ปีนี้สอนให้รู้ว่า “ลิมิตคือสิ่งที่เราตั้งไว้เอง” – นิโคลีน รองอันดับ 1 Miss World 2018

Highlights

  • นิโคลีน–พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ คือหญิงสาววัย 20 ผู้ครองตำแหน่ง Miss Thailand World 2018 และรองอันดับ 1 Miss World 2018 เป็นรางวัลสูงสุดที่คนไทยเคยได้จากเวทีมิสเวิลด์
  • นอกจากความงาม สิ่งที่ทำให้นิโคลีนได้หัวใจของแฟนนางงามไปเต็มๆ คือการทำโครงการ Love For All โครงการเพื่อสนับสนุนเด็กๆ ออทิสติกและเด็กที่มีความต้องการพิเศษ โดยมีแรงบันดาลใจจากน้องชายที่เป็นออทิสติกของเธอเอง
  • แต่กว่าจะเป็นนิโคลีนเวอร์ชั่นทุกวันนี้ เธอก็เคยล้มเหลวมาก่อน โดยเฉพาะการตกรอบเวทีมิสยูนิเวิร์ส ก่อนหญิงสาวจะลุกขึ้นใหม่และตั้งใจกับการประกวดมิสเวิลด์ เวทีที่สอนให้เธอรู้ว่าลิมิตก็เป็นสิ่งที่ตัวเราตั้งไว้เองเท่านั้น

“ขอคิดก่อนนะ เรื่องเยอะมากเลยปีนี้” นิโคลีน

หญิงสาววัย 20 ตรงหน้าเราพูดไปหัวเราะไปเมื่อเราถามว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาของเธอเป็นยังไงบ้าง เอาแค่วันนี้ เธอก็ต้องตอบคำถามสื่อ 5-6 เจ้าเข้าไปแล้ว ส่วนเสื้อผ้าที่ต้องเปลี่ยนเพื่อถ่ายรูปถูกวางซ้อนกันอยู่มุมห้อง กะคร่าวๆ จากสายตาแล้ว วันนี้เธออาจต้องเปลี่ยนชุดเกือบๆ สิบครั้ง นิโคลีน

หากมองย้อนกลับไป ปี 2018 คงเป็นการเดินทางอันยาวนานสำหรับ นิโคลีน–พิชาภา ลิมศนุกาญจน์ ตั้งแต่พิธีกรประกาศชื่อเธอในตำแหน่ง Miss Thailand World 2018 ตามมาด้วยการคว้าตำแหน่งรองอันดับ 1 Miss World 2018 ด้วยสปีชที่ทำให้หลายคนประทับใจและเทใจให้เธอ

บนเวทีประกวดมิสเวิลด์รอบ 5 คนสุดท้ายที่ประเทศจีน นิโคลีนพูดถึงน้องชายวัยรุ่นที่เป็นออทิสติก เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เธอมีแพสชั่นจัดตั้งโครงการ Love For All ร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทยและมูลนิธิแสงสว่าง เพื่อสนับสนุนเรื่องอาชีพให้กับเด็กไทยที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อที่พวกเขาจะได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ท่ามกลางเรื่องราวทั้งดีและร้ายที่เกิดขึ้นในปี 2018 เราสงสัยว่าอะไรคือสิ่งที่นิโคลีนได้เรียนรู้มากที่สุด นั่นคือเหตุผลที่เราชวนเธอมาทบทวนด้วยกันในวันนี้

ไม่มีเวที ไม่มีแสงสี ไม่มีสปอตไลต์ แต่นิโคลีนก็ตอบเราด้วยสายตาเป็นประกาย

“ทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจิตใจของเรา”

ถ้านี่คือการประกวดนางงามรอบแรกที่ต้องแนะนำตัวสั้นๆ เราคงบอกว่านิโคลีนคือหญิงสาวชาวไทยที่แม้จะเติบโตในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา แต่แม่และยายก็เลี้ยงดูมาแบบคนไทย เธอพูดภาษาไทยได้ (แม้จะบอกว่าตัวเองไม่เข้าใจศัพท์สแลงวัยรุ่นใดใด) ทำงานเสิร์ฟอาหารที่ร้านอาหารไทย กลับมาเมืองไทยบ้างเป็นบางครั้ง และเป็นแฟนตัวยงของ Miss Thailand Universe มาตั้งแต่จำความได้

ใช่ ก่อนจะเป็นมิสเวิลด์ นิโคลีนก็ฝันอยากไปจักรวาลมาก่อน

“เมื่อปีที่แล้วตอนที่นิโคลยังอยู่อเมริกา นิโคลเรียนหนังสือและทำงานไปด้วยทุกวันเป็นรูทีน แต่นิโคลรู้สึกว่าเราไม่ได้รักในสิ่งที่เราเรียน ไม่ได้รักในสิ่งที่เราทำ เราก็เลยเริ่มคิดว่าตัวเองอยากจะทำอะไร จนนิโคลคิดถึงการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ซึ่งเป็นความฝันของเรามานานแล้ว ก็เลยตัดสินใจทิ้งทุกอย่างมาตามความฝันที่ประเทศไทย เพราะกติกาของการประกวดคือต้องมาอยู่เมืองไทยหกเดือนก่อนประกวด พอถึงช่วงปิดเทอมฤดูร้อน นิโคลเลยบินมาคนเดียวเพื่อมาเรียนและเตรียมตัว แล้วแม่ถึงค่อยบินมาช่วยเรื่องการประกวดทีหลัง”

การเตรียมตัวที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเสื้อผ้าหน้าผม การเข้าคอร์สอบรมบุคลิกภาพ เรียนการแสดง ทำการบ้านกับตัวเองว่าเธอคือใคร และเรื่องราวของเธอคืออะไรเพื่อใช้ในการตอบคำถาม (ซึ่งเท่านี้ก็เยอะแล้ว) แต่ยังรวมถึงการปรับตัวเข้ากับชีวิตในเมืองไทย ตั้งแต่การทำทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน ย้ายหน่วยกิตจากมหาวิทยาลัยที่อเมริกามาไทย จัดการงานเอกสารราชการต่างๆ ไปจนถึงการหัดพูดภาษาไทยแบบที่คนไทยพูดกันจริงๆ

ทั้งหมด เป็นไปเพื่อการประกวดทั้งสิ้น

“ปีนี้ชีวิตของนิโคลอยู่กับการประกวดเพราะว่าเราตั้งเป้าหมายเอาไว้แล้ว เราเป็นคนที่เราอยากทำอะไรก็จะทำเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำแล้วอยากทำให้ดีที่สุด เราตั้งความหวังไว้สูงเพราะถ้าเราผิดหวังเราจะได้รู้ว่าเราเต็มที่แล้ว ถึงจะเสียใจแต่เราจะไม่ regret ในสิ่งที่เราทำ”

แต่แล้วกลางปี 2018 ความฝันที่จะเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ก็พังทลาย เมื่อนิโคลีนไม่แม้กระทั่งได้เข้ารอบสุดท้ายเพื่อลุ้นมงกุฎและตั๋วไปจักรวาล

“ตอนลงจากเวที เราผิดหวังเพราะว่าเรารู้สึกว่าเรามีอะไรมากกว่าที่เขาอยากได้ นิโคลรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ใช่เวลาที่ถูกต้อง เราอาจจะไม่ได้อยู่ในที่ที่ถูกต้อง ก็เลยลองอีกสักตั้ง บอกตัวเองว่าถ้าครั้งนี้ไม่สำเร็จเราจะไม่ประกวดอีกแล้ว เพราะมันไม่ดีต่อความรู้สึกและความมั่นใจของเรา ในการประกวดเราต้องอยู่ในสายตาของคนตลอดเวลา ให้เขาติ-ชม ให้เขาพูดถึงเรา ในระหว่างที่เราทำงานก็จะมีคนที่มีความคิดเห็นของเขาเสมอ เช่น เราอาจจะไม่ได้สวยสำหรับเขา อาจจะมีคนอื่นที่สวยกว่า ซึ่งเราก็ห้ามไม่ได้”

ในเมื่อห้ามคนอื่นไม่ได้ สุดท้ายสิ่งที่ทำได้จึงกลายเป็นการจัดการจิตใจของตัวเอง

“จากการประกวด นิโคลเรียนรู้ว่าทุกคนมีความคิดเห็นของตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจิตใจของเรา ถ้าเราเลือกที่จะไม่อ่าน ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ negative เลือกแต่สิ่งที่ positive เข้ามาในชีวิต มันทำให้เราทำงานต่อได้ ทำให้เราแข็งแรง มีความมั่นใจในตัวเอง”

“สนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เขาทำ”

ไม่ใช่แค่การให้กำลังใจตัวเองที่ทำให้นิโคลีนผ่านคำวิจารณ์ต่างๆ มาได้ แต่ยังเป็นน้องชายและโครงการ Love For All ที่เธอลงมือทำตั้งแต่กลับมาถึงเมืองไทยใหม่ๆ ที่ทำให้รู้ว่าที่สิ่งที่เธอกำลังทุ่มเทอยู่นั้น เธอทำเพื่ออะไร

“นิโคลเป็นคน protective น้องชายมาก มีครั้งหนึ่งที่น้องของนิโคลโดนแกล้งที่โรงเรียนอย่างรุนแรง เขาโดนผลักเข้ากอกุหลาบจนเลือดออกเต็มตัวเลย นิโคลเลยขึ้นไปหาเด็กที่เป็นคนทำอย่างรุนแรงว่า ยูเข้าใจไหมว่าน้องไอเป็นเด็กออทิสติก เขาไม่เหมือนคนอื่น ยูเข้าใจไหมว่ายูทำอะไรลงไป นั่นเป็นจุดที่นิโคลอารมณ์เสียมากที่สุด นิโคลว่าเขายาวมาก สิ่งที่นิโคลทำไปมันไม่ใช่สิ่งที่ดีนะ แต่ว่าเราอยากสอนให้เขารู้ว่านี่คือสิ่งที่ผิด

“โครงการ Love For All มีแรงบันดาลใจมาจากน้องของนิโคล เพราะเราไม่อยากให้คนคิดว่าเด็กออทิสติกทำอะไรไม่ได้ ไม่มีความสามารถ เราเห็นว่าน้องเป็นคนดี สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง และนอกจากน้องของนิโคลก็ยังมีเด็กที่รักการร้องเพลง เต้น ดีไซน์ เด็กที่ชอบคอมพิวเตอร์กราฟิกยังมีเลย ที่ยังไม่ได้การสนับสนุน​

“ทางด้านอาชีพเราจะมีเวิร์กช็อปร่วมกับมูลนิธิออทิสติกไทย เช่น เวิร์กช็อปการพิมพ์งาน สอนใช้เครื่องมือสกรีนเสื้อเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มีคลาสดีไซน์นามบัตร เป็นสิ่งที่เขาเอาไปใช้งานได้ทั้งหมด สอนทำกาแฟ ทำอาหาร เขาอาจจะไม่ได้เป็นสถาปนิก ไม่ได้เป็นวิศวกร แต่สิ่งที่สำคัญ ก็คือเขาต้องยืนได้ด้วยสองขาของตัวเอง มีรายได้ และก็ใช้เงินให้เป็น ส่วนถ้าเขาไม่ได้อยากไปสายอาชีพ เราก็สนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาชอบ เช่น มีน้องคนหนึ่งเขาชอบเรียนภาษาอังกฤษ เรียนปริญญาตรีภาษาอังกฤษ เขาอยากต่อปริญญาโท เราก็อยากสนับสนุนน้องง่ายๆ ด้วยการหาเงินบริจาค หาทุนให้ เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราสามารถช่วยเขาได้ในสิ่งที่เขาอยากทำ

“ตอนนี้น้องของนิโคลเรียนไฮสคูลอยู่ สิ่งที่เขาชอบมากที่สุดคือเล่นเกมและพยายามแฮ็กเกม เขาสนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ เรื่องโทรศัพท์ เรื่องเทคโนโลยี ถ้าเขาอยากเรียนด้านคอมพิวเตอร์ดีไซน์ หรือ digital entertainment นิโคลก็พร้อมที่จะช่วยตลอดเวลา แต่ถ้าเขาไม่อยากเรียนเราก็พร้อมที่จะสนับสนุน เราไม่อยากผลักให้เขาทำอะไรที่เขาไม่อยากทำเพราะเขาจะไม่มีความสุขและเขาจะทำไม่ได้ดี นิโคลคิดว่าทุกครอบครัวควรจะเป็นแบบนี้

“หน้าที่ของเราคือสนับสนุนในสิ่งที่เขาอยากทำไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เขาทำ เราต้องช่วยเขาในแบบที่เขาต้องการ เราไม่อยากให้เขาเป็นคนที่เราคิดเอาไว้เพราะเรารู้ว่าเขาจะประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าเขาทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ เขาจะมีแรงบันดาลใจในการทำงาน ในการจะก้าวหน้า ไม่ใช่เพราะเรา แต่เพราะเขาเอง”

“ลิมิตคือสิ่งที่เราตั้งไว้เอง”

ระหว่างที่คุยกัน นิโคลหยุดพักสั้นๆ สองครั้ง ครั้งหนึ่งคือการกินยาแก้อักเสบ เพราะเธอแพ้น้ำที่ประเทศจีนระหว่างไปประกวดมิสเวิลด์ อีกครั้ง คือตอนที่แม่ของเธอเอาชาเขียวมาให้เพราะวันนี้เธอตื่นเช้ามากและมีงานทั้งวัน

แต่วันที่เราคุยกัน ก็ไม่อาจเทียบความยาวนานและหนักหน่วงของหลายๆ วันในปีที่ผ่านมาได้เลย

“ในการประกวดมิสเวิลด์ ทุกๆ วันนิโคลจะได้ตารางงานประมาณเที่ยงคืนถึงตีหนึ่ง วันรุ่งขึ้นเราต้องมีเสื้อผ้าเตรียมไว้หนึ่งถึงสองเซต บางวันก็อาจจะถึงสามเซต ต้องแต่งหน้า ทำผมเอง

“ทุกวันเราจะต้องเหนื่อยอารมณ์ ร่างกาย และสมองตลอดเวลา พอก้าวออกจากห้องก็มีคนจับตามองอยู่ตลอด ไม่ว่าเราจะกินข้าว ไปห้องน้ำ ออกไปข้างนอกเพื่อซื้อของ นี่คือการทำงานของนางงาม เป็นความกดดันที่ทำให้เราเหนื่อยทางอารมณ์ การที่เราต้องตื่นเช้า มีวันยาวๆ 12 ชั่วโมง นี่คือความเหนื่อยทางร่างกาย ส่วนเหนื่อยสมองคือตอนที่เราต้องเตรียมตัวทำงานกับคนอื่น พร้อมจะต้องมีสปีชตลอดเวลา พร้อมที่จะรีเสิร์ช ศึกษาทุกที่ ทุกงานที่เราไป

“มีครั้งหนึ่งตอนอยู่ที่การประกวดมิสเวิลด์ นิโคลรู้สึกว่าอยากยอมแพ้ แต่นิโคลบอกตัวเองว่าถ้าเราผ่านจุดที่เราเหนื่อยไปได้ คิดดูว่าเราจะเป็นคนที่แข็งแรงแค่ไหน นิโคลเลยคิดว่าเราต้องตื่นขึ้นมาแล้วบอกตัวเองว่าวันนี้จะเป็นวันที่ดี บอกตัวเองว่าวันนี้จะเหนื่อย แต่ว่าเราจะต้องทำให้ดีที่สุด เพราะนิโคลรู้ว่ายิ่งเราทำงานหนักเท่าไหร่ รางวัลก็ยิ่งหอมหวาน และถ้าไม่มีเรื่อง negative ชีวิตของนิโคลก็คงไม่สามารถ positive ได้เพราะชีวิตคือการบาลานซ์

“เราต้องผลักตัวเองให้เกินลิมิต เพราะลิมิตคือสิ่งที่เราตั้งไว้เอง ตัวเรายังไม่รู้เลยว่าเราสามารถจะไปไกลถึงไหนถ้าเราเซตลิมิตเอาไว้เราก็จะคิดว่าเราต้องหยุดแค่นี้ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราอาจจะผ่านมันไปได้อีกก็ได้ นั่นจะเป็น breaking point เป็นจุดเกิดใหม่ของเราเลย”

“best version ของเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา”

เมื่อคุยกันใกล้จบ เราถึงรู้ว่านิโคลีนมีคิวสัมภาษณ์อีกคิวต่ออีกทันที โดยเธอต้องเปลี่ยนชุด ถ่ายรูป และตอบคำถามใหม่อีกรอบ

เรารู้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนบันเทิง แต่ที่เราไม่รู้ คือทำไมเธอถึงเลือกเอาตัวเองมาอยู่ในจุดนี้ ทั้งที่คนที่ไม่มีมงกุฎนางงามก็เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมได้เหมือนกัน

“การที่เราเป็นคนสาธารณะ เรามีแพลตฟอร์ม เรามีพื้นที่ที่จะพูด และคนจะฟังเรา เราก็เลยมีพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลง การที่เรามีชื่อเสียงมันทำให้คนที่เขาไม่เคยรู้จักโครงการนี้ ได้รู้จัก ได้เข้าใจเด็กออทิสติกมากขึ้น การที่เขาจับจ้องนิโคล เราถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้แพลตฟอร์มของเราผลักดันโครงการและผลงานของเด็กออทิสติกที่ทำงาน

“การมีแพลตฟอร์ม มีชื่อเสียง มันมีประสิทธิภาพกว่าเป็นคนธรรมดา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าถ้าคุณไม่มีแพลตฟอร์มแล้วคุณจะทำไม่ได้นะ ยังไงๆ เราก็ยังช่วยสังคมได้อยู่ นิโคลคิดว่าคุณไม่จำเป็นต้องเป็น influencer เสมอที่จะสร้างอิมแพ็กต์ได้ ถ้าคุณมีความคิดเห็นอะไร ถ้าคุณพร้อมจะเปลี่ยนสังคม พร้อมที่จะเปลี่ยนโลก ลงมือทำ โลกของเราก็จะเปลี่ยนแล้ว”

หนึ่งปีผ่านไป เราพานิโคลีนย้อนกลับไปมองตัวเองในวันที่บินมาเมืองไทยตัวคนเดียวจนถึงวันนี้ว่าเธอโตขึ้นแค่ไหน

และที่สำคัญคือนิโคลีนในวันนี้คือนิโคลีนเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง

“best version ของเราเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ตอนประกวดมิสเวิลด์ best version ของเราคือเป็นมิสเวิลด์ที่เขาอยากจะเห็น ส่วนตอนนี้ที่เราประสบความสำเร็จแล้ว the best version ของนิโคลคือการปฏิบัติหน้าที่เป็นมิสเวิลด์เอเชียและรองอันดับ 1 ให้ดีที่สุด โดยที่เรายังเป็นคนเดิม แต่พร้อมที่จะทำงานเพิ่มเติม พร้อมจะโต พร้อมจะเป็นผู้ใหญ่ในทุกงาน

“ในอนาคต best version ของเราก็จะเปลี่ยนไปอีก ถ้าปีนี้จบแล้ว โกลต่อไปคือการเป็น business woman เกี่ยวกับโครงการ Love For All และตอนนั้น ภาพที่นิโคลมองตัวเองก็จะเปลี่ยนไปอีก ซึ่งนิโคลคิดว่าความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามันเปลี่ยนเราเป็นคนที่ดีขึ้น”

ภาพ เฟซบุ๊กเพจ Nicolene Pichapa Limsnukan

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com