‘Yay (เย)’ คือเครื่องหอมแบรนด์ไทยที่สร้างความตื่นเต้นได้ตั้งแต่เปิดตัวเทียนหอมคอลเลกชั่นแรก กับไอเดียการฝังหินอ่อนสลักข้อความความหมายดีลงไปในเนื้อเทียน รวมถึงแพ็กเกจที่สะท้อนบุคลิกสนุกสนานผ่านลวดลายกวนๆ พร้อมสีสันอันฉีกกรอบความคลีน ความเรียบ ความหรู อย่างที่คุ้นตาในตลาดเครื่องหอมของไทย
ไม่นานมานี้ YAY ได้ออกเครื่องหอมคอลเลกชั่นล่าสุด ประกอบด้วยเทียนหอมและดิฟฟิวเซอร์ (Diffuser) ภายใต้คอนเซปต์ ‘ARUN of Bangkok’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Mr.lemonhead กราฟิกดีไซเนอร์และเจ้าของผลงานตัวรีด หรือ Iron On Patch ที่มีสไตล์สนุกไม่แพ้กัน
กลิ่นหอมของพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นอย่างไรน่ะหรือ…
เก็บความสงสัยนี้ไว้ก่อน เพราะเราจะชวนย้อนดูการเดินทางของ YAY ในเกือบ 3 ปีที่ผ่าน ให้เห็นตัวตนที่เผยอยู่ในทุกคอลเลกชั่น และการสั่งสมประสบการณ์จวบจนคอลเลกชั่นล่าสุดที่พวกเขาบอกว่าเป็นความท้าทาย
ไอเดียเทียนหอมซ่อนหินและการถอดกลิ่นจากธรรมชาติ
YAY เกิดจากเพื่อน 3 คนที่มีจุดร่วมเดียวกันคือชื่นชอบในเครื่องหอม จึงนำมาสู่แบรนด์ที่ปลุกปั้นมาด้วยกันตั้งแต่แรกเริ่ม จิลล์ พรมดี รับหน้าที่ดูแลการผลิต ดาลี ฮุนตระกูล เป็นผู้ออกแบบกราฟิกบรรจุภัณฑ์ที่สร้างตัวตนของแบรนด์ให้ชัดเจนขึ้น และ ภัสจณา งามทิพากร ดูแลด้านแบรนดิ้งและการตลาด โดยเริ่มที่คอลเลกชั่น Marble Candle ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก
“คงเพราะเราแปลก” ภัสจณาคิดเหตุผล “คือเราชอบเทียนหอม แต่ก็เบื่อรูปแบบเดิมๆ ที่จุดเทียนแล้วก็จบแค่นั้น และตอนนั้นยังไม่มีใครเอาอะไรใส่เข้าไปในเทียนนอกจากดอกไม้แห้ง ซึ่งเป็นกิมมิกทั่วไป ก็เลยลองดูว่าจะเอาอะไรใส่เข้าไปเพื่อให้เกิดเซอร์ไพรส์จากการจุดเทียนได้บ้าง สรุปคือเราเอาหินอ่อนฝังไว้ สลักคำบนนั้น เมื่อจุดเทียนจนหมดก็จะเห็นข้อความ เอาหินอ่อนมาประดับบ้านได้ กลายเป็นออริจินัลของแบรนด์เราเลย”
“และ ณ ตอนนั้น ไม่มีใครทำกล่องเทียนที่มีสีสันขนาดนี้ เราอาจดูเหมือนเด็กกวนๆ ขี้เล่น แต่เราก็เป็นเด็กขี้เล่นที่ฉลาดน่ะ เราอินพุตวิธีใช้เทียนหอมที่ถูกต้องลงไปในกล่อง ซึ่งหลายคนมองข้าม เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของวัสดุที่ใช้และกลิ่นมากๆ ด้วย ”
จิลล์เสริมเรื่องวัสดุให้ฟังว่า เทียนหอมของ YAY ทำมาจาก soy wax หรือไขถั่วเหลือง ผสมด้วยน้ำมันมะพร้าว กลิ่นได้จากน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพืช สมุนไพร และดอกไม้ 95% ขึ้นไป ด้วยองค์ประกอบที่เป็นธรรมชาติ น้ำมันอุ่นที่ได้จากการจุดเทียนจึงสามารถนำมาใช้นวดผิวกายเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายได้
ด้านกลิ่น ดาลีบอกว่าพวกเขาอยากได้กลิ่นที่ครอบคลุมหลายๆ ส่วนของธรรมชาติ ซึ่งอาจอธิบายเป็นถ้อยคำได้ยาก แต่สามารถสัมผัสได้ผ่านบรรยากาศที่กลิ่นนั้นกำลังอบอวล
“อย่างกลิ่น From the Lake to the Ocean ลูกค้าบอกว่าจุดแล้วรู้สึกห้องมันโล่ง” ภัสจณายกตัวอย่าง “นั่นล่ะ เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จในการเลือกกลิ่นที่ตรงกับชื่อแล้ว ลูกค้าเข้าใจว่ากลิ่นโอเชี่ยนเป็นยังไง รวมถึงหินกับข้อความในกลิ่นนั้นก็สัมพันธ์กัน หินของโอเชี่ยนเป็นสีดำ ข้อความบนหินเกี่ยวกับเรื่องคลื่น”
สินค้าแตกไลน์ ไม่ทิ้งลายขี้เล่น
แม้สามผู้ร่วมก่อตั้งออกตัวว่า YAY เป็นแบรนด์ขนาดเล็ก แต่ก็มีชื่อติดตลาดได้ในระยะเวลาไม่นานนัก มีการแตกไลน์สินค้าไปสู่แฮนด์ครีมออร์แกนิก ในชื่อคอลเลกชั่น GON by YAY เป็นสกินแคร์ที่ยังคงอโรม่าของเครื่องหอมไว้ ขณะเดียวกันก็สร้างสรรค์หนึ่งกลิ่นให้เป็นยูนิเซ็กซ์เพื่อให้ใช้ได้กับทุกเพศ อีกทั้งยังขยายไปสู่เครื่องหอมประเภทดิฟฟิวเซอร์ที่หยิบเอาทุกกลิ่นจากคอลเลกชั่น Marble Candle มาไว้ในรูปของก้านไม้หอม
ทั้งสองคอลเลกชั่นนี้ยังคงคาแร็กเตอร์ของ YAY ที่มีตั้งแต่เริ่มต้น แฮนด์ครีมบรรจุในหลอดอะลูมิเนียมที่รีไซเคิลได้ ด้านกราฟิกดีไซน์ ดาลีบอกว่ายังคงลายเส้นที่ออกรกๆ และมีสีสันชวนสนุกอยู่ ขณะที่แพ็กเกจของดิฟฟิวเซอร์ไม่ได้เน้นสีสัน แต่ใช้ลายเส้นเป็นจุดๆ แต้มใหญ่ ซึ่งตรงกับชื่อคอลเลกชั่นว่า Eau De Senteur หรือกลิ่นของหยดน้ำ ตัวกราฟิกจึงออกมาจากทรงของหยดน้ำที่แฝงไว้ด้วยความขี้เล่นเป็นกันเอง
กระทั่งถึงคอลเลกชั่น ARUN of Bangkok ที่นับเป็นความท้าทายใหม่ของ YAY จากที่เคยถอดกลิ่นธรรมชาติ มาสู่การตีความสถาปัตยกรรมของไทยให้ออกมาเป็นกลิ่นหอม
บอกเล่าอดีตผ่านมุมมองของสองแบรนด์รุ่นใหม่
โปรเจกต์นี้เป็นของ The Selected @ Siam Center ที่เอ่ยชวนแบรนด์ไทยและดีไซเนอร์รุ่นใหม่มาจับคู่ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษตามความถนัดของตนเองในคอนเซปต์ที่มีร่วมกัน YAY จับมือกับ Mr. lemonhead ออกแบบคอลเลกชั่นที่มี ‘พระปรางค์วัดอรุณฯ’ เป็นจุดตั้งต้น
สาธิดา หัตถกิจจำเริญ กราฟิกดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง Mr.lemonhead ร่วมวงสนทนากับเราเพื่อเล่าถึงที่มาของไอเดียนี้ โดยเธอคิดไปถึงกลุ่มลูกค้าเป็นลำดับแรก
“ไอเดียนี้อยู่ตรงกลางระหว่างลูกค้าชาวต่างชาติและคนไทย สำหรับลูกค้าต่างชาติ เราไม่อยากให้ดีไซน์ออกมาเป็นของที่ระลึกจนเกินไป และอยากให้คนไทยได้ใช้สิ่งนี้ด้วย และช่วงที่เกิดโปรเจกต์นี้ ตรงกับช่วงที่วัดอรุณเพิ่งผ่านการบูรณะพอดี เราเห็นความสวยงามของพระปรางค์สีขาว ประดับด้วยกระเบื้องเป็นสีๆ รู้สึกว่าเอามาทำอะไรได้มากกว่าวัดที่เป็นสีทองๆ และเราไม่อยากไปแตะต้องความเป็นวัดมากนัก”
ภัสจณากล่าวในมุมของ YAY ว่า “ในการทำงาน เราถนัดเรื่องเครื่องหอม ส่วนของกราฟิกและภาพรวม Mr.lemonhead จะเป็นคนนำ แล้วมาคุยกันจนได้ตรงกลาง แต่เรื่องกลิ่นก็เป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน เพราะเราหยิบสิ่งที่เก่ามากๆ มาตีความใหม่ และเป็นไอคอนิกด้วย ตอนที่ทำคอลเลกชั่นนี้เหมือนเราทำวิทยานิพนธ์พระปรางค์วัดอรุณฯ เลย”
YAY ตีความกลิ่นของพระปรางค์วัดอรุณฯ ออกมาเป็นอย่างไร เรียกความสงสัยของคุณกลับมาได้แล้วในตอนนี้
ARUN of Bangkok กลิ่นที่กรุ่นจากความเป็นไทย
ภัสจณาเล่าต่อ “เราเริ่มจากการรีเสิร์ชประวัติการสร้าง นักท่องเที่ยวพูดถึงวัดอรุณฯ อย่างไรบ้าง เขาชื่นชอบอะไรของพระปรางค์ ด้านกลิ่น เรามองในแง่วัฒนธรรม เวลาเข้าวัดเราจะนึกถึงดอกไม้ก่อน เราจึงทำกลิ่นหนึ่งให้ออกโทนดอกไม้หวานๆ แล้วก็นึกถึงประเพณีสงกรานต์ที่มีการสรงน้ำพระ มีดอกไม้ลอยน้ำ จึงเกิดเป็นกลิ่นดอกไม้ที่มีความหวาน มีความเย็น แต่จะไม่ดึงดอกไม้ตัวไหนให้เด่นขึ้นมา เราอยากให้มีความรู้สึกว่า คุณหลับตา คุณได้กลิ่น นี่คือไทยแลนด์”
“อีกกลิ่นเป็นการคิดต่อยอด เวลานักท่องเที่ยวมาไทยก็จะนึกถึงอาหารไทย นึกถึงความเป็นเครื่องเทศ ความเผ็ด ความเปรี้ยว เปรี้ยวต้มยำ และรสชาติน้ำสมุนไพรต่างๆ แต่กลิ่นนี้ไม่ได้มีโทนไปทางเครื่องเทศมาก จะมีความอมเปรี้ยวมากกว่า ลูกค้าที่ชอบโทนเปรี้ยว เขาก็จะไม่ชอบหวาน เราจึงออกแบบให้มีทั้งหวานดอกไม้ และเปรี้ยวที่ดึงมาจากเพอร์เซปชั่นของรสชาติอาหารไทย”
ทั้งสองกลิ่น แม้จะยึดโยงเข้ากับกลิ่นอายแบบไทย แต่ผ่านการปรุงที่ให้เซนส์ร่วมสมัย รวมถึงการใช้วัสดุในการผลิตเทียนหอมก็สัมพันธ์กับคอนเซปต์ที่วางไว้
“YAY มีจุดแข็งเรื่องเทียนหอม จากเดิมเราใช้ USA soy wax แต่เพื่อให้เชื่อมโยงกับ ARUN เราจึงใช้ soy wax ในไทยแทน เป็นเจ้าที่เพิ่งเปิดตัวและเป็นพรีเมียมเกรด น้ำมันที่ได้จากการจุดเทียนก็ยังใช้นวดได้” จิลล์อธิบาย
ตัวเลขอันปรากฏในประวัติการสร้างพระปรางค์วัดอรุณฯ ถูกหยิบยืมมาใช้ในการตั้งชื่อ ‘1842’ ซึ่งตรงกับปีที่สร้าง ใช้เป็นชื่อของเทียนหอมและดิฟฟิวเซอร์กลิ่นดอกไม้ ส่วน ‘81.85’ เป็นความสูงของพระปรางค์ วัดจากฐานถึงปลายยอด ให้เป็นชื่อของกลิ่นที่พรีเซนต์รสชาติแบบไทย
รวมถึงซิกเนเจอร์การฝังหินอ่อนลงในเทียนหอมก็ถูกนำมาใช้ในคอลเลกชั่นนี้ โดยสลักคำว่า ‘อรุณสวัสดิ์’ เป็นอักษรไทย พร้อมคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษที่บอกถึงความหมาย
“เวลานำเสนอกลิ่นให้ลูกค้า เราไม่ได้บอกว่านี่เป็นกลิ่นของพระปรางค์วัดอรุณฯ นะ เพราะเราทำสิ่งใหม่ที่มีเบสจากสิ่งที่มีอยู่เดิม ทำความเป็นไทยให้โมเดิร์นขึ้น เพราะฉะนั้นลูกค้าอาจไม่ได้คิดถึงพระปรางค์ในทีแรก แต่พอเขาเห็นชื่อคอลเลกชั่น ชื่อกลิ่น เห็นแพ็กเกจ ได้อ่านเรื่องราวของพระปรางค์บนกล่อง หรือบางคนเพิ่งไปเที่ยววัดอรุณฯ มา เขาก็จะอ๋อ กลิ่นและเรื่องราวจะเป็นการเรียกความทรงจำให้เขานึกถึงและเข้าใจ”
จับรูปทรงและสีสันของกระเบื้องมาเรียงและเล่าใหม่
ฝั่งของการออกแบบโลโก้และกราฟิกบนแพ็กเกจ สาธิดาสนใจในเทคนิคการเรียงกระเบื้องเป็นลวดลายรอบองค์พระปรางค์ ซึ่งเป็นงานช่างฝีมือของยุคสมัยนั้น
“พอรีเสิร์ชลงไปลึกๆ จึงทราบว่าไทยรับเทคนิคนี้มาจากจีน รูปทรงของกระเบื้องแต่ละชิ้นก็ไม่เพอร์เฟกต์ เพราะได้จากการนำถ้วยชามมาตอกให้แตกทีละชิ้น จึงคิดต่อว่าถ้าเอาเศษกระเบื้องมาสร้างเป็นลวดลายใหม่ของเราเองล่ะ จะเป็นยังไง เราจึงดราฟต์รูปทรงและสีของกระเบื้องออกมาจริงๆ แล้วใช้เทคนิคการต่อกระเบื้องเป็นลายมาเรียงใหม่ กลายเป็นโลโก้ ARUN ในลักษณะที่เอาชิ้นกระเบื้องมาเรียงเป็นคำ รวมถึงลวดลายบนแพ็กเกจที่ทำออกมาให้สนุกสนาน ให้ยังคงคาแร็กเตอร์ของ YAY ไว้ มีความโมเดิร์น ไม่ได้ดูเหมือนลายไทย แต่ลวดลายเหล่านี้หยิบมาจากลายกระเบื้องจริงทั้งหมด”
นอกจากเครื่องหอมของ YAY ในคอลเลกชั่น ARUN of Bangkok ยังมีผลงานการออกแบบอื่นๆ ของ MR.lemonhead ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เช่น จานพอร์ซเลนรูปทรงกระเบื้อง กระเป๋าผ้า หมอนอิง เครื่องประดับ ผ้าพันคอ ตัวรีด สติกเกอร์ ที่ล้วนได้แรงบันดาลใจจากความงามและเทคนิคงานช่างที่ปรากฏบนพระปรางค์วัดอรุณฯ
“เมื่อคุณซื้อคอลเลกชั่น ARUN คุณไม่ได้ซื้อแค่สินค้า แต่คุณเอาประวัติศาสตร์ของเรากลับไปด้วย” ภัสจณาเอ่ยปิดท้าย
Facebook : Yay Experimental Club