รักงานเมื่อคราวห่าลง นักคิดใหญ่ work from home อย่างไรไม่ให้ห่ากิน

Highlights

  • การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็วทำให้มนุษย์ต้องปรับตัว กักกันตัวเอง แยกห่างออกจากสังคม เหมือนว่ากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนที่โรคระบาดเกิดขึ้นบ่อยๆ
  • ภาวะถูกบังคับให้โดดเดี่ยวอาจมีข้อดีของมันอยู่ นักคิดเช่น Isaac Newton หรือกระทั่ง William Shakespeare เองก็ต่างค้นพบและผลิตงานชั้นยอดในเวลาที่ดูสิ้นหวังเช่นนี้
  • ดังนั้นนักทำงานที่บ้านระดับ beginner อย่างเราๆ ถ้ารับฟังและเรียนรู้จากมือโปรก็น่าจะได้เทคนิคหรือเคล็ดลับบริหารชีวิตจิตใจกันต่อไป เป็นการบริหารชีวิตช่วงห่าลงโดยไม่ให้ห่ากิน

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา การสาธารณสุขสมัยใหม่ทำให้เราไม่คุ้นเคยกับโรคระบาด จนกระทั่งการระบาดล่าสุดนี้เจ้าโรคยุคใหม่ที่ปรับตัวและระบาดอย่างรวดเร็วทำให้มนุษย์อย่างเราๆ ต้องปรับตัวตาม

แต่การปรับตัวรับกับโรค การกักกันตัวเอง การแยกห่างออกจากสังคม ถ้าไม่นับเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ แล้ว บางส่วนก็ดูเหมือนว่าเราเองกำลังย้อนกลับไปสู่ยุคก่อนหน้า ไปสู่วิถีชีวิตที่โรคระบาดเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นยุคสมัยที่มี ‘การทำงานจากที่บ้าน’ หรือที่เรียกว่า work from home นอกจากการกักกันตัวเองแล้วยังเป็นยุคที่บ้านและการทำงานไม่แยกขาดจนเป็นออฟฟิศอย่างที่เราคุ้นเคย

พอเริ่มมีการระบาด ผู้คนต้องเปลี่ยนบ้านเป็นออฟฟิศ สื่อหลายแห่งก็เริ่มตีข่าวขุดคุ้ยเรื่องราวสนุกๆ มาชวนขบคิด ให้เราได้สนุกสนาน บางส่วนก็เริ่มชี้ชวนว่านักคิด นักเขียน นักทฤษฎีบิ๊กเนมก็เคยเจอโรคระบาด กักกันตัวเอง แถมยังผลิตงานที่เราคุ้นเคย อยู่ยั้งยืนยงมาเป็นร้อยๆ ปี โดยเฉพาะสมัยศตวรรษที่ 18 ที่ยุโรปและทั่วโลกเผชิญกับกาฬโรคหรือห่าลง เหล่าบูรพนักคิดล้วนผ่านการทำงานจากที่บ้าน ทั้งรับมือกับโรคระบาดและจัดการผลิตงานกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ส่วนหนึ่งเป็นกำลังใจว่าไอ้ภาวะถูกบังคับให้โดดเดี่ยวอาจมีข้อดีของมันอยู่ นักคิดเช่น Isaac Newton หรือกระทั่ง William Shakespeare เองก็ต่างค้นพบและผลิตงานชั้นยอดในเวลาที่ดูสิ้นหวังเช่นนี้ มีหลักฐานว่านิวตันไปสังเกตแอปเปิลตอนหลบโรคในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ในขณะที่เชกสเปียร์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงต้นศตวรรษนั้นก็เจอโรคห่าเหมือนกัน และสันนิษฐานว่าผลงานสำคัญหลายชิ้น เช่น King Lear ก็เขียนขึ้นในช่วงหลบโรคภัย โรงละครปิด และการใช้ชีวิตในห้วงเวลาแห่งการระบาดนั้นส่งผลต่อผลงานของเชกสเปียร์อย่างลึกซึ้ง

พอพูดถึงนักคิด นักเขียน ก็ดูเหมือนว่าเหล่านักเขียนนี่เองต่อให้ไม่มีการหลบโรคหรือ quarantine ก็ดูจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานที่บ้าน ต้องพยายามจัดการระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ทั้งสองส่วนนั้นดำเนินต่อไปได้อย่างมีคุณภาพ

ดังนั้นนักทำงานที่บ้านระดับ beginner อย่างเราๆ ถ้ารับฟังและเรียนรู้จากมือโปรก็น่าจะได้เทคนิคหรือเคล็ดลับบริหารชีวิตจิตใจกันต่อไป เป็นการบริหารชีวิตช่วงห่าลงโดยไม่ให้ห่ากิน

 

annus mirabilis–year of wonders, Isaac Newton

Portrait of Isaac Newton (1642-1727). This a copy of a painting by Sir Godfrey Kneller (1689)

ในยุคของไอแซก นิวตัน เขาเจอโรคระบาดใหญ่จนต้องกักตัวตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา ทำให้ได้ใช้เวลาศึกษาสังเกตสิ่งต่างๆ จนนำมาซึ่งฐานความรู้และการค้นพบสำคัญๆ เช่นแรงโน้มถ่วง

เพื่อไม่ให้งง ตามลำดับเวลาแล้วเชกสเปียร์อยู่ในห้วงเวลาก่อนหน้านิวตัน เป็นยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ สมัยของเชกสเปียร์จะอยู่ราวๆ ปลายศตวรรษที่ 16 – ต้นศตวรรษที่ 17 (1560-1610s) ในขณะที่นิวตันมีชีวิตอยู่กลางๆ ศตวรรษค่อนไปปลาย จะเข้าศตวรรษที่ 18 แล้ว ยุคของเชกสเปียร์จึงเจอโรคระบาดทั้งกาฬโรคและฝีดาษบ่อยกว่ายุคหลัง

แต่จะขอกล่าวถึงนิวตันก่อน เพราะกรณีของนิวตันที่ขณะนั้นยังไม่มีบรรดาศักดิ์ เป็นเพียงนักศึกษาหนุ่มน้อยวัย 20 ต้นๆ จาก Trinity College อันโด่งดังแห่งเคมบริดจ์ ในปี 1665 ลอนดอนเผชิญกับกาฬโรคระบาดครั้งใหญ่ ในตอนนั้น–เหมือนกับตอนนี้ภาคส่วนต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยปิดตัวลงชั่วคราว เคมบริดจ์เองก็ส่งเหล่านักศึกษากลับบ้าน ให้เรียนรู้ด้วยตัวเองไปก่อน พ่อหนุ่มน้อยนิวตันก็กลับไปใช้ชีวิตหนีโรค กระทำการ social distancing before it was cool ที่ Woolsthorpe Manor คฤหาสน์ของครอบครัวที่อยู่ห่างไป 60 ไมล์จากเคมบริดจ์

Woolsthorpe Manor–west facade

ณ ที่แห่งนั้น ขวบปีแห่งอิสรภาพ นิวตันใช้ขวบปีแห่งการหลีกเร้นไปกับการศึกษาเรียนรู้ ด้วยความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่มีนิสัยรักความรู้ นิวตันถึงขนาดเขียนไว้ในบันทึกว่า ช่วงปีของการหนีโรคของเฮียแกนั้นเป็นช่วงปีแห่งความมหัศจรรย์ (year of wonders หรือเป็นภาษาละตินแสนเก๋ว่า annus mirabilis)

นอกจากเป็นคนใฝ่รู้แล้ว การหนีโรคก็คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นิวตันไม่สามารถไปเที่ยวเล่นได้คล้ายกับเราๆ ท่านๆ ในตอนนี้ นิวตันจึงบริหารจัดการเวลา จัดตารางเรียน เพิ่มเวลารู้ ศึกษาสังเกต ทดลองอะไรสารพัดในพื้นที่บ้านอันเป็นเขตกักกันโรครูปแบบหนึ่งนั่นแหละ

กลายเป็นว่าการใช้เวลาโดดเดี่ยวอยู่กับตัวเอง ไม่ได้ตกอยู่ใต้การควบคุมของอาจารย์ นิวตันสามารถคิดนี่ทดลองนั่น สังเกตอะไรได้ตามแต่ใจต้องการ และนำไปสู่ความรู้สำคัญที่กลายเป็นรากฐานของโลกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เลยทีเดียว

นิวตันศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ บทเรียนแรกๆ ที่ทำคือแก้โจทย์ต่างๆ และโจทย์ที่คิดๆ แก้ๆ นั้นนำไปสู่รากฐานของแคลคูลัส ต่อมาแกก็ไปจัดหาปริซึมมา เอามานั่งสังเกต ส่องดูอยู่ในห้องนอน จนพบว่าแสงกระจายตัวได้ นำไปสู่ทฤษฎีว่าด้วยการรับภาพ (optics) และแน่นอนที่คฤหาสน์บ้านไร่นั้นก็เป็นที่สถิตของต้นแอปเปิลในตำนาน ที่เล่าขานกันว่าลูกของมันตกใส่หัวของนักศึกษาหนุ่ม

Isaac Newton’s legendary apple tree

ไอ้ตำนานหล่นใส่หัวอาจจะใส่สีตีไข่ แต่ต้นแอปเปิลมีจริง และมีบันทึกในจดหมายของผู้ช่วยนิวตันว่าเขาคิดเรื่องแรงโน้มถ่วงจากการใช้เวลาในสวนและเห็นลูกแอปเปิลหล่น ผู้ช่วยได้ยินแกพึมพำเรื่องระยะและการตกอิสระ จะสูงแค่ไหน สูงจากดวงจันทร์เลยดีไหม คือสิ่งที่นิวตันพูดกับตัวเอง ไม่ได้พูดกับตุ๊กตา

กาฬโรคที่ระบาดใหญ่ในปี 1665 ถือเป็นการระบาดหนักครั้งท้ายๆ ที่ยุโรปเผชิญ ก่อนเริ่มมีวิทยาการ ความเข้าใจเรื่องจุลชีพ เชื้อก่อโรค และการมาถึงของสาธารณสุข

 

to drive infection from the dangerous year, Venus and Adonis

The portrait of William Shakespeare acquired by the National Portrait Gallery in 1856

กระเถิบขึ้นมาอีกครึ่งร้อยปีในยุคเอลิซาบีธัน วิลเลียม เชกสเปียร์ ก็คล้ายๆ กับปวงชนร่วมสมัย คือล้วนเป็นเหยื่อและได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรคระบาด เขาเผชิญความสูญเสียจากโรคระบาดมาทั้งชีวิต ตั้งแต่การเสียพี่น้องชาย-หญิงไปถึง 3 คนในวัยเด็ก แถมยังมาสูญเสียลูกชายวัย 11 ขวบในปี 1596 อีก

ตลอดชีวิตการทำงานของเชกสเปียร์เจอกับการระบาดใหญ่ถึง 3 ครั้ง คือในปี 1593, 1603 และ 1608 ทุกครั้งนำไปสู่การปิดโรงละครและการสูญเสียทั้งนักแสดงและเพื่อนร่วมงานของ The Globe โรงละครที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของยุค

The Globe Theater, London, UK

การระบาดแต่ละครั้งกระทบกับชีวิตของเฮียแกโดยตรงและทำให้แกกลัวโรคระบาดอย่างจับจิตจับใจ แต่ในการระบาดสำคัญช่วงกลางคนคือปี 1603 ที่แม้จะกระทบกับการงานโดยตรงจนต้องปิดโรงละครไป แต่ก็มีนักวิชาการชี้ให้เห็นว่าทั้งโรคระบาดและการระบาดครั้งสำคัญนี่แหละทำให้เชกสเปียร์ผลิตบทละครสำคัญที่กลายเป็นหมุดหมายของวรรณคดีอังกฤษออกมาได้

งานของเชกสเปียร์ดูจะเกี่ยวกับโรคระบาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผลงานสำคัญๆ ส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจาก The Decameron วรรณคดีอิตาเลียนที่พูดถึงการเล่าเรื่องย่อยๆ เพื่อฆ่าเวลาในขณะที่หลบหนีจากโรคระบาด โครงเรื่องและสไตล์ในเรื่องย่อยของ The Decameron ส่งอิทธิพลต่อผลงานของเชกสเปียร์ เช่น Cymbeline, The Merchant of Venice และ All’s Well That Ends Well

ยุคเอลิซาบีธันเป็นยุคที่เมืองเริ่มเจริญ หนาแน่นขึ้น ทางโลกและทางธรรมปะทะกันอยู่เนืองๆ โลกยังมีกลิ่นอายและอิทธิพลของศาสนจักร ในขณะเดียวกันการเฟื่องฟูของวิทยาการก็นำไปสู่ความรู้และความสุขทางโลก ยุคนั้นการละครในฐานะความบันเทิงฟื้นฟูขึ้น ทำให้ความรู้กรีก-โรมันเติบโตขึ้นพร้อมกัน แต่อนิจจา ทั้งเมืองที่หนาแน่นขึ้น กิจกรรมทางศาสนา และโรงละครนั้น เป็นกิจกรรมทางสังคมชั้นดีที่นำไปสู่การระบาดได้

ในยุคนั้นเชื่อว่าโรคระบาดคืออากาศพิษ การหายใจรดกันในพื้นที่เช่นโรงละครทำให้ติดโรค แถมยังมองว่าโรงละครเป็นแหล่งของสิ่งผิดศีลธรรม นักบวชผู้เคร่งศาสนาจึงก่นด่าว่าโรคระบาดเกิดจากบาป ละครคือบาป โรคระบาดก็เกิดจากละครไง แต่ในทางกลับกันทั้งกิจกรรมทางศาสนาและละครก็ล้วนเอื้อต่อโรคติดต่อทั้งคู่

ด้วยความที่ชีวิตรายล้อมด้วยโรค เราอาจอนุมานได้ว่าเชกสเปียร์เองก็คงได้รับผลกระทบและในทางกลับกันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กวีเอกด้วยเช่นกัน สำนวนแบบเชกสเปียร์ก็มีการอ้างถึง มีอุปมาความเปรียบที่อ้างอิงโรคระบาดอยู่บ่อยครั้ง คนส่งสาส์นในเรื่อง Romeo and Juliet เดินทางมาถึงล่าช้าจนเกิดโศกนาฏกรรมความรักขึ้นก็เพราะเจอโรคระบาด การใช้อุปลักษณ์ (metaphor) ของโรคระบาดก็เป็นความเปรียบที่ใช้อธิบายความย่ำแย่ การถูกกัดกิน ซึ่งล้วนสะท้อนภาพของกรุงลอนดอนที่ทั้งเต็มด้วยโรคระบาดจริงๆ และโรคระบาดทางความหมายจากสังคมที่เสื่อมทราม

ในปี 1593 โรงละครถูกปิดเพราะโรคระบาด ในการระบาดครั้งนั้นโรงละครถูกปิดถึง 6 เดือน เชกสเปียร์พักจากงานละคร หันไปแต่งกวีนิพนธ์ขนาดยาวเรื่อง Venus and Adonis และ The Rape of Lucrece กวีนิพนธ์ Venus and Adonis กลายเป็นบทกวีโรแมนซ์ที่ประสบความสำเร็จเรื่องหนึ่ง กระทั่งตัวเรื่องเองยังมีความเปรียบที่พูดถึงโรคระบาดด้วย ฉากที่เทพีแห่งความรักขอรอยจูบจากหนุ่มมนุษย์ยังใช้ความเปรียบของการติดเชื้อและการรักษาโรคมาสมอ้าง เทพีบอกว่ารอยจูบและลมหายใจ–ความรักนั้นช่วยขับไล่โรคาและกำจัดกาฬวิบัติได้ (to drive infection from the dangerous year–the plague is banish’d by thy breath.)

 

กระเถิบมาอีกนิดในต้นทศวรรษ 1600 ลอนดอนเผชิญกับการระบาดครั้งมโหฬารต่อเนื่องกันถึง 2 ครั้ง รอบแรกคือการระบาดในปี 1603ในครั้งนั้นลอนดอนสูญเสียประชากรไปถึง 1 ใน 10 มีรายงานการเสียชีวิตทั้งปีสูงถึง 33,000 ราย หลังจากนั้นก็มีการระบาดย่อยและปิดโรงละครอีกครั้งในปี 1606

ในปีนั้นเอง James Shapiro นักวรรณคดีและศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีเปรียบเทียบ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเชกสเปียร์และประวัติศาสตร์สมัยใหม่ช่วงต้น (early modern period) เสนอว่า ช่วงที่เชกสเปียร์หยุดงาน ปิดโรงละคร ในปีนี้แหละที่ผลิตผลงานสำคัญออกมาเมื่อต้องกักกันตัวเอง คือ King Lear, Macbeth, และ Antony and Cleopatra

แน่นอนว่าเชกเสปียร์คือหนึ่งในผู้รู้รอบ แกไม่ได้เป็นกวีอย่างเดียว แกเป็นหุ้นส่วนโรงละคร นักแสดง ผู้จัด ผู้จัดการ ที่ต้องบริหารจัดการให้กิจการละครอยู่ต่อได้ ไหนจะการสืบสาวคอนเนกชั่นกับราชสำนัก ทำความเข้าใจผู้ชม สร้างละครที่เหมาะกับรสนิยมอันหลากหลาย ไหนจะจัดการเรื่องฉาก มุมมอง และอีกสารพัดเรื่อง

ดังนั้นในช่วงปีที่โรงละครปิดเชกสเปียร์จึงผลิตงานเขียนได้มากมาย พบปะพูดคุยกับราชสำนักสำหรับงานรื่นเริงและพิธีที่ถูกเลื่อนถูกงดในช่วงหดหู่ซึมเซาจากการระบาดใหญ่ติดๆ กัน และแน่นอนว่าบทกวีสำคัญ King Lear ก็แสดงครั้งแรกหน้าพระพักตร์พระเจ้าเจมส์ที่ 1ใน Boxing Day หลังวันคริสต์มาสช่วงปลายปี 1606 ปีเดียวกันกับการระบาดใหญ่นั่นเอง

 

สุดท้ายก็ไม่เชิงว่าเป็นการพลิกวิกฤตเป็นโอกาสอะไรทำนองนั้น แต่ชีวิตไม่สิ้นก็ดิ้นต่อไป และในยุคที่เราเริ่มทำงานจากที่บ้าน ในห้วงเวลาที่โรคห่าลงปอดเช่นนี้ เราเองก็อาจตกอยู่ในภาวะที่ไม่ได้แย่มาก คือไม่ตาย ยังพอทำงานต่อได้ และในทางกลับกันก็ถือว่าอาจจะพอมีเวลาได้ผลิตงาน ทำงานที่เรารัก ถือเป็นความท้าทายว่าเรารักงานที่ทำอยู่หรือเปล่า และเป็นการทดสอบบริหารความรู้สึกกับงาน การจัดการพื้นที่บ้านและพื้นที่ทำงาน การจัดการระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางอาชีพไปในตัว

เอาเป็นว่าไหนๆ ก็ยังไม่ตายหรือไม่สาหัสจากตัวโรคโดยตรง การจัดการให้ชีวิตไม่พัง ไปต่อได้ ก็น่าจะพอได้อยู่แหละ

รู้ว่าเป็นเรื่องยาก แต่อย่างน้อยรอดจากโรคมาได้ก็บูรณะร่างกายและจิตใจ ทำงานที่เรารัก ใช้ชีวิตที่เรามีกันต่อไป


อ้างอิง

brainpickings.org

reference.com

theatlantic.com

theguardian.com

theguardian.com/lifeandstyle

washingtonpost.com

william-shakespeare.classic-literature.co.uk

 

เครดิตภาพ 

nationaltrust.org.uk

AUTHOR

ILLUSTRATOR

chubbynida

illustrator ที่มี shape เป็นวงกลม คนคิดมาก ติดเกม ชอบฟังเพลงซ้ำเป็นร้อยครั้ง