การงานหลังฝันร้าย ว่าด้วยการทำงานที่จะเปลี่ยนไปหลังยุคโควิด

Highlights

  • โลกหลังโควิด-19 จะพึ่งพาการใช้คนน้อยลงกว่าเดิม และงานจำนวนมากจะถูกโอนย้ายไปสู่ช่องทางดิจิทัลแทน
  • เพื่อนร่วมงานเป็นเพียงเพื่อนร่วมงานเราจะหวนกลับสู่เพื่อนในวงสังคมอื่น ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนวิธีการคิดเรื่องธุรกิจชุมชนไป อาจเกิดย่านและร้านรวงประเภทใหม่ๆ ให้เราได้รวมตัว
  • การทำงานเพียงเพื่อทำงานไม่พอแล้วในระนาบใหม่ แต่ต้องทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพียงเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวน

ขอสารภาพก่อนว่าการเขียนบทความเพื่อทำนายอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ผมไม่ถนัดเลย อนาคตมีรูปร่างไม่คงตัว เปลี่ยนแปลงไปทุกวัน นึกจะจับก็ไหลลื่นหลุดมือเหมือนสารเหลว ยิ่งเมื่อพูดถึงอนาคตการทำงานหลังโควิด-19 ‘ผ่านพ้น’ ด้วยแล้ว ยิ่งถือเป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันขณะที่เขียนบทความชิ้นนี้เรายังเพิ่งอาศัยอยู่ในจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์เท่านั้น

สิ่งที่เราได้เห็นแล้วคือผลลัพธ์ในดีกรีแรก แต่ดีกรีแรกนั้นจะส่งผลต่อดีกรีต่อๆ มายังไงกลับเป็นสิ่งที่คาดคะเนถึงยากกว่า ไม่ใช่ยากกว่าเพียงสองเท่า แต่ยากกว่าแบบยกกำลัง

Daniel Zhang ผู้บริหาร Alibaba กล่าวถึงผลลัพธ์ของโรคระบาดใหญ่ครั้งที่แล้วอย่างซาร์สไว้ว่า

“17 ปีที่แล้วธุรกิจ e-commerce เติบโตอย่างสูงหลังโรคซาร์สระบาด เราเชื่อว่าภัยพาลสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและภาคธุรกิจเสมอ มันจะมาพร้อมโอกาสใหม่ๆ เราสังเกตว่าผู้บริโภคจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ สามารถจัดแจงธุระทั้งเรื่องส่วนตัวและการงานของตนทางดิจิทัล… ผู้บริโภคหลายคนเปลี่ยนวิถีชีวิต และพนักงานหลายบริษัทก็เปลี่ยนวิถีการทำงาน ตอนนี้หลายคนทำงานที่บ้าน ซื้ออาหาร ของสด ของชำ และสิ่งจำเป็นจากบ้าน ผมคิดว่านี่เป็นความท้าทายยิ่ง วิกฤตครั้งนี้สร้างความท้าทายใหญ่ต่อสังคม แต่มันก็ให้โอกาสพวกเราได้ลองวิถีชีวิตและวิถีการทำงานแบบใหม่ด้วยเช่นกัน

“ดังนั้นหลังสิ่งนี้ผ่านพ้น ผมคาดว่าจะเกิดแนวโน้มอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจและผู้บริโภคจำนวนมากจะมีชีวิตดิจิทัล หรือมีการทำงานแบบดิจิทัล ดังนั้นในระยะยาวนี่ถือเป็นเรื่องดีสำหรับความก้าวหน้าของดิจิทัลในสังคม”

ผลของโควิด-19 ทำให้หลายคนรวมถึงตัวผมเริ่มไม่ต้องเข้าออฟฟิศและทำงานที่บ้าน นี่เป็นการทดลองนโยบายใหญ่ยักษ์ที่สุดครั้งหนึ่งในระดับโลก เราได้ยินเรื่องการทำงานที่บ้านรวมถึงการเข้างานแบบยืดหยุ่นมานานหลายปี แต่มาได้สัมผัสจริงก็คราวนี้โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone, Brand Inside และ Siam Intelligence Unit (SIU) บันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เราต้องปรับตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตได้บนความปกติใหม่ (New Normal) นั้นสะท้อนผ่านการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนย้าย 3 สิ่ง คือข้อมูล คน และสิ่งของ ในโลกใหม่นี้การเคลื่อนย้ายข้อมูลไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เพราะเราทำข้อมูลทุกประเภทให้เป็นดิจิทัลและสร้างเครือข่ายครอบคลุมไว้แล้ว (ผมขอหมายเหตุเพิ่มว่าครอบคลุมเฉพาะบางส่วนของโลก) การเคลื่อนย้ายผู้คนคือการเดินทางนั้นย่อมได้รับผลกระทบ ประชาชนร่นถอยจากการเชื่อมต่อระดับนานาชาติสู่ระดับที่เล็กลง นั่นคือชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดนโยบายและอุดมการณ์ชาตินิยม อาจส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศและการเดินทางไปต่างประเทศลดลง

สำหรับการเคลื่อนย้ายที่ 3 คือการเคลื่อนย้ายสิ่งของ อิสริยะแยกแยะว่าในสายพานการผลิตนั้น แต่ละส่วนจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ตั้งแต่ต้นน้ำอย่างการค้นคว้าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า ด้านการผลิตจะมีการใช้หุ่นยนต์มากขึ้นเพราะความกลัวเรื่องโรค การกระจายสิ่งของในระดับไมล์สุดท้าย (คือการส่งถึงบ้านหรือถึงที่) ยังต้องพึ่งพามนุษย์อยู่ ไปจนถึงการขายหน้าร้านที่น่าจะได้รับผลกระทบสูงสุดเพราะการเลือกสินค้า หรือกระทั่งการ ‘ค้นพบ’ สินค้าที่เหมาะกับตัวเองนั้นสามารถทำบนโลกออนไลน์ได้ (อย่างที่หลายคนก็ตระหนักดีในช่วงนี้เพราะเปิดเว็บซื้อของรัวๆ)

โดยสรุปแล้วอิสริยะเห็นว่าโลกหลังโควิด-19 พึ่งพาการใช้คนน้อยลงจากเดิม และงานจำนวนมากจะถูกโอนย้ายไปสู่ช่องทางดิจิทัลแทน

เมื่อมองโควิด-19 ในฐานะตัวเร่ง ผมคิดว่าหากในภาคอุตสาหกรรมโควิด-19 ไปเร่งการใช้หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการผลิต (เท่าที่ทราบ หลายโรงงานพิจารณาลงทุนซื้อเครื่องจักรทดแทนแรงงานเพิ่มแล้ว) ในภาคเศรษฐกิจความรู้ โควิด-19 ก็จะเร่งการลดการพึ่งพาแรงงาน (สมอง) มนุษย์เช่นกัน การลดการพึ่งพานี้จะเกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือระบบอัตโนมัติและธรรมชาติการกินรวบของระบบดิจิทัล

สำหรับระบบอัตโนมัตินั้น ตัวอย่างที่เป็นภาพแทนได้ชัดที่สุดก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำคือ ธุรกิจธนาคารที่มีการลดจำนวนสาขาให้บริการเพราะผู้คนสามารถใช้ตู้เอทีเอ็มเพื่อรับบริการอย่างเดียวกันได้ (แถมไม่ต้องโดนขายประกันตลอดเวลา) ต่อมาโลกก็เคลื่อนเข้าสู่ระบบธนาคารดิจิทัลซึ่งก็ยิ่งลดจำนวนคนลงไปอีก ผมคิดว่าสำหรับอุตสาหกรรมที่สามารถลดรูปเป็นข้อมูล (ธุรกรรมการเงินคือการเคลื่อนย้ายข้อมูล ไม่ใช่การเคลื่อนย้ายธนบัตร) และอุตสาหกรรมที่ ‘ความถูกต้องเรียบร้อย’ คือมาตรฐาน (เช่น การเงิน การบัญชี เทียบกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ได้น้อยกว่า) โควิด-19 จะส่งผลรุนแรงและเราจะได้เห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมาก

ส่วนเรื่องธรรมชาติการกินรวบของระบบดิจิทัล ผมคิดว่าโควิด-19 มาพร้อมกับความยืด-หยุ่นในการทำงานด้านความรู้ความคิดที่มากขึ้นก็จริง แต่สิ่งที่ควรระลึกไว้คือความยืดหยุ่นนั้นถูกปรับใช้กับทุกคน ไม่ใช่เพียงเราคนเดียว บริษัทที่ใช้นโยบาย virtual office จะมีความยืดหยุ่นในการเลือกจ้างแรงงานโดยดูที่ความสามารถมากขึ้นและไม่ต้องพิจารณาปัจจัยอย่างระยะห่างของบ้านพนักงานกับที่ทำงาน คำถามอย่าง ‘บ้านอยู่ไกลไหม’ จะถูกตัดออกจากการสัมภาษณ์ของบริษัท virtual บริษัทสามารถจ้างงานข้ามจังหวัดหรือข้ามประเทศได้ บางบริษัทพูดถึงความยืดหยุ่นของการจ้างงานข้ามไทม์โซนว่า ‘เหมือนงานนั้นรันไปตลอด 24 ชั่วโมง’ ซึ่งเขาคิดว่าเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับบริษัทที่ต้องมีตัวตนและออฟฟิศจริง

เราไม่เพียงแข่งกับคนในย่านเดียวกันหรือจังหวัดเดียวกันแล้ว แต่เรากำลังแข่งกับคนทั้งประเทศหรือทั้งโลก–เราอาจเคยได้ยินคำพูดนี้มานาน แต่วันนี้มันก้าวเข้าสู่สถานะความจริง

เมื่อทุกคนมีความยืดหยุ่นในการทำงาน แรงงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดจะหาวิธีขยายขนาดการรับงานของตัวเองเพื่อให้ได้ผลตอบรับตามที่พอใจ การผูกบริษัทกับพนักงานแบบหนึ่งต่อหนึ่งอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป (เดิมทีมันใช้ได้เพราะคนเราสามารถอยู่ในสถานที่ทางกายภาพได้เพียงที่เดียวเท่านั้น) คนคนหนึ่งอาจเป็นพนักงานของ 3-4 บริษัทโดยแบ่งเวลาให้แต่ละบริษัทตามสัดส่วนของงาน แนวคิดเรื่องการจ้างงานโดยดูจากสิ่งที่ทำไม่ใช่เวลาที่ทำจะแข็งแรงขึ้น เราไม่จำเป็นต้องนั่งทำงาน 6 ชั่วโมง 8 ชั่วโมงในออฟฟิศ และกลัวว่าเจ้านายจะโกรธหากกลับบ้านก่อนอีกแล้ว ถ้าทำงานเสร็จก็คือเสร็จ สามารถล็อกออฟไปได้เพื่อใช้เวลาที่เหลือตามหาโอกาสอื่นๆ นั่นยิ่งทำให้บริษัทต้องการแรงงาน ‘ระดับกลาง’ น้อยลง และตามหาแรงงาน ‘ที่มีประสิทธิภาพหรือเหมาะสมที่สุด’ ได้อย่างสะดวกขึ้น

บริษัทที่มีนโยบายการจ้างงานที่ยืดหยุ่น (เช่น ไม่ผูกมัดตัวพนักงาน จ่ายงานตามความสามารถ) ก็จะใช้ประโยชน์จากแรงงาน ‘พรีเมียม’ ได้ดีกว่าบริษัทที่แข็งขืนในธุรกิจประเภทเดียวกัน บางบริษัทในต่างประเทศเริ่มโครงการรับนักศึกษาฝึกงานแบบ virtual โครงการนี้ไม่ถูกผูกมัดด้วยสถานที่ (บ้านอยู่ไหนก็มาทำได้) และจำนวน (ไม่ต้องเตรียมเก้าอี้หรือพื้นที่ออฟฟิศให้ก็ทำได้) ทำให้ได้ผู้ผ่านการคัดเลือกที่มีคุณภาพมากขึ้น นี่เป็นพลวัตการจับคู่แบบใหม่ที่น่าจะเกิดขึ้น

เราจะได้เห็นอะไรอีกหากโลกก้าวเข้าสู่การทำงานที่บ้านอย่างแท้จริง ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่เป็นไปได้คือความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงานอาจไม่เหมือนเดิม เดิมทีเราผูกสัมพันธ์กันด้วยการพูดคุยเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องไร้สาระตามโต๊ะหรือตอนกินข้าวกลางวัน แต่เมื่อเรายกออฟฟิศอันเป็นพื้นที่ออกจากสมการ เป็นไปได้ไหมว่าเพื่อนร่วมงานจะเป็นเพียง ‘เพื่อนร่วมงาน’ มากขึ้น และเป็น ‘เพื่อน’ กันน้อยลง การนัดวิดีโอคอลหรือทักแชตเพื่อคุยเรื่องไร้สาระไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินทำก็จริง แต่มันก็ยากพอที่จะทำให้บางเรื่องถูกเก็บไว้ไม่พูดเพราะไม่สะดวก แถมยังด้วยความที่มันมีหลักฐานเก็บไว้ด้วย ยิ่งทำให้บางคนต้องระวัง การสานสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการจะเกิดขึ้นน้อยลง ซึ่งจะเปลี่ยนเครือข่ายความสัมพันธ์ในออฟฟิศไป (ลองคิดดูว่าเพื่อนที่ชอบเลียเจ้านายจะปรับตัวยังไง เขาจะทักเจ้านายไปเพื่อเมาท์คุณไหม–อาจไม่ ทั้งด้วยความที่ไม่มีอะไรให้เมาท์ เมาท์ไม่สะดวก หรือทั้งคู่)

หากเพื่อนร่วมงานเป็นเพียง ‘เพื่อนร่วมงาน’ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะหวนกลับสู่เพื่อนในวงสังคมอื่น ซึ่งนั่นอาจเปลี่ยนวิธีการคิดเรื่องธุรกิจชุมชนไป อาจเกิดย่านและร้านรวงประเภทใหม่ๆ ให้เราได้รวมตัว

ความที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ถูกแบ่งอยู่ในกล่องใครกล่องมันด้วยผลกระทบของโควิด-19 เราอาจทรีตความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่งว่ามีค่ามากขึ้น อะไรก็ตามที่ไม่สามารถผลิตซ้ำหรือเผยแพร่เพื่อคนหมู่มากจะถือเป็นความรุ่มรวย เราต่างต้องการความสัมพันธ์แบบของใครของมัน แต่เมื่อเราต้องการความสัมพันธ์นี้พร้อมๆ กันหลายร้อยล้านคน ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่าจะทำให้เกิดงานใหม่ๆ อะไรขึ้นมา

หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับโควิด-19 คือการมองว่ามันสร้างโอกาสให้เราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญแท้จริง สิ่งสำคัญที่โดดเด่นขึ้นมาในทุกวันนี้คืออาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย หรือความสัมพันธ์ ส่วนไอเทมแฟชั่นล่าสุดหรือของแบรนด์เนมอาจเป็นเพียงเสียงรบกวน ผมคิดว่าหลังจากนี้เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจับจ่ายของผู้คน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังจะตามมา เราอาจกลับมาย้อนถามตัวเองอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่เสียงดังที่สุด ว่าเราทำงานไปทำไมและทำงานไปเพื่อซื้ออะไร มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกตรึงไว้กับ 4 มิติ ซึ่ง 3 มิติคือตำแหน่งแห่งที่ และมิติที่ 4 คือเวลา โควิด-19 ยึด 3 มิติของเราไว้ มันสร้างอุปสรรคให้เราเคลื่อนกายไปไหนมาไหนได้ยาก สิ่งที่เรายังพอจัดการได้อยู่ในปัจจุบันคือเวลา การปันส่วนความคิดให้กับแต่ละช่วงเวลาอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นทรัพยากรสำคัญของคนในระบบเศรษฐกิจความรู้

ผมคิดว่าเราจะได้เห็นผู้ชนะที่ชนะอย่างล้นเหลือเกินจินตนาการมาพร้อมกับเหยื่อทางเศรษฐกิจจำนวนนับไม่ถ้วน

การทำงานเพียงเพื่อทำงานไม่พอแล้วในระนาบใหม่ แต่ต้องทำงานให้ดียิ่งเพียงเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวน

คำถามคือประเทศของเราเตรียมทรัพยากรไว้เพียงพอสำหรับการพาประชาชนขึ้นขบวนความเปลี่ยนแปลงนี้หรือยัง

AUTHOR

ILLUSTRATOR

น้ำใส ศุภวงศ์

Graphic Designer / Data ชาวบ้าน Collector