sashiko-ori งานคราฟต์ทอ+ปักที่เหลือช่างฝีมือคนเดียวในญี่ปุ่นที่ทำได้

Highlights

  • ซาชิโกะ-โอริ (sashiko-ori) คืองานฝีมือที่นำงานปัก (sashiko) และงานทอผ้า (ori) มาผสมผสานกันโดยใช้เครื่องทอผ้าทำหน้าที่ 2 in 1 ทั้งทอและปักลวดลายในทีเดียว 
  • เคนอิชิ โอฮาซามะ (Kenichi Ohazama) ช่างฝีมือซึ่งปัจจุบันอยู่ในวัย 67 ปี เป็นเพียงคนเดียวในญี่ปุ่นที่สามารถสร้างสรรค์ซาชิโกะ-โอริได้
  • แม้จะฟังดูพิเศษและเข้าถึงยาก แต่ด้วยความช่วยเหลือจากศิลปินและนักออกแบบรุ่นใหม่ไฟแรงอย่าง ซาโตชิ ทาคิงูจิ (Satoshi Takiguchi) และ โทชิยูกิ ฟูคูดะ (Toshiyuki Fukuda) ผลงานซาชิโกะ-โอริของคุณลุงเคนอิชิจึงแปลงกลายมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันภายใต้แบรนด์ tenp ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า ปลอกหมอนอิง ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ งานมาสเตอร์พีซแบบนี้จึงเข้าถึงง่าย แถมช่วยเติมความกุ๊กกิ๊กให้ชีวิตอีกต่างหาก

งานคราฟต์อะไรเอ่ย มีทั้งความเรโทรและโมเดิร์น ดูเผินๆ เหมือนงานปัก แต่ก็เหมือนจะไม่ใช่

คำตอบคือ ซาชิโกะ-โอริ (sashiko-ori) งานฝีมือท้องถิ่นในแถบโทโฮคุที่นำงานปัก (sashiko) และงานทอผ้า (ori) มาผสมผสานกัน กล่าวคือ ใช้เครื่องทอผ้าทำหน้าที่ 2 in 1 ทั้งทอและปักลวดลายในทีเดียว

งานฝีมือชนิดนี้แม้แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยรู้จัก มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นงานปักมือทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น ช่างฝีมือที่ยังใช้เครื่องปักทอผ้าโบราณนี้ได้ยังเหลือเพียงแค่คนเดียวอีกด้วย

เขาคือชายวัย 67 ปีที่มีชื่อว่า เคนอิชิ โอฮาซามะ (Kenichi Ohazama) ผู้สืบทอดกิจการทอผ้ารุ่นที่ 4 ของครอบครัว

เรื่องราวการเติบโตของงานคราฟต์เล็กๆ สู่ความชิคร่วมสมัย เข้าถึงง่าย ดีไซน์เก๋และคงไว้ซึ่งความเนี้ยบตามจริตช่างโบราณนั้น เราได้หนึ่งในผู้ร่วมปลูกปั้นให้ซาชิโกะ-โอริแจ้งเกิดในยุคใหม่อย่างซาโตชิ ทาคิงูจิ (Satoshi Takiguchi) สถาปนิกและอาร์ตไดเรกเตอร์จาก tenp แบรนด์สินค้าผ้ากรุบกริบมาพูดคุยให้ฟัง

ปักเพื่อปกป้อง

ซาชิโกะ คืองานปักลายเรขาคณิตตามแพตเทิร์นซึ่งเป็นผลผลิตจากภูมิปัญญาของเกษตรกรในแถบโทโฮคุซึ่งมีอากาศหนาวเย็นมาก สมัยก่อนชาวไร่ชาวนาใส่เสื้อใยกัญชงทำงาน เพราะคอตต้อนเป็นของหรูหราราคาแพง การปักผ้าจึงช่วยให้ผ้าใยกัญชงซึ่งมีรูเยอะ ลมผ่านง่ายมีความคงทนและอบอุ่นมากขึ้น  

ปรับเทคนิคเพื่ออยู่รอด

ส่วนโอริ คืองานทอผ้าที่เคนอิชิสืบทอดเคล็ดวิชามาจากรุ่นพ่อโดยตรง กิจการทอผ้าของครอบครัวเขาก่อตั้งขึ้นที่เมืองโยเนซาวะ จังหวัดยามางาตะ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแถบโทโฮคุ สมัยก่อนที่นี่เป็นเมืองทอผ้าขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น งานผ้าทอคุณภาพดีจนกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนทำอาชีพนี้กันทั้งนั้น

แต่ยุครุ่งเรืองสิ้นสุดลงเมื่อเครื่องจักรถูกพัฒนา สินค้าโรงงานและของจากต่างประเทศเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมากจนหลายครัวเรือนเปลี่ยนอาชีพ แต่เคนอิชิขอสู้ต่อด้วยการพยายามศึกษาความรู้งานคราฟต์แขนงอื่นเพิ่มเติม เช่นไปขอเป็นศิษย์ช่างย้อมผ้า และย้ายไปอยู่จังหวัดฟูกูชิมะเรียนรู้งานผ้ากับปรมาจารย์ชื่อดัง

เคนอิชิเป็นช่างฝีมือที่มีแนวคิดแหวกขนบงานคราฟต์ เขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิคเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นมากกว่าการอนุรักษ์วิชาแบบดั้งเดิม ดังนั้น เมื่อเป้าหมายหลักคือ หาวิธีเพิ่มคุณภาพให้งานผ้าท้องถิ่นและสานต่อกิจการครอบครัว เขาจึงพร้อมที่จะเลือกเดินทางใหม่ที่ต่างจากแนวทางของรุ่นพ่อ

เทคนิคใหม่ที่เขาค้นพบหลังจากลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วนคือ การปรับเครื่องทอผ้าให้ปักผ้าไปพร้อมๆ กัน

เดิมทีงานปักช่วยเพิ่มความทนทานให้กับผ้าอยู่แล้ว แต่เมื่อใช้วิธีนี้ นอกจากจะเพิ่มคุณภาพ ยังทำให้ช่างฝีมือสามารถสร้างงานที่ลวดลายซับซ้อนขึ้นได้ด้วย

สิ่งที่ยากที่สุดในงานคราฟต์ชนิดนี้คือ การตั้งค่า, การปรับสปีดเครื่องที่ชวนงงมากตั้งแต่การขึงเส้นด้ายในแนวตั้งและแนวนอน รวมไปถึงการทำแผ่นโค้ดควบคุมการปักเพื่อสร้างลวดลาย หลักการคือดูว่ามีช่องว่างในผ้าหรือไม่ คล้ายๆ music box ยิ่งลายยาก ยิ่งมีใบคำสั่งเยอะ บางลายใช้ถึง 480 ใบเลยทีเดียว สรุปแล้วผ้า 1 เมตรใช้เวลาปักทอถึง 1 ชั่วโมง

เปลี่ยนดีไซน์เพื่อไปข้างหน้า

ปรับเทคนิครวมร่างกับงานปักได้งานคราฟต์แขนงใหม่แต่ยังไม่จบแค่นั้น ซาชิโกะ-โอริปรับตัวอีกครั้งด้านดีไซน์สู่ความโมเดิร์นคาวาอี้ภายใต้แบรนด์ tenp ของสองเพื่อนสนิท ซาโตชิ และ โทชิยูกิ ฟูคูดะ (Toshiyuki Fukuda) นักวาดภาพประกอบเจ้าของผลงานหนังสือภาพ งานออกแบบสิ่งพิมพ์ ปกซีดี ฯลฯ  

ทุกอย่างเริ่มต้นจากโทชิยูกิถูกใจความเก๋ไก๋ของลายเรขาคณิตในงานคราฟต์ชนิดนี้ เพราะมันดูเรโทรและโมเดิร์นในเวลาเดียวกัน เลยได้แรงบันดาลใจอยากสร้างสรรค์ผลงานสไตล์นิวเรโทร ซึ่งแตกต่างจากสไตล์งานภาพที่ทำบ่อยๆ ที่มีความนุ่มนวลน่ารักละมุนสดใส โทชิยูกิออกแบบลายผ้า ส่วนซาโตชิดูไดเรกชั่น นำลายนั้นไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ

โชคดีที่เคนอิชิเป็นช่างฝีมือที่ใจกว้าง เขาตอบตกลงตามคำชวนและสนุกไปกับการทดลองไอเดียใหม่ๆ จนได้ลวดลายที่ลงตัวแม้จะต้องใช้ใบคำสั่งถึง 912 ใบ

tenp ใช้เทคนิคซาชิโกะ-โอริสร้างสินค้าออกมาหลายชนิด เน้นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋าใส่ของกระจุกกระจิก ที่ใส่นามบัตร ที่รองแก้ว ปลอกหมอนอิง ผ้าเช็ดหน้า เพราะเป็นความตั้งใจของโทชิยูกิที่อยากให้งานดีไซน์ของเขาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนญี่ปุ่นบ้าง นอกเหนือจากงานสิ่งพิมพ์ ผ้าปักทอนี้ยังเหมาะกับการทำเสื้อผ้าด้วย ซาโตชิเล่าให้ฟังว่า คนต่างชาติก็ชอบผ้าชนิดนี้ และมีสาวๆ และคุณแม่บ้านจำนวนไม่น้อยติดต่อขอซื้อผ้าแบบม้วนไปตัดชุดทำงานฝีมืออื่นๆ ต่อ บางคนเอาไปทำผ้าม่านก็มี

จริงๆ แล้วงานผ้าอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ tenp มีทั้งคราฟต์และไม่คราฟต์ปะปนกันไป แม้การทำงานกับช่างฝีมือต้องใช้เวลาพัฒนาสินค้านานกว่าสินค้าที่เข้าทางอย่างผ้าเช็ดหน้า ผ้าอเนกประสงค์เทนูกุ้ย ที่ทำงานง่ายเพราะใช้ภาพวาดสีน้ำมันของโทชิยูกิไปสกรีนลงผ้าได้เลย แต่พวกเขาก็ยังสนุกกับการประยุกต์งานคราฟต์อยู่ดี

“ผมคิดว่าเสน่ห์ของงานคราฟต์คือการทำงานอย่างประณีต ช่างฝีมือจะไม่ฝืนทำสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำแล้วออกมาไม่ดี เน้นทำงานที่ทำได้จริงและให้ความสำคัญกับคุณภาพที่สุด ได้ของที่ดีทั้งดีไซน์และการใช้งาน” ซาโตชิทิ้งท้าย

ขอบคุณรูปภาพจาก Ryumon Kagioka

AUTHOR