“ตั้งแต่ตอนพวกคุณยังเด็ก มีคนที่ยิ้มจนทำให้คุณยิ้ม คนที่พูดจนทำให้คุณพูด ร้องเพลงจนคุณร้องเพลง รักคุณจนทำให้คุณรัก”
อ่านผ่านๆ ประโยคนี้ของ Fred Rogers อาจดูเป็นประโยคธรรมดา แต่สำหรับเรา นี่คือประโยคที่บอกได้ชัดเจนว่าเฟร็ดหรือ ‘Mister Rogers’ เป็นใคร
ก่อนหน้านี้ชื่อของเขาและรายการ Mister Rogers’ Neighborhood ไม่ได้คุ้นหูเราเลยจนกระทั่งได้ดู A Beautiful Day in the Neighborhood หนังชีวประวัติของเฟร็ดที่ Tom Hanks แสดงนำ ความประทับใจพาให้เราเสิร์ชหาเรื่องราวเกี่ยวกับเขาเพิ่ม จนได้รู้จักสารคดี Won’t You Be My Neighbor? ที่หลายเสียงเล่าลือกันว่าเล่าถึงเฟร็ดได้ ‘จับใจ’ เท่าฉบับของแฮงก์สหรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ และเมื่อหนังเข้าเน็ตฟลิกซ์ประเทศไทย เราก็ไม่พลาดที่จะกดดูทันที
เวลาชั่วโมงกว่าๆ จบลงด้วยคราบน้ำตาและความรู้สึกอบอุ่นใจ หากให้สรุปความน่าดู บอกเลยว่า Won’t You Be My Neighbor? เป็นสารคดีที่สนุกไม่แพ้หนัง หลายช่วงทำให้เรายิ้มกว้างและน้ำตาไหลได้ในเวลาเดียวกัน และแม้จะเคยรู้เรื่องราวของเฟร็ดมาแล้ว เรากลับไม่ได้เบื่อหรือรู้สึกว่ากำลังดูเรื่องซ้ำ เพราะสารคดีพาไปสำรวจชีวิตของเฟร็ดในมิติหลากหลายผ่านฟุตเทจเก่าๆ และคำบอกเล่าของคนใกล้ตัวถึงช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนถ่ายทำรายการ Mister Rogers’ Neighborhood เทปแรกไปจนถึงเวลาสุดท้ายของชีวิต
หากหนังที่ดีคือหนังที่ทำให้มุมมองบางอย่างของคนดูเปลี่ยนไป Won’t You Be My Neighbor? คงเป็นหนังที่ดีโดยไม่ต้องสงสัย
ชายผู้รักการฟังเสียงเด็ก
พิธีกรใจดี ตุ๊กตาหุ่นมือ เพลงสอนใจ และเด็กๆ
แม้รายการ Mister Rogers’ Neighborhood หรือ ละแวกบ้านของมิสเตอร์โรเจอร์ส จะมีองค์ประกอบที่ไม่ได้แตกต่างจากรายการเด็กทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้รายการนี้ไม่เหมือนใคร ร้อยทั้งร้อยก็ต้องบอกว่าคือมิสเตอร์โรเจอร์สนั่นแหละ
เฟร็ด โรเจอร์ส เกิดที่รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 1928 เขามีวัยเด็กที่ไม่ค่อยสดใสเพราะเป็นเด็กอ้วน ขี้อาย และมักตกเป็นเป้าการบูลลี่ของคนรอบข้าง เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เฟร็ดมีส่วนร่วมในการพัฒนารายการเด็กหลายรายการ เริ่มจากงานหลังกล้องอย่างการทำหุ่นมือและแต่งเพลง ระหว่างนั้นก็ลงเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับจิตวิทยาเด็ก ก่อนจะกลายเป็นคนหน้ากล้องและมีรายการของตัวเองในปี 1963
อาจเพราะประสบการณ์วัยเยาว์ การงาน และการศึกษาที่ต่างหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนทำรายการทีวีสำหรับเด็ก พื้นที่ที่เขาจะทำให้เด็กทุกคนมั่นใจว่าเสียงของพวกเขาควรค่าแก่การรับฟัง
“เด็กๆ มีความรู้สึกลึกซึ้งไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ไม่ต่างจากเราทุกคน การที่เราพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกเหล่านั้นและตอบสนองต่อเด็กๆ ให้ดีขึ้นคือสิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นงานที่สำคัญที่สุดในโลก”
ในรายการของตัวเอง เฟร็ดสร้าง ‘ละแวกบ้าน’ ขึ้นมา เพราะคำว่าละแวกบ้านสื่อถึงความชิดใกล้ มันเป็นสถานที่ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย เข้าอกเข้าใจ และในเวลาที่คุณรู้สึกกังวล หวาดกลัว คำคำนี้จะปลอบประโลมและดูแลคุณ เฟร็ดนิยามไว้อย่างนั้น
ทุกตอนจะมีหัวข้อที่เฟร็ดอยากพูดถึงอย่างชัดเจน และมักจะเริ่มต้นด้วยการที่เฟร็ดร้องเพลงธีมของรายการ แขวนเสื้อแจ็กเก็ตในตู้เสื้อผ้า สวมสเวตเตอร์และเปลี่ยนรองเท้า ช่วงต่อจากนั้นจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แบบวาไรตี้ บางตอนเฟร็ดเล่นละครหุ่นมือ บางตอนสัมภาษณ์ผู้คนในอาชีพต่างๆ เกี่ยวกับงานของเขา บางตอนสาธิตการใช้สินค้าบางอย่าง และบางตอนก็เชิญเด็กๆ มาร้องเพลงร่วมกัน โดยมีจุดร่วมสำคัญคือการให้ข้อคิดบางอย่างกับเด็กๆ เสมอ
ตาที่มองเห็นความสำคัญ หูที่รับฟังเสียงเล็กๆ และหัวใจที่เปิดรับเรื่องเล่าของเด็ก คือปัจจัยที่ทำให้มิสเตอร์โรเจอร์สไม่เหมือนใคร และนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ Morgan Neville ผู้กำกับสารคดีรางวัลออสการ์เรื่อง 20 Feet From Stardom อยากเล่าเรื่องของเขา
บทเรียนลึกซึ้งจากละแวกบ้าน
มอร์แกนชอบดูรายการของเฟร็ดมาตั้งแต่เขายังเด็ก และเมื่อได้กลับมาดูอีกครั้งตอนโต เขารู้สึกว่าผู้ชายคนนี้ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรายการเด็กคนหนึ่งเท่านั้น แต่คือครูคนแรกที่สอนบทเรียนสำคัญของชีวิตให้กับเด็กหลายคน ผ่านเครื่องมืออย่างการเล่านิทานและบทเพลง
เฟร็ดสอนเรื่องพื้นฐานเช่นการรับมือกับความผิดพลาด การควบคุมความรู้สึก การมองเห็นคุณค่าของตัวเอง (“เธอคือคนพิเศษ เพราะไม่มีใครบนโลกนี้ที่เหมือนเธอ ฉันชอบเธอแบบที่เธอเป็น” คือตัวอย่างคำติดปากของเขา) รวมทั้งเรื่องหนักหนาอย่างความตาย การหย่าร้าง หรือสงคราม
“เขาสอนสิ่งที่ลึกซึ้ง ช่วยเด็กให้ก้าวผ่านความยากลำบากของชีวิต ช่วยหาทางเยียวยาแผลใจด้วยวิธีการง่ายดายแต่ลึกซึ้ง” มอร์แกนให้สัมภาษณ์กับ CBS
มอร์แกนคัดฟุตเทจเกี่ยวกับเฟร็ดกว่า 1,000 ชั่วโมงมาตัดต่อเข้ากับเทปสัมภาษณ์คนใกล้ตัวของเขา ในที่สุดก็ออกมาเป็นสารคดีความยาวราว 1 ชั่วโมงครึ่งที่พาไปสำรวจชีวิตของเฟร็ดในหลายบทบาท ทั้งเพื่อนร่วมงาน สามี พ่อ และชายผู้เป็นแรงบันดาลใจของเด็กๆ
ที่น่าสนใจคือการได้เห็นเฟร็ดในมุมของการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบ นอกจากสีหน้ายิ้มแย้ม ท่าทางใจเย็นและตั้งใจรับฟัง เราได้เห็นเฟร็ดที่พยายามจัดการกับความโกรธของตัวเองด้วยการกดเปียโน เฟร็ดในตอนที่ต้องต่อสู้กับคนใหญ่คนโตเมื่อรายการโดนตัดงบ กับอีกหลายซีนที่บอกเราว่าชีวิตของชายผู้มองโลกในแง่ดีคนนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป
ในสารคดียังฉายภาพให้เห็นคำวิจารณ์แง่ลบที่เฟร็ดโดนกระหน่ำในทำนองว่า โลกสวย หลอกลวง และที่ร้ายแรงที่สุดคือ ‘ชั่วช้า’ เพราะประโยคฮิตของเขาที่บอกว่า ‘ทุกคนคือคนพิเศษ’ กำลังทำลายเด็กที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่
“มิสเตอร์โรเจอร์สไม่เคยบอกว่าถ้าอยากเป็นคนพิเศษต้องทำงานหนัก พอเด็กพวกนี้โตขึ้นก็เลยคิดว่า เดี๋ยวนะ มิสเตอร์โรเจอร์โกหกฉัน เพราะเมื่อคุณบอกทุกคนว่าเป็นคนพิเศษ พวกเขาจะไม่ทำอะไรเลยเพื่อให้ได้ความพิเศษนั้นมา” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอย่างนั้น ในขณะที่บางคนก็ออกมาปกป้องว่า ในความหมายของเฟร็ด ทุกคนคือคนพิเศษจริงๆ เพราะคนพิเศษของเขาคือคนที่ไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อแลกกับความรัก
ความรักในโลกนี้เป็นสิ่งที่มีล้นเหลือพอแบ่งปัน การแสดงความรักทำได้หลายวิธี และไม่ว่าใครก็สมควรจะได้รับความรัก เฟร็ดเน้นย้ำแบบนั้นเสมอ
มิตรภาพที่ไม่มีข้อจำกัด
อีกสิ่งที่เราประทับใจนอกจากการเห็นสายสัมพันธ์ระหว่างเฟร็ดกับเด็กๆ คือมิตรภาพอันงดงามของเฟร็ดกับ François Clemmons ผู้รับบทเป็น Mister Clemmons นายตำรวจผิวดำในรายการ ในช่วงนั้นอเมริกายังมีกระแสเหยียดคนผิวดำ ร้ายแรงกระทั่งห้ามคนดำลงสระว่ายน้ำเดียวกับคนขาว แต่เฟร็ดไม่เห็นด้วยจึงทำการอารยะขัดขืนผ่านสิ่งที่เขาทำได้ นั่นคือการชวนมิสเตอร์เคลมมอนส์มาล้างเท้าในอ่างเดียวกันเพื่อแสดงจุดยืนกับผู้ชมว่าเขาให้ค่ามนุษย์ทุกคนเท่ากัน
ไม่ใช่แค่มนุษย์ แต่เฟร็ดยังเป็นเพื่อนกับลิงกอริลล่าชื่อ Koko ซึ่งถึงแม้จะโผล่มาแวบเดียวในสารคดี Won’t You Be My Neighbor? นั่นคือฉากที่เจ้าโคโค่เล่นกับเฟร็ดด้วยการพยายามถอดรองเท้าเขาออกแต่หลังจากโคโค่ตายในปี 2018 ก็มีคนเปิดเผยเรื่องเล่าว่าที่เจ้าลิงทำแบบนั้นเพราะมันเคยเห็นเฟร็ดถอดรองเท้าและผูกเชือกรองเท้าในเพลงธีมของรายการ เมื่อมันได้เจอเฟร็ดตัวจริง มันจึงพยายามทำอย่างในเพลงที่ดูทุกวัน
หนึ่งนาทีที่มีค่ากับทุกคน
หากใครเคยดู A Beautiful Day in the Neighborhood คงรู้ว่านอกจากเด็กๆ แล้ว เฟร็ดยังชอบคุยกับผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีบาดแผลในชีวิต เขาเชื่อว่าเมื่อคนเราเติบโตขึ้น ลักษณะภายนอกอาจเปลี่ยนไป แต่ข้างในใจไม่เปลี่ยน “ผมรู้ว่างานของผมยังไม่จบ” เขาว่าอย่างนั้น
ซีนหนึ่งที่เราชอบมากๆ ในหนังฉบับทอม แฮงก์ส คือซีน ‘หนึ่งนาที’ ซึ่งอ้างอิงจากสิ่งที่เฟร็ดชอบทำอยู่บ่อยๆ หนึ่งนาทีที่ว่าคือการอยู่กับความเงียบแล้วนึกถึงเรื่องดีๆ ของคนที่เคยช่วยเหลือเรา ใครก็ได้สักคนที่อยากขอบคุณเขาที่ทำให้เราเป็นเราในปัจจุบัน
“ลองคิดถึงคนที่เคยช่วยคุณระหว่างทาง บางคนอาจอยู่ตรงนี้ บางคนอาจอยู่ไกล บางคนอาจอยู่บนสวรรค์” เฟร็ดอธิบาย “ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน ลึกๆ คุณรู้ว่าพวกเขาอยากให้คุณได้รับสิ่งที่ดีที่สุด พวกเขาห่วงใยคุณเกินกว่าจะวัดค่าได้ และคอยให้กำลังใจคุณ ผมอยากให้คุณซื่อสัตย์ต่อตัวเอง แค่หนึ่งนาที ผมจะจับเวลา”
แน่นอนว่าในสารคดีก็มีซีนนี้เช่นกัน และเราพูดอย่างไม่อายเลยว่าในฐานะคนที่ไม่ค่อยได้สำรวจความทรงจำของตัวเองเท่าไหร่ นั่นคือซีนที่ทำให้เราน้ำตาไหลพร้อมรอยยิ้ม
มีแหละ ช่วงที่เราอาจหลงลืมว่าตัวเองมีคุณค่าหรือเวลาที่ปล่อยให้พลังด้านลบควบคุมพื้นที่ความรู้สึก เฟร็ดเตือนความจำว่ายังมีคนที่หวังดีกับเราอยู่
ในยามที่เราไม่รักตัวเองเลย เวลาแค่หนึ่งนาทีอาจมีประโยชน์
อ้างอิง