#การศึกษาฆ่าฉัน แคมเปญติดเทรนด์อันดับ 1 ที่อยากชวนผู้ประสบภัยทางการศึกษาออกมาเป็นกระบอกเสียงให้ตัวเอง

Highlights

  • #การศึกษาฆ่าฉัน คือแคมเปญรณรงค์เรื่องการละเมิดสิทธิในโรงเรียน โดยหยิบ 5 ประเด็นปัญหาที่เด็กนักเรียนไทยต้องเจอมาตีแผ่เป็นการแสดง ณ ลานหน้าหอศิลปกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562
  • มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ และเพื่อนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท รุ่นที่ 8 คือกลุ่มคนเบื้องหลังแคมเปญนี้ ภาพศพเด็กนักเรียนที่พวกเขาแสดงออกไม่เพียงแต่ทำให้คนดูตระหนักถึงปัญหาที่มีอยู่จริงในระบบ แต่ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้ชาวทวิตเตอร์ออกมาเปิดอกถึงประสบการณ์ส่วนตัวจนแฮชแท็กติดเทรนด์อันดับ 1
  • มินบอกว่าการไม่ยอมจำนนแบบนี้เป็นสิ่งที่เขาอยากให้เกิดขึ้นที่สุด เพราะมันคือการแสดงให้คนที่จำนนต่อระบบเห็นว่าเราสามารถคิดต่างได้ ส่งเสียงได้ และบางทีมันอาจจะเป็นสิ่งเดียวที่นักเรียนตัวเล็กๆ อย่างพวกเขาทำได้จนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ถ้าใครไปเดินเที่ยวหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (bacc) คงสังเกตเห็นไทยมุงกลุ่มใหญ่กำลังรุมดู ‘ศพนักเรียน’ 5 ศพที่นอนกระจายกันอยู่บริเวณลานด้านหน้า บางศพมีรอยแผล บ้างมีรอยฟกช้ำ บ้างจมอยู่ในกองเลือด แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกศพมีเหมือนกันคือกระดาษติดตัวที่อธิบายว่าพวกเขาตายเพราะอะไร

เปล่าหรอก นี่ไม่ใช่เหตุการณ์สังหารหมู่ที่ฆาตกรใช้ปืนกราดยิงเหมือนในโรงเรียนที่อเมริกา แต่ถ้าถามว่า ‘อะไร’ ก่อเหตุสังหารหมู่นี้ขึ้นมา คำตอบนั้นคือการศึกษาไทย

‘#การศึกษาฆ่าฉัน’ คือแคมเปญที่จัดขึ้นโดยกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยจำลองศพของนักเรียน 5 รายที่เสียชีวิตเพราะโดนลิดรอนสิทธิในโรงเรียนด้วยสาเหตุต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนชายที่โดนกล้อนผม นักเรียนหญิงถูกห้ามแต่งหน้ากับใส่กระโปรงสั้น ชั่วโมงเรียนที่หนักหนา สอบถี่ ระบบการวัดผลที่ไม่เสถียร การตีเด็ก และการข่มขืนนักเรียน

เราเชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการโดนระบบการศึกษาลิดรอนสิทธิด้วยประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อาจไม่ใช่ประเด็นที่กล่าวมา แต่ทุกคนคงเจอปัญหาที่หนักหนาไม่น้อยไปกว่ากัน

 

#การศึกษาฆ่าฉัน 1

 

เราทำอะไรกันอยู่ เราต้องยอมโดนกดขี่ไปอีกนานแค่ไหน น่าจะเป็นคำถามในใจของนักเรียนไทยที่มีอยู่ทุกรุ่น ข้อพิสูจน์ว่าเป็นความจริงคือการติดเทรนด์อันดับ 1 ของ #การศึกษาฆ่าฉัน บนทวิตเตอร์ ที่แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากกิจกรรม แต่บัดนี้มันกลายเป็นแฮชแท็กที่รวบรวมปัญหา ความคิดเห็น และความอัดอั้นตันใจของวัยรุ่นไทยไว้มากที่สุดแท็กหนึ่ง

เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด วันนี้เราจึงมาคุยกับตัวแทนคนที่น่าจะเข้าใจความเจ็บปวดของกลุ่มวัยรุ่นได้ดีที่สุดอย่าง มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทยรุ่นที่ 8 ผู้ริเริ่มแฮชแท็กนี้นี่เอง

หลังจากตายเพราะโดนการศึกษาไทยฆ่าแล้วจะไปไหน เด็กรุ่นใหม่ยังควรมีความหวังกับระบบการศึกษาอยู่ไหม ไปฟังความคิดของเขากัน

 

#การศึกษาฆ่าฉัน 2

 

เล่าคร่าวๆ เกี่ยวกับกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทให้เราฟังหน่อยสิ

กลุ่มของเราก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2556 โดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เราเป็นรุ่นที่ 8 แล้ว ความจริงหนึ่งรุ่นจะมีวาระหนึ่งปี และจะเลือกเลขาธิการซึ่งเปรียบเสมือนผู้นำของกลุ่มกันในเดือนมิถุนายน แต่เผอิญว่าเลขาธิการรุ่นที่ 7 ลาออกหลังจากเข้ามาได้ไม่นาน เราก็เลยต้องเลือกกันใหม่ และมินก็ได้ขึ้นมาแทน

ปัจจุบันกลุ่มของเรามีสมาชิกประมาณ 30-40 คน แบ่งเป็น 4 ฝ่ายหลักๆ คือ ฝ่ายบริหาร ประกอบไปด้วยเลขาธิการและกรรมการบริหาร 4 คน, ฝ่ายผลิตคอนเทนต์ มีหน้าที่ผลิตคอนเทนต์รูปแบบต่างๆ ทั้งบทความและวิดีโอ, ฝ่ายวิจัย ดูแลเรื่องงานวิจัย แบบสำรวจ แบบสอบถาม และฝ่ายบุคคล ดูแลเรื่องสมาชิก

ทุกๆ ปีเราจะมีเป้าหมายว่าจะทำอะไรให้สำเร็จ ไม่ว่าทำกิจกรรมอะไรก็จะซัพพอร์ตเป้าหมายนี้ ซึ่งเป้าหมายก็จะเปลี่ยนไปตามอุดมการณ์ของเลขาธิการหรือกระแสปัจจุบัน อย่างรุ่นที่แล้วเป็นประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ปีปัจจุบันเรามีเป้าหมายว่าจะดำเนินการเรื่องทรงผม โฟกัสเรื่องทรงผมเป็นหลัก

 

ในฐานะรุ่นที่ 8 เราจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ให้กลุ่มได้บ้าง

จริงๆ เราก็คิด แล้วก็ทำแล้วด้วย สิ่งแรกที่มินคิดจะทำคืออยากจะเพิ่มยอดไลก์เพจ เพิ่มคอนเทนต์ เพิ่มปฏิสัมพันธ์ของเพจ ซึ่งเราทำแล้วมันได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างน่าพอใจ เพราะเพจก่อตั้งมา 5-6 ปีมียอดไลก์ประมาณ 10,000 นิดๆ แต่พอเราเริ่มที่จะรื้อฟื้นมันขึ้น ยอดไลก์ก็พุ่งไป 30,000-40,000 แล้ว

รวมถึงเราเริ่มจัดอีเวนต์ที่ครีเอทีฟ สร้างกระแสสังคม ทำให้เราได้ฐานผู้ติดตามมากขึ้น เสียงของเราก็จะดังขึ้น

#การศึกษาฆ่าฉัน 3

เป้าหมายของคุณในการมาทำงานตรงนี้คืออะไร

ตอนแรกเราก็ทำเพื่อตัวเองนะ เราเคยไม่พอใจกับการละเมิดสิทธิในโรงเรียน แต่ตอนนี้เราลาออกจากการเรียนระบบปกติมาเรียนโฮมสกูลแล้ว ไม่ได้มีปัญหากับระบบเพราะเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น และเราก็ไม่ได้มีปัญหากับการศึกษานอกระบบด้วยเพราะเราเรียนที่บ้าน แต่จากการที่เราเคยอยู่มาทุกระบบ เรารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นและยังมีอยู่คืออะไร ทุกวันนี้ก็เลยทำเพราะไม่อยากให้คนอื่นเจอเหมือนเรา

 

ทีนี้มาพูดถึงแคมเปญ #การศึกษาฆ่าฉัน กันบ้าง แคมเปญนี้เริ่มต้นได้ยังไง

มันเริ่มมาจากการที่เราเห็นโพสต์ของ Global Climate Strike เป็นแคมเปญที่ให้คนไปยืนอยู่บนน้ำแข็งแล้วมีเชือกผูกคออยู่ สื่อว่าโลกร้อนมันกำลังฆ่าเรา เราประทับใจมากเลยอยากทำประเด็นเกี่ยวกับฆ่าๆ แบบนี้บ้าง (หัวเราะ) มันดูแมสดี แล้วเราก็คิดว่าพอเป็นนักเรียน การศึกษาจะเป็นอะไรได้บ้าง

รูปแบบกิจกรรมที่คิดได้ในหัวเป็นอันดับแรกคือ การเอาเด็กแค่คนเดียวไปแปะติดไว้กับกำแพง มีรอยแผลตามจุดต่างๆ แล้วมีลูกศรชี้ว่าสาเหตุของแต่ละแผลคืออะไรบ้าง พอคิดแบบนี้ได้เราก็คิดปัจจัยอื่นต่อ ถ้าแบบนั้นต้องมีแบ็กดร็อป ต้องใช้เงิน ซึ่งกลุ่มเราไม่มีเงินทุน แล้ววิธีการจะเอาคนไปติดยังไงให้อยู่ก็คิดไม่ออก สุดท้ายก็ต้องทิ้งไอเดียนั้นไป

แล้วเราก็เริ่มคิดจากคำว่าตาย งั้นก็ให้นอนบนพื้นสิ ก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็นกัน

#การศึกษาฆ่าฉัน 4

#การศึกษาฆ่าฉัน 5

ทำไมต้องเลือกไปแสดงที่หอศิลป์

เราเลือกหอศิลป์เพราะเห็นกลุ่มส่งเสริมสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งไปแสดงละครที่หอศิลป์ เราคิดว่าสิ่งที่เราทำก็ดูเป็นละครเหมือนกัน เพราะมันเป็นการแสดง เลยไปปรึกษาเขาว่ามีการขอใช้ยังไง ตอนแรกหอศิลป์อยากคิดเงินเรา แต่เราก็ตื๊อหอศิลป์จนได้ฟรี

วันที่หอศิลป์อนุมัติว่าให้ทำคือ 1 อาทิตย์ก่อนวันแสดง พอมันได้ปุ๊บเราก็ต้องไปเรียกคนมาช่วย เพราะกำหนดการแรกคือวันที่ 16 ตุลาคม แต่วันนั้นหอศิลป์ไม่ว่าง ต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 19 แล้ววันนั้นสมาชิกในกลุ่มไม่ว่างหลายคนเลย จึงต้องรับสมัครหน้าเพจ จำได้ว่าเราวุ่นมาก ทีมสเปเชียลเอฟเฟกต์ทำแผลก็ไม่มี ต้องมานั่งแต่งกันเอง (หัวเราะ)

 

ปัญหาทรงผมนักเรียนชาย การล้อกระโปรงสั้น การตีเด็ก การเรียนหนักจนฆ่าตัวตาย และการฆ่าข่มขืน ทั้งๆ ที่บางปัญหามีมีกฎหมายรองรับแล้วว่าไม่ให้ทำ เราคิดว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้นอยู่

ถามเราเราก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ) เพราะจริงๆ เรื่องพวกนี้มันมีมาตลอด ต้องไปถามคนที่ทำว่าทั้งๆ ที่มีกฎหมาย นโยบายต่างๆ ออกมาว่าห้ามทำแล้ว ทำไมคุณถึงทำอยู่ล่ะ ซึ่งเขาจะให้เหตุผลว่ามันคือกฎระเบียบ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เหตุผล เป็นข้ออ้าง (ยิ้ม)

#การศึกษาฆ่าฉัน 6

ความคาดหวังแรกของแคมเปญนี้คืออะไร

เราอยากให้มันกระชากหัวใจคนดูว่า เฮ้ย อะไรเนี่ย ทำให้เขามาสนใจและตระหนักได้ว่าปัจจุบันนักเรียนไทยต้องเจออะไร ซึ่งมันก็ได้ผลตอบรับเกินความคาดหวังที่ตั้งไว้เยอะเลย

 

ฟีดแบ็กเป็นยังไงบ้าง

ตอนแรกที่เราสร้างแฮชแท็กนี้ขึ้นมา เราไม่คิดว่ามันจะติดเทรนด์นะ เราคิดแค่ว่าถ้าติดเทรนด์คงดีแหละ แต่สุดท้ายแฮชแท็กก็ติดเทรนด์อันดับ 1 ในวันถัดจากวันงาน เราดีใจมากเลยตอนนั้น

 

คุณคิดว่าสาเหตุของการติดเทรนด์อันดับ 1 คืออะไร

จุดเริ่มต้นของแฮชแท็กจริงๆ มาจากการมีคนดูงาน มีคนมาถ่ายภาพแคมเปญ แล้วก็ไปรีทวิตกันเป็นหมื่น แท็กก็เริ่มดัง เพราะในรูปศพทุกศพจะมีแฮชแท็กนี้ติดอยู่และกลายเป็นประโยคจำของคนที่มางานนี้ หลังจากนั้นก็มีคนเอาแฮชแท็กไปใช้ต่อ เหมือนภาพที่ออกไปเป็นภาพศพเด็ก เขาคงตื่นเต้นกัน กลัวกัน รีทวิตกันไปเยอะ แฮชแท็กมันก็เลยเริ่มดัง

แต่เราคิดว่าที่ติดเทรนด์เพราะมีคนมาเปิดอกคุยกันถึงประสบการณ์ในโรงเรียนมากกว่า ซึ่งจริงๆ เป็นวัตถุประสงค์ที่เราตั้งแฮชแท็กนี้ขึ้นมา เพราะเราบอกตั้งแต่ในหน้าเพจเลยว่าไปร่วมกันแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอในโรงเรียนได้ในแฮชแท็กนี้นะ

ตอนที่เขียนใบสมัครเลขาธิการของรุ่นเรา มีคำถามข้อหนึ่งถามว่า ก่อนจบอยากทำอะไรให้กลุ่ม มินเขียนไว้ว่าอยากทำให้แท็กของกลุ่มติดเทรนด์ทวิตเตอร์ให้ได้ ซึ่งเราก็คิดว่าคงทำไม่ได้เร็วๆ นี้หรอก แต่ตอนนี้สำเร็จแล้ว เราคิดว่าจบไปเราก็ภูมิใจแล้วกับงานที่ทำได้ตรงนี้ ถึงแม้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาเชิงนโยบายหรือเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างน้อยมันก็สร้างความตื่นตัว ทำให้กลุ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ซึ่งเอาไปพัฒนาต่อยอดได้

#การศึกษาฆ่าฉัน 7

เกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้างจากแคมเปญนี้

ถ้าพูดถึงเรื่องการแก้ปัญหาจากประเด็นที่นำเสนอไปเรายังไม่เจอนะ ยังไม่มีใครมาช่วยอะไร แต่ถ้าจะมีผลกระทบอะไรจากงานนี้ คิดว่าคงเป็นการที่เราได้คนมาเป็นสมาชิกกลุ่มจากการเข้ามาเล่าประสบการณ์ค่อนข้างเยอะ เราได้เด็กกรุงเทพฯ สิบกว่าคนมาเข้ากลุ่มทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยมีเลย เราพบว่าสิ่งที่ทุกคนมีร่วมกันคือเคยมีประสบการณ์อะไรสักอย่างในโรงเรียน รู้สึกไม่โอเค เลยมาจอยกัน

 

เรามีฟีดแบ็กจากผู้ใหญ่เกี่ยวกับแคมเปญของเราบ้างไหม

ยังไม่เห็นใครมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย ส่วนมากจะเป็นเด็กมาร่วมแชร์ประสบการณ์มากกว่า เราก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาถึงยังไม่สนใจเราทั้งๆ ที่แฮชแท็กก็ดังมาก แต่คงจะดังไม่พอมั้ง เราก็ทำหลายอย่าง ยื่นหนังสือทางตรง สร้างกระแสทางอ้อม ก็ยังไม่มีใครสนใจ เราก็คงได้แค่ทำต่อไป

 

ในความคิดของคุณ ระบบการศึกษาไทยตอนนี้เป็นยังไง

ก็นี่แหละ การศึกษาไทยกำลังฆ่าเรา (ยิ้ม) มันฆ่าเรายังไง หลักๆ เลยคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ระบบการศึกษาไม่จำเป็นต้องมีเรื่องนี้

เราคิดว่าปัญหาหลักๆ สำหรับการศึกษาในระบบตอนนี้คือสิทธิมนุษยชนนี่แหละ เพราะคำว่าสิทธิมันครอบคลุมกว้างมาก มันรวมไปถึงหลักสูตรที่นักเรียนพึงจะต้องได้สิ่งที่ดี ความเหลื่อมล้ำของบุคลากรทางการศึกษา มาตรฐานของการวัดผลการสอบที่ไม่ชัดเจน  กฎระเบียบที่ไม่มีประโยชน์หรือความจำเป็น อย่างเรื่องทรงผม การแต่งหน้า บางโรงเรียนละเมิดไปไกลกว่านั้น ติดขงติดเข็ม ไม่ติดมาโดนปรับ หรือแม้กระทั่งเรื่องถุงเท้า

รวมทั้งเรื่องหลักสูตร ระบบ โครงสร้าง มินจะโฟกัสกับเรื่องสิทธิเป็นพิเศษ ความรู้อาจจะไม่แน่นเท่าคนอื่นๆ คนที่สนใจเรื่องอื่นเขาก็จะเอามาแชร์กับเรา แต่เท่าที่ได้ฟัง เขาบอกว่าเรื่องโครงสร้างไม่ค่อยดี หลักสูตรไม่เสถียร รวมไปถึงการวัดผลไม่มีความเท่าเทียม

8

คิดว่ารากของปัญหาพวกนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

มันคือระบบที่เขาอยากให้นักเรียนเป็นสมุน ผู้รับฟัง ผู้ใต้บังคับบัญชา คือระบบคล้ายๆ สมัยนาซีเยอรมันที่พรรคฮิตเลอร์เปลี่ยนหลักสูตรโรงเรียนให้คล้ายๆ กับหลักสูตรไทยตอนนี้ ผลลัพธ์ของเด็กที่ได้คือความต้องการของพรรค เป็นเด็กที่รับฟัง เชื่อฟัง ไม่ขัดขืน ไม่โต้แย้ง ซึ่งอาจพูดว่ากลุ่มเราเป็นความผิดพลาดของเขาก็ได้ เพราะเราไม่ได้รับฟังเขา เราเลือกที่จะโต้แย้ง

 

นอกจากแคมเปญนี้แล้ว คุณมีหนทางอื่นอีกไหมที่ทำให้เกิดการแก้ปัญหาด้านการศึกษาได้จริงๆ

ความจริงเราไปยื่นหนังสือต่อรัฐสภาเรื่องการละเมิดสิทธิอยู่ ครั้งล่าสุดเพิ่งไปยื่นเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ในหนังสือนั้นมีรายละเอียดว่าช่วยตรวจสอบการละเมิดสิทธิเด็กด้านทรงผมหน่อย ทำแบบนี้ถูกไหม ผิดกฎข้อไหน เขาก็รับเรื่องไปแล้วบอกว่าจะพิจารณาให้

 

ธรรมชาติของเด็กเจนเนอเรชั่นคุณเป็นยังไง

เราคิดว่าเด็กสมัยนี้มีความคิดที่ดีขึ้น ไม่ยอมเออออ ไหลตามน้ำไปเหมือนเด็กรุ่นก่อน เขาเริ่มคิดเป็นว่าถูกหรือผิด อาจเป็นเพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมรอบตัว มันทำให้เราเป็นคนที่ได้คิด แม้ไม่ใช่ทั้งหมดแต่เราก็ว่าดีกว่าไม่มีเลย

 

ในฐานะที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ คิดว่าตัวเองจะขับเคลื่อนหรือพัฒนาการศึกษาได้ยังไง

เนี่ย เรามีเสียง เราก็ต้องส่งเสียง เรียกร้องไป การไม่ยอมจำนนของเราสำคัญมากนะ เพราะมันจะทำให้เด็กหลายคนที่ยอมทนเห็นว่ามันมีเด็กที่ไม่ยอมอยู่ เขายังมีเพื่อน ยังมีคนที่กล้าจะลุกขึ้นสู้ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากทำบ้าง

9

ถามจริงๆ คุณยังมีความหวังต่อระบบการศึกษาไทยอยู่ไหม

มีสิ เพราะถ้าไม่มีเราคงไม่ออกมาเรียกร้อง การเรียกร้องของเราคือการมีความหวังว่าอะไรๆ จะดีขึ้น

ความหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากจะทำต่อ เราเชื่อว่าวันหนึ่งเราจะเห็นระบบการศึกษาที่ดีขึ้น เป็นการศึกษาที่ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก อาจเกิดในรุ่นต่อไปที่ไม่ใช่รุ่นเรา แต่มันก็คุ้มค่าที่จะทำ


ขอบคุณภาพกิจกรรมจาก กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

วริทธิ์ โพธิ์มา

รักหมูกรอบ และข้าวมันไก่