#MeToo แฮชแท็กที่เปลี่ยนข่าวฉาวของฮาร์วีย์ ไวน์สตีนให้เป็นการเคลื่อนไหวของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศทั่วโลก

เวลานี้คงไม่มีข่าวใดฉาววงการฮอลลีวูดไปมากกว่าการล่วงละเมิดทางเพศนักแสดง นางแบบ และลูกจ้างหญิง ซึ่งกินเวลายาวนานเกือบ 30 ปีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) 

สำหรับคนที่ไม่คุ้นชื่อชายผู้นี้ ไวน์สตีนคือโปรดิวเซอร์มือทองผู้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์คุณภาพจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Pulp Fiction (1994), Good Will Hunting (1997), Shakespeare in Love (1998), The King’s Speech (2010), Sing Street (2016) และอื่นๆ อีกมากมายเกินจะไล่เรียงได้หมด

แม้รายชื่อภาพยนตร์ที่เขาอำนวยการสร้างจะยาวเหยียดยิ่งกว่าหางว่าว แต่ก็มีอีกรายชื่อหนึ่งที่ยาวเหยียดเทียบเท่ากัน-รายชื่อผู้หญิงที่ไวน์สตีนคุกคามทางเพศยังไงล่ะ โดยในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียหายทยอยออกมาแฉเรื่องราวที่เกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน เป็นต้นว่าแอชลีย์ จัดด์ (Ashley Judd), กวินเน็ธ พัลโทรว์ (Gwenyth Palthrow), แอนเจลีนา โจลี (Angelina Jolie), คาร่า เดอเลวีญ (Cara Delevinge), โรส แม็กโกแวน (Rose McGowan), เคต เบ็กคินเซล (Kate Beckinsale), เลอา เซดู (Lea Seydoux), อาเซีย อาร์เจนโต (Asia Argento) และ ลูพีตา ย็องโก (Lupita Nyong’o)

#MeToo

รายชื่อเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนจากผู้เสียหายที่เปิดเผยตัวจำนวนกว่า 40 ราย (ยังไม่นับผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวซึ่งไม่รู้ว่ามีจำนวนมากเท่าไร) น่าตกใจที่พวกเธอล้วนเป็นนักแสดงและนางแบบอันดับต้นๆ ของวงการ เป็นผู้หญิงที่ ‘ทรงอิทธิพล’ ในแบบของตัวเอง แต่พวกเธอก็ยังตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศอยู่ดี

โดยสิ่งที่จุดประกายการออกมาแฉครั้งนี้คือบทความใน The New York Times ซึ่งเปิดเผยว่าไวน์สตีนได้จ่ายค่าชดเชยให้กับผู้หญิงที่ตนล่วงละเมิดทางเพศอย่างน้อย 8 ราย เพื่อปิดปากไม่ให้พวกเธอพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทว่าหลังจากบทความเผยแพร่ออกไป ทนายของเขาก็ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไวน์สตีนก็ยังคงลอยนวลอยู่นอกเงื้อมมือของกฎหมาย

สิ่งที่ใกล้เคียงกับบทลงโทษที่สุดที่ไวน์สตีนได้รับคือการถูกไล่ออกจากบริษัท The Weinstein Company ที่เขาร่วมก่อตั้งกับบ๊อบ ไวน์สตีน (Bob Weinstein) ผู้เป็นน้องชาย นอกจากนี้ภรรยาที่ใช้ชีวิตร่วมกันมากว่า 10 ปีอย่างจอร์จินา แชปแมน (Georgina Chapman) ดีไซน์เนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Marchesa ก็กำลังดำเนินการหย่าขาดจากไวน์สตีนอีกด้วย

เรื่องราวคล้ายจะจบลงเพียงเท่านี้ หากนักแสดงสาวชาวอเมริกัน อลิซซา มิลาโน (Alyssa Milano) ซึ่งเคยปรากฏกายในซีรีส์เรื่อง Charmed (1998 – 2006) ร่วมกับโรส แม็กโกแวน หนึ่งในผู้เสียหาย ไม่ออกมาทวีตว่า ‘หากคุณเคยถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ จงเขียนสเตตัสว่า ‘Me Too’ แล้วพวกเราอาจจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจว่าปัญหานี้ใหญ่โตเพียงใด’

เท่านั้นแหละสเตตัสและทวีตพร้อมแฮชแท็ก #MeToo จากทั้งผู้หญิงและผู้ชายจึงหลั่งไหล่ท่วมท้นโลกอินเทอร์เน็ต บางสเตตัสมาจากคนดังในแวดวงต่างๆ บางสเตตัสมาจากคนธรรมดาในทุกสายอาชีพ บางสเตตัสมีเพียงแฮชแท็กดังกล่าว และบางสเตตัสก็มาพร้อมกับเรื่องเล่าชวนหดหู่ใจ โดยใน 24 ชั่วโมงแรก ในทวิตเตอร์มีคนทวีตแฮชแท็กนี้มากกว่า 1 ล้านราย ส่วนในเฟซบุ๊กก็มีการโพสต์หรือตอบสนองกับ #MeToo มากกว่า 12 ล้านครั้งทั่วโลก

#MeToo

ในประเทศไทยเองก็มีผู้โพสต์เรื่องราว #MeToo อยู่ไม่น้อย ซึ่งเมื่อได้อ่านแล้วเราก็ได้แต่กด Sad แต่พอได้อ่านมากเข้าและเริ่มจับจุดร่วมได้ว่า การล่วงละเมิดทางเพศนั้นเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวมิดชิดแค่ไหน อยู่ในสถานที่คนพลุกพล่านเพียงใด ความรุนแรงทางเพศก็ยังเกิดขึ้นได้ ราวกับว่าไม่มีอะไรที่สามารถหักห้ามไม่ให้เรื่องพรรค์นี้เกิดขึ้น เราจึงเริ่มกด Angry พร้อมตั้งคำถามว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าเขียน อ่าน และกดรีแอ็กชั่นตอบสนองเรื่องราวเหล่านี้บนอินเทอร์เน็ตได้หรือไม่

เพราะจริงอยู่ที่แฮชแท็กนี้ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงสเกลที่แท้จริงของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ช่วยบรรเทาความรู้สึกโทษตัวเองของเหยื่อ รวมทั้งช่วยให้พวกเขาและเธอรู้ว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวเดียวดายบนโลกใบนี้ แต่ #MeToo ก็ไม่ได้ชักชวนให้เหยื่อออกมาแจ้งความ เดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ชุมนุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเยียวยาจิตใจ และไม่แม้กระทั่งชวนให้พวกเราขุดลึกถึงที่มาที่แท้จริงของปัญหาอย่างแนวคิดปิตาธิปไตยที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมโลก จนมีกระแสโต้กลับว่า #MeToo ทำได้เพียงกระตุ้นให้ผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศขุดคุ้ยความทรงจำอันแสนร้าวรานขึ้นมาอีกครั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ อันที่จริงการเคลื่อนไหวในนาม Me Too ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว (ก่อนพวกเราจะมีแฮชแท็กใช้กันด้วยซ้ำ!) นักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ทาราน่า เบิร์ก (Tarana Burke) คือผู้ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงผิวสีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ภาครัฐมักมองข้ามและไม่ส่งความช่วยเหลือใดๆ มาให้ โดยคำว่า Me Too นั้นมาจากการที่เบิร์กฟังประสบการณ์เลวร้ายของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งแล้วพูดอะไรไม่ออก เธอได้แต่คิดในใจว่า ‘Me Too’ หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ เพราะเธอเองก็มีประสบการณ์เลวร้ายไม่ต่าง

หลังจาก #MeToo กลับมาโด่งดังอีกครั้ง เบิร์กได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ www.bustle.com ว่า สำหรับเธอ การพูดว่า Me Too เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของขั้นตอนการเยียวยาเท่านั้น แต่สิ่งที่เธอพยายามทำมากกว่านั้นคือการจัดเวิร์กช็อป สัมมนา และการบำบัดกลุ่มเพื่อช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการประจำองค์กรไม่แสวงหากำไร Girls for Gender Equity (GGE) ในย่านบรูกลินของมหานครนิวยอร์ก

หากใช้วิธีคิดแบบเดียวกับเบิร์ก คำถามสำคัญสำหรับพวกเราในวันนี้คือ เราจะพาแฮชแท็กไปไกลกว่านี้ได้อย่างไร เราจะพามันออกจากอินเทอร์เน็ต แล้วพามันเข้าไปสู่ห้องเรียน ห้องของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ห้องของผู้ออกกฎหมาย รวมทั้งพามันเข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ทุกผู้ทุกคนได้อย่างไร เพื่อก้าวผ่านการเยียวยาไปสู่การป้องกัน (ที่มิใช่การป้องกันตัวของเหยื่อ แต่เป็นการป้องกันไม่ให้คนเราคิดว่ามีสิทธิคุกคามทางเพศผู้อื่น)

เพราะหากไม่ต่อยอดไปไกลกว่านี้ พวกเราก็คงได้แต่พูดว่า ‘ฉันก็เหมือนกัน’ ต่อไป เหมือนที่เบิร์กและเหล่าผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศเริ่มต้นพูดตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน และยังคงพูดมาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอะไรๆ จะยังคล้ายเดิม แต่อีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้าอะไรๆ อาจเปลี่ยนไปก็ได้

ซึ่งจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเราๆ ท่านๆ นี่แหละ


อ้างอิง

Delmore, Erin. “How Tarana Burke Wants To Take #MeToo To The Next Level.” Bustle.com. (accessed October 27, 2017).

Gentlemen, Emila and Joanna Walters. “#MeToo Is Raising Awareness But Taking Sexual Abuse To Court Is A Minefield.” Theguardian.com. (accessed October 27, 2017).

Gilbert, Sophie. “The Movement of #MeToo.” Theatlantic.com. (accessed October 27, 2017).

Kantor, Jodi and Megan Twohey. “Harvey Weinstein Paid Off Sexual Harassment Accusers For Decades.” Nytimes.com. (accessed October 27, 2017).

Khomami, Nadia. #MeToo: How A Hastag Became A Rallying Cry Against Sexual Harassment.” Theguardian.com. (accessed October 27, 2017).

AUTHOR