ธูปรักษ์โลก : ธูปจากฝีมือคนรักธูปที่ทำให้รู้ว่าทุกอย่างคิดเพื่อโลกและตัวเราได้

พูดถึงสินค้าเพื่อสุขภาพ แวบแรกอาจไม่มีใครนึกอะไรกว้างไปกว่าอาหาร สบู่ แชมพู โลชั่น อะไรก็ตามที่ต้องใกล้ชิดกับร่างกาย พอได้ยินว่า ‘ธูป’ อยู่ในเครือข่ายสินค้าเพื่อสุขภาพของ Blue Basket ด้วย เราจึงสนใจใคร่รู้เป็นพิเศษ

ทำไมต้องเป็นธูป และธูปเพื่อสุขภาพเป็นอย่างไร

ชัชวาล สันทัดกรการ กรรมการบริษัท อสีติ จำกัด เจ้าของแบรนด์เครื่องหอมอะกาลิโกที่เรารู้จักกันดี ร่วมกับทีมธูปหอมทองตะนาวที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่เบื้องหลังอย่างอาจารย์ลำไพ ทองตะนาว คือกลุ่มคนที่ร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ธูปรักษ์โลกขึ้นมา ฟากหนึ่งคือนักธุรกิจที่ชื่นชอบธูปและสนใจเรื่องสุขภาพ อีกฟากคือคนที่มีสูตรทำธูปเก่าแก่ตกทอดเป็นมรดก

เมื่อทั้งคู่มาเจอกัน ผลลัพธ์คือการคิดค้นธูปที่ผลิตขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติ มีทั้งธูปสำหรับไหว้พระและธูปไล่ยุง ธูปทั้งสองแบบปราศจากสารเคมีอันตราย ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์มาเรียบร้อย ธูปไหว้พระที่ต้องจุดในที่ร่มก็ถูกออกแบบให้มีควันน้อย ไม่ทำให้แสบตาแสบจมูก เมื่อตัวเรารู้สึกปลอดภัย สิ่งแวดล้อมรอบๆ ก็ปลอดภัยตามไปด้วย

เรื่องราวการทำธูปที่ชัชวาลกำลังจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า ไม่ว่าอะไรก็ตาม เราคิดเพื่อตัวเราและโลกให้มากกว่านี้ได้เสมอ

การพบกันระหว่างเจ้าของสูตรธูปสมัยอยุธยาและคนรักเครื่องหอม

“ผมตกงานเมื่อปี 2542 จากวิกฤตต้มยำกุ้งเลยออกมาหาอะไรอย่างอื่นทำจนจับพลัดจับผลูไปเจอคนทำธูปหอมทองตะนาว พวกเราเคยเป็นคนขายกับคนซื้อ แต่ 10 กว่าปีผ่านมาก็พัฒนาจนกลายเป็นเพื่อน

“เพื่อนผมถือสูตรทำธูปสมัยอยุธยาตอนต้นที่เป็นมรดกตกทอดกันมา สมัยก่อนเราทำธูปไม้หอมเป็นหลัก เมื่อเทียบดูก็พบว่าสูตรคล้ายกับสูตรธูปไม้หอมของญี่ปุ่น จับต้นชนปลายจากการค้นคว้าก็เข้าใจว่าน่าจะมีที่มาตั้งแต่สมัยเส้นทางสายไหม สูตรของอาจารย์จะมีทั้งไม้กฤษณา กานพลู อบเชย กันเกรา ชะลูด ชุบด้วยน้ำมันหอมระเหยแท้ แต่เมืองไทยไม่ค่อยมีใครใช้ธูปแบบนี้เพราะแพง ตอนนั้นผมเจอแกขายของอยู่เลยคิดว่าสินค้านี้น่าเอามาทำตลาด ส่งออกไปต่างประเทศโดยไม่มีแบรนด์ พอผมอยากพัฒนาสินค้าก็เอาธูปไปทดสอบด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ 15 ปีก่อน

“จนกระทั่งวันหนึ่งที่มีข่าวเรื่องธูปมีสารก่อมะเร็ง ทำให้ยอดขายของทองตะนาวตกลงเรื่อยๆ สุดท้ายปรึกษากันแล้วก็ตกลงว่าจะลงทุนทำธูปโดยหุ้นกับผม ทว่าเมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมทำให้บ้านและโรงงานทำธูปเสียหายทั้งหมด ผมเลยชวนไปเปิดโรงงานที่เชียงใหม่และเริ่มทำแบรนด์ ธูปรักษ์โลก สินค้าธูปไม้หอมขายยากเพราะแพง พวกเราเลยเปลี่ยนวิธีคิดมาทำธูปธรรมดาแต่เปลี่ยนวัตถุดิบ ถึงยุคนี้ราคาสินค้าจะแพงเพราะค่าแรงและการเตรียมการมากมาย แต่ดีดตัวเลขออกมาแล้วน่าจะอยู่ในระดับที่คนไทยใช้ได้ก็เลยอยากทำ ยังไงเราก็เป็นคนพุทธ”

ความลับในควันธูปที่เราไม่เคยรู้

“ส่วนประกอบของธูปคือไม้ไผ่และส่วนของดอกธูป ดอกธูปเมื่อก่อนเมืองไทยใช้ไม้จันทน์ขาว แต่พอไม้แพง ดอกธูปของธูปที่ขายกันทุกวันนี้จึงทำจากขี้เลื่อยยางพาราที่ละเอียดมากเหมือนแป้ง บ้านเราส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราเยอะ เมื่อก่อนขี้เลื่อยเป็นขยะ แต่พอมีการซื้อขายมากขึ้นราคาก็เพิ่มตามกลไก ซื้อ-ขายกันเป็นกิโลกรัม บางโรงงานจึงมีการผสมกาวหรือผงปูนขาวเพื่อเพิ่มน้ำหนัก”

“คิดดูว่าคุณมีเงิน 30 บาทซื้อธูปได้กำเบ้อเร่อ ในนั้นมีทั้งต้นทุนค่าของ ค่าแรง มีกำไร มีการบวกเงินของพ่อค้าคนกลางมาหลายทอด ถามว่าเรากำลังจุดอะไร เราไม่รู้เลย รู้อย่างเดียวว่าเราต้องการควันธูป ความหอมของธูป แต่มันก็มีอะไรแถมมาเยอะจากควันธูปเหล่านั้น

“เวลาเราจุดอะไรก็ตาม จะมีคาร์บอนมอนอกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงสารอื่นที่เรามองไม่เห็น เช่น เบนซีน บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ของแถมอีกอย่างก็คืออาการแสบตา แสบจมูก ระคายเคือง บางคนหายใจไม่ออก อยู่ตรงนั้นไม่ได้ เป็นผลกระทบโดยตรง จริงอยู่ที่ร่างกายมีกระบวนการขับสารพิษออกด้วยตัวเอง แต่ก็ขึ้นกับว่าคุณแข็งแรงแค่ไหนด้วย และต่อให้คุณไม่ได้เป็นโรคทางเดินหายใจหรือหอบหืด เราก็ยังอยู่ในโลกที่มีกลิ่น กลิ่นบางอย่างมันระคายเคืองต่อตัวเรา ทำให้เราอยู่กับมันไม่ได้

“มันเลยเป็นโจทย์ให้เราต้องคิดว่าจะทำธูปยังไงให้ไม่แสบตาแสบจมูก ทำยังไงให้จุดแล้วไม่มีสารพวกนี้ออกมา หรือมีในระดับที่รับได้”

เลือกสรรวัตถุดิบจากธรรมชาติและแก้ด้วยวิธีคิดวิทยาศาสตร์ในทุกส่วนของธูป

“ไม้ทุกชนิดจะมีสิ่งที่เรียกว่าน้ำส้มควันไม้ เป็นสารพิษในเนื้อไม้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อเอาไม้ไปเผาด้วยความร้อนสูง พอกลายเป็นถ่านแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นน้ำสีคล้ำๆ ก็คือน้ำส้มควันไม้ ถ้าทิ้งไว้ 5 – 7 วันจะกลายเป็นยาฆ่าแมลงชั้นดี วิธีการขจัดสารพิษของเราคือเอาไม้ไผ่ไปต้มเพื่อแยกน้ำเป็น 2 ส่วนคือ น้ำจากการต้ม และน้ำส้มควันไม้ที่ระเหยออกมา เมื่อสกัดของบางอย่างในไม้ออกไป มวลของไม้ก็เบากว่าปกติ อะไรก็ตามที่ความหนาแน่นต่ำ เวลาจุดไฟควันก็จะน้อยเป็นเงาตามตัว ค่าสารพิษจึงน้อยลงด้วย”

“ข้อสอง ดอกธูปที่ใช้ขี้เลื่อยยางพาราทำให้เราแสบตา เพราะไม้ยางพาราเป็นไม้โตเร็ว โดนใส่ปุ๋ยที่เป็นสารเคมี เวลาเข้าโรงงานก็ถูกพ่นยาฆ่ามอด ยานั้นจะอยู่ในเนื้อไม้ เราจึงเปลี่ยนมาใช้ซังข้าวโพด เมื่อก่อนเป็นขยะจากอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การใช้เป็นอาหารก็ถือเป็นการสกรีนสารพิษมาแล้วรอบหนึ่ง นอกจากนี้ซังข้าวโพดก็เบา ความหนาแน่นต่ำ ทำให้ควันน้อยอีกเช่นกัน และในขณะที่โรงงานอื่นอาจใช้กาวเพื่อขึ้นรูปดอกธูปเพราะราคาต่ำกว่าและขึ้นรูปง่าย เราเลือกใช้ไม้หอมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ‘ยางบง’ เวลาถูกฝนเป็นผงและโดนน้ำจะมีความเหนียว เอามาผสมขึ้นรูปดอกธูปได้”

“ข้อสาม ชั้นในของดอกธูปจะมีผงถ่านบดละเอียดเคลือบอยู่ เพราะถ่านคือสิ่งที่ถูกเผามาแล้วครั้งหนึ่ง มันจะให้ความร้อนแต่ไม่ให้ควัน จริงๆ แล้วธูปดอกนี้เกิดจากความฉลาดของคนทำล้วนๆ เลย ส่วนสุดท้ายก็คือกลิ่นหอมๆ ที่มาจากน้ำหอมสปาคุณภาพดีที่เราทำอยู่แล้ว”

“ในส่วนของธูปไล่ยุง ส่วนดอกธูปก็คือผงตะไคร้หอมที่เป็นตะไคร้ธรรมชาติแท้ๆ ชุบน้ำมันหอมระเหยตะไคร้กับยูคาลิปตัสที่มีคุณสมบัติไล่ยุงอยู่แล้ว สามารถใช้แทนขดไล่ยุงได้ ลูกค้าของเราก็คือรีสอร์ต 5 ดาวริมทะเล เช่น เครืออนันตรา”

สิ่งสำคัญพอๆ กับความเชื่อก็คือความปลอดภัย

“เวลาคนจุดธูป ผมคิดว่าเขามีความเชื่อ เขาจุดธูปเพื่อสื่อบางอย่างไปถึงสิ่งที่เขาเชื่อ มีตั้งแต่พระ เจ้าที่เจ้าทาง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย คนบ้านเราดูที่กลิ่นกับควันเป็นหลัก แต่กลับละเลยความสำคัญของตัวเองและสิ่งแวดล้อม คนไทยจำนวนนึงยังใช้ธูปเดิมๆ อยู่เพราะมองธูปเป็นเรื่องไกลตัว บางทีคิดว่าจุดนอกบ้านแล้วก็ไป ไม่ต้องเป็นธูปที่ดีมากก็ได้ แต่ผมไม่คิดอย่างนั้น ไม่ใช่เพราะผมทำธูปขาย แต่ถ้าจะต้องเป็นแบบนั้น ผมว่าไม่ต้องจุดดีกว่า ยกมือไหว้ก็ได้เพราะของแบบนี้อยู่ที่ใจ ถ้ามันจำเป็นต้องจุดก็ขอให้เลือกใช้

“ทุกวันนี้ผมยังบอกแม่ว่าถ้าแม่จะจุดให้เอานี่ไปใช้ หมดแล้วให้มาบอก (หัวเราะ) บางทีลูกค้าของผมก็เป็นลูกหลานที่สั่งซื้อกลับไปต่างจังหวัดให้แม่ คนจุดธูปส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ บางคนจะจุดเพื่อเอากลิ่นก็ได้เหมือนกัน ทุกวันนี้ผมไม่ได้มองเรื่องผลกำไรเพราะเราทำอะกาลิโกแล้วก็อยู่ได้ แต่ทำเพราะแฮปปี้กับสิ่งที่เป็น ผมเชื่อว่าคนขายธูปเป็นคนมีบุญ ถ้าจะขายแบบซื้อมาขายไปก็คงได้ แต่พอเรารู้เยอะๆ ก็คิดว่าไม่เอาดีกว่าถ้าต้องทำแบบนั้น ผมมองว่ามีคนไทยน้อยมากที่ได้ใช้ของแบบนี้ก็เลยจะทำต่อไป”

นี่คือยุคแห่งการดูแลสุขภาพ

“ผมคิดว่าเวลาจะช่วยให้คนมาสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น สังคมบ้านเรากำลังเปลี่ยน ผมทำสินค้าประเภทนี้เพราะผมป่วยเป็นเบาหวานและโคเลสเตอรอลสูงมา 15 ปี แต่จากการที่เราเปลี่ยนตัวเอง ทำอะไรมากมายให้ตัวเองดีขึ้น มันก็ทำให้เราดีขึ้นจริง ปีนี้ผมอายุ 57 ปีเห็นเด็กรุ่นใหม่ออกกำลังกายมากขึ้น กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น อ่านข้อมูลโภชนาการมากขึ้น คนรุ่นใหม่สุขภาพดีกว่าคนยุคเก่าเยอะ ผมอยู่คอนโดฯ เห็นห้องฟิตเนสเต็มตั้งแต่ตีห้ายันสี่ทุ่ม ผมว่าเรื่องนี้มันเกิดขึ้นทุกที่ ทุกวัน สุดท้ายอยู่ที่ตัวคนแล้วล่ะว่าเราจะเลือกทำอะไรเพื่อสุขภาพบ้าง”

ถ้าให้เลือกแนะนำสินค้าหนึ่งอย่างจะแนะนำอะไรดี

“ผมอยากแนะนำธูปไหว้พระห่อใหญ่ของธูปรักษ์โลก จะเป็นกลิ่นมะลิหรือกลิ่นเทพประทานพรก็ได้ มะลิเป็นกลิ่นที่คนไทยทุกรุ่นคุ้นเคย คนกรุงเทพฯ ชอบใช้ ส่วนกลิ่นเทพประทานพรเป็นกลิ่นกำยานที่ถูกใจคนต่างจังหวัด ใช้กันมานานแล้วเหมือนกัน”

ผลิตภัณฑ์ธูปรักษ์โลก ทั้งธูปไหว้พระและธูปไล่ยุง มีให้ซื้อหาที่เว็บไซต์ Blue Basket ตะกร้าสุขภาพของคนช่างเลือก แหล่งรวมสินค้าเพื่อสุขภาพ ถ้าชอบใจ ติดตามเนื้อหาเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพน่าสนใจอย่างนี้ได้ทุกวันพุธที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน ที่คอลัมน์ Blue Basket นะ : )

ภาพ ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์, มนันยา เรือนรักเรา

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย

มนันยา เรือนรักเรา

หญิงสาวชาวเชียงใหม่ แต่เพื่อนของเธอชอบเข้าใจว่าเธอมาจากภาคกลางบ้าง อีสานบ้าง ใต้บ้าง ยกเว้นจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงนี้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป รักแมวและตำบลสุเทพ