‘ช่วยกันดันแฮชแท็กให้ขึ้นเทรนด์เถอะ’ คนรุ่นใหม่กับการขับเคลื่อนสังคมด้วย #ทวิตเตอร์

Highlights

  • ในช่วง 1-2 ปีมานี้ ทวิตเตอร์ถือเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้กันมากขึ้นแบบก้าวกระโดด สัดส่วนผู้ใช้งานเกือบครึ่งเป็นวัยรุ่นอายุ 16-24 ปี และในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ตื่นรู้ ตระหนักถึงปัญหาการเมืองและประเด็นสังคมต่างๆ จึงส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมผ่านแฮชแท็กทวิตเตอร์จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ แฮชแท็กเหล่านั้นล้วนข้องเกี่ยวกับประเด็นสังคมการเมืองทั้งสิ้น
  • นอกจากการทวีตให้ความรู้และแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมืองและประเด็นสังคมกันอย่างเป็นปกติแล้ว คนรุ่นใหม่ยังใช้ป๊อปคัลเจอร์และความเป็นแฟนคลับเกาหลีมาขับเคลื่อนสังคมไปพร้อมๆ กัน ลบภาพจำที่ผู้ใหญ่หลายคนติดภาพคนรุ่นใหม่ว่าไม่ใส่ใจสังคมบ้านเมือง เอาแต่ตามดารานักร้อง
  • เมื่อขับเคลื่อนการเมืองในโลกออนไลน์มาได้ถึงจุดหนึ่ง กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เริ่มกระโดดไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโลกออฟไลน์ โดยที่ยังเชื่อมโยงการเคลื่อนไหวทั้งสองโลกไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งแนวโน้มในอนาคตดูจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่รัฐยังจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในยุคที่การสนทนาได้ย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์จนเรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ไปแล้ว โซเชียลมีเดียที่เป็นแหล่งรวมหลากหลายผู้คนให้มาเจอกันอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ถือเป็นแพลตฟอร์มอันดับแรกๆ ที่คนมักนึกถึง

แต่หากให้เลือกโซเชียลมีเดียที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ได้ดีที่สุด ฉันว่าใครๆ ก็คงเลือกเจ้านกสีฟ้า

นอกจากการตั้งข้อสังเกตของตัวเองที่เข้าไปเป็นชาวทวิตเตี้ยนตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน (เรียกว่าอยู่ในยุคบุกเบิกเลยก็ว่าได้) เห็นชัดเลยว่าในแต่ละปีมีคนมาร่วมจอยในทวิตภพมากขึ้น ทั้งเพื่อน คนใกล้ตัว เซเลบ นักการเมือง ไปจนกระทั่งคนทำแบรนด์ธุรกิจเล็กๆ ที่ใช้ช่องทางนี้ทำมาร์เก็ตติ้ง และเมื่อหันไปดูสถิติผู้ใช้งานในช่วง 2 ปีมานี้ก็ยิ่งย้ำชัดว่าคนไทยใช้ทวิตเตอร์กันมากขึ้นถึงขนาดก้าวเป็นประเทศอันดับ 15 ของโลก ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือในจำนวนกว่าเกือบ 7 ล้านแอ็กเคานต์ มีสัดส่วนผู้ใช้งานอายุ 16-24 ปีถึงเกือบครึ่ง

แพลตฟอร์มที่รวมคนรุ่นใหม่ไว้มากขนาดนี้ ย่อมสะท้อนค่านิยมและแนวคิดบางอย่างที่ไม่เหมือนแฟลตฟอร์มอื่นๆ แน่นอน

ถึงแม้คุณจะไม่ได้เล่นทวิตเตอร์ แต่ถ้าติดตามข่าวสารบนโลกออนไลน์อยู่เสมอๆ ฉันมั่นใจว่ายังไงหัวข้อข่าวประเภทปรากฏการณ์แฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับศิลปินนักร้อง ละคร การเมือง หรือเหตุการณ์บ้านเมืองที่เป็นกระแส ต้องเคยผ่านตาคุณแน่ๆ

โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่ตื่นรู้ ตระหนักถึงปัญหาและประเด็นต่างๆ ทั้งในระดับปัจเจกและสากลมากขึ้น แฮชแท็กที่ขึ้นเทรนด์ระดับประเทศจำนวนมากตั้งแต่ปีที่แล้วมาจนถึงตอนนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองและประเด็นสังคมทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจไม่น้อย และดูแนวโน้มแล้วคงยิ่งทรงพลังขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ฉันจึงลองไปพูดคุยกับชาวทวิตที่สนใจ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแห่งยุคสมัย เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและความในใจที่ส่งผลต่อการผลักดันเหล่านี้ เผื่อว่าจะคลายความสงสัยให้ใครได้บ้าง

แม้บทความนี้จะยาวเกิน 280 ตัวอักษรและไม่มีมีมตลกๆ ให้นำไปเล่นต่อ แต่ฉันก็อยากชวนคุณอ่านไปพร้อมๆ กัน

1

ก่อนอื่นเราอยากเล่าถึงคาแร็กเตอร์ของทวิตเตอร์คร่าวๆ ให้คนที่ไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มนี้เข้าใจก่อน ส่วนใหญ่แล้วคนที่สมัครแอ็กเคานต์จะไม่ค่อยใช้ชื่อและใบหน้าจริงกัน ส่งผลให้เกิดการแสดงออกทางความคิดเห็นและสร้างบทสนทนาอย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังสร้างความสะดวกใจในการทักหาคนที่ไม่รู้จักหรือคุยกันมาก่อน เพื่อแชร์ประสบการณ์ ความรู้สึกร่วม และถกเถียงกันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ตัวแพลตฟอร์มยังมีจุดเด่นเป็นฟังก์ชั่นแฮชแท็ก (#) ที่สร้างเครือข่ายหลวมๆ ในกลุ่มคนที่มีความสนใจเดียวกัน

จากจุดเริ่มต้นที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถทวีตได้ครั้งละ 140 ตัวอักษร ตัวแพลตฟอร์มก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น เช่น การเพิ่มจำนวนเป็น 280 ตัวอักษร การเพิ่มภาพ gif วิดีโอ และไลฟ์แบบเรียลไทม์ได้ รวมถึงฟังก์ชั่นทำเทรด (thread) ที่สามารถทวีตได้หลายๆ ทวีตต่อกันในครั้งเดียว และฟังก์ชั่นโควตทวีตของคนอื่นเพื่อแสดงความคิดเห็นของตัวเองโดยให้ผู้ติดตามเห็นได้ด้วย เป็นต้น 

จากลักษณะเฉพาะตัวของทวิตเตอร์ทั้งหมดนี้เอง ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการติดตามข่าวสารและเป็นแหล่งข่าว เนื่องจากทุกคนสามารถแชร์ข้อมูลและความคิดเห็นได้เรื่อยๆ (เราสามารถทวีตต่อชั่วโมงหรือต่อวันได้บ่อยๆ ไม่เหมือนกับการตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊ก) ทั้งยังกดรีทวีตและไลก์เพื่อกระจายทวีตนั้นๆ ให้ไปไกลมากขึ้นได้อีก รวมถึงใช้อัพเดตกระแสสังคมที่กำลังร้อนแรงในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์วงการบันเทิง ชีวิตประจำวัน เหตุการณ์บ้านเมือง หรือกระทั่งการเมืองระดับประเทศ

เมื่อทวิตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์มอันดับต้นๆ ของประเทศที่คนไทยใช้กัน เทรนด์แฮชแท็กจึงเริ่มถูกนำมาวิเคราะห์และรายงานสู่สังคมจากทั้งฝั่งสื่อและนักวิชาการ โดยนับเป็นข้อมูลที่แสดงถึงความสนใจมวลรวมของสังคมในยุคหนึ่งได้ ซึ่งในช่วง 1-2 ปีมานี้ แฮชแท็กที่ติดท็อป 5 เทรนด์ประเทศไทยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมืองและประเด็นสังคมทั้งสิ้น 

#NoCPTPP #ป่ารอยต่อ #1MBD #คุ้มครองแรงงาน #สมรสเท่าเทียม #ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร #Saveวันเฉลิม

ด้านบนคือตัวอย่างแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏการณ์เหล่านี้นับเป็นพัฒนาการของสังคมไทยที่น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะสังคมออนไลน์ในทวิตเตอร์ที่รวมคนรุ่นใหม่ไว้มากที่สุด

2

เมื่อลองเปิดทวิตเตอร์และกดเข้าไปในแฮชแท็กที่เกี่ยวกับการเมืองหรือประเด็นสังคม เรามักเจอแอ็กเคานต์ที่ใช้ชื่อว่า ‘แสนแสบ’ ตั้งดิสเพลย์เป็นภาพส่วนหนึ่งของไอดอลเกาหลีวง NCT 127 รายงานหรืออธิบายถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆ ให้ทุกคนอ่านเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่คนสนใจมากอยู่แล้วหรือประเด็นที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน แสนแสบจะใช้ตัวอักษรของตัวเองบอกเล่าเรื่องราวรวมถึงนำเสนอข้อมูลเป็นเทรดสั้นๆ อ่านไม่นานก็จบ จนทำให้ยอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นถึงสองหมื่นคนภายในเวลาไม่นาน 

เจ้าของแอ็กเคานต์เล่าว่าจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งนี้มาจากตอนที่ รังสิมันต์ โรม อดีตส.ส.อนาคตใหม่กำลังอภิปรายเรื่องป่ารอยต่อในสภาแต่ถูกตัดจบไปเพราะหมดเวลาก่อน 

“ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไรเยอะ แค่รู้สึกว่าเรื่องป่ารอยต่อไม่เป็นกระแสเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่มากและมีผลกระทบต่อชีวิตเรามหาศาล คนอาจคิดว่าไปฟังคลิปเต็มแล้วมันนาน หรือไม่รู้เพราะถูกตัดไปก่อนที่โรมจะได้อภิปราย ทีนี้เรามีแอ็กเคานต์ที่เปิดทิ้งไว้ตั้งแต่ปี 2556 มีคนติดตามอยู่ประมาณ 500 คน และไม่ได้ใช้ เลยลองสร้างแฮชแท็กดู หลังจากนั้นก็มีคนสนใจมากและกลายเป็นกระแส #ป่ารอยต่อ มีคนมาขอบคุณเราที่พูดถึงเรื่องนี้เพราะเขาไม่ค่อยมีเวลาติดตามการอภิปราย ดีที่ได้มาเจอเราที่อธิบายโดยทำเป็นเทรดให้อ่านกระชับๆ เลยคิดว่าถ้ามันดีก็ทำไปเรื่อยๆ ไหม เพราะไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่คนควรรู้ เราอยากกระจายให้มันไปถึงวงกว้างกว่านี้”

เนื่องจากทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่คนส่วนใหญ่ใช้อวตารสร้างอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมา พวกเขาจึงสามารถเลือกใช้ศิลปินที่ชอบหรืออะไรก็ได้มาสร้าง identity ให้ตัวเอง และที่ภาพของแฟนคลับไอดอลเกาหลีดูเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ แสนแสบมองว่าส่วนหนึ่งมาจากตัวแพลตฟอร์มด้วย

“เราสามารถหาคนที่มีความสนใจตรงกันได้ง่าย อย่างเราติดตามคนคนหนึ่งที่ชอบไอดอลวงเดียวกัน พอติดตามไปแล้วมันไม่ได้จบที่เขาพูดถึงแต่ไอดอลที่ชอบ เราได้เห็นทัศนคติ ความคิด ประสบการณ์ และสิ่งที่เขาได้เจอ มันซึมซับเข้าไปในความคิดของเราโดยไม่รู้ตัว พอนึกได้อีกทีก็มีความสนใจหรือมีความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว บวกกับหลังจากเจอเรื่องที่เราไม่มีรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลจริงๆ มา 6 ปี เด็กที่โตมาในช่วง 6 ปีนั้นก็เริ่มมีความคิดและแพลตฟอร์มที่เข้าถึงข่าวสารได้ง่าย เขาเลยเข้ามามีส่วนร่วมออกความคิดเห็น ขับเคลื่อนสังคมการเมือง และสร้าง awareness ต่อทั้งตัวเองและคนอื่น”

“สมัยก่อนถ้าเป็นเรื่องการเมืองจะไม่ค่อยมีใครพูดถึงหรือสนใจ แต่ตอนนี้พอจุดติดทุกคนก็รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเรา พูดอะไรก็นึกถึงการเมืองไปหมด ไม่ว่าจะขนส่งสาธารณะหรือค่าบัตรคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลี พอคนเริ่มเข้าใจก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง ทำให้แฟนคลับเกาหลีหันมาขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองกันมากขึ้น” รวมไปถึงเหล่าแอ็กเคานต์บ้านเบสที่สร้างจากแฟนคลับศิลปินเกาหลีก็เริ่มใช้พื้นที่ของตนในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมือง จากเดิมที่จะทวีตอัพเดตข่าวสารของศิลปินเพียงอย่างเดียว ถือเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ได้เห็นในยุคที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวทางการเมืองอย่างจริงจังมากขึ้น

3

‘ออมมี่’ ชาวทวิตและแฟนคลับศิลปินเกาหลีอีกคนหนึ่งที่พยายามใช้พื้นที่ของตัวเองในการพูดถึงประเด็นสังคมการเมืองและสร้าง awareness ให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ แต่จุดที่น่าสนใจกว่าการทวีตแสดงความคิดเห็นหรือรณรงค์เรื่องทั่วไป คือออมมี่ได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า แฟนฟิกชั่น ในการส่งต่อประเด็นที่ตนเองสนใจให้ผู้อ่านที่อาจไม่ได้ติดตามทวิตเตอร์ของเขาได้รับรู้ด้วย

พูดง่ายๆ ว่าเหมือนการเคลือบยาขมอย่างเรื่องประเด็นสังคมหนักๆ ไว้ใต้ขนมหวานสีสันสดใสที่เรียกว่าแฟนฟิกชั่นนั่นเอง 

‘อุดมการณ์แดกไม่ได้ แต่กรไออาร์ปีสี่แดกได้’ คือชื่อเรื่องที่ออมมี่เขียนขึ้นในรูปแบบนิยายแชท โดยใช้อิมเมจตัวละครจากผู้เข้าแข่งขันรายการ Produce 48 ของเกาหลีใต้ แต่ใช้ AU (Alternate Universe) เป็นเซตติ้งที่ไทย โดย 2 ตัวเอกมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้ว ซึ่งบทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างตัวเอกทั้งสองและตัวเอกกับกลุ่มเพื่อนจะมีการแฝงประเด็นทางการเมืองกับสังคมเข้าไปทุกตอน เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพของกลุ่ม LGBTQ+ เฟมินิสต์ ความสัมพันธ์แบบยุคใหม่ และความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น 

“ทีแรกมันเป็นไอเดียที่คิดเล่นๆ กับเพื่อนตอนช่วงงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ คิดว่าเขียนตลกๆ แต่พอมีเรื่องการเมืองในทวิตเตอร์เยอะ ทำให้เราได้เห็นปัญหาที่หลายคนยังมีความบกพร่องในความเข้าใจตรงนี้อยู่ เลยคิดว่าอยากเอามาใส่ในแฟนฟิกชั่น เพราะเรามองว่าคนอ่านนิยายไม่ใช่แค่กลุ่มวัยรุ่นหรือแฟนคลับแต่เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็อ่านได้ เลยหวังว่าสิ่งที่เราเขียนจะเป็นเสียงเล็กๆ ที่ส่งไปถึงผู้อ่านว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น นี่คือปัญหา”

แต่จุดที่ออมมี่ประหลาดใจกว่ายอดวิวของ อุดมการณ์แดกไม่ได้ แต่กรไออาร์ปีสี่แดกได้ ที่แตะถึงหลักหลายล้านและคอมเมนต์จำนวนหลักพัน เธอไม่คาดคิดว่าตัวนิยายจะไปไกลถึงขนาดคนที่ไม่ใช่แฟนคลับเกาหลีที่อยู่นอกทวิตเตอร์ก็สนใจอ่านด้วย

“ตอนเห็นฟีดแบ็กเราตกใจเหมือนกัน เพราะปกติเราไม่ใช่คนดัง เขียนอะไรก็เขียนเงียบๆ คิดไม่ถึงว่ามันสามารถไปถึงคนได้มากขนาดนี้เลยเหรอ มีเพื่อนที่เป็นแอ็กทิวิสต์ไปเจอในเฟซบุ๊กว่าคนที่เป็นแอ็กทิวิสต์รุ่นใหญ่ก็อ่านนิยายเรา ตกใจมาก แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เราต้องรัดกุมกับตัวเองเสมอว่าสิ่งที่เขียนออกไปมันโอเคไหม ถูกต้องหรือเปล่า”

“อีกอย่างเราเองก็เป็นคนที่อยู่ในคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ เลยอยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนอื่น อย่างประเด็นปัญหาเรื่องรักไม่มีเพศที่เขียนไปในเรื่องก็มีคนที่อ่านนิยายเราแล้วเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมรักไม่มีเพศถึงเป็นปัญหา ถือเป็นก้าวแรกที่ดี”

นอกจากเรื่องที่ออมมี่เขียนแล้ว กระแสแฟนฟิกชั่นอิงการเมืองก็เริ่มมาแรงยิ่งขึ้นในทวิตเตอร์ของเหล่าแฟนคลับเกาหลี ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีหากมีคนสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงให้มากๆ คือความเข้าใจและความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขียนลงไป เพราะทุกครั้งที่พับลิคงาน ย่อมมีผู้อ่านที่ได้รับสารอยู่ ไม่ว่าจะจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม

4

“คอนเซปต์ที่เราใช้มองปรากฏการณ์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์เป็นคอนเซปต์ที่บอกว่าคนเรารู้สึกไร้พลังในโลกออฟไลน์ เรารู้สึกว่าไม่มีอำนาจเลย รัฐไม่ฟังเรา คนก็เลยล่าถอยเข้าสู้โลกออนไลน์ที่มันหยิบยื่น Autonomy ที่ให้อำนาจในการปกครองตัวเอง ให้ความยืดหยุ่นในการพรีเซนต์ความเป็นตัวเองผ่านการแสดงออก นี่คือสิ่งที่โลกออนไลน์ให้เราแต่โลกออฟไลน์ให้ไม่ได้” วิรดา แซ่ลิ่ม นักศึกษาปริญญาโทสาขา Media and Politics มหาวิทยาลัย Amsterdam ศึกษาปรากฏการณ์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ที่คนรุ่นใหม่ใช้เพื่อขับเคลื่อนการเมืองและสังคม เล่าถึงมุมมองที่เธอตั้งต้นให้ฉันฟัง

“ทีนี้ถ้าเรามองประเทศไทยหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารโดยคณะคสช. แน่นอนว่าเราไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ สังเกตว่ากระแสการเมืองจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะทวิตเตอร์ สำหรับเรามองว่ามันมาพีคมากช่วงการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน”

วิรดาพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ของ 2,000 กว่าทวิตที่เธอใช้ในการศึกษาล้วนเป็นแอ็กหลุมหรือแอ็กเคานต์ที่อวตารเป็นอีกตัวตนหนึ่งขึ้นมาโดยไม่มีการ identify ว่าตัวเองเป็นใคร แต่ล้วนพูดความจริงหรือสื่อสารความในใจอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งเธอให้คำอธิบายถึงสิ่งนี้ไว้ 2 เหตุผล

1) ในบริบทสภาพสังคมการเมืองไทย การใช้แอ็กหลุมที่เริ่มมาจากแฟนคลับเกาหลีถือว่าตอบโจทย์ในการแสดงออกทางการเมือง เพราะสามารถแสดงความคิดเห็นได้มากกว่าการไปยืนตะโกนแสดงความไม่พอใจในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังให้ความรู้สึกที่ปลอดภัยมากกว่า 

2) เมื่อศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล คอนเซปต์ที่เห็นได้ชัดเจนคือการหลอมรวมทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทุกอย่างอยู่ในสมาร์ทโฟนบนมือเรา ซึ่งสิ่งนั้นทำลายเส้นกั้นระหว่างการสื่อสารเรื่องการเมืองกับเรื่องบันเทิง เรื่องสาธารณะกับเรื่องส่วนตัว และเรื่องทางการกับเรื่องไม่ทางการจนเบลอไปหมด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์คนรุ่นใหม่ที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีเป็นคนคนเดียวกับคนที่สนใจประเด็นทางสังคมการเมือง

“พวกเขาใช้แอ็กหลุมทวีตทุกเรื่อง เช่น ละคร เพลง การเมือง ฯลฯ เห็นได้จากการที่คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่เขาจะระบุตัวเองในทวิตเตอร์ว่าบ่นทุกเรื่อง บวกกับการที่โตมากับยุคดิจิทัลที่เส้นกั้นระหว่างการเมืองกับเรื่องอื่นเบลอไปหมด นักวิชาการเรียกพฤติกรรมคนรุ่นใหม่เหล่านี้ว่ามี everyday political talk หรือการแชทกันเรื่องการเมืองรวมกับเรื่องอื่นๆ เอาเข้าจริงก็เหมือนยุคก่อนที่คนต้องไปร้านทำผมหรือร้านกาแฟแล้วคุยกัน แต่บริบทของไทยมันคุยกันในพื้นที่สาธารณะไม่ได้”

“อีกอย่างหนึ่งทวิตเตอร์มีฟังก์ชั่นแฮชแท็กที่ทำให้แตกต่างจากเฟซบุ๊ก เพราะมีความเป็นบรอดแคสต์ คือต่อให้เราทวีตความคิดเห็นส่วนตัวจากเตียงนอนของเรา แต่ถ้าไม่ได้ตั้งค่าเป็น private account ก็มีคนจำนวนมากที่จะอ่านข้อความของเราได้ โดยเฉพาะถ้าติดแฮชแท็ก ซึ่งตรงนี้มันคือการสร้างชุมชนแบบหลวมๆ ของคนที่ไม่รู้จักกันแต่สนใจประเด็นเดียวกัน และถ้าดูลักษณะการใช้งานทวิตเตอร์ของคนไทยรุ่นใหม่ จะเห็นเลยว่าพวกเขาใช้ฟังก์ชั่นเพื่อขับเคลื่อนสังคมอย่างการพยายามสร้างวาระทางสังคมด้วยกัน เช่น ‘ช่วยกันดันแฮชแท็กนี้เถอะ’ ซึ่งตรงกับบริบทไทยมาก ทำไมประชาชนต้องช่วยกันดันแฮชแท็ก เพราะสื่อไทยไม่รายงานไง”

จุดนี้เองที่วิรดามองว่าในบรรดาโซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีสิทธิมีเสียงมากที่สุด เพราะหลังจากที่คนรุ่นใหม่ผลักดันเรียกร้องกันในโลกออนไลน์อย่างเข้มแข็งแล้ว อีกเหตุการณ์ที่ตามมาคือ การที่นักการเมืองรุ่นใหม่นำวาระแฮชแท็กที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยแลนด์ไปพูดในสภา ทำให้เห็นว่าทวีตที่ดูบ่นเรื่อยเปื่อยมันไม่ใช่แค่นั้น ทว่าได้ก้าวไปสู่การเป็นความคิดเห็นสาธารณะ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ที่ใช้ทวิตเตอร์ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองมีพลัง มีคนซัพพอร์ต จนกล้าพอที่จะออกมาเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์

หนึ่งในกรณีศึกษามูฟเมนต์ในทวิตเตอร์ปีนี้ที่วิรดาเลือกยกตัวอย่างคือ Milk Tea Alliance ที่เกิดจากคนรุ่นใหม่ชาวไต้หวัน ฮ่องกง และไทย “เห็นเลยว่าเป็นมูฟเมนต์ของ pro-democracy young generation ที่ไม่ใช่แค่ไทย แต่พวกเขาคือเพื่อนที่แชร์ความรู้สึกเดียวกัน นั่นคือเราต้องการประชาธิปไตย ก่อนหน้านี้ไทยซัพพอร์ตฮ่องกง พอไทยลงสนามบ้างก็กลายเป็นโจชัว หว่องที่นำแฮชแท็ก #MilkTeaAlliance กลับมา เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่เขาไม่โดดเดี่ยวหรอก ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในทวิตเตอร์ ไม่ได้อยู่เน็ตเวิร์กหลวมๆ นี้ก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมคนรุ่นใหม่ถึงรู้สึกว่ามีพลังพอที่จะออกไปสู้ในโลกออฟไลน์ได้”

5

ในมุมมองของ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้ทวิตเตอร์เผยแพร่ความรู้ และติดตามความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่เสมอ มองว่าปรากฏการณ์การใช้แฮชแท็กทวิตเตอร์ขับเคลื่อนสังคมนี้เข้มข้นขึ้นทุกปี ทั้งด้านปริมาณที่เพิ่มขึ้นและด้านคุณภาพในแง่ความหลากหลายของประเด็น

เหตุผลที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คนรุ่นใหม่ในทวิตเตอร์พูดเรื่องการเมืองและมี awareness กันมากขึ้นนั้น ประจักษ์มองว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กมีความปลอดภัยน้อยลง คนจึงพากันอพยพครั้งใหญ่มาที่ทวิตเตอร์ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูงกว่าในการพูดคุยถึงประเด็นหนักๆ หรือเรื่องที่มีความสุ่มเสี่ยง อีกเหตุผลหนึ่งคือทวิตเตอร์ถือเป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่อยู่เยอะ พอทุกคนมารวมตัวกันแล้วให้ความรู้สึกเหมือนชุมชนที่พูดภาษาเดียวกัน

“เพราะรุ่นผู้ปกครองในเมืองไทยเขาไม่ค่อยใช้ทวิตเตอร์เท่าไหร่ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในเฟซบุ๊ก ดังนั้นเฟซบุ๊กจะมีความหลากหลายมาก แต่พอเป็นทวิตเตอร์ วัยรุ่นเขารู้สึกว่าได้คุยกับคนวัยเดียวกันภาษาเดียวกันมากกว่า มันมีความเป็นคอมมิวนิตี้โดยไม่ต้องรู้จักหน้าค่าตากันด้วยซ้ำว่าคุณคือใคร แต่เราสนใจแค่ wording และความคิดของคุณ มันเป็นพื้นที่ที่ใช้พลังของตัวอักษร ซึ่งถ้าเป็นเฟซบุ๊กมันอยู่ที่ who you are ด้วย มี identity ชัดเจนว่าเราไลก์ใคร โดยเริ่มจากเฟรนด์และขยายไปเป็นชุมชนของคนรู้จักกัน แต่ทวิตเตอร์เป็นชุมชนของคนที่ไม่รู้จักกันเลย ต่างคนต่างไม่ต้องเปิดเผยตัวตน ซึ่งกลับเปิดเผยความคิดได้มากกว่า ฟังดูย้อนแย้งแต่มันก็เป็นจริง และนี่คือเสน่ห์ด้วย”

จากการเริ่มต้นด้วยประเด็นหรือความคิดนี้เองที่ทำให้ตัวอักษรมีพลังมากที่สุดในพื้นที่นกสีฟ้าแห่งนี้ ซึ่งเมื่อมีวาระ กระแสสังคม หรือแฮชแท็กใดที่ติดเทรนด์ไทยแลนด์ขึ้นมา บทสนทนาหรือการถกเถียงที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งคนที่รู้จักและไม่รู้จักกันจึงค่อนข้างตรงไปตรงมา ไม่ต้องมีการคำนึงถึงสถานะทางสังคมเหมือนในแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่ทุกคนต่างรู้ว่าแต่ละคนเป็นใคร

“ในแง่นี้จะเรียกว่ามันเป็นพื้นที่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่อื่นๆ ก็ได้ หมายถึงว่าทุกคนเท่ากัน ไม่มีใครรู้จักใคร เราก็ไม่รู้ว่าคนที่คุยอยู่อาจจะเป็นเด็กอายุ 16 หรืออาจเป็นศาสตราจารย์คนใดคนหนึ่งปลอมตัวมาก็ได้ สำนวนภาษาก็ไม่ได้บอกวัยขนาดนั้น มันก็คุยกันแบบเท่ากัน คุณจะเป็นใครล่ะ คุณเข้ามาในพื้นที่ทวิตเตอร์ปุ๊บก็เท่ากัน ไม่ได้สนใจว่าคุณจะมียศมีตำแหน่งหรืออายุเท่าไหร่ ผมว่ามันก็สนุกดี” 

“อย่างเราเข้าไปในทวิตเตอร์ก็เป็นอาจารย์สอนรัฐศาสตร์ ทวีตให้ความรู้เรื่องทฤษฎีการเมืองก็มีคนมาแย้งเต็มไปหมด ซึ่งดีแล้ว ก็เท่ากัน ไม่ใช่ไปเขียนปุ๊บแล้วทุกคนเชื่อหมดเพียงเพราะเราเป็นอาจารย์ ฉะนั้นในทวิตเตอร์เราจะเห็นเด็กกับผู้ใหญ่ อาจารย์กับลูกศิษย์ หรือคนอาชีพต่างกันเถียงกันได้ มันไม่ใช่พื้นที่ที่ใครสามารถผูกขาด สมมติคุยเรื่องแพทย์ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็นแพทย์จะได้รับความเชื่อถือมากที่สุด มันก็มีคนไปแย้ง ทำให้คนคุยกันตรงไปตรงมา แล้วเราเองก็ต้องฟังคนอื่นด้วย ไม่มีใครใหญ่กว่าใคร คนเขาไม่แคร์หรอกว่าคุณเป็นใครในพื้นที่ทวิตเตอร์ ใครที่แสดงความเห็นฟังดูไม่เข้าท่าหรือตรรกะไม่สมเหตุสมผลก็จะโดนท้าทาย ซึ่งอาจดีแล้วก็ได้ เพราะสังคมไทยมีความเกรงใจกันเยอะ ถ้าเราคุยโดยรู้ว่าคุยกับใครคงไม่กล้าเถียง เหมือนอย่างในห้องเรียนเด็กอาจไม่กล้าเถียงเราทั้งที่ในใจอาจแย้งหรือไม่เชื่อเรา แต่ในทวิตเตอร์เขาก็จะมาเถียงเราได้”

ส่วนปรากฏการณ์ที่แอ็กเคานต์แฟนคลับเกาหลีออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมมากขึ้น ประจักษ์มองว่าเป็นเรื่องดีที่ใครคนหนึ่งจะสนใจอะไรหลายๆ เรื่อง ทั้งยังเป็นการพิสูจน์คำครหาที่เคยบอกว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจสังคมบ้านเมือง เอาแต่ตามดารานักร้องนั้นไม่เป็นความจริง ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นแฟนคลับ สนใจการเมือง และพร้อมกันนั้นก็เรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศหรือเรื่องอื่นๆ ไปด้วยได้

“ผมว่ามันน่าสนใจที่วัยรุ่นไม่ได้แยกสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนๆ ออกจากกันเหมือนที่ผู้ใหญ่แยก ทำไมเขาถึงจะทำสิ่งเหล่านี้ในเวลาเดียวกันไม่ได้ล่ะ ทำไมต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าฉันเป็นติ่งเกาหลีก็ไม่ได้หมายความว่าฉันไร้สาระ หรือไม่ได้บ้าการเมืองอย่างเดียวจนทั้งวันมีแต่เรื่องการเมือง ฉันก็ยังเป็นวัยรุ่น เป็นคนปกติธรรมดา ดูหนังฟังเพลง ซึ่งทุกคนก็ต้องเคยผ่านจุดนี้ เราไม่เคยเป็นแฟนคลับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งเหรอ อาจไม่ใช่ศิลปินเกาหลี อาจเป็นวง The Beatles หรือทีมฟุตบอลลิเวอร์พูล ก็ไม่ต่างกัน ตอนหลังงานวิจัยพบว่าแฟนคลับเกาหลีวัยรุ่นในหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ในไทย คือกลุ่มที่สนใจการเมืองประเด็นปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ปัญหาอะไรหนักๆ ด้วย และเวลาที่เขาอินเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะออกมารณรงค์เยอะมาก มีพลังงานเยอะ เพราะมีคอมมิวนิตี้ของเขาอยู่แล้ว”

ที่เป็นอย่างนี้เพราะศิลปินที่พวกเขาชอบพูดถึงประเด็นเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า ฉันตั้งคำถาม

“ก็มีส่วน แต่ก็มีเคสที่ไอดอลนำพวกเขาให้สนใจ และเคสที่พวกเขาสนใจเองแล้วพยายามกดดันไอดอลที่ชอบให้สนใจตามก็มี เพราะเขาผิดหวังที่ไอดอลไม่ตื่นตัวเรื่องนี้ มันเหมือนการจราจรสองทาง ซึ่งน่าสนใจ บางทีเขาก็ล้ำหน้าไปกว่าไอดอลที่ชื่นชม แสดงว่าเขาไม่ได้ตามใครแบบไม่ลืมหูลืมตา สมมติว่าเราไปชอบไอดอลคนหนึ่งในแง่ความสามารถ แต่ถ้าเขาไม่ออกมาพูดหรือมีจุดยืนบางเรื่องแปลกๆ ในทางสังคมเราอาจจะผิดหวัง หมายความว่าเราไม่ได้คล้อยตามเขาทุกเรื่อง มันก็มีพัฒนาการที่น่าสนใจตรงนี้ที่พวกแฟนคลับเกาหลีกลายเป็นคนที่มีความคิดของตัวเองในประเด็นสังคมการเมือง ไม่ได้ตามไอดอลอย่างเดียว”

นอกจากนี้ในปัจจุบันฉันก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการต่อสู้ในโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างจริงจังบ้างแล้ว ซึ่งประจักษ์อธิบายว่าในขณะที่นักวิชาการและสื่อหันมาสนใจการเมืองออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ พวกเขาก็กระโดดไปสู่โลกออฟไลน์เพื่อเคลื่อนไหวทางสังคมกันแล้ว ทั้งที่ยังมีผู้ใหญ่จำนวนมากคิดว่าโลกออนไลน์เป็นพื้นที่ของวัยรุ่น บางคนถึงขนาดดูเบาว่าพวกเขาเก่งแต่ในโซเชียลมีเดีย ทว่าสุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเทคแอ็กชั่นในโลกออฟไลน์เหมือนกัน อย่างการนัดรณรงค์หรือถึงขั้นนัดกันลงถนน

“มีคำที่บอกว่าทวิตเตอร์คือราชดำเนินของเด็กสมัยนี้ คุณไม่มีวันได้เห็นพวกเขาบนถนนราชดำเนินจริงหรอก ปรากฏว่าคนที่พูดแบบนี้คิดผิดแล้ว เพราะในที่สุดเด็กเขาสามารถเคลื่อนไหวการเมืองแบบออฟไลน์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาที่เราได้เห็นการชุมนุมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่เชื่อมกันอย่างใกล้ชิดระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ เพราะพวกเขานัดหมายกันผ่านแฮชแท็ก มีการคิดชื่อแฮชแท็กที่ติดหูจำง่าย ผมว่ามันมีพลังกว่าการเคลื่อนไหวสมัยก่อนอีก เพราะเมื่อก่อนนัดยาก ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร หรือพอไปชุมนุมไม่มีสื่อมาทำข่าวเราก็แป้ก ไม่มีพลัง ไม่มีใครสนใจ แต่การที่คนรุ่นใหม่ไปชุมนุมกัน ต่อให้ไม่มีสื่อหลักเขาก็มีสื่อของตัวเอง สามารถรายงานกลับมาให้คนที่ไม่ได้ไปชุมนุมแต่เล่นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กเกิดความรู้สึกร่วมกันได้ ดังนั้นต่อให้คนไปชุมนุมมี 2,000 กว่าคน แต่จริงๆ แล้วคนที่ได้ประสบการณ์การชุมนุมด้วยมีเป็นล้าน รับรู้เหตุการณ์แบบเรียลไทม์ด้วย”

ส่วนแนวโน้มความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนรุ่นใหม่ในอนาคต ประจักษ์ประเมินว่าน่าจะมีทิศทางที่แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์ตอนนี้ถือเป็นมูฟเมนต์ระลอกที่ 2 แล้วนับจากระลอกแรกที่เกิดขึ้นก่อนช่วงโควิด-19 ถ้าถามถึงฝั่งโลกออนไลน์ เขามั่นใจว่ายังไงบรรยากาศก็ยังคงคึกคักเรื่อยๆ ตราบใดที่ชีวิตจริงคนรุ่นใหม่ยังไม่ได้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกถึงความคิดของตัวเองได้อย่างปกติ

คิดไหมว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ เรายิงคำถามที่ตัวเองก็ตั้งข้อสงสัยอยู่ลึกๆ

“ในศตวรรษที่ 21 การเคลื่อนไหวทางสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว หลายประเทศทั่วโลกใช้ความเคลื่อนไหวแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป เรียกง่ายๆ ว่าเป็นสูตร ขบวนการไหนที่เชื่อมการเมืองแบบออนไลน์และออฟไลน์จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ยิ่งในสังคมไทยที่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวเยอะ เราไม่สามารถดูถูกพลังของคนหนุ่มสาวได้ เพราะพวกเขาเคยเปลี่ยนแปลงสังคมไทยมาแล้วมากกว่า 1 ครั้ง ฉะนั้นนี่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ครั้งแรกหรอก แถมยังมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารกันเองและกับสังคม ยิ่งไปดูถูกพลังของคนยุคนี้ยิ่งไม่ได้ พวกเขากำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยตัวเองด้วยเครื่องมือใหม่ๆ ที่คุ้นเคย เราเอาประสบการณ์ในอดีตมาตัดสินคนปัจจุบันก็ไม่ถูก แต่ละเจเนอเรชั่นก็มีการเคลื่อนไหวในแบบของตัวเอง”


ขอบคุณข้อมูลจาก statista

AUTHOR