เพื่อนคนหนึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเหล็ก เพื่อนอีกคนแม้จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนักๆ อย่างยานยนต์ แต่หัวใจอีกส่วน ก็แบ่งให้กับเรื่องของการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยสื่อสารผ่านงานเทศกาลดนตรีที่ทุกคนรู้จักกันดีในชื่อของเทศกาล Wonderfruit
เรากำลังพูดถึงคุณหมู-สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) และคุณพีท-ประณิธาน พรประภา Founder of Wonderfruit นั่นเอง
มิตรภาพของทั้งคู่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี กระทั่งวันหนึ่งความสนใจของทั้งคู่ก็มีจุดตัดที่ชัดเจนตรงกัน นั่นก็คือเรื่องของการหลอมรวมศิลปะและสิ่งแวดล้อมให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานที่โดดเด่นโดยใช้ ‘เหล็กรีไซเคิล’ เป็นวัสดุหลัก
‘From waste to value’ คือประเด็นสำคัญที่พวกเขาทั้งคู่เน้นย้ำ และมันก็ได้กลายเป็นผลงานศิลปะที่สวยงามได้อย่างน่าทึ่ง
เป็นความแข็งแกร่งที่งดงามในแบบที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน
a day ชวนทั้งคู่มานั่งคุยกันสบายๆ ในประเด็นเรื่องของ มิตรภาพ ความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อม เพื่อค้นหาไปด้วยกันว่า ความแข็งแกร่งที่งดงามมีหน้าตาเป็นแบบไหน
คุณรู้จักกันมายาวนานมาก อยากทราบว่ามีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เมื่อไหร่
หมู: จริงๆ พวกเรารู้จักกันมานานเป็น 10 ปี แล้วจริงๆ ก็ชอบอะไรคล้ายๆ กันมาตลอด ส่วนตัวผมทำอุตสาหกรรมเหล็ก ก็ชอบเรื่องรีไซเคิล ชอบเรื่อง waste to value concept และระยะหลังๆ เห็นพีทเขาสนใจเรื่องการทำฟาร์ม ผมเองก็สนใจเหมือนกัน ล่าสุดก็หยิบโคก หนอง นา โมเดลไปทำกับฟาร์มของผมที่ระยอง ก็ถือว่าเป็น common interest ที่ทำให้พวกเราปรึกษาหารือกันบ่อย พีทก็แนะนำคนให้มาช่วยให้คำปรึกษาทั้งเรื่องปรุงดิน เรื่องการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ฟาร์มของผมนี่ เหล็กหรือหิน ต้องมาจาก recycle process ด้วย เป็นสิ่งที่เราพยายามที่จะไปทางนี้อย่างจริงจัง
พีท: จริงๆ เรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ผมคลุกคลีมาตลอด เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้วคุณพ่อผมเป็นคนที่ริเริ่มโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโครงการหนึ่งที่ชื่อ Think Earth สมัยนั้นเป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดีเลย แล้วตั้งแต่เด็กๆ ผมก็เลยได้ไปทำโครงการเกี่ยวกับป่า ได้เข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม พอโตขึ้น มีโอกาสสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ก็คิดว่าอยากจะหาวิธีที่จะทำให้คนมาสนใจหรือสนุกกับประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย เลยคิดเรื่องของการนำศิลปะและวัฒนธรรมมาเป็นตัวกลางในการนำเสนอเรื่องนี้ เลยเป็นจุดเริ่มของเทศกาล Wonderfruit และเริ่มมีเพื่อนๆ ที่มีความสนใจเรื่องเดียวกันเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น หมูก็เป็นหนึ่งในนั้น เลยคุยกันว่า เราจะร่วมมือทำงานอะไรกันได้บ้าง ก็เลยเกิดโปรเจกต์ที่นำเหล็กรีไซเคิลของหมูมาต่อยอดทำงานศิลปะ แล้วมันก็ไปต่อได้เรื่อยๆ เลย คือปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เกิดกับหลายๆ คนคือ เขาจะคิดว่ามันตัน ไม่รู้จะทำอะไรต่อ หรือทำไปมันก็แพง เดี๋ยวค่อยทำไหม หรือทำไปเพราะว่ามันเป็นเทรนด์ ซึ่งผมว่าแบบนั้นผิดนะ อย่าไปทำเลย ถ้าทำก็ขอให้ทำเพราะชอบจริงๆ แล้วมันจะสนุกที่ได้ทำ เหมือนที่ผมทำ Wonderfruit เพราะสนุก แล้วเมื่อเราชอบทำ มันจะเป็นความรู้สึกอีกแบบหนึ่ง แล้วมันจะทำได้ดีกว่าเยอะ มันไม่ได้ทำเพื่อสร้างภาพ เพราะเราทำในสิ่งที่เราชอบ เราก็อยากลงมือทำเองให้มากที่สุด
จะว่าไป พวกคุณมองเรื่องสิ่งแวดล้อมในอดีตมาจนถึงวันนี้ว่าเปลี่ยนไปแค่ไหน
พีท: สมัยที่คุณพ่อผมริเริ่มโครงการ Think Earth ไม่ว่าจะเรื่องปลูกป่าหรืออนุรักษ์ท้องทะเล ผมก็รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่ต้องทำนะ เหมือนมันเป็นธรรมชาติของเราจริงๆ แต่เรื่องผลกระทบเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่คนยังไม่ได้พูดถึงแพร่หลาย แต่ผ่านมา 30 ปี ทุกคนพูดถึงเรื่องพวกนี้กันหมด ไม่ว่าจะมีแรงกระตุ้นจากทางใดก็แล้วแต่ แต่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่า เรื่องนี้มันเป็นภัยต่อโลก แล้วพอผมศึกษาไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า การที่มนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งเพราะมนุษย์มีเรื่องของความโลภเป็น desease of the mind และนั่นแหละคือต้นตอของปัญหา ส่วนการทำลายมันเป็นปลายเหตุ เพราะเราไม่ conscious กับสิ่งที่เราทำ นี่เป็นเรื่องที่ผมกับหมูสนใจคล้ายๆ กัน นั่นก็คือเรื่องจิต เรื่อง consciousness แล้วพอเราศึกษาเรื่องนั้นไปเรื่อยๆ มันก็สะท้อนตัวเรากับเรื่องสิ่งแวดล้อมไปด้วย เรื่องนี้ผมกับหมูคิดคล้ายๆ กันมาก
หมู: อีกเรื่องที่คล้ายกัน คือเราอินกับการทำสมาธิ เรามีสติและตั้งใจกับสิ่งที่เราทำอยู่ ไม่ใช่ทำไปตามเทรนด์ใดๆ อย่างผมมีจุดเริ่มต้นทำธุรกิจจากการทำเหล็ก แล้วก็สนใจเรื่องการรีไซเคิลเหล็ก ผมก็พยายามเลือกสิ่งที่สร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด โดยทั่วไปในกระบวนการผลิตเหล็ก จะมีคาร์บอนต่อตันเหล็ก 1.98 ตันคาร์บอน ต่อ 1 ตันเหล็ก แต่เมื่อผมลงทุนกับเทคโนโลยีที่ลดกระบวนการทำลายสิ่งแวดล้อม เราก็สามารถทำให้กระบวนการผลิตเหล็ก ใช้คาร์บอนแค่ 0.35 ตันคาร์บอน ต่อ 1 ตันเหล็ก ซึ่งมันห่างกันมากเมื่อเทียบกับสร้างมลภาวะทั่วโลก ดังนั้นมิติเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มันทำได้หลายภาคส่วน มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีแค่เรื่องการปลูกป่า แต่มันเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ ที่มีแนวทางลดโลกร้อนหรือสร้างคาร์บอนเครดิต ที่ทำให้มันดีขึ้นกับธุรกิจโดยรวมด้วย
ฝั่งหนึ่งทำเรื่อง art and culture อีกฝั่งทำเรื่องอุตสาหกรรมหนัก คิดว่าต่างคนมองกันและกันยังไง มันมาเชื่อมกันได้ยังไง เพราะในแง่หนึ่ง อุตสาหกรรมหนักอย่างเหล็กก็ไม่น่าจะดีกับสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้มันกลับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนตระหนักเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
พีท: ต้องบอกว่า โดยทั่วไป ความคิดเรื่องธุรกิจทำสิ่งไม่ดีกับสิ่งแวดล้อม แทบจะเป็นความคิดของคนที่ไม่ได้ทำธุรกิจจริงๆ ลองคิดดูนะ ถ้าเกิดไม่มีอุตสาหกรรมหนัก เราก็ไม่มีอะไรเลยในโลก มันเป็น evolution ของมนุษย์ที่เราต้องผ่านจุดนั้นก่อนจะมาถึงจุดนี้ มันไม่มีทางอื่นที่ต้องผ่าน เราต้องมีรถ มีเครื่องบิน ซึ่งก็เป็นเรื่องจำเป็นต่อการพัฒนา เพราะเราจะเป็นมนุษย์ในแบบที่เราเป็นตอนนี้ได้ยังไง ถ้าเราไม่ผ่านสิ่งเหล่านี้
เพียงแต่ประเด็นคือ สมัยก่อนหลายคนอาจจะมองว่า ต้องทำธุรกิจจนรวยแล้วค่อยมาให้คืนสังคม ส่วนมาก philanthropy จะคิดแบบนั้น แต่ผมว่าสมัยนี้โลกก็พัฒนาไปหลายอย่าง การผลิตในสมัยนี้ก็เอื้อต่อการผลิตแบบยั่งยืนได้มากขึ้นกว่าเดิม ผมว่าวันนี้โลกของเราก็เปลี่ยนไปแล้ว เราน่าจะมองวิธีทำธุรกิจใหม่ๆ ได้
หมู: ผมว่าสิ่งที่ทำให้เชื่อมอุตสาหกรรมหนักกับไลฟ์สไตล์ หรือ Millcon กับ Wonderfruit ได้ มันมีจุดเชื่อมจากศิลปะ พีทเขาอยากสร้าง art sculpter ที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งผมก็ทำเรื่องนี้ในอุตสาหกรรมเหล็กอยู่แล้ว เราก็เอามาเป็นจุดที่เชื่อมโยงกัน เชื่อมสิ่งที่ตรงข้ามกัน มันก็ดีนะ เพราะในเชิงอุตสาหกรรมอย่างเดียว มันมองไม่เห็นภาพหรอกว่ามันจะไปเชื่อมกับคนอื่นยังไง หรือทำให้มันเป็นศิลปะได้ยังไง เราเลยอยากสร้างความท้าทายว่า ในอุตสาหกรรมหนักก็สร้างสิ่งที่สวยงามได้ แม้มันจะมาจากเหล็กหรือขยะก็ตาม
ไอเดียในการนำเหล็กรีไซเคิลมาทำงานศิลปะ เกิดจากใคร
หมู: คุยกันทั้งคู่มากกว่า เพราะเราก็มีความสนใจในศิลปะระดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นในเชิง collector แต่อยากสร้างศิลปะจากวัสดุรีไซเคิล เพราะมันเกี่ยวกับธุรกิจและความชอบส่วนตัวของเรา ผมว่านี่คือจุดที่พีทเขาชอบอยู่แล้ว เขามีพื้นที่โชว์ ผมมีเหล็กเหลือ ที่ใครๆ มองว่าเป็นขยะ แต่มันยังมี value ทำให้มันเป็นสิ่งที่สวยงามได้ แล้วมันก็ออกมาดีจริงๆ จนได้นำไปตั้งโชว์เป็น art sculpture ใน Wonderfruit เมื่อปลายปีที่แล้ว
อยากให้เล่ากระบวนการทำงานให้ฟังหน่อย ว่าออกมาเป็นงาน art sculpture ได้ยังไง
พีท: โจทย์ตอนแรกคือ หมูมีเหล็กรีไซเคิลและสนใจเรื่อง circular economy ผมเลยคิดว่า Wonderfruit น่าจะเป็น platform ที่สามารถโชว์เรื่องพวกนี้ได้ เพราะเราก็อยากจะเน้นย้ำเรื่อง ศิลปะกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน ผมเลยไปคุยกับ art director / art curator ของผมในประเด็นนี้ แล้วเขาก็เลยคิดถึงศิลปินที่จะชวนกันมาสร้างงานศิลปะ แต่เล่าย้อนไปนิดนึงว่า ก่อนหน้านี้เราทำ project sonic element ซึ่งเราทำกับคนที่เก่งด้านเสียง หรือ researcher ของเสียง เป็น BBC Broadcaster ที่ชื่อ Nick Luscombe เป็น living encyclopedia ที่เชี่ยวชาญเรื่องเสียงมากที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยรู้จัก ตอนนั้นเราสร้าง sonic element ซึ่งว่าด้วยเรื่องธาตุ 4 แบบ water air metal earth เราเลยมองว่าอยากจะเอางาน Millcon มาเชื่อมกับ project นี้ ในพาร์ตของ Metal
เราชวนศิลปินและสถาปนิกมาทำงานด้วย เพื่อมาสร้าง structure แล้วข้างในทำ sound installation ที่เป็นการอัดเสียงในพื้นที่ต่างๆ ที่ปกติเราอาจจะไม่ได้ตั้งใจฟัง ทีนี้มีศิลปินคนหนึ่งเขาไปอัดเสียงที่เกิดจากเหล็ก เพราะคนหลายคนอาจจะไม่ได้นึกถึงว่าเสียงของเหล็กมันคือเสียงแบบไหน หรือเสียงของน้ำคือแบบไหน เสียงของอากาศคือแบบไหน ทีนี้มันก็ย้อนกลับมาที่เรื่องสมาธิ เพราะถ้าเราตั้งใจฟังชัดๆ เสียงมันจะมีอยู่เต็มไปหมดเลยนะที่ปกติเราไม่สนใจ หรือไม่มีสติพอที่จะสนใจฟังใกล้ๆ ดังนั้นงานนี้ก็เลยเป็นการทำ sound installation ผสมผสานกับการนำเหล็กมาทำโครงสร้าง
จากเหล็กที่ตอนแรกมองว่าเป็น waste พอออกมาเป็นงานศิลปะแล้วทึ่งไหม
หมู: เราก็เคยเห็นงานจากวัสดุรีไซเคิลที่ออกมาสวยๆ หลายชิ้นนะ แต่เราก็ไม่เคยมีส่วนร่วมในการสร้างหรือทำเลย ผมว่าตรงนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เห็นแล้วชอบ เพราะมันมาจากเศษเหล็ก หรือขยะที่ถ้ามันกองอยู่กับที่ มันก็ไม่มี value เราก็ทำให้มันมี value ขึ้นมา มีคอนเซ็ปต์ที่เชื่อมโยงในเรื่องที่น่าสนใจ อย่าง sonic element เป็นต้น สุดท้ายที่พีทบอกว่าเกี่ยวกับการทำสมาธิเหมือนกัน เพราะถ้าเราโฟกัสดีๆ ตั้งใจฟังดีๆ มันก็มีเสียงที่เพราะในแบบของมันด้วย ถ้ามองดีๆ มันก็เป็นอีกมิติหนึ่งที่เปลี่ยนขยะให้เป็นศิลปะ ซึ่งผมว่ามันเป็นสิ่งที่น่าจะต่อยอดกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ในไทยได้
มีแนวทางในการสนับสนุนศิลปินที่สร้างงานศิลปะที่ทำจากวัสดุ recycle บ้างไหม มองไว้ยังไง
พีท: Wonderfruit ตอนเริ่มแรก เรามองเรื่องวัสดุที่ทำจากธรรมชาติเยอะ ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็มีข้อดีนะ แต่มันก็มีข้อจำกัดเหมือนกันในเรื่องของ lifespan ตอนหลังเราเลยเริ่มสร้างโครงสร้างที่มันถาวรมากขึ้น เพราะมันอยู่ได้นานกว่า แล้วก็สามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่าจริงๆ ซึ่งวัสดุธรรมชาติมันมีไม่กี่ตัวที่ทำได้ แล้วเหล็กมันก็ไม่ได้ environmentally positive ขนาดนั้น แต่ตอนคุยกับหมู ก็เข้าใจเรื่องแนวทางที่จะนำเหล็กมารีไซเคิล หรือนำมาดัดแปลงแล้วใช้ประโยชน์ใหม่ ผมว่ามันก็ตอบโจทย์ของเราค่อนข้างมาก เราเลยได้ทำงานอื่นๆ ด้วยกันอีกมาก ต่อไปก็น่าจะเน้นเรื่องเหล็กรีไซเคิลกันอีก
หมู: มันไม่ใช่แค่งานศิลปะอย่างเดียว ผมว่าสิ่งปลูกสร้างถาวรหลายๆ อย่างในที่นี้ มันก็เป็นโครงสร้างที่ทำให้ออกมาเป็นศิลปะได้ แต่ผมอยากให้การใช้เหล็กมันเป็น environmental friendly เช่น ถ้าเราเอาซากรถเก่า มาทำลายทิ้ง แล้วเอาเหล็กมารีไซเคิลใหม่มาทำเป็น product ที่กลับไปสู่อุตสาหกรรมรถยนต์หรือสิ่งปลูกสร้างได้จริงๆ ถ้าคำนวณกันคร่าวๆ เฉพาะในไซต์งานของ Wonderfruit ที่มีทั้งงานศิลปะและสิ่งปลูกสร้าง ก็น่าจะตีเป็นรถยนต์ได้ประมาณ 2000 คัน
ในเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่ต้องใส่ใจในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนักๆ ที่พวกคุณทำอยู่ คิดว่ามีประเด็นไหนที่คนในอุตสาหกรรมควรจะร่วมมือกัน เพื่อให้ตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม
หมู: ถ้าแนะนำ ผมคงไม่มีคำแนะนำ เพราะว่าการทำธุรกิจแต่ละธุรกิจมันมีข้อจำกัด มีความท้าทายของมันเองอยู่แล้ว แต่แน่นอนคือ ในอนาคตทุกคนจะถูกบีบบังคับโดยกฎเกณฑ์ กฎหมาย หรือมาตรฐานของโลกให้ผลิตสินค้าหรือบริการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยข้อจำกัดของสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญคืออย่าทำอะไรที่ฝืน เพราะถ้าทำอะไรด้วยใจ มีความสุขกับมัน มันก็จะทำได้ดีกว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจส่วนตัวหรืออะไรก็ตาม มันดีกว่าฝืนทำอยู่แล้ว
ถ้าพูดเรื่องการตอบแทนหรือคืนให้กับสังคม คิดว่าตอนนี้ต่างฝ่ายกำลังทำอะไรกันอยู่บ้างในมุมของตัวเอง
พีท: คำว่าคืนให้กับสังคมนี่ จริงๆ แล้วผมไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องประเภทที่ว่า สังคมให้อะไรเราแล้วเราต้องคืน แต่ทำเพราะมันเป็นสิ่งที่ผมชอบทำและเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง แล้วอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเราแล้ว มันจะง่ายขึ้นเยอะที่จะมีประโยชน์ต่อคนรอบข้าง จากนั้นโดยธรรมชาติมันก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมเอง
หมู: สำหรับผม ไม่ได้คิดถึงการตอบแทนสังคมด้วยการบริจาคเงิน เพราะผมเชื่อเรื่องการเริ่มต้นทำในสิ่งที่เราคิดว่ามันดีและเราชอบ แล้วมันก็จะขยายวงออกไปเองในเชิง positive ต่อตัวเรา ต่อเพื่อนๆ ต่อสังคม ต่อคนที่อยู่ในชุมชน มันก็ไปของมันเอง จะตอบแทนสังคมยังไงมันก็ต้องเป็นไปในแนวทางที่เราโอเคและชอบด้วย
ถ้าพูดเรื่องความยั่งยืน คิดว่าวันนี้นิยามของคำนี้ในความหมายของพวกคุณคืออะไร
หมู: ถ้าเป็นความยั่งยืนในเชิงการใช้ชีวิต ผมว่าชีวิตเรามันก็มีช่วงเวลาในอายุขัยของเราระดับหนึ่ง ความยั่งยืนมันไม่ได้หมายถึงการอยู่ไปจนนิรันดร์ แต่มันเป็นในเชิงความรู้สึกมากกว่า ว่าขอให้เรามีสุขภาพโอเค ทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ ครอบครัว คนอยู่ข้างๆ อยู่ด้วยกันแล้ว happy มีความสุข เงินก็ต้องมีในระดับหนึ่งถึงจะมีอิสระภาพทางการเงินและใช้ชีวิตได้ดี ผมไม่ได้บอกว่าความยั่งยืนไม่ได้มีอยู่จริงนะ มันมี แต่เราจะทำยังไงให้มันอยู่ได้นาน มันต้องจัดการให้ได้ ส่วนความยั่งยืนในมุมธุรกิจ ผมก็คิดว่าเมื่อเราถูกบังคับจากกติกาที่ให้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อมหรือเพื่อความยั่งยืน มันก็เป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจมันยั่งยืนโดยตัวมันเอง อย่างเราทำงานเราก็เห็นว่า ขยะที่มาจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคครัวเรือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งที่เราอยากทำเพื่อให้มันยั่งยืนต่อธุรกิจก็คือ เปลี่ยนขยะเหล่านี้ให้มีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าจะในมิติไหนๆ ก็แล้วแต่
พีท: มันอยู่ที่วิธีมองว่า เราต้องการให้ธุรกิจเรามันต่อยอดยังไงให้ยั่งยืนด้วย ซึ่งองค์ประกอบที่ผมมองว่ามันช่วยให้ธุรกิจต่อยอดได้ก็คือ ยึดกับพื้นฐานของคุณค่าของเรา พอคุณค่าเรามั่นคง มันก็เอามาแปรเป็นหลายอย่างได้ ผมไม่ได้เชื่อว่า เราทำอะไรเราแล้วเราต้องส่งต่อให้คนรุ่นต่อไป แต่ผมเชื่อในเรื่องคุณค่าที่เราสร้าง อย่างลูกผม ก็พูดกับเขาตลอดว่าผมไม่ได้หวังว่าเขาจะทำอย่างที่ผมสร้างมาหรือเปล่า แต่คุณค่าที่เราสร้างไว้นั่นแหละคือแก่นที่เราจะสามารถนำไปต่อยอดได้ ก็เลยมองว่ามันเป็นเรื่องของคุณค่าหลักมากว่าการส่งต่ออะไร การทำธุรกิจที่คิดว่าจะทำเป็นพันปี ประเด็นคือจะรู้ได้ยังไงว่าจะทำได้นานขนาดนั้น ความคิดแบบนั้นมันตอบสนองกับอีโก้ของเราที่ยึดติดด้วยเหมือนกัน บางทีเราก็ต้องลุกขึ้นมา reframe สิ่งที่เราคิดนะครับ ว่าถึงวันหนึ่ง มันส่งผลกระทบอะไรหรือมันดีอย่างที่เราคิดไหม
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม