Judge Aquilina นักบำบัดแห่งชั้นศาล ผู้มอบตอนจบให้ทั้งเหยื่อและคนร้าย

ขอออกตัวก่อนว่า เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการทางกฎหมายแต่อย่างใด แต่ในฐานะที่เราติดตามข่าวการดำเนินคดีของ แลร์รี่ นัสซาร์ (Larry Nassar) มาสักพักใหญ่ๆ และคิดว่ามีจุดน่าสนใจที่อยากหยิบยกมาเล่าให้ทุกคนฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้พิพากษาอนุญาตให้เหยื่อทุกรายขึ้นมากล่าวสิ่งที่ต้องการในชั้นศาลได้ (และแน่นอนว่าต่อหน้านัสซาร์ด้วย) ซึ่ง ‘ทุกราย’ ที่ว่านั้นนับรวมได้ 156 คน! ส่งผลให้การพิจารณาคดียืดยาวถึง 7 วันเลยทีเดียว

ก่อนจะเข้าประเด็นลึกไปกว่านี้ ขอปูพื้นหลังให้ก่อนว่า แลร์รี่ นัสซาร์ คือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ (osteopathy) ผู้มีสถานะดั่งเซเลบริตี้ในวงการยิมนาสติก เพราะเขาเคยเป็นแพทย์ประจำทีมยิมนาสติกโอลิมปิกของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1996-2014 และใครๆ ก็โจษจันกันว่าเขาเป็น ‘หมอเทวดา’ ที่สามารถรักษาและฟื้นฟูร่างกายของนักกีฬาทุกคนให้กลับมาแข็งแรงดังเดิมได้

ฟังดูเป็นคุณหมอที่น่าเคารพรักอยู่ไม่น้อยใช่ไหม? แต่ความจริงแล้วนัสซาร์ใช้ตำแหน่งและชื่อเสียงของตนปิดหูปิดตาคนอื่นระหว่างที่เขาล่วงละเมิดทางเพศเด็กและหญิงสาวจำนวน 265 คน (เท่าที่เปิดเผยตัว) อายุระหว่าง 8-22 ปี โดยคดีแรกสุดเท่าที่ขุดคุ้ยออกมาได้เกิดขึ้นเมื่อปี 1997 แปลว่านัสซาร์ทำเรื่องเลวร้ายนี้ติดต่อกันมากว่า 20 ปีแล้ว

คำถามแรกๆ ที่แวบเข้ามาในหัวเราคือ ทำไมอาชญากรคนนี้ถึงรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายมาได้นานเพียงนี้?

คำตอบอยู่ที่ ‘ระบบ’ และ ‘โครงสร้าง’ ภายในองค์กรที่ว่าจ้างนัสซาร์ให้เป็นแพทย์ประจำทีมยิมนาสติก ไม่ว่าจะเป็น USA Gymnastics, มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท และโรงยิม Twistars ซึ่งไม่มีกระบวนการตรวจสอบการทำงานของนัสซาร์เลยแม้แต่น้อย และต่อให้มีคนร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ใหญ่ซึ่งคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าเด็กๆ ก็เข้าข้างนัสซาร์ โดยอ้างว่าการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนการรักษาเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีของ USA Gymnastics การตรวจร่างกายกับนัสซาร์ถือเป็น ‘ข้อบังคับ’ ที่นักกีฬาทุกคนต้องทำตาม โดยนัสซาร์ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงห้องพักของนักกีฬาได้โดยไม่ต้องมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย เรียกได้ว่า ‘ระบบ’ เอื้อให้เขากระทำความผิดได้เต็มที่

อันที่จริงตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมาก็มีผู้ร้องเรียนนัสซาร์หลายต่อหลายครั้ง มีครั้งหนึ่งที่เรื่องถึงตำรวจด้วยซ้ำไป แต่คดีที่ไร้พยานหรือหลักฐานเช่นนี้อาศัยการชั่งน้ำหนักคำพูดระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหา ซึ่งนัสซาร์ก็เอาตัวรอดได้เสมอ เพราะชื่อเสียงและหน้าที่การงานเพิ่มน้ำหนักให้คำพูดของเขาได้อย่างมหาศาลนั่นเอง

จนกระทั่งในปี 2016 ทีมข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ The Indianapolis Star ซึ่งก่อนหน้านี้ได้รายงานข่าวเรื่องโค้ชที่ล่วงละเมิดทางเพศนักกีฬายิมนาสติก ได้รับข้อมูลจาก เรเชล เดนฮอลแลนเดอร์ (Rachael Denhollander) ว่าเธอก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน ทว่าสิ่งที่ต่างออกไปคือผู้กระทำไม่ใช้โค้ชของเธอ แต่เป็นแลร์รี่ นัสซาร์ แพทย์ประจำทีมผู้โด่งดัง

ด้วยพลังของสื่อมวลชน บวกกับความกล้าหาญของเดนฮอลแลนเดอร์ผู้ตัดสินใจเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่ปิดบังตัวตนและไม่สนใจว่าใครจะคิดกับเธออย่างไร นัสซาร์จึงถูกไล่ออกจากงานที่ USG Gymnastics และมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท อีกทั้งตำรวจท้องถิ่นและ FBI ก็เข้ามาตรววจสอบทันที

สิ่งแรกที่ FBI ค้นพบคือฮาร์ดดิสก์แบบพกพาซึ่งเต็มไปด้วยรูปโป๊เปลือยของผู้เยาว์จำนวนกว่า 37,000 รูป ในเดือนธันวาคม 2016 นัสซาร์ถูกจับและขึ้นพิจารณาคดีในศาลรัฐบาลกลาง (Federal Court) ผลปรากฏว่าเขาต้องรับโทษจำคุกเป็นระยะเวลาทั้งหมด 60 ปี

แต่กระบวนการที่เราสนใจเป็นพิเศษคือการขึ้นพิจารณาคดีล่วงละเมิดทางเพศในศาลมลรัฐประจำเขตอิงแฮม รัฐมิชิแกนต่างหาก

การไต่สวนเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2017 ซึ่งนัสซาร์ได้รับสารภาพผิดทั้งหมด 10 ข้อหาในการก่ออาชญากรรมทางเพศชั้นที่ 1 (10 counts of first-degree criminal sexual conduct) ซึ่ง ‘ชั้นที่ 1’ ที่ว่านี้คือการกระทำที่ร้ายแรงที่สุด หมายรวมถึงการสอดใส่ การกระทำต่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 13 ปี และการใช้อำนาจหน้าที่บังคับข่มเหง (ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้)

แม้จำเลยจะสารภาพผิดแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนการฟังคำพิพากษาซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นไปในเดือนมกราคม 2018 ที่ผ่านมา โดยผู้พิพากษาโรสแมรี่ อาคิลินา (Rosemarie Aquilina) อนุญาตให้เหยื่อทุกคนขึ้นมากล่าวคำแถลงการณ์ต่อหน้าชั้นศาลได้ ซึ่งแม้กระทั่งในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและศาลในสหรัฐฯ ยังพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’

อันที่จริง บทแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 6 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา (Sixth Amendment) กำหนดให้อเมริกันชนทุกคนมีสิทธิพบหน้าผู้กล่าวหาในชั้นศาล แต่ผู้พิพากษาอาคิลินาใช้สิทธิดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้กับเหยื่อที่ร่วมกันฟ้องร้องคดีนี้ ให้พวกเธอมีโอกาสให้การเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรม โดยในตอนแรก มีผู้แจ้งความจำนงไว้ 88 คน ก่อนแรงกระเพื่อมจากผู้กล้าหาญที่ขึ้นมาพูดเป็นรายแรกๆ รวมทั้งกระแสจาก #MeToo จะผลักดันให้มีเหยื่อออกมาพูดมากขึ้น จนสุดท้ายแล้วมีผู้พูดรวมกันทั้งสิ้น 156 คน

หากมองให้ลึกถึงรายละเอียด ในฐานะที่ขั้นตอนนี้เป็น ‘การฟังคำพิพากษา’ ไม่ใช่ ‘การไต่สวน’ และนัสซาร์ก็ได้รับสารภาพไปเรียบร้อยแล้ว ผู้พิพากษาอาคิลินาไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องใช้เวลาถึง 7 วันรับฟังถ้อยคำของเหยื่อ

แล้วทำไมเธอถึงเลือกที่จะทำเช่นนี้?

คำตอบที่แท้จริงคงมีเพียงผู้พิพากษาอาคิลินาที่รู้ดี แต่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ เราเชื่อว่านี่เป็นการมอบ ‘ตอนจบ’ ให้กับเหยื่อทุกคน เพื่อที่พวกเขาจะได้ก้าวต่อไปข้างหน้า ใช้ชีวิตอย่างใจต้องการ โดยปราศจากการเคลือบแคลงสงสัย ทั้งความสงสัยที่ว่า ‘หรือฉันเองที่ผิด’ และความสงสัยที่ว่า ‘สัตว์ร้ายที่ยังลอยนวลอยู่ในสังคมนั้นจะไปทำร้ายใครอีกบ้าง’

‘ผู้รอดชีวิต’ (ตามคำที่ผู้พิพากษาอาคิลินาเรียก) ส่วนใหญ่ต้องทุกข์ทนกับปัญหาสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล ภาพแฟลชแบ็กที่ตามหลอกหลอนทุกค่ำคืน หรือปัญหาเรื่องการเชื่อใจคน หลังจากที่โดนนัสซาร์ทรยศความไว้ใจที่มีไปจนหมดสิ้น

เรื่องราวที่กรีดใจเราที่สุดคือ หญิงสาวคนหนึ่งถึงกับเลือกจบชีวิตตัวเองเพราะทนความเจ็บปวดไม่ไหว โดยแม่ของเธอเป็นผู้ขึ้นมาเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแทน

ทุกครั้งที่ผู้รอดชีวิตอ่านคำแถลงการณ์ของตนจบ ผู้พิพากษาอาคิลินาจะกล่าวถ้อยคำเป็นกำลังใจให้พวกเธอเสมอ ส่วนตัวเราประทับใจที่อาคิลินาไม่ได้เตรียมเซ็ตคำพูดเหมือนกันมาบอกกับทุกคนให้จบๆ ไป แต่เธอให้กำลังใจทุกคนในฐานะปัจเจกชน

เช่นในกรณีหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรก หญิงสาวคนนี้เล่าว่า เธอเคยรักดนตรีและเสียงเพลงมากๆ ทว่าตั้งแต่เกิดเรื่อง เธอก็สูญเสียเสียงของเธอไป และไม่เคยแต่งหรือร้องเพลงได้อีกเลย เมื่อได้ยินดังนั้นผู้พิพากษาอาคิลินาจึงกล่าวว่า “ฉันคิดว่าหลังจากนี้คุณน่าจะแต่งเพลงได้แล้ว เพราะคุณได้เสียงของคุณกลับคืนมาแล้ว มันเป็นเสียงที่แข็งแกร่ง มีพลัง และกล้าหาญ คุณกำลังจะมีลูก บางทีสิ่งที่คุณต้องทำคือแต่งเพลงกล่อมเด็กให้จบสักเพลง”

นอกจากนี้ เธอยังกางปีกปกป้องผู้รอดชีวิตทุกคนอย่างเต็มความสามารถ หลังจากขั้นตอนการฟังคำพิพากษาผ่านไปได้เพียง 2-3 วัน นัสซาร์เขียนจดหมายหาอาคิลินาว่า เขาทนฟังสิ่งที่ผู้หญิงเหล่านั้นพูดไม่ไหวอีกต่อไป อาคิลินาไม่เพียงเพิกเฉยต่อเสียงบ่นของนัสซาร์ แต่ยังโต้กลับอย่างเผ็ดร้อนต่อหน้าทุกคนในชั้นศาลว่า “การใช้เวลา 4-5 วันฟังเรื่องราวของพวกเธอนั้นถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับเวลาหลายต่อหลายชั่วโมงที่คุณเพลิดเพลินบนความทุกข์ของพวกเธอและทำลายชีวิตของพวกเธอ” พร้อมกับโยนจดหมายของนัสซาร์ทิ้ง (มีคนนำคลิปวิดีโอท่าโยนของเธอมาทำเป็นไฟล์ gif ซึ่งถูกแชร์ไปทั่วอินเทอร์เน็ตด้วย)

ไม่ใช่แค่นี้หรอกที่ทำให้ใครต่อใครออกมาชื่นชมและยกย่องให้ผู้พิพากษาอาคิลินาเป็น ‘นางฟ้าผู้ล้างแค้น’ และ ‘นักบำบัดแห่งชั้นศาล’ เพราะเธอยังทำอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยมีผู้พิพากษาคนใดทำมาก่อน นั่นคือการแสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับคดีในลักษณะที่กล่าวโทษจำเลยอย่างชัดแจ้ง

เช่นขณะที่เธอแถลงคำพิพากษาที่กำหนดโทษจำคุก 40-175 ปีให้กับนัสซาร์ อาคิลินากล่าวกับอดีตแพทย์ว่า “ฉันเพิ่งลงนามในคำสั่งประหารชีวิตของคุณ” เพราะปัจจุบันเขามีอายุ 54 ปี เมื่อบวกจำนวนปีของโทษเดิม 60 ปีเข้ากับโทษที่เพิ่มเข้าไป ก็เป็นที่แน่นอนว่าในชีวิตนี้เขาไม่มีทางได้ออกนอกกรงขังอีกแล้ว

นอกจากนี้ยังมีครั้งหนึ่งที่อาคิลินากล่าวว่า “รัฐธรรมนูญของเราไม่อนุญาตให้มีการลงโทษอย่างรุนแรงหรือแปลกประหลาด ไม่อย่างนั้นฉันบอกเลยว่า ฉันอาจจะอนุญาตให้เขาลิ้มรสสิ่งที่เขากระทำกับหญิงสาวผู้มีจิตวิญญาณสวยงามเหล่านี้ หญิงสาวที่ยังเป็นเพียงเด็กน้อย ฉันจะอนุญาตให้ใครสักคน หรือหลายคน ทำกับเขาแบบที่เขาทำกับคนอื่นๆ”

แม้คำพูดของเธอจะช่วยปลอบใจและล้างแค้นแทนผู้ถูกกระทำทุกคน แต่เอาเข้าจริงสิ่งที่อาคิลินาพูดก็ออกจะรุนแรงอยู่ไม่น้อย และสื่อนัยถึงปัญหาภายในระบบเรือนจำของสหรัฐฯ ที่ผู้กระทำผิดทางเพศมักจะถูกผู้ต้องขังคนอื่นๆ กลั่นแกล้งด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ (อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเรือนจำในสหรัฐฯ ได้ให้ความเห็นว่า นัสซาร์น่าจะถูกคุมขังเดี่ยวเพื่อความปลอดภัย เพราะคดีของเขาร้ายแรงและอื้อฉาวมาก)

ด้าน แชนนอน สมิท (Shannon Smith) ทนายของนัสซาร์ออกมาให้ความเห็นว่า เธอสามารถนำคำพูดดังกล่าวไปใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องอาคิลินาเรื่องการพิพากษาโดยมีอคติส่วนตัวได้ อีกทั้งทนายและผู้พิพากษาบางคนก็ออกมาวิจารณ์อาคิลินาว่า หน้าที่ของผู้พิพากษาคือการบังคับใช้กฎหมายและมอบความยุติธรรม ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นส่วนตัว

อย่างไรก็ดี มีผู้สนับสนุนอาคิลินาอยู่จำนวนมาก เช่น สตีเฟน จิลเลอร์ส (Stephen Gillers) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ที่ออกมาบอกว่า “ในการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาสามารถพูดอะไรก็ได้ และถูกสนับสนุนให้พูดในสิ่งที่คิดด้วยซ้ำไป”

นอกจากนี้ หากเราย้อนไปดูการดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศอื่นๆ ที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา ก็จะเห็นว่าเหล่าผู้พิพากษาก็แสดงความคิดเห็นของตัวเองอย่างโจ่งแจ้งเหมือนกัน แต่แทนที่จะเข้าข้างเหยื่อ พวกเขากลับเข้าข้างผู้กระทำผิด อย่างคดีเมื่อปี 2015 ของบร็อก เทิร์นเนอร์ (Brock Turner) นักศึกษาที่ข่มขืนหญิงสาวในเขตมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด ผู้พิพากษาในคดีนี้ตัดสินให้เขาจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน เพราะเกรงว่า “การอยู่ในเรือนจำจะกระทบต่อจิตใจของเขา” หรือคดีเมื่อปี 2017 ของบิชอปในลัทธิมอร์มอนนามว่า คีท โรเบิร์ต วัลเลโจ (Keith Robert Vallejo) ผู้พิพากษาในคดีนี้กล่าวในการฟังคำพิพากษาว่า “นายวัลเลโจเป็นคนที่ดีเยี่ยม แต่บางครั้งคนดีก็ทำสิ่งที่เลวร้ายได้เหมือนกัน”

สรุปได้ว่าการแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของอาคิลินาไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่เธอเป็นคนแรกๆ ที่เลือกแสดงความคิดเห็นถูกฝั่ง การทำเช่นนี้ส่งสัญญาณถึงอาชญากรทุกคนทั้งที่อยู่ในและนอกเรือนจำว่า พวกเขาเป็นฝ่ายผิดที่แท้จริง และในขณะเดียวกันก็ส่งข้อความถึงผู้รอดชีวิตจากการล่วงละเมิดทางเพศทุกคนว่าพวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด และความยุติธรรมจะเข้าข้างพวกเขาเสมอ ต่อให้บางครั้งจะต้องใช้เวลานานหน่อยก็ตามที

ข้อความสำคัญที่ผู้พิพากษาอาคิลินาส่งต่อให้ผู้รอดชีวิตทุกคน นั่นคือ “ทิ้งความเจ็บปวดของคุณไว้ที่นี่ แล้วออกไปสร้างสรรค์สารพันสิ่งอันงดงามในแบบของคุณ”

ถ้ามีโอกาสที่จะบอกผู้รอดชีวิตได้เช่นนี้ เป็นคุณจะไม่ทำหรือ?

อ้างอิง alligator.org, bbc.com, bbc.com, dailyprincetonian.com, edition.cnn.com, edition.cnn.com, edition.cnn.com,huffingtonpost.com, huffingtonpost.com, indystar.com, msn.com, nbcnews.com, sapac.umich.edu, theatlantic.com, theatlantic.com, time.com, time.com

AUTHOR