​#HomeToVote ถนนเส้นยาวสู่การทำแท้งที่ถูกกฎหมายในประเทศไอร์แลนด์

Highlights

  • การทำแท้งเป็นประเด็นที่ชาวไอริชถกเถียงกันมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี โดยรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 8 (เรียกสั้นๆ ว่า the 8th) กำหนดให้ตัวอ่อนในครรภ์มีสิทธิ์ในการมีชีวิตเทียบเท่ากับผู้เป็นแม่ ส่งผลให้การทำแท้งผิดกฎหมายในทุกๆ กรณี
  • แน่นอนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนั้นก่อเกิดจากเจตนาที่ดีต่อชีวิตของเด็ก แต่มันกลับมองข้ามชีวิตของผู้เป็นแม่ จนเกิดเหตุสลดขึ้นหลายครั้ง โดยที่โจษจันที่สุดคือกรณีของ Savita Halappanavar ซึ่งเกิดอาการแท้งตามธรรมชาติ แต่แพทย์ไม่ยอมผ่าตัดเอาเด็กออกให้ จนเธอเสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • รัฐบาลไอร์แลนด์ตัดสินใจเปิดให้ประชาชนลงประชามติเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมายในวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีชาวไอริชหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกพากันหลั่งไหลไปลงคะแนนเสียง จนเกิดแฮชแท็ก #HomeToVote
  • แน่นอนว่าชาวไอริชพร้อมก้าวสู่อนาคตแล้ว ยืนยันจากผลคะแนนที่ฝ่าย pro-choice (สนับสนุนการทำแท้งถูกกฎหมาย) ชนะฝ่าย pro-life (ไม่ยอมรับการทำแท้งทุกกรณี) ด้วยคะแนนเสียงล้นหลามที่ 66.4 เปอร์เซ็นต์ต่อ 33.6 เปอร์เซ็นต์

1.#HomeToVote

แม่ของฉันเคยทำแท้ง #HomeToVote

ฉันรู้เรื่องนี้ตั้งแต่ยังเด็ก แม่เล่าให้ฟังอย่างเรียบง่าย หลังจากมีพี่ของฉัน แม่ท้องอีกครั้ง แต่ด้วยเหตุผลทางสุขภาพจึงตัดสินใจทำแท้งที่คลินิกแห่งหนึ่งที่ดำเนินการโดยภาครัฐ

ครั้งต่อมาที่ขีด 2 ขีดปรากฏบนแท่งตรวจครรภ์ สุขภาพของแม่แข็งแรงดี จึงอุ้มท้องจนครบ 9 เดือน แล้วฉันก็ได้ลืมตาดูโลก

เรื่องราวของแม่ทำให้ฉันรู้มาตลอดว่าการทำแท้งไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ผิดปกติ หรือผิดบาป พูดกันซื่อๆ มันเป็นขั้นตอนทางการแพทย์อย่างหนึ่งเท่านั้น

#HomeToVote

เครดิตภาพ Niall-Carson_PA-Images-_-thejournal.ie


2.

วันที่ 21 ตุลาคม 2012 ที่ประเทศไอร์แลนด์ ทันตแพทย์หญิงเชื้อสายอินเดีย Savita Halappanavar เจ้าของครรภ์อายุ 17 สัปดาห์ ได้แอดมิตเข้าโรงพยาบาล Galway University Hospitals ด้วยอาการปวดหลังอย่างหนัก พร้อมทั้งรู้สึกเหมือน ‘อะไรบางอย่างหลุดออกมา’

อะไรบางอย่างที่ว่าคือถุงการตั้งครรภ์ (gestational sac) ที่ยื่นออกมาจนเกือบจะหลุดออกจากช่องคลอดของเธอ

หลังจากนั้น 2 วัน น้ำคร่ำของสาวิตาก็แตก อาการทั้งหมดชี้ชัดว่านี่คือการแท้ง หญิงสาวขอให้แพทย์ช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้เธอ แต่พวกเขาปฏิเสธเพราะตรวจพบการเต้นของหัวใจในตัวอ่อน ซึ่งภายใต้กฎหมายของไอร์แลนด์ การหยุดหัวใจดวงน้อยนั้นถือเป็นการกระทำผิดร้ายแรงที่อาจเปลี่ยนแพทย์เป็นอาชญากรได้ในชั่วพริบตา

สาวิตาเริ่มมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด วันที่ 24 ตุลาคม เธอคลอดตัวอ่อนที่ไร้ลมหายใจออกมา แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว อาการของเธอย่ำแย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 28 ตุลาคม สาวิตาก็จากไป

#HomeToVote

เครดิตภาพ rte.ie


3.

การทำแท้งเป็นประเด็นที่ชาวไอริชถกเถียงกันมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 1983 ที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 8 (เรียกสั้นๆ ว่า the 8th) กำหนดให้ตัวอ่อนในครรภ์มีสิทธิ์ในการมีชีวิตเทียบเท่ากับผู้เป็นแม่ ส่งผลให้การทำแท้งผิดกฎหมายในทุกๆ กรณี ต่อให้ตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติร้ายแรง (แบบที่เมื่อคลอดแล้วจะไม่รอด) และต่อให้การตั้งครรภ์เกิดจากการข่มขืนหรือการร่วมเพศระหว่างพี่น้องก็ตาม

กฎหมายดังกล่าวได้รับอิทธิพลจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก พระบัญญัติข้อที่ 5 ระบุว่า ชีวิตมนุษย์ต้องได้รับการยอมรับและการปกป้องอย่างถึงที่สุดนับตั้งแต่วินาทีที่ปฏิสนธิ

แม้เจตนาตั้งต้นของคำสอนจะเปี่ยมไปด้วยความเมตตาต่อชีวิตมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกัน คำสอนนั้นก็มองข้ามปัจจัยอื่นๆ ในชีวิตของผู้หญิงเจ้าของครรภ์ เช่น สถานภาพของครอบครัว ความพร้อมทางเศรษฐกิจ ความใฝ่ฝันสูงสุด ฯลฯ

มองข้ามสิทธิ์ในร่างกาย

มองข้ามสิทธิ์ในการตัดสินใจ

มองข้ามชีวิตของพวกเธอ

เครดิตรูป news.sky.com


4.

ทันทีที่เรื่องราวของสาวิตาเผยแพร่สู่สาธารณชน ไม่เพียงชาวไอริชเท่านั้นที่รู้สึกสลดใจ แต่ชนชาติอื่นๆ จากหลากหลายประเทศทั่วโลกยังรวมตัวกันในชุมชนของตนเพื่อไว้อาลัย หรือกระทั่งชวนกันเดินขบวนเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่หญิงสาวที่จากไป

ท่ามกลางความโศกเศร้าที่เริ่มเปลี่ยนเป็นความโกรธขึ้งของมวลชน Colm O’Gorman กรรมการบริหารองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำไอร์แลนด์ เป็นตัวแทนออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “รัฐบาลไอร์แลนด์หลายต่อหลายสมัยได้ล้มเหลวที่จะระบุอย่างชัดเจนว่า จะปกป้องและป้องกันสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิงอย่างไรบ้าง ผู้หญิงไอริชจึงต้องตกอยู่ในความเสี่ยง”

เพราะอันที่จริง กฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตได้ แต่กลับไม่ชี้ชัดว่ากรณีใดบ้างที่เข้าข่าย เกิดเป็นช่องว่างที่ทีมแพทย์จะตีความไปอย่างไรก็ได้ตามแต่วิจารณญาณและความเชื่อส่วนตัว เมื่อมีกรณีอย่างสาวิตา เรื่องราวจึงจบลงอย่างน่าเศร้า

การเพิ่มเติมรายละเอียดให้กฎหมายชัดเจนขึ้นเป็นทางออกหนึ่ง แต่กลุ่ม pro-choice ซึ่งสนับสนุนให้ผู้หญิงมีสิทธิ์ตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของตัวเองด้วยตัวเอง เชื่อว่ารัฐบาลควรรับรองให้การทำแท้งถูกกฎหมายไปเลย เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีกฎหมายห้าม ผู้หญิงไอริช (ที่มีเหตุจำเป็น) ก็ทำแท้งกันอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเธอไม่ได้ทำบนผืนดินไอร์แลนด์เท่านั้นเอง

เครดิตรูป Alan Betson-_-Irishtimes.com

จากผลการสำรวจเมื่อปี 2016 โดย Department of Health and Social Care ผู้หญิงไอริชมากกว่า 3 พันคนต่อปีเดินทางโดยเรือหรือเครื่องบินเพื่อไปทำแท้งที่ประเทศอังกฤษ โดยตัวเลขนี้ยังไม่รวมคนที่เลือกเดินทางไปทำแท้งที่ประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้การสำรวจเมื่อปี 2017 โดย British Medical Journal พบว่า ในแต่ละวันมีผู้หญิงไอริชกินยาทำแท้งที่สั่งซื้อออนไลน์จำนวน 3 คน โดยต้องทำอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะหากถูกจับได้ พวกเธออาจต้องไปใช้เวลาในเรือนจำนานถึง 14 ปีเลยทีเดียว

เช่นนี้แล้ว หากการทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย ผู้หญิงไอริชก็สามารถเข้าถึงกระบวนการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยในบ้านเกิดตัวเองได้และไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับกุม

“กฎหมายต้องเปลี่ยน บางทีสาวิตาอาจถือกำเนิดขึ้นเพื่อมาเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่นี่” Praveen Halappanavar สามีของสาวิตาว่าไว้เช่นนั้น

#HomeToVote

เครดิตภาพ edition.cnn.com


5.

หลังจากการเสียชีวิตของสาวิตา การเคลื่อนไหวของกลุ่ม pro-choice ก็ทวีความเข้มข้นและมีผู้คนมาเข้าร่วมมากขึ้น อย่างการเดินขบวน March for Choice ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็มีคนมาร่วมเดินเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ส่วนการถกเถียงเรื่องการทำแท้งก็เผ็ดร้อนขึ้นทุกที

ด้านรัฐบาลไอร์แลนด์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ในปี 2016 Enda Kenny นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ประชาชนจำนวน 99 คนจากทั่วประเทศมารวมตัวกันในนาม Citizens’ Assembly เพื่อพิจารณาข้อมูลและเหตุผลจากทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมทั้งฟังเรื่องราวจากชีวิตของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจาก the 8th

fast forward มาในเดือนมิถุนายน ปี 2017 หลังจากพิจารณาข้อมูลและเรื่องราวทั้งหมด Citizens’ Assembly ได้เผยแพร่ข้อเสนอแนะที่สนับสนุนการทำแท้งที่ถูกกฎหมาย แม้จะถูกวิจารณ์จากฝั่งอนุรักษนิยมว่า การรวมตัวของประชาชน 99 คนนั้นไม่สามารถเป็นตัวแทนของชาวไอริชทั่วทั้งประเทศได้ แต่รัฐบาลก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเสนอแนะดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดเค้าโครงกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้โดยไร้เงื่อนไขหากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ และทำแท้งได้ในบางกรณีหากอายุครรภ์เกินกว่านั้นแต่ไม่เกิน 6 เดือน

เมื่อตระเตรียมทุกอย่างพร้อมสรรพ ขั้นตอนต่อไปคือการลงประชามติ ซึ่งไม่เพียงกำหนดอนาคตของผู้หญิงไอริช แต่ยังกำหนดอนาคตของประเทศไอร์แลนด์ยุคใหม่ด้วย

#HomeToVote

เครดิตภาพ Alastair Moore_London-Irish ARC


6.

ในเดือนพฤษภาคม 2018 เพราะกฎหมายไอร์แลนด์ไม่เอื้อให้ชาวไอริชนอกประเทศร่วมโหวตทางไกลได้ ชาวไอริชจำนวนราว 40,000 คนจากทั่วทุกมุมโลกจึงพากันหลั่งไหลกลับบ้านเพื่อลงประชามติ พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำแท้งเป็นประเด็นสำคัญที่อยู่ในใจของใครหลายคน และพวกเขาต้องการมีสิทธิ์มีเสียงต่อให้ต้องสละเวลาเพื่อเดินทางกลับบ้านก็ตาม

ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นทั้งในฝั่งที่โหวต Yes (ทำแท้งถูกกฎหมาย) และฝั่งที่โหวต No (ไม่เอาการทำแท้งทุกกรณี) คือการร่วมกันบริจาคเงินค่าเดินทางให้กับเพื่อนร่วมชาติที่สะดวกเดินทางกลับไปลงคะแนนแต่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ ทำให้แฮชแท็ก #HomeToVote เทรนดิ้งไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ต

25 พฤษภาคม วันกำหนดชะตา ชาวไอริชกว่า 2 ล้านคนพากันไปลงคะแนนเสียง นับเป็น 64.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด เมื่อผลประกาศว่าฝ่าย Yes ชนะฝ่าย No ด้วยคะแนนเสียงล้นหลามที่ 66.4 เปอร์เซ็นต์ต่อ 33.6 เปอร์เซ็นต์ บรรยากาศในเมืองดับลินไม่ได้เต็มไปด้วยความครื้นเครงหรือการเฉลิมฉลอง กลับกันเหล่า pro-choice รู้สึกอิ่มเอมและเต็มตื้นที่ในที่สุดผู้หญิงก็ได้เป็นเจ้าของสิทธิ์เหนือเรือนร่างของตนเองอย่างสมบูรณ์ หลายคนเดินไปวางดอกไม้หน้ารูปวาดของสาวิตาบนกำแพงและติดโพสต์อิตเล็กๆ ที่มีข้อความว่า ‘เราทำสำเร็จแล้ว’ แม่คนหนึ่งกระซิบบอกลูกสาวตัวน้อยว่า “เราเพิ่งสร้างประวัติศาสตร์”

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของไอร์แลนด์ Leo Varadkar กล่าวว่า “นี่คือผลลัพธ์ของการปฏิวัติเงียบที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึง 10-20 ปีในไอร์แลนด์ มันเป็นการใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย และผู้คนได้เลือกแล้ว

“เราเชื่อในตัวของผู้หญิง และเราเคารพในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของพวกเธอ”

ในขณะที่ Simon Harris รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข พูดไว้อย่างกินใจว่า “the 8th ทอดทิ้งผู้หญิงที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤต เราเคยบอกให้พวกเธอจับเครื่องบิน จับเรือ แต่วันนี้เราบอกให้พวกเธอจับมือเรา เราเคยบอกพวกเธอให้จัดการปัญหาด้วยตัวเอง แต่วันนี้เราบอกว่าจะยืนเคียงข้างพวกเธอเอง”

#HomeToVote ทำแท้งถูกกฎหมาย

เครดิตภาพ John-Wells-_-Irishtimes.com


7.

หากมองลึกลงไปในตัวเลข การลงประชามติครั้งนี้มีคนออกมาใช้สิทธิ์เยอะที่สุดนับตั้งแต่ปี 1992 และเยอะที่สุดในประวัติศาสตร์หากนับแค่การลงประชามติในเรื่องเชิงสังคม

การโหวตครั้งนี้อาจทำเพื่อสิทธิเหนือเรือนร่างของผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่นอกจากผู้หญิงจำนวน 72.1 เปอร์เซ็นต์ที่โหวต Yes ก็ยังมีผู้ชาย 65.9 เปอร์เซ็นต์ที่โหวต Yes เช่นกัน

ว่าด้วยเรื่องช่วงอายุ ชาวไอริชทุกวัยพากันโหวต Yes อย่างถล่มทลาย มีเพียงคนวัย 65 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่โหวต No กันเป็นส่วนใหญ่

ดูจากสถิติดังกล่าว คงไม่เกินไปนักที่จะบอกว่าผลลัพธ์ของการลงประชามติครั้งนี้คือเสียงของคนไอริชยุคใหม่อย่างแท้จริง และดูเหมือนว่าไอร์แลนด์ยุคใหม่จะเป็นประเทศที่เปิดกว้างกว่าเดิม มองย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีก่อน ชาวไอริชก็เพิ่งเทคะแนนโหวต Yes ให้กฎหมายรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน หรือมองย้อนไปไกลกว่านั้นอีก ไอร์แลนด์ก็ได้ยกเลิกการแบนการหย่าร้าง ดูเหมือนว่าไอร์แลนด์กำลังเดินทางจากประเทศอนุรักษนิยมสู่เสรีนิยม

“ฉันรู้สึกตื้นตันใจและภาคภูมิใจมากๆ” Dominique McMullan หนึ่งในชาวไอริชฝั่ง Yes ให้สัมภาษณ์กับสื่อเจ้าหนึ่งพลางปาดน้ำตา “ตอนนี้พวกเราเหมือนเป็นประเทศใหม่ ไอร์แลนด์ยุคเก่าไม่อยู่แล้ว”

ทำแท้งถูกกฎหมาย #HomeToVote

เครดิตภาพ Brian-Lawless-_-PA-Wir


8.

ในฐานะคนที่เรียกตัวเองว่า pro-choice เราเองก็ร่วมยินดีไปกับก้าวใหม่ของไอร์แลนด์

ย้อนดูในบ้านเราที่ยังมีการถกเถียงเรื่องการทำแท้งอยู่เนืองๆ แม้กฎหมายเราจะ ‘หลวม’ กว่า ในแง่ที่มีข้อยกเว้นมากมายสำหรับผู้หญิงที่จำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์ ทั้งเหตุผลเรื่องสุขภาพกายใจหรือเหตุผลเรื่องการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ (เช่น เกิดจากการล่วงละเมิดทางเพศ) แต่คำถามคือเมื่อไหร่เราจะเลิกตีตราผู้หญิงที่ทำแท้งด้วยคำว่า ‘บาป’ ‘ใจยักษ์ใจมาร’ หรือกระทั่งลามปามไปถึงคำว่า ‘สำส่อน’

ในเมื่อร่างกายเป็นของเธอ การตัดสินใจเป็นของเธอ สิทธิ์เป็นของเธอ แม้กระทั่งความโศกเศร้า ความเจ็บปวดทั้งกายและใจ หรือความรู้สึกผิดบาปก็เป็นของเธอ (หรือต่อให้เธอไม่รู้สึกเช่นนี้ก็ไม่ผิดอะไร)

ทั้งที่ตัดสินใจทำแท้งด้วยเหตุผลเรื่องสุขภาพ แต่แม่ของฉันบอกว่าทุกวันนี้ก็ยังเสียใจ บางครั้งบางคราวก็คิดว่าถ้าวันนั้นไม่ทำแท้งชีวิตจะมีความเป็นไปได้แบบไหนอีกบ้าง

การตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่ทำแท้งย่อมมีปัจจัยและเหตุผลแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน ฉันเป็นลูกแม่แท้ๆ พอรู้เรื่องแล้วก็ไม่เคยคิดตัดสิน ทำได้เพียงเคารพการตัดสินใจของแม่

และดีใจที่เมื่อแม่พร้อม (ทั้งกาย ใจ และเศรษฐกิจ) แม่ก็มีฉันไง

ทำแท้งถูกกฎหมาย

เครดิตภาพ irishtimes.com


อ้างอิง bbc.com, bbc.co.uk, edition.cnn.com, greeneuropeanjournal.eu, hometovote.com, irishstatutebook.ie, telegraph.co.uk, thejournal.ie, theguardian.com, theguardian.com, theguardian.com, timesofindia.indiatimes.com

ภาพประกอบ พรรษชล โตยิ่งไพบูรณ์

AUTHOR