“วิธีช่วยหอศิลป์ที่ดีที่สุดคือไปหอศิลป์” จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหอศิลปกรุงเทพฯ ​โดนตัดงบ?

Highlights

  • ตั้งแต่ปี 2561 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครอย่างที่เคยเป็นมาตลอด โดยอ้างว่าหอศิลป์ไม่ทำตามสัญญาโอนสิทธิ์ข้อที่ 8 ที่กล่าวว่าหอศิลป์จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และภาษีด้วยตนเอง และไม่อนุมัติงบประมาณปี 2562
  • การตัดงบทำให้หอศิลป์ต้องหาวิธีการแก้ไข โดยตั้งแต่เกิดเรื่อง มูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ​ ยื่นเรื่องไปยังกรุงเทพมหานครหลายครั้งเพื่อให้มีการแก้ไขสัญญา รวมถึงต้องออกมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อให้หอศิลป์สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
  • เราทุกคนสามารถช่วยเหลือหอศิลป์ได้ง่ายๆ ด้วยการบริจาคเงินช่วยเหลือ หรือไปร่วมกิจกรรมที่หอศิลป์เพื่อแสดงให้เห็นว่าในเมืองแห่งนี้ยังมีคนที่รักศิลปะ รักหอศิลป์ และจะสนับสนุนหอศิลป์ให้ถึงที่สุด

ใจเย็นๆ ก่อน เพราะแม้ข่าวการตัดงบหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาจะทำเอาคนรักศิลปะหัวร้อน แต่จริงๆ แล้ว ในปัญหานี้ยังมีหลายเรื่องที่เราควรทำความเข้าใจ ตลอดจนคำถามที่ว่าเราจะช่วยหอศิลป์ยังไงได้บ้าง

ต้นตอของปัญหางบประมาณ

  • ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่ากรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของตึกหอศิลป์ และทำสัญญาโอนสิทธิให้มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเข้ามาดูแลบริหารงานตั้งแต่ปี 2554 เป็นเวลา 10 ปี และกรุงเทพมหานครจะมีงบสนับสนุนให้ทุกปี
  • ในสัญญาโอนสิทธิข้อที่ 8 ระบุว่าหอศิลปกรุงเทพฯ จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียม และภาษีด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครสนับสนุนงบให้หอศิลป์มาโดยตลอดปีละ 40-45 ล้านบาท (คิดเป็น 55% ของเงินบริหาร ส่วนหอศิลปจัดหาทุนเองอีก 45%)
  • ตั้งแต่ปี 2561 กรุงเทพมหานครไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองในการส่งงบสนับสนุนมาให้ โดยอ้างว่าการจ่ายเงินให้หอศิลป์เป็นการทำผิดสัญญาข้อ 8 และไม่อนุมัติงบในปีงบประมาณ 2562 ที่จะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมนี้
  • นั่นแปลว่าปัญหาอยู่ที่ตัวสัญญา ซึ่งต้องไม่ลืมว่าทั้งฉบับร่างโดยกรุงเทพมหานคร และถ้าจะแก้ก็ต้องแก้โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งตั้งแต่มีการท้วงติงว่าหอศิลป์ทำผิดสัญญา ทางมูลนิธิก็พยายามติดต่อสภากรุงเทพมหานครมาตลอดเพื่อให้มีการแก้ไขสัญญาแต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ
  • อีกปัญหาที่เกิดขึ้นคือในปีงบประมาณ 2561 (ปีที่ผ่านมา) สภากรุงเทพฯ โยกงบประมาณของหอศิลป์ไปไว้ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว แต่ว่าตลอดปีที่ผ่านมาสำนักวัฒนธรรมฯ ไม่ได้จ่ายเงินให้หอศิลป์ตามแผนงานที่เสนอไป เหตุเพราะสัญญาโอนสิทธิ์ข้อ 8 ทำให้หอศิลป์เริ่มเจอปัญหา จนกระทั่งวันที่ 26 กันยายน ที่มีใบแจ้งจากการประปาส่งมาที่หอศิลป์ว่าจะทำการระงับการใช้น้ำชั่วคราว
  • หอศิลป์มีการหาทุนด้วยตัวเองมาโดยตลอด คิดเป็น 45% ของงบประมาณทั้งหมด แต่ด้วยสัญญาที่ระบุให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของหอศิลป์เป็นพื้นที่ไม่แสวงหากำไรทำให้หอศิลป์ไม่สามารถขยายพื้นที่ให้สปอนเซอร์เข้ามาสนับสนุนได้อีก

หอศิลป์จะเป็นยังไงถ้าไม่มีงบสนับสนุนจาก กทม.?

  • ที่ผ่านมา หอศิลป์ใช้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งของ กทม. เพื่อจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งถ้าไม่มีเงินก้อนนี้ หอศิลป์ก็ต้องรับภาระจ่ายค่าสาธารณูปโภคเอง ทำให้ต้องตัดงบจัดกิจกรรมต่างๆ
  • คิดแบบไม่รวมค่าน้ำ ค่าไฟ งบประมาณเท่าที่หอศิลป์มีอยู่ตอนนี้จะสามารถบริหารได้ถึงแค่กลางปีหน้า และยังไม่แน่ใจว่าหากต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟเองด้วย หอศิลป์จะมีงบประมาณเพียงพอถึงเมื่อไหร่
  • เทศกาลละครกรุงเทพฯ ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนได้รับผลกระทบหนักเพราะหอศิลป์คือพื้นที่เปิดการแสดงหลักที่หนึ่ง (นอกจากหอศิลป์ ยังมีโรงละครต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่จัดแสดงละครในเทศกาลอีกด้วย) เมื่อหอศิลป์โดนตัดงบประมาณ ก็ทำให้มีการต้องจัดสรรตารางการเล่นใหม่ให้ใช้เวลาน้อยลง มีการย้ายละครบางเรื่องไปเล่นในสวนสาธารณะแทน รวมถึงไม่มีงบสนับสนุนให้เยาวชนเดินทางมาดูละคร จนทำให้คนดูเด็กๆ น้อยลงแน่นอน
  • อีกหนึ่งเทศกาลที่จะได้รับผลกระทบคือ Bangkok Art Biennale หรือเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ วันที่ 19 ตุลาคม 2561 – 3 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งหอศิลป์ได้รับบทบาทเป็นแกลเลอรีให้ Marina Abramović ศิลปินระดับโลก และศิลปินในสังกัดมาจัดแสดง performance art เป็นเวลา 3 อาทิตย์เต็มๆ ดังนั้น หากหอศิลป์มีปัญหาเรื่องงบประมาณจนบานปลาย น้ำไม่ไหล ไฟก็ดับ ทางผู้จัดเทศกาลก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนต่อไป

หอศิลป์จะแก้ปัญหาอย่างไร?

  • หอศิลป์คาดว่างบประมาณปี 2561 ที่อยู่ที่สำนักวัฒนธรรมฯ น่าจะเหลือประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งกำลังเดินเรื่องขอให้ทางสำนักฯ กันงบส่วนนี้ไว้เพื่อโยกไปจ่ายค่าสาธารณูปโภคในปีหน้า แต่ผ่านมา 10 วันหลังส่งจดหมายยื่นเรื่องก็ยังไม่มีการตอบรับ
  • ตอนนี้หอศิลป์ได้ทำการตัดงบนิทรรศการจาก 81 ล้านบาทเหลือ 53 ล้านบาท ทำให้ในปีหน้าจะมีชั้นจัดแสดงนิทรรศการหนึ่งชั้นที่ว่างไป 2 เดือน และอีกชั้นที่ว่างไป 4 เดือน
  • หนึ่งในมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่กำลังพิจารณาคือการปรับเวลาให้บริการจาก 10:00-21.00 น. เป็น 11:00-20:00 น. และหยุดวันจันทร์เช่นเคย เพื่อให้ใช้น้ำ ไฟน้อยลง
  • ใครแวะมาหอศิลป์ตอนนี้จะเจอกล่องรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือหอศิลป์ หรือจะบริจาคผ่านการโอนเงินเข้าบัญชีก็ได้ และเร็วๆ นี้หอศิลป์จะทำ QR Code ออกมาให้บริจาคง่ายขึ้นด้วย
  • ถ้าแวะมาหอศิลป์แล้วอย่าเพิ่งกลับ ถ่ายรูปที่นี่สักนิดแล้วติดแฮชแท็ก #saveYOURbacc สักหน่อยเพื่อแสดงให้เห็นว่าที่นี่ยังมีปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
  • นอกจากการบริจาค ผศ.ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ยังแนะนำว่า พวกเราทุกคนที่รักหอศิลป์สามารถช่วยหอศิลป์ได้ง่ายๆ ด้วยการมาร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่หอศิลป์ เพื่อแสดงพลังว่าในเมืองแห่งนี้ยังมีคนที่รักศิลปะ รักหอศิลป์ และจะสนับสนุนหอศิลป์ให้ถึงที่สุด

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

เจ้าของเพจ T E 4 M ที่หลงใหลในมุกตลกคาเฟ่และชื่นชอบน้องหมาหน้าย่นเป็นที่สุด