตายไปกับของเก่า

แล้วตอนที่รู้ว่า กาหลมหรทึก ได้นำไปสร้างเป็นละคร ความคาดหวังเป็นยังไงที่จะได้เห็นเรื่องในกระดาษไปโลดแล่นอยู่บนจอแก้ว
ตอนแรกงงๆ เพราะเรื่องนี้ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำเป็นละครได้ เป็นเรื่องแนวสืบสวนและใช้ฉากเก่าทั้งหมด แต่เราเชื่อมือและเชื่อใจทีมงาน เขาให้เกียรติมาบอกเราตลอดว่าจะปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องตรงไหนบ้าง พอเริ่มประกาศตัวนักแสดงก็มีแฟนคลับนักแสดงมาอ่านหนังสือเรามากขึ้น ครั้งนี้เราไม่ได้ตั้งรับกับคำวิจารณ์อะไรเลย เพราะเราคิดว่างานละครไม่จำเป็นต้องเหมือนกับหนังสืออยู่แล้ว มันเป็นอิสระจากกัน หนังสือเหมือนหนังที่อยู่บนตัวเสือ ในขณะที่ละครเหมือนการเอาหนังสือไปตัดเป็นเสื้อผ้า ถึงตอนนั้นมันก็เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปแล้ว เราเข้าใจเรื่องการปรับเปลี่ยนจากหนังสือเป็นบทโทรทัศน์ เพราะถ้าทำแบบหนังสือ ไม่มีทางทำได้แน่นอน

หลังๆ ที่คุณหันมาเขียนหนังสือตามโจทย์เป็นหลัก ยังถือว่าเป็นชีวิตนักเขียนที่คุณฝันถึงมั้ย
ตอนนี้ปรับใจได้แล้ว คืองานวรรณกรรมเราเขียนได้ งานที่ต้องทำตามโจทย์เราก็เขียนได้ แล้วเรายังเอาความเป็นวรรณกรรมหรือเอาแนวคิดที่เราอยากสื่อสารใส่ลงในงานแนวอื่นได้ เหมือนเราต้องเอาน้ำไปใส่ให้ถูกภาชนะ ว่าสำนักพิมพ์แต่ละที่อยากได้งานแบบไหน เวทีประกวดอยากได้งานแบบไหน เราต้องสามารถปรับตัวตามให้ได้

แสดงว่าการมีมัลติฟังก์ชั่นของนักเขียนในยุคนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ปองวุฒิ รุจิระชาคร เป็นไอดอลของเรา อยากทำให้ได้แบบนั้น คือเขียนได้หลายๆ แนว ทั้งงานวรรณกรรมและงานแมส เราคิดว่ารุ่นเราเป็นรุ่นที่เสียเปรียบนักเขียนรุ่นก่อนๆ เพราะเราอยู่ในยุคกึ่งกลางระหว่างนักเขียนรุ่นเก่ากับนักเขียนเด็กๆ สำหรับนักเขียนรุ่นเก่าก็จะมีโลกของนักเขียนชั้นครูไปเลย คุณแค่เขียนให้ดี งานนั้นอาจจะหล่อเลี้ยงคุณไปได้อีกนาน ถึงแม้คุณไม่โปรโมตหรือขายไม่ได้ คุณก็มีฐานแฟนคลับที่พร้อมจะติดตามผลงานของคุณ แต่ถ้าคนในรุ่นเดียวกับเราคิดแบบนี้ เราว่าอันตรายมาก โดยเฉพาะถ้าคุณไม่มีงานประจำมาช่วย

แต่ถ้าเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะเป็นโลกของนิยายแฟนฟิก (fan-fiction) เขาโตมาด้วยวัฒนธรรมอีกแบบหนึ่ง บางคนกล้าขายหนังสือในแบบที่เราไม่กล้าขาย ในความคิดของเรา หนังสือเป็นสินค้าที่ตะโกนได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว แค่รอคนมาหยิบอ่าน หนังสือไม่ใช่ผักปลาที่ต้องตะโกนให้มาหยิบ ทุกวันนี้ความรู้สึกเราก็เป็นอย่างนั้นอยู่ เราเลยรู้สึกเสียเปรียบเพราะเราโตมากับยุคกึ่งกลางระหว่างความเก่ากับความใหม่ คำว่า “รู้อะไรให้กระจ่างแต่อย่างเดียว”

ในสมัยนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว เพราะคุณต้องทำได้ทุกอย่าง นักเขียนต้องโปรโมตตัวเองได้แม้จะมีสำนักพิมพ์คอยสนับสนุนก็ตาม ทุกวันนี้ยังมีอีกหลายอย่างที่เราไม่ได้อยากทำ แต่ก็ต้องทำให้ได้

แสดงว่าที่บางคนบอก ‘อุดมการณ์กินไม่ได้’ เป็นความจริงสำหรับนักเขียนในยุคนี้
ต้องตีความก่อนว่าอุดมการณ์คืออะไร อุดมการณ์การเขียนของเราคือเราสามารถสื่อสารอะไรดีๆ ให้คนอ่านได้ บางเรื่องเราไม่สามารถพูดได้โต้งๆ แต่เราซ่อนไว้ในงานเขียนได้ คือเราได้พูดในสิ่งที่อยากจะพูดแล้ว ในขณะที่คุณอาจจะไม่กล้าพูดก็ได้ในงานของคุณ อุดมการณ์ของเราในวันนี้เป็นแบบนี้ เราสามารถทำมันได้และรู้สึกดีกับสิ่งที่กำลังทำ

ในยุคนี้ถ้าจะให้เรามาเขียนอะไรที่ดีมากที่อยากเขียนจริงๆ แต่ต้องแลกกับการอดมื้อกินมื้อ หรือต้องมีใครมาทุกข์ร้อนเพราะเรา นั่นเป็นสิ่งที่เราทนไม่ได้

นี่หรือเปล่าที่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณพยายามเดินคู่ขนานไประหว่าง ความลึก กับ ความแมส
ใช่ๆ อีกอย่างหนึ่งคือเราคิดว่า ถ้าเราทำตามอุดมการณ์โดยที่เรายังต้องเกาะพ่อแม่กินหรือไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ เราไม่โอเคที่จะให้ตัวเองเป็นคนแบบนั้น ถ้าเราจะมีชีวิตสวยงามอยู่คนเดียวโดยไม่แคร์โลก ไม่แคร์คนรอบข้าง เราทำไม่ได้

และเรารู้สึกอีกอย่างหนึ่งว่าสังคมไทยใจร้ายกับนักเขียนด้วยนะ คือคุณเรียกร้องอยากอ่านงานดีๆ อย่างเดียว ในขณะที่นักเขียนต้องไปเพาะบ่มมาตั้งเท่าไหร่กว่าจะออกหนังสือมาสักเล่ม เขาจะเอาเงินจากไหนมาเลี้ยงตัวเองในช่วงที่เขากำลังเก็บชั่วโมงบินหรือสั่งสมประสบการณ์ แต่พองานออกมาดี ทุกคนชื่นชมแล้วสักพักก็จากไป ทุกวันนี้เราเลยพยายามหาจุดสมดุลให้ยืนระยะอยู่ได้ยาว และต้องอยู่ให้ได้อย่างดีด้วย

ลึกๆ แล้วคุณคิดว่างานวรรณกรรมเดินคู่ไปกับการตลาดได้มั้ย
เราไม่ได้ต่อต้านการตลาด แต่ลึกๆ แล้วก็ยังรู้สึกอยู่ว่าให้หนังสือขายตัวเองดีกว่า แต่สังคมยุคนี้เปลี่ยนไปแล้ว เราถึงต้องพยายามเข้าใจ เพราะถ้าฝืนก็คงไปไม่รอด จริงๆ เราคิดว่างานวรรณกรรมเดินคู่ไปกับการตลาดได้ เพียงแต่ว่าต้องมองให้ขาด ตอนนี้แวดวงหนังสือของไทยแบ่งงานที่จับตลาดกลุ่มใหญ่กับงานวรรณกรรมแยกออกจากกัน คนวรรณกรรมก็จะให้ค่าว่าหนังสือนี้มีคุณค่าสูง ก็จะไม่มานั่งป่าวประกาศ แต่ในความเป็นจริงทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว คนเขียนหนังสือก็เป็นอีกแค่อาชีพหนึ่งและต้องนำเสนอหนังสือให้ได้ หนังสือเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ต้องขาย คนทำงานวรรณกรรมไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างอีกต่อไป

แล้วคุณประนีประนอมงานเขียนของคุณให้ตอบโจทย์การตลาดยังไง
งานเราไม่ใช่งานวรรณกรรมจ๋า แต่ภาษาจะอ่านยากกว่างานแมสนิดหนึ่ง เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าเราเขียนหนังสือดีนะ แต่บรรณาธิการก็จะบอกว่าต้องเขียนให้อ่านง่ายกว่านี้อีก อย่างนิยายเรื่อง ห่มแดน เป็นงานที่เราส่งประกวดในนิตยสาร สกุลไทย ที่จัดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ความฝันตอนนั้นของเราคืออยากให้งานเขียนได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร แต่พอเราโตขึ้นปรากฏว่านิตยสารปิดตัว เลยรู้สึกว่าโลกถล่มลงมาอีกครั้ง แต่ยังไงเราก็ต้องปรับตัวให้ทัน ต้องวิ่งหาคนที่จะพิมพ์ให้เราจนได้

และงานเขียนที่เป็นโปรเจกต์พิเศษกับสำนักพิมพ์โซฟาอย่างเรื่อง ร้านโชเฮี้ยน ที่มีโจทย์เกี่ยวกับเรื่องการตลาด เราก็ต้องประนีประนอมด้วยการเขียนให้ภาษาอ่านง่ายขึ้นมากๆ โครงเรื่องห้ามซับซ้อน เพราะฐานผู้อ่านส่วนใหญ่เป็นเด็ก โชคดีที่เราอ่านหนังสือหลายแนวอยู่แล้ว บ้านเราเคยเปิดร้านโชห่วยและตัวเราเคยเรียนการตลาดมาจึงมีเรื่องที่อยากเล่า เล่มนี้เราเลยไม่ได้เขียนงานที่เป็นแนววรรณกรรมจ๋า มีการหยิบเรื่องการตลาดที่ไม่ซับซ้อนหรือกรณีศึกษาใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เรื่องภาษาก็ต้องเบาจาก กาหลมหรทึก มาก พยายามปรับทุกอย่างให้ตอบโจทย์สำนักพิมพ์ แต่ก็ยังมีคนอ่านวิจารณ์ว่า ‘หนังสือที่อ่านสบายๆ กับหนังสือที่ไม่มีอะไรเลย มันเป็นแค่เส้นบางๆ’ โห ตอนนั้นเราเจ็บปวดมาก แต่คนที่เข้าใจและเปิดใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ก็มี บางคนก็บอกว่าปราปต์พัฒนาตัวเองนะ เพราะเมื่อก่อนเรามีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาที่อ่านยาก คนอ่านที่ตามมาเรื่อยๆ ก็จะเข้าใจว่าเรากำลังพัฒนาส่วนไหนอยู่ แล้วเรารู้สึกดีใจที่คนกลุ่มนี้ยังให้โอกาส สุดท้ายแล้วเราไม่สามารถบอกทุกคนได้ว่าเรากำลังทำอะไร ถ้าไม่ชอบก็คือไม่ชอบ ถ้าคุณหมดศรัทธากับงานของเราแล้วก็ช่วยไม่ได้

พอต้องมาเขียนตามโจทย์ให้ถูกใจสำนักพิมพ์ รู้สึกว่าที่ทำอยู่คือการทรยศตัวเองมั้ย
ไม่รู้สึกว่าทรยศตัวเองนะ มันก็มีข้อดีในอีกแบบหนึ่ง งานที่เขียนตามโจทย์ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่ใช้ความพยายาม เพราะเราต้องตั้งโจทย์ใหม่ ใช้กรอบความคิดใหม่ เรารู้สึกว่างานทุกชิ้นยากในแบบของมัน และงานทุกชิ้นมีคนอ่านและมีคนให้ค่ามันอยู่แล้ว จริงๆ เรื่องผีที่เขียนในเรื่อง ร้านโชว์เฮี้ยน ก็คล้ายกับ กาหลมหรทึก เลย เพียงแต่เปลี่ยนจากกลโคลงที่เป็นหัวใจหลัก มาใช้หลักการตลาดในการสืบสวนเท่านั้นเอง คือเราเอาชั้นเชิงของการทำงานวรรณกรรมมาใส่มันจึงไม่ได้กลวงเปล่า เราคิดเสมอว่าการที่เราเขียนงานแมส คือการที่เราสามารถสื่อสารอะไรบางอย่างไปให้คนวงกว้างได้ อาจจะทำให้คนอ่านเห็นอะไรที่แปลกไปกว่าสิ่งที่เขาเชื่อ และเรามองว่ามันเป็นประโยชน์

อะไรที่ทำให้คุณยังเชื่อในระบบสำนักพิมพ์ ทั้งที่คุณก็มีฝีมือพอจะตีพิมพ์แบบ self-publishing เองได้
สิบปีที่ผ่านมา ถึงงานเราจะได้เผยแพร่ลงในอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้มีคนอ่านเยอะ บางคนที่ตีพิมพ์หนังสือเองได้เพราะมีฐานคนอ่านอยู่แล้ว อย่างของเราที่บอกว่าเป็นงานแมส มันก็ไม่ได้แมสจริงๆ อยู่ดี อย่างเล่ม ร้านโชว์เฮี้ยน ค่อนข้างจับกลุ่มแมสก็จริง แต่ถ้าไปอ่านทั้ง 3 เล่มในเซ็ตนี้จะรู้สึกได้เลยว่าเล่มอื่นแมสกว่าเพราะว่าอ่านง่ายกว่า เราเลยรู้สึกว่าเรายังไม่แข็งแกร่งพอจะตีพิมพ์เอง และอีกอย่างคือเราต้องจัดการทุกอย่างเอง เราคิดว่าเราแค่เขียนหนังสือให้ดีที่สุดอยู่ตรงนี้ดีกว่า นอกนั้นก็ให้คนอื่นที่เขามีประสบการณ์จัดการไป

อีกอย่างคือเราคิดว่าการมีบรรณาธิการต้นฉบับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานเราดีขึ้นมาก หลายครั้งที่บรรณาธิการทักท้วงมา แล้วก็เป็นจริงตามนั้น เราจะเห็นได้เลยว่าการแก้ให้ประโยคง่ายขึ้นเป็นแบบไหน มันไม่ใช่ดีต่องานนั้นงานเดียว แต่ส่งผลกับการเขียนในเล่มต่อๆ ไปด้วย แม้กระทั่งนักเขียนที่ตีพิมพ์เองก็ควรจะมีบรรณาธิการ

แต่คุณเลือกจะอยู่กับสำนักพิมพ์มากกว่า
เราสะดวกที่จะทำอย่างนี้มากกว่า อย่างนักเขียนหลายคนที่ตีพิมพ์เอง รายได้ที่ได้รับอาจจะมากกว่าพิมพ์กับสำนักพิมพ์ก็จริง แต่ที่สำคัญคือมันต้องขายได้ด้วย ตัวเราเองก็ไม่แน่ใจว่างานของเราจะขายได้ขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะงานเราไม่ได้แมสขนาดนั้น ถ้าเราต้องไปเหนื่อยทำเองทุกอย่าง สู้เราไปเหนื่อยกับการเขียนแล้วทำให้ดีที่สุดดีกว่า แต่บางครั้งก็รู้สึกว่าแม้จะได้พิจารณาตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ แต่ได้ยอดตีพิมพ์น้อยและต้องนำเสนอตัวเองขนาดนั้น สมัยนี้การพิมพ์หนังสือเองไม่ได้ยากเหมือนสมัยก่อนแล้ว แถมยังมีช่องทางติดต่อนักอ่านได้โดยตรงด้วย เราคิดว่านักเขียนหลายๆ คนก็คิดเหมือนกันว่า สำนักพิมพ์ยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า

จุดยืนการเป็นนักเขียนในตอนนี้คืออะไร
จุดยืนคือเราจะเขียนหนังสือโดยที่ต้องดูแลตัวเองได้ เลี้ยงดูครอบครัวได้ บางครั้งมีคนมองว่าเราตกต่ำถึงขนาดต้องไปเขียนเรื่องแมสๆ แล้วเหรอ ถ้าใครมาพูดอย่างนี้ เราจะมองว่าเขาใจแคบนะและเราไม่จำเป็นต้องฟัง แล้วถ้าถึงวันหนึ่งเราไม่มีจะกิน คุณก็ไม่ได้ให้อะไรเรา สมมติว่าวันหนึ่งเราเขียนงานได้ดีมาก ถึงตอนนั้นก็จะยังมีคนด่าเราอยู่ดี ไม่มีทางที่ทุกคนจะรักเรา ทุกวันนี้เวลาโดนชมก็จะหย่อนตัวเองลงมาเยอะ เพราะเราเจอคำวิจารณ์แรงๆ มาค่อนข้างเยอะ

ถึงขนาดว่ามีช่วงหนึ่งที่คิดกับตัวเองว่า ทำไมชีวิตเราน่าสงสารขนาดนี้วะ เพราะเราคาดหวังอยากจะเป็นนักเขียนอาชีพมาตลอดชีวิตไง แล้วก็ต้องตะเกียกตะกายเพื่อให้ได้รางวัล แล้วก็ดันเป็นช่วงที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เข้าสู่ยุคอัสดง ก็ถามตัวเองขำๆ ว่า ทำไมต้องมาอัสดงตอนยุคกูด้วยวะ (หัวเราะ)

แต่เราคิดว่าก็ดีเหมือนกันที่ความกดดันทำให้เรามีวัตถุดิบ อย่างเวลาเจออะไรที่บีบคั้นมากๆ มันเหมือนมีจิตวิญญาณบางอย่างที่เราปลดปล่อยลงไปในงานเขียนได้ บางครั้งความกดดันเรียกร้องมุมมองใหม่ๆ เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับตัวเอง ถ้าทุกอย่างดีหมด เราก็จะไม่ได้เรียนรู้ตัวเอง งานก็จะย่ำอยู่ที่เดิม เราก็จะเขียนงานแบบ กาหลมหรทึก ไปอีกสิบเล่ม ถ้าให้ย้อนกลับไปมอง กาหลมหรทึก ที่เราเคยภูมิใจนักหนา ตอนนี้มันกลายเป็นเรื่องสืบสวนใสๆ ในสายตาเราไปแล้ว มันไม่ได้บรรจุอะไรเยอะขนาดนั้น ในขณะที่งานแมสบางเล่มที่เราเขียนอาจจะมีพลังบางอย่างที่มากกว่างานที่ได้รางวัลด้วยซ้ำ

ดูเหมือนความกังวลค่อยๆ คลี่คลายมาเรื่อยๆ แล้วสิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานเขียนทุกวันนี้คืออะไร
ทุกวันนี้ การบาลานซ์คือสิ่งที่ยากที่สุด ว่าเราจะใส่ตัวเองลงไปในงานแค่ไหน ทำตามโจทย์ของสำนักพิมพ์ได้แค่ไหน ยอมประนีประนอมกับการตลาดได้แค่ไหน ตั้งแต่ กาหลมหรทึก ออกมา ชีวิตพลิกมาก ตอนแรกเราฝันว่าจะได้เข้ามาสู่วงการนักเขียนเต็มตัว พอได้เข้ามาสัมผัสจริงๆ ก็รู้ว่ามีทั้งแง่ดีและไม่ดีเหมือนวงการอื่นๆ นั่นแหละ เมื่อก่อนเราคิดแค่ว่าอยากมีบ้านอยู่ริมทะเล เขียนหนังสือ และเล่นกับแมว (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว ถึงจะมีบ้านอยู่ริมทะเล แต่คุณก็ต้องตื่นมาทำงานตามโจทย์ โปรโมต และขายหนังสืออยู่ดี

เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราจะเป็นนักเขียนเท่านั้น ไม่ใช่ทำงานเขียนเป็นแค่งานอดิเรกเหมือนคนอื่นๆ บางคนไม่ได้ให้ค่างานนี้เท่ากับที่เราให้ค่า พอมาถึงจุดหนึ่งที่เราคาดหวังกับมันเยอะ แล้วเราไม่สามารถทำได้ มันก็เหมือนโลกทลาย แต่ก็ดีที่ทำให้เราได้ตื่นมาเจอความจริงและต้องปรับตัวกันไป ถ้าไม่ปรับก็ต้องหันหลังเลิก แต่เรายังไม่อยากยอมแพ้ ทุกวันนี้เขียนหนังสือก็ยังมีความสุขอยู่นะ แต่เป็นเหมือน hate-love relationship ทั้งรักทั้งเกลียด เพราะการเขียนหนังสือเป็นงานหนักนะ แต่เราก็ได้มายืนอยู่ในจุดที่เราถวิลหามาตลอดชีวิตแล้วไม่ใช่เหรอ อุตส่าห์สู้มาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ถือว่าต้องยอมแลก

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

AUTHOR