“เราไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นศิลปิน แต่เราอยากเห็นทุกคนรักศิลปะ” เป้าหมายที่ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ อยากไปให้ถึง

“เราไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นศิลปิน แต่เราอยากเห็นทุกคนรักศิลปะ” เป้าหมายที่ ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผอ.หอศิลปกรุงเทพฯ อยากไปให้ถึง

หลายคนน่าจะเห็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งประเด็นดราม่าของนิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA และความพยายามจะขอพื้นที่หอศิลป์คืนของ กทม. ปัญหาที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะทำให้คนทำงานเบื้องหลังหนักใจอยู่บ้าง แต่อย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือกระแสข่าวเหล่านี้เริ่มทำให้คนหันมามองและทำความเข้าใจหอศิลป์ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานครแห่งนี้มากขึ้น

แล้วพวกเขาเองล่ะ คิดยังไงกับกระแสนี้?

เพื่อตอบข้อสงสัย เราชวนผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ หรือที่เรามักจะเรียกเขาติดปากว่า ‘ครูป้อม’ มาสนทนากันถึงเหตุการณ์นี้ ตลอดหลายนาทีที่เราพูดคุยกัน เรารับรู้ได้อย่างแท้จริงว่า ครูป้อมคือคนที่รักในหอศิลป์และอยากผลักดันงานศิลปะอย่างแท้จริง

และเราอยากให้ทุกคนได้ฟังคำบอกเล่าจากเขาด้วยกัน

ช่วงนี้มีกระแสหลายเรื่องทั้งดีและไม่ดีเกี่ยวกับหอศิลป์ ในฐานะ ผอ. ครูป้อมมองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

ผมมองว่าเป็นโอกาสอันดีนะครับ ผมมองวิกฤตเป็นโอกาสมาตลอด ในวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ หอศิลป์จะดำเนินงานมาครบ 10 ปีพอดี กระแสครั้งนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้บอกประชาชนที่หันมาสนใจให้ทราบว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเราทำอะไรบ้าง และสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง หลายคนเลยที่เพิ่งรู้ว่า หอศิลป์บริหารงานโดยมูลนิธิที่ได้รับการสนับสนุนจาก กทม. และหลายคนก็ได้รู้ว่าเรากำลังมีปัญหาด้านงบประมาณที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้จากสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว มีความช่วยเหลือเข้ามาหาเรามากมาย โดยรวมเป็นช่วงที่หลายคนให้ความสนใจ แล้วเราก็คิดว่ามันเป็นโอกาสที่เราจะได้ทบทวนเพื่อปรับปรุงพัฒนาเหมือนกัน

กรณีดราม่านิทรรศการ Caravaggio OPERA OMNIA ครูป้อมมองเห็นโอกาสอะไร

จากที่ DUDESWEET เขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เรารับฟังทุกความเห็นและจะเอาไปปรับปรุงนะครับ แต่กระแสที่เกิดก็ทำให้คนมาดูงานนี้เยอะมาก คือจริงๆ แล้วงานนี้ถูกวางแผนกันตั้งแต่ปีที่แล้วก่อนที่ผมจะเข้ามาทำงานซะอีก เรากังวลเหมือนกันว่าจะมีคนสนใจไหม เพราะคาราวัจโจไม่ใช่ศิลปินที่คนทั่วไปจะรู้จัก มีโจทย์ให้ผมคิดในตอนแรกเยอะเหมือนกันว่าควรทำอย่างไรดี แต่ผมมองว่าการใช้ printing HD หรือ digital painting คือการนำเสนอในรูปแบบใหม่ ซึ่งนอกจากตรงนี้ หอศิลป์เรายังจัดกิจกรรมอื่นที่ส่งเสริมไปกับนิทรรศการด้วย อย่างการแสดงดนตรีจากภาพยนตร์อิตาเลียนของนิสิตคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกวันอังคารตอน 6 โมงครึ่ง หรือมีการบรรยายเกี่ยวกับนิทรรศการผ่านการดีเบตระหว่างนักประวัติศาสตร์ศิลป์และนักวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าทั้งหมดนี้คือแนวโน้มของศิลปะร่วมสมัยที่ศิลปะจะไปเชื่อมโยงกับอีกหลายๆ ด้าน สิ่งที่เกิดขึ้นเลยสนุกมากครับ

ทำไมเราถึงต้องพยายามเอาศิลปะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ดูห่างจากศิลปะด้วย

ศิลปะเชื่อมโยงอยู่กับทุกอย่างนะครับ เพราะสำหรับผม ศิลปะไม่ใช่เรื่องสุนทรียะอย่างเดียว มันเป็นช่องทางในการแสดงออกทางความคิด ดังนั้นศิลปะเลยมีความเป็นไปได้และความเชื่อมโยงเยอะมาก อย่างวันก่อนผมเจออาจารย์ชาวฝรั่งเศสและนักศึกษามาสอนภาษาฝรั่งเศสผ่านการดูงานศิลปะ มันก็พิสูจน์ว่าศิลปะสามารถเชื่อมโยงกับอะไรก็ได้

การที่เราอยากให้ศิลปะเข้าใกล้คนมากขึ้น แสดงว่าในตอนนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังห่างไกลกับเรื่องนี้อยู่หรือเปล่า

ผมคิดว่าเป็นเพราะการเรียนการศึกษาของเราด้วย ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม เราสอนศิลปะให้เด็กวาดรูป เต้น นาฏศิลป์ไทย หรือต่างๆ นานา แต่เราไม่เคยสอนให้เด็กเน้น art appreciation เราเลยไม่สามารถเชื่อมโยงศิลปะเข้ากับวิชาอื่นๆ ได้ พอพื้นฐานเราเป็นแบบนี้ หอศิลป์เลยต้องทำให้คนทั่วไปเห็นว่าเรามีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอย่างอื่นด้วย เพื่อให้คนที่มองเห็นเขาได้ใช้สมองทั้งสองด้าน

ปัจจุบันการรับรู้เรื่องศิลปะในไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากเดิมไหม

ทุกวันนี้เวลาผมเดินในหอศิลป์ ผมจะเห็นคน 2 กลุ่มใหญ่ๆ หนึ่งคือชาวต่างชาติ บางคนอาจจะแค่มาฝากกระเป๋า แต่อย่างน้อยถ้าเขามาเห็น ผมถือว่าเป็นความภูมิใจของคนไทยนะครับ เรามีหอศิลป์อยู่ที่ทำเลเศรษฐกิจแบบนี้ก็ทำให้ชาวต่างชาติหลายคนประหลาดใจ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนักศึกษา หอศิลป์เราพยายามจะสื่อสารกับวัยรุ่นอยู่แล้ว จากสถิติคนที่เข้ามาในหอศิลป์ 35 เปอร์เซ็นต์ เป็นนักเรียนนักศึกษาโดยที่ไม่ใช่นักศึกษาฝั่งศิลปะอย่างเดียวแต่เป็นนักศึกษาทั่วไป ตัวเลขเราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ดังนั้นก็พูดได้ว่าแนวโน้มดีขึ้นครับ

การเอาศิลปะลงมาใกล้กับคนมากขึ้น ทำให้มีคนไม่เห็นด้วยหรือมีรุ่นใหญ่มองว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของศิลปะไหม

ผมสนใจเยาวชนมากกว่านะครับ นี่คืออนาคตของประเทศชาติ ผมรู้สึกว่าการที่พวกเขาจะเริ่มต้นเข้ามาดูได้ มันเริ่มจากสิ่งใกล้ตัวก่อน กลุ่มนี้คือประชากรส่วนใหญ่ แต่เราก็อยากพัฒนาประสบการณ์การรับชมงานที่นี่ให้เหมาะกับคนทุกกลุ่ม ในโอกาสครบรอบ 10 ปีนี้ เรามาทบทวนแล้วก็พบว่าการบูรณาการศิลปะและเชื่อมโยงคือเทรนด์ของอนาคต บางคนอาจจะติดกับกรอบที่ว่าศิลปะเป็นเรื่องสูงส่ง จริงๆ มันก็มาจากชีวิตประจำวันเราที่เชื่อมโยงกันเนี่ยแหละครับ ศิลปินหลายคนก็เลือกออกนอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเองและไปทำงานกับคนที่ไม่เคยทำมาก่อน สุดท้ายนวัตกรรมจะเกิดขึ้น

นี่เป็นภาพสุดท้ายที่เราอยากให้หอศิลป์เป็นเลยไหม หรือครูป้อมอยากเห็นภาพไหนมากที่สุด

(นิ่งคิดนานและยิ้ม) ผมอยากให้คนไทยทุกคนพูดได้ว่าเขาเคยมาหอศิลป์ อันนี้เป็นความฝันสูงสุดเลยนะครับ ผมอยากให้หลายคนพูดว่าเคยมาที่นี่ เหมือนกับที่พูดว่าเคยมาสยามพารากอนหรือสยาม เพราะมันเป็นที่สาธารณะเหมือนกัน ถ้าเขามา เขาก็ไม่เสียอะไรเลยนอกจากเวลา มันเป็นสิทธิของประชาชน ดังนั้นเราต้องทำตรงนี้ให้ได้ สิ่งที่เราทำก็เหมือนกับงานบริการ เพราะเราอยากให้คนที่มาหอศิลป์แล้วมีความสุขหรือได้รับอะไรกลับไป เราไม่ต้องการให้ทุกคนเป็นศิลปิน แต่เราอยากให้ทุกคนรักศิลปะแล้วมองว่าศิลปะเกี่ยวกับชีวิตเขา มันเป็นเป้าหมายที่สูงเหมือนกันนะ แต่ถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายขนาดนี้ เราคงไปไม่ถึง

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด