วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าฯ จันทบุรี จังหวัดแรกที่ออกประกาศความเท่าเทียมทางเพศ

Highlights

  • วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คือผู้ที่ลงนามประกาศความเท่าเทียมทางเพศฉบับประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
  • วิทูรัชเล่าให้ฟังว่า เพราะการเติบโตมาโดยเห็นความหลากหลายมาตลอดทำให้เขาคิดว่าสิทธิมนุษยชนที่แต่ละคนมีนั้นควรเท่ากัน ไม่มีใครพิเศษกว่าใคร
  • สุดท้ายแม้ในปัจจุบันเขายังเห็นปัญหาอยู่บ้างว่ามีสิ่งที่ต้องแก้ไข แต่วิทูรัชลงความเห็นว่าสังคมกำลังมีความหวังมากในเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่สามารถช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ต่อไปในอนาคต

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา หลายสื่อประโคมข่าวว่าจังหวัดจันทบุรีได้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทางเพศในประเทศไทย

ประวัติศาสตร์นั้นมาจากเอกสารส่วนกลางของจังหวัดจันทบุรีที่มีข้อความโดยสรุปดังนี้


ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อขจัดอุปสรรคการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลอื่น จึงออกประกาศให้ส่วนราชการปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศในด้านใดด้านหนึ่งต่อไปนี้

  1. การแต่งกาย ให้บุคลากรสามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคลตามข้อบังคับของหน่วยงาน
  2. การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม จัดพื้นที่ที่เหมาะสมกับจำนวนของบุคคล ข้อจำกัดของบุคคล และอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล
  3. การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน มีการระบุคุณสมบัติด้านวุฒิการศึกษาหรือความสามารถที่สอดคล้องกับลักษณะงาน ไม่ระบุเพศกำเนิดหรือเพศสภาพ/เพศภาวะ
  4. การใช้ถ้อยคำ ภาษา และกิริยาท่าทาง และเอกสารต่างๆ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรเกี่ยวกับคำศัพท์ที่เหมาะสมในการใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล เพื่อไม่ให้เกิดการตีตรา เสียดสี หรือลดทอนคุณค่าของบุคคลทุกเพศ รวมถึงเป็นการแสดงถึงอคติทางเพศที่ไม่เคารพในสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
  5. การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงาน ส่งเสริมให้มีการสรรหาบุคคลทั้งเพศชาย เพศหญิง หรือผู้ที่แสดงออกที่แตกต่างจากเพศกำเนิด เข้าร่วมเป็นกรรมการในทุกระดับ เพื่อพัฒนาสังคมไทยไปสู่สังคมเสมอภาคอย่างแท้จริง
  6. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดในการทำงาน

ลงนามโดย วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี


แม้ไม่ใช่ข้อกฎหมายเด็ดขาด แต่หลายคนลงความเห็นว่าประกาศฉบับนี้คืออีกหนึ่งก้าวสำคัญ ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมอย่างที่พวกเขาเคยวาดฝันไว้เริ่มเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ผู้เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศหลายคนออกมาชื่นชมหน่วยราชการของจังหวัดจันทบุรีกันยกใหญ่

ด้วยเหตุนี้เองเราจึงตัดสินใจติดต่อขอสัมภาษณ์กับคนต้นเรื่อง ในเช้าวันหนึ่ง วิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รอเราอยู่แล้วที่ปลายสาย

“ไม่ใช่ผลงานของผมหรอก แต่เป็นผลงานของทุกคน” ประโยคแรกของการพูดคุยเขาบอกเราแบบนั้น ก่อนที่ประโยคบอกเล่าถึงความเป็นมาและมุมมองของวิทูรัชต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศจะตามมา

และเราถอดความมาให้ฟังในบรรทัดถัดไป

วิทูรัช ศรีนาม

ภาพจาก : เพจจังหวัดจันทบุรี

 

คุณมีมุมมองเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังไงบ้าง

ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ ความเท่าเทียมทางเพศเป็นวิถีชีวิตที่ควรเป็นโดยที่ไม่น่าเอากฎหมายมาบังคับกัน อาจเพราะที่ผ่านมาในสายงานการเป็นนักปกครองผมเจอความหลากหลายของคน ทั้งเพศ ชาติ และศาสนามาแล้ว ไม่มีที่ไหนที่เป็นของใครฝ่ายเดียว ดังนั้นผมว่าเรื่องพวกนี้ควรเป็นเรื่องที่เราทำกันอยู่แล้วด้วยจิตสำนึก

 

คิดแบบนี้ตั้งแต่แรกเลยไหม เพราะว่ากันตามตรงด้วยวัยแล้วคุณไม่ได้โตมาในช่วงที่เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงเท่าไหร่

(นิ่งคิด) ผมกลับคิดว่าที่ผ่านมาผมได้เห็นเรื่องนี้มาตลอดนะ แต่เห็นเป็นประเด็นใหญ่ที่ครอบอยู่ คือคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’

ผมเคยทำงานในที่ที่มีชาวเขา เขาอยากให้คนนอกเรียกว่า ‘ม้ง’ ไม่ใช่ ‘แม้ว’ ผมเคยอยู่ในสังคมที่ลูกจีนถูกเรียกอย่างดูถูกว่า ‘ไอ้ลูกเจ๊ก’ และผมก็อยู่ในที่ที่ LGBTQ กลายเป็นจุดศูนย์กลางในการล้อเลียน ผมจึงมองว่าทั้งหมดนี้คือปัญหาที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชนและความเหลื่อมล้ำ ผมเห็นมาจนทำให้คิดว่าควรแก้ไข เหมือนผมมองทั้งหมดเป็นเรื่องของมนุษย์ที่ต้องเท่ากันมากกว่า 

 

เพราะเห็นความหลากหลาย คุณเลยเข้าใจความหลากหลาย

ใช่ๆ และความหลากหลายนี้ต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ด้วย ยกตัวอย่างอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเพศก็ได้ เช่น คนแอฟริกามาทำธุรกิจเพชรพลอยที่จันทบุรีเยอะ ผมก็ต้องดูแลเขาตามกฎหมายในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเช่นกัน ไม่ใช่ต้องแบ่งแยกอะไร เพราะทุกคนมีสิทธิความเป็นมนุษย์เท่ากัน

 

แล้วมุมมองเหล่านี้มีผลต่อประกาศที่เพิ่งออกมาขนาดไหน

ต้องบอกก่อนว่านั่นเป็นงานที่เกิดขึ้นกับระบบราชการธรรมดา ไม่ใช่เพราะว่าผู้ว่าฯ ทันสมัย ผมไม่เคยคิดว่าเป็นงานตัวเองเพราะเจ้าของเรื่องจริงๆ คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เราแค่คุยกันว่าในจันทบุรีควรมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้บ้างก็เท่านั้น เลยออกเป็นประกาศ แต่ต่อให้ไม่มีประกาศเราก็ทำเรื่องนี้กันอยู่แล้ว เพราะมันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิ่งที่ควร 

เอาจริงไม่ได้มองเป็นข่าวด้วยซ้ำ ไม่ได้มองว่าเป็นประวัติศาสตร์อะไรเลย เพราะว่ากันตามตรงหลายจังหวัดอาจทำประเด็นสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่าผมด้วยซ้ำ

 

แล้วเป็นความตั้งใจหรือเปล่าที่ออกประกาศในช่วง pride month พอดี

เป็นความบังเอิญ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะเจ้าของเรื่องเสนอขึ้นมาพอดี ต้องให้เครดิตเขา เพราะถ้าไม่มีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุย ประกาศฉบับนี้อาจไม่เกิดขึ้น ดังนั้นก็อย่างที่บอกไปว่านี่ไม่ใช่ผลงานของผม แต่เป็นผลงานของทุกคน แค่มีผู้ว่าฯ ลงนามในประกาศเท่านั้นเอง

 

ฟีดแบ็กเกินคาดไหม

ไม่อยากใช้คำว่าเกินคาด เพราะผมไม่ได้คาดหวังอะไรไว้ ตอนที่ลงนามผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่ควรทำ ถ้ารัฐสามารถอำนวยความเป็นธรรมให้กับผู้คนได้ก็ควรทำ ไม่ใช่แค่ในจันทบุรีหรอก แต่กับทั้งประเทศ

 

เท่ากับว่าการปฏิบัติเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในจังหวัดจันทบุรียังคงเหมือนเดิม เพราะก่อนหน้านี้ปฏิบัติกันมาอยู่แล้ว

ใช่ เรายังมุ่งเน้นให้ทุกคนปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียมเหมือนเดิม ซึ่งนั่นรวมถึงการระมัดระวังที่จะไม่ปฏิบัติต่อใครเป็นพิเศษด้วย เราอยากค่อยๆ ทำไปให้เท่าเทียมกันหมด

 

ถ้างั้นภาพใหญ่ที่คุณเห็นคืออะไร

(นิ่งคิด) ผมอยากเห็นคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา เพศ และสีผิว มีความเท่ากัน ถึงตอนนี้ผู้คนจะเจอความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะจากการติดต่อสื่อสารที่พัฒนาขึ้น แต่ผมก็ยังเห็นปัญหาสิทธิมนุษยชนเรื่องอื่นๆ ที่รอการแก้ไขเพราะติดปัญหากฎหมายหรืออะไรก็ตามแต่ ดังนั้นผมจึงต้องพยายามทำสิ่งเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ ก่อน 

 

ในมุมมองของคุณ ประชาชนทั่วไปอย่างคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่สามารถทำอะไรกับจังหวัดตัวเองได้บ้างเพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวแบบจันทบุรี หรือต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของราชการเท่านั้น

คุณเข้าใจผิด จริงๆ แล้วผมว่าเรื่องทั้งหมดที่เราพูดกันตอนนี้ขึ้นอยู่กับชาวบ้านเป็นหลักด้วยซ้ำไป ลองนึกภาพก็ได้ว่าสมมติจันทบุรีไม่มีประกาศอะไรออกมาเลย แต่ชุมชนอยู่กันแบบเคารพสิทธิมนุษยชนได้ ผมว่านั่นต่างหากคือดีที่สุด การที่ทุกคนเสมอภาคและเคารพซึ่งกันและกันได้โดยใจจริงแบบไม่ต้องมีใครบังคับคือเป้าหมายที่ควรตั้งไว้

 

แสดงว่าทุกคนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว

ใช่ๆ ไม่ใช่แค่ราชการหรอก ผมมองว่าจริงๆ แล้วในจังหวัดคือทีมเดียวกันหมด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานพลเรือน ตำรวจ หรือทหาร เราควรอยู่ใต้ร่มเดียวกัน เป้าหมายคือความอยู่เย็นเป็นสุข เพราะถ้าต่างคนต่างแยกก็คงไม่สามารถผลักดันอะไรคนเดียวได้แม้กระทั่งประกาศฉบับนี้ 

 

แต่การโตขึ้นก็มักจะแบ่งแยกให้เราไปอยู่ในหมวดไหนหมวดหนึ่งหรือเปล่า

เราชอบเอาทฤษฎีหรือเหตุผลทางวิชาการมาแบ่งคน ทั้งที่จริงๆ แล้วเราน่าจะเอาความเป็นคนที่ใสบริสุทธิ์มาเชื่อมกันมากกว่า ถ้าทำได้ทุกคนจะเท่ากัน ไม่มีใครพิเศษกว่าใคร

 

ทราบมาว่าอีก 3 เดือนคุณจะเกษียณแล้ว กับทางข้างหน้าคุณคิดว่าตัวเองจะได้เห็นสิ่งที่หวังไว้ไหม

เอาจริงทุกวันนี้หลายอย่างมีระเบียบหรือกฎหมายรองรับบ้างแล้ว อย่างที่บอกว่าผมอยากเห็นคนปฏิบัติต่อกันด้วยจิตใจและความเข้าใจมากกว่า แต่ผมก็รู้ว่าเราไม่ได้อยู่ในสังคมพระอรหันต์ที่ทุกคนคุยกันรู้เรื่องหมดโดยไร้ความต่างใดๆ ดังนั้นถึงต้องทำงานด้านกฎหมายต่อไป เพราะเวลามีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเอากฎหมายมาอ้างจะได้ง่ายขึ้น กฎหมายจะได้ค่อยๆ ซึมเข้าสายเลือดจนกลายเป็นเข้าใจในที่สุด และเป็นหลักยึดของประชาชนในระยะยาวได้

 

ฟังดูแล้วมีความหวัง

ใช่ครับ เพราะเราช่วยกันไง ยิ่งคนรุ่นใหม่ด้วย ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ ผมเชื่อว่าทุกปัญหาจะดีขึ้นได้

AUTHOR