WISHULADA ศิลปินสื่อผสมผู้เปลี่ยนขยะ 2,390 กิโลกรัมเป็นสิงสาราสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ และสารพัดของใช้

ถ้านึกถึงฝาขวดน้ำ คีย์บอร์ด เศษผ้า กระทั่งสายไฟ คุณจะนึกถึงอะไร นึกว่ามันก็แค่ขยะไร้ค่าใช่ไหม กลับกันกับศิลปินสื่อผสมนาม WISHULADA หรือ เอ๋–วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ที่มองวัสดุเหล่านั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ที่แปลงเป็นผลงานศิลปะได้ทั้งสิ้น

ความสามารถในการมองเช่นนั้นของวิชชุลดาเริ่มขณะที่เธอเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำให้เธอได้รู้จักศิลปะสื่อผสมครั้งแรก และกลายเป็นนิสิตภาควิชาทัศนศิลป์คนเดียวในรุ่นที่ทำทีสิสจบเป็นงานสื่อผสมจากขยะที่พ่อแม่คัดแยกและเก็บไว้ในบ้านเพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัลทีสิสดีเด่นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตั้งแต่วันนั้นจนวันนี้ วิชชุลดาวนเวียนในวังวนศิลปะจากวัสดุเหลือใช้มากว่า 8 ปี เธอสร้างสรรค์งานศิลป์ทั้งหมด 18 งานใหญ่ 55 งานย่อย จากขยะเกือบทุกประเภทยกเว้นขยะอาหารและขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,390 กิโลกรัม ซึ่งงาน 2 ชิ้นล่าสุดอย่าง Care the Whale ที่ทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและโปรเจกต์ Incarnate ในงาน Mango Art Festival ณ ล้ง 1919 สามารถลดคาร์บอนฟุตปรินต์ได้กว่า 2,103.93 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งเทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 234 ต้น 

จึงเป็นที่มาของการสนทนาถึงขยะที่ไม่ไร้ค่าในสายตาวิชชุลดาในวันนี้ ว่าเบื้องหลังการสร้างงานศิลป์จากขยะของเธอกอปรขึ้นจากแรงบันดาลใจใด ศิลปินสื่อผสมคืออะไร แล้วศิลปิน ศิลปะ และขยะจะไปด้วยกันและสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้ขนาดไหน 

เธอรอเราอยู่ท่ามกลางขยะมีค่าตรงหน้าแล้ว

คุณเคยทำงานอะไรไปบ้างในช่วงระยะเวลา 8 ปีของการเป็นศิลปินสื่อผสมที่สร้างงานจากขยะ

งานของเราแบ่งออกเป็น 2 แบบ คืองานที่ทำร่วมกับองค์กรและงานแสดงเดี่ยว งานที่ทำร่วมกับองค์กรเราจะได้คอนเซปต์หลักมาว่าอยากให้ทำอะไร แล้วเราจะมาหาแรงบันดาลใจต่อเอง เช่น เราเคยทำนกฟีนิกซ์จากขยะอุตสาหกรรมการบินของการบินไทย และเคยทำ landmark & podium จากขยะในสำนักงาน SCG และชุมชนรอบข้าง 

ส่วนงานแสดงเดี่ยวของเรา เราจะคิดคอนเซปต์ขึ้นจากสิ่งที่พบเจอ เช่น งานนิทรรศการครั้งนี้ที่จัดในงาน Mango Art Festival เริ่มจากเราไปเดินป่าที่เขาใหญ่แล้วได้เห็นธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากๆ จนเตือนใจเราว่าสัตว์เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกันด้วยห่วงโซ่อาหาร ถ้าสัตว์บางชนิดหายไปเพราะขยะและมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นมันจะกระทบกันเป็นทอด ถึงไม่กระทบสัตว์โดยตรงก็กระทบดิน น้ำ ป่าที่เขาอาศัย เราเลยอยากทำงานครั้งนี้ออกมาในชื่อ Incarnate ด้วยธีมป่าเพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าที่จริงแล้วขยะทุกชนิดและมลพิษที่มนุษย์สร้างขึ้นไม่ได้กระทบแค่สัตว์ทะเลแต่กระทบสิ่งแวดล้อมทั้งหมด

ครั้งนี้เราเอาวัสดุเหลือใช้เกือบทุกประเภทที่สะสมและได้รับบริจาคมาสร้างเป็นชุดเพื่อจำลองผิวหนังสัตว์ที่กินขยะเข้าไป โดยให้นางแบบสวมชุดเหล่านี้แล้วสื่อสารความหนักและความร้อนของชุดซึ่งสะท้อนถึงสัตว์ที่ได้รับผลกระทบจากขยะของเรา นอกจากนั้นเราก็เอาขยะประเภทอื่นมาสร้างเป็นที่นั่ง โซฟา และกระเป๋า เพื่อสื่อสารว่าขยะมันมีประโยชน์และใช้ในชีวิตประจำวันได้

งานเหล่านี้ล้วนทำขึ้นจากขยะทั้งสิ้น คุณผูกพันกับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

น่าจะใช่นะ พ่อกับแม่คัดแยกและเก็บขยะมาตั้งแต่เรายังเด็ก เขานำแก้วพลาสติกที่ได้จากร้านสะดวกซื้อมาใช้ซ้ำ ตอนนั้นเราก็ไม่เข้าใจว่าจะเก็บทำไมเยอะแยะจนเต็มบ้านไปหมด พอตู้เย็นพังพ่อก็บอกว่ายังไม่ต้องซื้อใหม่แต่ให้เอาไปซ่อม ซึ่งพอซ่อมแล้วก็ยังใช้ได้จริงๆ หรืออย่างโคมไฟที่หัวเตียงพ่อก็ทำขึ้นเองจากฝาชีที่เริ่มผุและขาโคมไฟเก่า กระทั่งกล่องใส่กระดาษทิชชูก็ทำจากฟิวเจอร์บอร์ดเหลือใช้ เขาไม่เคยพูดคำว่า reduce, reuse, recycle ไม่เคยบอกให้เราแยกขยะ แต่เขาทำให้เห็นจนเราเริ่มซึมซับในวิถีชีวิตประจำวันของเราเอง

แล้วกว่าจะเป็นชิ้นงานใหญ่ยักษ์เหล่านั้น คุณเข้าสู่วงการศิลปินสื่อผสมได้ยังไง

ก่อนหน้านี้เราวาดรูปลายเส้นทั่วไป ตอนเด็กๆ ก็ชอบวาดรูปต้นไม้และสัตว์ประหลาดเพราะเราชอบดูหนังเอเลี่ยน กระทั่งตอนปี 2 เราได้เรียนวิชาสร้างสรรค์ที่อาจารย์ให้ทำอะไรก็ได้ เราเลยเอาปากกามาขีดๆ เขียนๆ แล้วลองเอาวัสดุอื่นมาใส่ในผลงานด้วย จากนั้นก็ได้เรียนวิชาสื่อผสมที่อาจารย์ให้เอาวัสดุต่างๆ มาสร้างผลงาน

เราเริ่มจากการคอลลาจนิตยสาร หลังจากนั้นก็ทดลองเองที่บ้าน เอาเชือกฟาง แก้วน้ำ กระดาษห่อของขวัญ ถุงขนม บับเบิล ฯลฯ มาผ่านกระบวนการความเย็นบ้าง ความร้อนบ้าง อย่างการรีดเพื่อสร้างเป็นพื้นผิวใหม่ๆ บางครั้งก็เอาเศษผ้าแต่ละชนิดมาจุ่มสีและตากแห้งเพื่อดูว่าสีที่เหมือนกันเมื่ออยู่บนผ้าต่างชนิดกันก็ให้ผลลัพธ์ต่างกัน แล้วนำวัสดุทดลองเหล่านั้นมาคอลลาจอีกครั้งผ่านการเย็บ สาน ถัก เช่น เอาตะกร้าขนมจีน ไม้แขวนเสื้อ แก้วน้ำพลาสติก และกระดาษทิชชูมาทำเป็นตัวด้วง 

งานคอลลาจนิตยสาร
บับเบิ้ลที่ผ่านความร้อน
ตัวด้วงจากตะกร้าขนมจีน ไม้แขวนเสื้อ แก้วน้ำพลาสติก และกระดาษทิชชู

แม้จะไม่ได้เรียนวิชานั้นแล้วแต่เราก็ยังทดลองวัสดุอยู่เรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่ามันคือทางของเรา เราสนุกและตื่นเต้นเมื่อเห็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสต่างกันมารวมกัน บางอันมันวาว บางอันขรุขระ แม้เป็นประเภทเดียวกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว กระบวนการต่างๆ เหล่านั้นทำให้เราไม่ได้มองฝาขวดน้ำว่าเป็นเพียงฝาขวด แต่มองว่ามันคือทรงกลมที่เอาไปทำเป็นตา เป็นส่วนต่างๆ ของสิ่งของและงานศิลปะได้ จากงานสองมิติในช่วงแรกจึงค่อยๆ กลายเป็นกึ่งสองมิติและสามมิติ จนตัดสินใจทำทีสิสจบเป็นงานสื่อผสมซึ่งเป็นนิสิตคนเดียวของรุ่นที่ไม่ได้ทำทีสิสในสาขาที่เรียนมา (หัวเราะ)

งานกึ่งสามมิติ

แล้วทีสิสของคุณว่าด้วยเรื่องอะไร

พอเราบอกอาจารย์ว่าไม่ชอบงานเพนต์ ไม่ชอบงานปั้น แต่ชอบงานสื่อผสม อาจารย์ก็เปิดโอกาสให้ทำงานสื่อผสมได้แต่ต้องหาเรื่องราวมาใส่ในงาน เราเลยย้อนดูว่าวัสดุเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตเรายังไง อ๋อ มันเกิดจากการบริโภคที่เกินความพอดีของมนุษย์ทั้งนั้นเลย เราจึงเอาวัสดุที่แม่และพ่อเก็บสะสมไว้มาทำเป็นสัตว์ประหลาดที่ได้รับสารพิษและมลภาวะที่ก่อโดยมนุษย์เพื่อสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อม 

ชอบงานสื่อผสมขนาดที่ขอทำเป็นทีสิสจบ คุณคิดว่านอกจากความสนุก ศิลปะสื่อผสมพิเศษกว่าศิลปะประเภทอื่นไหม

ศิลปะทุกประเภทสามารถสื่อสารประเด็นต่างๆ ได้ทั้งนั้น แต่เราคิดว่าศิลปะสื่อผสมทำให้เรามองสารที่อยากสื่อได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะกับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังทำอยู่ ศิลปะสื่อผสมสามารถเข้าถึงคนที่ไม่ได้เรียนศิลปะได้ง่ายขึ้น 

งานของเราสามารถเป็นตัวชี้วัดจำนวนขยะในอุตสาหกรรมนั้นๆ หรือย่านนั้นๆ ในระยะเวลา 2-3 เดือนได้ ถ้าเราหลอมพลาสติกแล้วขึ้นรูปใหม่คนก็คงนึกภาพไม่ออกว่านี่คือขยะฝาขวดน้ำ 200 กิโลกรัม แต่การที่เราโชว์ให้เห็นรูปทรงของมันไปเลยคนก็จะรู้ว่ามันเยอะขนาดไหน

เรียกว่าเริ่มต้นเข้าวงการศิลปินด้วยประเด็นสิ่งแวดล้อมเลยใช่ไหม

ใช่ แต่ช่วงแรกเรายังไม่มีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมขนาดนั้น คิดว่าก็นี่ไง เราเอาวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นชิ้นงานก็ถือเป็นการสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อมแล้วทั้งที่เรายังใช้สีสเปรย์ฉีดให้ขยะสวย งานที่เราทำก็ไม่คงทน ใช้กาวแปะ แม็กเย็บ โครงสร้างภายในเป็นกระดาษลัง คนนั่งบนชิ้นงานก็พังได้เลย เพราะองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อ 3-4 ปีนี้กระบวนการของเราเปลี่ยนไปแล้ว 

เปลี่ยนไปยังไง 

เราไม่กำหนดว่างานชิ้นนี้จะต้องมีวัสดุประเภทไหนบ้าง แต่วัสดุที่มีจะเป็นตัวกำหนดผลงานว่าเราจะสร้างอะไร ถ้าคอนเซปต์หลักคือสิ่งแวดล้อม คอนเซปต์รองคือป่า เราจะไปดูวัสดุที่มีอยู่แล้วค่อยคิดว่าตัวละครลิง ช้าง ม้าที่อยากสร้างจะออกมาในรูปแบบไหน จะเป็นรูปร่างลิง เป็นชุดหรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ดี

เราอาจร่างภาพไว้คร่าวๆ กรณีที่ทำงานกับองค์กรเพื่อให้เขาเห็นภาพงานที่จะออกมา แต่เราจะบอกว่างานอาจไม่ได้เป็นแบบนี้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะขึ้นกับวัสดุที่เรามีอยู่ ตอนแรกอาจทำงานชิ้นนี้ด้วยวัสดุสีแดงแต่มันดันหมดก่อนงานเสร็จ เราก็หันไปใช้วัสดุสีเขียวในงานได้โดยไม่ซีเรียสอะไร เพราะเราว่างานสื่อผสมมันยืดหยุ่นได้ 

เมื่อถึงเวลาต้องถอนงานออก เราก็นำวัสดุจากงานเก่ามาใช้ในงานต่อไปเพื่อไม่ให้ขยะหลุดออกนอกวงจร และเมื่อมันเสื่อมสภาพเราก็ส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้เลยเพราะเราใช้วิธีการเย็บ ตอก ร้อย แทนการติดกาว และไม่พ่นสีสเปรย์แต่ใช้สีจริงของวัสดุนั้นๆ เพื่อให้นำไปรีไซเคิลและย่อยสลายได้ง่าย

เราบันทึกด้วยว่าเราใช้ขยะไปทั้งหมด 2,390 กิโลกรัม และงาน 2-3 งานที่ผ่านมาเราก็เริ่มคำนวณคาร์บอนฟุตปรินต์ที่เราสามารถลดไปได้ด้วย อย่าง Care the Whale ที่ทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็สามารถลดคาร์บอนฟุตปรินต์ไปได้ 1457.29 กิโลกรัมคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งเทียบเท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 162 ต้น ส่วนงาน Incarnate ครั้งนี้ลดคาร์บอนฟุตปรินต์ได้ 646.64 กิโลกรัมคาร์บอน เทียบเท่า เท่าการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ 72 ต้น

แล้วคุณได้ขยะมหาศาลขนาดนั้นมาจากไหน

เราได้ขยะจาก 3 ช่องทาง หนึ่ง–เก็บสะสมเอง สอง–รับซื้อขยะจากที่ต่างๆ และสาม–รับบริจาคขยะ ขยะที่เรารับก็เรียกว่าหลากหลายมาก แต่เราจะไม่ทำงานศิลปะจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอาหารเพราะมันอันตราย

การทำงานกับขยะที่ดูสกปรกและไร้ค่าในสายตาคนอื่นถือว่ายากไหม 

ยากในแง่ที่คนไม่เข้าใจว่าทำไมงานต้องมีราคาทั้งที่ทำจากขยะที่รับบริจาคหรือเก็บเอง แต่เบื้องหลังขยะเหล่านี้ต้องใช้แรงงานคนมหาศาล เพราะกว่าขยะจะสะอาดขนาดที่คนอยู่ใกล้แล้วไม่เหม็น ไม่เห็นคราบ มดไม่ขึ้น เราต้องทำความสะอาดด้ยวนำ้ยาทำความสะอาดและนำไปตากเพื่อฆ่าเชื้อโรค พอนำมาทำงานก็ต้องเจาะ ร้อย เย็บ ซึ่งใช้เวลานานมาก 

เรียกว่าต้องเสียเงินจ้างคนทำงานอีก

เราคิดว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องเกิดจากคนคนเดียวหรือจากศิลปินเท่านั้น แล้วยิ่งงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นสังคมมันควรเชื่อมโยงกับคน การจ้างงานชุมชนของเราจึงไม่ใช่เพราะเราทำงานคนเดียวไม่ไหว แต่เพราะถ้าเราทำคนเดียวเราก็รู้แค่คนเดียว เราจึงพยายามให้คนอื่นๆ มีส่วนร่วมในการสร้างงานศิลปะเพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชนและให้เขาได้เรียนรู้การจัดการวัสดุ 

เราจะเข้าไปสอนคัดแยกขยะและสอนว่าทำยังไงให้ขยะสวย ทำยังไงให้ชิ้นงานจากขยะออกมาดี เช่น ให้เขามองขยะชิ้นหนึ่งว่าเป็นวัสดุรูปทรงหนึ่ง ไม่ต้องมองว่ามันเป็นขยะ ให้ลองแยกสีโทนเย็น โทนร้อน สอนทฤษฎีสี สอนเรื่องเส้น พอถึงกระบวนการทำงานจริงเราจะขึ้นโครงแล้วถามว่าเขาอยากปรับตรงไหนไหม เพราะเราอยากให้เขารู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและอยากให้เขาภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำ ไม่ใช่ว่าให้เงินแล้วจบโดยที่ไม่เห็นคุณค่า 

อะไรทำให้กระบวนการทำงานของคุณเปลี่ยนไปขนาดนั้น 

เราเคยโดนคนถามว่าเราทำงานเหล่านี้ทำไม งานของเราสร้างขยะอีกหรือเปล่า เราก็คิดว่าจริงด้วย ถ้ายิ่งทำยิ่งเกิดขยะก็ไม่ต้องทำเรื่องสิ่งแวดล้อมดีกว่าไหม แล้วเราจะทำยังไงให้ทำงานศิลปะออกมาได้โดยไม่ถูกตั้งคำถามแบบนั้น

เราเลยศึกษามาเรื่อยๆ และพยายามทำให้ครบวงจรของวัสดุ ให้เข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือต้องตอบให้ได้ว่าเมื่องานออกมาแล้วเราจะทำยังไงต่อ เอาไปทิ้งให้กลายเป็นขยะเหมือนเดิมหรือทำให้งานมันรีไซเคิลได้ ไม่อย่างนั้นเราจะเคลมว่าทำศิลปะเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เลย

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราดีไซน์งานที่ทั้งสวยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ทำไมศิลปะจากขยะต้องสวย

เราไม่อยากให้คนรู้สึกว่าขยะน่าขยะแขยง เพราะยิ่งทำอย่างนั้นคนจะยิ่งไม่อยากคัดแยกขยะและไม่เห็นว่าขยะเหล่านี้คือวัสดุเหลือใช้ที่สร้างประโยชน์และมีมูลค่า เช่น กระเป๋าจากเศษผ้าก็ใส่ของได้จริงนะ เก้าอี้ที่ทำจากขยะที่เรากำลังนั่งอยู่นี้ก็ไม่สกปรกเพราะทำความสะอาดแล้ว ส่วนบางงานที่ใช้ไม่ได้จริงอย่างชุดที่แขวนอยู่มันก็ยังเป็นผลงานศิลปะที่ขายได้ เพราะพอสวยคนก็อยากสนับสนุนและอยากสะสม

จากการทำศิลปะจากขยะมา 8 ปี คุณคิดว่าขยะเป็นผู้ร้ายหรือเปล่า 

เราว่าขยะไม่ใช่ผู้ร้ายแต่ผู้ร้ายคือมนุษย์ที่บริโภคแล้วทิ้งอย่างไม่เป็นที่ ในฐานะศิลปิน เราไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เราคิดว่าเมื่อคนมาเห็นงานเราเขาอาจเปลี่ยนความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ว่าวัสดุทุกชิ้นไม่เฉพาะแค่พลาสติกต่างมีคุณค่าถ้าเรานำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แล้วเราจะเกิดไอเดียบางอย่างจนรู้สึกหวงแหนและรู้สึกไม่อยากทิ้งมันแต่อยากเอาไปทำอะไรต่อ 

คุณอยากส่งสารเหล่านั้นให้คนทั่วไปอย่างเดียวหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นจะเรียกว่าเป็นการผลักภาระให้ประชาชนไหม 

เราไม่ได้อยากสื่อสารให้คนทั่วไปอย่างเดียวแต่อยากสื่อสารถึงผู้ผลิตและรัฐบาลด้วย เราจึงทำงานกับองค์กรต่างๆ ว่าทำไมเราถึงต้องทำสิ่งนี้และทำไมผู้ผลิตต้องทำอะไรที่ยั่งยืนให้มากขึ้นโดยที่ไม่ได้ทำไปเพียงเพราะกฎหมายบังคับหรือต้องทำ CSR แต่อยากให้เขาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ 

ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐบาลก็ต้องออกนโยบายระดับประเทศที่เอื้อให้ผู้ผลิตสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ราคาเข้าถึงง่ายพอๆ กับโฟมและพลาสติกด้วย ไม่ใช่ให้ประชาชนลดและคัดแยกขยะฝ่ายเดียวซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เราว่ามันต้องช่วยกันทุกฝ่าย

แล้วตลอด 8 ปีที่ผ่านมาคุณคิดอยากทำงานสื่อผสมประเด็นอื่นๆ บ้างไหม 

ไม่ (ตอบทันที) ไม่เคยคิดอยากสื่อสารเรื่องอื่นหรือทำงานสื่อผสมจากวัสดุมือหนึ่งเลย

ทำไม

พอเราไม่ได้มองว่าขยะคือขยะ เราเลยคิดว่ามันสามารถสร้างงานได้ทั้งนั้น มันก็คือวัสดุอย่างหนึ่งที่เราสนุกกับมันได้เหมือนกัน และที่เรายังอยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่เรื่อยๆ ก็เพราะเราเห็นว่าสิ่งที่เราคิดมันชัดเจนขึ้นทุกปีๆ 

8 ปีที่แล้วองค์การสหประชาชาติยังไม่ได้ประกาศเรื่องหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่าง circular economy หรือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่าง SDGs (Sustainable Development Goals) เลย หลายประเทศยังไม่มีกฎหมายที่จริงจังเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำ แต่ขณะที่เราทำงานของเราไปเรื่อยๆ หลักสากลเหล่านี้มันก็ทยอยออกมา คนเริ่มพูดถึงประเด็นสิ่งแวดล้อม วงการดีไซน์เริ่มหันมาใช้วัสดุเหลือใช้มากขึ้น

เราเลยคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่น่าจะถูกต้องแล้ว และเรายังอยากเป็นคนตัวเล็กและเป็นนักเคลื่อนไหวผ่านงานศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมแบบนี้ต่อไป อาจจะใช้เวลากว่าคนจะเห็นคุณค่าของงานศิลปะและตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ แต่มันก็ดีแล้วที่เราได้ทำ

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ดวงสุดา กิตติวัฒนานนท์

ช่างภาพนิตยสาร a day ผู้ชอบกินอาหารที่ถ่าย