ทำไมโควิด-19 ระบาดน้อยในทวีปแอฟริกา ทั้งๆ ที่สาธารณสุขเปราะบางมากที่สุดในโลก

Highlights

  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในแอฟริกานั้นไม่ได้ติดเชื้อจากกลุ่มประเทศในเอเชียหรือจากจีน แต่ล้วนเป็นนักธุรกิจที่ติด โควิด-19 หลังเดินทางกลับจากทวีปยุโรป ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
  • ปัจจัยเสริมที่ทำให้แอฟริกาไม่เป็นแหล่งระบาดของโควิด-19 เนื่องจากระเบียบกักกันโรค (isolation) ที่รัฐเริ่มใช้ตั้งแต่แรกๆ เพราะมีประสบการณ์กับโรคระบาดมาหลายครั้ง
  • ช่วงวัยของประชากรแอฟริกานั้นยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของโควิด-19 เต็มตัวแบบในยุโรปและเอเชีย ส่วนใหญ่ประชากรยังอายุน้อย
  • รวมไปถึงทฤษฎีว่าไวรัสโคโรนาไม่ถูกกับสภาพอากาศร้อนแล้ง ทำให้ศักยภาพการแพร่พันธุ์ลดลง เพราะช่วงระบาดของโรคหวัดตามฤดูกาลของกลุ่มประเทศแอฟริกาจะเริ่มราวๆ เดือนเมษายน

ยังไม่มีการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ว่า ทำไมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ถึงไม่ระบาดเป็นวงกว้างในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกา ทั้งๆ ที่ระบบสาธารณสุขในทวีปนี้น่าจะเป็นจุดเปราะบางมากที่สุด แถมยังต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากประเทศอื่น

ชาติในกลุ่มแอฟริกาต่างจำเป็นต้องทำธุรกิจกับจีนผู้เป็นมหาพันธมิตรทางการค้าอันดับหนึ่ง และในทวีปนี้มีประชากรมากถึง 1.3 พันล้านคน บวกกับเป็นกลุ่มประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องโรคระบาดร้ายแรงมานับครั้งไม่ถ้วน โควิด-19 จะเป็นยังไงเมื่อมาถึงทวีปแอฟริกา

ขณะนี้มีผู้ป่วยในแอฟริกาเพียง 95 รายที่ได้รับการยืนยันแล้ว โดยอยู่ในพื้นที่ 3 ประเทศ คือ แคเมอรูน โตโก และอียิปต์ (อียิปต์มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด แต่ยังไม่ถึงหลักร้อย) ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในแอฟริกานั้นไม่ได้ติดเชื้อจากกลุ่มประเทศในเอเชียหรือจากจีนที่เป็นผู้ค้าสำคัญ แต่ล้วนเป็นนักธุรกิจที่ติดโควิด-19 หลังเดินทางกลับจากทวีปยุโรป

 

ทำไมโควิด-19 ถึงระบาดน้อยมากในแอฟริกา

จากการประเมินโดยสถิติก่อนหน้านี้ ว่ากันว่าหากไวรัสโคโรนาเดินทางไปถึงแอฟริกาเมื่อไหร่ ก็น่าจะเกิดการระบาดหนักและรุนแรง เพราะปัจจัยระบบสาธารณสุขในแอฟริกายังเปราะบางอยู่มากและไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพ และยังไม่มีพื้นฐานความรู้การปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

เพราะเอาเข้าจริงทวีปแอฟริกาเองก็เผชิญกับภาวะระบาดของโรคร้ายแรงครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งโรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา ปัจจุบันก็ยังระบาดอยู่ โรคมาลาเรียจากประชากรยุงที่เป็นพาหะ และวัณโรคที่ถือว่าเป็นโรคที่หายสาบสูญแล้วในหลายประเทศก็ยังคงระบาดอยู่ในแอฟริกา ที่สำคัญ โรคภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจาก HIV ยังคร่าประชากรในทวีปนี้หลายแสนรายต่อปี

ตรงกันข้ามกับโควิด-19 ที่ไม่แสดงพิษสงมากในแอฟริกา ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

แม้กลุ่มประเทศแอฟริกาจะมีอัตราระบาดน้อย แต่รัฐก็ให้ความสำคัญในการควบคุมวงจรระบาดอย่างเคร่งครัด แพทย์จาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเสริมที่ทำให้แอฟริกาไม่เป็นแหล่งระบาดของโควิด-19 เนื่องจากระเบียบกักกันโรค (isolation) ที่รัฐเริ่มใช้ตั้งแต่แรกๆ  มี 4 ประเทศในทวีปแอฟริกาที่ออกระเบียบการเคลื่อนย้ายของบุคคลออกจากพื้นที่มีรายงานความเสี่ยงระบาด มีการตรวจคัดกรองสนามบินทุกแห่ง มีการเกณฑ์นักศึกษาแพทย์ให้ไปเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยคัดกรองในสนามบินและสถานที่สำคัญตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือ ช่วงวัยของประชากรแอฟริกาที่ยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวแบบในยุโรปและเอเชีย ส่วนใหญ่ยังเป็นคนอายุน้อย หากเทียบกับทวีปยุโรปที่มีสัดส่วนของคนอายุ 40 ปีมากที่สุด ส่วนประเทศจีนมีคนอายุ 37 ปีมากที่สุด ในขณะที่ประเทศไนจีเรียมีประชากรอายุเฉลี่ย 17.9 ปีเท่านั้น

จากการคาดการณ์ว่ากลุ่มคนที่เสี่ยงต่อโควิด-19 คือผู้สูงอายุมากที่สุด เมื่อมีผู้สูงอายุน้อยอัตราผู้ติดเชื้อจึงน้อยตามไปด้วย ทวีปแอฟริกามีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 65 ปี เพียง 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หากเทียบกับจีนที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 65 ปีอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็เป็นอีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจว่าโควิด-19 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก

รวมไปถึงทฤษฎีว่าไวรัสโคโรนาไม่ถูกกับสภาพอากาศร้อนแล้ง ทำให้ศักยภาพการแพร่พันธุ์ลดลง เพราะช่วงระบาดของโรคหวัดตามฤดูกาลของกลุ่มประเทศแอฟริกาจะเริ่มราวๆ เดือนเมษายน ที่อุณหภูมิจะค่อยๆ เย็นลง แต่ต่อไปยังไม่แน่ใจว่าโควิด-19 จะเป็นโรคตามฤดูกาล (seasonal disease) หรือไม่ ก็ยังเป็นสมมติฐานโดยคร่าวๆ ที่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน

 

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนไม่สามารถรับรองได้เต็มปากว่าแอฟริกาจะเป็นทวีปที่รอดพ้นโควิด-19 โดยสมบูรณ์เพราะตอนนี้หลายประเทศในแอฟริกาเริ่มมีรายงาน first case แล้ว เช่น ซูดาน กานา กาบอง และกินี ทำให้เริ่มมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรทางการแพทย์ จากที่ต้องรับมือโรคระบาดที่เป็น native ของแอฟริกาเอง ต้องเตรียมไปรับมือโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

อุปสรรคและข้อได้เปรียบของแอฟริกา

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดหลายคนมองว่า ภาวะนิ่งนอนใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นในแอฟริกา เพราะเรายังไม่รู้ว่าโควิด-19 จะกลายพันธุ์ต่อยังไงเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ในขณะที่ระบบสาธารณะสุขยังเปราะบาง และการป้องกันบางอย่างเกิดขึ้นได้ยากมากในแอฟริกา เช่น คำแนะนำการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ที่เป็นไปได้น้อยในแอฟริกา เนื่องจากความจำกัดทางด้านเศรษฐกิจ

คนในชาติต้องอาศัยในบ้านแคบๆ ไม่มีพื้นที่ส่วนตัว สมาชิกในครอบครัวใช้พื้นที่ร่วมกัน ส่วนคำแนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ก็ยังเป็นไปได้ยาก เพราะน้ำเพื่อบริโภคยังขาดแคลน เจลล้างมือไม่ต้องพูดถึง นี่จึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ทุกคนล้างมืออย่างถูกสุขลักษณะ เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรจำกัด การแนะนำให้ work from home แทบเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะอาชีพส่วนใหญ่ของผู้คนคือเกษตรกรรมและรับจ้าง หากป่วยก็ยังต้องออกไปใช้แรงงานอย่างไม่มีข้อแม้อยู่ดี

 

แม้จะมีอุปสรรคมาก แต่ข้อได้เปรียบข้อหนึ่งของแอฟริกาคือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและการบริหารจัดการของรัฐมีประสบการณ์ในการรับมือโรคระบาดร้ายแรงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ศูนย์วิจัยโรคที่จัดตั้งช่วงที่อีโบลาระบาดหนัก มีความพร้อมจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปรับมือโควิด-19 ได้ทันที หากมีการพัฒนาวัคซีนก็สามารถหากลุ่มตัวอย่างทดสอบได้ง่าย

ในช่วงปี 2014-2016 อีโบลาคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 11,000 ในแอฟริกาฝั่งตะวันตก ประชาชนมีความเข้าใจที่จะร่วมมือเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รัฐจึงสามารถรับมือกับความโกลาหลในกรณีฉุกเฉิน และยุติข่าวลวงได้ทันท่วงที (เนื่องจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่ำ ทำให้ข่าวทั้งหมดมาจากภาครัฐ ทำให้ข่าวประเภท fake news ยามวิกฤตเกิดขึ้นน้อย ถึงมี ก็ไม่มีคนอ่านคนแชร์อยู่ดี)

แม้ขณะนี้แอฟริกาจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 หนักเท่าฝั่งยุโรปและเอเชีย แต่ประเทศต่างๆ ในแอฟริกาประกาศหยุดการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะและงดกิจกรรมทางศาสนาอย่างเป็นทางการ ถึงทำเต็มที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ยังไม่นิ่งนอนใจกับการกลายพันธุ์ที่คาดเดาไม่ได้ของโควิด-19

ในเมื่อแอฟริกาเป็นพื้นที่ระบาดของโรคมาลาเรียที่เปรียบเสมือนโรคขาประจำ โควิด-19 เองก็มีลักษณะอาการเริ่มต้นคล้ายมาลาเรียคือ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยอ่อน อาจทำให้มีอุปสรรคในการวินิจฉัยไปตรงกับโรคมาลาเรีย นี่จึงเป็นไฟต์บังคับที่รัฐต้องยกระดับจาก malaria-ebola endemic โดยเพิ่มโควิด-19 ไปอีกตัว ทำให้แอฟริกายังไม่ใช่ที่ปลอดภัย เพราะอาจเป็นการ ‘หนีเสือปะจระเข้’

ที่คนแอฟริกาเห็นยอดระบาดโควิด-19 น้อยก็คงไม่ดีใจ เพราะมีโรคอื่นให้วิตกอีกเพียบ

 

อ้างอิง

sciencemag.org

thelancet.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน