The Half of It: ชีวิตจะสมบูรณ์ไหม ถ้าฉันไม่ได้เจออีกครึ่งใจของตัวเอง

Highlights

  • The Half of It หนังแนวก้าวข้ามวัย (coming of age) ฉายทางเน็ตฟลิกซ์ เพิ่งคว้ารางวัล Founders Award for Best U.S. Narrative Feature จาก Tribeca Film Festival 2020
  • หนังกำกับโดย Alice Wu ผู้กำกับเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน ผู้เดบิวต์จากหนังเรื่องแรก Saving Face เมื่อ 16 ปีก่อน วูกลับมาพร้อมเรื่องราวของเด็กสาวเอเชีย Ellie Chu ผู้ใช้ชีวิตแสนธรรมดาอยู่ในเมืองเล็กๆ กับพ่อเหมือนเด็กเอเชียทั่วไปที่ไม่น่าสนใจ แต่มีจุดเด่นคือเรียนเก่งจนรับจ้างเขียนรายงานให้เพื่อนจนได้เงินเป็นกอบเป็นกำ
  • วันหนึ่ง Paul Munsky เด็กหนุ่มนักกีฬาผู้ไม่เก่งเรื่องการใช้คำก็มาจ้างเธอเขียน 'จดหมายรัก' และทำให้ชีวิตของเธอต้องเผชิญหน้ากับการเปิดเผยตัวเองครั้งใหญ่ที่สุด นั่นคือการยอมรับว่าชอบผู้หญิง
  • The Half of It มีเสน่ห์ที่ตัวละครที่เรามักไม่ค่อยเห็นบนหน้าจอกับพล็อตเรื่องที่เน้นหนักไปที่มิตรภาพของสองตัวละครมากกว่าเส้นเรื่องรัก หนังทำให้เราอมยิ้มตั้งแต่ต้นและน้ำตารื้นตอนจบ เป็นหนังก้าวพ้นวัยที่ดีอีกเรื่องที่อยากแนะนำ

The Half of It Alice Wu เล่าให้ฟังในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า ตอนกำกับ Saving Face (2004) หนังเรื่องแรก เธอไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องทำหนังที่แตกต่างจากเรื่องอื่นหรือสร้างสิ่งใหม่ให้ฮอลลีวูด ณ ตอนนั้นการทำหนังรอมคอมว่าด้วยความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงที่มีตัวเอกเป็นคนจีน-อเมริกันถือว่าหาดูได้ยากยิ่ง (แม้แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นแบบนั้น)

วูบอกว่าเธอแค่มีรสนิยมชอบเพศเดียวกัน มีเชื้อสายเอเชียน-อเมริกัน และเพียงอยากทำหนังที่มีคาแร็กเตอร์หลักเป็นคนที่คนดูไม่ค่อยเห็นกันบนจอเท่านั้น ความเซอร์ไพรส์คือหลังจากวันที่หนังออกฉาย คนดูจำนวนมากซึ่งมาจากต่างที่ ต่างพื้นเพ ล้วนบอกว่าพวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับหนังของเธอ ตอนนั้นเองที่ทำให้วูรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำนั้นสำคัญ และอาจเชื่อมโยงกับหลายคนได้มากกว่าที่เธอคิด

ปณิธานการทำหนังแบบนี้ยังถูกใช้กับเรื่องใหม่ แม้วูจะเว้นช่วงมานานกว่า 16 ปี

และแน่นอนว่า The Half of It คือหนังที่ไม่ได้สำคัญกับเธอเท่านั้น แต่เรื่องนี้ยังสำคัญกับใครหลายคนในแง่มุมที่แตกต่างจาก Saving Face

Netflix

ในขณะที่ Saving Face เล่าเรื่องหญิงสาวเอเชียวัยทำงานที่ตกหลุมรักกันท่ามกลางแสงสีของเมืองใหญ่ The Half of It เขยิบมาเล่าเรื่องของตัวละครที่อายุน้อยกว่าและอาศัยในเมืองขนาดเล็กกว่าอย่างสควอมิช ที่ซึ่ง Ellie Chu (Leah Lewis) เด็กสาวชาวเอเชียย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านติดรางรถไฟตามพ่อผู้ฝันอยากเป็นวิศวกรใหญ่ แต่ด้วยอุปสรรคทางภาษา เขาจึงต้องเริ่มต้นจากการเป็นนายสถานีรถไฟเพื่อรอโอกาส อยู่ได้ไม่กี่ปีแม่ของเธอก็ตาย นับจากวันนั้นพ่อก็เหมือนจมอยู่กับห้วงความเศร้าจนไม่อยากลุกมาทำอะไร และความฝันของพ่อคงไม่มีวันเป็นจริงอีกแล้ว

เหมือนถูกบังคับให้เป็นผู้ใหญ่ในชั่วข้ามคืน เอลลี่ลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นคนให้สัญญาณรถไฟแทนพ่อจนเพื่อนที่โรงเรียนตั้งฉายา เอลลี่ ชู-ชู! (อารมณ์เสียงรถไฟฉึกกะฉัก ปู๊นๆ แต่ซับไทยแปลว่า เอลลี่ชูมือขึ้นแล้วหมุนๆ ซึ่งก็ได้อารมณ์ไปอีกแบบ) เธอใช้ชีวิตแบบนี้ทุกวัน คิดอยู่เสมอว่าจะต้องอยู่เมืองเล็กๆ นี้กับพ่อไปจนตาย และถึงจะเรียนอยู่ปีสุดท้าย เธอก็ไม่คิดจะเรียนต่อมหาวิทยาลัย

แต่ปีสุดท้ายของไฮสคูลนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเอลลี่เปลี่ยนไป เริ่มต้นจากเรียงความปรัชญาความรักที่เธอรับจ้างเขียนให้เพื่อนร่วมคลาสแลกกับเงินอย่างลับๆ วันหนึ่ง Paul Munsky (Daniel Diemer) หนุ่มนักกีฬาท่าทางซื่อบื้อคนหนึ่งก็มาจ้างให้เธอเขียน ‘จดหมายรัก’ ถึงหญิงสาวอีกคน

เรื่องนี้จะเรียบง่าย จดหมายจะถูกเขียนขึ้นแค่ฉบับเดียวแล้วจบ ถ้าไม่ติดว่าเธอแอบรักหญิงสาวคนนั้น

The Half of It

Netflix

 

The Half of It นี่คือเรื่องของตัวละครอีกแบบหนึ่ง

The Half of It คือหนัง coming of age ที่คล้ายเป็นส่วนผสมของ The Perks of Being a Wallflower (2012) กับ Love, Simon (2018) ในแง่ของการเล่าเรื่องเด็กสาวผู้แอบรักเพศเดียวกันแต่ไม่กล้าบอก คาแร็กเตอร์ของเธอจัดอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ถึงกับเป็นลูสเซอร์ แต่ก็ไม่ได้ป๊อบปูลาร์

พูดตามตรงว่าถ้าไปอยู่ในหนังเรื่องอื่น ตัวละครแบบนี้จะเป็นได้แค่เพื่อนตัวเอกหรือตัวประกอบเท่านั้น นอกจากการล้อเลียนเรื่องเสียงรถไฟและการที่ใครต่อใครพึ่งพาเธอเรื่องการเรียน เอลลี่ก็ถูกจัดเป็นคนประเภทที่คนอื่นมักจะมองข้ามเพราะเธอช่างแสนธรรมดา ไม่น่าสนใจไปซะทุกด้าน ซึ่งในโลกความจริงเด็กแบบเอลลี่อาจมีจำนวนมากกว่าเด็กที่ป๊อบปูลาร์หรือลูสเซอร์ก็ได้

“ตั้งแต่เด็กฉันแทบจะไม่ได้ดูหนังที่ตัวละครเอกเป็นคนเชื้อสายเอเชีย-อเมริกัน” ลีอาห์ ลูวิส ย้ำว่าการได้สวมบทบาทเป็นเอลลี่เป็นมากกว่าการแสดงหนังเรื่องหนึ่ง เพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ครั้งที่เด็กสาวเชื้อสายเอเชีย-อเมริกันจะได้เห็นตัวละครคล้ายตัวเองรับบทนำในหนังเมนสตรีม “เรื่องของพวกเขาควรค่าแก่การถูกเล่า เพราะในโลกความจริงพวกเขาคือตัวเอกในหนังชีวิตของตัวเอง และพวกเขาก็เผชิญปัญหาที่เอลลี่กำลังเจออยู่จริงๆ”

The Half of It

Leah Lewis, ผู้กำกับ Alice Wu, Daniel Diemer – Photo Credit: Netflix / KC Bailey

 

นี่คือเรื่องของความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง

ถ้าดูแค่ตัวอย่างหนัง หลายคนอาจเดาว่านี่คงเป็นหนังไฮสคูลประเภท 1 หนุ่ม 2 สาว ที่เป็นรักสามเส้าแน่ๆ

เราไม่อยากสปอยล์บทสรุปของเรื่อง จึงไม่อาจบอกว่าข้อสันนิษฐานนั้นถูกหรือผิด แต่ที่แน่ๆ นอกจากเส้นเรื่องความรักแบบคู่รักแล้ว The Half of It ยังฉายภาพความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก ครู-ศิษย์ และเพื่อนต่างเพศ

ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นพัฒนาการของเอลลี่และพอลที่เริ่มต้นด้วยการรู้จักกันเพราะอีกฝ่ายจ้างให้เขียนจดหมายรัก ก่อนจะค่อยๆ พัฒนามาเป็นเพื่อนที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน แชร์เรื่องส่วนตัวให้กันฟัง จนกลายเป็นคนสนิทที่หวังดีต่อกันทุกเรื่อง ระหว่างทางเราเอาใจช่วยเอลลี่สลับกับตกหลุมรักความบ้องตื้นของพอล รู้ตัวอีกทีก็แทบจะอยากเทปมยุ่งเหยิงเรื่องรักสามเส้าทิ้งไป แล้วให้ทั้งคู่อยู่กันฉันเพื่อนสนิทไปนานๆ

The Half of It

Netflix / KC Bailey

ว่ากันตามตรง ความสัมพันธ์ของสองตัวเอกแทบจะเป็นพล็อตหลักของหนัง และพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิด เพราะวูเล่าในการสัมภาษณ์หนึ่งว่า เธอตั้งใจให้หนังเป็นเรื่องของมิตรภาพระหว่างเลสเบี้ยนกับชายแท้ (straight) ซึ่งหลายคนมักมองว่าเป็นไปได้ยาก

“ฉันดูหนังรักเยอะมากและทุกเรื่องพยายามเทิดทูนความรักแบบโรแมนติก การตามหาคนที่จะใช้ชีวิตกับเราจนแก่เฒ่าคือเรื่องที่ต้องทำ แต่เมื่อฉันมองย้อนกลับไปในชีวิตของตัวเอง ฉันคิดว่าความสัมพันธ์ที่สำคัญกับตัวฉันไม่ใช่รักโรแมนติกเสียทีเดียว

“ตอนฉันเปิดตัวว่าเป็นเลสเบี้ยน เพื่อนสนิทที่เป็นชายแท้ซัพพอร์ตฉันเป็นอย่างดีทั้งๆ ที่เราต่างกันมาก ทุกคนคิดว่าเราอยู่ด้วยกันต้องเดตกันแน่ๆ แต่ความจริงเราไม่ได้คิดเรื่องนั้นเลย ฉันคิดว่าความสัมพันธ์รูปแบบนี้มีเรื่องน่าสนใจให้สำรวจล่ะ” วูจึงหยิบประสบการณ์ตรงของเธอมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสองตัวละครเอกเพื่อยืนยันว่า ความรักบริสุทธิ์แบบไม่มีกรอบเรื่องเพศมาจำกัด (platonic love) มีจริง

The Half of It

Netflix

 

นี่คือเรื่องของความรักอีกแบบหนึ่ง

เมื่อดูจบ เราอาจพูดได้ว่า The Half of It มีองค์ประกอบที่เราคาดหวังจากหนัง coming of age ดีๆ สักเรื่อง เราชอบคาแร็กเตอร์ตัวละครที่ฉายความน่ารักกับข้อบกพร่องได้ชัดเจนพอกัน ดนตรีประกอบเพราะๆ กับบรรยากาศที่ไม่ได้สดใสมากแต่กลับให้ความรู้สึกอบอุ่น การดำเนินเรื่องไม่หวือหวาแต่ค่อยๆ กุมใจเราให้อินทีละนิด ฉากเปิดใจของตัวละครที่ไม่ฟูมฟาย และบทสรุปที่ยิ้มได้แบบมีน้ำตาผสมหน่อยๆ

และที่ชอบที่สุดคือมุมมองความรักที่ตั้งคำถามกับคำว่า ‘คู่แท้’ ตั้งแต่ชื่อเรื่อง เราชาชินกับความเชื่อว่าทุกคนมีคู่แท้ ซึ่งถูกฉีกแยกออกจากตัวเราตั้งแต่เกิด ภารกิจของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคือการตามหาอีกครึ่งของตัวเอง แต่เอลลี่ไม่ได้เชื่อแบบนั้น

“ความรักไม่ใช่การอดทน เมตตา และถ่อมตน ความรักคือความยุ่งเหยิง เลวร้าย เห็นแก่ตัว และกล้าหาญ มันไม่ใช่การตามหาคู่แท้ของเรา แต่คือการพยายามและการล้มเหลว

“ความรักคือการยินดีที่จะทำลายภาพวาดดีๆ ที่เราวาดขึ้นเพื่อโอกาสที่จะวาดภาพชิ้นใหม่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม”

ความรักอาจเริ่มต้นหรือถูกทำลายได้จากการเอ่ยปากบอกรักใครสักคน แต่ไม่ว่ามันจะออกหัวหรือก้อยก็คงไม่เป็นไร เพราะในท้ายที่สุดเอลลี่ก็ได้ค้นพบบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เธอได้รับจากพอล หนุ่มนักกีฬาท่าทางซื่อบื้อคนหนึ่งที่จ้างให้เธอเขียนจดหมายรักถึงหญิงสาวอีกคน

บทเรียนที่บอกเธอว่า ความรักไม่ใช่การตามหาความสัมพันธ์แบบคู่รักเพื่อให้รู้สึกเติมเต็ม ชีวิตของเราเติมเต็มได้ด้วยความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่มีค่าไม่แพ้กัน และมันคงไม่เป็นไรหรอกมั้งถ้าเราจะไม่ได้เจออีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง


อ้างอิง

Cornbreadsays

Sarah Scoop

Variety และที่ชอบที่สุดคือมุมมองความรักที่ตั้งคำถามกับคำว่า ‘คู่แท้’ ตั้งแต่ชื่อเรื่อง เราชาชินกับความเชื่อว่าทุกคนมีคู่แท้ ซึ่งถูกฉีกแยกออกจากตัวเราตั้งแต่เกิด ภารกิจของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคือการตามหาอีกครึ่งของตัวเอง แต่เอลลี่ไม่ได้เชื่อแบบนั้น “ความรักไม่ใช่การอดทน เมตตา และถ่อมตน ความรักคือความยุ่งเหยิง เลวร้าย เห็นแก่ตัว และกล้าหาญ มันไม่ใช่การตามหาคู่แท้ของเรา แต่คือการพยายามและการล้มเหลว “ความรักคือการยินดีที่จะทำลายภาพวาดดีๆ ที่เราวาดขึ้นเพื่อโอกาสที่จะวาดภาพชิ้นใหม่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม”ความรักอาจเริ่มต้นหรือถูกทำลายได้จากการเอ่ยปากบอกรักใครสักคน แต่ไม่ว่ามันจะออกหัวหรือก้อยก็คงไม่เป็นไร เพราะในท้ายที่สุดเอลลี่ก็ได้ค้นพบบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เธอได้รับจากพอล หนุ่มนักกีฬาท่าทางซื่อบื้อคนหนึ่งที่จ้างให้เธอเขียนจดหมายรักถึงหญิงสาวอีกคน บทเรียนที่บอกเธอว่า ความรักไม่ใช่การตามหาความสัมพันธ์แบบคู่รักเพื่อให้รู้สึกเติมเต็ม ชีวิตของเราเติมเต็มได้ด้วยความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่มีค่าไม่แพ้กัน และมันคงไม่เป็นไรหรอกมั้งถ้าเราจะไม่ได้เจออีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง
และที่ชอบที่สุดคือมุมมองความรักที่ตั้งคำถามกับคำว่า ‘คู่แท้’ ตั้งแต่ชื่อเรื่อง เราชาชินกับความเชื่อว่าทุกคนมีคู่แท้ ซึ่งถูกฉีกแยกออกจากตัวเราตั้งแต่เกิด ภารกิจของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งคือการตามหาอีกครึ่งของตัวเอง แต่เอลลี่ไม่ได้เชื่อแบบนั้น “ความรักไม่ใช่การอดทน เมตตา และถ่อมตน ความรักคือความยุ่งเหยิง เลวร้าย เห็นแก่ตัว และกล้าหาญ มันไม่ใช่การตามหาคู่แท้ของเรา แต่คือการพยายามและการล้มเหลว “ความรักคือการยินดีที่จะทำลายภาพวาดดีๆ ที่เราวาดขึ้นเพื่อโอกาสที่จะวาดภาพชิ้นใหม่ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม”ความรักอาจเริ่มต้นหรือถูกทำลายได้จากการเอ่ยปากบอกรักใครสักคน แต่ไม่ว่ามันจะออกหัวหรือก้อยก็คงไม่เป็นไร เพราะในท้ายที่สุดเอลลี่ก็ได้ค้นพบบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่เธอได้รับจากพอล หนุ่มนักกีฬาท่าทางซื่อบื้อคนหนึ่งที่จ้างให้เธอเขียนจดหมายรักถึงหญิงสาวอีกคน บทเรียนที่บอกเธอว่า ความรักไม่ใช่การตามหาความสัมพันธ์แบบคู่รักเพื่อให้รู้สึกเติมเต็ม ชีวิตของเราเติมเต็มได้ด้วยความสัมพันธ์รูปแบบอื่นที่มีค่าไม่แพ้กัน และมันคงไม่เป็นไรหรอกมั้งถ้าเราจะไม่ได้เจออีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง และมันคงไม่เป็นไรหรอกมั้งถ้าเราจะไม่ได้เจออีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง และมันคงไม่เป็นไรหรอกมั้งถ้าเราจะไม่ได้เจออีกครึ่งหนึ่งของตัวเอง

AUTHOR