เคยนึกอยากลองเกิดเป็นสัตว์ดูไหม หากเรากลายเป็นงู นก เต่า เห็บ หรือสุนัขที่บ้าน เราจะรับรู้โลกแบบไหน โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ตัวเราจะยังเป็นเราไหมเมื่อเปลี่ยนร่างกายของเราไป หรือโลกที่เรารับรู้จะเปลี่ยนไปด้วยเพราะเรากับสัตว์นั้นมีประสาทสัมผัส ระบบต่างๆ ในร่างกายที่ต่างกัน
คำศัพท์วันนี้ เราอยากพาไปสำรวจโลกของ Umwelt เพื่อลองจินตนาการโลกที่เราอยู่ผ่านประสาทสัมผัสของสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนไป
Umwelt เมื่อเราและสัตว์รับสัญญาณจากสิ่งแวดล้อมต่างกันไป
ในปี 1909 Jakob von Uexküll นักชีววิทยาชาวเยอรมัน ได้หยิบยืมคำว่า Umwelt (อ่านว่า อืมเวลท์)
คำนาม ในภาษาเยอรมัน อันแปลว่า “สิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ” แล้วนิยามคำนี้ด้วยความหมายที่เฉพาะเจาะจงลึกลงไป เพื่ออธิบายข้อสังเกตที่แสนธรรมดาแต่มักถูกเพิกเฉยมองข้ามโดยคนทั่วไป นั่นคือ “สัตว์ต่างๆ ในระบบนิเวศเดียวกัน ล้วนรับรู้สัญญาณจากสิ่งรอบตัวต่างกัน ด้วยข้อจำกัดของประสาทสัมผัสในสิ่งมีชีวิตและสรรพสัตว์”
“Umwelt” คือ โลกและสิ่งแวดล้อมที่แต่ละสิ่งมีชีวิตรับรู้ ส่วนความเป็นจริงยิ่งใหญ่กว่าที่ครอบการรับรู้ของแต่ละสิ่งมีชีวิต เรียกว่า “Umgebung” คือสิ่งแวดล้อม เบื้องหลัง มณฑลที่ใหญ่กว่าซึ่งครอบคลุมสิ่งมีชีวิตต่างๆ ไว้อีกที
David Eagleman นักวิทยาศาสตร์สาขาประสาทวิทยา ยกตัวอย่างไว้ในบทความ Edge.org เพื่อให้เห็นภาพ Umwelt เช่น หากเราเกิดเป็น “เห็บ” สิ่งมีชีวิตซึ่งที่ไม่มีหูและตา โลกของพวกมันมืดมิดและเงียบสงัด สัญญาณที่สำคัญที่พวกมันรับได้คือ “อุณหภูมิ” และ”กลิ่นของกรดบิวทิริก” ซึ่งพบในไขมันพืชและสัตว์ ในโลกของสัตว์อื่นๆ อาจมีประสาทสัมผัสชนิดอื่นที่ร่างกายมนุษย์ไม่มี เช่น การรับรู้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือกระแสไฟฟ้า สิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิตรับรู้สภาพแวดล้อมต่างกันตามขีดจำกัดของเครื่องรับสัญญาณที่ติดมากับร่างกายที่ต่างกัน แต่ล้วนนึกว่า Umwelt ของตนเองคือโลกความเป็นจริงทั้งหมด
Umwelt สำรวจประสาทสัมผัสของสรรพสัตว์เพื่อได้รับรู้จักรวาลใหม่ๆ ในโลกใบเก่า
หนังสือเรื่อง An Immense World: How Animal Senses Reveal the Hidden Realms Around Us โดย Ed Yong ได้พาเราไปสำรวจประสาทสัมผัสต่างๆ ของสัตว์อันแตกต่างหลากหลาย โลกนั้นเต็มไปด้วยภาพและพื้นผิว เสียง การสั่น กลิ่น และรสชาติ สนามแม่เหล็กและสนามไฟฟ้า
Ed Yong ได้หยิบยก Quote จาก Marcel Proust นักเขียนคนสำคัญชาวฝรั่งเศสผู้ล่วงลับ Prouse เคยกล่าวไว้ว่า “The only true voyage . . . not to visit strange lands, but to possess other eyes.” หรือ การเดินทางที่แท้จริง มิใช่การไปเยี่ยมชมดินแดนอันแปลกประหลาด หากแต่คือการได้รับดวงตาดวงอื่น การทำความเข้าใจการรับรู้ที่ต่าง คือการจินตนาการถึงความเป็นไปได้จักรวาลและโลกในเวอร์ชันที่ต่างออกไป โดยในแต่ละบทของ An Immense World เขาชวนให้เราไปสำรวจประสาทสัมผัสของสัตว์อื่น มีนักวิจัยมากมายที่ศึกษาการรับรู้โลกของสัตว์หลากหลายในสปีชีส์ ชวนให้นึกตาม ตัวอย่าง เช่น
- กลิ่นและรส นั้นเป็นสัมผัสที่แยกจากกันได้ยาก มนุษย์เคยชินกับลิ้นที่ไว้รับรสและจมูกที่ไว้ดมกลิ่น สัตว์บางชนิดมีประสาทสัมผัสกลิ่นและรสที่รวมกัน
- ในสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูและสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิด มีลิ้นที่ใช้ดมกลิ่น ลิ้นของพวกมันสามารถรับโมเลกุลของสิ่งแวดล้อมได้ เสมือนว่าพวกมันกำลังชิมรสสิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงเหมือนลิ้นของเรา
- คนเราสัมผัสชิมรสอาหารจากการกินเข้าปาก แต่สัตว์บางชนิดมีประสาทสัมผัสรับรสอยู่ทั่วร่างกาย เช่น ปลาดุก พวกมันจึงเหมือนลิ้นที่ว่ายน้ำได้ และสัมผัสรสชาติสิ่งรอบกายได้ตลอดเวลา
- ส่วนสัตว์เล็กๆ อย่างแมลงอาจรับรู้รสจากปลายเท้า เพราะพวกมันใช้เท้าวางลงไปบนอาหาร ชวนให้เราจินตนาการหากปลายเท้าหรือมือของเราสามารถแตะอาหารแล้วรู้รสได้จะเป็นอย่างไร
- การมองเห็นคือการรับแสงและการรับรู้สีต่างๆ ชนิดของดวงตา เลนส์รับแสง และตำแหน่งดวงตาที่ต่างก็ทำให้สิ่งมีชีวิตเห็นภาพต่างกันไป แต่สัตว์อื่นอาจรับภาพต่างไปในหลากหลายลักษณะ ทั้งความความชัด จุดโฟกัส มุมของภาพ หรือ ประเภทของสีที่พวกมันเห็น เช่น
- มนุษย์นั้นมีดวงตาสองข้างที่มองไปข้างหน้าทำให้ต้องหันไปรอบๆ เพื่อรับรู้ภาพในมุมอื่น นกหรือสัตว์บางชนิดมีดวงตาอยู่คนละฝั่งของศรีษะทำให้มันอาจเห็นวัตถุหนึ่งไป พร้อมกับดูอย่างอื่นไปพร้อมๆ กันได้ เรามองเห็นโลกอยู่ข้างหน้าเรา นกบางชนิดสามารถมองเห็นได้แบบมุมกว้างพาโนรามารอบตัวได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องหันหัวไปรอบๆ นกสามารถรับรู้บางสีที่เรารับรู้ไม่ได้ พวกมันเห็นความต่างในความถี่แสงที่คนไม่สามารถมองเห็นได้
- สัตว์ที่ดูแสนจะธรรมดาอย่างหอยเชลล์ มีดวงตาสีฟ้ามากมายถึง 200 ดวงอยู่ขอบๆ เปลือก ลองจินตนาการว่าพวกมันจะเห็นโลกอย่างไร ทุกดวงตาจะรวมภาพเป็นภาพเดียวหรือหลายภาพพร้อมๆ กัน สัตว์บางชนิดมีเซลล์รับรู้แสงอยู่ที่อวัยวะอื่นๆ เช่น มือและเท้า
- แมงมุม Jumping Spider นั้นมีดวงตาถึง 8 ดวงซึ่งอ่อนไหวต่อแสงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น จึงมีคนเปรียบว่าพวกมันอาจรับรู้โลกที่ค่อยๆ สว่างเรื่อยๆ ตามอายุขัยเหมือนอยู่ในโลกที่ดวงอาทิตย์ค่อยๆ จากมืดขึ้นจนสว่างจ้าในบั้นปลายชีวิต
- สัตว์บางประเภทมีเซ็นเซอร์รับรู้แสงได้กว้างกว่ามนุษย์จนเรานึกไม่ออกว่า การเห็นแสงเหนือม่วงหรืออินฟราเรดนั้นภาพเป็นอย่างไร
- สิ่งมีชีวิตบางชนิดไม่จำเป็นต้องรับแสงเลยด้วยซ้ำเช่น ปลาบางชนิดที่อาศัยในพื้นมหาสมุทรลึก การที่เราส่องแสงไปสำรวจมัน อาจเป็นการทำร้ายพวกมันที่ปรับตัวให้มีชนิดในสภาวะมืดมิด โดยที่เมื่อนักวิจัยสำรวจพื้นทะเลปิดไฟลง สัตว์ที่ตัวใหญ่จึงปรากฏตัวมาให้พบ
- การรับรู้ความเจ็บปวด สิ่งมีชีวิตเรียนรู้ที่จะรับความเจ็บปวดอันเป็นสัญญาณของการบาดเจ็บซึ่งอันตรายต่อชีวิต คนบางคนยังรู้สึกเจ็บปวดในแขนขาข้างที่ได้ถูกตัดออกไปแล้ว แต่สัตว์บางชนิดอาจไม่มีสัมผัสนี้ นักวิทยาสตร์ตั้งชื่อประสาทสัมผัสนี้ว่า Nociception (กระบวนการทางประสาทที่เข้ารหัส และประมวลผลตัวกระตุ้นอันตราย) แปลง่ายๆ คือกระบวนการของสิ่งมีชีวิตที่จะทำให้รับรู้ถึงการบาดเจ็บและชำรุดของร่างกาย
- สัตว์บางชนิด ส่วนสมองนั้นแยกความเจ็บปวดออกจากการบาดเจ็บ และมีคนเชื่อว่าสัตว์บางชนิด เช่น ปลา ปู กุ้ง แมลง ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดแต่คำตอบนั้นหลากหลายและเป็นที่ถกเถียงและศึกษาในวิทยาศาสตร์
- และสัตว์บางชนิด แม้บาดเจ็บเพียงจุดเดียวอาจส่งปฏิกิริยาไปทั้งร่างกาย ปลาหมึกที่ได้รับบาดเจ็บนั้นจะอ่อนไหวไปทั่วทั้งร่างกาย ในขณะที่คนเราสามารถแยกความเจ็บปวดเฉพาะจุดได้เพื่อระบุส่วนที่เสียหายที่เกิดขึ้นในจุดที่บาดเจ็บ แต่ก็สามารถดำเนินชีวิตต่อด้วยส่วนอื่นที่ไม่เจ็บปวด
- การรับรู้ความร้อน แม้คนจะสัมผัสความร้อนได้จากการต้องเข้าไปอยู่ในนั้น แต่สัตว์บางชนิดสามารถจับความร้อนได้ด้วยการรับรู้จากระยะไกล สำหรับสัตว์บางประเภทอุณหภูมิที่เหมาะสมคือตัวแปรสำคัญในการอยู่รอดในธรรมชาติ และบางครั้งอุณหภูมิคือตัวชี้วัดแหล่งอาหาร
- แมลงไม่สามารถปรับอุณหภูมิในร่างกายและอุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไปอาจทำให้ตายได้ แมลงหลากชนิดมีพฤติกรรมตอบสนองโดยมีอุณหภูมิเรียกว่า Thermotaxi ซึ่งจับความร้อนได้รวดเร็วและแม่นยำมาก เช่น ยุงมีระบบรับรู้ความร้อนจากร่างกายสัตว์ที่มันต้องไปดูดเลือด
- สัตว์ล่าเหยื่อเช่นงู มีอวัยวะลักษณะเป็นรูชื่อ Pit organs บนใบหน้า ที่มองผ่านๆ ดูคล้ายรูจมูก เพื่อใช้การรับรู้ความร้อนควบคู่กับดวงตาในการล่าเหยื่อที่ร่างกายมีความร้อน เช่น นกและหนู ช่วยให้มันหาเหยื่อในที่มืดได้
- การสัมผัส และการสั่น ปลายนิ้วมือของคนนั้นอ่อนไหวต่อความรู้สึกมากจนทำให้ผู้ที่ตาบอดสามารถอ่านอักษรเบรลล์ได้จากการรับรู้ผิวสัมผัสนูนต่ำบนกระดาษ ในโลกของสัตว์ การสัมผัสนั้นมีความแตกต่างหลากหลาย
- ตัวนากมีมือและหนวดที่ไว มีระบบ active touch ซึ่งรับรู้ได้ไวมากจากการสัมผัส การที่มันดูเหมือนลอยม้วนตัวไปมาในน้ำ แท้จริงแล้ว มันอาจกำลังอ่านสิ่งแวดล้อมอยู่ สัมผัสที่ไวทำให้มันหยิบจับอาหารได้อย่างรวดเร็ว
- ปลาเคลื่อนที่ไปในน้ำได้อย่างว่องไวในทิศทางที่มันต้องการ นอกจากจะปรับสรีระให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวในน้ำ ปลาสัมผัสได้ถึงความเคลื่อนไหวของกระแสน้ำ หรือ Hydrodynamic ปลาสามารถรู้ถึงสัตว์อื่นที่เคลื่อนไหวมา สิ่งนี้ทำให้ปลาว่ายหนีก่อนที่คนจะว่ายน้ำเข้าหาพวกมัน พวกมันใช้ชีวิตในน้ำและรับสัญญาณในน้ำที่เราไม่ตรวจจับได้ ส่วนสัตว์ที่ล่าพวกมันเป็นอาหารก็อาจสามารถตรวจจับร่องรอยในน้ำได้หลังจากพวกมันได้ว่ายผ่านไปแล้ว
- แมลงกว่า 200,000 ชนิดเช่น จักจั่น ตั๊กแตน ใช้คลื่นความสั่นต่างๆ กันเพื่อสื่อสาร ส่งสัญญาณถึงกัน เสียงของพวกมันไม่อยู่ในคลื่นที่หูของเราสามารถจับได้ จึงไม่รับรู้ว่ามีอยู่
- เสียงและเสียงสะท้อน สัตว์จำนวนมากไม่มีหู และสัตว์ต่างชนิดก็ส่งเสียงและรับสัญญาณในต่างคลื่นเสียงในความความถี่ที่แตกต่างกันไป
- แมลงในยุคแรกไม่มีอวัยวะรับเสียง แต่แมลงบางชนิดก็ได้วิวัฒนาการจนมีส่วนที่ใช้รับรู้เสียงได้และอยู่ในจุดต่างๆ อันแตกต่างกันหลากหลาย บางแมลงมีหูอยู่ที่เสาสัญญาณ ที่ข้อเข่า ปลายขน
- วาฬสามารถส่งเสียงถึงกันได้ในระยะไกล หากวาฬได้ยินเสียงเพลงจากวาฬอีกตัวที่ห่างไป 1,500 ไมล์นั่นคือเสียงได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อครึ่งชั่วโมงที่แล้ว วาฬ่รับรู้ถึงภูเขาในมหาสมุทรผ่านการส่งเสียงสะท้อนไปในวัตถุนั้น หากวัตถุห่างไกล
- อย่างที่เราเคยเรียนกันมา ค้างคาวมี Echolocation หรือสามารถระบุตำแหน่งของวัตถุโดยใช้เสียงสะท้อน โดยพวกมันสามารถระบุชนิดของแมลงได้จากจังหวะของการกระพือปีก สามารถบอกได้ว่าแมลงกำลังจะบินมาหรือบินออกจากตำแหน่งของตัวค้างคาว
- สนามไฟฟ้าและสนามแม่เหล็กโลก
- ปลามากถึง 350 สปีชีส์สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ปลาไหลไฟฟ้าปล่อยพลังงานไฟฟ้าที่สามารถฆ่าม้าให้ตายได้ มีปลาอีกมากที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ พวกมันใช้ในการรับรู้สิ่งแวดล้อม และสื่อสารถึงกัน พวกมันใช้กระแสไฟฟ้าเหมือนที่สุนัขใช้ดมกลิ่น และค้างคาวใช้ระบุตำแหน่งจากเสียงสะท้อน
- สัตว์ที่จำเป็นต้องอพยพทางไกลสามารถรับรู้ได้ถึงสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งสัญญาณนี้เป็นตัวช่วยระบุทิศเพื่อให้พวกมันอพยพทางไกลได้โดยไม่หลงทาง สนามแม่เหล็กโลกไม่ถูกกระทบโดยสภาพอากาศหรือสิ่งกีดขวาง เต่าหรือปลาแซลมอนสามารถจดจำตำแหน่งสถานที่เกิดของมันได้แม่นยำจนสามารถกลับมาที่จุดกำเนิดได้เมื่อเติบโต เพื่อวางไข่ในชายหาดเดียวกับที่พวกมันฟักตัวออกมาดูโลก มนุษย์ใช้เข็มทิศมาเป็นพันปี แต่สัตว์เหล่านี้ใช้ระบบนี้มาเป็นล้านๆ ปี เพื่อไปถูกทิศทางแม้ไม่มีแผนที่ในท้องฟ้าและมหาสมุทรอันกว้างใหญ่
แม้จุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกจะเริ่มขึ้นจากจุดเดียวกันก่อนจะค่อยๆ ขยายแผ่กิ่งก้านสาขาแห่งวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา สีที่เราเห็นอาจเป็นคนละสีหากมองด้วยดวงตาอื่น กลิ่นที่เหม็นสำหรับเราอาจหอมสำหรับสัตว์อื่น แม้กระทั่งความเจ็บปวดในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็อาจจะแตกต่างกันไปตามระบบการรับรู้ของร่างกาย และมีอีกหลายประสาทสัมผัสที่เราไม่มี
ในธรรมชาติมีข้อมูลมากมายล่องลอยอยู่ ไม่มีสิ่งมีชีวิตใดที่สมบูรณ์และรับสัญญาณทุกสิ่งได้พร้อมๆ กัน เพราะมันจะเป็นชุดข้อมูลที่มากมายเกินไป สัตว์ต่างๆ จึงวิวัฒนาการระบบประสาทมาจับสัญญาณเพื่อรับรู้แค่ข้อมูลบางประเภทเท่านั้น ข้อมูลทุกสิ่งไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและอาจใช้พลังงานมากเกินไปหากต้องรับรู้ทุกส่วนเสี้ยวความจริงพร้อมๆ กัน
สิ่งมีชีวิตล้วนได้รับเพียงส่วนเสี้ยวของความจริง แต่ละสิ่งมีชีวิตแต่ละสายพันธุ์จึงรับรู้โลกในเวอร์ชั่นที่ต่างกัน สัตว์ (และคน) ต่างล้วนอยู่ใน Sensory Bubble หรือฟองอากาศแห่งประสาทสัมผัสของตนเองซึ่งจำกัด และเรียกทุกสิ่งที่ตนสัมผัสได้ว่าคือโลกที่แท้จริง ซึ่งจริงๆ แล้วอาจมีหลากหลายเวอร์ชั่นที่เราไม่อาจจินตนาการได้ครบทุกความเป็นไปได้
Umwelt พาเราออกไปนอกขอบเขตโลกที่เรารับรู้ได้
การมีอยู่ของ Umwelt ชวนให้เรานึกตามว่า หากเราเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตใกล้ตัวเราเช่นสุนัข พวกมันสำรวจโลกโดยใช้จมูกเป็นหลัก จมูกของมันนั้นรับรู้กลิ่นได้อย่างละเอียดท่วมท้นกว่าคนมากมาย โลกของสุนัขจึงเต็มไปด้วยกลิ่น สิ่งของทุกชิ้น ทุกสถานที่อาจประเดประดังด้วยกลิ่นหลากชนิด เราไม่อาจนึกออกว่าหากเรามีร่างกายที่แตกต่างไปแท้จริงแล้วจะรู้สึกและรับรู้อย่างไร
David Eagleman จึงสรุปว่าคงจะดีหากคนทั่วไปได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของ Umwelt คอยเตือนให้เรารู้ข้อจำกัดของการรับรู้ของเรา และลองจินตนาการถึงข้อมูลที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้มากมายในโลก และจักรวาลนั้นเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่เราอาจนึกไม่ถึง
อริสโตเติลเคยระบุว่า ประสาทสัมผัสมีอยู่ 5 อย่างคือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส นั่นเป็นข้อมูลพื้นฐานตามที่เราคุ้นเคยกัน แต่ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่า ร่างกายของเรามีประสาทสัมผัสมากกว่านั้น เช่น Sense of Balance การรับรู้สมดุลร่างกาย หรือกระทั่งเมื่อเราหลับตา เราสามารถรับรู้ถึงแขนขาของเราได้ แม้เราจะยังไม่ได้มองหรือจับ คนที่ประสาทสัมผัสส่วนเหล่านี้ชำรุดหรือบกพร่องไป ก็จะไม่สามารถรับรู้โลกได้เหมือนคนอื่นๆ
ตั้งแต่อดีต มนุษย์มักมีเรื่องเล่า นิทาน เกี่ยวกับสัตว์ที่พูดได้และมีพฤติกรรมเหมือนคน มนุษย์ได้พยายามใส่มุมมองความเป็นคนเข้าไปในสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เมื่อเราดูสารคดีสัตว์โลก ไปสวนสัตว์ สังเกตดูสัตว์ต่างๆ เรามักสังเกตพวกมัน เราจินตนาการความคิดและการรับรู้ของมันโดยอ้างอิงจากตัวเรา Umwelt ทำให้ออกจากมุมมองที่มนุษย์เป็นศูนย์กลาง พลิกมุมมองเราให้เปิดใจไปสำรวจพยายามเข้าใจพวกมันโดยคำนึงถึงในลักษณะทางกายภาพของสิ่งมีชีวิตในแบบที่มันรับรู้
แม้ยากที่เราจะนึกออกว่าสัตว์ต่างๆ มองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัสโลกข้างหน้าแตกต่างจากเราอย่างไร แม้ยากที่เราจะเข้าใจเราจะรู้สึกอย่างไรหากเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตอื่น.. แต่การได้ลองนึกว่าพวกมันรับรู้โลกต่างจากเราอย่างไรได้บ้าง อาจพาเราไปพบความน่าอัศจรรย์ใจคือความหลากหลายในความธรรมดา
อ้างอิง