ทาสแมวทั้งหลายเคยวางแผนกันไหมว่า ถ้าวันหนึ่งเราจากโลกนี้ไปอย่างกะทันหัน น้องจะอยู่ยังไง?
ถ้าไม่นับเรื่องซื้อมาเลี้ยงแล้วดูแลไม่ไหว, เบื่อ, ค้นพบว่ามีคนในครอบครัวแพ้ขนแมว, ต้องย้ายไปอยู่แมนชั่นที่ห้ามเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ สาเหตุที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยต้องจากแมวแสนรักคือ
ความแก่และความตาย
อย่างที่รู้กันว่าญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคสังคมคนแก่มานานแล้ว มีคนชราจำนวนมากต้องอาศัยอยู่คนเดียวและจากไปเงียบๆ ในบ้านโดยไม่มีใครดูแล ประสบอุบัติเหตุ หรือไม่ก็ถึงจุดที่ต้องย้ายตัวเองไปอยู่บ้านพักคนชรา แมวที่แก่มาด้วยกันของคนเหล่านี้จึงไม่มีใครรับไปดูแลต่อ จะให้ผันตัวไปเป็นแมวจรจัดตอนนั้นก็น่าจะวิ่งไล่จับหนูไม่ไหวแล้ว
แมวเด็กเอ๊าะๆ ยังหาคนมารับไปเลี้ยงต่อง่าย ต่างจากแมวแก่ที่มาพร้อมความไม่แน่นอนทั้งเรื่องความเจ็บป่วยและความตาย เมื่อจำนวนแมวแก่ไร้ที่ไปมีมากขึ้นพอๆ กับจำนวนผู้สูงอายุ กิจการ ‘บ้านพักแมวชรา’ จึงป๊อปขึ้นเรื่อยๆ
ชีวิต ณ บ้านพักแมวชราถือว่าดีงามตามมาตรฐานชาวญี่ปุ่น เหล่าแมวสูงวัยจะได้รับการดูแลจากสตาฟซึ่งได้รับการฝึกหรือเรียนมาด้านนี้โดยตรง มีกรงสะอาดๆ ให้อยู่ส่วนตัว มีห้องนั่งเล่นอันกว้างขวางที่เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์ปีนป่าย มุมฝนเล็บ และของเล่นอื่นๆ ให้เลือกชิลล์ แถมยังปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสมอยู่เสมอ เรื่องหยูกยาอาหารไม่ต้องเป็นห่วง มีนักโภชนาการและคุณหมอช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด บ้านพักบางแห่งถึงกับมีโรงพยาบาลสัตว์ในพื้นที่เลยทีเดียว
บางที่รับเฉพาะแมวแก่ แต่หลายๆ แห่งเปิดเป็นบ้านรับฝากแมว บ้านพักหมาชราและศูนย์พยาบาลสัตว์เลี้ยงไปด้วยในตัว
เซอร์วิสดีมีคนรักใคร่ดูแลขนาดนี้ ค่าใช้จ่ายก็สมน้ำสมเนื้อ มีทั้งค่าแรกเข้าที่เฉลี่ยตัวละ 100,000 เยน ค่าอยู่อาศัยรายปี 300,000-400,000 เยน และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมตามอาการ ส่วนคนที่อยากฝากไว้จนวาระสุดท้ายของเจ้าเหมียว ขอให้เตรียมเงินไว้สัก 900,000 เยน (ถ้าเป็นบ้านพักที่บริหารโดย NPO จะไม่มีราคากำหนดชัดเจน เป็นรูปแบบการรับเงินบริจาคแทน)
เป็นคนโสดแสนลำบาก นอกจากต้องเก็บเงินเลี้ยงตัวเองยามแก่ ยังต้องเก็บเงินเผื่อแมวแก่ด้วย
ถึงจะกลับไปเยี่ยมได้ก็เถอะ โดนจับแยกแบบนี้ เราก็เหงา แมวก็เหงา บ้านพักคนชราเอกชนบางที่จึงยินดีรับทั้งเจ้าของและแมวให้มาใช้บั้นปลายชีวิตอยู่ด้วยกัน (แน่นอนว่าคิดเงินเพิ่มจ๊ะ)
แต่การดูแลแมวแก่ไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของต้องมีความรู้เรื่องอาหารและโภชนาการ, ปรับห้องน้ำให้แมวเข้าง่ายขึ้น, หัดป้อนยา หยอดยา และหัดนวดกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดให้ลุงป้าเขาด้วย นอกจากนี้ยังต้องหัดสังเกตสัญญาณว่าแมวรักของเราใกล้จะจากไปหรือยัง
และที่สำคัญที่สุด เตรียมมือรับกับความเศร้า
ญี่ปุ่นก็คือญี่ปุ่น นอกจากจะมีบ้านพักแมวชรา หนังสือคู่มือการดูแลแมวสูงวัย อีกอย่างที่ทำให้กราบใจทาสแมวประเทศนี้คือมี ‘ไดอารีของคนกับแมว’ สำหรับบันทึกการใช้ชีวิตของแมวที่อายุเกิน 12 ปี กับเจ้าของจนกว่าจะถึงวาระสุดท้ายของใครสักคน มันอาจจะไม่มีประโยชน์กับแมวเท่าไหร่ แต่น่าจะช่วยให้มนุษย์ได้ค่อยๆ เตรียมใจและทบทวนความสุขในช่วงโค้งสุดท้ายที่มีร่วมกันอย่างเรียบง่าย
Ending Note ชื่อภาษาอังกฤษของคุณไดอารีชวนเศร้านิดหน่อย แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของคนและแมวที่ดูแลกันไปจนแก่เป็นเรื่องที่น่าประทับใจ