แรงงาน และทุนของไทย ในค่ำคืนของวิกฤตโควิด-19

Highlights

  • ราคาของโรคระบาดของแต่ละคนในสังคมไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐและหลายฝ่ายในสังคมมองข้ามไป
  • เนื่องจากหน้าที่ของการดูแลตนเองในภาวะโรคระบาดถูกผลักมาอยู่กับปัจเจกบุคคล และประชาชนทุกคนไม่ได้มีความพร้อมทางด้านรายได้และฐานะที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเป็นการผลิตความเหลื่อมล้ำซ้ำซากได้อย่างชัดเจน
  • การตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ของทุนและรัฐไทยจึงสะท้อนโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและทุนนิยมของไทยได้เป็นอย่างดี
  • และสิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องจากรัฐเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตนี้อาจไม่ได้สะท้อนความไม่พร้อมทางนโยบายของรัฐ หากแต่คือความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนและปฏิรูประบบการเมืองไทย

คุณสมถวิลที่ชาวพระนครเช่นผู้เขียนได้ฝากท้องในยามวิกฤต ในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2563

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นทัศนคติอันย้อนแย้งของผู้คนบางส่วนในโลกออนไลน์ ผู้ชื่นชอบประเด็นหนังชนชั้นปรสิต แต่ในวิกฤตปัจจุบัน ไม่ได้คำนึงถึงโครงสร้างสังคมที่สร้างความอยุติธรรมให้แก่คนส่วนใหญ่ อย่างแรงงานไทย จนถึงคนส่วนน้อย เช่นผีน้อยเกาหลี บวกกับความรู้สึกที่ว่ามีประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงกันนัก

ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นจากความคิดตนเองและบทความของคนอื่นที่ผู้เขียนเห็นด้วยในบางประเด็น พร้อมกับเดินออกไปถ่ายรูปยามวิกาลใกล้ๆ บ้าน ในคืนที่เมืองเทวดาเงียบเป็นเป่าสากเพื่อนำมาประกอบให้เห็นภาพ โดยประเด็นที่อยากจะนำเสนอหลักๆ คือ

  1. ราคาของโรคระบาดของแต่ละคนในสังคมไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐและหลายฝ่ายในสังคมมองข้ามไป
  2. เนื่องจากหน้าที่ของการดูแลตนเองในภาวะโรคระบาดถูกผลักมาอยู่กับปัจเจกบุคคล และประชาชนทุกคนไม่ได้มีความพร้อมทางด้านรายได้และฐานะที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและเป็นการผลิตความเหลื่อมล้ำซ้ำซากได้อย่างชัดเจน
  3. การตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ของทุนและรัฐไทยสะท้อนความน่ารังเกียจของโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและทุนนิยมของไทยได้เป็นอย่างดี
  4. สิ่งที่หลายฝ่ายเรียกร้องจากรัฐเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤตนี้อาจไม่ได้สะท้อนความไม่พร้อมทางนโยบายของรัฐ หากแต่สะท้อนว่าคือความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนและปฏิรูประบบการเมืองไทย

สถานการณ์วิกฤตปัจจุบันทำให้ภาพชัดเจนขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่นอกจากจะโดนกดขี่จากระบบทุนนิยมพวกพ้องของนายทุนรายใหญ่และรัฐไทยแล้ว พวกเขายังไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานที่ตนเองควรจะได้รับแม้แต่ในภาวะปกติ ในขณะเดียวกันชนชั้นนายทุนและนักการเมืองยังคงพยายามขูดรีดผลประโยชน์จากวิกฤตอย่างไม่เหนียมอาย โควิด-19 จึงเป็นละครสะท้อนเศรษฐกิจการเมืองไทยที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ละครเรื่องนี้ผลิตความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมทางสังคมซ้ำไปเรื่อยๆ จุดจบของละครนั้นยังมาไม่ถึงและเรื่องนี้อาจจะเป็นเพียงบทเล็กๆ ในมหากาพย์เรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยสมัยใหม่

สองทุ่ม ณ เยาวราช ในคืนวันที่ 27 มีนาคม 2563

 

ราคาของวิกฤตโควิด-19 และการผลิตความเหลื่อมล้ำซ้ำในทุนนิยมไทย

ราคาของวิกฤตโควิด-19 มีหลายรูปแบบได้แก่ 1) ราคาทางเศรษฐกิจโดยตรง 2) ราคาในการป้องกันตนเอง และ 3) ราคาของการแบกรับภาระนโยบายของรัฐ

ราคาทางเศรษฐกิจโดยตรงเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัด ในวันที่ถนนเงียบสงัด ธุรกิจได้รับผลกระทบผ่านรายได้และกำไรที่ลดลง ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายใหญ่หรือรายย่อยก็ต้องคำนึงถึงการลดต้นทุนในการผลิตเพื่อคงกำไร หรืออย่างน้อยก็ต้องไม่ให้ถึงจุดล้มละลาย แรงกดดันที่ว่านี้ตกลงมาบนบ่าของแรงงาน ผู้มอบผลิตผลแรงงานให้ระบบทุนนิยมเพื่อแลกกับค่าตอบแทนที่ไม่ยุติธรรม ผ่านการแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการลดเงินเดือนและการให้ออกจากงาน

ตั้งแต่ปี 2559 เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาพร้อมกับความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ที่มากขึ้น [2] มีเพียงแรงงานไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือเป็นข้าราชการ ประชากรจำนวนมากจะมีรายได้น้อยลง มาตรการที่จำเป็นในการให้ความคุ้มครองต่อแรงงานนอกระบบประมาณ 20 กว่าล้านคนก็ยังไม่พร้อม เช่น การออกนโยบายเยียวยาเดือนละ 5,000 บาทสำหรับแรงงาน 3 ล้านราย ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาแบบปลายเหตุและแน่นอนว่าไม่เพียงพอ “ล้อมคอกไปสิ วัวมันวิ่งหายไปนานแล้ว!”

ถนนข้าวสารในวิกฤต ในคืนวันที่ 26 มีนาคม

สำหรับราคาในการป้องกันตนเองนั้นเห็นได้ชัดน้อยกว่าและเกี่ยวโยงกับราคาแรกเป็นอย่างยิ่ง David Harvey ได้เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างดี “การรุดหน้าของไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่มีประเด็นของชนชั้น เพศสภาพ และเชื้อชาติอย่างชัดเจน […] ชนชั้นแรงงานสมัยใหม่ในสหรัฐอเมริกา (ที่ส่วนใหญ่เป็นคนแอฟริกัน-อเมริกัน Latinx และแรงงานหญิง) ต้องเจอทางเลือกอันน่ารังเกียจ ระหว่างการว่างงานโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือการเสี่ยงรับความปนเปื้อนเพื่อที่จะคงธุรกิจบริการพื้นฐาน (เช่น ร้านขายของชำ) ในขณะเดียวกันพนักงานประจำ (อย่างผม) ทำงานจากบ้านและได้รับเงินเดือนไม่แตกต่างไปจากเดิม ส่วนผู้บริหารระดับสูงก็บินไปทั่วด้วยเครื่องบินส่วนตัวและเฮลิคอปเตอร์” [3]

ในกรณีของเศรษฐกิจสังคมไทยก็ไม่ต่างกัน คนที่หาเช้ากินค่ำต้องเสี่ยงออกมาทำงานต่อไปและไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ซึ่งแรงงานนอกระบบไทยเหล่านี้นี่แหละที่ชนชั้นกลางและอภิชนไทยต้องพึ่งพายามวิกฤต เนื่องจากเขาเหล่านี้เป็นสาเหตุให้พวกเขายังสามารถซื้อสินค้าจำเป็นจากร้านขายของชำ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารตามสั่ง จนไปถึงใช้บริการส่งของ ส่งอาหารตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Grab หรือ foodpandaในขณะที่ตนเองนั่งทำงานดูเน็ตฟลิกซ์จากบ้านได้อย่างสบายใจและแทบไร้ความเสี่ยง [4] ส่วนแรงงานต่างชาติก็ต้องหนีกลับประเทศของเขาโดยไม่เคยได้รับผลประโยชน์จากเศรษฐกิจที่เขาช่วยสร้าง

Grab ในเยาวราช ในคืนวันที่ 27 มีนาคม 2563

ราคาสุดท้ายซึ่งก็คือราคาของการแบกรับนโยบายของรัฐนั้นเห็นได้ชัดน้อยสุด และไม่ได้มีอยู่แค่ในภาวะวิกฤตโควิด-19 แต่รวมไปถึงเศรษฐกิจในยามปกติ ถ้าหากดูส่วนประกอบรายได้ของรัฐไทยแล้ว ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถือเป็นเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นถือเป็นที่มารายได้ของรัฐที่มากที่สุดคือร้อยละ 27 และถือได้ว่าเป็นภาษีที่เป็นภาระบนรายได้คนจนมากกว่าคนรวย (ภาษีอัตราถดถอย) แต่ความเป็นจริงที่ไม่มีใครเถียงได้คือผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากรายจ่ายของรัฐมักไม่ใช่คนจนหรือแรงงานไทย หากแต่คือนายทุนรายใหญ่และอาจจะไม่ใช่คนที่อยู่ในประเทศด้วยซ้ำ

กล่าวคือ ผู้โชคร้ายที่ต้องจ่ายแพงที่สุดก็คือคนจน แรงงานนอกระบบ ธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีรายได้น้อยลง และความช่วยเหลือของรัฐในภาวะวิกฤตไม่เพียงพอ พบกับความเสี่ยงต่อโรคระบาดมากกว่า เนื่องจากค่าเสียโอกาสของการทำงานจากบ้านสูง และเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายของรัฐไม่ต่ำไปกว่าประชากรไทยที่มีรายได้มากกว่า แต่รัฐบาลไทยปัจจุบันไม่เคยตั้งใจให้ความคุ้มครองสิทธิพื้นฐานมนุษย์ในด้านแรงงานและสาธารณสุขกับคนเหล่านี้เลย

หาบเร่แผงลอยหน้าฟูบาร์ที่ไม่ได้หายไปไหน ในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2563

 

ท่ามหาราช ในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2563


เศรษฐกิจการเมืองไทยในวิกฤตโควิด-19 
แบบคร่าว ๆ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ วิกฤตโควิด-19 จึงเป็นกระจกสะท้อนที่น่าจะทำให้เห็นได้ชัดว่า สาธารณสุขเป็นประเด็นด้านเศรษฐกิจการเมือง ใครมองไม่เห็นเช่นนั้น หากไม่เป็นคนที่เห็นแค่การเลือกตั้งและหนังปรสิตเป็นประเด็นการเมือง ก็คงเป็นโฆษกรัฐบาลทหาร 

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เองก็ให้ภาพที่ไม่ต่างจากวิกฤตโควิด-19 มากนัก ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สรุปไว้ว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นส่วนใหญ่นั้นเป็นปัญหาที่ “กลุ่มคนรายได้น้อยมักไม่ได้มีส่วนในการสร้างขึ้น […] ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นจากทุนขนาดใหญ่” แต่คนรายได้น้อยต้องแบกรับความเสี่ยงมากกว่า [5]

ประเด็นที่อยากจะยกถึงจึงไม่ได้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ เพราะมันเป็นเพียงตัวสะท้อนปัญหาลึกๆ เชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ทุนนิยมไทยที่ได้เติบโตมาคู่กับอุดมการณ์ลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) [6] ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้สังคมไทยไม่พร้อมเลยที่จะรับมือกับผลกระทบของวิกฤตต่อสาธารณสุขและความเป็นอยู่ของประชากร ไม่ได้ต่างจากบริบทของสหรัฐอเมริกาที่เดวิด ฮาร์วีย์ ได้ยกขึ้นมาข้างต้น

พนักงานส่งน้ำแข็ง ณ ถนนพระอาทิตย์ ในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2563

ข้อเรียกร้องในหลายๆ ประเด็นของสมาพันธ์แรงงานนอกระบบฯ [7] เช่น การจัดบริการขนส่งสาธารณะฟรี การลดการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา การให้สิทธิประโยชน์กรณีชดเชยการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย เป็นนโยบายรัฐที่พึงมีอยู่แม้แต่ในสถานการณ์ปกติ แต่สาเหตุที่มันไม่เกิดขึ้นก็เนื่องจากการพ่ายแพ้ของชนชั้นล่างในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมืองไทย

เราทุกคนเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลไทยขาดกลไกที่พร้อมจะช่วยประชากรส่วนใหญ่ในสังคม นี่คือผลของการกินรวบของทุน (concentration–สะท้อนโดยสัดส่วนรายได้ประชาชาติที่ตกไปอยู่กับทุนมากขึ้น) และการกระจุกตัวของทุน (centralisation–สะท้อนโดยความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน) โดยอภิสิทธิ์ชนในระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ของไทย คงไม่มีใครโต้แย้งความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่างนายทุนรายใหญ่กับรัฐไทยได้

ในงานวิจัยเรื่องชนชั้นนายทุนในไทยตั้งแต่ปี 2523 Kevin Hewison ได้ชี้ว่าอำนาจของกลุ่มนายทุนไทยมีอายุขัยยืนยาวและไม่เคยต้องพบกับความท้าทายขนานใหญ่เพราะความผูกพันกับรัฐบาลทหารและอีลีตไทย ดังนั้นแม้ว่าประเทศไทยจะได้ผ่านความไม่สงบทางการเมืองและวิกฤตเศรษฐกิจปี ’40 ทุนไทยจึงสามารถขัดขืนการเปิดเสรีด้านสังคมและการเมืองได้ [8] ความสัมพันธ์ที่ว่าเป็นแบบใดก็เห็นได้ชัดในท่าทีของรัฐไทยและนายทุนรายใหญ่ในการตอบสนองต่อโควิด-19

ตัวอย่างง่ายๆ ของเศรษฐกิจการเมืองไทยในยุคโควิด-19 คือความแตกต่างระหว่างงบประมาณ 45,000 ล้านบาท สำหรับนโยบายที่ช่วยเหลือแรงงานนอกระบบได้แบบไม่ครบ 20 ล้านกว่าคน กับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท สำหรับนโยบายที่กำลังมีการชงกันเพื่อตั้งกองทุนกู้วิกฤตตลาดหุ้น [9] สรุปคือ ในทุนนิยมไทย ทุนมาก่อน คนมาทีหลัง จนมิตรสหายท่านหนึ่งได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ประเทศนี้ต่อให้ประชาชนตายหมด ซีพีก็ต้องรอด

เซเว่นฯ และท่าพระจันทร์ตอนหนึ่งทุ่ม ในคืนวันที่ 26 มีนาคม 2563

 

แล้วยังไง?

ถ้าหากจะถามว่าวิกฤตโควิด-19 จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมหรือไม่ อย่างไร คำตอบขึ้นอยู่กับว่าวิกฤตนี้จะอยู่ไปอีกนานเท่าไหร่ และระหว่างนี้จะส่งผลต่อโครงสร้างสังคมอย่างไรบ้าง ยิ่งวิกฤตยืดยาวไปเท่าไหร่ แรงกดดันต่อโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองป่วยๆ ก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ

ผู้เขียนคิดว่า การผสมโรงของวิกฤตโรคระบาด โครงสร้างของระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่ถดถอย เศรษฐกิจทั้งไทยและโลกที่กำลังมีปัญหา และรัฐไทยที่ล้มเหลว [10] จะทำให้เงื่อนไขที่จะทำให้ความเป็นอยู่อย่างสุขสบายของกลุ่มนายทุนรายใหญ่ นักการเมือง และสถาบันทางการเมืองของไทยสั่นคลอนใกล้เข้ามาทุกที  ไม่แน่ การสวดมนต์ไล่โควิด-19 ของรัฐบาลอาจไม่ใช่เรื่องตลก

วิกฤตนี้ทำให้อำนาจนำของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทยกำลังถูกตั้งคำถาม เราเห็นได้ชัดเจนว่าไม่เพียงแต่ประเด็นสาธารณสุขเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสนใจและถือเป็นสิทธิของประชาชน แต่รวมไปถึงสิทธิและความยุติธรรมในประเด็นแรงงานด้วย

ในกรณีของประเทศไทยนั้นเหมือนมีโลกสองใบที่โคจรกันอยู่แต่ยังไม่เคยรับรู้ถึงกันและกันเสียที และวิกฤตโควิด-19 หรือปัญหา PM 2.5 อาจจะทำให้เริ่มเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างสองโลกนี้มากขึ้น ส่วนจะขัดแย้งกันจนถึงจุดไหนก็ต้องรอดูกันต่อไปอีกที

ประชาชนจะเริ่มมองหาทางเลือกอื่นเมื่อระบบทุนนิยมอุปถัมภ์และรัฐไทยที่ล้มเหลวไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาผลกระทบจากวิกฤต ดังนั้นขอให้ทุกท่านเริ่มเงี่ยหูฟังเสียงแผ่วๆ ที่ใกล้เข้ามาของความโกลาหลและการเปลี่ยนแปลง สองเดือนที่ผ่านมานี้ทำให้เห็นชัดว่าในสถานการณ์วิกฤต โครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองไทยพึ่งพาไม่ได้และบังคับให้ผู้คนวิ่งเต้นเอาตัวรอดด้วยตนเอง ส่วนคนที่รอดก่อนใครก็คืออภิชนในทุนนิยมไทยที่บิดเบี้ยวเอนเอียงอย่างน่ารังเกียจ

แต่จังหวะวิกฤตเหล่านี้นี่แหละที่จะวางเส้นทางเศรษฐกิจการเมืองไทยในอนาคตต่อไป และประชาชนไทยทุกคนควรมีส่วนในการกำหนดเส้นทางที่ว่านั้น ว่าเราจะอยู่กันอย่างนี้จริงๆ หรือว่า “เราต้องหาหนทางและสร้างประวัติศาสตร์ของเราเอง” [11]

ถนนเจริญกรุง และตึกร้างสาทร ร่องรอยวิกฤตปี ’40 ในคืนวันที่ 27 มีนาคม 2563

 

อ้างอิง

[1] ผู้เขียนขอขอบคุณคุณชัชฎา กำลังแพทย์ ที่ยุให้เขียนบทความและช่วยแบกขากล้อง และขอบคุณ fotoclub เจริญกรุง ที่ช่วยล้างฟิล์มให้อย่างดี ผู้เขียนได้รับอนุญาตถ่ายและเผยแพร่รูปจากบุคคลที่อยู่ในภาพถ่ายทั้งหมด

[2] World Bank. (2020, March). Taking the Pulse of Poverty and Inequality in Thailand. Bangkok: World Bank Group.

[3] แปลจาก David Harvey. (2020, March). Anti-Capitalist Politics in the Time of COVID-19. Jacobin. Retrieved from jacobinmag.com

[4] ตัวอย่างที่ดีในข่าว ได้แก่ ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (2563, มีนาคม).ไวรัสโคโรน่า: ชะตากรรมของชาวชุมชนคลองเตยท่ามกลางการระบาดของโควิด-19.BBC Thai. สืบค้นจาก bbc.com และ Paskorn Jumlongrach. (2020, March). Poorest hit hard as virus brings society to its knees. Bangkok Post. Retrieved from bangkokpost.com

[5] ธร ปีติดล. (2563, มีนาคม). เมื่อฝุ่น PM 2.5 เผชิญกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยThe101.world. สืบค้นจาก the101.world

[6] อ่านเรื่องลัทธิเสรีนิยมใหม่เพิ่มเติมได้ที่ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. (2560, กรกฎาคม). จากเสรีนิยมเก่าสู่เสรีนิยมใหม่รัฐไทยอยู่ตรงไหน. The101.world. สืบค้นจาก the101.world

[7] ‘แรงงานนอกระบบ-บริการ’ ขอรัฐออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19. (2563, มีนาคม). ประชาไท. สืบค้นจาก prachatai.com

[8] Kevin Hewison. (2019, August). Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980-2019. Journal of Contemporary Asia. DOI:10.1080/00472336.2019.1647942

[9] ดูเพิ่มเติมได้ที่ ระดมงบฉุกเฉินพยุงเศรษฐกิจ ตั้ง กองทุนแสนล้านกู้วิกฤตหุ้น. (2563, มีนาคม). ประชาชาติธุรกิจ. สืบค้นจาก prachachat.net

[10] อ่านเพิ่มเติมที่ ชัชฎา กำลังแพทย์. (2563, มีนาคม). เมื่อต้องเผชิญ COVID-19 หรือรัฐราชการจะพาเราไปสู่รัฐล้มเหลว?. the101.world 

[11] จาก ปาฐกถาฉบับเต็ม นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม” โดย ธงชัย วินิจจะกูล.(2563, มีนาคม). Way Magazine. สืบค้นจาก waymagazine.org

AUTHOR