วิธีคิด 7 ปกหนังสือสวยน่าซื้อ ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ 2018

Highlights

  • ปีหลังๆ มานี้ สำนักพิมพ์ต่างขยันพิมพ์หนังสือปกสวยๆ กันเต็มไปหมด โดยเฉพาะในช่วงงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติที่เป็นเหมือนเทศกาลให้นักอ่านได้เพลิดเพลินท่ามกลางหนังสือปกงามๆ จนกระเป๋าสตางค์ก็สั่น จิตใจก็หวั่นไหว
  • หลังจากยืนงงในดงหนังสือ เราแอบสังเกตว่าเทรนด์ปกหนังสือยุคนี้มักมาแนวกราฟิกและ typography มากกว่าจะใช้ภาพปูเต็มปกเหมือนแต่ก่อน เรื่องนี้อาจเป็นเพราะเมื่อก่อนนิตยสารมักแบ่งพื้นที่รีวิวหนังสือขนาดกะทัดรัด ภาพปกหนังสือจึงต้องเด่นเป็นพิเศษ
  • แต่จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เราก็ตัดใจเลือกหนังสือปกสวยมา 7 เล่มและชวนดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังมาคุยกันเรื่องวิธีคิดปกที่ไม่ได้สวยแต่รูป แต่ยังมีคอนเซปต์ดีๆ ซ่อนอยู่ด้วย

ต่อให้สุภาษิตเก่าแก่จะบอกไว้ว่า Don’t judge a book by its cover. แต่เราก็เชื่อว่าถ้าคนพูดได้มาเดินงานมหกรรมหนังสือระดับชาติช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เขาจะต้องเปลี่ยนใจแน่นอน เพราะช่วงหลังๆ มานี้ สำนักพิมพ์ต่างพากันออกหนังสือปกสวยๆ มาเพียบจนกระเป๋าสตางค์คนซื้ออย่างเราสั่นไปหมด

ระหว่างยืนงงในดงหนังสือ เราแอบสังเกตว่าหน้าปกช่วงนี้เทไปในฝั่งกราฟิกและ typography มากกว่าจะใช้รูปถ่ายเต็มปกอย่างที่ช่วงหนึ่งเคยฮิตกัน มันอาจเป็นอย่างที่รุ่นพี่ผู้อยู่ในวงการมานานคนหนึ่งเคยบอกว่า สมัยก่อนนิตยสารมักจะแบ่งพื้นที่มารีวิวหนังสือในไซส์กะทัดรัดสุดๆ ปกหนังสือจึงต้องเด่นสะดุดตา จะมาทางมินิมอลไม่ได้เด็ดขาด! ตัดภาพมาที่ยุคนี้ที่ทุกคนมีโซเชียลมีเดียในมือ (และมือถือ) ก็กลายเป็นว่าปกหนังสือที่แชร์ออกไปจะใหญ่แค่ไหนก็ได้ งานน้อยแต่มากจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ ตามมา

ในอีกแง่ เหตุผลอาจเป็นไปตามเทรนด์โลก ตามที่หลายเว็บไซต์ (เช่น 99designs, lithub หรือ thebookdesigner) จัดอันดับให้ภาพปกแบบ typography ปกมินิมอล และปกแบบคอลลาจมาแรงสุดๆ ก็เป็นได้

แต่จะด้วยเหตุใด เราก็ตัดใจเลือกหนังสือปกสวยๆ มา 7 เล่ม พร้อมชวนดีไซเนอร์ผู้อยู่เบื้องหลังปกเหล่านั้นมาคุยกันเรื่องวิธีคิดปกให้ไม่ได้สวยแค่รูป แต่จูบก็หอม แถมยังช่วยให้อ่านสนุกอีกต่างหาก

ขอสักวันเถอะ! ไป judge a book by its cover (and its idea) กัน!


เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร

เรื่อง : Mary Roach
แปล : สฤณี อาชวานันทกุล
ออกแบบปก : น้ำใส ศุภวงศ์
สำนักพิมพ์ : SALT

“ตอนเราอ่านชื่อหนังสือปุ๊บ ภาพนี้ก็แทบจะเด้งออกมาเลย เรานึกถึงการจัดกระเป๋าไปเที่ยวที่ต้องพับของมาเรียงไว้ก่อนเก็บเข้ากระเป๋า ของแต่ละอันจะเป็นตัวแทนของเนื้อหาบางส่วนในหนังสือ เช่น การกิน สุขอนามัย ความจิตตก อาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย โดยไม่ได้ตั้งใจสื่อถึงความเป็นดาวอังคารเพราะเนื้อหาในเล่มจะพูดถึงชีวิตในอวกาศรวมๆ มากกว่า

“เอาจริงๆ ของที่อยู่บนปกผู้เขียนไม่ได้แนะนำนะ เราจินตนาการตามเอง (หัวเราะ) เหมือนนึกภาพว่าตัวเองเป็นนักบินอวกาศที่ได้อ่านคำเตือนจากหนังสือเล่มนี้แล้วว่าชีวิตในอวกาศจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เราก็เลยจะเตรียมของเหล่านี้ไป

“ถ้าเป็นเรา เราคงไม่กล้าเอาอะไรไปเลยเพราะข้อจำกัดของนักบินอวกาศเยอะเหลือเกิน เหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ นอกเหนือการควบคุมก็ดูจะทำให้เกิดหายนะได้หมด ถ้าจำไม่ผิด มีบทหนึ่งเล่าว่าแค่นักบินอวกาศแอบห่อแซนด์วิชขึ้นไปกินก็ทำให้ภารกิจล่มได้แล้ว ส่วนบทที่ประทับใจจะเป็นบทที่เกี่ยวกับสุขอนามัยในอวกาศ​ จริงๆ อยากเรียกว่าสะเทือนใจมากกว่า แต่ก็ชอบนะเพราะเวลาดูหนังอวกาศมักจะไม่ค่อยได้คิดถึงมุมนี้”


เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง

เรื่อง : วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
ออกแบบปก : 29thWinter
สำนักพิมพ์ : a book

“คอนเซปต์ของปกมาจากชื่อเรื่องและเนื้อหา คือเรื่องความผันเปลี่ยนของชีวิต เราจึงตั้งใจให้ดอกไม้ที่อยู่บนปกมีทั้งดอกไม้ตูมที่รอเวลาจะผลิบาน ดอกไม้ที่บานสะพรั่ง และดอกไม้ที่ร่วงหล่นอยู่ในช่อเดียวกัน เพื่อตอบเรื่องความไม่แน่นอน ส่วนตัวเล่มคุยกับพี่อาร์ตไดฯ (Kanit P.) ว่าต้องเป็นสีขาวเพราะอยากให้ดูเรียบง่ายและประณีตมากที่สุด เหมือนชื่อหนังสือที่งดงาม เรียบง่าย แต่มีพลัง

“ภาษาจีนบนปกคือสำนวนจีน 时 到 花 就 开 (สือ เต่า ฮัว จิ้ว ไค) แปลว่า ‘เมื่อถึงเวลาดอกไม้จะบานเอง’ ถ้าแปลโดยนัยคือสรรพสิ่งบนโลกล้วนขึ้นอยู่กับเวลา เหมือนดอกไม้ที่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมถึงจะผลิบานอย่างงดงาม คำนี้อยู่ในบทหนึ่งในเล่ม พอได้อ่านต้นฉบับแล้วพี่แป้ง (ชมพูนุท ดีประวัติ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ a book) ประทับใจกับคำนี้เป็นพิเศษเพราะมันบอกเรื่องราวทั้งหมดได้ดี

“เรามองว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือ coming of age ของคนวัยทำงานที่กำลังค้นหาความหมายของชีวิต เชื่อเถอะว่าพี่อ๋องสามารถโยนคำถามที่ทำให้เราฉุกคิด และกลับมามองข้างในตัวเราได้ด้วยหนังสือเล่มนี้”


LONG LONG WAY

เรื่อง : ศรภัทร ภัทราคร
ออกแบบปก : ภาคภูมิ ลมูลพันธ์
สำนักพิมพ์ : Salmon Books

“หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประสบการณ์การเดินทางในยุโรปของนักเขียนที่มีรูปถ่ายสวยๆ มากมายทั้งที ยังไงเราก็คงใช้รูปถ่ายเขาในปกอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าจะเอามาใช้ยังไงให้รู้สึกเฟรชออกมาจากหนังสือท่องเที่ยวปกติ

“จากเนื้อหา เขาเป็นคนสนใจวงการศิลปะ สถาปัตยกรรม พอตอนเลือกรูป เรามาไล่ดูก็จะเห็นฟอร์มโค้งนี้ในหลายๆ ภาพที่เขาถ่ายตึก ผมเลยลองเอามาใช้ในปก ตอนแรกก็ลองทำเป็นช่องเดียวก่อน แต่นักเขียนเขามีไอเดียการทำเป็นเฟรมต่อกันเหมือนหน้าต่างในรถไฟ และทำให้มีไอเดียเรื่องช่วงเวลาของการเดินทางอยู่ในหน้าปกด้วย ปรับกันสักพักกับนักเขียนและ บ.ก.กาย (ปฏิกาล ภาคกาย) ก็ออกมาเป็นอย่างที่เห็น

“เราเลือกภาพให้หลากหลายครอบคลุมเนื้อหา ทั้งภาพมุมกว้างที่เป็นวิวสถานที่ต่างๆ แทรกกับงานศิลปะ เราเลือกงานของ Olafur Eliasson เพราะชอบส่วนตัวและฟอร์มก็เล่นกับกรอบนี้ได้สวยด้วย ความสนุกของหนังสือเล่มนี้คือเราว่าเขาไปเที่ยวคล้ายๆ เพื่อนๆ เรา คือไปดูตึก ดูงานศิลปะ แต่อีกหลายๆ เมืองผมก็ยังไม่เคยไป ก็จดๆ ไว้ สักวันถ้ามีโอกาสคงได้ไปบ้าง ฟังดูเศร้าๆ มั้ย (หัวเราะ)”


The Blind Earthworm in the Labyrinth

เรื่อง : วีรพร นิติประภา
แปล : ก้อง ฤทธิ์ดี
ออกแบบปก : นักรบ มูลมานัส
สำนักพิมพ์ : River Books

“หน้าปกเล่มนี้คือการจำลองโลกของชารียา ตัวเอกของเรื่องจากการอ่านฉากสำคัญในเรื่องคือสวนของชารียาซึ่งทำให้เรานึกถึงสวนรกๆ เกือบเป็นป่าดงดิบ แต่มีความซิวิไลซ์นิดๆ เลยดึงรูปนี้ออกมาเป็นปก

“องค์ประกอบต่างๆ เล่าถึงเรื่องข้างในเเบบไม่ได้สปอยล์เนื้อหามาก มีน้าเเมวเยลโล่เพื่อนนางเอก มีเเผ่นเสียง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญเวลานึกถึงหนังสือเล่มนี้ เรารู้สึกว่าความพิเศษของไส้เดือนตาบอดฯ คือการบรรยายถึงเพลงตลอดเหมือนเป็นซาวนด์แทร็ก หรือเสียงดนตรีเเละเสียงของบรรยากาศก็เป็นส่วนสำคัญของเรื่องนี้ด้วย

“นอกจากความรวดร้าวของเรื่องแล้ว เเล้วสิ่งที่เราชอบมากในเล่มคือภาษาที่วิเศษวิโส กับการทำให้คนอ่านได้เปิดประสบการณ์ ได้ออกจากบ้านไปลองกินอาหารเเปลกๆ ที่กล่าวถึงในหนังสือ บางคนลองทำเอง ลองเปิดเพลงที่กล่าวไว้ในหนังสือฟังคลอๆ ไป มันก็เป็นประสบการณ์ที่ดี”


นายพลในเขาวงกต

เรื่อง : Gabriel García Márquez
แปล : ไพรัช แสนสวัสดิ์
ออกแบบปก : Dear Reader
สำนักพิมพ์ : สามัญชน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องเจ็ดเดือนสุดท้ายในชีวิตของนายพลชื่อโบลิวาร์ ซึ่งในเจ็ดเดือนนี้เขาจะอยู่ในป่าและใช้เปลอันนี้อยู่ตลอดจนเป็นภาพที่ค่อนข้างชัด สำนักพิมพ์ก็เลยอยากให้ภาพเปลเป็นหลัก แต่ในส่วนอื่นๆ เราอยากทำให้เป็นภาพเขาวงกตตามชื่อ แต่จะทำยังไงดีเพราะเรื่องอยู่ในป่า ก็เลยลองทำเป็นประตูให้ซ้อนเป็นชั้นๆ สื่อถึงเขาวงกต

“ตอนที่ทำเราไม่อยากให้โทนสีมีความหม่นมากเพื่อให้ต่างจากเล่มที่เราเคยทำและน่าจะดึงดูดให้คนเข้ามาสนใจมากขึ้น ส่วนโทนสีที่ต่างกันของเล่มปกแข็งกับปกอ่อน เราคิดถึงตัวละครในเรื่องในแง่ที่เขาต้องอยู่ในป่าเจ็ดเดือน สุดท้ายมันก็คือวันเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ ก็เลยเลือกสีที่สื่อถึงสองช่วงเวลา คือช่วงกลางวันกับตอนเย็นๆ

“เราว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจตรงที่เขาไม่ได้เขียนเชิงยกย่องว่าคนนี้เป็นฮีโร่ ทั้งที่เขาเป็นคนสำคัญของทวีปอเมริกาใต้ แต่เป็นการพูดถึงคนคนหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่ แต่มีบั้นปลายชีวิตเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง มีการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ด้านต่างๆ พยายามหาทางออก เราว่าเจ็ดเดือนที่เขาวนเวียนอยู่ในเขาวงกตของตัวเองมันน่าสนใจดี”


สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน

เรื่อง : Salman Rushdie
แปล : สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
ออกแบบปก : วีระวัฒน์ ปัญญามัง
สำนักพิมพ์ : มติชน

“คอนเซปต์ของปก สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน คือ ‘ดุนยา’ ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่อง เอกลักษณ์สำคัญของดุนยาคือสายฟ้าและควัน เลยหยิบมาใช้เป็นคอนเซปต์ในการออกแบบปก ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นตัวละครนี้ ก็เพราะถ้าไม่มีดุนยาก็ไม่มีเรื่องนี้นะครับ อ้าว เผลอสปอยล์ไปแล้ว (หัวเราะ) เมื่อผู้อ่านอ่านจบแล้ว เขาจะเข้าใจความหมายของสายฟ้า ควัน และเหล่าแฟรี่ แต่จะเหมือนหรือต่างกัน ก็ตามแต่ใครจะตีความครับ

“วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมเสียดสีสังคม ผ่านการเล่าเรื่องแฟนตาซีแบบ Salman Rushdie เป็นงานที่หินมาก (เน้นเสียง) เพราะเรื่องราวมีคอนเซปต์ที่ซับซ้อน ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องราวทั้งหมด รวมถึงประเด็นที่ซ่อนอยู่ เราเริ่มจากการอ่านต้นฉบับภาษาไทย จากนั้นมีการเบรนสตอร์มกับ บ.ก. เล่ม มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับฝ่ายอื่นๆ ในออฟฟิศ รวมไปถึงการรีเสิร์ชภาพปกต่างประเทศ เพื่อดูทิศทางการออกแบบว่าแต่ละเล่มเขาตีความยังไง และนำมาพัฒนาปกฉบับภาษาไทย

“ความพิเศษในการออกแบบของปกนี้คือต้องการนำเสนอสัญลักษณ์ที่สำคัญของเรื่องนั่นคือสายฟ้า เราต้องการให้เป็นสายฟ้าที่เหมือนจริง แต่มีความเป็นงานวรรณกรรม เลยจะไม่เหมือนสายฟ้าจริงๆ เสียทีเดียว งงไหมครับ (หัวเราะ) เลยตัดสินใจปั๊มฟอยล์ลงไปด้วย เพื่อทำให้พระเอกของปกนี้เด่นยิ่งขึ้น”


เมา: ประวัติศาสตร์แห่งการร่ำสุรา

เรื่อง : Mark Forsyth
แปล : ลลิตา ผลผลา
ออกแบบปก : ยุทธภูมิ ปันฟอง
สำนักพิมพ์ : Bookscape

“เนื่องจากเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเมามาย เราเลยเลือกใช้การสื่อสารแบบเรียบง่ายและชัดเจน ส่วนตัวคิดว่าสีของเบียร์และฟองสีขาวทำให้นึกถึงน้ำเมาได้ทันที นอกจากนี้เบียร์ยังเป็นเครื่องดื่มที่เข้าถึงทุกคน ไม่มีพิธีรีตองมาก ไม่เหมือนไวน์ที่เป็นเครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ไว้เซ่นสรวง อย่างในเล่ม คนเขียนก็เล่าว่าเบียร์คือสิ่งที่ผู้ใช้แรงงานดื่มกัน เป็นต้นกำเนิดของผับบาร์ และผูกพันกับมนุษย์มายาวนานตั้งแต่สมัยสุเมเรียน

“เราอยากเล่นกับมุมมองของคน คือในช่วงบนของปก ฟองเบียร์จะให้อารมณ์เหมือนเป็นพื้นที่บางอย่าง อยากให้มองเป็นพื้นที่ที่มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งพอองค์ประกอบมันเรียบง่าย ความสนุกในการออกแบบคือการเพิ่มรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เข้าไป เช่น การวางตัวหนังสือที่เหมือนจะล้มหรือโซเซแบบเมาๆ

“หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับทุกคนที่หลงใหลใคร่เมา และใครก็ตามที่อยากดื่มด่ำเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่อ่านสนุกเพลิดเพลิน เพราะหลักๆ แล้วหนังสือเน้นเล่าเรื่องของวัฒนธรรมความเมามายที่เชื่อมโยงกับมนุษย์ มีเกร็ดตำนานและประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่สนุกแทรกอารมณ์ขันเป็นระยะ อ่านแล้วจะรู้ว่าความเมาไม่ใช่แค่เรื่องของกิเลสหรือมีแต่ด้านลบอย่างเดียว แต่มันคือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง หรือถ้าใครอยากจิบน้ำเมาแกล้มตอนอ่านด้วยก็ไม่ว่ากัน”

 

AUTHOR