“หลุดจากอำนาจนิยม อยู่โดยไม่มีมายาคติ” วีรพร นิติประภา

เจ็บปวด ร้าวราน
ชอกช้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนความโศกเศร้าไม่มีวันจางหาย
คือลักษณะเฉพาะตัวในงานเขียนของ วีรพร
นิติประภา
เจ้าของนวนิยายรางวัลซีไรต์ปี 58 ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต อดีตนักโฆษณา
คนทำนิตยสาร และแม่ของลูกชาย 1 คน หนังสือเล่มนี้สั่นสะเทือนวงการนิยายในปีที่แล้ว
ด้วยความเศร้าโรแมนติกมหาศาล และกลิ่นอาย magical realism ลึกลับ หลังนิยายเล่มแรกในชีวิต
นักเขียนชุดดำกำลังออกหนังสือเล่มที่ 2 ในงานหนังสือที่จะถึงนี้ ก่อนจะถึงวันนั้น เราขอให้วีรพรย้อนทบทวนเรื่องราวช่วงชีวิตที่ผ่านมา

ปกติไม่ได้เป็นคนชอบคิดเรื่องกลับไปแก้ไขอะไรในอดีตได้
เพราะเชื่อว่าไม่มีอะไรแก้ไขได้ทั้งนั้น แตกแล้วแตกเลย แล้วก็ไปต่อ
ไม่มีไอเดียว่าถ้าย้อนกลับไปช่วงนั้นของชีวิตได้ ฉันจะ… ไม่งั้นเราจะไปต่อไม่ได้
เพราะชีวิตคนทุกคนเต็มไปด้วยความผิดพลาด อย่างไรการย้อนกลับมันไม่มีทางเกิดขึ้นอยู่ดี”

“มันมีละคร super existentialism อยู่เรื่องนึง
นานมากแล้ว ชื่อเรื่อง ‘อยากให้ชีวิตนี้ไม่มีเธอ’ คนเขียนถ้าไม่ใช่ออสเตรียก็เยอรมัน เป็นเรื่องของผู้ชายคนนึง เรื่องเริ่มจากตอนท้ายของชีวิตผู้ชายคนนี้ที่ชีวิตพังเพราะผู้หญิงคนนึง
คิดว่าถ้าเลือกได้ฉันจะไม่เจอเธอ เลยได้โอกาสย้อนกลับไปวันแรกที่เจอผู้หญิง ก็จีบเขาอยู่ดี
เพราะว่า ณ ตอนนั้นคุณไม่มีความทรงจำว่าชีวิตจะไปยังไง คุณก็เลือกเขาอยู่ดี มีความสุขอยู่ดี
แล้วก็กลับมาใหม่ ขอเลือกอีกทีเถอะ กลับไปแต่งงาน ทุกอย่างก็เหมือนเดิมไง”

“ไม่ว่าคุณเริ่มเลือกจากจุดไหนของกาลเวลา
มันขึ้นอยู่กับฟังก์ชันอื่นๆ กับประสบการณ์ของคุณ กับประสบการณ์ของเขา
ความไม่รู้ของเรา เพราะฉะนั้นทางเลือกของเราทุกคนจึงเหมือนเดิม คุณมีทางเลือก
แต่คุณก็มีทางเลือกจำเพาะเท่าที่คุณมี ไม่มากกว่านั้น และไม่น้อยกว่านั้น
ชีวิตคุณไม่มีทางเลือกมากนักหรอก ต่อให้คุณรู้ด้วยซ้ำ รู้สึกว่าตอนจบของเรื่อง
ต่อให้คุณรู้ว่าชีวิตคุณจะฉิบหายในท้ายที่สุด แล้วจะเลือกต่างออกไปมั้ย ก็ไม่
ภูมิอากาศ ณ วันนั้น ภูมิหลัง ณ วันนั้น ผู้ชายหรือผู้หญิงคนนั้น อาหารเช้าวันนั้น
ทุกอย่างคือองค์ประกอบของการเลือกในวันนั้น”

“คนเราความจำเสื่อม
หาแฟนใหม่ทีไรหน้าเหมือนแฟนเก่า สันดานเหมือนแฟนเก่า
หาแฟนมากี่คนเฮงซวยเท่ากันหมดเลย เลิกกันเพราะเขาเจ้าชู้ หาใหม่โคตรเจ้าชู้เลย
มันชอบ เราถูกดึงดูดโดยสิ่งเดิมๆ หรือเราอาจมีกลไกทำลายตัวเอง
กูอยากตายด้วยการหาผู้ชายเหี้ยๆ ซ้ำๆ เราไม่รู้ว่ามันเป็นกลไกทำลายตัวเอง
ลงโทษตัวเอง หรือเป็นความงงๆ ไปอย่างนั้น ชอบผู้ชายเจ้าชู้เจ้าเสน่ห์ เพราะผู้ชายขี้เท่อมันเจ้าชู้ไม่ได้ไง
ไม่มีใครเอา เลยถูกตัดจากสารบบความเจ้าชู้ไปโดยปริยาย เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ
เรามักซื้อของผิด โทรศัพท์มือถือนี้สวยจังเลย แล้วคุณก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก
สวยก็ซื้อเลย สวยและราคาถูก แล้วคุณก็ชอบลิปสติกสวยและราคาถูก
หม้อหุงข้าวสวยและราคาถูก แล้วก็สองวันเจ๊งเหมือนเดิม”

“ส่วนตัวเรา เรารู้สึกว่าไม่เคยหลุดจากนิสัยเสียอะไรได้เลย
ฉันรู้ว่าฉันต้องทำสิ่งนี้หาย แล้วก็พยายามแก้ปัญหาแต่ก็หายอยู่ดี
เลยตอบลำบากว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองได้มากแค่ไหน”

ท่ามกลางความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในพฤติกรรมมนุษย์
ความรุนแรงในทรงจำเกี่ยวกับบ้านเมือง วีรพรผู้บอกว่าไม่อยากเปลี่ยนแปลงอดีต เลือกมองอนาคตของคนอีกรุ่นที่เธอปลูกด้วยอิสรภาพและความรักในฐานะแม่คนหนึ่ง

“ประวัติศาสตร์การเมืองที่เราเจอมันเลวร้ายมาก
มันเป็นบาดแผลของคนรุ่นนึง เหมือนรูอยู่ข้างใน มันต้องการคำตอบ แล้วเราจะสอนลูกหลานอย่างไร
คุณเองก็เติบโตในสังคมอำนาจนิยม ในระบบโซตัส ครูอยู่สูงกว่า เอะอะนักเรียนก็กราบ
แอร์โฮสเตสก็กราบ ดังนั้นเราก็ทำในส่วนเล็กๆ ของเรา สอนลูกว่าจะเชื่ออะไรก็แล้วแต่
ข้อที่หนึ่ง โปรดหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ข้อที่สอง แม้แต่แม่แกก็อย่าเชื่อ
ข้อที่สาม ฉันไม่ได้มีอำนาจเหนือเธอ มันเริ่มจากที่บ้าน
แล้วเขาก็กลายเป็นลิเบอรัลที่น่าสนใจคนนึง ในส่วนของปัจเจกคุณทำได้เท่านี้
ไม่ใช่ว่าสอนลูกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่พออยู่ในบ้านคุณก็บีบบังคับลูกคุณ
กินสิไอ้นี่กินเข้าไป พ่อแม่ก็ผ่านการเลี้ยงดูแบบอำนาจนิยม
ที่สุดคุณก็เลี้ยงลูกแบบอำนาจนิยม”

“ถ้าคุณจะตัดวงจรนี้ต้องตัดจากที่บ้าน
ลูกไม่ไปโรงเรียนเรายังปล่อย มันค่อนข้างแย่นะ แย่ที่สุดในชีวิตเด็กบ้าเรียน
แต่เขาก็รอดมาได้ 3 ปี เช้ามาเดินเทิ่งๆ ในบ้าน ไม่รู้จะทำอะไร จบไป 3 ปีแบบนั้น
คุณจะสร้างคนที่ลิเบอรัลยังไง มันเจ็บปวดพอสมควรในสังคมแบบนี้
คุณก็ต้องให้เขาผ่านให้ได้ และสามารถอยู่โดยไม่ใช่แค่หลุดจากอำนาจนิยม แต่อยู่โดยไม่มีมายาคติ
เขาก็มีความเชื่อของเขา แต่ก็เลือกได้ solid ที่สุดเท่าที่มนุษย์คนนึงจะเลือกได้
ไม่ต้องห่วงว่าแม่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ เพราะแม่จะยักไหล่แล้วบอกว่าชีวิตของใคร
ใครคนนั้นดูแล อย่ามาถามฉัน ฉันดูแลชีวิตตัวเองก็จะตายห่าแล้ว
ฉันไม่สามารถดูแลชีวิตเธอได้หรอก ลูกมาถาม โตขึ้นเป็นอะไรดี อย่ามาถาม จะไปรู้เหรอ
อยากเป็นอะไรก็เป็น ไม่เป็นเลยก็ได้ ในขณะที่พ่อแม่ทั่วไปไม่พูดแบบนั้น ลูกเรียนบัญชีสิจ๊ะ
มึงรู้ดี มึงใช้มาชีวิตเดียว ยังไม่เสร็จด้วยนะ ใช้มาครึ่งๆ ไม่เสร็จดี
รู้ดีอีกแน่ะ รู้ได้ยังไง”

“เราว่าคนรุ่นใหม่กลัวชีวิต
ถูกคนรุ่นเก่าขู่ ท้องก่อนเรียนจบชีวิตต้องพัง ติดยาชีวิตต้องพัง แค่เริ่มต้นใหม่
เด็กไทยไม่ใช้ชีวิต กลัวชีวิต กลัวเอนทรานซ์ติด กลัวเรียนไม่ไหว กลัวเรียนไม่จบ
กลัวหางานทำไม่ได้ กลัวไม่มีบ้าน กลัวไม่มีผัว แม่งโคตรกลัวเลย
กลัวจนไม่ได้ใช้ชีวิต เราไม่มีรัฐสวัสดิการมั้ง คนรุ่นนี้กลัวไปหมด
รุ่นพี่เราอายุน้อยๆ ไปมาแล้ว 56 ประเทศ เผลอๆ มีลูกมีผัวแล้วด้วย เป็นคนรุ่นที่น่าสนใจพอสมควร
หรือเจ็นพังก์ หนุ่มๆ สาวๆ ชูนิ้วกลาง ตอนนี้ก็ปกติ ไม่ได้ไปเดินชูนิ้วใส่ใคร
คนเราก็ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงแค่ช่วงเดียว เห็นวัยรุ่นยุคนี้เริ่มสตาร์ทอัพ สตาร์ทอะไรล่ะ
สตาร์ทแล้วก็นั่งอยู่ตรงนั้น ก็สตาร์ทไปแล้ว จะอัพหรือดาวน์ก็ต้องทำงานแล้ว ยังไม่ได้ไปเนปาล
ยังไม่ได้ไปมาชูปิกชู ไปผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนอะไรสักอย่าง
มีผู้หญิงที่รักก็ไม่ได้อยู่ด้วยกันเพราะต่างคนต่างทำงาน ผ่อนบ้านกับรถ”

“เราอยากได้สัก 2 – 3 ชีวิต
เท่าที่อยู่มาก็ไม่ได้โลดโผนนะ เดินทางน้อยเกินไปเพราะมีลูกเร็ว
แต่ถ้าถามว่าเสียดายอะไรมั้ย ไม่เลย มันก็เป็นการเดินทางอีกแบบไง การมีลูกเป็นการเดินทางเข้าไปข้างใน
ซึ่งสำหรับบางคนมันจำเป็น สำหรับบางคนอาจจะไม่จำเป็น มันแตกต่างกัน

“ในวัยสาวเราเป็นคนแปลก
แต่กูไม่รู้ว่ากูติสท์ และกูไม่เคยทำงานติสท์ ไม่ได้ทำงานสร้างสรรค์แบบ pure form แบบแต่งนิยาย แต่ทำงานโฆษณา
ทำงานแต่งตัว แล้วเราก็อ่านหนังสือ ซึ่งในมาตรฐานพังก์มึงคบไม่ได้
เพราะมึงอ่านหนังสือ ส่วนจะคบคนอ่านหนังสือก็ไม่ได้ เพราะมึงแต่งตัวทุเรศว่ะ
มึงแต่งตัวเหมือนผู้หญิงโง่ ผู้ชายมาจีบก็เพราะแปลก ก็อกหักตลอดเวลา
เราอยู่ในโลกที่สับสน วัยสาวก็หมดไปกับเรื่องรักที่แปลกประหลาด ผู้ชายขี้เท่อ
และอื่นๆ เพราะฉะนั้นการมีลูกเร็วของเรามันจำเป็น”

“ทันทีที่มีลูก
ชีวิตไม่ได้เปลี่ยนไปเลย แต่เรารู้สึกเชื่อมโยงกับทุกอย่างที่เคยอ่าน เคยรู้
คิดว่ารู้ บางทีเรารู้แต่เราไม่มีจุดเชื่อมโยง เราไม่รู้จะอธิบายมันอย่างไร
แปลกมาก อธิบายยากมาก การมีลูกทำให้เราเชื่อมโยงกับชีวิต แบบโง่ๆ เลย ง่ายๆ สำเร็จรูป
ตู้มเดียว ช่วงเวลาการเติบโตของลูก เราหมดเวลาไปกับการเลี้ยงลูก
ซึ่งถามว่าพลาดอะไรมั้ยก็ไม่นะ ออกจะชอบอยู่
มีความรู้สึกอยากเขียนหนังสือแต่รู้ว่าทำไม่ได้
เพราะมันเป็นอาชีพที่ยากต่อการเป็นแม่ แต่ครอบครัวหายนะหนึ่งครอบครัว
แมวอีกหนึ่งตัว มันอยู่ในหัวเราตลอดเวลา”

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ จะเริ่มต้นโลดแล่นในมือนักอ่านในงานหนังสือที่จะถึงนี้ เราถอยหลังออกมาจากมายาคติเรื่องชีวิตและมองสังคมอำนาจนิยมอีกครั้ง ก่อนดำดิ่งสู่โศกนาฏกรรมของครอบครัวไร้ใบหน้าในประเทศไร้ทรงจำ

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ
ขอบคุณสถานที่ Thong Lor Art Space Bangkok

AUTHOR