‘วัยหนุ่ม’ ปกหนังสือที่ถอดแบบมาจากความขบถและตัวตนของวรพจน์ พันธุ์พงศ์

ลายเส้นกราฟิกลายมือขนาดใหญ่เขียนว่า ‘วัยหนุ่ม’ พาดเอียงอยู่บนปกหนังสือสีแดงเพลิง เมื่อเลื่อนสายตาลงมาจะพบชื่อนักเขียนลายเส้นแบบเดียวกันอยู่ด้านล่าง ความโฉบเฉี่ยวของลายเส้นคล้ายปลายปากกาตวัดอยู่บนหน้าปก ดูคล้ายลายเซ็นจากปลายปากกาของนักเขียนจริงๆ

หนึ่ง-วรพจน์ พันธุ์พงศ์ คือเจ้าของลายมือที่ปรากฏอยู่บนนั้น

หากใครเป็นแฟนหนังสือของวรพจน์อาจพอคุ้นสไตล์หน้าปกหนังสือของเขามาบ้าง ทั้งความเรียบง่ายขององค์ประกอบ สีพื้นที่ไม่ฉูดฉาด การให้น้ำหนักกับพื้นที่ว่าง และการใช้รูปถ่าย สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่คงไว้บนหน้าปกหนังสือของวรพจน์เสมอมา

แต่กับหนังสือเล่มล่าสุด วัยหนุ่ม ความเรียงคัดสรรในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2002 – 2017 กลับใช้สีแดงฉูดฉาดผสมลายเส้นกึ่งกราฟิกแทนที่จะเป็นฟอนต์ธรรมดา ก้าวข้ามความเพลย์เซฟและเปลี่ยนภาพจำบางอย่างเกี่ยวกับปกหนังสือของวรพจน์ที่เราเคยเห็นกันมาในเล่มก่อนหน้า

เบิ้ม-กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล หรือ Wrongdesign คือผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบหน้าปกหนังสือเล่มนี้ ได้ทดลองเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ด้วยการพาปกหนังสือโบยบินไปสู่พื้นที่ของความสนุก ความขบถ และความสดใหม่ สมชื่อหนังสือว่า วัยหนุ่ม

การออกแบบปกหนังสือไม่ใช่แค่การตีความตัวอักษรในเล่มให้ออกมาเป็นภาพเท่านั้น แต่คือการถอดถ่ายตัวตนของนักเขียนลงไปในงานออกแบบ รวมถึงเก็บรักษาเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่เป็นภาพจำบางอย่างของวรพจน์ลงไปในนั้น ขณะเดียวกันก็สื่อสารเรื่องความขบถและความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวซึ่งเป็นธีมหลักของเล่มไปด้วย

หน้าปกหนังสือ วัยหนุ่ม จึงเต็มไปด้วยภาพสะท้อนตัวตนของนักเขียนและการพยายามสื่อสารความคิดของนักออกแบบ แต่กว่าจะออกมาเป็นผลงานสำเร็จอย่างที่เห็น ล้วนมีการทดลองและปรับแก้หลายครั้งตั้งแต่ดราฟต์แรกในคอมพิวเตอร์ไปจนถึงขั้นพิมพ์จริง เราจึงชวนเบิ้มมาพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลังการออกแบบปกหนังสือเล่มนี้กัน

ทำความเข้าใจต้นฉบับและตัวตนของนักเขียน

เบิ้มบอกเราว่าโดยทั่วไปก่อนจะออกแบบหน้าปกหนังสือไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม สิ่งแรกที่ต้องทำคือค้นคว้าเนื้อหาโดยรวม ทั้งอ่านตัวเล่มจริง บทคัดย่อ หรือพูดคุยกับบรรณาธิการ แต่กับหนังสือของวรพจน์ที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัวจะมีวิธีการทำงานแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ด้วยความสนิทสนมและรู้จักมักคุ้นกันมาอย่างยาวนาน วรพจน์จึงชักชวนให้เบิ้มมาออกแบบปกหนังสือรวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 15 ปีของเขา ซึ่งก็เป็นเวลา 15 ปีพอดีที่เบิ้มเริ่มทำงานออกแบบปกหนังสือเช่นกัน ความสัมพันธ์ในฐานะรุ่นพี่-รุ่นน้อง และในฐานะคนทำงานหนังสือเหมือนกัน ช่วยลดขั้นตอนในการทำความเข้าใจกันรวมถึงขั้นตอนคิดรูปแบบงาน

“พี่หนึ่งแค่พิมพ์มาในกล่องข้อความเฟซบุ๊กว่ามีหนังสือเล่มใหม่ ไม่ได้บรีฟเนื้อหาชัดเจน แค่บอกว่าอยากรวมเล่มเนื่องในวาระ 15 ปีตั้งแต่เริ่มพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรก อยากให้ช่วยออกแบบ เราก็บอกว่ายินดีพี่” คือบทสนทนาเรียบง่ายในการตอบรับทำงานนี้ของเบิ้ม

ขั้นตอนถัดมาคือการตีความคาแรกเตอร์ของหนังสือ วัยหนุ่ม สิ่งที่เบิ้มต้องทำความเข้าใจนอกเหนือไปจากเนื้อหาแล้ว ยังต้องเข้าใจรสนิยมและสไตล์ของนักเขียนด้วย

“เวลานักเขียนพาต้นฉบับมาให้ เหมือนพาลูกมาโรงเรียน เขารู้คาแรกเตอร์ เข้าใจนิสัยใจคอดี แต่เราต้องอธิบายให้เขาฟังว่าลูกเขากำลังจะไปเจอคนหมู่มาก เราจะทำยังไงให้เด็กคนนี้สื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง กรณีพี่หนึ่ง เราค่อนข้างเข้าใจรสนิยมและองค์ประกอบที่แกมักจะใช้วนเวียนซ้ำๆ ในการออกแบบปกหนังสือที่ผ่านมา

“ธรรมชาติพี่หนึ่งไม่ค่อยชอบงานกราฟิก แกชอบงานที่มีสเปซเยอะหน่อยระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั้งภาพถ่ายและตัวอักษร และพี่หนึ่งไม่ค่อยใส่คำโปรยบนปกหนังสือเยอะ เราดูแล้ว ปกมันดูคอนเซอร์เวทีฟ ทั้งการใช้รูปถ่ายขาวดำหรือการใช้ฟอนต์ เฟรมแบบนี้จะให้ใครทำก็ได้”

“สิ่งที่เราสนใจคือธีมของเล่มนี้คือ ‘วัยหนุ่ม’ ไอเดียนี้น่าจะเอามาใช้อะไรกับภาพบนปกได้ เวลาถึงพาร์ตที่เราต้องไปออกแบบปกให้กับแก เราก็พยายามดูคาแรกเตอร์ของแก ดูสิ่งที่แกสนใจ รวมถึงทิศทางใหม่ๆ ที่อยากพาแกลองไปทำดู”

ตั้งต้นจากวัตถุดิบที่มี

“พี่หนึ่งเป็นคนพูดน้อย เวลาต้องการอะไรจะไม่ค่อยพูด ตอนออกแบบเล่มก่อนๆ ให้ แกจะให้รูปมา 4 – 5 ใบให้เราเลือก เล่มนี้ก็วิธีการเดียวกัน แกส่งรูปภาพมาในกล่องข้อความเฟซบุ๊ก 3 – 4 รูป อยากให้หน้าปกเรียบๆ ไม่หวือหวามาก อีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือแกอยากลองใช้ภาพประกอบเป็นรูปวาดพอร์เทรตตัวแกเอง พอลองเอามาดูก็คิดว่านี่เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะภาพนี้เป็นเหมือนภาพจำของแก พอได้วัตถุดิบมาและได้ไอเดียบางอย่าง เราก็เริ่มทำดราฟต์ คือโฟกัสกับทางเลือกที่นักเขียนเสนอมา เลยไม่เสียเวลากับการหาทิศทางในการออกแบบ”

จากตัวเลือกที่หลากหลาย นักออกแบบต้องมองให้ออกว่าชิ้นส่วนไหนน่าสนใจและคัดสรรสิ่งที่น่าจะใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง เบิ้มเลือกรูปที่ถ่ายโดยช่างภาพ ยุทธนา อัจฉริยวิญญู เพราะรูปนี้ดูเป็นธรรมชาติ และเมื่อลองนำมาแปลงเป็นรูปขาวดำแล้ว องค์ประกอบและบรรยากาศในภาพเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นภาพหน้าปกมากที่สุด

“เราชอบมวลบรรยากาศในรูป น้ำหนัก และอารมณ์ในรูปภาพนี้ไม่สมบูรณ์แบบนัก ภาพนี้น่าจะเป็นรูปที่ดูเป็นธรรมชาติที่สุดของแก ปกติจะชอบรูปคนที่มีอายคอนแทกต์ เพราะเรารู้สึกว่าดวงตาสื่อสารกับคนอ่านได้ดีกว่า แต่พี่หนึ่งชอบใส่แว่นดำ มันเป็นคาแรกเตอร์ของแก เราเลยเลือกรูปนี้เพราะดูลงตัวที่สุด”

แปลงลายมือเป็นลายเส้นกราฟิก

สิ่งหนึ่งที่เบิ้มอยากทดลองในงานออกแบบชิ้นนี้คือการลองใช้ลายมือของหนึ่ง วรพจน์ แทนการใช้ตัวพิมพ์ด้วยฟอนต์ปกติ โดยใช้เป็นทั้งชื่อหนังสือและชื่อนักเขียน เพราะนอกจากจะให้ความรู้สึกขบถแล้ว ยังเป็นลายเส้นที่นักอ่านขาประจำน่าจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเขาเคยใช้ลายมือของตัวเองเป็นชื่อหนังสือในเล่มก่อนๆ

“ปกติปกหนังสือพี่หนึ่งไม่ได้มีองค์ประกอบเชิงกราฟิกมากนัก ถ้าเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาด ตัวหนังสือจะวางอย่างเรียบง่าย แต่เล่มนี้เราอยากลองใช้น้ำหนักการออกแบบบางอย่าง อย่างเส้นสายที่กินพื้นที่บนปกค่อนข้างมาก เราอยากลองใช้ลายมือของแกดู”

“พอเทคโนโลยีมันง่ายขนาดนี้ แกก็เขียนแล้วถ่ายรูปส่งมาในกล่องข้อความเฟซบุ๊ก แกส่งมาสองสามครั้ง ครั้งแรกๆ เขียนหวัดๆ ทั้งเราและพี่หนึ่งเห็นว่ายังใช้ในงานออกแบบไม่ค่อยได้เพราะเส้นหวัดมาก เราก็ต้องขอไปใหม่ แกก็เขียนมาให้อีก”

“เราเอาภาพลายมือแกทั้งที่เขียนเป็นชื่อหนังสือกับชื่อนักเขียน มาลองปรับคอนทราสต์ ปรับเป็นขาวดำ แปลงเป็นภาพกราฟิก ด้วยฟอนต์ลายมือที่ใหญ่ และไม่ได้วางเสมอเส้นกริด เพราะไม่ได้ตั้งใจจัดให้องค์ประกอบเป๊ะขนาดนั้น พอมาดูการแมตช์กันของฟอนต์ลายมือกับหน้าปกแล้ว ดูลงตัวระหว่างความเรียบง่ายของปกหนังสือแบบพี่หนึ่งกับความขบถแบบวัยหนุ่มของลายเส้นกราฟิกที่มาจากลายมือ”

ค้นหาความเป็นไปได้ของปกหนังสือเล่มหนึ่งๆ

เบิ้มมองว่างานออกแบบมีพื้นที่ในการคิดงานหลากหลาย การเสนอทางเลือกหลายๆ แบบ โดยลองจัดวางองค์ประกอบตำแหน่งของตัวอักษร รูปภาพ ชื่อนักเขียน หรือการใช้สีหลายๆ แบบ คือกระบวนการเสนอทางเลือกให้คนทำงานด้วยกัน เพื่อร่วมกันตัดสินใจเลือกว่าแบบไหนเป็นแบบที่เหมาะสมลงตัวที่สุดสำหรับหนังสือเล่มนั้น

“การออกแบบหน้าปกหนังสือไม่ใช่พื้นที่แสดงตัวตนของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เราจะดูว่าคนที่ทำงานกับเรามีความต้องการแบบไหน เพราะทุกอย่างมีน้ำหนักหมดในการทำงานของเรา อย่างน้อยคือเราควรจะมีทางเลือกอื่นๆ ให้คนที่ร่วมงานกับเราได้เห็นอีก พอใช้วิธีนี้รู้สึกว่ามันละมุนละม่อมกับคนที่ทำงานกับเราด้วย ต่อให้พี่หนึ่งมีชุดภาพมาแบบนี้ มีชื่อหนังสือแบบนี้ มีไอเดียมาแบบนี้ แกก็คงอยากจะเห็นหลายๆ ทางเลือก เราเองก็อยากจะลองไอเดียการออกแบบปกหนังสือเล่มหนึ่งด้วยว่ามันจะไปถึงที่สุดได้แค่ไหน”

“เราสนใจสีอยู่สองสามเฉด คือน้ำตาล เขียว กับอีกแบบหนึ่งคือสีสดๆ แบบสีแดง เพราะที่ผ่านมาพี่หนึ่งไม่ค่อยใช้ปกหนังสือสีสดๆ เรารู้สึกว่าถ้าหนังสือเล่มนี้มันเล่าเรื่องวัยหนุ่ม เล่าเรื่องความขบถ มันน่าจะดีถ้าได้ลองทางเลือกใหม่ๆ ตอนแรกอยากพาแกไปใช้สีสะท้อนแสงด้วยซ้ำ แต่เรารู้ว่าแกไม่เอาหรอก (หัวเราะ)”

“เรารู้สึกว่าสีแดงเหมาะกับคำว่า ‘วัยหนุ่ม’ ความร้อนแรง ความพุ่งพล่านของอารมณ์ แล้วเฉดแดง ขาว ดำ มันคลาสสิก เลือกมายังไงก็จบงานง่าย คู่สีไม่เยอะเกินไป กระบวนการพัฒนาขั้นตอนการออกแบบเลยไม่ค่อยซับซ้อน เข้าใจง่าย แล้วเราคิดว่านี่คือคาแรกเตอร์หนึ่งของพี่หนึ่ง สิ่งหนึ่งคือเราอยากลองย้อนกลับไปตอนทำงานปีแรกๆ ที่ openbooks ยังพิมพ์ปกสองสี เราอยากใช้วิธีนี้กับปกหนังสือของพี่หนึ่งในปัจจุบัน เรารู้สึกว่าถ้าเป็นภาพขาวดำแล้วจับคู่สีสองสี มันควบคุมวิธีการออกแบบค่อนข้างง่าย แล้วสนุกดีที่รู้สึกเหมือนได้ย้อนกลับไปสมัยเริ่มทำงานปีแรกๆ”

สันหนังสือคือการสื่อสาร

เบิ้มอธิบายให้ฟังว่านักออกแบบไม่ได้เห็นภาพปกหนังสือแบ่งเป็นสามส่วน ปกหน้า ปกหลัง และสันหนังสือ แต่เขาเห็นภาพแบบกางเป็นแผ่นเดียวบนจอคอมพิวเตอร์ การออกแบบสันปกจึงต้องสอดคล้องกันทั้งปกหน้าและปกหลังทั้งในเรื่องความสมดุลและน้ำหนัก

“เวลาเราออกแบบสันหนังสือ สายตาเราจะแบ่งเป็นสามส่วนอัตโนมัติ ตอนแรกที่สันปกก็จะใช้ตัวอักษรที่เป็นลายมือชุดเดียวกันนี่แหละ แต่รู้สึกว่าจะหนักไป เลยเปลี่ยนเป็นฟอนต์ Cordia UPC ที่พี่หนึ่งจะใช้แค่ฟอนต์นี้ฟอนต์เดียวตั้งแต่หนังสือเล่มแรกๆ เราคิดว่าสันปกคือการสื่อสาร เพราะเวลาขึ้นบนชั้นหนังสือ เราต้องเอียงคออ่าน ถ้าอ่านยากมากคนจะไม่รู้ว่าคือเรื่องอะไร เราเลยทำให้มันง่าย เคลียร์ ปกติเราชอบทำสันหนังสือพิสดารเรียกร้องความสนใจด้วยซ้ำ แต่เล่มนี้เราตั้งใจออกแบบให้เรียบง่าย ตอนเอาลายมือกราฟิกฉูดฉาดออกไปจากสันปกแล้วน้ำหนักมันพอดี ข้างล่างวางโลโก้สำนักพิมพ์”

ปกหลังคือพื้นที่ของสำนักพิมพ์

“ถ้าดีไซน์ด้านหน้าเป็นพื้นที่ของนักออกแบบแล้ว ปกหลังจะเป็นพื้นที่ของสำนักพิมพ์หรือบรรณาธิการ ให้เขาขายของได้เต็มที่ อยากจะเล่าเรื่อง ใส่เท็กซ์อัดเต็มได้ถ้าเห็นว่าเหมาะสม ตอนคิดคำโปรยปกหลังกันอยู่ พี่หนึ่งก็พูดปากเปล่าขึ้นมา เราก็นั่งพิมพ์ตอนนั้นเลย แล้วลองใช้เป็นดราฟต์แรกก่อน หลังจากนั้นแกก็ส่งข้อความมาอีก 2 – 3 ชุด เลยเลือกชุดข้อความนี้แล้วเอาลายเซ็นที่เป็นเส้นกราฟิกมาเป็นองค์ประกอบร่วมด้วย เพราะในแง่หนึ่งมันเหมือนลายเซ็นของนักเขียน และอยากรักษาน้ำหนักของเส้นลายมือที่ปกหลังด้วย”

นอกจากการใส่ลายเส้นกราฟิกและคำโปรยแล้ว สิ่งที่เพิ่มเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักของปกหลังคือภาพถ่าย ทีแรกเบิ้มได้ไฟล์รูปภาพมาจากวรพจน์ แต่เมื่อลองนำมาจัดวางองค์ประกอบแล้ว คุณภาพและองค์ประกอบของรูปภาพยังไม่ลงตัวนัก เบิ้มจึงต้องสื่อสารกลับไปเมื่อคิดว่ายังไม่เหมาะกับงานออกแบบ

“ตอนแรกรูปปกหลังที่พี่หนึ่งถ่ายมาให้เป็นรูปชั้นหนังสือ แต่รูปนั้นมีหนังสือไม่เยอะ พอเอามาเรียงเป็นอาร์ตเวิร์กแล้วยังไม่ลงตัว เราก็ต้องนั่งหารูปกันใหม่ พอดีเราบังเอิญไปเห็นรูปของเบลล์ (จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์) ที่ถ่ายรูปสันหนังสือของพี่หนึ่งเรียงกัน เราเห็นแล้วคิดว่าถ้าลองเอามาแปลงเป็นภาพขาวดำน่าจะเอาอยู่ เราก็โทรไปขอรูป เย็นนั้นได้ไฟล์ก็เลยลองเอามาจัดวาง ส่งให้พี่หนึ่งดูในกล่องข้อความเฟซบุ๊ก พี่หนึ่งก็โอเค จบงานง่าย”

ความแตกต่างของฉบับปกแข็ง

หลังจากออกแบบฉบับปกอ่อนยืนพื้น เบิ้มจึงขยับมาออกแบบฉบับปกแข็ง ในรายละเอียดของงานหากดูเพียงแค่ดีไซน์ก็แทบจะไม่ต่างกัน แต่หากดูให้เห็นถึง ‘ความเป็นหนังสือ’ การจัดวางที่ต่างออกไปเพียงนิด กระดาษคนละแบบ การเข้ารูปเล่มที่ต่างกัน ก็ทำให้มวลอารมณ์และโทนของหนังสือแตกต่างทั้งๆ ที่มาจากต้นฉบับเดียวกัน

“เราคุยกับพี่หนึ่งแล้วเห็นภาพตรงกันว่า อยากให้ปกอ่อนกับปกแข็งมีรายละเอียดต่างกัน จะได้ทำให้ใครสักคนมีเหตุผลพอที่จะเลือกซื้อแบบใดแบบหนึ่ง คือแตกต่างทั้งรายละเอียดในการออกแบบ และข้อความบนปกอ่อนกับปกแข็งเป็นคนละชุดกัน ปกแข็ง ภาพปกจะพรินต์แยกเป็นกระดาษอีกชิ้น ปั๊มจม เหมือนเป็นเฟรมภาพ ตัวหนังสือที่เป็นชื่อเรื่องจะเล็กลง ให้พื้นที่กับความว่าง ปกหลังก็จะไม่มีรูปภาพ อยากให้ปกแข็งเป็นของสะสม ทั้งการเข้าเล่ม กระดาษที่เลือกใช้ อยากให้เป็นงานศิลปะ พอพิมพ์น้อยเลยทำให้ทดลองอะไรบางอย่างได้”

ดูลึกถึงรายละเอียดการผลิตในกระบวนการพิมพ์

“งานออกแบบหนังสือไม่ใช่แค่งานกราฟิกดีไซน์ แต่พาร์ตใหญ่ของมันคืองานโปรดักต์ดีไซน์ เพราะหนังสือต้องถูกใช้งานจริง ต้องใกล้ชิดกับคนอ่าน ต้องจับ ต้องอ่าน ต้องพลิก ตอนทำงานในคอมพิวเตอร์มันเป็นงานสองมิติ แต่พอหลังขั้นตอนนี้มีคนรับงานเราไปทำต่อ คือขั้นตอนการผลิตงานออกแบบเราให้เป็นรูปเล่มจริงๆ”

“ไอเดียเรื่องกระดาษ เราไม่อยากใช้เทมเพลตเดิมๆ มาทำหนังสือ กระดาษที่เราเห็นๆ กันมักจะเป็นกระดาษอาร์ตเคลือบด้านหรือมัน จริงๆ มันไม่ได้แย่หรือผิด แต่รูปลักษณ์แบบนี้ดูเป็นการผลิตแบบแมสโปรดักชั่นไปหน่อย ทำให้ไม่ว่าสำนักพิมพ์ไหนพิมพ์หนังสือออกมาแล้วหน้าตาเหมือนกันไปหมด ยิ่งสำนักพิมพ์บางลำพูเป็นสำนักพิมพ์เล็ก เราน่าจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ ได้ เราเลยบอกพี่หนึ่งว่าอย่าใช้กระดาษอาร์ตการ์ดเลย เพราะต้องเสียค่าเคลือบอีก คิดสัดส่วนความถูกแพงไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์กับกระดาษที่เราเสนอไป แล้วทำให้หน้าตาหนังสือเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเมื่ออยู่ในร้านหนังสือ กระดาษที่ใช้ก็ควรสร้างเนื้อหาบางอย่างให้กับมัน พี่หนึ่งก็เชื่อใจเรา แกก็โอเคตามที่เราเสนอไป ไม่ได้ต้องมีการสื่อสารหรือโน้มน้าวอะไรเลยจบงานง่าย”

เบิ้มเล่าเสริมว่าถ้าเป็นไปได้ คนที่อยู่ฝั่งการออกแบบควรจะดูขั้นตอนการผลิตหนังสือด้วย เพราะกระดาษแต่ละประเภทสะท้อนดีไซน์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเข้าใจขั้นตอนการผลิต จะทำให้นักออกแบบเข้าใจและเปิดพื้นที่ให้กับความคิดใหม่ๆ ได้กว้างขึ้น

เบิ้มยกตัวอย่างการเข้าเล่มไสกาวของหนังสือทั่วไปที่จะใช้เครื่องหนีบจนเกิดรอยตรงขอบหนังสือ สำหรับหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เขาออกแบบรวมถึง วัยหนุ่ม เบิ้มจะพูดคุยกับโรงพิมพ์เพื่อขอให้เซ็ตค่าเครื่องจักรไม่ให้มีการบีบสันหนังสือในขั้นตอนสุดท้าย

“สิ่งที่สนใจคือพอไม่มีรอยบีบตรงสัน แล้วสันหนังสือจะโค้งขึ้น หน้าตาหนังสือเปลี่ยน หน้าตามันหลุดออกจากความเป็นแมสโปรดักต์ เราทำแบบนี้มาตลอดแล้วไม่เจอหนังสือหลุด รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้เป็นสิ่งที่นักออกแบบควรจะรู้”

ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของการออกแบบปกหนังสือ

เบิ้มบอกกับเราว่าการออกแบบปกหนังสือสมัยนี้ง่ายขึ้นมากเพราะเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกสบาย อีกนัยหนึ่งนอกเหนือไปจากกระบวนการออกแบบ เทคโนโลยียังชักพาคนต่างๆ ในแวดวงเดียวกันให้มาทำงานร่วมกันง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน เห็นได้ชัดจากขั้นตอนเบื้องหลังปกหลังหนังสือเล่มนี้

“พอย้อนกลับไปดูแล้วขั้นตอนต่างๆ มันรวดเร็วมาก สมัยก่อนเราทำงานแบบนี้ไม่ได้ กว่าจะหารูปสักรูปได้ยากมาก เราต้องทำงานกับช่างภาพ ต้องนั่งวงรูป นั่งส่องฟิล์ม ส่งไปอัดรูปสามสี่วันถึงจะได้ ความเร็วของเทคโนโลยีช่วยได้เยอะจริงๆ เราเลยมองว่าจริงๆ แล้วเหมือนเป็นการลากเส้นงานบางชิ้นกับคนบางคนมาเจอกัน เบลล์ก็เป็นแฟนหนังสือพี่หนึ่งมาเนิ่นนาน ชื่นชมงานพี่หนึ่ง แล้วเราก็รู้จักพี่หนึ่งและเบลล์เป็นการส่วนตัว การหาภาพสักภาพหนึ่งมันกลายเป็นมิตรภาพ เป็นความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ พอโยงเรื่องแบบนี้มาเจอกันแล้วก็กลายเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง”

รูปภาพประกอบ กรมัยพล สิริมงคลรุจิกุล
ภาพ ธนวัฒน์ อัศวชุติพงศ์

AUTHOR