ปีที่แล้วคำว่า Yassification ถูกพูดถึงในโลกออนไลน์บ่อยครั้ง สื่ออย่าง New Yorker, The New York Times หรือ Dazed Digital ต่างยกให้คำและมีมแห่งปี 2021
คำนี้อาจอธิบายเป็นคำแปลได้ยาก แต่หากได้เห็นภาพแล้วคุณจะเข้าใจทันที
Yassification กระบวนการทำให้ต๊าชชช ปัง สวยเด้งแบบไม่ต้องเกรงใจใคร
Yassification (n.) ประกอบขึ้นจากคำว่า Yass (คำสแลงที่แปลว่าปัง เลิศ ดี) + -ification หากต้องแปลคำนี้เป็นภาษาไทยคงจะแปลได้ว่า การเสริมแต่งอะไรสักอย่างจนดีเลิศ กระบวนการที่ทำภาพให้ดูสาวสุด (hyper-feminine) หรือสวยเกินจริง (hyperbeauty)
ตัวอย่างภาพแรกๆ ที่ทำให้คำนี้แพร่หลายคือ ฉากของนักแสดง Toni Collette กรีดร้องในหนังสยองขวัญ Hereditary ใบหน้าในภาพยนตร์ของเธอนั้นสมจริงมาก น่าสะพรึงกลัว แต่เมื่อภาพเธอถูกปรับแต่งให้ต๊าซชช เนียนกริบ คิ้วแน่น ปากอิ่มเต็ม หน้าแน่น จนผิดจากภาพจำเดิม ก็กลายเป็นความขบขันและเป็นมีมชั้นยอด คนขบขันและรีทวีตล้นหลาม
หลังจากนั้นคำว่า Yassification ได้โลดแล่นบนโลกออนไลน์ทุกหนแห่ง ในบริบทโลกตะวันตก การแต่งรูปให้เราดูสวยงามเกินจริงอาจเกิดจากการใช้แอปพลิเคชั่น FaceApp หรือ FaceTune ส่วนในฝั่งเอเชียก็คงหนีไม่พ้นแอป Meitu เพื่อนคู่ใจสาวๆ ที่ช่วยปรับแต่งให้เราดูดีและมั่นใจ ส่วนคำว่า Yas นั้นเป็นสแลงของการพูดว่า Yes ซึ่งเป็นคำพูดที่แสดงอารมณ์เต็มเปี่ยมที่สุด
เว็บไซต์ Know Your Meme แหล่งบันทึกประวัติศาสตร์แห่งมีมบนเน็ต สืบกลับไปพบว่า คำว่า ‘Yassification’ โผล่ขึ้นครั้งแรกบนทวิตเตอร์ในปี 2020 นี้เอง คำคำนี้ค่อยๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยมักจะแพร่ไปพร้อมกับภาพคนดังที่ถูกปรับแต่งจนดูงามเกินจริง และเมื่อเกิด @yassifyBot ที่รวบรวมภาพแนวนี้ไว้ก็ทำให้ภาพของคำนี้ชัดเจนแจ่มแจ้งไร้ข้อสงสัย เราได้เห็นอับราฮัม ลินคอล์น เวอร์ชั่นสาวงามสวยเด้งปานแองเจลินา โจลี กระทั่งนักปรัชญาฝั่งซ้ายอย่าง Slavoj Žižek กลายเป็นสาวผมบลอนด์สุดคิวท์ ไม่มีบุคคลใดศักดิ์สิทธิ์เกินไปจนไม่สามารถ Yassify ได้ …
หากเราอยากจะลอง Yassify ตัวเราเองก็สามารถทำได้ด้วยแอปพลิเคชั่นแต่งภาพ หรือกระทั่งฟิลเตอร์บน Instagram Story ยิ่งความต๊าซนั้นดูห่างไกลจากภาพจริงแค่ไหน ยิ่งน่าประทับใจ น่าจดจำ และถูกแชร์ต่ออย่างไว
อย่างไรก็ตาม มีคนมองว่าการ Yassification เป็นการล้อเลียนชาวแดร็กควีนในวัฒนธรรม LGBTQ+ หรือไม่ กระทั่งคำว่า Yas ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นคำอุทานคุณแม่ยุคแดร็กควีนแรกเริ่มในช่วงปี 80s ในบริบทสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นและดีไม่มีที่ติ เช่น “Yas, queen!” “yaas!” หรือ “yaasss!” ในบริบทภาษาไทยน่าจะประมาณคำว่า “ปังมากแม่ !!!” “ต๊าชสุดด !!!” ที่วัยรุ่นใช้แพร่หลายในเวลานี้ คำว่า Yas ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในพจนานุกรม Oxford Dictionary ในปี 2017
โอบกอดความงามสมัยใหม่ ใครอยากสวยแบบไหนก็เป็น อยากทำไรก็ทำ
ในปี 2014 Google Analytics พบว่าผู้ใช้ทั่วโลกถ่ายภาพเซลฟี่กว่า 93 ล้านภาพต่อวัน
ในเว็บไซต์ case24.com รายงานว่ามีคนเพียง 29% เท่านั้นที่จะลงภาพโดยไร้การปรับแต่งเพิ่มเติม แอปต่างๆ ก็มีฟิลเตอร์ที่ช่วยให้หนังหน้าเราใสเด้ง ปรับแต่งได้มากตามที่ต้องการ กระทั่งการเข้าประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom ก็มีฟังก์ชัน ‘Touch Up My Appearance’ คอยปรับหนังหน้าเราให้เนียนใสเมื่อประชุมจากชุดนอนที่บ้าน
Jia Tolentino ได้เขียนข้อสังเกตปรากฏการณ์ Instagram Face หรือใบหน้าแบบอุดมคติของอินสตาแกรมไว้บทความใน The New Yorker ว่าคือใบหน้าสวยไร้ที่ติจนดูเป็นหุ่นยนต์ โหนกแก้มสูง ผิวเนียนเรียบแต่มีประกาย ปากอิ่ม จมูกน้อย ใบหน้าที่ระบุได้ยากว่ามาจากชาติพันธุ์ใด เกิดกระแสที่คนจำนวนมากอยากมีหน้าตาเหมือนตัวเองในเวอร์ชั่นออนไลน์ จนเกิดปรากฏการณ์ ‘Snapchat dysmorphia‘ เมื่อคนเริ่มไม่พึงใจในใบหน้าจริงตัวเองจนไปศัลยกรรมพลาสติกให้ดูเหมือนรูปตัวเองเมื่อมีฟิลเตอร์
สิ่งที่เราได้จากปรากฏการณ์มีม Yassification คงไม่ใช่การตัดพ้อว่า โลกนี้ไม่มีอะไรที่จริงแท้อีกต่อไป หรือการตกแต่งเกินพอดีนั้นทำให้โลกแย่ลง ผู้เขียนกลับมองว่าการที่สังคมยอมรับการมีอยู่ของ Yassification น่าจะทำให้ทุกคนไม่ซีเรียสกับภาพลักษณ์สวยๆ งามๆ ที่ปรากฏบนอินเทอร์เน็ต ยอมรับเสียว่าใครๆ ก็แต่งภาพทั้งนั้น ไม่ต้องเดือดร้อนหากเขาอยากปรุงแต่งภาพที่ทำให้เขามั่นใจ ไม่ต้องพยายามจับผิดรูปร่างหน้าตาของคนอื่น หรือไปนั่งตรวจสอบว่าอะไรจริงหรือไม่มีจริงในโลกที่ภาพใดๆ ล้วนผ่านการอีดิตปรุงแต่งทั้งสิ้น หากเราแอบตุ้งภาพเราใน Meitu แล้วทำให้เราดูดีและมั่นใจขึ้นอีกนิดก็ทำเลย
ในโลกออนไลน์ใดใดล้วนโดนอีดิทและปรุงแต่งเพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ปังที่สุด แม้กระทั่งความงามแบบดูไม่พยายามหรือภาพถ่ายที่ดูความน้อยนิ่งงามก็ใช้แรงพยายามมากมายในการเคลื่อนเฟอร์นิเจอร์ จัดองค์ประกอบ และถ่ายซ้ำหลายสิบรูปกว่าจะได้มุมที่ดีที่สุด แม้รูปผลลัพธ์ปลายทางอาจถูกทำให้ดู effortless แค่เราอาจแค่ไม่ทราบเบื้องหลังเท่านั้น หากคนเราจะสวยโดยพึ่งพาเทคโยโลยีแล้วเราพึงพอใจและมั่นใจเราก็ไม่ควรต้องรู้สึกแย่ ความสวยธรรมชาตินั้นอาจใช้ความพยายามและทุนทรัพย์อย่างมาก หากเราจะแต่งเติมภาพเพื่อลบความไม่มั่นใจบางประการคงไม่เป็นไร
ดังนั้น จงเพลิดเพลินกับปรากฏการณ์ Yassification ยินดีกับรูปสวยๆ งามๆ ของคนอื่นโดยไม่ต้องพยายามไปหาว่าจริงหรือไม่ จริงแท้แค่ไหน เพราะใดใดในโลกล้วนสามารถถูกทำให้ต๊าชได้เต็มที่เท่าที่เขาต้องการ และยอมรับเถอะว่า Yassification คงจะอยู่กับเราไปอีกนาน 😉
อ้างอิง
Yassify Bot (@YassifyBot) / Twitter
Yassification | Know Your Meme
The Rise of ‘Instagram Face’ | Psychology Today
YassifyBot and ‘Yassification’ Memes, Explained – The New York Times