‘หยั่งเก่า’ ร้านอาหารสุดฮิปของคนญี่ปุ่นที่ขายข้าวแกงกะหรี่พร้อมกับของไอเทมแฟชั่น

หยั่งเก่า ให้เดาจากชื่อเชื่อว่าคงทายกันไม่ถูกว่าเป็นแบรนด์ขายอะไร

แต่พอเข้าไปส่องในอินสตาแกรม @yanggao_ngy ปุ๊บ ไถเจอรูปถ่ายแฟชั่นเสื้อผ้า กระเป๋าเท่ๆ ที่มี nippon cute boy & girl มาเป็นแบบละลานตาก็ถึงกับร้องอ๋อ เพราะนี่คือแบรนด์แฟชั่นที่เปิดคาเฟ่ชิคๆ ไปด้วยนั่นเอง

“เปล่าครับ หยั่งเก่าคือร้านแกงกะหรี่” 

DJ MOOLA เจ้าของร้านชาวญี่ปุ่นวัย 39 ปีแก้ความเข้าใจผิดพร้อมส่งเสียงหัวเราะผ่านโปรแกรม Zoom มาอย่างเป็นมิตร ก่อนจะเสริมว่า

“สินค้าที่เห็นทั้งหมดนั่นเป็นสินค้าที่ระลึกของทางร้านครับ”

หยั่งเก่าเป็นร้านแกงกะหรี่ในเมืองนาโกย่า จังหวัดไอจิ ที่ขายแกงกะหรี่ไทยๆ วันละประมาณ 4 เมนูวนกันไป แต่มีสินค้าที่ระลึกนับสิบ ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก ของใช้กระจุกระจิก มิกซ์เทปเพลงไทย แถมยังได้คอลแล็บกับแบรนด์ดังของญี่ปุ่นมากมาย เช่น niko and … กับแบรนด์ไทย เช่น I wanna Bangkok

ว่าแต่ดีเจมูล่าคนนี้เป็นใคร แล้วทำไมร้านนี้ต้องชื่อหยั่งเก่า แพสชั่นในการทำของฝากอย่างจริงจังขนาดนี้มาจากไหน เป็นความโชคดีของเราที่วันนี้เจ้าตัวมาไขข้อข้องใจให้เราฟังด้วยตัวเอง

ก่อนจะมาเป็นหยั่งเก่า

มูล่าคือกราฟิกดีไซเนอร์มือดีที่ต้องย้ายไปทำงานที่กรุงเทพฯ เมื่อ 9 ปีก่อนโดยที่พูดภาษาไทยไม่ได้สักคำแถมยังไม่ได้ชื่นชอบเมืองไทยเป็นพิเศษ แต่เมื่อต้องย้ายไปอยู่ต่างแดนครั้งแรกในชีวิต เขาจึงพกแผ่นเสียงและเครื่องเล่น ของรักที่ดีต่อใจของเขาไปเป็นเพื่อนด้วย จนจับพลัดจับผลูได้เจอคนที่ชอบดนตรีคล้ายๆ กัน ชีวิตในกรุงเทพของเขาจึงเต็มไปด้วยสีสัน กลางวันเป็นดีไซเนอร์ กลางคืนเป็นดีเจ พอวันว่างก็มักจะไปเดินตลาดนัดกลางคืนแถววรจักรเพื่อหาแผ่นเสียงดีๆ ราคาไม่แพง ส่วนแนวเพลงที่ชอบคือเพลงไทยเก่าๆ เช่น ลูกกรุง หมอลำ

“ผมชอบสะสมแผ่นเสียงมาตั้งแต่วัยรุ่น ตอนไปเมืองไทยครั้งแรกก็พกไปด้วย เพราะสมัยนั้นยังหาเครื่องเล่นแผ่นเสียงในไทยไม่ค่อยได้ ต้องหอบไปเองหมด ซึ่งมันก็มีประโยชน์มากตอนเป็นดีเจ ได้เปิดเพลงญี่ปุ่นที่ผมชอบให้คนไทยฟังสลับกับเพลงไทยที่ผมชอบ 

“ตอนนั้นผมพูดภาษาไทยไม่ได้ก็จริง ต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก แต่ว่าพอได้เจอคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน เช่น แฟชั่น เพลง มันสื่อสารความรู้สึกกันได้โดยไม่ต้องใช้คำพูดจนเป็นเพื่อนกันได้เอง เช่น เพื่อนชอบเพลงซิตี้ป๊อป ผมมีแผ่นที่เอาไปจากญี่ปุ่นพอดีเลยแบ่งให้เพื่อนบ้าง” ชายผู้เคยจัดอีเวนต์ร่วมกับนะ Polycat เล่าถึงความชอบดนตรีด้วยดวงตาเป็นประกาย ไม่น่าแปลกใจที่ในบรรดาสินค้าที่ระลึกของร้านเขาจะมีมิกซ์เทปเพลงไทยด้วย

หลังจากอาศัยอยู่กรุงเทพฯ มา 6 ปีครึ่ง มูล่าและภรรยาก็ตัดสินใจย้ายกลับไปอยู่ญี่ปุ่นเมื่อ 3 ปีก่อนและเปิดร้านหยั่งเก่าที่เมืองนาโกย่า ขายแกงกะหรี่ ของที่ระลึก และจัด somtum club อีเวนต์ปาร์ตี้ดีเจที่มีเพลงไทยมาแจมอย่างสม่ำเสมอ

ร้านหยั่งเก่ากับไอเดียอย่างใหม่

เริ่มจากที่มาของชื่อ ‘หยั่งเก่า’ ที่คนไทยอย่างเรายังแปลไม่ออก

“ผมชอบเพลง คือเก่า ของวง Srirajah Rockers มากเลยอยากนำมาเป็นชื่อร้าน เพราะว่าเป็นเพลงที่ผสมผสานเพลงอีสานเก่าๆ กับความเป็นเรกเก้ได้อย่างลงตัว แต่คำว่าคือเก่าพอเป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วมันไม่ค่อยเข้า ฟังดูโหดๆ ไปหน่อย เลยอยากได้คำที่มีความหมายคล้ายๆ กัน เพื่อนคนไทยเลยแนะนำคำว่า ‘หยั่งเก่า’ มา เขาบอกว่าเป็นภาษาเหนือที่คนไม่ค่อยใช้กันแล้ว แปลว่า เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เหมือนกับคำว่าคือเก่า” ชายผู้ชื่นชอบเพลงของดอน สอนระเบียบ แจกแจง

“ส่วนโลโก้ ผมเป็นคนร่างก่อนแล้วส่งให้ดีไซเนอร์ไทยเป็นคนจบงานเพราะอยากให้โลโก้ดูสวยในสายตาคนไทยด้วย ถ้าจะชมโลโก้ ต้องยกเครดิตให้ clubpop เพื่อนกราฟิกดีไซเนอร์ที่ออกแบบให้เลย”

ส่วนแพสชั่นในเรื่องแกงนั้น เนื่องจากออฟฟิศของมูล่าอยู่ในย่านเอกมัย เพื่อนของเขาจึงได้พาดีเจหนุ่มไปเดบิวต์อาหารไทยที่ร้านหอมด่วน ซึ่งเขาประทับใจมากจนเปิดใจให้อาหารไทยที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยคุ้นเคยอย่างแกงฮังเลและแกงอื่นๆ ด้วย จนพอมีโอกาสเปิดร้านเป็นของตัวเอง เขาจึงจัดเต็มเมนูแกงแสนโปรดอย่างมัสมั่น พะแนง แกงคั่ว แกงฮังเล ฯลฯ ซึ่งแหวกขนบร้านอาหารไทยในญี่ปุ่นสุดๆ เพราะส่วนมากคนญี่ปุ่นชอบกินแกงเขียวหวานมากกว่า และแม้ว่าคนไทยอย่างเราจะตื่นเต้นกับสินค้าเท่ๆ ที่วางขายในร้าน แต่มูล่าบอกว่ามีลูกค้าประจำจำนวนมากที่มุ่งมาที่ร้านเพื่อกินแกงจริงจังโดยไม่ได้สนใจสินค้าเลยด้วย อีกเรื่องที่เรารู้สึกซึ้งใจอย่างมากในฐานะคนไทยคือ เขาจะไม่ขายข้าวกะเพราเด็ดขาด ถ้าวันนั้นไม่สามารถหาใบกะเพราไทยที่แท้จริงได้! 

ของที่ระลึกที่ชวนให้นึกรัก

“ถ้าดูไอจีร้านหยั่งเก่าแล้วจะสับสนว่าร้านของเราคือร้านที่ขายเสื้อผ้าเป็นหลักก็ไม่แปลก เพราะผมลงรูปสินค้าเยอะกว่า สาเหตุคือถ้าลงรูปแกงกะหรี่ที่เหมือนกันทุกวัน คนจะเบื่อ เลยเลือกลงหลายๆ อย่างให้คนดูเพลินๆ แต่ก็ยังมีรูปแกงกะหรี่เยอะอยู่นะ” เขาชิงออกตัวพร้อมเสียงหัวเราะ

แม้ดีเจสุดติสท์จะยืนยันหนักแน่นกับเราหลายรอบว่าหยั่งเก่าเป็นร้านแกงกะหรี่จริงจริ๊ง แต่กฎเหล็กตอนทำร้านนี้ ก่อนที่จะกำหนดเมนูหรือส่วนอื่นๆ คือหยั่งเก่าต้องเป็นร้านที่มีของฝากขายด้วย!

“ผมสนใจทั้งดนตรีและแฟชั่นอยู่แล้ว เวลาไปเที่ยวก็มักจะซื้อของที่ระลึกและของฝากที่มีขายเฉพาะร้านนั้นกลับมา พอตัวเองจะเปิดร้าน เงื่อนไขหลักที่ไม่เกี่ยวกับแกงกะหรี่เลยคือร้านเราต้องมีสินค้าที่ระลึกให้คนที่มาซื้อกลับไป! (หัวเราะ) สมมติถ้าไปคอนเสิร์ตแล้วไม่มีของขาย ผมว่าไม่รู้จะไปทำไม เวลาไปดูคอนเสิร์ต อย่างน้อยก็อยากได้เสื้อยืดเป็นที่ระลึก”

แม้จะเป็นเรื่องที่ดูแปลกมากสำหรับเราที่ร้านแกงกะหรี่จะมีของฝากขาย แต่เขาบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดามากในญี่ปุ่น เพราะการที่ร้านอาหารหรือคาเฟ่จะทำสินค้าของตัวเองด้วยเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของที่นี่

สินค้าชิ้นแรกของหยั่งเก่าคือเสื้อยืดที่ได้ศิลปินไทยอย่างเต้ ภาวิต มาออกแบบให้ โดยที่แรงบันดาลใจมาจากชีวิตตอนอยู่กรุงเทพฯ ที่เขามักจะนั่งตุ๊กตุ๊กไปวรจักรเพื่อซื้อแผ่นเสียง หนังสือเก่า หรือของเล่นต่างๆ

เสื้อยืดหยั่งเก่าออกแบบโดยเต้-ภาวิต

ส่วนชิ้นที่ขายดีที่สุดคือกระเป๋าที่ทำมาจากผ้าใบเต็นท์ร้านขายของริมทางในไทย และจ้างให้โรงงานในไทยผลิต สวยกรุบกริบจนวงดนตรีญี่ปุ่นที่ชื่อ cero มาขอเอาไปใช้เป็นสินค้าของวงด้วย 

มูล่าบอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจในการออกแบบสินค้าแต่ละชิ้นจากสิ่งรอบตัว เช่น ฉลากน้ำปลาตราคนแบกกุ้ง ฟอนต์ป้ายร้านเสื้อผ้าวินเทจ หรือแม้แต่ป้ายไฟรถแท็กซี่

“อย่างพวงกุญแจ ‘หัวใจยังว่าง’ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากไฟรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ เพราะผมเคยเห็นไฟรูปหัวใจ ส่วนคำว่า ‘โมทนา’ เริ่มจากผมชอบความโค้งของฟอนต์ เคยเห็นจากป้ายโลโก้ร้านเสื้อผ้าที่ไหนสักแห่งในกรุงเทพฯ เห็นแล้วชอบมาก เก็บไว้ในใจเลยว่าอยากทำฟอนต์สไตล์นี้บ้าง ส่วนการเรียงคำ ผมอยากได้คำที่เรียงแล้วสวยเท่ในเชิงภาพ เลยลองปรึกษาเพื่อนคนไทย ได้เป็นคำนี้มา จากมุมมองของคนญี่ปุ่นในเชิงกราฟิก คำนี้เท่ครับ”

แล้วคนญี่ปุ่นจะอยากได้สินค้าที่มีตัวอักษรภาษาไทยเหรอ–เราถาม

“ที่คนญี่ปุ่นซื้อน่าจะเพราะคิดว่าตัวอักษรไทยน่ารักดี มันเป็นความแปลกใหม่ที่แตกต่างจากวัฒนธรรมตัวเองด้วยละมั้ง

“หรืออย่างมิกซ์เทปเพลงไทยที่เป็นธีมมะพร้าว นี่ก็เป็นของฝากของร้านเรา (หัวเราะเบาๆ) ที่คนญี่ปุ่นอยากซื้อ แม้ฟังไม่ออกก็ไม่เป็นไร เหมือนที่คนไทยเองฟังเพลงญี่ปุ่นแล้วรู้สึกชอบ เพราะว่ามันแตกต่างกับสิ่งที่รู้จัก อย่างเวลาผมไปซื้อแผ่นเสียง ผมก็อยากเลือกดนตรีที่ไม่เคยฟัง อยากรู้จักดนตรีที่ยังไม่รู้จัก วัยรุ่นไทยอาจจะหาแต่แผ่นเสียงเพลงที่ตัวเองรู้จักอย่าง The Beatles หรือ The Rolling Stones ส่วนผมเวลาไปซื้อจะถามเลยว่าอันนี้ดังไหม ถ้าดัง อะ งั้นไม่ซื้อ เพราะน่าจะมีเยอะ แต่ของไม่ดังถ้าไม่ซื้อตอนนี้วันหลังอาจจะไม่เจออีกแล้ว คนญี่ปุ่นที่ชอบแผ่นเสียง โดยทั่วไปมักจะเลือกสิ่งที่คนไม่รู้จัก สนุกไปกับการค้นพบดนตรีใหม่ๆ ดังนั้นคนที่ซื้อเทปแบบผมก็คงคิดแบบเดียวกัน อยากรู้จักเพลงไทยที่ยังไม่มีใครรู้จัก แม้จะฟังไม่ออก แต่อยากลองฟังของใหม่”

คงจะจริงอย่างเขาว่า เพราะเราแอบเข้าไปดูสินค้าในเว็บก็ sold out เกือบหมด 

“ธีมหลักของหยั่งเก่าคือการนำสตอรีคนญี่ปุ่นที่เคยไปอยู่เมืองไทยใส่ลงไปในร้าน ทั้งอาหารและสินค้า สิ่งที่ผสมผสานอยู่ในร้านนี้คือความเป็นไทยในแบบที่ผมชอบและพากลับมาญี่ปุ่นด้วย

“ผมว่าคนชอบสินค้าของเราเพราะผมอยากจะแชร์เรื่องราวและสิ่งที่ผมชอบให้คนอื่นได้รู้จัก พอมีความเป็นตัวของตัวเองเลยมีเอกลักษณ์ชัดเจน ถ้าผมเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่เคยไปเมืองไทย อยู่ๆ มาเปิดร้านขายข้าวแกงกะหรี่ ทำของที่มีภาษาไทยขายออนไลน์ คงไม่มีใครสนใจ แต่ผมนำวัฒนธรรมไทยที่ผมชอบใส่ลงไปเต็มที่ในทุกอย่างที่ทำ คนที่ซื้ออาจจะเพราะรู้สึกได้ถึงสิ้งนั้นนะ”

คนไทยที่อยากซื้อของฝากจากหยั่งเก่าคงต้องอดใจรอไปก่อน เพราะเขายังไม่มีสินค้าวางขายในไทย แต่อย่าได้น้อยเนื้อต่ำใจไป เพราะคนไทยในโตเกียวก็ยังหาซื้อแทบไม่ได้เลย

“อ้อ ในเว็บอาจจะ sold out แต่ถ้ามาที่ร้านจะพยายามให้มีของขายเสมอ เพราะเราคือร้านแกงกะหรี่ที่มีสินค้าที่ระลึก” ดีเจหนุ่มยืนยันอีกครั้งพร้อมเสียงหัวเราะ

เพลย์ลิสต์เพลงญี่ปุ่นและไทยจาก DJ MOOLA!

ดีเจอารมณ์ดีผู้รักในการซื้อของฝาก แอบฝากของมาให้ผู้อ่านชาวไทยด้วยนะ

cero / Fdf(Live At LIQUIDROOM 2020.12.6)

ツチヤニボンド/ Urbane
今夜がトロピカル / asuka ando

TAWINGS | 水仙 (Studio Live at Red Bull Music Studios Tokyo)

never young beach – うつらない (Live at NHK Hall)

nipat newwave – ขอบฟ้ายังอยู่ (skysoblue) 

loserpop – วันเก่า (good old days)

daynim – IN YOUR BAD DAY PT. 1 

temp. – Wonderland

SRIRAJAH ROCKERS – คือเก่า – STILL TUFF

AUTHOR