วันนี้และพรุ่งนี้ของแชมป์ The MATTER

8 ปีที่แล้ว นักพัฒนาเว็บหนุ่มคนหนึ่งส่งบทความมาให้เราพิจารณา

ยุคนั้นคนยังรู้จัก แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ในฐานะผู้สร้างเว็บบล็อกยอดนิยมอย่าง exteen.com บทความเหล่านั้นกลายเป็นคอลัมน์ world while web พิมพ์ครั้งแรกใน a day ฉบับที่ 123 และยังอยู่จนถึงตอนนี้ เนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ไม่แนะนำอุปกรณ์ใหม่ๆ แต่เชื่อมโยงว่าความทันสมัยจะส่งผลอย่างไรกับสังคมและพฤติกรรมมนุษย์

โลกออนไลน์ที่แชมป์เขียนถึงวันนั้นเปลี่ยนไปเยอะเหลือเกิน ไม่ต่างจากตัวนักเขียนเอง เราเปลี่ยนชื่อเบอร์โทรเขาในโทรศัพท์จาก แชมป์ exteen เป็น แชมป์ The MATTER ชื่อหลังคือสำนักข่าวและคอนเทนต์ที่เขาร่วมสร้าง กลายเป็นสื่อออนไลน์ที่หลายคนพูดถึง ล่าสุดเขาร่วมกับเพื่อนพ้องนักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Salt สำนักที่ตั้งใจพิมพ์หนังสือให้ความรู้คน เน้นหนักไปทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ หมวดที่คนในวงการคิดว่าปราบเซียน แต่พวกเขาคิดว่าเพื่อให้สังคมดีขึ้น หนังสือหมวดนี้จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง

การคุยกับเขาครั้งนี้เหมือนอัพเดตชีวิตหลายด้านทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ในฐานะคอลัมนิสต์ นักแปล และบรรณาธิการ เมื่อก่อนแชมป์เป็นเหมือนนักพยากรณ์ เรื่องที่เขาพูดหรือเขียนถึงมักเป็นเรื่องในอนาคต ตอนนี้เรื่องที่เขาเขียนส่วนใหญ่เป็นเรื่อง sci-fi ที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เขาคิดว่ายังมีหลายเรื่องสำคัญที่เราน่าคิด น่าทำ

เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไกลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการ

แชมป์เขียน world while web ครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน โลกออนไลน์เมื่อก่อนกับตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะไหม

เปลี่ยนตรงที่มันเชื่อมกันมากขึ้น เมื่อก่อนเวลาเราพูดถึงเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต จะเหมือนวงการที่แยกออกไป หลายคนมองเรื่องนี้เป็นคำที่ duality แยกออกเป็นสอง แต่ตอนนี้เราว่าไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นบนออนไลน์มีผลกับโลกจริงเยอะ เพราะฉะนั้นการที่มองมันแยกขาดอาจเป็นวิธีการที่ไม่ถูกนัก ปัจจุบันคอลัมน์ที่เกี่ยวกับออนไลน์กับสังคม สโคปเนื้อหากว้างกว่าเดิมมาก คือนอกจากเขียนเรื่อง A.I. โปรแกรมที่มีผลกับเรา เรายังเขียนเรื่องสังคมออนไลน์ซึ่งมันก็คือสังคมทั่วไป แต่ออนไลน์เป็นเครื่องมือนึงที่ช่วยเร่งหรือช่วยกรอบวิธีคิดบางอย่างของเรามากกว่า

เริ่มรู้สึกว่าโลกออนไลน์ไม่ใช่โลกที่ถูกแยกตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะสัก 4-5 ปีที่แล้ว พอเขียนเรื่องหนึ่งต้องไปแตะเรื่องการเมืองโดยเลี่ยงไม่ได้ ต้องไปยุ่งเรื่องดราม่าสังคมหรือข่าวทั่วไป เกี่ยวกันหมดเลย เข้ามาอยู่ในทุกที่ ทำให้เราต้องสนใจเรื่องโน้นเรื่องนี้มากขึ้น ต้องอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสังคม เพื่อที่จะเข้าใจโลกออนไลน์ได้ดีขึ้น

แชมป์เคยบอกว่าอ่านนิตยสารเพื่อมาเขียนคอลัมน์เยอะมาก

เมื่อก่อนเยอะมาก เดือนละ 20-30 เล่ม ตอนนี้ไม่ได้นับเป็นหัวแมกกาซีน แต่นับเป็นบทความมากกว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงนึง กลายเป็นว่าอ่านบทความอาจจะมากกว่าอ่านแมกกาซีนในยุคนั้นด้วยซ้ำ ข้อเสียคือเราเลือกบทความที่เราสนใจ แต่จริงๆ เรื่องที่ไม่สนใจเราก็ควรจะอ่านบ้าง เวลาอ่านนิตยสารจะมีเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในวงโคจรเราในเล่มด้วย ตอนนี้เหมือนอ่านสิ่งที่มันเรคคอมเมนด์มาให้เราอ่าน จะไม่ค่อยขยายวงเท่าไหร่

เราอ่านนิตยสารผู้ชายแทบทั้งหมด GQ, Esquire, a day, Hamburger, Bioscope, Filmax หนังสือต่างประเทศก็ Fast Company, Inc, WIRED ประมาณนี้

หลังๆ หาเรื่องเขียนยากขึ้น ต้องไปที่ source มากขึ้น เมื่อก่อนใช้วิธีอ่านนิตยสารนึงให้เกิดประกายไอเดียบางอย่าง แล้วก็พยายามไปหาเรื่องเดียวกันอีกสัก 3-4 เรื่องเพื่อให้เกิดเป็นทฤษฎีบางอย่างแล้วค่อยเขียน แต่หลังๆ ถ้าทำวิธีนี้แล้วถอยออกมามองประเด็น มันจะวน ประเด็นไม่ค่อยเคลื่อนไปข้างหน้า เรื่องนี้ก็พูดแบบนี้อีกแล้ว เราต้องไปหาจากต้นทางมากขึ้น เช่น ไปอ่านเปเปอร์ก็สนุกไปอีกแบบ

การกลับไปอ่านต้นทางสำคัญยังไง

ถ้าอ่านสิ่งที่สื่อเอามานำเสนอแล้วชั้นหนึ่ง จะได้ข้อมูลที่อาจจะ sensationalize มาแล้วส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะงานที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลวิจัยบอกว่าเบียร์ทำให้ตายเร็ว จริงๆ ถ้าไปอ่านเปเปอร์ต้นทางอาจจะไม่ได้สรุปอย่างนั้นซะทีเดียวก็ได้ มันเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเก็บสิ่งที่คิดว่าสำคัญให้ครบ ไม่งั้นเราจะเป็นสื่อตติยภูมิ อยู่ระดับสาม แต่ถ้าอ่านจากเปเปอร์มา เป็นสื่ออันดับสองก็ยังดี

อันนั้นคือตอนที่เราเขียนเอง แต่พอเราต้องเป็น บ.ก. ถ้า The MATTER ต้องลงเนื้อหาแบบนี้ แชมป์ทำยังไง

ใช้วิธีประชุมและเช็กประเด็น ประเด็นแบบไหนที่เล่นแล้วไม่เหมือนคนอื่น แบบไหนที่เรารู้สึกว่าคนอ่านต้องการ ก็ใช้วิธีนั้น พอเป็น บ.ก.ก็จะมีปัญหาอีกเรื่องคือต้องทำให้ทีมทำงานไม่รู้สึกว่าโดนสั่งว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ทำยังไงที่จะให้เขาทำเอง ได้เรียนรู้ไปด้วย ถ้าบอกว่าให้ไปทำด้วยวิธีนี้ ครั้งหน้าต้องบอกอีก เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ใหม่

แชมป์ทำ The MATTER มากี่ปี

2 ปีครับ

ดูสั้นมากเลยนะ

ใช่ แป๊บเดียวเอง พอทำสื่อออนไลน์ทุกวัน ปิดต้นฉบับทุกบ่ายมันมีความรู้สึกเหมือน 2 ปียาวนานมาก The MATTER บูสต์ประมาณวันละ 10 เรื่อง ก็คูณไป ประมาณ 7,000 กว่าเรื่อง พอทำเว็บข่าวกึ่งบทความ จะรู้สึกว่าประเด็นนี้วนมาอีกแล้ว ไม่ก้าวไปไหนเลยเนอะ ในฐานะคนทำงานมันก็เบื่อๆ ประเด็นนิดหน่อย

The MATTER ตอนนี้เหมือนกับที่คิดไว้ตอนแรกไหม

ท่าทีวางตัวไม่เหมือน เรารู้สึกว่าตอนแรกมีท่าทีที่ชวนคุยมากกว่าบอก ตอนนี้มันมีความบอกมากไปหน่อย มันก็เป็นสิ่งที่ออร์แกนิกเหมือนกัน คนอ่านสร้างมันมาพอๆ กับคนสร้างนั่นแหละ เวลาเจอคอมเมนต์เราก็รู้ว่าจะตอบรับยังไง หรือบางประเด็นรู้ว่าพูดเรื่องนี้ไปคงไม่ดีหรอก เดี๋ยวคนก็ด่าอีก ฐานคนอ่านก็เป็นฐานสร้างเพจแบบนึง เป็นวิธีในการเชปคนอ่านแบบนึง สุดท้ายผลลัพธ์ก็จะไม่ได้ตรงกับที่เราต้องการร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก กลุ่มเป้าหมายตอนนี้ก็ไม่ตรง ตอนแรกเราเซ็ตไว้ว่าคนอายุประมาณ 27-28 ปี ทำงานอาชีพแรก หรือกำลังจะออกจากงานที่แรก สนใจเรื่องสังคม บ้านเมือง เรื่องต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยี วัดจากความสนใจตัวเองด้วย ซึ่งมันก็ได้คนแบบนั้นในฐานแรก แต่พอโตไปมันก็เริ่มเป็นระฆังคว่ำ แล้วมันก็เริ่มกระจายไปสู่กลุ่มอื่นที่เราอาจจะไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก

เราเห็นเด็กชอบ The MATTER เยอะเหมือนกัน แปลกใจกับเรื่องนี้ไหม

อาจจะใช่ ความจริงเรารู้สึกว่าคนอ่าน The MATTER แก่ในเชิงอายุ ไม่รู้ว่าแก่จริงหรือเปล่า แต่เวลาเห็นคอมเมนต์แล้วรู้สึกว่าคนนี้น่าจะอายุเยอะ เด็กอาจจะชอบในเชิงที่ว่ามันก็ช่วยต้านอำนาจบางอย่าง อันนี้ไม่แน่ใจ

อำนาจแบบไหน

ต้านอำนาจทางสังคม เราจะมองในมุมเด็กเยอะ เช่น เด็กเป็นซึมเศร้าเยอะเพราะอะไร การศึกษามันกดทับอยู่ใช่ไหม มีหนี้ กยส. ใช่ไหม สิทธิในการแสดงออกของเด็กตอนนี้เป็นยังไง แล้วทำไมผู้ใหญ่ไม่ค่อยฟัง เราจะพูดเรื่องแบบนี้บ่อย อาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน

พักหลังแชมป์ไม่ค่อยบอกว่า The MATTER เป็นสำนักข่าวนะ

ใช่ คำว่าข่าวมีปัญหาเยอะมาก

มีปัญหายังไง

เช่น คนที่ทำงานข่าวแบบเทรดิชั่นนอลจะบอกว่าห้ามใส่ความเห็น ต้องเป็นกลาง ต้องเสนอรอบด้าน หรือบางบทความจะไม่นับเป็นข่าว เช่น บทความเชิงวิเคราะห์ ถ้าบอกว่าเป็นข่าวปุ๊บคนจะบอกว่าไม่เห็นเหมือน CNN หรือ Reuters เราก็ใช้คำว่าคอนเทนต์ ซึ่งคนมีปัญหาน้อยกว่า

เรารู้สึกว่าคำว่าข่าวไม่ควรจะอยู่ในที่แคบๆ แบบห้ามใส่ความเห็นเลย ถ้าเป็นความเห็น บอกให้ชัดเจนว่าเรามีความเห็นแบบนี้ อันนี้โอเค แต่เนื่องจากว่ามันมีมุมมองแบบนั้นอยู่ ก็เป็นสำนักคอนเทนต์ก็ได้ จะได้ไม่ต้องมาแข่งกับคุณเรื่องความหมายของคำว่าข่าว

The MATTER มีโต๊ะข่าวแบ่งเป็นหมวดๆ ไหม

ตอนนี้เรามี 2 กอง คือโต๊ะคอนเทนต์กับโต๊ะข่าว ซึ่งคอนเทนต์คือทำทุกเรื่องที่หลากหลาย แต่ข่าวก็คือข่าว

The MATTER ถูกเรียกว่าเป็นสื่อออนไลน์ สื่ออื่นหลายหัวก็พยายามคิดว่าต้องเป็นออนไลน์แบบ The MATTER ให้ได้ ต้องทำงานแบบมี digital mindset แชมป์คิดว่า digital mindset แปลว่าอะไร

ไม่รู้ว่ะ คืออะไร digital first เหรอ คือเราคิดว่าตอนนี้ทุกสื่อเป็นอย่างนี้อยู่แล้วนะ โดยเฉพาะ Voice TV หรือหลายๆ ที่ก็รู้สึกว่าเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว Brand Inside เขาก็ทำแบบนี้อยู่แล้ว Voice TV ก็เห็นได้ชัดว่าวิธีการใช้คำ การตัดต่อคลิปเขาจะทำใหม่ไม่ให้เหมือนทีวี เมื่อก่อนคำว่า digital mindset อาจจะเกิดขึ้นมาเพราะมีคนคิดว่าการทำสื่อออนไลน์หรืองานดิจิทัลแค่เอาคอนเทนต์เดิมมาลงก็ใช้ได้แล้ว ความจริงอาจจะต้องปรับแพ็กเกจหรือปรับนิดหน่อยก่อนเอามาลง เช่น มติชนก็หาวิธีพาดหัวใหม่ก่อนเอามาลง ตอนนี้ทุกที่ก็มี know-how นี้กันหมด

เราเคยอ่านบทความของ สฤณี อาชวานัทนกุล (บทความชุดชื่อ สื่อในศตวรรษที่ 21 ในเว็บไซต์ thaipublica.org) ที่เขียนถึง The MATTER ว่าอนาคตอาจมีการเอาดาต้าเข้ามาใช้รายงานข่าวหรือทำสื่อมากขึ้น คำถามคือใช้ยังไง

จริงๆ คำว่า data journalism ถูกพูดถึงเยอะมากอยู่แล้ว แต่ในไทยเรารู้สึกว่าตอนนี้มันน่าจะมีตรงกลาง หลังๆ เราก็เห็นหลายที่ทำ เช่น เวิร์คพอยท์ทำแผนภูมิจังหวัดที่เงินคนจนถูกโกง เราคิดว่ามันจะดีถ้าผลักดันให้คนไทยหรือคนที่เป็น active citizen สืบค้นข้อมูลได้มากกว่านี้ ค้นหาความจริงของเขาเองได้ เช่น สมมติว่าจะทำแผนภูมิประเทศ 77 จังหวัด แล้วบอกว่าจังหวัดไหนถูกโกงเงินคนจนบ้าง มันเป็นเหมือนสิ่งที่ตีความมาแล้ว แต่จะมีวิธียังไงที่จะทำเครื่องมือขึ้นมา เพื่อเอาข้อมูลที่รัฐมีอยู่มาทำให้คนทั่วไปเข้าถึงได้มากขึ้น ไม่ใช่แค่อินโฟกราฟิกที่ผ่านการตีความแล้วอย่างเดียว

สุดท้ายสิ่งที่เราต้องไปให้ถึงคือ interactive บางคนอาจจะบอกว่า interactive ก็ใช้คนพัฒนาเยอะ แต่คนใช้งานไม่เยอะ เราคิดว่ามันต้องเดินทั้งสองขา คือทำแบบที่บอกด้วย แต่ทำให้คนไปหาต่อเองได้ด้วย มีเยอะแยะเวลาราชการส่งจดหมายอะไรออกมาแล้วคนพยายามไปสืบ ทำเป็นข่าวชิ้นนึงได้ ถ้ามีเครื่องมือแบบนี้ให้คนก็ดี

เรามีโอกาสที่จะมีการ fact check กับข่าวการเมืองแบบสำนักข่าวต่างประเทศได้ไหม

จริงๆ ในเมืองไทยเมื่อก่อนมีเว็บชื่อ จับเท็จ รู้สึกจะเป็นพวกพี่ยุ้ย (สฤณี อาชวานันทกุล) ทำ แต่สักพักมันก็หายไป อาจจะเพราะวงจรข่าวของเรามันเร็วมากมั้ง กว่าจะจับเท็จได้ก็เหมือนต้องไปเรื่องหน้าแล้ว (หัวเราะ) เป็นปัญหาเหมือนกันว่าเราไม่ค่อยสนใจอะไรได้นานนัก หรือสนใจแค่ในช่วงที่มัน sensationalize แล้วก็จบ เว็บแบบนั้นก็จำเป็นในเชิงเป็นหลักฐานในการพิสูจน์ คนดึงเอาไปใช้ต่อได้ ในไทยเอง มันควรจะเป็นความพยายามของหลายฝ่ายร่วมกันที่จะทำเว็บแบบนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นทางเลย ตอนนี้ง่ายสุดคือการเอาดาต้าที่เขาเปิดแล้วมาทำให้เข้าใจง่าย ซึ่งยังมีไม่เยอะมาก

แชมป์อยากให้ The MATTER เป็นยังไงต่อ

เรารู้สึกว่า The MATTER มาในจุดที่ได้ทำหน้าที่แรกไปแล้ว คือการทำให้คนอื่นทำตาม เราอาจไม่ใช่คนแรกที่ทำสิ่งนี้ แต่พอทำแล้วคนบอกว่านี่คือโมเดลประมาณนึง เราโอเคมาก ต่อไปคิดว่าคงต้องค่อยๆ หารากของตัวเอง ถึงจุดนึงเราลดบทบาทของตัวเอง ภาพมันจะเป็นอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับทีมมากกว่าเรา อาจจะทีม 70 เรา 30 ไม่งั้นจะดูเหมือนเราเป็นคนกำหนดทิศทางทุกอย่าง ตอนนี้ก็เห็นภาพชัดประมาณนึงว่ามันจะเป็นยังไงต่อ

คุณเพิ่งแบ่งเวลามาร่วมทำสำนักพิมพ์ Salt และแปลหนังสือชื่อ Rise of the robots ทำไมถึงเลือกเล่มนี้

เพราะเราคิดว่านี่เป็นหนังสือที่สำคัญมาก คือเราพูดถึงหุ่นยนต์แย่งงานเยอะมาก เป็นประเด็นดีเบตระดับชาติและโลก หนังสือเล่มนี้ให้ฐานคิดบางอย่าง คนอ่านแล้วจะรู้สึกว่าเราต้องไปถึงเรื่องที่ละเอียดกว่านี้ มากกว่าแค่ว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานหรือไม่แย่ง มันสำคัญนะที่ต้องแปล โดยเฉพาะในประเทศไทย ถ้ามองระดับโลก ไทยเป็นประเทศที่หุ่นยนต์เข้ามาแทนได้ง่ายมาก เพราะเราทำงาน outsource หรือทำงานที่ offshore มาเยอะ ซึ่งถ้าประเทศต้นทางดึงกลับก็กลับหมด

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าหนังสือแบบที่ Salt พิมพ์ไม่ค่อยมีในไทย สงสัยไหมว่าทำไม

มันเป็นหนังสือที่ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ทันทีว่าอ่านแล้วจะเอาไปทำอะไร หนังสือในไทยที่ดังคือหนังสือที่บอกว่าคุณอ่านแล้วจะได้อะไร อ่านแล้วจะหล่อ บุคลิกดี บ้านจะสะอาด มันอาจไม่ใช่แค่ในไทย คงทั่วโลก แต่ประเทศอื่นมีตัวคูณที่เยอะกว่านี้ ตัวคูณคือคนอ่านหนังสือเยอะกว่านี้ หนังสือเลยอยู่ได้ ของไทยคนอ่านก็มีอยู่เท่านี้ หนังสือที่เป็นทางเลือกเลยไม่ค่อยมีหน้าตาในสังคม พอไม่ติดชาร์ตก็ไม่มีคนเห็น

จริงๆ 3 เล่มแรกที่เราเลือก ก็เห็นว่ามันควรจะมี วงการหนังสือเป็นธุรกิจที่ niche อย่างน้อยก็ niche สำหรับสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ประเทศไทยมีคน 70 ล้านคน ถ้าพิมพ์หนังสือสามพันเล่มแล้วขายไม่หมดแสดงว่าเราประเมินอะไรพลาดล่ะ อย่าง Rise of the robots ก็น่าจะมีคนสนใจมากพอนะ เช่น คนในวงการสตาร์ทอัพ ทำงานในสายเทคโนโลยีทั้งหลาย มันก็เป็นเล่มที่เขาควรจะอ่าน

คนทำงานออนไลน์ส่วนมากจะมีปัญหาทำงานไม่มีวันหยุด แชมป์มีปัญหานี้ไหม

ถ้าตัวเองไม่ค่อยนะ พอถึงวันหยุดก็อ่านเยอะอยู่แล้ว ไม่ได้รู้สึกว่าทำคอนเทนต์ชิ้นนึงเป็นภาระ ก็เปิดมาเขียนๆ 20 นาทีก็เสร็จ แต่ทีมก็มีปัญหาบ้าง เขาก็ใช้วิธีจัดเวรกัน หรือว่าเสาร์-อาทิตย์ก็จะมีคอลัมน์นอกเยอะหน่อย

เวลาทำงานออนไลน์ ข้อหนึ่งที่เรารู้สึกคืองานที่ทำหายไปเร็วมาก ตอนที่เราให้สัมภาษณ์ The Cloud ก็พูดแบบนี้ เหมือนเอาน้ำไปทิ้งทะเล แล้วตอนที่ทำหนังสือก็ไม่ใช่จะไม่รู้สึก มันก็มีช่วงขายของ พอจบช่วงขายก็จบ นานๆ ทีก็จะมีคนมาบอกว่าเล่มนี้กระทบใจเขามาก หรือไปรู้ว่ามีคนเอางานเราไปต่อยอด เราก็อยู่ได้ด้วยอะไรแบบนี้แหละ

ไม่มีใครหรอกที่เขียนงานชิ้นเดียวแล้วจะเปลี่ยนโลกได้เลย เราก็ใช้วิธีขยับสังคมทีละเล็กทีละน้อย

ตอนนี้แชมป์มีแรงผลักดันไหมว่าทำสิ่งนี้ไปทำไม

โจทย์อาจจะอยู่กับตัวเองมากกว่า คืออยากรู้มากขึ้น เรารู้สึกว่าออนไลน์เป็นสนามที่ทดลองได้ไม่เจ็บตัวมาก ทดลองสื่อสารแล้วไม่เจ็บตัวมาก ต้นทุนน้อย จริงๆ ความลืมเร็วไม่ใช่เรื่องแย่นะ อาจจะเป็นฟีเจอร์ที่ดีก็ได้

มีดราม่าแล้วหายเร็ว

นั่นก็เรื่องนึง มันทำให้สัมผัสถึงเวลาได้ดีขึ้น สมมติเมื่อก่อนเราอยู่กับอะไรบางอย่างที่น่าปวดหัว พอโลกมันช้า เราปวดเป็นอาทิตย์ ตอนนี้ไม่มีเรื่องปวดหัวเป็นอาทิตย์แล้ว สมมติว่ามีดราม่าออนไลน์ พรุ่งนี้ก็หายไป

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ

ช่างภาพนิตยสาร a day ที่เพิ่งมีพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มใหม่ชื่อ view • finder ออกไปเจอบอลติก ซื้อสิ ไปซื้อ เฮ่!