หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า third place กันมาบ้างเวลาพูดถึงประเภทของพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ ‘เป็นบ้านก็ไม่ใช่ ที่ทำงานก็ไม่เชิง’ (neither work nor home)
เอกลักษณ์ของพื้นที่ประเภทนี้คือการหลอมรวมสารพัดประโยชน์เข้าไว้ในพื้นที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ นั่งทำงาน อ่านหนังสือ หรือนัดประชุมกันภายใต้บรรยากาศที่ไม่ได้เคร่งเครียดจนเกินไป ตัวอย่างพื้นที่ third place ตามนิยามนี้เป็นได้ตั้งแต่ร้านหนังสือ ร้านกาแฟ หรือ co-working space ที่แสนสะดวก ตอบโจทย์เหล่ามนุษย์ออฟฟิศและนิสิตนักศึกษา
อ่านมาถึงตรงนี้ ภาพของ third place ในใจของหลายคนคงหนีไม่พ้นพื้นที่สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง แต่มันจะถูกใช้สำหรับการระดมไอเดียเพื่อแสวงหากำไรเท่านั้นหรือ คงจะดีไม่น้อยถ้ามี third place ที่เปิดให้ทุกคนได้มาแชร์ไอเดียเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโลก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่งกำลังมุ่งหน้าไปด้วยกัน
โชคดีก็คือสถานที่ที่ว่านี้มีอยู่จริงในปารีส นั่นคือ La REcyclerie แค่ได้ยินชื่อก็รู้เลยว่ากรีนขนาดไหน
เอาแค่โลเคชั่นและการใช้พื้นที่ก็น่าสนใจแล้ว พื้นที่แห่งนี้เริ่มต้นจากการรีไซเคิลสถานีรถไฟเก่าอย่าง Ornano station ในเส้นทาง Petite Ceinture ที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่ปี 1934 ให้กลายเป็นคาเฟ่ พื้นที่เวิร์กช็อป และคอมมิวนิตี้สำหรับคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
La REcyclerie เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 จากความตั้งใจของไดเรกเตอร์หนุ่มใหญ่ชาวฝรั่งเศส Stéphane Vatinel แห่งเอเจนซี Sinny & Ooko ที่เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างสรรค์พื้นที่ third place และกิจกรรมทางวัฒนธรรม
แม้ดูเผินๆ ภายนอกของที่นี่จะเป็นเหมือนคาเฟ่เอาต์ดอร์ริมทางรถไฟที่ประดับประดาไปด้วยต้นไม้นานาพรรณที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนและนัดพบของชาวปารีเซียง แต่ภายในพื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมายที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างความเข้าใจเรื่อง eco lifestyle การกินดีอยู่ดี และความยั่งยืน ผ่านการลงมือทำที่สนุกสนาน
หากจะบอกว่าที่นี่คือ ‘พื้นที่แห่งการเรียนรู้แบบจริงจังแต่ไม่เคร่งเครียด’ ก็คงไม่ผิดนัก
เราอาจได้ยินคอนเซปต์ 3R (Reduce, Reuse และ Recycle) กันบ่อยจนชิน แต่ชาว La REcyclerie นั้นยังไม่เบื่อหน่ายที่จะเล่าเรื่องนี้ แถมยังนำเสนอผ่านโซนต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ เช่น การให้บริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่ยังไม่พังจนต้องซื้อใหม่ หรือบริการยืมอุปกรณ์งานช่างที่เราอาจใช้แค่ครั้งเดียวตามแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ตัวเลขล่าสุดในเว็บไซต์คือเครื่องยืนยันว่าแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จไม่น้อย เพราะช่วยซ่อมของใช้ในบ้านให้ใช้งานได้ดีเฉลี่ยปีละกว่า 300 ชิ้น
นอกจากนี้ยังมีการจัดเวิร์กช็อป DIY ประดิษฐ์ของทำเองง่ายๆ ตลอดทั้งปี รวมถึงเวิร์กช็อปที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน อย่างการพาเดินทัวร์รอบทางรถไฟสายเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การพัฒนาเมือง ตลาดนัดขายสินค้าทางการเกษตรและวัตถุดิบจากท้องถิ่น หรือเวิร์กช็อปสอนเรื่องการรีไซเคิล การจัดสวน ไปจนถึงหัวข้อจริงจังอย่างการทำความเข้าใจเรื่อง climate change
ส่วนคาเฟ่และร้านอาหารที่เป็นหน้าเป็นตาของที่นี่ก็มีคอนเซปต์รักโลกชัดเจนไม่แพ้กัน เพราะเขาเสิร์ฟเฉพาะอาหารโฮมเมด ปรุงจากผักผลไม้ตามฤดูกาลที่ได้วัตถุดิบมาจากท้องถิ่น และทุกวันพฤหัสบดีก็จะเสิร์ฟแต่เมนูมังสวิรัติเพียวๆ ไปเลย การันตีรสชาติและหน้าตาด้วยทีมเชฟชาวฝรั่งเศสมืออาชีพ
สำหรับใครที่เป็นสายดื่ม ที่นี่ยังมีคราฟต์เบียร์หลากรสชาติตามฤดูกาล ไวน์ที่บ่มด้วยกระบวนการออร์แกนิก และกาแฟที่มีกิมมิกน่ารักๆ ด้วยการสั่งตามธรรมเนียม caffè sospeso ของอิตาลี คือเราสามารถซื้อกาแฟเผื่อคนอื่นๆ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ เพื่อแสดงถึงความเอื้อเฟื้อต่อกัน
ในบทบาทการดูแลสิ่งแวดล้อม third place แห่งนี้นำเทรนด์ในแง่การไม่ใช้หลอดพลาสติกมาได้กว่า 4 ปีแล้ว แถมยังส่งเศษอาหารเหลือทิ้งไปให้บริษัทพาร์ตเนอร์แปรรูปเป็นปุ๋ยสำหรับใช้ในการเกษตรต่อไปอย่างครบวงจร
เราเองมองว่าหลายไอเดียในการจัดการเรื่องอาหารของที่นี่เป็นตัวอย่างที่หลายที่น่าจะเอาไปทำตามได้ไม่ยากนัก แถมยังน่ารักมากๆ อีกด้วย
แล้วผักผลไม้ที่อยู่บนจานอาหารมาจากไหน
คำตอบก็คือพื้นที่สวนผักเล็กๆ ขนาด 1,000 ตารางเมตรที่อยู่ในพื้นที่ของ La REcyclerie เองนี่แหละ แม้ไม่ใหญ่โตแต่ก็สามารถปลูกพืชสมุนไพร มันฝรั่ง และผักสวนครัวได้เกือบ 170 ชนิด แถมที่นี่ยังเป็นต้นแบบของการเลี้ยงผึ้งในเขตเมืองอย่างปารีส ซึ่งให้ผลลัพธ์เป็นน้ำผึ้งคุณภาพดีกว่าผึ้งที่เลี้ยงตามชนบทเพราะไม่มีสารเคมีใดๆ
ส่วนไข่ไก่และเป็ดที่ได้จากฟาร์มจะถูกส่งออกไปให้ร้านอาหารที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย urban farm นอกจากนี้ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้เข้ามาเดินชมและเรียนรู้วิธีการทำสวนผักในเมืองได้ฟรีทุกวันพฤหัสบดีและเสาร์ มีเวิร์กช็อปที่จัดให้เฉพาะเด็กเล็กกับนักศึกษาที่ทำโปรเจกต์ด้าน urban agriculture และเปิดให้คนทั่วไปเข้าร่วมได้เป็นครั้งคราว ซึ่งพวกเขาได้จัดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 300 ครั้ง
ที่นี่มีพื้นที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาใช้บริการได้ฟรีๆ อย่างร้านอาหาร คาเฟ่ และห้องสมุดซึ่งมี wifi และปลั๊กไฟครบถ้วนตามความต้องการของหนุ่มสาวยุคใหม่ แต่ด้วยโมเดลพื้นที่กึ่งสาธารณะแบบ third place ทำให้ที่นี่ใช้ระบบสมัครสมาชิกด้วยเรตราคาปีละ 30 ยูโร (ประมาณ 1,200 บาท) ส่วนนักเรียนหรือคนที่ไม่มีรายได้ประจำจะอยู่ที่สนนราคาปีละ 20 ยูโร
ผลประโยชน์ในการสมัครเป็นชาว recycle friends คือพวกเขาจะสามารถเช่าอุปกรณ์ข้าวของ ยืมหนังสือในห้องสมุดกลับไปอ่านที่บ้าน และเข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างๆ ได้ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการที่คนมาใช้บริการก็แฮปปี้แถมพื้นที่ก็อยู่รอดอย่างยั่งยืนจริงๆ เพราะที่นี่เองก็ยังมีหน้าที่สร้างงานสร้างอาชีพให้กับพนักงานซึ่งเป็นคนในชุมชนรอบข้างอีกกว่า 200 ชีวิต พร้อมกับเปิดรับ intern เพื่อปลูกฝังแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับคนรุ่นใหม่เช่นกัน
นิยามของ third place ในแบบของ La REcyclerie จึงไม่ใช่แค่สถานที่ที่คนแปลกหน้ามาใช้เวลาร่วมกันสั้นๆ นั่งทำงานของใครของมัน แต่เจ้าของพื้นที่ยังต้องขยันคิดและจัดกิจกรรมที่เชื้อเชิญให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งที่นี่เขาก็มีโปรแกรมฝึกอบรม Third-Place Campus เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ พัฒนาและต่อยอดพื้นที่เชิงสังคมแบบนี้ในชุมชนของตัวเองต่อไป ตัวอย่างพื้นที่ที่เอาแนวคิดของที่นี่ไปปรับใช้แล้วก็มีให้เห็น เช่น โปรเจกต์ Niamey Oasis คอมมิวนิตี้แลกเปลี่ยนเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไนเจอร์ (จุดเด่นคือที่นี่เน้นสนับสนุนเหล่าผู้ประกอบการหญิงให้มีงานมีอาชีพ) หรือเครือข่ายชุมชน The Baobab Of Durban ในประเทศแอฟริกาใต้ที่เน้นสื่อสารเรื่องการจัดการขยะและทรัพยากรภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
ที่นี่จึงเป็นตัวอย่างพื้นที่กึ่งสาธารณะแนวคิดใหม่ที่ตอบโจทย์ตั้งแต่การสร้างงานและชีวิตชีวาใหม่ให้ชุมชนริมทางรถไฟร้างสายเก่าที่ตั้งอยู่
ในสเกลระดับเมือง ที่นี่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจควบคู่ไปกับแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ให้ชาวปารีสทุกเพศทุกวัย รวมถึงนักท่องเที่ยว
ส่วนในสเกลระดับโลก ที่นี่ก็ถือเป็นต้นแบบที่ดีในประเด็นสำคัญอย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
แม้โมเดลธุรกิจและการจัดการพื้นที่ของที่นี่จะดูเป็นระบบที่มีกฎละเอียดจริงจัง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความสนุกสนานและความน่าตื่นเต้นของพื้นที่นี้ลดน้อยลง ตรงกันข้าม ความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง พนักงาน และชุมชนรอบข้างแบบนี้นี่แหละที่ทำให้ที่นี่อยู่รอดจนกลายเป็นคอมมิวนิตี้ต้นแบบของการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้สนุกและเข้าใจง่าย
สุดท้าย ที่นี่เป็นทั้งที่ทำงานและอบอุ่นเสมือนบ้าน ซึ่งสำหรับบางคนแล้วอาจไม่ใช่ third place แต่เป็น first place ของเขาเลยก็ได้
Note
La REcyclerie (รวมถึง Niamey Oasis และ The Baobab Of Durban) มีพาร์ตเนอร์สนับสนุนหลักคือ Veolia Foundation องค์กรระดับโลกที่มีภารกิจหลักหนึ่งคือการสื่อสารเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ซึ่งให้การสนับสนุนในการสร้างห้องสมุดและบริจาคหนังสือ แถมยังจัดโปรแกรมเสวนาให้กับที่นี่ โดยมีธีมว่าด้วยแนวคิดยั่งยืนเพื่อโลกตั้งแต่ปี 2018
อ้างอิง