ตาดู หูฟัง มือร่ายรำไปตามเสียงดนตรี ใน ‘Living Village’ โซนใหม่ของ Wonderfruit Festival ที่ได้ไอเดียจากร่างกาย

Highlights

  • Wonderfruit Festival กลับมาอีกครั้งเป็นครั้งที่ 6 และครั้งนี้ยังคงเฉลิมฉลองศิลปะ ดนตรี อาหาร และไอเดียสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน พร้อมคอนเซปต์ “Pop Up City เมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคนทำงานสร้างสรรค์”
  • Living Village คือโซนใหม่ล่าสุดที่ Wonderfruit เพิ่งเปิดตัว ความน่าสนใจคือโซนนี้มีการออกแบบโครงสร้างจาก ‘ร่างกาย’ ของเรา ซึ่งหากมองจากมุมสูงแล้วจะเห็นเป็นรูปร่างของอวัยวะที่ผสมผสานอย่างมีศิลปะ
  • นอกจากดีไซน์เก๋ไก๋ โครงสร้างของเวทีหลักในโซน Living Village ยังทำมาจากผ้าที่รีไซเคิลมาจากขวดน้ำพลาสติก โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เราสะท้อนคิดว่า ปัญหาขยะสามารถจัดการได้ ถ้าคุณคิดจะทำ

เสียงดนตรี ธงสี ชุมชนชาวฮิปปี้ คือภาพจำของฉันเมื่อนึกถึงงาน Wonderfruit Festival

เออ เจ๋งดีว่ะ คือประโยคที่ฉันนึกได้ตามมา ครั้งได้ไปเยือนงานนี้เมื่อปีก่อนโน้น เดินไปทางไหนฉันก็มักจะพูดแบบนี้กับเพื่อนเสมอ จะไม่ให้พูดได้ไงในเมื่อไปทางไหนก็เจอแต่อะไรที่เซอร์เรียล เหมือนฉันกำลังอยู่ในโลกจำลองที่ต้องเดินเท้า ในเมืองปลอดพลาสติกที่รอบข้างเต็มไปด้วยงานประติมากรรมสุดว้าว เวิร์กช็อปสนุกๆ และอาหารอร่อยๆ แถมยังมีคอนเสิร์ตเล่นถึงตีห้า เนี่ย ไม่เซอร์เรียลจะเรียกว่าอะไร

wf1

เพราะฉะนั้น คนเลิฟความเซอร์เรียลอย่างฉันจึงเนื้อเต้นเป็นพิเศษเมื่อได้ข่าวว่า Wonderfruit Festival จะกลับมาจัดอีกเป็นครั้งที่ 6 และครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งไหนๆ เพราะมีโซนใหม่ผุดขึ้นมา เสียงลือมาว่าเป็นโซนที่ได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากร่างกาย

ด้วยความครุ่นคิดว่า Wonderfruit จะมีทีเด็ดอะไรที่ทำให้ว้าวได้อีก (ซึ่งก็ว้าวทุกปีอยู่แล้ว) ไม่รอช้า ฉันติดต่อ โบ–นิกันติ์ วะสีนนท์ Head of Arts ของงานทุกปีมาจับเข่าคุยถึงการก่อร่างสร้างโซนใหม่ ‘Living Village’

ร่างกายบันดาลใจให้เกิดดีไซน์โซนนี้อย่างไร โบเกริ่นให้ฉันฟังว่า นี่จะไม่เหมือนสิ่งที่เราเคยเห็นมาก่อนในเทศกาลนี้อย่างแน่นอน

6 ปีและ Pop Up City เมืองที่เป็นมิตรต่อคนสร้างสรรค์

“Wonderfruit Festival สำหรับเราไม่ใช่แค่เทศกาล แต่เป็นการสร้างเมืองในอุดมคติที่เปิดให้ทุกคนมาอยู่รวมกัน การจะเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อคนสร้างสรรค์นั้นแน่นอนว่าต้องถูกออกแบบอย่างสร้างสรรค์ คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมแบบยั่งยืนก่อน ถึงจะต่อยอดไปสู่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ 

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เราได้ทดลองและเรียนรู้อะไรเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นการวางผังพื้นที่งาน การวางระบบสาธารณูปโภค การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและทำงานกับธรรมชาติได้ดีที่สุด การเลือกใช้โครงสร้างและวัสดุต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจัดโปรแกรมและบริการที่ผลักดันให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้พบแนวทางสร้างสรรค์เพื่อการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ผ่านเนื้อหาที่หลากหลายทั้งด้านสื่อศิลปะและสถาปัตยกรรม สุขภาพ อาหาร ดนตรี เด็กและครอบครัว ตลอดจนการเสวนาและเวิร์กช็อป เราได้ทำงานร่วมกับกลุ่มคนในสายงานเฉพาะด้านจริงๆ ซึ่งมาช่วยสร้างสรรค์งานจนถึงปีที่ 6 ปีนี้ Wonderfruit มาในคอนเซปต์ Pop Up City เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็บันดาลใจให้คนที่เข้าร่วมอยากมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรนั้นด้วย”

บ–นิกันติ์ วะสีนนท์ Head of Arts

Living Village ชุมชนที่ต่อยอดไอเดียมาจาก ‘ร่างกาย’

“Living Village คือโซนใหม่ของเราในปีนี้ แนวทางการออกแบบนั้นต่อยอดจากงานเมื่อปีที่แล้ว เราเคยมีโปรเจกต์ที่ใช้องค์ประกอบของธรรมชาติมาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบ อย่างงานของ Ab Rogers Design ที่ออกแบบ Eco Pavilion โดยสร้างจากกองดินที่เรามีอยู่ภายในพื้นที่จัดงานอยู่แล้ว หรือ Bath House กลุ่มแพทรงกลมที่ลอยอยู่ในบึงน้ำ ทำให้เกิดทั้งความสอดคล้องระหว่างธรรมชาติและกิจกรรมของงาน

“ปีนี้เราร่วมงานกับ Ab Rogers Design อีกครั้ง เพื่อพัฒนา Living Village ให้เป็นรูปทรงของร่างกาย ไอเดียคือเราเปรียบ Living Village เป็นเหมือน ‘creature (สิ่งมีชีวิต)’ ซึ่งเป็นเจ้าภาพที่พร้อมต้อนรับทุกคนให้เข้ามามีประสบการณ์สนุกสนาน และเรียนรู้ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ บนพื้นที่ร่างกายของเจ้าตัวนี้”

มุม (มอง) ใหม่ของการผสมผสาน

“เหตุผลหลักๆ ที่เราอยากทำ Living Village ขึ้นมา ประการแรกคือความต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณเวทีใหญ่ที่มีจากปีก่อน ประการที่สองคือเราอยากเห็นมุมมองใหม่ๆ ที่ Wonderfruit ไม่เคยมี นั่นคือการมองจากมุมสูง

“ในปีก่อน พื้นที่บริเวณหน้าเวทีใหญ่เคยเป็นพื้นที่โล่ง เราจึงเกิดไอเดียว่าอยากสร้าง ‘Village (หมู่บ้าน)’ ล้อไปกับพื้นที่อื่นๆ ภายในงาน ซึ่งหมู่บ้านนี้จะมีความเป็นชุมชน มีคาแร็กเตอร์เฉพาะ และมีโปรแกรมพิเศษของมันเอง เป็นพื้นที่ใหม่ที่เราจะรวบรวมโครงสร้างและกิจกรรมต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นตัวตนของ Wonderfruit สุดๆ มาอยู่รวมกัน นอกจากนี้เราอยากเพิ่มมุมมองใหม่นอกเหนือจากประสบการณ์ภาคพื้นดิน หากเรามองภาพจากมุมสูง เราจะได้เห็นการออกแบบผังเมืองและโฟลว์ต่างๆ ภายในงาน อย่างพวกโครงสร้างหลักๆ ของงานแบบ Eco Pavilion และ Theatre of Feasts ที่ออกแบบโดย Ab Rogers Design ก็จะเห็นในอีกมุมที่แตกต่างออกไปหากมองจากด้านบน เราจะสามารถมองเห็นเป็นรูปทรงที่ตั้งอยู่ผสมผสานกับบึงน้ำ แนวป่า และพื้นที่ธรรมชาติทั่วทั้งงานอย่างลงตัว 

“การเพิ่มมุมมองแบบนี้ทำให้เรามองพื้นที่ในมิติที่ต่างจากเดิม เรามองว่าพื้นที่ทั้งหมดคือผืนผ้าใบที่สามารถสร้างสีสัน รูปทรง ให้เกิดเป็นภาพที่สวยงามได้ นั่นคือจุดตั้งต้นของการออกแบบ Living Village ให้เป็นรูปทรงสิ่งมีชีวิต”

ประติมากรรมจากประสาทสัมผัส

“เรามองการสร้าง Living Village คล้ายกับการทำงานประติมากรรม การปั้นรูปทรงขึ้นจากผืนดินที่มีอยู่ในธรรมชาติ  หัวใจของการออกแบบพื้นที่นี้คือการตีความเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนและพื้นที่ โดยเริ่มคิดจากขั้นพื้นฐานว่า คนเราใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่และสังคมที่ถูกออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งานตามปัจจัยชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ การศึกษา พื้นที่ส่วนกลาง เราตั้งคำถามต่อว่าจะเป็นยังไงถ้าคนหนึ่งคนจะกลายสภาพไปเป็นสถานที่จริงๆ เลย 

“เราคุยกันเรื่องคอนเซปต์นี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ตอนต้นปี จนกระทั่ง Ab Rogers Design วาดรูปร่างของตัว Creature นี้ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้มีหน้าตาเหมือนมนุษย์เสียทีเดียว แต่อิงจากอวัยวะส่วนสำคัญต่างๆ ของร่างกาย และแมตช์กับประสาทสัมผัสในการรับประสบการณ์ของคน เราใช้รูปทรงของอวัยวะมาออกแบบทั้งพื้นที่และโครงสร้าง และได้รูปร่างของสิ่งมีชีวิตที่แปลกใหม่น่าสนใจนี้ขึ้นมา”

ส่วนประกอบของความสนุก

“ในพื้นที่ด้านบนที่มีรูปทรงเหมือนหัวคือส่วนของหู ถูกแปลเป็นเวที Creature Stage สื่อถึงการรับรู้เรื่องอรรถรสทางเสียง นำเสนอวงดนตรีหลากประเภทของไทยและต่างชาติที่มีความโดดเด่นน่าสนใจในเนื้อหาของดนตรี และการแสดง ส่วนลิ้นเป็นพื้นที่รับรู้ทางการกินดื่ม เป็นที่ตั้งของโซนบริการเครื่องดื่ม The Ziggurat โดย Singha ที่จะรวบรวมเครื่องดื่มต่างๆ และอาหารหลากหลายวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน

“ส่วนมือนั้นสื่อถึงการสร้างสรรค์ ประกอบสร้าง เป็นที่ตั้งของกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เน้นการสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน อย่างเวิร์กช็อปของ Precious Plastic ที่รวบรวมเก็บฝาขวดพลาสติกมาผ่านขบวนการแปลงเป็นสิ่งของมีประโยชน์อื่นๆ อย่างถ้วยชาม กระถางต้นไม้ แผ่นปูฝาผนัง ถือเป็นการรีไซเคิลและอัพไซเคิล (แปลงสภาพของเสียให้เป็นวัสดุใหม่) ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะพลาสติก และพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งของคนทั่วไป  นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปอื่นๆ ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น การสอนงานประดิษฐ์ของไทย หรือการสร้างงานศิลปะที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ร่วมสร้างกับศิลปินด้วยเทคนิคพิเศษ นอกจากนี้เรากำลังวางแผนที่จะให้บริเวณมือนี้เป็นที่ตั้งของ Sustainability Pavilion ที่คัดเลือกจากผู้สมัคร 100 คนจากทั่วโลกให้มาออกแบบโครงสร้างใหม่เพื่อสื่อสารเรื่องราวความยั่งยืน และจัดแสดงเนื้อหาของโปรเจกต์ และกิจกรรมที่เราได้นำเสนอมาตลอด 6 ปีนี้

“Living Village ยังมีพื้นที่ส่วนกลางระหว่างรูปทรงอวัยวะต่างๆ ให้คนร่วมงานได้มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่กลางแจ้ง ทำกิจกรรมที่สนุก และได้ความรู้ร่วมกัน”

ก่อร่างสร้าง-ลด

“ความท้าทายที่สุดของเราในการทำงานนี้คือ การสร้างพื้นที่ขึ้นมาให้สอดคล้องกับพื้นที่ธรรมชาติ ด้วยความที่ Wonderfruit จัดงานอยู่บนพื้นที่ติดแนวภูเขาหลายลูก เราต้องปรับตัวให้เข้ากับภูมิประเทศหลากหลายรูปแบบ อย่างส่วนของพื้นที่ Living Village นั้นเป็นทางน้ำที่ระบายน้ำจากภูเขาลงสู่พื้นสนามรอบๆ เราต้องใช้เวลาศึกษาลักษณะภูมิประเทศอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจการทำงานของพื้นที่ตรงนี้จริงๆ การออกแบบรูปทรงของร่างกายของ Creature ต้องสอดคล้องกับแนวดินและกลุ่มต้นไม้ที่มีอยู่แล้ว และต้องมีระบบระบายน้ำอยู่เหมือนกัน

“พื้นที่นั้นมีการปั้นดิน ปลูกหญ้าและต้นไม้ ในส่วนของโครงสร้างหลักอย่างเวที Creature Stage จะใช้ผ้าพิเศษที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลจากขวดพลาสติก ซึ่งเราได้มาจาก Indorama บริษัทรีไซเคิลพลาสติกรายใหญ่ของโลก พวกเขารีดเส้นใย PE ขึ้นจากขวด เพื่อนำไปทอให้เป็นผืนผ้าที่จะมาประกอบเข้ากับโครงเวที การทำงานร่วมกันครั้งนี้เราถือว่าเป็นการริเริ่มที่สำคัญในการสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ซึ่งกำลังก่อมลพิษทั้งทางน้ำและทางบกทั่วโลกอย่างรวดเร็ว เราอยากให้โปรเจกต์นี้ได้ส่งเสริมแนวความคิดเรื่องการพัฒนาการจัดการขยะ อยากให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นว่าเราทุกคนสามารถช่วยกันลดขยะได้ โดยการปรับตั้งแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภค

“เราหวังว่า Living Village จะเป็นพื้นที่การนำเสนอความเป็นไปได้ทางความยั่งยืนเหล่านี้อย่างมีความหวังและสร้างสรรค์”

เพราะทุกคนเลือกใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ได้

“ทุกๆ ปีเราอยากนำเสนอเนื้อหางานและจัดงานให้ลึกซึ้งขึ้น การใช้พลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องการที่จะคิดค้น ปรับใช้วิธีใช้พลังงานอย่างน้ำและไฟฟ้าให้ยั่งยืน อย่างปีนี้เราจะผสมผสานระบบ permaculture (ระบบการเกษตรที่เป็นมิตรและสอดคล้องกับธรรมชาติ) เข้าไปกับจุดเติมน้ำดื่มที่มีอยู่ทั่วบริเวณงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อพืชผัก ปีหน้าเราก็หวังว่าจะออกแบบระบบอื่นๆ ให้ดีกว่าเดิม ทั้งงานโครงสร้าง งานศิลปะ พัฒนาในแง่ขบวนการออกแบบและสร้างอย่างยั่งยืน  

“สำหรับเรา Wonderfruit ไม่ได้เป็นเพียงเทศกาลแห่งความสนุกสนานที่เน้นเรื่องแนวคิดสีเขียว แต่มันคือเป็นแพลตฟอร์มในการทดลอง ค้นพบ แลกเปลี่ยน และนำเสนอวิธีการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืนที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ อยากให้ทุกคนลองมาใช้ชีวิตที่งานนี้ด้วยกัน ภายในไม่กี่วัน เราเชื่อว่าคุณจะได้พลังบวก แรงบันดาลใจ และเกร็ดความรู้ต่างๆ ไปลองปรับใช้กับชีวิตประจำวันของคุณแน่นอน”

 


ติดตามอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Living Village ได้ที่ wonderfruit.co/th
แล้วไปเจอกันที่วันเดอร์ฟรุ๊ต 12-16 ธันวาคม 2562 ซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ wonderfruit.co/th

AUTHOR