The Handmaid’s Tale นิยายดิสโทเปียนที่ไม่เคยตกยุคแม้เราจะอยากให้ตกยุคก็ตาม

หากคุณเป็นนักอ่านวรรณกรรมตัวยง ชื่อของนักเขียนมากฝีมือชาวแคนาดา มาร์กาเร็ต แอทวูด (Margaret Atwood) น่าจะเป็นชื่อที่คุณคุ้นเคยดีอยู่แล้ว ด้วยผลงานระดับมาสเตอร์พีซอย่าง The Handmaid’s Tale (1985) นวนิยายดิสโทเปียนชั้นบรมครูที่ใครต่อใครต่างชื่นชมและยกย่อง

ปี 2017 ที่ผ่านมามีปรากฏการณ์น่าจดจำเมื่อจู่ๆ หนังสือเล่มนี้ก็ไต่ขึ้นอันดับต้นๆ ในลิสต์หนังสือขายดีของร้านหนังสือทั่วสหรัฐอเมริกา ทั้งที่ความจริงแล้วหนังสือตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ 30 กว่าปีก่อน

แม้เราจะใช้คำว่า ‘จู่ๆ’ แต่ที่มาที่ไปของปรากฏการณ์นี้ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์มากนัก สำหรับคนที่ตามข่าวแวดวงบันเทิงก็จะรู้ว่าบริการสตรีมมิ่งชื่อว่า Hulu ได้หยิบเรื่องเล่าของสาวรับใช้มาผลิตเป็นซีรีส์ขนาดยาวที่เพิ่งคว้ารางวัล Best TV Series จากเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globes 2018) มาหมาดๆ ในขณะเดียวกัน คนที่ตามข่าวแวดวงการเมืองก็จะรู้ว่ามหาเศรษฐีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด

ไม่—คุณไม่ได้อ่านผิด และเราก็ไม่ได้เขียนผิด สองเหตุผลนี้แหละที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ที่ว่า เพราะคณะรัฐมนตรีของทรัมป์ (ซึ่งประกอบด้วยผู้ชายผิวขาวเสียเป็นส่วนใหญ่) ได้อนุญาตให้นายจ้างปฏิเสธการทำประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการคุมกำเนิดแก่ลูกจ้าง หากการคุมกำเนิดนั้นไม่ตรงกับความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมของนายจ้าง โดยยืนยันว่าเป็นการสนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนา

อันที่จริง การยกเลิกระเบียบบังคับเรื่องสวัสดิการสุขภาพที่ครอบคลุมการคุมกำเนิดเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของทรัมป์ ถ้าจะชื่นชมผู้นำสหรัฐฯคนนี้ เราก็คงชื่นชมในฐานะที่ทรัมป์ทำตามสัญญา

อย่างไรก็ดี การ (อ้างว่า) สนับสนุนเสรีภาพในการนับถือศาสนาของทรัมป์กลับไปลดทอนเสรีภาพการคุมกำเนิดของผู้หญิงอเมริกันหลายล้านคนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการจากนายจ้างในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพใดๆ ที่ไม่ได้จำกัดแค่การคุมกำเนิดเท่านั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า นโยบายของทรัมป์ทำให้เสรีภาพในการคุมกำเนิดของผู้หญิงอเมริกันหลายหลายคนตกอยู่ในกำมือของชายผู้มีอำนาจไม่กี่สิบคน

The Handmaid’s Tale

คล้ายกันกับเรื่องราวใน The Handmaid’s Tale หลังภัยพิบัติถล่มสหรัฐอเมริกา สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ประชาธิปไตยล่มสลาย เทวาธิปไตย (Theocracy) ซึ่งยึดถือคริสตศาสนาเป็นศูนย์กลางเข้ายึดครองประเทศ ชายผู้เป็นใหญ่แบ่งคนที่เหลือออกเป็นกลุ่มๆ โดยนอกจากชนชั้นทางสังคมที่เป็นเกณฑ์หลักแล้ว อีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญที่ใช้กับผู้หญิงโดยเฉพาะ นั่นคือความสามารถในการสืบพันธุ์

ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงไร้นามที่เราไม่มีวันได้รู้ชื่อ แต่ทุกคนเรียกเธอว่า Offred (ของเฟร็ด) ตามชื่อ Fred เจ้านายของเธอ เจ้านายผู้มีสิทธิในเรือนร่างของเธอโดยสมบูรณ์ เพราะเธอคือ ‘สาวรับใช้’ (handmaid) ผู้รับหน้าที่สืบพันธุ์เพียงอย่างเดียวตราบชั่วชีวิตที่เหลือ

นอกจากนโยบายข้างต้นที่บังคับใช้ทั่วประเทศแล้ว หลายรัฐในอเมริกายังผ่านนโยบายยกเลิกการทำแท้ง หรือเพิ่มข้อจำกัดที่ทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการทำแท้งได้ยากขึ้น (เช่น แต่เดิมอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ได้ถึงอายุครรภ์ 24 สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นได้ถึงอายุครรภ์ 10 สัปดาห์เท่านั้น)

The Handmaid’s Tale

เช่นนี้ บรรยากาศการเมืองเรื่องการคุมกำเนิดในสหรัฐจึงคุกรุ่นตลอดปี 2017 ในหลายรัฐผู้คนพากันออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านนโยบายเหล่านั้น โดยผู้หญิงหลายคนเลือกแต่งตัวเลียนแบบเหล่าสาวรับใช้ด้วยเสื้อคลุมสีแดงสดและหมวกบอนเน็ตสีขาว เครื่องแต่งกายอันเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง รวมทั้งการแย่งชิงสิทธิในเรือนร่าง สิทธิในการแสดงออกของพวกเธอ และสิทธิในการใช้ชีวิตอย่างอิสระของพวกเธอ

The Handmaid’s Tale

เหล่านักประท้วงในเสื้อคลุมสีแดงเพียงเข้าไปนั่งเงียบๆ ในห้องระหว่างผู้ออกกฎหมายถกเถียงประเด็นที่กระทบความเป็นอยู่ของพวกเธอ แต่สัญลักษณ์ที่มาพร้อมกับความเงียบนั้นก็กระตุ้นให้ผู้พบเห็นได้ฉุกคิดว่า พวกเขา หรือนักการเมืองที่พวกเขาสนับสนุน กำลังปฏิบัติกับผู้หญิงราวกับพวกเธอไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นเพียงมดลูกเดินได้ที่ต้องคลอดลูกตามความต้องการของคนอื่นเท่านั้น

ส่วนตัวเรารู้สึกทึ่งกับความพอดีของเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล เพราะมาร์กาเร็ต แอทวูดเคยกล่าวไว้นานมาแล้วว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่นิยายดิสโทเปียน (dystopian novel) แต่เป็นนิยายคาดการณ์ (speculative novel) เพราะทุกสิ่งที่เธอเขียนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ณ มุมใดมุมหนึ่งของโลก

“หนึ่งในกฎของฉันคือ ฉันจะไม่ใส่เรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ […] ไม่ใส่กฎหมายหรือการปกครองที่จินตนาการขึ้นมาเอง”

The Handmaid’s Tale

และแล้วมันก็เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา (หรือบางคนอาจมองว่ามันเกิดขึ้นมาตลอดและไม่เคยหมดไปด้วยซ้ำ เช่นการถกเถียงเรื่องสิทธิในการทำแท้งในหลายๆ ประเทศที่ยังดำเนินอยู่ไม่จบไม่สิ้น) ทว่าหากคิดตามสัญชาตญาณแล้ว ใครจะอยากให้นิยายดิสโทเปียนเกิดขึ้นจริงล่ะ?

แอทวูดให้สัมภาษณ์กับ The Nation ว่า เธอได้ไปร่วมเดินขบวนในงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่โตรอนโต ภายในงานเธอเห็นป้ายรณรงค์—มากกว่าป้ายเดียว—ที่เขียนข้อความว่า ‘Make The Handmaid’s Tale Fiction Again’ เพราะพวกเธออยากให้เรื่องเหล่านั้นจบลงแค่ในนิยาย

“คุณไม่เขียนสิ่งพวกนี้โดยหวังให้มันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสังคมจริง” นักเขียนชื่อดังกล่าว แต่น่าเสียดายว่า ความเป็นไปได้ที่นิยายจะเป็นจริงหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแอทวูด ไม่ได้ขึ้นกับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราด้วยซ้ำ

ในตอนหนึ่งของนิยาย Offred พบข้อความภาษาลาตินที่สาวรับใช้คนก่อนหน้าทิ้งเอาไว้ ‘Nolite te bastardes carborundorum’ ซึ่งแปลว่า ‘อย่ายอมให้พวกแม่งบดขยี้คุณ’

ความหวัง ความเชื่อมั่น—คือสิ่งที่ตัวเราเองสัมผัสได้จากถ้อยคำที่ว่า ไม่แน่ใจนักว่า Offred ตีความมันว่าอย่างไร แต่เราเชื่อว่าในตัวเธอย่อมมีทั้งสองสิ่งนี้อยู่แล้ว เพราะในท้ายที่สุดหญิงสาวก็อดทนและหาทางหลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายนักปฏิวัติใต้ดิน

แม้ตอนนี้เราอาจมองไม่ออกว่าการเดินขบวนประท้วงในเสื้อคลุมสีแดงสดจะพาเราไปถึงไหน จะทวงคืนสิทธิเสรีภาพที่ควรเป็นของเราตั้งแต่แรกได้หรือไม่ แต่ระหว่างนี้—

และแล้วมันก็เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา (หรือบางคนอาจมองว่ามันเกิดขึ้นมาตลอดและไม่เคยหมดไปด้วยซ้ำ เช่นการถกเถียงเรื่องสิทธิในการทำแท้งในหลายๆ ประเทศที่ยังดำเนินอยู่ไม่จบไม่สิ้น) ทว่าหากคิดตามสัญชาตญาณแล้ว ใครจะอยากให้นิยายดิสโทเปียนเกิดขึ้นจริงล่ะ?

แอทวูดให้สัมภาษณ์กับ The Nation ว่า เธอได้ไปร่วมเดินขบวนในงานหนึ่งซึ่งจัดขึ้นที่โตรอนโต ภายในงานเธอเห็นป้ายรณรงค์—มากกว่าป้ายเดียว—ที่เขียนข้อความว่า ‘Make The Handmaid’s Tale Fiction Again’ เพราะพวกเธออยากให้เรื่องเหล่านั้นจบลงแค่ในนิยาย

“คุณไม่เขียนสิ่งพวกนี้โดยหวังให้มันเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในสังคมจริง” นักเขียนชื่อดังกล่าว แต่น่าเสียดายว่า ความเป็นไปได้ที่นิยายจะเป็นจริงหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับแอทวูด ไม่ได้ขึ้นกับประชาชนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราด้วยซ้ำ

ในตอนหนึ่งของนิยาย Offred พบข้อความภาษาลาตินที่สาวรับใช้คนก่อนหน้าทิ้งเอาไว้ ‘Nolite te bastardes carborundorum’ ซึ่งแปลว่า ‘อย่ายอมให้พวกแม่งบดขยี้คุณ’

ความหวัง ความเชื่อมั่น—คือสิ่งที่ตัวเราเองสัมผัสได้จากถ้อยคำที่ว่า ไม่แน่ใจนักว่า Offred ตีความมันว่าอย่างไร แต่เราเชื่อว่าในตัวเธอย่อมมีทั้งสองสิ่งนี้อยู่แล้ว เพราะในท้ายที่สุดหญิงสาวก็อดทนและหาทางหลบหนีไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากเครือข่ายนักปฏิวัติใต้ดิน

แม้ตอนนี้เราอาจมองไม่ออกว่าการเดินขบวนประท้วงในเสื้อคลุมสีแดงสดจะพาเราไปถึงไหน จะทวงคืนสิทธิเสรีภาพที่ควรเป็นของเราตั้งแต่แรกได้หรือไม่ แต่ระหว่างนี้—


อย่ายอมให้พวกแม่งบดขยี้คุณ

อ้างอิง nytimes.com, nytimes.com, theguardian.com, thenation.com, writingonglass.com

AUTHOR