ประวัติศาสตร์แฟชั่นอย่างที่เราพอจะรู้กันมา
เราอาจจะเริ่มต้นจากคำถามง่ายๆ ว่า สำหรับคุณ แฟชั่นคืออะไร?
บางคนอาจบอกว่าแฟชั่นคือการแต่งกายที่สอดคล้องกับความนิยมของสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ขณะที่บางคนอาจมองว่าแฟชั่นคือการแสดงออกถึงรสนิยม และตัวตนของปัจเจกบุคคลที่อาจ ‘สอดคล้อง’ หรือ ‘ไม่สอดคล้อง’ กับค่านิยมของสังคมในตอนนั้นก็เป็นได้
ในทางสังคมวิทยา ความหมายโดยพื้นฐานที่สุดของแฟชั่นคือ ‘การเป็นคนแรกกับสิ่งล่าสุด’ (being first with the latest) ภายใต้นิยามนี้ ความหมายของแฟชั่นจึงสัมพันธ์กับ ‘ความเปลี่ยนแปลง’ และขัดแย้งกับ ‘ความแน่นิ่ง’ (static) อยู่เสมอ ผ่านบทความ Fashion, Sociology of ผู้เขียนอธิบายว่ารากศัพท์ของคำว่า fashion ในภาษาอังกฤษมาจากคำว่า ‘facere’ ในภาษาละตินที่แปลว่า ‘การสร้าง’ (to make) โดยที่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นมา ความหมายของแฟชั่นก็ถูกรับรู้ภายใต้นิยามที่ร่วมสมัย และผูกโยงกับนิยามของ ‘ความเป็นสมัยใหม่’ อย่างชัดเจน
ประวัติศาสตร์ของแฟชั่นสมัยใหม่มักจะปักหมุดยุคเรอเนซองซ์ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในการถือเกิดขึ้นของแฟชั่นสมัยใหม่ นั่นเพราะเงื่อนไขของระบบการเงินและเทคโนโลยีการค้า (trade and finance) ที่เปลี่ยนแปลงไปนำมาซึ่งการขยายเครือข่ายการซื้อ-ขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่กว้างไกลขึ้น และยังเอื้อต่อการหลั่งไหลของวัตถุดิบต่างๆ จากทั่วโลกสู่ทวีปยุโรป
อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการถือกำเนิดขึ้นของแนวคิดแบบ ‘มนุษยนิยม’ (humanism) ในยุคนี้ ซึ่งยึดถือในคุณค่าและความสำคัญของมนุษย์ยังส่งผลให้ผู้คนในช่วงเวลานั้นหันมาให้ความสำคัญกับ ‘ความเป็นปัจเจกบุคคล’ มากขึ้นอีกด้วย เรามักจะคุ้นเคยกับอิทธิพลของแนวคิดมนุษยนิยมต่อศิลปะและวรรณกรรม ทว่าในระนาบที่ใกล้เคียงกัน แนวคิดนี้ยังส่งอิทธิพลต่อสำนึกทางแฟชั่นในแง่ที่ว่า ผู้คนได้หันมาให้ความสำคัญกับการแสดงความงามผ่านการแต่งกายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘กลุ่มเศรษฐีใหม่’–เหล่าพ่อค้าที่ประสบความสำเร็จจากการค้าขายจนสามารถสะสมอำนาจและเลื่อนสถานะทางสังคมได้สำเร็จ
นับจากยุคเรอเนซองซ์เป็นต้นมา การแสดงความงามผ่านการแต่งกายได้กลายเป็นที่แพร่หลาย และไม่ถูกผูกขาดอยู่กับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอย่างเคร่งครัดเสมือนในยุคกลางอีกต่อไป โดยที่แฟชั่นในฐานะของ ‘ข้อมูล’ และ ‘รสนิยม’ ก็ได้ถูกแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ผ่านพ่อค้านักเดินทาง เอกสารต่างๆ และจดหมาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเครือข่ายทางการค้าที่กว้างไกลขึ้นนั่นเอง กระทั่งต่อมาในศตวรรษที่ 17 การถือกำเนิดขึ้นของนิตยสารแฟชั่นในฝรั่งเศสได้ส่งผลให้สำนึกทางแฟชั่นกลายเป็นสิ่งที่จับต้องและมองเห็นได้อย่างแจ่มชัดยิ่งขึ้น ก่อนที่การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 จะกลายเป็นอีกเงื่อนไขสำคัญที่ส่งผลให้วงการแฟชั่นพุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นกว่ายุคก่อนๆ นี่คือประวัติศาสตร์ของแฟชั่นสมัยใหม่อย่างคร่าวๆ ที่พอจะรับรู้กัน
เมื่อพูดถึงแฟชั่น เรามักจะนึกถึงแฟชั่นในฐานะปรากฏการณ์ที่ถือกำเนิดขึ้นในภาคพื้นทวีปยุโรป ก่อนจะแพร่กระจายไปยัง ‘พื้นที่อื่นๆ’ (the rest) ทั่วโลก ผ่านการค้าขาย สงคราม หรือการล่าอาณานิคม ยิ่งเมื่อพิจารณาจากบริบทต่างๆ ที่ได้กล่าวมา ไม่แปลกหากแฟชั่นจะถูกรับรู้ในฐานะประดิษฐกรรมของ ‘โลกตะวันตก’ โดยลำพัง ทว่าคำถามคือ เราจะแน่ใจได้อย่างไรกันว่า แฟชั่นถือกำเนิดขึ้นในโลกตะวันตกจริงๆ?
ขั้วตรงข้ามระหว่างแฟชั่นตะวันตกและแฟชั่นตะวันออก
เสมอมา ปารีสคือมหานครที่ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘เมืองหลวงของแฟชั่น’
ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดหากจะพิจารณาจากมุมมองในปัจจุบัน เพราะอย่างที่รู้ๆ กันว่า เมืองหลวงแห่งนี้ไม่เพียงแต่จะมีห้องเสื้อของดีไซเนอร์ระดับโลกมากมาย แต่งานแสดงแฟชั่นอย่าง ‘Paris Fashion Week’ ยังเรียกได้ว่าเป็นงานแสดงแฟชั่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย หากว่ากันตรงๆ ปารีสของสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองอย่างที่สุดของแฟชั่นตะวันตก ทว่าผ่านบทความ The Eurocentric Fashion View Under Interrogation ผู้เขียนได้ตั้งคำถามกับแฟชั่นในฐานะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปภายใต้คุณค่าแบบชาวตะวันตกซึ่งแยกขาดตัวเองจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก
ผู้เขียนบทความชี้ว่า การนิยามปารีสว่าเป็นเมืองหลวงของแฟชั่น ส่งผลให้เกิดสำนึกและการรับรู้ต่อแฟชั่นในฐานะของปรากฏการณ์ที่จำกัดอยู่กับชนชั้นเดียว นั่นคือ ‘ชนชั้นสูง’ (elite) การทำความเข้าใจกับแฟชั่นสมัยใหม่ผ่านบริบทของปารีสจึงไม่เพียงจะละเลยความเป็นไปได้ที่ว่ายังมีแฟชั่นในรูปแบบอื่นๆ ที่แตกต่างไปจากแฟชั่นในยุโรปเท่านั้น แต่ในขณะเดียวกัน มุมมองเช่นนี้ยังเป็นการผลิตซ้ำวิธีคิดแบบ ‘ขั้วตรงข้าม’ (dichotomy) ระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก (หรือพื้นที่อื่นๆ) กล่าวคือ ในขณะที่วัฒนธรรมการแต่งกายของโลกตะวันตกจะถูกรับรู้ว่าเป็นแฟชั่น ทว่าในพื้นที่อื่นๆ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายกลับถูกนิยามว่าเป็นแค่ ‘เสื้อผ้าประจำท้องถิ่น’ (traditional clothing)
ในแง่นี้ วิธีคิดที่มองว่าแฟชั่นสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นจากยุโรปจึงบดบัง ‘ความเป็นไปได้’ ที่เราจะกวาดตามองไปยังพื้นที่อื่นๆ รับรู้และทำความเข้าใจกับแฟชั่นรูปแบบอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในอีกหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยที่ว่าแฟชั่นในพื้นที่อื่นๆ เหล่านั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีรูปแบบเดียวกับแฟชั่นของโลกตะวันตก หรือเป็นผลผลิตจากแฟชั่นตะวันตกเสมอไป
สอดคล้องไปด้วยกัน Susan B. Kaiser ศาสตราจารย์ด้านเสื้อผ้าและสิ่งทอ และผู้เขียนหนังสือ Fashion and Cultural Studies เห็นว่าความพยายามจะผูกขาดต้นกำเนิดของแฟชั่นสมัยใหม่อยู่กับยุโรปนำไปสู่การประกอบสร้างวาทกรรมที่สะท้อนว่าชาติตะวันตก ‘สูงส่งและมีคุณค่ากว่า’ ชาติอื่นๆ ในโลก ไม่ว่าจะในแง่ของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และรสนิยม สำหรับไคเซอร์การอธิบายว่าแฟชั่นสมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นที่ยุโรปนั้นได้ผลักให้สถานะของเครื่องแต่งกายอื่นๆ กลายเป็นเสื้อผ้าประจำท้องถิ่นทั่วๆ ไป ที่นอกจากจะชวนให้รู้สึกว่าน่าเบื่อ เก่าแก่ และแน่นิ่งแล้ว ยังปราศจากคุณสมบัติของเสื้อผ้าแฟชั่นที่มักจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
คำถามคือ ต่อให้เครื่องแต่งกายใดๆ จะถูกนิยามว่าเป็นเสื้อผ้าประจำท้องถิ่น แต่นั่นเท่ากับว่าเครื่องแต่งกายเหล่านั้นจะต้องหยุดนิ่งเสมอไปเลยหรือ? การเปลี่ยนแปลงคือสมบัติเฉพาะของแฟชั่นยุโรปเท่านั้นหรือ?
เพราะแฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องของโลกตะวันตก แต่มีอยู่ทุกที่ทั่วโลก
‘Orientalism’ หรือ ‘บูรพคดีศึกษา’ คือแนวทางการศึกษาและทำความเข้าใจกับการสร้างวาทกรรม และการสร้างภาพแทนความจริง (representation) ของโลกตะวันออกโดยกลุ่มคนตะวันตก ซึ่งมี Edward Said ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรม ลูกครึ่งปาเลสติเนียน-เลบานีส แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้ล่วงลับ เป็นต้นกำเนิดของแนวทางการศึกษานี้
ซาอิดมองว่า ปัญหาของการศึกษาโลกตะวันออกของชาวตะวันตกคือการผลิตซ้ำภาพแทนผิดๆ และความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับชาวตะวันออกไม่ว่าจะในประเด็นของความเชื่อ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ความเข้าใจเหล่านี้โดยส่วนมากมักจะผลิตขึ้นจากนักเขียน นักวิชาการชาวตะวันตกที่เดินทางไปศึกษาสังคมตะวันออก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอาณานิคม) ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับโลกตะวันออกที่ถูกผลิตขึ้นจากปลายปากกาของนักเขียนและนักวิชาการเหล่านี้กลับนำมาซึ่งความเข้าใจสังคมตะวันออกผ่านสายตาของชาวตะวันตก ที่ไม่เพียงแต่จะเต็มไปด้วยอคติแต่ยังขาดความละเอียดอ่อน จนเกิดเป็นการบันทึกข้อมูลอย่างทื่อๆ ง่ายๆ หรือบ้างก็เป็นการบันทึกด้วยน้ำเสียงที่ตกตะลึงตื่นเต้น ขยายเรื่องราวของชาวตะวันออกจนแปลกประหลาดเกินจริงภายใต้ทัศนคติซึ่งมองว่าวัฒนธรรมตะวันออกนั้นแตกต่างไปจากวัฒนธรรมตะวันตกอย่างสุดโต่ง
ในแง่นี้ ข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกโดยนักเขียน และนักวิชาการชาวตะวันตกเหล่านี้ เมื่อถูกส่งกลับไปยังอีกซีกโลกหนึ่งก็ย่อมจะสร้างความตื่นตะลึงให้กับสังคมตะวันตก นำมาซึ่งการรับรู้โลกตะวันออกว่าเป็นพื้นที่ ‘แปลกประหลาด’ (exotic) ควบคู่ไปด้วยกัน โลกตะวันออกยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ป่าเถื่อน ล้าสมัย และด้อยปัญญา นำไปสู่การรับรู้ภาพลักษณ์ของสังคมตะวันออกว่าเป็นพื้นที่อันแน่นิ่งไม่พัฒนา ปราศจากความรู้ และวิทยาการที่จะนำมาซึ่งความก้าวหน้า และความซิวิไลซ์เฉกเช่นเดียวกับโลกตะวันตก พูดอีกอย่างคือ สังคมตะวันตกย่อมจะสูงส่ง และมีรสนิยมที่ดีกว่าสังคมตะวันออกเป็นไหนๆ
หากเราพิจารณาผ่านแนวคิด Orientalism จะเห็นว่าการนิยามเครื่องแต่งกายในพื้นที่อื่นๆ ว่าเป็นเพียงเสื้อผ้าประจำถิ่นสะท้อนให้เห็นระนาบที่ไม่เท่าเทียมกันของอำนาจในการนิยามแฟชั่นในสังคมตะวันตกกับแฟชั่นในพื้นที่อื่นๆ
ต่อการจะถกเถียงกับมุมมองที่แสนจะบิดเบี้ยวนี้ หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจมาจาก Jennifer Craik ศาสตราจารย์ด้านแฟชั่นแห่ง Queensland University of Technology ที่มองว่า แฟชั่นมีอยู่ในทุกสังคมวัฒนธรรม และแฟชั่นในฐานะแนวคิดของตะวันตกนั้นก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือหนึ่งในการขยายอำนาจ และผลิตสร้างวาทกรรมที่ว่าสังคมตะวันตกอยู่เหนือกว่าสังคมอื่นๆ ในโลก
สำหรับเครกแล้ว “แฟชั่นคือวินัยทางร่างกาย (body discipline) ที่อาจเป็นได้ทั้งเครื่องประดับ การควบคุมอาหาร ทรงผม หรือกระทั่งรอยสัก ซึ่งอะไรเหล่านี้ล้วนปรากฏอยู่ในสังคมวัฒนธรรมต่างๆ ไม่ใช่แค่เฉพาะในสังคมตะวันตก ปัญหาของการนิยามแฟชั่นของสังคมตะวันตกจึงคือทัศนคติแบบอาณานิคมและมองตัวเองเป็นศูนย์กลางของยุโรปปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วยเหตุผลว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในยุโรปนั้นช่วยให้การไหลเวียน (circulation) ของแฟชั่นรวดเร็วขึ้น”
เครกเสนอว่า แฟชั่นคือ ‘เทคโนโลยีแห่งตัวตน’ (technology of the self) นั่นเพราะผู้คนในสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคมแบบเปิดหรือแบบปิดต่างก็มีวิธีการ ‘นำเสนอตัวเองต่อผู้อื่น’ (present oneself to others) ในรูปแบบที่แตกต่างกันไป แม้ว่ารูปแบบการนำเสนอตัวตนของสังคมอื่นๆ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเท่ากับสังคมตะวันตก หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่า แฟชั่นในสังคมอื่นๆ จะแน่นิ่งติดตายอยู่กับที่ แฟชั่นในทุกๆ พื้นที่ต่างเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่ทางใดก็ทางหนี่ง ในแง่นี้ การจะบอกว่าแฟชั่นคือปรากฏการณ์ของโลกตะวันตกเท่านั้นจึงเป็นความเข้าใจที่บิดเบือน และบดบังข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมอื่นๆ ต่างก็มีรูปแบบของแฟชั่น และรูปแบบการเปลี่ยนแปลงของแฟชั่นที่แตกต่างกันไป
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ใช่พัฒนาการของแฟชั่นในทุกๆ สังคมจะยึดโยงหรืออยู่ภายใต้อำนาจของแฟชั่นตะวันตกเสมอไป แม้ว่าในปัจจุบันอิทธิพลของแฟชั่นตะวันตกจะแทรกซึมไปทุกพื้นที่ทั่วโลกแล้วก็จริง หากนั่นก็ไม่ได้แปลว่าเมื่อแฟชั่นตะวันตกแทรกซึมเข้ามาในสังคมหนึ่งๆ รสนิยมแบบแฟชั่นตะวันตกจะไม่ถูกท้ายทายจากแฟชั่นในสังคมนั้นๆ และในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แปลว่า แฟชั่นในสังคมอื่นๆ จะไม่เคยเข้าไปท้าทายหรือปะทะกับรสนิยม และสุนทรียะของแฟชั่นตะวันตกเลย หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปรากฏการณ์ ‘The Japanese Revolution in Paris Fashion’ ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่ Rei Kawakubo แห่ง Comme des Garcons และ Yohji Yamamoto สองดีไซเนอร์คนสำคัญจากประเทศญี่ปุ่นได้เข้าไปคัดง้างกับนิยามของแฟชั่นตะวันตกถึงใจกลางกรุงปารีส สร้างความสะเทือนเลือนลั่น และเปิดพรมแดนของการรับรู้ และตระหนักถึงคุณค่าของแฟชั่นจากอีกซีกโลกหนึ่งที่ห่างไกลออกไป
แฟชั่นคือความเปลี่ยนแปลง แฟชั่นคือการหยิบยืม ช่วงชิง แลกเปลี่ยน และผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ แน่นอนว่า ความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจย่อมเป็นประเด็นสำคัญที่เราจำเป็นจะต้องระลึกถึงอยู่เสมอ แต่ก็อย่างที่ซาอิดกล่าวไว้ว่า “มันไม่มีวัฒนธรรมไหนที่บริสุทธิ์หรอก เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะจินตนาการถึงวัฒนธรรมหนึ่งๆ ที่ประกอบสร้างตัวเองขึ้นโดยลำพังคนเดียว และก็เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะจินตนาการถึงวัฒนธรรมใดๆ ก็ตามที่จะตระหนักรู้ถึงความแตกต่างของตัวมันเองโดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอื่นๆ”
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ Society of Style จึงเป็นคอลัมน์ที่จะพาไปสำรวจแฟชั่นในสังคมต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะแค่แฟชั่นตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นแฟชั่นทั่วโลก (global fashion) ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว แน่นอนว่าแฟชั่นตะวันตกคือประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องกลับไปพิจารณาอยู่เสมอแต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แฟชั่นตะวันตกก็เป็นเพียงแค่ ‘แฟชั่นรูปแบบหนึ่ง’ เท่านั้น
โลกใบนี้ยังมีแฟชั่นรูปแบบอื่นๆ ที่น่าสนใจอยู่อีกมาก