จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ “สังคมไทยมีเรื่องน่าพูดถึงอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงมากนัก”

จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ เพิ่งทำสีผมครั้งแรกในรอบหลายปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่เพิ่งอยากทำ แต่เพราะงานประจำในฐานะสื่อที่มีสังกัด ก่อนหน้านี้เธอต้องคิดถึงสีผม (และอีกหลายอย่าง) ว่าจะส่งผลต่อตัวเธอและต้นสังกัดยังไงบ้าง

แต่กับปีนี้ไม่เหมือนปีก่อนหน้า

ในปี 2564 จอมขวัญ เพิ่งหยิบยื่นบทบาทใหม่ให้กับตัวเองโดยการออกมาทำงานอิสระไร้สังกัด สีผมเป็นอย่างหนึ่งที่เธอตั้งใจเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นเป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น เพราะเรื่องใหญ่จริงๆ ที่เธอกำลังตื่นเต้นที่จะได้ทำคือบทบาทใหม่ในหน้าที่การงานต่างหาก

จอมขวัญ

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รายการ มาเถอะ จะคุย ออกอากาศสดเป็นตอนแรกผ่านช่องทางออนไลน์ของ The MATTER

นี่เป็นก้าวใหม่ก้าวแรกที่จอมขวัญเริ่มต้นในปีนี้ แม้รูปแบบการทำงานจะคล้ายกับภาพจำที่หลายคนมีต่อเธอก่อนหน้า แต่บรรยากาศและถ้อยคำที่จอมขวัญเลือกใช้ในรายการใหม่นั้นต่างออกไป 

มันสบายขึ้น น่าฟังขึ้น และบรรยากาศเป็นมิตรมากขึ้น ท่ามกลางเรื่องราวที่เข้มข้นเหมือนเดิม

แน่ล่ะว่าผลตอบรับของงานคงต้องดูกันอีกยาว แต่ในฐานะของคนทำงานสื่อที่เริ่มต้นก้าวใหม่ในวันที่สื่อถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง และบรรยากาศบ้านเมืองที่แสนหดหู่ อะไรทำให้เธอเลือกทางเดินนี้ และอะไรทำให้เธอเลือกเปลี่ยนไปเป็นอย่างที่เห็น นั่นคือความสงสัยหลักที่เราพกมาถามจอมขวัญตรงๆ

เรานั่งสนทนากันบนโซฟาที่ต่อจากนี้คงเป็นภาพจำใหม่คู่กับเธอ เราถาม จอมขวัญตอบ ด้วยบรรยากาศสบายๆ พร้อมเสียงหัวเราะที่แทรกขึ้นเป็นระยะ

มาฟังไปพร้อมกันเถอะ

เราจะคุย

จอมขวัญ

เมื่อคืนคุณตั้งห้องใน Clubhouse เรื่อง ‘นักข่าวในม็อบ’ ทำไมถึงตั้งประเด็นนี้

เรามองเป็น 2 ส่วนนะ

ส่วนแรก–เราอยากให้นักข่าวเล่าประสบการณ์จริง ไม่ต้องรายงานเป็นข่าวเหมือนที่เคยทำ นี่คือปัญหาในการทำงานเป็นสื่อมวลชนไทยที่เราเห็น เราเลยรู้สึกว่าน่าจะลองคุยกับพวกเขาในพื้นที่ที่ลำลองขึ้น เพราะเราอยากรู้ว่านักข่าวจะให้ข้อมูลแบบไหน และนั่นตามมาด้วยส่วนที่สอง–เราอยากให้คนที่ฟังได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้

เราไม่ต้องบอกเองด้วยซ้ำว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นเพราะแต่ละที่ก็คงมีปัญหาต่างกัน แต่เราอยากให้คนฟังสังเกตได้เองว่าสิ่งที่ออกมาจากนักข่าวที่ได้พูดได้เล่าใน Clubhouse มันเหมือนกับชิ้นงานจากสังกัดเขาหรือเปล่า เราว่าข้อมูลเหล่านี้คือเรื่องสำคัญ มันเป็นข้อมูลอีกชุดของ ‘การทำงานของสื่อในสังคมไทยยุคนี้’ ที่สังคมควรรับรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความอาทรต่อกัน

คุณคิดเห็นยังไงกับการที่ ‘การทำงานของสื่อในสังคมไทยยุคนี้’ ถูกตั้งคำถามอย่างหนักหน่วง

ต้องเกริ่นก่อนว่าในความคิดเรา สื่อควรถูกตั้งคำถามอยู่แล้วนะ อาชีพเราเป็นอาชีพสาธารณะ ดังนั้นเมื่อเรามีงานที่เป็นสาธารณะ เราก็ต้องถูกตรวจสอบ นี่เป็นหลักคิดเดียวกันที่ถูกนำไปใช้กับอาชีพอื่นๆ ที่เป็นสาธารณะเช่นกัน ดังนั้นการจัดห้อง Clubhouse ก็ไม่ใช่เพื่อให้คนเลิกวิจารณ์ เลิกตรวจสอบ แต่เราแค่อยากเพิ่มข้อมูลให้เท่านั้นเอง

เราไม่ได้คาดหวังให้คนฟังมีมุมมองที่ดีต่อสื่อมากขึ้น เราไม่ได้เปิดห้อง Clubhouse มาเพื่อฟอกขาวหรืออวย แต่เราแค่อยากสร้างความปกติในการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่า ซึ่ง Clubhouse ก็เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับสิ่งนี้

จอมขวัญ

เห็นช่วงนี้คุณอยู่ใน Clubhouse หลายห้องมากเลย

ใช่ เราร่อนไปร่อนมา เจอตรงไหนน่าแลนดิ้งก็จอด (หัวเราะ) ด้วยจริตแล้วเราชอบแพลตฟอร์มนี้ เราสนใจหลายเรื่องด้วย Clubhouse เลยทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ยิ่งได้พูดคุยกันก็ยิ่งสนุกดี

เห็นคุณเปิดห้องคุยเรื่องหลากหลายมาก การออกมาเป็นสื่ออิสระทำให้คุณตั้งประเด็นหรือพูดเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้นหรือเปล่า

เราว่าตัวเองก็กล้าพูดเท่าเดิมนะ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าถ้าเทียบกับตอนมีสังกัดมันต่างกัน ตอนนั้นเราแสดงความคิดเห็นของตัวเองได้แต่ก็ต้องห่วงว่าถ้าพูดไปแล้วผลกระทบอาจเกิดกับต้นสังกัดด้วย แต่พอเป็นอิสระแบบตอนนี้เราก็พูดอย่างที่อยากพูดเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ต้องห่วงแล้วว่าใครจะได้รับผลกระทบบ้าง รับผิดชอบตัวเองแทน

พอตอบได้หรือยังว่าชอบแบบไหนมากกว่า มีสังกัดหรืออิสระ

ต้องแบบอิสระสิ ไม่งั้นจะลาออกมาเหรอ (หัวเราะ) 

จอมขวัญ

คุณให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนก่อนว่าพอออกมาทำงานอิสระก็ไม่อยากเรียกตัวเองว่า ‘สื่อ’ เท่าไหร่แล้ว ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

เพราะโดยส่วนตัวเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยลงเรื่อยๆ สำหรับเราการบอกว่าคุณเป็นใครหรือสิ่งที่คุณทำเรียกว่าอะไรมันไม่สำคัญอีกต่อไป คำจำกัดความเหล่านี้มันต้องเกิดจากการที่คนอื่นมอบให้เรามากกว่า ถ้าคนที่อยากใช้งานเรามองว่าเราสามารถทำประโยชน์และมีความน่าสนใจ เราก็ดีใจที่เขาจะหยิบเราไปใช้ เราเลยไม่ได้มองว่าตัวเองต้องเป็นใครก่อน

แต่ถ้าจะพูดถึงการเป็น ‘สื่อมวลชน’ เราว่านิยามของคำนี้เปลี่ยนไปนานมากแล้ว คนที่เสพสื่อแต่ละคนมีนิยามต่อคำนี้ไม่เหมือนกัน ดังนั้นมันไม่ใช่แค่การที่คุณสวมเสื้อสกรีนว่า ‘สื่อมวลชน’ อีกต่อไป คนที่จะบอกว่าคุณเป็นอะไรมันคือคนที่ใช้งานคุณน่ะ แต่ย้ำอีกทีว่านี่เป็นความคิดส่วนตัวของเรานะ เพราะในแง่รูปธรรมที่ยึดตามขนบเดิมที่สื่อมวลชนต้องมีแบบแผนเราก็ยังเคารพตรงนั้น แต่เราไม่ได้ให้น้ำหนักกับรูปแบบนั้นมากเท่าเดิม โห พูดแบบนี้เหมือนระดมดราม่าเลย (หัวเราะ)

พอไม่ได้จำกัดตัวเองแบบนี้แล้วมันส่งผลต่อคุณยังไง

มันกลับมาที่ว่าเรามีอิสระในการตัดสินใจทำอะไรนั่นแหละ นั่นส่งผลให้ตอนนี้เรามองเรื่องที่จะเข้ามาเป็นความท้าทาย ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่มองเป็นความตื่นเต้นที่เรารอจะเจอ ก็น่าสนุกและน่าลุ้นดีนะ

คุณไม่ได้มองว่าด้วยวัยแล้วตอนนี้ตัวเองต้องหาความมั่นคง

มันก็ขึ้นอยู่กับคุณนิยามคำว่า ‘มั่นคง’ ในมิติไหนของชีวิตน่ะ เพราะในความเป็นจริงเราว่าตัวเองมั่นคงในมิติชีวิตอื่นๆ ระดับหนึ่งแล้ว บางส่วนมันเสถียรแล้ว เราเลยออกตามหาความสนุกสนาน ความอิสระ และความเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นๆ โจทย์เราง่ายๆ สั้นๆ แบบนั้นเลย

สิ่งนี้มายังไง แล้วทำไมต้องเป็นปีนี้ที่คุณตัดสินใจเปลี่ยนแปลงหลังจากอยู่แบบมีสังกัดมาทั้งชีวิตการทำงาน

เราว่ามันประกอบกันหลายอย่าง หนึ่ง–คือความพร้อมที่จะเสี่ยง เรามั่นคงระดับหนึ่งแล้วที่จะรับความเสี่ยงบางอย่างได้มากขึ้น

สอง–เรามีความนิ่งในวิธีคิดระดับหนึ่งแล้วที่จะท้าทายอะไรที่มากกว่าเดิม

สาม–เราเองมีความพร้อมห้าวหาญที่มากกว่าเดิมถ้าเทียบกับก่อนหน้า

และสี่–ปัจจัยภายนอกที่สังคมจัดสรรให้ รอบๆ ตัวเราตอนนี้ทำให้เราคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่สามารถสร้างความปกติของการพูดคุยได้ พอหลายๆ เรื่องเหล่านี้รวมกันเราก็ถามตัวเองต่อว่าถ้าอย่างนั้นจอมขวัญอยากทำอะไรต่อ จอมขวัญอยากทำงานแบบไหน พอได้คำตอบก็เอามาจัดวางจนออกมาเป็นการตัดสินใจแบบตอนนี้เท่านั้นเอง

จอมขวัญ

การสร้างความปกติในการพูดคุยสำคัญยังไงในโมงยามนี้

เราคิดว่าสังคมตอนนี้มันมีเรื่องที่ต้องพูดถึง ควรพูดถึง และน่าพูดถึงอยู่หลายเรื่อง แต่เรากลับไม่ได้เห็นการพูดคุยเยอะนัก นั่นทำให้เรื่องเหล่านี้มันไกลออกไปเรื่อยๆ และพอไกลตัวก็ทำให้การจะหยิบมาพูดถึงอีกครั้งมันกลับกลายเป็นความไม่คุ้นชิน หรือหนักเข้าก็กลายเป็นเรื่องน่ากลัว ทั้งๆ ที่ถ้าทำให้เป็นเรื่องที่คุยเมื่อไหร่ก็ได้มันคงสบายอกสบายใจกว่าที่เราจะพูดกัน เพราะทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องสาธารณะ การพูดคุยกันอย่างมีเหตุผล ตั้งใจฟัง และตั้งใจคุยเพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น ความคุ้นชินและความไม่กลัวมันดีกว่าอยู่แล้ว

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเป็นคนปอดแหกมาก การออกมาสร้างสิ่งนี้ตอนนี้ขัดกับตัวตนของคุณไหม

ก็ต้องทำแม้จะกลัวแหละ (หัวเราะ) ถึงเราจะโตมาในสังคมที่ปลูกฝังความกลัวลงไปในหลายๆ เรื่อง แต่ถ้าเราเชื่อว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นสาธารณะและพูดกันได้ ต่อให้เรากลัวเราก็จะคุยแบบกล้าๆ กลัวๆ เราจะคุยกันถึงเรื่องนี้อย่างใช้เหตุใช้ผลโดยไม่มีเป้าหมายในทางลบ เราจะไม่ตั้งประเด็นโดยตั้งใจให้เกิดเรื่องอะไรตามมา

มีเรื่องที่เป็นเรื่องสาธารณะที่น่าคุย แต่คุณกลัวจนไม่กล้าหยิบมาคุยบ้างไหม

ถ้าหมายถึงประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม อย่างข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทางการเมืองในตอนนี้ เราตอบได้ว่าไม่มีนะ เราเชื่อว่าทุกเรื่องพูดกันได้ 

(นิ่งคิดนาน) คือเราพยายามนึกอยู่ว่าเรื่องที่เราไม่หยิบมาคุยจริงๆ มันจะเป็นเรื่องไหน ซึ่งเท่าที่นึกออกจะเป็นเรื่องแบบถ้าเราเชิญแขกคนนี้มาเขาจะได้รับอันตราย แต่สุดท้ายสิ่งนี้ก็ไม่ใช่เราที่เป็นคนตัดสินใจอยู่ดี เราให้แขกเป็นคนตัดสินใจเสมอ เรามีหน้าที่บอกแขกเท่านั้นว่าบริบทที่เขาจะเจอในรายการคืออะไร และเขาจะเป็นคนตัดสินใจเอง แต่ถ้าว่ากันเฉพาะเรื่องประเด็น เราว่าไม่มีนะ เราเชื่อว่าทุกเรื่องที่เป็นสาธารณะเราต้องพูดกันได้ 

แหม่ พูดแบบนี้ก็เหมือนพยายามพูดให้ดูเท่ดูคูลเนอะ (หัวเราะ) แต่เราแค่กำลังพยายามทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสามัญ และเรามองว่าการพูดถึง ถกเถียงเรื่องที่มันไม่คุ้น ก็ไม่ได้แปลว่าจะนำไปสู่การเป็นปฏิปักษ์หรือทำลายล้างด้วย มันแค่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม มีคนที่คิดไม่เหมือนกันในเรื่องนี้ เราก็แค่บอกว่ามันมี เขามีเหตุผลซึ่งเราควรให้เขาได้พูดและแสดงออก แค่นี้เลย 

ในขณะที่มีอะไรหลายอย่างทำให้เราหมดหวังในทุกวัน ทำไมคุณถึงยังเชื่อและพยายามทำให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลง

(ส่ายศีรษะไว) ต่อให้เราจะมีส่วนหรือไม่มี การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลากับทุกเรื่องอยู่แล้ว ต่อให้มีใครไม่อยาก แต่ถ้าสังคมก้าวไปข้างหน้าคุณจะไปห้ามยังไง คุณจะใช้เหตุผลอะไรในการแช่แข็งสังคมนั้นไว้ ดังนั้นเราว่ามันก็ต้องยอมรับและเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราทำจึงเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง เพื่อส่งเสียงให้สังคมไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น

เท่าที่ฟังมา ถึงจะบอกว่าอยากมีอิสระเพื่อตัวเองแต่คุณคิดถึงสังคมเยอะเหมือนกัน

เพราะสุดท้ายเราก็คิดถึงคนดูมากกว่าตัวเองมั้ง ถึงจะอยากสนุกแค่ไหนแต่อย่างน้อยสิ่งที่เรานำเสนอก็ต้องเป็นประโยชน์และสำคัญกับคนดู เราเองมีหน้าที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นสนุกและไปถึงคนรับสาร นั่นคืองานของเรา เราไม่สามารถเอาตัวเองเป็นที่ตั้งได้ เพราะนี่คืองานที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและให้สาธารณะ

คุณคิดยังไงกับคำว่า ‘ยุคนี้ใครๆ ก็เป็นสื่อได้’ แล้วสื่อตัวจริงยังจำเป็นอยู่ไหม

ถ้าพูดในมุมที่ว่า ‘ทุกคนเป็นสื่อได้’ มันก็ใช่ที่ตอนนี้ทุกคนมีช่องทางของตัวเอง แต่ถ้าพูดถึงในแง่วิชาชีพ เราว่าสื่อก็ยังต้องมีอยู่นะ เพราะพอมีคนที่ยึดสิ่งนี้เป็นอาชีพ มันตามมาด้วยความรับผิดชอบ ยิ่งเป็นวิชาชีพที่มีตัวตน สิ่งที่สื่อนำเสนอก็จะโดนตรวจสอบ 

เราไม่ใช่แค่เล่าเรื่องเฉยๆ แต่ต้องหาที่มาที่ไป ตั้งคำถาม และนำเสนอ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องนำเอาสิ่งที่สังคมตั้งคำถามไปหาคำตอบด้วย นี่คือหน้าที่ที่สื่อทุกคนต้องพิสูจน์

สุดท้าย คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่สื่อที่ดีควรมี

ประโยชน์สาธารณะ (ตอบทันที) ย้อนกลับไปที่เรื่องเดิมเลย 

มันเกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ มันเป็นมาแบบนี้ และเราเชื่อว่าต่อไปสิ่งนี้ก็ยังคงอยู่

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ชื่อโทนี่ แต่พวกเขามักจะรู้จักผมในนาม Whereisone