หากคุณต้องใช้ชีวิต 1 วันโดยไม่มีมือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต คุณจะสามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ไหม?
คุณจดจำอะไรได้บ้างหากไม่มีเทคโนโลยีช่วย คุณเดินทางไปถึงสถานที่ที่ไม่เคยไปโดยไม่หลงทางไหมหากไม่มีแผนที่ GPS คุณจำวันเกิดคนสำคัญได้ไหมหากโทรศัพท์ไม่แจ้งเตือน
คุณจำเบอร์พ่อแม่ เพื่อนสนิท หรือคนรักได้ไหม คุณสามารถโทรไปขอความช่วยเหลือฉุกเฉินได้ไหม หากอยู่ในสถานการณ์คับขันที่ไม่สามารถเปิดดูรายชื่อในโทรศัพท์ได้ คุณจดจำบรรยากาศวันสำคัญในชีวิตได้ไหม หากจู่ๆ ไม่สามารถกลับไปดูภาพและวิดีโอที่บันทึกไว้ได้เลย
มือถือแทบจะเป็นส่วนต่อขยายของสมองที่ช่วยเราจดบันทึก นำทาง ช่วยเราค้นหาข้อมูลสำคัญได้แทบจะตลอดเวลา จนเราแทบไม่ต้องจดจำอะไรให้เปลืองสมองอีกแล้ว
Kaspersky Lab บริษัทเทคโนโลยีด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ได้ให้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่าคือ Digital Amnesia ภาวะความจำเสื่อมอันเกิดจากการที่คนจำนวนมากเลือกใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตช่วยจดจำแทนเราไปทั้งหมด ซึ่งไม่ได้กระทบแค่ในคนอายุน้อยที่เกิดมาคุ้นชินกับการใช้มือถือตั้งแต่เล็กๆ หรือคนรุ่น Digital Native เท่านั้นแต่มีผลกับพฤติกรรมและความทรงจำของคนวัยอื่นเช่นกัน
Digital Amnesia เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนวิธีจดจำของเรา
ปี 2017 Kaspersky ได้ออกรายงาน The Rise and Impact of Digital Amnesia : Why we need to protect what we no longer remember อธิบายถึงปราฏการณ์ Digital Amnesia ที่มีสูงขึ้นและผลกระทบที่ตามมา Digital Amnesia (น.) แปลว่า ประสบการณ์ที่คนลืมข้อมูลเพราะเรานั้นเชื่อมั่นในเครื่องมืออุปกรณ์ดิจิทัลให้จดจำแทนเรา (the experience of forgetting information that you trust a digital device to store and remember for you.)
เมื่อแปลตรงตัว Digital Amnesia คือภาวะความจำเสื่อมอันเกิดจากเทคโทโลยียุคดิจิทัล คนเราเชื่อมั่นให้อุปกรณ์ต่างๆ จดบันทึกข้อมูลสำคัญแทนเรา เช่น ข้อมูลติดต่อ ภาพ เราสามารถเชื่อมต่อเรากับคลังข้อมูลขนาดใหญ่ได้ทุกที่ทุกเวลา จนเรารู้สึกว่าเราไม่ต้องจดหรือจำอะไรเองอีกต่อไป อยากรู้เมื่อไหร่ค่อยพึ่งพาให้เทคโนโลยีช่วยหาให้เรา
คำอื่นๆ ที่มีความใกล้เคียงเกี่ยวข้องเช่น
- Google Effect แปลว่า อาการไม่สามารถจดจำข้อมูลสำคัญได้เพราะความสะดวกสบายง่ายดายที่จะเสิร์ชออนไลน์หรือกูเกิลเมื่อไหร่ก็ได้
- Digital Obsolescence คือภาวะที่ข้อมูลนั้นสูญหายเพราะเทคโนโลยีของการเก็บบันทึกนั้นล้าสมัยจนไม่สามารถเปิดดูข้อมูลได้ เช่น เราไม่สามารถเปิดดูแผ่นซีดีหรือเทปคาสเซ็ตต์เก่าๆ เพราะเราไม่มีเครื่องอ่านซีดีอีกต่อไปในบ้านเรา
ตั้งแต่ปี 2011 นักวิจัยด้านสมองจากหลายมหาวิทยาลัยได้ศึกษาเรื่องความทรงจำกับการใช้อินเทอร์เน็ต พบว่าคนอายุน้อยใน US จดจำข้อมูลเปลี่ยนไปเป็นผลจากข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้ทางออนไลน์ พวกเขาจดจำข้อมูลได้น้อยลงแต่สามารถนึกออกว่าจะหาข้อมูลเหล่านั้นได้ที่ไหน นักวิจัยสรุปเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าคือ ‘Google Effect’ หรือผลกระทบจากการใช้กูเกิล อย่างไรก็ตาม การทดลองที่ทำให้เกิดที่มาของคำว่า Google Effect ก็ยังไม่สามารถทำซ้ำให้ได้ผลลัพธ์เดิมได้
ในปี 2015 Kaspersky อยากจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้ มอบหมายให้องค์กร Opinion Matters ทำแบบสอบถามเพื่อสำรวจผู้บริโภคในอเมริกาอายุ 16-55 ปีขึ้นไปจำนวน 1,000 คน ตัวอย่างคำถามในแบบสอบถามเช่น
- หากไม่เปิดดูเลย คุณสามารถจดจำเบอร์โทรญาติ บ้าน เพื่อน ที่ทำงาน บริการต่างๆ ได้ไหม
- ยังจำเบอร์โทรศัพท์บ้านสมัยอายุ 10 ขวบได้อยู่ไหม
- หากต้องการคำตอบข้อมูลข้างต้น จะทำอย่างไร เช่น พยายามนึกออกเอง ถามเพื่อน หาในสมุดจด หรือเสิร์ชออนไลน์
- หากพบข้อมูลดังกล่าว เราจะทำอย่างไร พยายามจดจำ เขียนจดไว้ หรือใช้แค่เมื่อจำเป็นแล้วลืมไป
จากการสำรวจมีคนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะพยายามจดจำหรือจดข้อมูลสำคัญไว้ คนส่วนมากที่ทำแบบสอบถามยินดีที่จะลืมข้อมูลที่สามารถหาได้ใหม่ทางออนไลน์ ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมด (91.2%) เห็นด้วยว่าอินเทอร์เน็ตนั้นคือ ‘ส่วนต่อขยายของสมอง’ คนมากกว่า 44% ยอมรับว่าสมาร์ทโฟนเก็บข้อมูลทุกอย่างที่พวกเขาจำเป็นต้องรู้ แต่ก็มีผู้สูงอายุวัยมากกว่า 55 ปีจำนวนเพียง 26.2% ตอบว่าสมาร์ทโฟนเป็นแหล่งเก็บความทรงจำของเขา ในภาพรวมผู้คนพึ่งพาและเชื่อใจให้อุปกรณ์เก็บความทรงจำสำคัญของตัวเองมาก เวลาผ่านไปหลายปี ในปี 2019 Kaspersky ก็ยังทำการศึกษาประเด็นนี้ต่อและได้พบผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงเดิม เช่น คนจำนวนประมาณกึ่งนึงจำเบอร์เพื่อนตัวเองไม่ได้หากไม่พึ่งรายชื่อในโทรศัพท์
มีคนเพียง 24% ที่ใช้บริการรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลของตัวเอง การพึ่งพาเก็บข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญในโทรศัพท์และอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนๆ เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพราะหากมีผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวหรือสำคัญของเราได้ ก็อาจจะนำไปใช้แสวงประโยชน์หรือทำให้เกิดผลเสียได้ง่าย มีคนจำนวนมากเก็บภาพสำคัญไว้ในโทรศัพท์โดยหากโทรศัพท์หายไปรูปก็หายไปด้วย
ความเสี่ยงที่ตามมา หากเราพึ่งพามือถือให้จำแทนเราทั้งหมด
การเก็บความทรงจำสำคัญไว้นอกกายเสียทั้งหมดมีความเสี่ยงที่ตามมา เช่น หากข้อมูลสำคัญนั้นหายไป ไม่สามารถสืบค้นได้ ไม่ว่าจะโดนลบออกไป หรืออัลกอริทึมทำให้ค้นหาไม่พบ ความทรงจำนั้นก็อาจหายไปตลอดกาล เพราะเราไม่ได้สำรองไว้เลย หรือหากอยู่ในภาวะคับขันเช่นติดเกาะ หรือหลงทางในป่าหรือสถานที่ไม่มีสัญญาณ มือถือพังหรือร่วงหล่นลงนั้น ตัวเราจะมีทักษะในการเอาตัวรอดพื้นฐานหรือไม่ หากไร้อินเทอร์เน็ตคอยให้คำปรึกษาและนำทางช่วยเหลือ
เราอยู่ในโลกที่มีข้อมูลมากมาย เราไม่สามารถจำเบอร์หรืออีเมลของทุกคนในชีวิตเราได้หรอก
แม้การให้เทคโนโลยีช่วยจดจำเพื่อแบ่งเบาภาระสมองคนเรานั้นเกิดขึ้นตลอดมา ตั้งแต่โลกขับเคลื่อนจากวัฒนธรรมที่ขยับจากการพูดเพื่อเล่าเรื่องไปสู่สังคมของการเขียนเพื่อจดบันทึก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อเราจะได้มีเวลาไปคิดสร้างสรรค์หรือทำสิ่งอื่นๆ ก็ตามที่พึงใจ
ผู้เขียนแทบลืมประสบการณ์สมัยเด็กที่พอสนใจอยากรู้เรื่องอะไรก็ต้องรอพักกลางวันไปอ่านหนังสือในห้องสมุดที่โรงเรียน ในปัจจุบันเราแค่ถาม Siri หรือหยิบมือถือก็รู้ได้ทันทีไม่ต้องเหนื่อยล้า เสียเวลา พอรู้เสร็จก็ลืมไปได้เลย ถ้าอยากรู้ใหม่ก็เสิร์ชใหม่เสมอตราบใดที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และเมื่อเวลาผ่านไป เราก็ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นส่วนต่อขยายของความทรงจำ ช่วยคิด ประมวลผลในเรื่องยุ่งยาก
ผู้เขียนเองเมื่อรับรู้ถึงปรากฏการณ์ Digital Amnesia เลยลองเปิดมือถือดูรูปภาพทั้งหมดที่ตัวเองถ่ายเก็บไว้ใน Cloud ทั้งหมดจำนวน 38,555 รูป และเปิดดูบันทึกรหัสพาสเวิร์ดเก่าๆ ไว้ใน note ของมือถือ พอนึกดูแล้วก็เกิดความรู้สึกหวั่นใจว่าหากทั้งหมดอันตรธานหายไปจากคลาวด์ ไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุหรืออะไร เราจะเหลืออะไรที่จดจำได้บ้างโดยไม่พึ่งพาอุปกรณ์เหล่านี้ ยิ่งอายุมากขึ้นและเวลาผ่านไป ความทรงจำในชีวิตเริ่มมีเยอะ และเราก็ยิ่งหวังพึ่งอุปกรณ์ช่วยเราจำมากขึ้นเรื่อยๆ ชีวิตมีข้อมูลมากมายเกินกว่าจะกลับมานึกและจัดการด้วยตัวเอง
แม้อินเทอร์เน็ตจะดูเป็นของฟรีที่อยู่ยั้งยืนยงและเข้าถึงได้ทุกเมื่อ ในความเป็นจริงเราไม่มีอำนาจอยู่เหนือข้อมูลที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตที่เรากดอ่านเลย หากวันดีคืนดี Domain หมดอายุไป หรือเจ้าของเว็บไซต์ที่เราต้องใช้อ้างอิงตัดสินใจปิดตัวไป ข้อมูลที่เราหวังจะเข้าถึงนั้นก็อาจหายไปเหมือนไม่เคยมีอยู่อีกต่อไป หากใครใช้อินเทอร์เน็ตมานาน บางคนไม่สามารถเข้าถึงบล็อกในเว็บไซต์เก่าๆ ที่เคยเขียนสมัยมัธยมได้อีกแล้วเพราะเว็บไม่มีอยู่แล้ว ผู้เขียนไม่สามารถเข้าถึงรูปภาพที่เคยฝากไว้ในบางเว็บไซต์ ไม่สามารถเข้าถึงเพื่อนที่เคยคุยกันผ่านทาง MSN, Hi5 หรือ MySpace บางคน เพราะความสัมพันธ์ไม่เคลื่อนต่อมาถึงยุค Facebook Twitter และยิ่งอายุมากขึ้น บางข้อมูลที่เราหวังฝากให้โลกดิจิทัลบันทึกไว้ วันใดวันหนึ่งก็อาจจะสลายไปง่ายดาย และอาจเข้าไม่ถึงได้ตลอดกาลหากเราไม่ได้บันทึกสำรองไว้ที่อื่นเลย
หากวันดีคืนดี มือถือเกิดเสีย ข้อมูลที่ฝากไว้หายไปทั้งหมด หรือเราเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ลองจินตนาการถึงผลกระทบที่ตามมา ชีวิตเราจะล่มไหม หากเราจู่ๆ เกิดพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ หรือมีแผนสำรองในการเก็บและเข้าถึงข้อมูลสำคัญอย่างไรอีกบ้าง
ในช่วงวันหยุด หากมีเวลา ลองเสียเวลา 1 วันที่เราใช้ชีวิตอยู่โดยไม่มีตัวช่วยจะเป็นอย่างไร หากมือถือของเราสูญหาย หรือข้อมูลที่เราเชื่อใจฝากไว้ดันสูญสลายไป หรือหากไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ในภาวะคับขันฉุกเฉิน เรามีทางเลือกอื่นๆ เป็นแผนสำรองไว้บ้างไหม เราจดบันทึกไว้ในช่องทางอื่น หรือจดจำไว้ด้วยตัวเองมากน้อยแค่ไหน
หากไม่มีอินเทอร์เน็ตและมือถืออยู่ข้างกาย ลองนึกว่ามีอะไรบ้างที่สำคัญกับชีวิตเราที่เราอยากเก็บไว้ในความทรงจำตัวเองให้ชัดเจนแบบที่ไม่มีใครเอาไปจากเราได้ 🙂
อ้างอิง