เข้าใจเรื่องความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และ ESG ในภาพใหญ่โดย ดร.ชญาน์ จันทวสุ จาก GC

กวาดตามองดูสื่อ เสวนา กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม และ ESG 

เราจะเห็นชื่อของ ดร.ชญาน์ จันทวสุ เป็น Speaker อยู่แถวหน้าเสมอ 

ด้วยตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ดร.ชญาน์เป็นตัวแทนขององค์กรออกมาพูดเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เขาทำมาตั้งแต่สมัยเรื่องนี้ยังไม่มีใครสนใจและพูดถึง 

GC เป็นหนึ่งในองค์กรไทยที่ทำงานด้านความยั่งยืนมายาวนานมาก ในอดีตพวกเขาพยายามทำให้คนเข้าใจเรื่องรีไซเคิลด้วยการออกสินค้าใกล้ตัวคนซึ่งทำมาจากพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ ลงทุนสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมดีต่อโลกง่ายขึ้น เช่น YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ช่วยให้คนนำขยะพลาสติกมาทิ้งเพื่อนำกลับมาผลิตใหม่ได้สะดวกขึ้น ปัจจุบัน ดร.ชญาน์ ออกมาพูดเรื่อง ESG หรือ Environment, Social และ Governance แนวคิดการพัฒนาองค์กรที่คิดเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญ ด้วยความเชื่อว่านี่คือหนทางของการไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ ปีนี้เห็นองค์กรแทบจะทุกอุตสาหกรรมออกมาพูดเรื่องนี้กันแทบทุกอาทิตย์ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ a day อยากคุยกับตัวแทนของ GC เพราะเชื่อว่าในฐานะผู้มาก่อน องค์กรนี้มีวิสัยทัศน์จากการมองเรื่องนี้ในภาพกว้าง ครอบคลุมทั้งในระดับอุตสาหกรรม ระดับบุคคลทั่วไป และเห็นหนทางในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทุกครั้งที่ให้สัมภาษณ์สื่อ ดร.ชญาน์คิดเสมอว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่แค่ออกมาพูด แต่คือการให้ความรู้ ให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องนี้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะการมีความรู้ที่ถูกต้อง คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เราฝ่าวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รอเราอยู่ข้างหน้าได้ในที่สุด 

ปีนี้เราเห็นทุกบริษัททำเรื่องความยั่งยืนกันหมด คุณคิดว่าเพราะอะไร ทำไมต้องเป็นปีนี้

ผมว่าเป็นเทรนด์ ไม่ใช่เฉพาะที่เมืองไทย ทั่วโลกก็ทำ ก่อนหน้านี้เราคุยกันเรื่องการประชุม COP26 (การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์) มีประมาณ 200 ประเทศที่สนใจ แล้วก็เป็นปีแรกที่ไม่ได้มีภาครัฐเข้าร่วมอย่างเดียว มีทั้งเอกชน สื่อ และคนทั่วไปมาร่วมเยอะ 

เราเห็นโมเมนตัม เมื่อก่อนคนคิดว่าเรื่องนี้รอได้ ไกลตัว แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่ ตั้งแต่ปีที่แล้วเราเจอวิกฤตโควิดต่อเนื่อง มีสงคราม มันเหมือนเป็นข้อพิสูจน์ว่าจริงๆ เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อมีสงคราม วิกฤตพลังงานและอาหารจะตามมา มันก็เลยกลับมาเรื่องของ ESG ว่าที่เราทำๆ กันอยู่ยั่งยืนจริงหรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องสงครามการค้า (Trade War) ระหว่างอเมริกากับจีน มีความขัดแย้งเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทำให้ supply chain การผลิตเปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อก่อนมัน optimise ในแง่ราคา กระจายตัวไปทั่วโลก ใครทำตรงไหนถูกก็ไปผลิตตรงนั้น แต่พอมีเรื่องสงครามราคา บวกกับโควิด พวกนำเข้าส่งออกเปลี่ยนไปเยอะ เหมือน Deglobalization เมืองไทยก็เจอ เราไม่สามารถนำเข้าของที่จำเป็นอย่างเครื่องมือการแพทย์และเครื่องป้องกันได้เลยเพราะคนที่เขาอยากใช้ในแต่ละประเทศก็เก็บไว้ คนที่มีเงินก็ไปแย่งของกัน เราคงอยู่แบบนั้นไม่ได้ ทำให้เราคิดใหม่ว่าบางเรื่องก็จำเป็นต้องทำในแง่ของการรักษา supply chain ให้ดีขึ้น ภาครัฐรวมถึงเอกชนก็เห็นความสำคัญว่า มันถึงเวลาที่ต้องมาดูเรื่องนี้อย่างจริงจัง มันเลยเป็นที่มาของแนวคิด ESG แม้จะมีเหตุผลทางธุรกิจส่วนนึง แต่ผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อนมันเห็นเร็วขึ้น อิมแพ็กต์มากขึ้น 

เมื่อก่อนพลังงานทดแทนทุกคนก็มองว่ารอทำตามแผน ลด 1.5 หรือ 2 องศา ซึ่งก็เป็นการมอง 20-30 ปี พอยุโรปมีประเด็นเรื่องการนำเข้าพลังงานก็ปรับตัวเร็วขึ้นอีก เกิดแนวความคิดสองค่าย ค่ายหนึ่งกลับไปใช้พลังงาน conventional เหมือนเดิม เช่น กลับไปใช้พลังงานนิวเคลียร์ อีกค่ายบอกว่าฉันต้องทำเรื่องพลังงานทดแทน ซึ่งก็ใช้เวลา แต่คงเร็วกว่าแผนเก่าที่เคยคิดไว้ 

เราอยู่ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัว เพราะเวลาคนที่เขาทำงานด้านนี้ในยุโรป เขาไม่ได้ทำเฉพาะในรั้วตัวเอง แต่มีผลกระทบถึงทุกคนที่ซัพพลายของเขาด้วย ถ้าเคยได้ยินเรื่องกำแพงภาษีที่จะมาในสองสามปี เมื่อก่อนเราอาจจะทำเป็นจุดๆ แต่เราคิดว่าอีกหน่อยมันจะขยายผลไปค่อนข้างเยอะ ถ้าเราผลิตเองในเอเชียแล้วเราส่งออกไปยุโรป แต่เราจะมี carbon footprint สูงกว่าเขา เราก็จะมีต้นทุนเพิ่ม ทำให้เราแข่งขันใน supply chain ลำบาก ถามว่าจะรออีก 10 ปีค่อยปรับตัวได้มั้ย ผมว่าไม่ทัน เรื่อง ESG จึงจำเป็น คือไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ได้พูดถึงแค่ผลกระทบทางธุรกิจเพราะมันเป็นเรื่องเดียวกัน อีกหน่อยสิ่งแวดล้อมจะมาเป็นต้นทุนทางธุรกิจ 

ESG กลายเป็นหัวข้อยอดฮิตสำหรับทุกคน GC ทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้อย่างไร 

ผมว่า ESG ต้องถูกปรับให้เข้ากับบริบทของธุรกิจ GC อยู่ในธุรกิจที่เป็นภาคการผลิต เป็น heavy industry เราใช้ทรัพยากรเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เหมือนอุตสาหกรรมเหล็ก ซีเมนต์ ปิโตรเคมี วิธีการปรับตัวของเราคือต้องลดการใช้พวกทรัพยากรให้มากที่สุด หรือสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ แล้วเราถึงมาดูว่าผลกระทบในเชิงของ carbon footprint ด้านสิ่งแวดล้อมว่ามีมากน้อยแค่ไหน 

เราไม่ได้มองว่าเป็นคนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจเราเป็นภาพเดียวกับสิ่งที่เราจะมอบให้ลูกค้าด้วย เมื่อก่อนถ้าเราทำของที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้มีคนอยากใช้ แต่ถามว่าให้จ่ายเพิ่มได้มั้ย ไม่จ่าย นี่คือเทรนด์ที่ผ่านมา แต่ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น มีการทำผลสำรวจว่าปัจจุบันต่อให้สินค้าแพงขึ้น 10-20% แต่ถ้ามีที่มาที่ไป ผลิตแล้วไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม หรือกระทบน้อยลง เขาก็ยินดีจ่าย กลายเป็นเทรนด์ของโลกวันนี้ เรามองว่าเป็นธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต ก็เลยต้องปรับตัว 

ESG เป็นภาพเดียวกันกับธุรกิจ ไม่แยกส่วน ถ้าผลิตภัณฑ์ของเราตอบโจทย์ ทั้งในแง่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นของที่ตรงกับตลาด คนอยากใช้ ก็คือ ESG ที่สามารถเอามาอยู่ในธุรกิจของเราได้

GC ทำเรื่องความยั่งยืนมานานมาก ในช่วงหลายปีมานี้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่น่าสนใจและเกิดขึ้นเฉพาะในบ้านเราบ้าง

ผมว่าอย่างแรก พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป อาจจะด้วยโควิดหรืออะไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีนี้ คนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งในแง่การดูแลสุขภาพตัวเอง ของที่ใช้ต้องเป็นของที่ดูแล้วไม่ได้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความจริงมันไม่ใช่เรื่องของสินค้าอย่างเดียว เป็นเรื่องของคนใช้ด้วย ถ้าเรามีโอกาสช่วยให้ผลิตภัณฑ์นั้นออกมาแก้ปัญหาให้เขา สมมติเราทำบรรจุภัณฑ์ให้ทิ้งแล้วย่อยสลายได้ คนใช้ก็สบายใจว่าของที่เราใช้มีคนดูแลต่อ มีบางคนที่คิดและอยากหาของรูปแบบนี้ เมื่อก่อนไม่มีทางเลือกอะไร เราเลยคิดว่า GC ควรจะทำอะไรที่เป็นทางเลือก ถ้าคนมองว่าเรื่องนี้สำคัญ 

พฤติกรรมของผู้ใช้คนไทยเทียบกับประเทศอื่นเป็นอย่างไร ต่างกันเยอะมั้ย 

ความจริงถ้าเราดู Megatrend สำหรับเมืองไทย ก็ใกล้เคียงกับทั่วโลก เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา เราเริ่มพัฒนาชุมชนเมือง เริ่มมีการใช้ของที่สะดวกมากขึ้น ตอนนี้ส่วนใหญ่เราซื้อของตามร้านทั่วไป ไม่ได้ไปตลาดสด ทุกอย่างจะอยู่ในบรรจุภัณฑ์อย่างดี พวกนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมือง ความสะดวกเข้ามาเยอะขึ้น ถามว่าเราใช้บรรจุภัณฑ์เยอะมั้ยเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว น้อยมาก น้อยกว่า 2-3 เท่าต่อหัวต่อปี แต่ทำไมบ้านเขาไม่มีขยะ บ้านเรามี เราไม่ได้ใช้เยอะกว่าคนอื่น แต่วิธีการบริหารจัดการเราอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะเราพัฒนาเป็นชุมชนเมืองมากขึ้นด้วย ความสะดวกสบายเข้ามามากขึ้น โดยปกติเราใช้ของพวกนี้เยอะขึ้นอยู่แล้วโดยที่ไม่รู้ตัว แต่ทำยังไงให้พอใช้แล้วไม่ได้มีผลกระทบในเชิงลบมากนัก ก็คงทำได้สองแบบ สินค้าคงเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่พฤติกรรมผู้บริโภคใช้แล้วก็คงต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งก็ต้องบอกว่าเมืองไทยมีประเด็นตรงนี้พอสมควร เช่น สมมติเราทิ้งขยะ คัดแยกที่บ้าน รถขยะเก็บแล้วมารวมกัน แล้วจริงๆ ของมันไปไหน มันถูกแยกมั้ย 

วันนี้ GC พยายามชวนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเรื่องนี้ เราทำแพลตฟอร์มเพื่อสร้าง ecosystem ขึ้นมาเรียกว่า YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม อย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้คนที่อยากจะช่วยสามารถคัดแยกได้ตั้งแต่ต้นทาง เขาจะรู้ทันทีว่าพอเอาขยะไปทิ้งแล้วมันไปไหน หรือถูกรีไซเคิลแล้วออกมาเป็นอะไร ของพวกนั้นไปช่วยสังคมต่ออย่างไร อันนี้ก็จะทำให้พฤติกรรมคนเริ่มเปลี่ยน หมายความว่าจริงๆ มันมีโอกาสที่จะ ถ้าเขาไม่ได้ทิ้งแล้วไม่ได้ไปฝังกลบ เขาอยากมีทางเลือกขอเอาไปใช้ประโยชน์ก็สามารถทำได้

เราเห็นทีม GC เข้าไปคุยกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ บริการของคุณจะไปร่วมกับ กทม. อย่างไรบ้าง

ผมว่า กทม. มีนโยบายที่ดีๆ หลายอย่าง อย่างเรื่องการบริหารจัดการขยะก็เป็นปัญหาของ กทม. มานานพอสมควร ท่านชัชชาติก็มีนโยบายว่างั้นลองทำเป็น pilot หรือนำร่องเป็นเขตๆ ก่อน มีรถแยกขยะออกมาโดยเฉพาะ ซึ่งมันก็ตรงที่ GC อยากทำ สมมติว่าสวนสาธารณะของกรุงเทพฯ มีคนใช้ต่อวันเยอะ ไม่ได้มีการแยกจุดทิ้งขยะชัดเจน เราก็เสนอว่าทำไมไม่ทำเป็นต้นแบบขึ้นมา นำพลาสติกหรือขวดน้ำใช้แล้วจากบ้านมาทิ้งที่ drop point ทุกคนมีส่วนร่วมในการนำของกลุ่มนี้กลับมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น เอามาทำเสื้อรีไซเคิลให้นักวิ่งที่มาใช้ในสวน เป็นต้น หรือเอาไปทำเป็นม้านั่งในสวน คนก็เห็นประโยชน์ว่า มันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะทำของพวกนี้ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย คนก็จะเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

จุดเด่นอย่างหนึ่งของ GC คือ ออกตัวอย่างสินค้าใกล้ตัวคนที่นำขยะพลาสติกกลับมาผลิตใหม่เยอะมาก การทำเรื่องนี้สำคัญกับ GC อย่างไร

เราอยากให้มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวคน เราอยู่ต้นทาง ทำเรื่องพลาสติกก็จริง แต่สุดท้ายเรื่องสิ่งแวดล้อมก็กลับมาหาเรา พลาสติกเป็นของที่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าคนปลายทางซึ่งเป็นลูกค้าของลูกค้าเราไม่เข้าใจ 100% ว่าจะใช้งานพลาสติกอย่างไร มันก็จะเกิดปัญหาอย่างที่เราเล่าให้ฟัง ถ้าเราทำตัวอย่างที่ใกล้ตัวคนทั่วไปได้มากขึ้น เราก็จะมีความหวัง คนใช้มีความรับผิดชอบ ลดผลกระทบจากพลาสติก

ข้อดีของเมืองไทยคือประเทศเราติดน้ำเกือบจะครึ่งหนึ่ง ข้อเสียคือถ้าบริหารจัดการไม่ดีจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศเราอย่างเดียว มันไปทั่วโลก เราถึงขึ้นเป็นประเทศอันดับ 6 ที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเล ทั่วโลกก็มาบ่นว่าเราเป็นตัวสร้างปัญหา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ อีกหน่อยเราอาจโดนภาษีเพิ่ม เพราะในฐานะที่เป็นประเทศสร้างปัญหาก็ต้องช่วยกันรับผิดชอบ ถ้าเราลดตรงนี้ได้ คนทั่วไปจะมองเมืองไทยดีขึ้น การส่งออกสินค้าจะมีผลกระทบน้อยลง 

ทำงานด้านนี้มานานๆ คุณเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นบ้างมั้ย

ผมว่าดีขึ้น อย่างที่เล่าให้ฟัง คนรุ่นใหม่อยากช่วยเรื่องนี้เยอะมาก มีไอเดียดีๆ ตลอดเวลา คือของที่เราทำมา GC ไม่ได้คิดคนเดียว ทางลูกค้า คู่ค้า หรือแม้แต่คนทั่วไปที่มาร่วมแคมเปญกับเราก็ให้ไอเดียดีๆ มาก เราก็มาช่วยกันทำเป็นของที่จับต้องได้ อย่างงานของ กทม. ก็ต่อยอดมาจากโครงการ แยกขวด ช่วยหมอ ที่เราทำช่วงโควิด ร่วมกับพาร์ตเนอร์จำนวนมากชวนแยกขวด PET ไปทำชุด PPE เราเอามาต่อยอดเป็นเสื้อที่ช่วยพนักงานกวาดถนน เป็นเสื้อ safety ที่เรืองแสงได้ในช่วงเช้ามืด เป็นประโยชน์ทั้งทำให้ขยะลดลง และทำให้พนักงาน กทม. มีความปลอดภัยมากขึ้น 

ลูกค้าที่เข้ามาหา GC วันนี้ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนอย่างไร

ต่างเยอะ เมื่อก่อนเราทำงานเป็น B2B ลูกค้าเราจะเป็นบริษัทขึ้นรูปพลาสติก เป็นคนแบบเถ้าแก่ทั้งหลาย แต่วันนี้คนที่เข้ามาคุยกับเราจะเป็น SME เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ที่สำคัญคือคนรุ่นใหม่มาร่วมกับเราเยอะมาก ทำให้ GC ใกล้คนทั่วไปมากขึ้น ได้ input ดีๆ เข้ามาให้เราต่อยอด ความจริงการเอาวัสดุใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ผมว่าทำกันเยอะแยะ เพียงแต่ถ้าเราทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนหลากหลายมากขึ้น จะทำให้เราขยายผลได้เร็วขึ้น มันเป็นเรื่องที่ GC ทำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างดี 

มองในแง่ ESG ปีหน้า GC จะโฟกัสไปที่การทำงานแบบไหน

ผมว่าเราทำตาม roadmap เพียงแต่บางประเด็นเป็นเรื่องที่ต้องขยายผล เช่น เรื่องรีไซเคิล เราต่อยอด โรงงานเราเสร็จแล้วปีนี้ ในแง่ความสมบูรณ์ของ supply chain จะครบวงจรมากขึ้น ร่วมกับ YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม และแคมเปญต่างๆ จะกลายเป็นสเกลขนาดใหญ่ มีผลกระทบชัดเจนในประเทศ ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรามีคำมั่นสัญญาเรื่อง net zero แม้ทุกคนบอกว่ารอได้ อีกเกือบ 30 ปี GC บอกว่ารอไม่ได้ ถ้าไม่ทำวันนี้จะมีผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน เราเริ่มลงทุนเทคโนโลยี ทำเรื่อง carbon capture ทีมต่างประเทศที่อเมริกากำลังลงทุนในด้าน venture capital เพื่อหาเทคโนโลยีเข้ามา เป็นเรื่องที่ต้องทำวันนี้ 

อีกงานที่เราคิดว่าต้องทำวันนี้ เราเรียกว่า compensation หมายถึงการลดหรือกักเก็บคาร์บอนโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม  คาร์บอนที่เราปล่อยจากปล่องวันนี้จะเอาไปเก็บไว้ใต้ดิน แต่มันทำไม่ได้ 100% อยู่แล้ว ทุกอุตสาหกรรม เราเลยต้องใช้รูปแบบอื่นในการกักเก็บคาร์บอนในรูปแบบสอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้เลยก็คือเรื่องปลูกป่า 

สำหรับเมืองไทย การปลูกป่าแล้วได้คาร์บอนกลับมาเป็นเรื่องใหม่ ยังไม่ค่อยมีใครทำ เราคุยกับภาครัฐว่าเป็นไปได้มั้ยที่จะใช้พื้นที่ภาครัฐที่มีอยู่แล้ว มาแบ่งกัน เอกชนเป็นคนลงทุนเคลียร์พื้นที่ปลูกป่า เราได้คาร์บอนเครดิตกลับมา ซึ่งเราไม่ได้ขายแต่เอามาใช้ชดเชยหรือ offset สิ่งที่เราปล่อยออก เหมือนเป็น carbon sync รูปแบบหนึ่ง ภาครัฐก็สนับสนุน เริ่มจากกรมทรัพยากรชายทะเลและชายฝั่ง ปลูกป่าชายเลนซึ่งเป็นป่าที่ดีที่สุดในการกักเก็บคาร์บอน ปีนี้ก็มีการแบ่ง พื้นที่ส่วนหนึ่งให้เอกชนเข้าไปลงทุนปลูก GC ก็ไปร่วม 

ปกติการปลูกป่าเพื่อชดเชยคาร์บอนต้องใช้ต้นทุนเยอะมากในการดูแล ทำไมเราเลือกทางนี้

เรามองว่าอย่างแรกมันช่วยสร้างแนวกันคลื่นให้ประเทศ สองคือได้ชดเชยคาร์บอน ได้ทำเรื่อง biodiversity (ความหลากหลายทางชีวภาพ) ขึ้นมาด้วย สาม ทำให้ชุมชนในพื้นที่มีรายได้ในการเข้าไปใช้พื้นที่ส่วนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงหรืออาชีพอื่น ที่สำคัญคือป่าที่ปลูกได้คาร์บอนเครดิตกลับมาค่อนข้างเยอะ ใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์ ช่วยลดคาร์บอนในประเทศ 

ต้นทุนก็ถือว่าเยอะ แต่เราคิดว่าอีกหน่อยด้วยกลไกต่างๆ คาร์บอนจะเป็น new currency ราคาสูงขึ้นแน่นอน หลายคนจะแย่งกันเพราะพื้นที่ตรงนี้มีจำกัด เมืองไทยมีพื้นที่เกษตร 350 กว่าล้านไร่ ปลูกป่าได้จริงๆ ประมาณ 10% มีป่าเก่าซึ่งในเชิงการคิดค่าชดเชยคาร์บอนไม่เอามานับเพราะป่าโตเต็มที่แล้ว เราก็ต้องไปปลูกในพื้นที่เสื่อมโทรมซึ่งเหลือนิดเดียว เราไม่เหมือนเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ทั้งประเทศเขาทำเรื่อง carbon capture ด้วยการปลูกป่าแทบจะได้ 50% 

ถ้าไม่ทำวันนี้ เราจะไม่มี 10% นี้ไปเป็น carbon sync ในอนาคต ซึ่งไม่พอ ต้องไปทำเรื่อง carbon capture ด้านอื่นเสริมด้วย ต้นทุนวันนี้ก็ถือว่าสูง แต่ถ้านับไปอีก 20-30 ปีวัดค่า carbon utility เทียบกับสากลแล้วไม่ได้สูงมาก 

ถ้ามองในมุมคนทั่วไป คุณคิดว่าทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมหันมาเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น

ผมว่าต้องให้ความรู้ โลกร้อนกระทบกับทุกคน โดนกันถ้วนหน้า ความจริงเมืองไทยไม่ได้ปล่อยคาร์บอนเยอะ ไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของโลกนี้ แต่ถ้าไปดูผลกระทบจากงานวิจัย เราเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่จะได้รับผลกระทบเพราะอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ใกล้ทะเล มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่า 9 เมืองในโลกที่จะหายไปในปี 2030 ก็มีกรุงเทพฯ ด้วย เมืองอย่างอัมสเตอร์ดัมก็ติด แต่เขามีระบบการบริหารจัดการที่ดี ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เขาก็มีระบบป้องกันระดับหนึ่ง เมืองไทยถ้าสร้างระบบเหมือนเขา ต้องใช้อีก 30 ปีซึ่งคงไม่ทัน ลำบากเรื่องงบประมาณ เราก็ต้องรับผลกระทบจากภัยธรรมชาติเต็มๆ ถ้าเราไม่เริ่มวันนี้ ปล่อยเหมือนเดิม อาจจะไม่เยอะแต่มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องทำ มันต้องช่วยกันทุกประเทศ 

ตอนที่คุยในงานประชุม COP ถ้าเรามีโครงการนำร่องดีๆ สามารถไปขอเงินทุนจากประเทศพัฒนาแล้วมาช่วยเสริม ถ้าเราไม่เริ่มทำ ไม่มีกำลังที่จะทำด้วยตัวเอง 100% ก็ต้องอาศัยเงินทุนจากนอกประเทศ ผมเลยคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้คนทั่วไป ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน บุคคลทั่วไป แล้วเราต้องมาประเมินว่าอะไรทำได้เร็ว อะไรทำได้ช้า ที่สำคัญคือช่วยลดผลกระทบได้เยอะมั้ย 

ถ้าเรามี roadmap ของประเทศชัดเจน จะทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร และเมื่อไหร่ 

คุณน่าจะรู้ความเคลื่อนไหววงในพอควร ตอนนี้ภาครัฐทำอะไรบ้าง

เรื่องใหญ่วันนี้ที่ภาครัฐออกมาทำคือ ปรับโครงสร้างพลังงาน เอาพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น ลดพลังงานจากฟอสซิลลง มันคงใช้เวลา ผู้เชี่ยวชาญทุกคนบอกว่าความมั่นคงทางพลังงานของประเทศเราวันนี้ต่ำ เพราะเราใช้แก๊สธรรมชาติเยอะมาก น้ำมันก็นำเข้า แก๊สธรรมชาติวันนี้ก็จะหมด เราก็ต้องนำเข้าจากเพื่อนบ้าน วันหนึ่งเขาอารมณ์เสียขึ้นมา ปิดวาวล์ ไฟดับ 30% ของประเทศ คนไทยคงอยู่ไม่ได้ ถ้าจะปรับไปใช้พลังงานทดแทนก็ลงทุนมหาศาล และใช้เวลา นี่เป็นเรื่องที่รู้ว่าต้องทำอะไรแต่ต้องค่อยๆ ขยับ ถือเป็น major investment ของประเทศ 

แต่เรื่องง่ายๆ ในภาคอุตสาหกรรมที่ GC พยายามทำ เช่น การประหยัดพลังงาน เอาวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ทำเรื่องของ carbon sync ในประเทศให้มากที่สุด เรื่องพวกนี้เริ่มทำได้เลยและช่วยได้ระดับหนึ่ง เราอยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะสมมติ GC ไปปลูกป่า เราอยากให้คนในพื้นที่ช่วยกันดูแล เขาก็ต้องมองว่าป่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาชุมชนเขาด้วย และช่วยประเทศในภาพรวมได้ด้วย แบบจับมือทำร่วมกันให้สำเร็จ

AUTHOR