ตามไปดูและเล่นนิทรรศการอินเตอร์แอ็กทีฟสุดสนุกของ โอ-วิทยา จันมา

งานศิลปะที่เราคุ้นเคยดีเวลาไปเดินนิทรรศการ หอศิลป์ฯ ต่างๆ คงหนีไม่พ้นภาพวาดหลากเทคนิคภาพถ่ายจากฟิล์มสวยๆ หรืองานปั้นประติมากรรมยิ่งใหญ่อลังการที่ให้ผู้ชมจ้องมองพร้อมตีความกันเอาเองเลยไม่แปลกที่พอเราลองกวาดสายตาดูรายชื่อนิทรรศการที่จัดขึ้นช่วงเดือนนี้ชื่องาน LAB/ART ที่โปรยหัวไว้ว่าเป็นนิทรรศการ Interactive Installation เลยโดดเด้งขึ้นมาให้เราอยากเข้าไปดูและทำความรู้จักมากขึ้นหน่อย

ไม่ว่าสิ่งนี้จะอยู่ที่ไหนไม่ว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นของใครถ้าหากเรารู้เราจะตามไปดู

 

ใครทำ: โอ-วิทยา จันมา

โอคือศิลปินหนุ่มที่คลุกคลีกับงาน Interactive Installation Art ศิลปะจัดวางที่เชื้อเชิญให้คนดูเข้ามาเล่นเป็นส่วนหนึ่งและกำหนดเรื่องราวของงานมา ตั้งแต่ปี 2549 โอเล่าว่าถึงจะเรียนจบจากภาควิชาภาพพิมพ์ จิตรกรรม และประติมากรรม ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ด้วยนิสัยชอบทดลองและความสนใจทำให้เขาทิ้งพู่กันและจานสีหันมาสร้างชิ้นงานศิลปะที่ใช้ประสาทสัมผัสของคนดูเป็นข้อมูลและมีเทคโนโลยีที่เขาออกแบบไว้เป็นตัวแปลงให้ได้ผลลัพธ์แตกต่างไปในแต่ละคน

ทำอะไร: นิทรรศการรวมผลงานที่เคยทำเพื่อให้มองเห็นปฏิสัมพันธ์ของคนดูกับเทคโนโลยีแต่ละประเภท

นิทรรศการ LAB/ART คราวนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่โอคัดเลือกผลงานเก่า 4 ชิ้นและมีตัวที่ทำขึ้นใหม่อีก 1 ชิ้นมาจัดแสดง อาจฟังดูน้อยแต่ทุกชิ้นมีลูกเล่นสนุกๆ และพูดถึงเนื้อหาที่ต่างกันไปผ่านเทคโนโลยีแบบที่โอสนใจ ในแต่ละช่วงปีจุดร่วมก็คือทุกชิ้นไม่ได้ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยสุดหวือหวาแต่เป็นกลไกง่ายๆ คาบเกี่ยวระหว่างยุคแอนาล็อกที่คนดูต้องเข้าไปจับต้องโยกหมุนกดเป่าแล้วชิ้นงานก็จะแปลงปฏิสัมพันธ์นั้นให้ออกมาเป็นผลลัพธ์น่าตื่นเต้นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งไว้แล้ว

“เสน่ห์ของงาน Interactive Installation คืองานจะเปลี่ยนแปลงไปตามบุคคลที่เดินเข้ามาในพื้นที่ที่เราออกแบบไว้เราว่ามันแฟร์ดีที่เราชอบงานแบบนี้เพราะได้เห็นคนจริงๆ เขามีอารมณ์ร่วมและได้ตีความร่วมกับพื้นที่ที่เราทำไว้มันน่าหลงใหลนะ สำหรับเราเทคโนโลยีอย่าง VR (Virtual Reality) ให้ความสำคัญกับความเสมือนมากเกินไปเหมือนถูกตัดออกจากโลกภายนอกไปเลยแต่ตัวเรายังต้องการพื้นที่ให้คนดูได้เข้ามาอยู่ร่วมกัน ไม่ต้องการให้เขาหลุดไปไหนและคนดูยังรู้ตัวเสมอว่าเขาเป็นตัวเองในโลกที่มีอยู่”

ทำทำไม: สร้างพื้นที่และที่ทางของศิลปะแนวนี้ให้เป็นที่รู้จัก

ในวันที่ทุกคนเล่นเกม Pokémon Go จนไม่มีใครไม่รู้จักเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) อีกต่อไป รวมไปถึงในฝั่งโฆษณา ก็เริ่มมีหลายแบรนด์หยิบเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้มาโปรโมตสินค้าของตัวเองบ้างแล้ว แต่หากหันมามองในแง่ศิลปะเพียวๆ ศิลปินที่ทำงานแนวนี้ก็ยังมีน้อยกว่าสาขาอื่นๆ มากจนเขาตั้งคำถามว่าทำยังไงถึงจะทำให้วงการศิลปะไทยมีพื้นที่รองรับและเปิดให้ผู้ชมเข้ามารู้จักศิลปะแนวนี้มากขึ้น

“บางคนอาจทำแล้วหยุดไปบ้าง หรือไปต่อสายคอมเมอร์เชียลจนไม่กลับมาทำงานศิลปะที่เล่าเรื่องจากตัวเองอีกแล้วบ้าง งานครั้งนี้เราเลยอยากสร้างพื้นที่ให้คนได้เห็น ได้รู้จักว่ามีศิลปะรูปแบบนี้เหมือนกันนะ และก็เป็นศิลปะที่ดีได้เช่นกัน อีกอย่างคือเป็นพื้นที่ให้เด็กรุ่นใหม่ที่เขามีไฟด้วย เราเชื่อว่าในอนาคตมันจะมีแรงกระเพื่อมในวงการนี้มากขึ้น ที่เราทำอย่างจริงจังก็เพราะเชื่ออย่างนั้น”

ทำที่ไหน: Tadu Contemporary Art

ห้องสี่เหลี่ยมโล่งๆ ขนาดใหญ่บนชั้น 2 ของอาคารไทยยานยนตร์ ซอยสุขุมวิท 87 ซึ่งเป็นโชว์รูมรถยนต์คือพื้นที่จัดแสดงงานครั้งนี้ สำหรับใครที่ไม่เคยไปอาจต้องค้นหาทางเข้าอันลึกลับสักหน่อย แต่ก็สร้างบรรยากาศดิบๆ ดูเป็นห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้คนดูได้ทดลองและตั้งคำถามกับชิ้นงานต่างๆ
ได้สนุกขึ้น

มีอะไรให้เล่นบ้าง: ชิ้นงานศิลปะสนุกๆ ที่ให้ผลการทดลองสุดตื่นตาและน่าสนใจ

เดินเข้ามาในห้อง สิ่งแรกที่เจอจะเป็นแท่นและหน้าจอคล้ายตู้เกมให้เราได้ลองโยกจอยสติ๊ก กดปุ่มต่างๆ ดูว่าแต่ละชิ้นงานมีวิธีการเล่นยังไง

ตัวอย่าง สองชิ้นงานใหญ่ที่เราอยากแนะนำคือ ‘Into the Wind’ ที่โอจัดแสดงครั้งแรกในงาน Wonderfruit 2015 โดยเลียนแบบกระบวนการของธรรมชาติซึ่งในที่นี้คือลม คนดูจะได้เป่าลมหายใจเพื่อสร้างผลงานศิลปะชั่วคราวที่แปรเปลี่ยนไปตามลมหายใจของแต่ละคนนั่นเอง

อีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจและเพิ่งจัดแสดงครั้งแรกชื่อ ‘Death Data’ ที่โอดึงข้อมูลผู้เสียชีวิตและประสบอุบัติเหตุบนท้องถนนแบบเรียลไทม์จากเว็บไซต์

www.thairsc.com
มาออกแบบเพื่อสื่อสารให้คนดูเข้าใจและเห็นภาพชัดเจนขึ้น ไม้ขีดหนึ่งก้านเป็นตัวแทนของผู้เสียชีวิตหนึ่งคนที่จะถูกจุดและไหม้ไปเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เป็นงานง่ายๆ ที่ทำให้คนดูอย่างเราสะเทือนใจไม่น้อย ซึ่งในนิทรรศการจะมีวิดีโอสาธิตให้ดูเพราะโอบอกว่าอันตรายหากจะต้องจุดไฟจริง

นอกเหนือจากงานที่ว่าไป ยังมีอีก 2 ชิ้นที่สนุกไม่แพ้กัน ซึ่งอยากให้ตามไปลองเล่นกันเองนะ

 

แนะนำให้ตามไปดู

นิทรรศการนี้จะจัดยาวไปถึงวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ใครแวะไปก็สามารถชวนโอคุยถึงที่มาที่ไปและกลไกง่ายๆ แต่น่าทึ่งของแต่ละชิ้นงานได้ รับรองว่าทั้งสนุกและเปิดโลกศิลปะให้ไปไกลกว่าแค่งานภาพวาดภาพถ่ายธรรมดาแน่นอนล่ะ

facebook | Lab/art Interactive Installation Exhibition

ภาพ ชนพัฒน์ เศรษฐโสรัถ, วิทยา จันมา และ นิกันติ์ วะสีนนท์

AUTHOR