
หลายคนน่าจะรู้จักหรือติดตาม ‘แชมป์-ทีปกร วุฒิพิทยามงคล’ ผ่านเส้นทางการทำงานมาตลอด
ตั้งแต่การทำงานที่ได้ใส่ตัวตนของตัวเองหรืองานที่ ‘ใกล้ใจ ตามนิยามของเขา อย่างการ’เป็นผู้ก่อตั้ง exteen บก. และผู้ก่อตั้งของสื่อออนไลน์ The Matter รวมทั้งบทบาทนักเขียน นักวาด หรือนักแปล
จนถึงการทำงานที่ได้ใช้ทักษะของตัวเองเพื่อแก้ปัญหา แม้ไม่ได้มีลายเซ็นของตัวเองมากนัก ซึ่งแชมป์นิยามงานแบบนี้ว่างานที่ ‘ไกลใจ’ อย่างการทำงานกับบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Netflix จนถึง Amazon ในส่วน Prime Video แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเช่นเดียวกันในประเทศสิงคโปร์
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แชมป์เจอจุดเปลี่ยนใหญ่จากปรากฏการณ์เทคเลย์ออฟ สร้างความตกใจให้กับใครหลายคนที่ติดตามแชมป์ เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเรื่องนี้ขึ้นกับเขา ขณะเดียวกันก็ตั้งตารอคอยเส้นทางครั้งใหม่ของเขาเช่นกัน
เหตุการณ์เมื่อต้นปี นอกเหนือจากความเสียดายแล้ว แชมป์บอกว่าในแง่หนึ่งยังเป็นเหมือนจุดสต็อปการทำงาน ที่ทำให้เขากลับมาทบทวนชีวิตก่อนก้าวเข้าสู่วัย 40 ด้วย
เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง ประตูอีกบานจะเปิดขึ้น
การออกจากงานครั้งล่าสุดเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แชมป์มีช่วงเวลาปิดเทอม 101 วัน เขาวางแผนใช้เวลาระหว่างปิดเทอมนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้ใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า ทั้งการลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน อย่างการกลับไปเชื่อมความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัว และทบทวนความต้องการของตัวเองอีกครั้ง
บ่ายวันหนึ่ง เรานัดแชมป์เพื่อพูดคุยถึงช่วงเวลาปิดเทอมใหญ่ที่ผ่านมา พร้อมมุมมองการทำงานที่เปลี่ยนไปในบทบาทใหม่อย่าง Deputy Managing Director ในบ้าน BrandThink แพลตฟอร์มไฮบริดระหว่างเอเจนซีโฆษณา โพรดักชันส์เฮาส์ และสื่อออนไลน์ ส่วนผสมที่แชมป์บอกว่าน่าตื่นเต้น และมีอะไรให้เขาได้เรียนรู้เหมือนเรียนปริญญาโท
จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่นี้ทิ้งอะไรไว้ให้กับเขาบ้าง มุมมองการทำงานช่วงวัย 30 ปลาย ต่างจาก 20 ปลายเปลี่ยนไปมากแค่ไหน เขาตั้งใจทำอะไรในการเดินทางครั้งใหม่กับ BrandThink บ้าง ชวนอ่านบทสัมภาษณ์นี้ด้วยกัน
มรณานุสติกับการทำงาน
เรานัดเจอแชมป์ที่ออฟฟิศของ BrandThink ย่านอารีย์ ในวันที่อากาศร้อนจัด
และเริ่มพูดคุยกันหลังจากที่เขาเพิ่งประชุมกับลูกค้ารายหนึ่งเสร็จ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นงานที่แห่งใหม่ได้ไม่นานก็ดูมีหลายอย่างที่เขาต้องจัดการ
หลังจากทักทายกันเรียบร้อย เราขอให้แชมป์เล่าช่วงเวลาเลย์ออฟที่ผ่านมา เขาเริ่มตั้งแต่จุดที่เขารู้สึกเบิร์นเอาต์ช่วงปีที่ 5 ของการทำงาน The Matter จากการทำงานที่ใส่ตัวตนของตัวเองลงไป รวมถึงจังหวะการทำงานที่รวดเร็วในแวดวงสื่อ นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจมาทำงานคอร์เปอร์เรต อย่าง Netflix เป็นเวลากว่า 3 ปี ก่อนย้ายมาที่ Amazon ด้วยความรู้สึกว่ายังสำรวจโลกข้างนอกไม่พอ
แต่ด้วยสถานการณ์การปลดพนักงานในเทคฯ คอมปานียังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ Amazon ที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร หลังจากทำงานที่ Amazon ได้เกือบ 2 ปี วันที่แชมป์ได้รับอีเมลแจ้งเรื่องการเลย์ออฟก็มาถึง
“ช่วงมกราคมที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร เพื่อทำให้บริษัทเดินได้ในระยะยาว เราได้รับอีเมลมาวันพุธว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์ เขาเขียนว่าอาจจะมีอิมแพ็กต่อการทำงานของยูนะ พูดแค่นี้ก็รู้แล้วว่าอาจจะมีการปรับคนออก
“ถ้าพูดตามตรง รู้สึกเฉยๆ เพราะถ้าไปอยู่คอร์เปอร์เรตมันมีกะไว้ในใจอยู่แล้วว่าอาจจะเป็นเราก็ได้ พอมีผู้บริหารใหม่ เขาก็จัดกระบวนทัพใหม่ แผนกนั้นอาจจะเริ่มไม่ค่อยทำรายได้แล้วในเชิงธุรกิจ ก็เป็นไปได้ว่าเพิ่มหรือลดจำนวนคน ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของวงการธุรกิจ
“เทคฯ คอมปานี ถือเป็นงานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว หรือถ้ามองออกมาเป็นบริษัททั่วๆ ไปในไทย ก็ไม่แน่ใจหรอกว่าจะมั่นคง เราควบคุมไม่ได้ ชีวิตมันอาจจะควบคุมได้สัก 75% มั้ง อีก 25% ก็ปล่อยให้มันเป็นตามของมันไป
แต่การที่เรารู้ว่า 25% เราควบคุมไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราเตรียมตัวไว้ก่อนบ้างตามข้อจำกัดที่แต่ละคน
แชมป์บอกว่าข้อดีของการมองเรื่องเลย์ออฟในอีกมุมหนึ่งคือเหตุการณ์นี้จะไม่ส่งผลต่อคุณค่าของตัวเอง ต่อให้ทำงานหนักมากกว่านี้ 5 เท่า การตัดสินใจนี้เหมือนเดิม
ไม่ใช่ทุกคนจะรับมือกับการเลย์ออฟได้อย่างรวดเร็ว แต่มีสองเหตุผลที่ทำให้แชมป์ผ่านช่วงเวลาที่เปราะบางนี้ไปได้ คือความไม่มีภาระที่รออยู่เบื้องหลัง ซึ่งเขาบอกว่าสำหรับเขาถือเป็นพริวิเลจอย่างหนึ่ง ส่วนเหตุผลข้อสองคือการเตรียมใจเหมือนการ ‘มรณานุสติ’ กับการทำงานอยู่ตลอด เรื่องเงินจึงไม่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเขา
แชมป์สรุปความโชคดีของเหตุการณ์นี้อีกอย่างหนึ่งคือการได้มีเวลาว่าง เพื่อหยุดพักจากงานที่เขากำลังรู้สึกอิ่มตัวอยู่พอดี
“มันก็เหมือนเป็นการบอกว่า มึงไม่ต้องตัดสินใจ โลกตัดสินใจให้แล้ว”

การปิดเทอม 101 วัน
การได้ลองทำงานหลากหลายแบบ ตั้งแต่เป็นผู้ก่อตั้ง จนถึงการทำงานคอร์เปอร์เรต ทำให้แชมป์แบ่งงานออกเป็นสองระยะ คืองานที่ ‘ใกล้ใจ’ และงานที่ ‘ไกลใจ’
ในจังหวะที่เขาเพิ่งผ่านพ้นการทำงานที่ ‘ไกลใจ’ ทำให้แชมป์เรียนรู้ว่าประเภทนี้ทำให้เขาแยกเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างดี
“ทุกงานจะมีระยะที่แตกต่างกันไป เราจะมองว่าเป็นงานที่ใกล้ใจหรือไกลใจ งานที่ใกล้ใจก็มีข้อดีแบบนึง เราทำโดยที่เราไม่รู้จักเหนื่อย เป็นงานที่มีตัวเราสุดๆ ถ้าผลดีก็ดีกับเรา ถ้าผลไม่ดีก็ไม่ดีกับเรา
“งานที่ไกลใจก็อาจจะเป็นงานที่คอร์เปอร์เรตแบบนี้ ต่อให้เราใช้สมองลงไปเต็มที่กับทุกๆ งาน แต่ว่ามันมีตัวแปรอื่นๆ ที่จะทำให้งานนั้นสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็ไม่ได้เอามาคิดว่างานนี้ไม่สำเร็จ โอ้ ต้องลงโทษตัวเองแล้ว
“งานทั้ง 2 ระยะ มีข้อเสียทั้งคู่ ข้อดีทั้งคู่ งานที่ใกล้ใจคือทำจนไปพังชีวิตส่วนอื่น เพราะเราไปอินกับงานสุดๆ ส่วนงานที่ไกลใจรู้สึกว่าเป็นอื่นกับงาน รู้สึกว่าไม่ได้อยากทำขนาดนั้น แต่ทำเพราะเงิน หรือเพราะอะไรก็แล้วแต่ มันอาจจะกัดกินอีกแบบหนึ่ง”
เมื่อไม่มีงาน เวลาก็กลับคืนมาเป็นของเราอีกครั้ง
การมีเวลาว่างในวัยเกือบ 40 สำหรับแชมป์คือความหรูหรา แชมป์ถือโอกาสนี้ทำหลายสิ่งที่ตั้งใจมานาน และวางแผนใช้เวลาช่วงปิดเทอม 101 วันอย่างคุ้มค่าไม่ต่างจากการทำงาน
“เมื่อก่อนเราชอบบอกกับเพื่อน ไว้ว่างๆ มานัดกัน ก็นี่ไง ว่างแล้ว หรือได้รู้จักกับคนใหม่ๆ ได้เรียนรู้กับคนอื่นๆ รู้สึกว่าเป็นเวลาที่หรูหราราคาแพง เราเลยตั้งใจใช้ชีวิตใน 101 วันนั้น หนักกว่าการทำงานประจำซะอีก มีการนัดอย่างเป็นระบบ มีการลงคิวทุกอย่าง ไปเจอมาแล้วเป็นยังไงบ้าง ก็บันทึกทุกอย่างไว้ตลอด
“ส่วนตัวเราให้คุณค่าของเวลากับความเข้มข้นของประสบการณ์ ถ้างานเข้มข้นได้เรียนรู้ทุกวัน ให้เรารู้สึกได้เติบโต งานนั้นจะสนุกมาก แต่ถ้าเป็นงานที่ประสบการณ์มันเริ่มจืดจาง ทุกวันเหมือนกันหมด เวลาเราก็เดินไปทุกวัน เราก็มีเวลาจำกัดในโลกใบนี้ เราเลยพยายามทำให้ 101 วันนั้นเป็นวันที่เข้มข้นสุดๆ
“สิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนช่วงปิดเทอม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องครอบครัว เช่น การบังคับให้พ่อแม่ไปเที่ยวด้วย เหมือนไปลักพาตัวเขาเลย คือไปรับนะแล้วก็พาไปเลย
“รู้สึกว่าเป็นวัยกลางคนแล้ว เราก็ยุ่งกับการทำงานตลอด การมีทริปครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก ก็เลยรู้สึกว่าอันนี้แหละที่ทำแล้วรู้สึกคุ้มค่า ได้ใช้เวลาทำความรู้จักเขาใหม่ การขับรถจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่อยู่ด้วยกันในรถแปดชั่วโมง ยังไงก็ต้องคุยกัน ได้รู้จักกันมากขึ้น ช่วงเวลานั้นทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับพ่อแม่สนิทเหมือนเป็นเพื่อนกัน พูดกันได้ทุกเรื่องมากขึ้น”

การทำงานครั้งใหม่ของ BrandThink
“เย่ ไม่ต้องทำงานแล้ว” คือความคิดที่ผุดมาหลังจากถูกเลย์ออฟ
แชมป์บอกว่าความตั้งใจแรกหลังจากว่างงานคือ หยุดพักการทำงานไป 1 ปี แล้ววางแผนเรียนต่อด้าน AI แต่สุดท้ายจังหวะชีวิตทำให้เขาถูกชักชวนให้มาทำงานในย่านอารีย์ และตอนนี้เขากำลังใช้ชีวิต ‘กึ่งเกษียณ’ ที่ BrandThink ซึ่งเป็นที่ทำให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ
แชมป์เปรียบเทียบว่าที่นี่มีเรื่องน่าสนุกให้เขาได้เรียนรู้เหมือนลงเรียนปริญญาโทอยากที่เขาสนใจ
แต่หลังจากเขาแจ้งข่าวเลย์ออฟออกไปก็มีหลายโอกาสถูกหยิบยื่นเข้ามา ซึ่งแชมป์ก็เปรียบเทียบแต่ละงานอย่างเป็นระบบด้วยการสร้างตารางในโปรแกรม Excel ตามประสาคนเนิร์ด แล้วก็ให้คะแนนแต่ละด้าน ปรับขึ้น ปรับลงตามความรู้สึกของแต่ละวันเพื่อความแม่นยำ
หลังจากทำงานมานาน แชมป์บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับการทำงานที่ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่น มากกว่าความอยากสั่งสมประสบการณ์เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน
“ช่วง 39 เราให้น้ำหนักกับการใช้สิ่งที่สั่งสมมาให้เกิดประโยชน์กับคนอื่น ไม่ใช่ประโยชน์กับประเทศชาติด้วยนะ แต่เป็นประโยชน์กับคนรอบๆ
“ข้อสองคือเรื่องการเรียนรู้ ความรู้สึกเติมเต็ม (fulfill) ของเราในวันนี้คือได้รู้ในสิ่งที่เคยรู้แค่ครึ่งเดียว อย่างเรื่องโพรดักชันส์ ที่ BrandThink จะได้คะแนนเรื่องนี้เยอะ
“ข้อสามคือ แผนผังองค์กร อย่างเช่นที่ BrandThink เรา Report to พี่ลักญ (เอกลักญ กรรณศรณ์-Managing Director ของ Brandthink) คนเดียว มันจะมีความง่ายอยู่บางอย่างในการที่ไม่ต้องบาลานซ์ความต้องการ 20 แบบ เป็นต้น แล้วก็ตัวพี่ลักญเองเป็นคนที่เรารู้สึกว่าเราอยากเรียนรู้ เขาคิดยังไง มีกรอบคิดการทำงาน (Framework) ยังไงกับการสร้างบริษัทจากศูนย์มาตรงนี้”
หลังจากชั่ง ตวง วัด ความต้องการในชีวิตแล้ว ดีเอ็นเอที่ตรงกันทำให้แชมป์ตัดสินใจกลับมาทำงานอีกครั้งในฐานะ Deputy Managing Director อย่างเป็นทางการ
หากโลกแบ่งคนออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คนที่มีความสามารถรอบด้าน (Generalist) และ คนที่มีความรู้เฉพาะทาง (Specialist) แชมป์บอกว่าตัวเองคือ Generalist อย่างไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับ BrandThink แพลตฟอร์มที่ขยายขอบเขตการทำงานของตัวเองออกไป ทั้งฝั่งทั้งสื่อ โฆษณา ภาพยนตร์ แคมเปญ อีเวนต์ และแพลตฟอร์ม
“ดีเอ็นเอของคนที่นี่มันมีบรรยากาศที่รู้สึกว่าเป็นคนที่สนุกแล้วก็มีพลังงาน แล้วเราก็มองเห็นด้วยว่าถ้าเรามาที่นี่เราจะมอบคุณค่าให้กับที่นี่ได้ในเรื่องของอะไรบ้าง อย่างเช่น ประสบการณ์การทำงานที่คอร์เปอร์เรตมา มันก็จะมีวิธีคิดบางอย่างที่มันเป็นวิธีการทำงาน หรือการใช้เครื่องมือ กรอบการทำงานบางอย่างในการคิดที่ทำให้ชีวิตทุกคนราบรื่นขึ้น งานไหลลื่นขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“เราคิดว่าปรับตัวแหละ แต่ว่าคิดว่าเป็นการปรับตัวที่รู้สึกไม่ได้ตื่นกลัวมาก เพราะว่างานที่ BrandThink หลายๆ ขาก็เคยทำมา แต่เรื่อง Culture มันก็เป็นการปรับสองทาง เขาต้องปรับเข้าหาเราเหมือนกัน เราต้องปรับเข้าหาเขาเหมือนกัน”

มุมมองแบบสเปกตรัมในวัย 39
ในวัย 39 แชมป์ไม่ได้มีมุมมองต่อสิ่งต่างๆ เพียงแค่ 0 กับ 1 ขาวหรือดำอีกแล้ว เวลาผ่านไปเขามองว่าทุกๆ อย่างคือสเปกตรัมที่มีเฉดความเข้มข้นมากน้อยแตกต่างกัน
เช่นเดียวกับเรื่องความหมายของการทำงาน แชมป์บอกว่าวิธีคิดที่เซฟใจที่สุดคือ “อย่าเรียกร้องทุกอย่างจากงาน”
“ถ้าบอกว่างานไม่มีความหมายเลย แปลว่าเรามองในมุมไม่ศูนย์ก็หนึ่งเลย แต่ชีวิตจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น งานมันอาจจะมีความหมายเล็กน้อย เพราะว่าทำให้เราได้เจอเพื่อนคนนี้ก็ได้ แต่ละวันเราได้ช่วยเพื่อนคนนี้คิดงาน ก็แฮปปี้แล้วก็ได้ หรือว่าเราอาจจะเอนจอยโมเมนต์ทำงานเหนื่อยๆ แล้วตอนเย็นได้ Hangout กับเพื่อน นั่นก็คือความหมายแบบหนึ่ง
“เราอย่าไปแยกว่ามันแบบงานนี้คือไม่มีความหมาย หรือมีความหมายสุดๆ แบบนั้นเราคิดว่าทำให้ใช้ชีวิตไม่สบาย”
ไม่ต่างจากเรื่องความสัมพันธ์ แชมป์ไม่ได้คิดจะตัดความสัมพันธ์กับใครจนไม่เหลือเยื่อใยแบบที่ผ่านมา กลับกันเขาใช้วิธีเพิ่มหรือลดความสนิทกับคนนั้นแทน
“ชีวิตเมื่อก่อนอาจจะเป็น 0 กับ 1 มาก ถ้าย้อนกลับไปเตือนตัวเองจะบอกได้อย่างเดียว คือ อย่าตัดสัมพันธ์ใครจนไม่เหลืออะไรเลย มันไม่ดีหรอก บางทีก็มาเสียใจทีหลัง ทำทุกอย่างที่พอย้อนกลับได้จะดีกว่า สำหรับเรานะ”
เราสงสัยว่าแชมป์มีวิธีรับฟังเสียงหัวใจตัวเองอย่างไร และอะไรทำให้เขารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร แชมป์คิดก่อนตอบไม่นาน ว่า “การซื่อสัตย์กับตัวเอง”
“ต้องคุยกับตัวเองบ่อยๆ เฮ้ย อันนี้โกรธจริงเหรอวะ โกรธเพราะอะไรนะ โกรธเพราะคนนี้มาจับต้องส่วนที่เราไม่อยากให้มีคนรู้ แล้วทำไมถึงไม่อยากให้คนรู้เรื่องนี้ ก็ถามตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ถึงจะ ‘อ๋อ’ มันคืออันนี้เอง ก็จะทำให้ตัวเองรู้จักตัวเองได้ดีขึ้น
“เราคิดว่าถ้าคนทะเลาะกับตัวเองจะไม่เหลือใครเป็นพวกเลย แต่ถ้าคุยกับตัวเองบ่อยๆ ก็มีตัวเองเป็นพวก”
แชมป์บอกว่าวิธีคุยกับตัวเองได้ดีที่สุดคือการเขียน ซึ่งเขาเคยใช้ได้ผลในวันที่ความเครียดรุมเร้าช่วงทำ The Matter แต่การเขียนเป็นวิธีที่ทำให้แชมป์รู้ว่าหน้าตาสิ่งที่เขาต้องจัดการในแต่ละวันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
นอกจากการเขียนเพื่อคุยกับตัวเองในเรื่องงานแล้ว แชมป์ยังใช้การเขียนในการคุยเรื่องอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองในแต่ละวันด้วย
“เรื่องที่สังเกตตัวเองบ่อยที่สุดคือ ‘คนอื่นจะมองเรายังไงนะ’ เรื่องพวกนี้จะเป็นบัคของเรา เราก็จะทำความเข้าใจว่าคนที่แคร์คนอื่นก็เป็นแบบนี้แหละ เป็นต่อไป มันก็มีข้อดีนะ เช่น เราทำให้คนอื่นเข้าใจเราได้ง่ายขึ้น แต่มันก็มีข้อเสีย เช่น แคร์คนอื่นมากเกินไป แล้วตัวเองคืออะไรกันแน่ นี่ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือเปล่านะ
“เราก็ไม่ปฏิเสธนะ เอ้ย กูไม่แคร์สายตาคนอื่นหรอก อันนี้หลอกตัวเอง ซื่อสัตย์ดิ ก็แคร์”
แม้ว่าจะไม่ง่ายสำหรับบางคน แต่ความสม่ำเสมอจะทำให้ทุกๆ อย่างง่ายขึ้น การเขียน ‘Morning Pages’ หรือการเขียนหลังตื่นนอนจึงกลายเป็นกิจวัตรของแชมป์ในทุกๆ เช้า
หลังจากผ่านประสบการณ์หลากหลายรูปแบบ สิ่งที่เปลี่ยนไปสำหรับแชมป์ในวันนี้คือการใช้เวลาครุ่นคิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากขึ้น และยอมรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
“เมื่อก่อนจะกระโดดไปสู่บทสรุปเร็ว แต่พออายุประมาณนี้ก็รู้สึกว่าบางเรื่องก็ต้องช้าๆ ใช้เวลาคิด ใช้เวลาคุย มีระยะกับมัน เพื่อให้เกิดความคิดที่ลึกไปกว่าคำตอบสำเร็จรูปที่ผุดขึ้นมาในหัว เมื่อก่อน Auto-Pilot เยอะ เพราะต้องตัดสินใจ พอตัดสินใจเยอะมันก็ใช้เวลามากไม่ได้ แล้วมันก็ผิดพลาดแหละ
“ไม่ได้คิดว่าทุกเรื่องที่เกิดขึ้นดีเสมอ มันอาจจะไม่ดีก็ได้นะ แต่คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่เกิดขึ้น อันนี้ชัดเจน แต่จะดีลกับมันยังไงเท่านั้นเอง”