10 หนังสือปกสวยที่ต้องฉวยมาเป็นเจ้าของให้ได้ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46

โบราณว่าอย่าตัดสินหนังสือจากแค่หน้าปก แต่พักหลังมา เรากลับตื่นเต้นดีใจที่วงการสิ่งพิมพ์และหนังสือบ้านเราคึกคักกันขึ้นมาก โดยเฉพาะในแง่ของ ‘หน้าปก’ หนังสือที่แต่ละเจ้าแต่ละสำนักชักชวนศิลปิน นักวาดภาพประกอบ หรือกราฟิกดีไซน์เนอร์เก่งๆ มาร่วมออกแบบกันยกใหญ่ ทำให้เรามีเหตุผลในการซื้อหนังสือมากกว่าแค่เนื้อหาเฉยๆ เพราะถึงจะแค่เปลี่ยนปกใหม่ แต่ถ้าสวยและโดนใจ ก็ลงเอยด้วยการซื้อมาเก็บสะสมอยู่ดี

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 เริ่มต้นแล้ววันนี้ถึงวันที่ 8 เมษายน และเป็นอีกครั้งที่มีหนังสือเล่มใหม่ (บ้างก็ออกแบบปกใหม่) มากมาย เราขอคัดสรร 10 เล่มที่ปกสวยโดนใจเรามาจัดลิสต์ไว้ให้นักอ่านเลือกซื้อได้ตามชอบใจ หรือใครชอบปกไหนมากกว่าที่เราแนะนำก็มาบอกกันได้นะ


01 วัยหนุ่ม

เขียน วรพจน์ พันธุ์พงศ์
ออกแบบปก กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล (Wrongdesign)
สำนักพิมพ์ บางลำพู (บูธ The Writer’s Secret โซน C S39)

ปกหนังสือสีแดงเพลิง ลายมือชื่อหนังสือและชื่อนักเขียนโดยวรพจน์เอง และรูปถ่ายธรรมดา คือตัวอย่างการออกแบบที่ข้ามกฎเกณฑ์เดิมๆ ของหนังสือวรพจน์โดยสิ้นเชิง ปกนี้ออกแบบโดยเบิ้ม-กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล ที่ทำงานอย่างหนักทั้งการพูดคุยกับนักเขียนและทำความเข้าใจต้นฉบับ ทดลองใช้สีสันที่หลากหลายจนเลือกออกมาเป็นสีที่ลงตัว รวมถึงใส่ใจไปถึงรายละเอียดในขั้นตอนการพิมพ์ ทำให้ วัยหนุ่ม หนังสือรวมความเรียงคัดสรรในรอบปี 2002 – 2017 ของวรพจน์ไม่ต่างจากงานออกแบบดีๆ ที่ควรค่าแก่การสะสม (อ่านเบื้องหลังการออกแบบปกหนังสือวัยหนุ่มได้เต็มๆ ที่คอลัมน์ draft till done)


02 WABI-SABI

เขียน Leonard Koren แปล กรินทร์ กลิ่นขจร
ออกแบบปก studiOPEN
สำนักพิมพ์ openbooks (บูธ openbooks โซนเพลนารีฮอลล์ I01)

หนังสือของสำนักพิมพ์ openbooks ได้ชื่อว่าเป็นงานคราฟต์อยู่แล้ว เลยคงไม่มีสำนักพิมพ์ไหนที่เหมาะสมจะได้จัดพิมพ์หนังสือที่เล่าเรื่องปรัชญาล้ำลึกของญี่ปุ่นอย่าง วะบิ-ซะบิ ให้เป็นหนังสือที่ออกแบบอย่างประณีตทั้งงานภาพ การเลย์เอาต์ในเล่ม ไปจนถึงปกแจ๊กเก็ตที่เลือกใช้กระดาษพิเศษของญี่ปุ่น และพิมพ์ลงบนกระดาษน้ำหนักเบาที่สอดรับกับเนื้อหาที่ว่าด้วยความงามแบบนิ่ง น้อย และสงบของญี่ปุ่นจริงๆ


03 ประวัติศาสตร์โลกฉบับไม่ง่วง (The Mental Floss History of the World)

เขียน Erik Sass และ Steve Wiegand กับ Will Pearson และ Mangesh Hattikudur แปล สุวิชชา จันทร
ออกแบบปก wrongdesign
สำนักพิมพ์ a book (บูธ a book โซนเพลนารีฮอลล์ D05)

หนังสือนอนฟิคชั่นเล่มหนาจากสำนักพิมพ์เพื่อนบ้านเราเล่มนี้น่าจะเหมาะกับยุคที่ใครๆ ก็หวนกลับมาสนใจประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง หน้าปกถึงจะดูเรียบง่ายแต่ก็โดดเด่นด้วยสีส้ม และงานคอลลาจที่ดูสนุกชวนให้รู้เลยว่าเนื้อหาข้างในไม่มีทางน่าเบื่อเหมือนวิชาประวัติศาสตร์โลกสมัยมัธยมแน่นอน


04 ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง

เขียน อุทิศ เหมะมูล
ออกแบบปก อุทิศ เหมะมูล
สำนักพิมพ์ จุติ (บูธ alternative writers โซนเพลนารีฮอลล์ D01)

ภาพวาดลายเส้นของอุทิศทำงานกับความรู้สึกเราได้ดีเสมอ สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้นเกี่ยวกับความทรงจำและประสบการณ์ต่อเมืองต่างๆ ภาพสถานที่สำคัญที่ซ้อนทับและดูยุ่งเหยิงนี้เลยเหมาะเจาะกันดีและชวนให้จ้องมองนานๆ รวมถึงการออกแบบฟอนต์ของชื่อหนังสือ ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง ในกรอบสี่เหลี่ยมสีชมพูเล็กๆ ก็ทำให้ปกนี้ออกมาไม่แข็งเกินไป ส่วนเนื้อหาข้างในนั้นเราเชื่อใจฝีมือของอุทิศอยู่แล้ว


05 ผัวเดียว เมีย…เดียว

เขียน สุรเชษฐ์ สุขลาภกิจ
ออกแบบปก วีระวัฒน์ ปัญญามัง
สำนักพิมพ์ มติชน (บูธมติชน โซนพลาซา V10)

ยอมรับว่าปีนี้สำนักพิมพ์มติชนเขาไม่ได้มาเล่นๆ เพราะแต่ละปกหนังสือใหม่ที่ปล่อยออกมานั้นเรียกได้ว่าทำเอาเราที่ไม่ได้อ่านแนวประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์หนักๆ ยอมพลิกหนังสือเล่มหนามาเปิดอ่านจนได้ ผัวเดียว เมีย…เดียว คือหนึ่งในนั้นที่เล่าค่านิยมของครอบครัวไทยเกี่ยวกับสามีภรรยาที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เหมือนจะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่จะสื่อสารออกมาเป็นภาพยังไงให้คนเข้าใจได้ในปกเดียว เลยขอนับถือกราฟิกดีไซน์เนอร์ของมติชนที่ตีความเอา ‘การละเล่นโยนห่วง’ มาเป็นสัญญะที่ตอบโจทย์ได้ชัดและยังมีชั้นเชิงโดยไม่ต้องถามอะไรเพิ่ม


06 Ultramarine ทะเลมีสะอื้นเล็กน้อยถึงปานกลาง

เขียน เพณิญ
ออกแบบปก P.S. Publishing
สำนักพิมพ์ P.S. Publishing (บูธ alternative writers โซนเพลนารีฮอลล์ D01)

ปกที่เราเห็นครั้งแรกแล้วยอมใจในความกล้าของสำนักพิมพ์มากๆ กับการใช้เส้นและสีที่แสดงความรู้สึกของเรื่องสั้นในเรื่องออกมาอย่างชัดเจน คลื่นความไม่ชัดเจน ยุ่งเหยิง รุนแรง และดูไม่สบายตา แปลออกมาเป็นภาพบนปกและตัวอักษรที่เขียนชื่อหนังสือออกมาได้อย่างเหมาะเจาะ ที่บอกกับคนอ่านให้เตรียมใจตั้งแต่หยิบไปจ่ายเงินแล้วว่าความรู้สึกของคุณพร้อมจะสั่นสะเทืิอนทันทีที่เปิดอ่าน


07 Basement Moon

เขียน ปราบดา หยุ่น
ออกแบบปก ปราบดา หยุ่น
สำนักพิมพ์ ไต้ฝุ่น (บูธ Typhoon Studio โซนเพลนารีฮอลล์ H12)

แค่รู้ว่าจะได้อ่านนวนิยายเล่มใหม่ของปราบดาที่ทิ้งห่างจากเรื่องก่อนหน้าถึง 11 ปีเราก็ตื่นเต้นแล้ว ยิ่งพอได้เห็นปก Basement Moon นวนิยายไซไฟ-แฟนตาซี ที่เล่าถึงเทคโนโลยีในอนาคตอย่างจิตสำนึกประดิษฐ์ เราก็ยิ่งไม่ผิดหวัง ปกเรียบง่ายและใช้กราฟิกทำหน้าที่ดึงดูดสายตาได้อย่างชัดเจน กับฟอนต์เฉพาะตัวที่เห็นก็รู้ว่าเป็นงานของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น ความพิเศษคือในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ยังมีฉบับพิมพ์เป็นปกแจ๊กเก๊ตที่คลี่ออกมาเป็นโปสเตอร์ได้อีกด้วย (แต่มีจำนวนจำกัดแค่ 500 เล่มนะ)


08 ย่องเบาเข้าญี่ปุ่น

เขียน โตมร ศุขปรีชา
ออกแบบปก ภาคภูมิ ลมูลพันธ์
สำนักพิมพ์ Salmon Books (บูธ Salmon Books HALL A Y12)

ถึงจะเป็นงานเขียนเก่าของโตมรที่เคยตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ GM มาแล้วเมื่อปี 2551 แต่ปกใหม่ที่ออกแบบโดยเป็ด-ภาคภูมิ ลมูลพันธ์ ก็ทำให้เราอดใจเอามาแนะนำไม่ได้ จะด้วยคู่สีฟ้า-ส้มที่เข้ากันดี หรือการตัดทอนกราฟิกให้เป็นชื่อหนังสือที่ยังคงเห็นได้ชัดว่าพูดถึงประเทศญี่ปุ่นแบบไม่ต้องเห็นสัญลักษณ์อะไรมากมาย แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เราจินตนาการได้ว่ากำลังนั่งจิบชาบนเสื่อตาตามิขณะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว


09 เด็กสาวและชายยิปซี (The Virgin and the Gipsy)

เขียน D. H. Lawrence แปล พันทิพา บูรณมาตร์
ออกแบบปก ปฐมพงศ์ น้ำใจดี
สำนักพิมพ์ สมมติ (บูธสมมติ โซน C2 R52)

คู่สีน้ำเงินเข้มและสีแดงที่เลือกมาอย่างดี การจัดวางไทโปกราฟีของชื่อหนังสือให้ดูสนุกแต่ก็ยังสื่อสาร รวมถึงการแหกกฎการออกแบบปกหน้าและปกหลังของหนังสือด้วยการอัดคำนิยมทั้งหมดมาไว้บนปกหน้า แล้วปล่อยให้ปกหลังทำหน้าที่ปิดท้ายหนังสืออย่างเรียบง่าย ทั้งหมดเลยทำให้นวนิยายเนื้อหาหนักเกี่ยวกับสัญชาตญาณของมนุษย์ และข้อกำหนดทางสังคมของ ดี.เอช.ลอว์เรนช์ เล่มนี้ กลายเป็นอีกเล่มที่เราอยากได้มาครอบครอง


10 เธอ (You)

เขียน Caroline Kepnes แปล ธีปนันท์ เพ็ชร์ศรี
ออกแบบปก เฉลิมพันธุ์ ปัญจมาพิรมย์
สำนักพิมพ์ Merry-Go-Round (บูธร้านหนังสือกองดิดด์ โซนเพลนารีฮอลล์ G10)

ปกที่เข้าข่ายคำว่าน้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ได้อย่างแท้จริง การใช้สีแค่แดงกับขาว และฉีกตัวอักษรภาษาไทย-อังกฤษ ที่ทำให้คำว่า YOU กับ เธอ นั้นลงรอยกันอย่างพอดีต้องอาศัยเซนส์ของนักออกแบบไม่น้อย นวนิยายเรื่องแรกของแคโรไลน์ เคปเนสเรื่องนี้จะพาเราไปเจอต้นตอของอาชญากรรมที่ชื่อ ‘ความรัก’ ของผู้ชายคนหนึ่งที่มีต่อตัวหนังสือ ร้านหนังสือ และผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำให้เขารักสิ่งเหล่านี้

AUTHOR