จากท้องอิ่มถึงวัฒนธรรม เบื้องหลังอาหารกลางวันเด็กญี่ปุ่นที่มียาคูลท์เป็นส่วนประกอบ

Highlights

  • จากทริปสื่อที่ยาคูลท์เชิญไปที่ประเทศญี่ปุ่น เราได้มีโอกาสไปดูกระบวนการเตรียมและวิธีการคิดอาหารกลางวันของโรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen พวกเขาให้ความใส่ใจกับเรื่องนี้มาก ทั้งในแง่โภชนาการ ไปจนถึงประโยชน์ทางด้านทักษะสังคม วัฒนธรรม และมารยาทบนโต๊ะอาหาร
  • ยาคูลท์เป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหารเช่นกัน สำหรับผู้ใหญ่ พวกเขามองว่ายาคูลท์มีประโยชน์ต่อเด็กในแง่สุขภาวะของลำไส้ แต่สำหรับเด็ก พวกเขารักยาคูลท์เพราะรสชาติที่เหมือนกับขนมที่คุ้นเคย

ถ้ายกหัวข้อ ‘อาหารกลางวันในโรงเรียน’ และ ‘ยาคูลท์’ ขึ้นมา ความทรงจำในวัยเด็กของผมเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งสองคงแบ่งเป็น 2 ความรู้สึก

หนึ่งคือความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เกี่ยวกับอาหารกลางวันในโรงเรียน ครั้งเมื่อผมอยู่ชั้นประถม เมื่อเสียงกระดิ่งพักเที่ยงดังลั่นผ่านเสียงตามสาย เด็กชายและหญิงในวัยประถมศึกษาจะพากันวิ่งไปที่โรงอาหารเพื่อแย่งกันหยิบถาดหลุมสีเทาที่บุบบู้บี้ นักเรียนกว่าสองพันคนจะต่อคิวรอคอยอาหารประจำวัน โดยที่เราเลือกไม่ได้ด้วยซ้ำว่าวันนั้นจะเป็นอะไร ซึ่งพูดก็พูดเถอะ อาหารกว่าสิบแบบที่วนเวียนกันไปในทุกสัปดาห์ที่ผมเจอตลอด 6 ปี ไม่มีอะไรที่ผมในวัยนั้นรู้สึกว่าอร่อยเลย และสำหรับเด็กประถม นั่นคือฝันร้ายชัดๆ (โดยเฉพาะสุกี้น้ำที่กลิ่นเต้าหู้ยี้เตะจมูก)

ตรงกันข้ามกับ ‘ยาคูลท์’ สำหรับเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นเรื่องปกติของบ้านผมที่จะมีถุงยาคูลท์อยู่ในตู้เย็น สำหรับเด็กแล้ว รสชาติหวานๆ ของยาคูลท์เปรียบเหมือนอาหารสวรรค์ ยิ่งกฎเหล็กของบ้านผมที่ให้ทานยาคูลท์แค่วันละหนึ่งขวดเล็ก ดังนั้นเมื่อความอร่อยรวมกับข้อจำกัดทำให้สำหรับผม ยาคูลท์เป็นเหมือนเรื่องพิเศษประจำวันที่ใครๆ ก็แย่งจากผมไปไม่ได้

แต่พอโตมาเข้าสู่วัยทำงานแบบในตอนนี้ วัยที่ผมสามารถเลือกอาหารกลางวันของตัวเองได้ตามใจ หรือจะซื้อยาคูลท์กินกี่ขวดก็ได้แล้วแต่ความปรารถนา ความพิเศษของเรื่องราวทั้งสองก็ค่อยๆ กลายเป็นอดีตไปตามกาลเวลา

เมื่อเกือบเดือนที่แล้ว ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมทริปที่ยาคูลท์เชิญสื่อจากหลายๆ ประเทศไปที่ญี่ปุ่นเพื่อทำความรู้จักกับแบรนด์ให้มากขึ้นในหลายๆ แง่มุม หนึ่งในกิจกรรมที่ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมคือการไปดูการจัดเตรียมอาหารกลางวันสำหรับเด็กที่โรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen

โรงเรียนแห่งนี้ประกอบไปด้วยนักเรียนชั้นประถมไปจนถึงมัธยมต้น ชั้นปีละ 2-3 ห้อง บรรยากาศภายในโรงเรียนคล้ายกับโรงเรียนประถมในประเทศไทย รวมถึงตารางเวลาเรียนของที่นี่ก็เหมือนๆ กับเรา คือมีคาบเรียนและช่วงพักสั้นๆ คั่นกลาง ก่อนจะมีพักยาวๆ ช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมงสำหรับการรับประทานอาหาร

เราไปถึงโรงเรียนก่อนเวลาพักเที่ยงเล็กน้อย ผู้อำนวยการของโรงเรียนออกมาต้อนรับเราพร้อมกับนักโภชนาการอาหาร (ใช่แล้ว โรงเรียนที่นี่มีนักโภชนาการอาหารเป็นของตัวเอง) พวกเรากล่าวทักทายกันอย่างคร่าวๆ ก่อนที่ทางโรงเรียนจะเริ่มบรรยายให้กับเราฟังในหัวข้อ ‘School Lunches in Shibuya’

ว่ากันตามตรง ก่อนที่ผมจะเริ่มฟังการบรรยาย ความคิดผมเกี่ยวกับอาหารเหล่านี้ก็เหมือนกับที่ผมเล่าไปก่อนหน้า กับคนที่โตมาด้วยความไม่ชอบในมื้อเที่ยงของโรงเรียนอย่างผม ผมไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่าอาหารเหล่านี้จะทำหน้าที่อะไรมากกว่าการชดเชยความหิวประจำวัน แต่เมื่อได้ฟังทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและนักโภชนาการอาหารอธิบาย ผมถึงได้เห็นอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของอาหารเหล่านี้มากขึ้น

พวกเขาอธิบายว่าที่โรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen แห่งนี้จะเชื่อในกระบวนการเตรียมอาหารและให้ความสำคัญกับอาหารกลางวันของเด็กมากๆ โดยทุกคนจะยึดตามวัตถุประสงค์ 7 ข้อ แน่นอนล่ะ ว่าข้อแรกคือการทำให้เด็กมีโภชนาการที่สมบูรณ์ แต่พวกเขายังคิดถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ยกตัวอย่างเช่น การทำให้เด็กเข้าใจว่าอาหารการกินสำคัญอย่างไรผ่านการอธิบายอาหารแต่ละมื้อผ่านบอร์ดภาพ รวมถึงการอธิบายว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างหามาได้อย่างไรเพื่อให้เข้าใจความสำคัญของธรรมชาติ

หรือการให้เด็กผลัดกันเป็นคนเสิร์ฟอาหารตามเวรที่ถูกกำหนดไว้แล้วให้เพื่อนเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคม รวมถึงการทำให้เด็กรู้จักและเห็นหน้าค่าตากับเจ้าหน้าที่ที่เตรียมอาหารให้เพื่อให้พวกเขาเห็นความสำคัญของคนที่ทำงานเหล่านี้ และแม้กระทั่งในแง่การออกแบบ พวกเขายังคงรักษาวัฒนธรรมการกินให้ออกมาเป็นแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม ทั้งในแง่วัตถุดิบ ประเภทอาหาร ความสะอาดและมารยาทในการทาน

จากความสำคัญทุกข้อที่กล่าวมา มื้ออาหารของโรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen จึงมีทั้งความหลากหลายแต่ก็ตอบโจทย์ทุกข้อที่พวกเขาอยากให้เป็น ในแต่ละมื้อ เด็กๆ จะได้ทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่จากวัตถุดิบประจำฤดูกาล รวมถึงในบางวัน (เช่นวันนี้) พวกเขาจะได้ของแถมพิเศษเป็นยาคูลท์ขวดเล็กเพื่อประโยชน์ของสุขภาวะในลำไส้ นักโภชนาการอาหารประจำโรงเรียนบรรยายให้เราฟังว่าสำหรับคนญี่ปุ่น ยาคูลท์เปรียบเหมือนเครื่องดื่มสุขภาพในรูปแบบขนมหวานที่มีมาช้านาน มีประโยชน์ในแง่ของการรักษาระดับแบคทีเรียในลำไส้โดยไร้ผลข้างเคียงใดๆ ดังนั้นเครื่องดื่มขวดจิ๋วนี้เลยเป็นที่ยอมรับและถูกเสิร์ฟให้กับเด็กในหลายโรงเรียนทั่วประเทศญี่ปุ่น 

ผู้อำนวยการโรงเรียนถึงกับกระซิบบอกกับทีมของเราว่าวันไหนที่มียาคูลท์ เด็กๆ จะดีใจเป็นพิเศษ แต่พวกเขาไม่ได้คิดถึงประโยชน์ต่อลำไส้เหมือนผู้ใหญ่หรอกนะ เพราะสำหรับเด็กๆ ยาคูลท์คือของหวานที่แสนอร่อยต่างหาก (ถึงจุดนี้ ผมก็ได้แต่พยักหน้าเห็นด้วยพร้อมคิดถึงความทรงจำในวัยเยาว์)

เสียงออดที่โรงเรียนดังขึ้นพอดีหลังจากการบรรยายเสร็จสิ้น ทีมงานของโรงเรียนพาเรากระจายตัวเป็น 3 ทีมเพื่อไปดูการทานอาหารในห้องเรียนแต่ละห้อง ทุกๆ ห้องจะเป็นเหมือนกันคือ เมื่อเข้าสู่ช่วงพักเที่ยง พวกเขาจะหันเก้าอี้จากที่หันหน้าเข้ากระดานดำกลายเป็นหันหน้าชนกัน เด็กที่เป็นเวรในการตักอาหารจะใส่เสื้อคลุมกันเปื้อนซึ่งออกแบบมาให้เหมือนกับชุดของเชฟ พวกเขาจะทำการจัดแจงนำอาหารมาวางกันเองเพื่อให้พร้อมเสิร์ฟแก่เพื่อนๆ ทุกคน และเมื่อทุกอย่างพร้อมเพียง เด็กแต่ละคนก็จะหยิบถาดมาให้เพื่อนตักอาหารให้และนำกลับไปวางรอที่โต๊ะ

อาหารของน้องๆ ในวันที่ผมไปประกอบด้วยขนมปัง, ปลาทอดราดซอส, ซุปผัก, มันฝรั่งทอด, นมจืดและยาคูลท์ ทุกๆ อย่างจะถูกเตรียมมาแล้วจากห้องครัว เมื่อถึงเวลาพักเที่ยง เจ้าหน้าที่จะเข็นรถมาจอดรอที่หน้าห้องเรียน นักเรียนที่เป็นเวรมีหน้าที่เอาของทุกอย่างมาจัดแจง และเมื่อเสิร์ฟทุกคนพร้อมแล้ว เด็กทุกคนจะต้องนั่งประจำที่พร้อมกล่าวคำว่า ‘อิตะดะคิมัสสสสส’ พร้อมกันเป็นเหมือนสัญญานเริ่มต้นมื้ออาหาร

ถ้าให้นึกย้อนกลับไป สิ่งที่ ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ทำงานกับความคิดและความรู้สึกของผมเสมอคือความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด ภาพตรงหน้าของผมในตอนนี้ก็เข้าข่ายนั้นเช่นกัน

ในตอนที่เป็นเด็กหรือตอนโตมาแล้วก็ตาม ผมรู้สึกว่าอาหารกลางวันหนึ่งมื้อในโรงเรียนประถมที่อยู่ในจังหวัดเล็กๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่พอจะให้ใครต้องมารีบแก้ไข ที่สำคัญคือมันก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงที่จะให้เด็กคนหนึ่งทนๆ กินไปจนจบการศึกษาเหมือนกับที่ผมเจอ พอถึงวัยหนุ่มผมก็ไม่ได้คิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาและลืมเลือนไปในที่สุด

แต่มื้ออาหารและความใส่ใจของโรงเรียน Shibuya Honmachi Gakuen ทำให้ผมได้กลับมาย้อนคิดว่าถ้าเราใส่ใจจะแก้ไขปัญหาจริงๆ ล่ะ ผลที่ได้จะมีอะไรมากกว่านั้นหรือเปล่า

ผมเห็นเด็กที่หยอกล้อกันว่าให้ช่วยตักอาหารให้เขามากๆ หน่อย เห็นเด็กที่กินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยต่อหน้ากันและกัน เห็นโภชนาการของเด็กที่รู้สึกได้เลยว่าต้องกำลังดีขึ้นแน่ๆ จากมื้อกลางวันที่ผ่านการคำนวณมาแล้วว่าสารอาหารครบ เห็นขวดยาคูลท์ที่เป็นตัวช่วยให้เด็กสุขภาพดีขึ้น และเห็นความพยายามของใครหลายคนที่อยากให้เด็กเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตดีๆ แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ อย่างอาหารกลางวันก็ตาม

ระหว่างการเดินดูห้องเรียนต่างๆ อาจารย์ท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า จริงๆ แล้วที่โรงเรียนไม่ว่าอะไรถ้าจะมีเด็กเอาอาหารจากบ้านมาทานเอง แต่ในความเป็นจริงก็แทบไม่มีใครเอามาเท่าไหร่ จะมีก็แค่คนที่มีความต้องการพิเศษ เช่น เด็กที่แพ้อาหาร ซึ่งจากการสอบถามผู้ปกครองของเด็กๆ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าพวกเขาทุกคนเชื่อว่าโรงเรียนแห่งนี้ใส่ใจสุขภาพและโภชนาการของเด็กมากพอ จนทำให้เหล่าพ่อแม่ไม่ต้องห่วงเลยว่าลูกของพวกเขาจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดหรือเปล่า

ฟังแล้วผมก็ได้แต่คิดต่อว่าเด็กเองก็คงจะรู้สึกเช่นกัน แม้ความคิดความอ่านของพวกเขาอาจจะยังไม่เห็นภาพรวมใหญ่ๆ ว่าทั้งหมดนี้มีประโยชน์ต่อพวกเขาในระยะยาวอย่างไร แต่สิ่งที่พวกเขารู้สึกกับสิ่งดีๆ ที่พวกเขาได้รับอาจจะเป็นอะไรง่ายๆ ตามประสาเด็กแต่ซื่อตรงโดยปราศจากการโกหกใดๆ

‘นี่คือเรื่องพิเศษประจำวันที่ใครๆ ก็แย่งจากเราไปไม่ได้’

มันอาจจะแค่นี้เองที่ทำให้เด็กคนหนึ่งมีความสุข

AUTHOR