INTHAI : แบรนด์แหวนลายคราม ต่างหูชามตราไก่ แฟชั่นไทยๆ ที่ใส่ได้จริง

Highlights

  • INTHAI คือแบรนด์เครื่องประดับของ มายด์อารียา บุญช่วยแล้ว บัณฑิตภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่หยิบเอาเอกลักษณ์งานหัตถกรรมแบบไทยๆ มาใส่ไว้ในผลงาน
  • ไอเดียของแบรนด์เริ่มจากการที่มายด์ชอบเทคนิคงานหัตถกรรมไทยและอยากให้มันเป็นส่วนหนึ่งของของใช้ในชีวิตประจำวัน เธอจึงเริ่มทำเครื่องประดับโดยใช้ของไทยๆ อย่างแหวนเครื่องลายครามหรือต่างหูรูปชามตราไก่ ที่น่ารักจนน่าหยิบมาใช้ทุกวัน
  • ความใส่ใจไม่ได้อยู่แค่ในรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกระบวนการทำที่มายด์ลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านที่เชี่ยวชาญงานหัตถกรรมประเภทต่างๆ และร่วมงานกันจนได้ผลิตภัณฑ์ไอเดียดีออกมาให้เราชื่นชม

“หลังเรียนจบปริญญาตรี คุณทำอะไรเป็นอย่างแรก?”

คำตอบของทุกคนอาจแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการแวะพักกายพักใจด้วยทริปใหญ่รอบโลก ออกค้นหาตัวเองด้วย gap year สักหนึ่งปี เป็นฟรีแลนซ์ สมัครเข้ารับราชการ หางานในบริษัทเล็ก-ใหญ่ หรือต่อยอดความรู้ให้ไกลออกไปด้วยการเรียนปริญญาโท

แต่คำตอบของ มายด์–อารียา บุญช่วยแล้ว เด็กจบใหม่อายุ 22 ปี จากภาควิชาออกแบบนิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลับไม่ใช่ข้อใดข้อหนึ่งในคำตอบทั้งหมดที่เราพูดไป เพราะมายด์เล่าให้ฟังว่าสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ในตอนนี้คือ INTHAI แบรนด์สินค้าแฟชั่น ที่นำเอาเอกลักษณ์งานหัตถกรรมไทยมาประยุกต์ ผสมผสานให้ทันสมัย เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ และใช้งานได้จริง ภายใต้คอนเซปต์ ‘Retell Thai details’

inthai

และแน่นอนว่านี่ไม่ใช่แบรนด์ที่ทำเล่นๆ เพราะมายด์จริงจังในระดับเคยนำ INTHAI เข้าร่วมโครงการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ จนได้ร่วมการประกวดและบินไปแสดงงานถึงต่างประเทศมาแล้ว

ตามมาทำความรู้จักกับ แบรนด์แฟชั่นไทยๆ ที่เชื่อในศักยภาพของงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ผ่านเรื่องราวชีวิตเด็กจบใหม่ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังงานคนนี้ไปพร้อมกันได้เลย

inthai

INTHAI งานคราฟต์ไทยที่ใส่ได้ในชีวิตจริง

“จุดเริ่มต้นของความสนใจมาจากการที่เราได้ไปเห็นงานหัตถกรรมตามงานออกร้าน สถานที่ท่องเที่ยว ชุมชน หรือร้านขายของที่ระลึก เรารู้สึกว่ารายละเอียดและเทคนิคของงานเหล่านี้สวยและมีคุณค่ามากๆ จนน่าเสียดายที่การออกแบบมักจะจำเจและยากที่จะเอามาใช้งานได้จริงในปัจจุบัน เพราะรูปแบบไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เราเลยอยากหยิบเอาเทคนิคพวกนั้นมาดีไซน์ใหม่ ให้สามารถมาอยู่บนตัวเราได้และคนสมัยนี้สามารถใช้งานได้จริงๆ

inthai

inthai

“พอพูดถึงความเป็นไทย เรานึกถึงถ้วยชามอย่างเครื่องลายครามและชามตราไก่เป็นอย่างแรก เพราะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวและเราใช้ในชีวิตประจำวัน เราว่าความเป็นไทยไม่จำเป็นต้องเป็นลายกนกหรือวัดวาอาราม แต่ของใช้ใกล้ตัวแบบนี้ก็คืองานหัตถกรรมไทยเหมือนกัน พอค้นหาข้อมูลไปเรื่อยๆ ยิ่งได้รู้จักเทคนิคการเขียนสีด้วยมือ ความลึกของสี พอมองดีเทลไปนานๆ เรายิ่งรู้สึกว่ามันมีคุณค่ามากกว่าจะอยู่แค่บนจานอาหาร มันสามารถมาอยู่บนตัวเรา ให้เราใส่ไปอวดคนอื่นได้ หรือจะไปอยู่บนผ้าหรือพื้นผิวอื่นๆ ก็ได้เหมือนกัน

“เราเป็นคนชอบใส่เครื่องประดับอยู่แล้ว เราเลยเลือกทำจากสิ่งที่ตัวเองอยากใส่ ส่วนผ้าพันคอเป็นสิ่งที่เราถนัดที่สุด เพราะการทำผ้าพันคอก็เหมือนการวาดภาพลงกระดาษแผ่นใหญ่ คนใช้สามารถนำไปผูกประยุกต์ใช้เองได้ พอเริ่มจากสิ่งที่เราชอบและถนัดก็ทำให้เรามีความสุขจนอยากทำต่อไปเรื่อยๆ”

จากห้องเรียนสู่โลกของการโตเป็นผู้ใหญ่

“เราเร่ิมสนใจและหยิบเรื่องนี้มาทำตั้งแต่ในวิชาเรียนตอนปี 3 แล้วต่อยอดมาเป็นทีสิสจบตอนปี 4 ตอนที่ทำงานนี้เรามีความสุขและใช้เวลากับมันเยอะมาก เรามีข้อมูล มีดีไซน์ มีวิธีการ เราศึกษาและทดลองทุกอย่างมาหมดแล้ว พอเรียนจบเราเลยตัดสินใจว่าอยากนำอันนี้แหละไปพัฒนาต่อให้เป็นแบรนด์ ให้เป็นอาชีพหลักของเรา

“จริงๆ ในช่วงที่ยังเรียนอยู่ เราก็ขายชิ้นงานมาเรื่อยๆ แต่เพิ่งจะเริ่มเปิดเป็นแบรนด์จริงจังเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมานี่เอง ซึ่งพอมาเป็นแบรนด์แล้วทุกอย่างมันต่างกันมาก เพราะพอทำงานคนเดียวเราต้องจัดการทุกอย่างเองหมด ทั้งการออกร้าน การดีไซน์ การประสานงาน การวางแผนการผลิต การบริหารเงิน การจัดเก็บสินค้า การคิดกลยุทธ์ในการขาย ฯลฯ

“มันต่างจากตอนเรียนที่เราเป็นแค่ดีไซเนอร์มากเลย ตอนนั้นเราคิดแค่เรื่องคอนเซปต์ การใช้งาน ความสวยงาม แต่พอมาเป็นแบรนด์ของตัวเอง เรากลายมาเป็นผู้ประกอบการที่ต้องวางแผนทุกอย่าง เราเลยได้รู้ว่ามันมีมากกว่าแค่ดีไซน์เยอะมาก ดีไซน์เหมือนเป็นแค่แผนกหนึ่งในหัวที่เราต้องจัดการ”

จากช่างฝีมือชุมชนสู่ INTHAI แบรนด์เครื่องประดับของคนทุกชุมชน

ในการทำแบรนด์ นอกจากงานออกแบบ วางแผน และบริหารจัดการธุรกิจแล้ว อีกสิ่งที่มายด์ต้องทำคือการประสานและทำงานร่วมกับช่างฝีมือ ครูช่าง และชุมชนต่างๆ ที่ผลิตสินค้าให้ INTHAI ไม่ว่าจะเป็น ช่างจักสาน ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเซรามิก หรือช่างเบญจรงค์ เพื่อทำความเข้าใจในความต้องการและปัญหาของชุมชน จนนำไปสู่การออกแบบสินค้าที่ตรงกับความต้องการของมายด์ และตรงความถนัดของผู้ทำ

“เราคิดว่าสิ่งสำคัญในการทำงานกับชุมชนคือความเข้าใจ เราต้องคุยกันให้เยอะๆ อย่างเมื่อก่อนเราเคยทำงานในโครงการพัฒนาสินค้าร่วมกับชุมชน แต่มีระยะเวลาทำสั้นมาก เช่น วันเดียวหรือบางครั้งติดต่อกันแค่ทางโทรศัพท์ก็มี เราเลยไม่ได้รู้จักหรือศึกษาเขาได้ดีพอว่าเขาทำอะไรได้บ้าง เขาคิดอะไรอยู่ ปัญหาของเขาคืออะไรกันแน่ เขาเองก็ไม่รู้จักเราเหมือนกันว่าเรามาทำไม ทำอะไรได้บ้าง งานก็เลยออกมาไม่ค่อยตรงกับความต้องการ หรือบางครั้งชิ้นงานออกมาโอเค แต่สุดท้ายพอโครงการมันสั้นก็ไม่มีคนสนับสนุนหรือทำต่อ งานมันก็หยุดอยู่แค่นั้น

“พอมาทำแบรนด์ของตัวเอง เราเลยอยากให้แบรนด์มีความมั่นคงและยั่งยืน เราพยายามลงไปคลุกคลี ไปอยู่กับชาวบ้านให้มากที่สุด ไปกิน ไปนอน ไปเวิร์กช็อป และพอกลับมาก็ยังคุยติดต่อกันอยู่ตลอด ส่งงานให้เขาทำเรื่อยๆ เพิ่มจากงานที่เขาทำเป็นปกติ”

แรงบันดาลใจที่แลกเปลี่ยนกันได้

มายด์เล่าว่า ในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น เธอได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากช่างฝีมือและชุมชนที่ผลิตชิ้นงาน จนทำออกมาเป็นสินค้าแฟชั่นชิ้นใหม่ๆ ได้อย่างไม่รู้จบ แต่อีกความสุขหนึ่งที่เธอได้รับก็คือ การพบว่านอกจากตัวเองจะได้รับแรงบันดาลใจและคุณค่าจากช่างฝีมือชุมชนแล้ว เธอเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบแรงบันดาลใจกลับไปหาชุมชนเช่นกัน

เพราะการทำงานของเราเป็นการออกแบบและให้ช่างจากชุมชนในจังหวัดต่างๆ ที่เชี่ยวชาญงานแขนงนั้นๆ ผลิต เราเลยได้เป็นเหมือนส่วนเล็กๆ ในการเพิ่มรายได้และไอเดียใหม่ๆ ให้กับชุมชนและช่างฝีมือไปในตัว หรือแม้แต่ชุมชนที่เราไม่ได้ทำงานด้วย บางครั้งที่เราไปออกร้านตามงาน OTOP ต่างๆ เราก็แอบได้ยินพี่ๆ เขาพูดกันว่า ลองมาดูงานน้องคนนี้สิ แปลกดีนะ อะไรแบบนี้ พอเขาได้ผ่านมาเห็นมันก็เกิดเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมาได้เหมือนกันว่ามันสามารถทำแบบนี้ได้ด้วยนะ ไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม นอกจากเขาจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราแล้ว เราก็ได้ส่งแรงบันดาลใจกลับไปให้เขาด้วยเหมือนกัน”

ติดตามผลงานอื่นๆ ของมายด์ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก inthaistudio

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรม และศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อย รวบรวมผลงานไว้ที่ pathipolr.myportfolio.com