ทำไมมนุษย์ขี้เกียจแล้วอ้วนแต่ลิงขี้เกียจแล้วไม่เป็นไร เมื่อวิวัฒนาการบังคับให้คนแอ็กทีฟเพื่ออยู่รอด

ทำไมมนุษย์ขี้เกียจแล้วอ้วนแต่ลิงขี้เกียจแล้วไม่เป็นไร เมื่อวิวัฒนาการบังคับให้คนแอ็กทีฟเพื่ออยู่รอด

Highlights

  • มนุษย์เหมือนถูกสาปให้เคลื่อนไหวมากกว่าบรรดาลิงอื่นๆ ในสายวิวัฒนาการ จนเกิดคำถามว่า ทำไมเราถึงขี้เกียจแบบลิงบ้างไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็มีจุดร่วมกับลิงมากมาย
  • น่าสนใจที่มีรายงานน้อยมากว่าพวกมันจะเจ็บป่วยด้วยโรคในแบบที่มนุษย์เราเผชิญเมื่อขาดการออกกำลังกาย แม้มนุษย์แชร์ DNA ที่ใกล้เคียงกันกับลิงใหญ่ถึง 97 เปอร์เซ็นต์
  • ภายในระยะเวลา 2 ล้านปี ทำไมเราถึงเปลี่ยนไปมากมายขนาดนี้ มากจนเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่า “มนุษย์ดำรงอยู่ได้ เพราะเราเคลื่อนไหวหรือไม่หรือวิวัฒนาการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราไม่ให้ขี้เกียจ

อยากขี้เกียจในระดับที่ว่า วันๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งๆ นอนๆ แต่เมื่อถึงเวลาขี้เกียจเข้าจริงๆ มนุษย์อย่างเรากลับมีโรคถามหาเพียบ!

ทั้งโรคหัวใจ โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน และอีกสารพัดโรคที่เซลล์ขายประกันสุขภาพยังส่ายหัว ราวกับว่ามนุษย์ถูกสาปให้เคลื่อนไหวมากกว่าบรรดาลิงอื่นๆ ในสายวิวัฒนาการ จนเกิดคำถามว่า ทำไมเราถึงขี้เกียจแบบลิงบ้างไม่ได้ ทั้งๆ ที่เราก็มีจุดร่วมกับลิงมากมาย

วิวัฒนาการทางกายภาพที่กินเวลายาวนาน 8 ล้านปีสามารถเปลี่ยนเราไปได้ขนาดไหน แล้วทำไมเราต้องหาอะไรทำให้ยุ่งตลอดเวลา

ญาติสนิทที่สุดของมนุษย์คือ วงศ์ลิงใหญ่ ‘Great Ape’ หรือโฮมินิด (สนิทในมิติของวิวัฒนาการ ไม่ได้สนิทแบบกอดคอเดินห้าง) วงศ์ลิงใหญ่มักมีกิจกรรมระหว่างวันค่อนข้างน้อย พวกมันไม่ค่อยลุกไปไหนไกลๆ นอนแกร่วบนต้นไม้เกือบทั้งวัน แม้ลิงในธรรมชาติที่ต้องหากินด้วยตัวเอง ไม่ได้มีคนคอยให้อาหารแบบในสวนสัตว์ก็ไม่ได้ทำตัวให้ยุ่งในแบบที่เราเข้าใจกัน พวกมันมีเวลาเหลือเฟือเพื่อนั่งเล่นเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน ในขณะที่มนุษย์มีเวลา 24 ชั่วโมงก็ยังไม่เคยพอ

ภาพลิงชิมแปนซี โดย ธเนศ รัตนกุล

พวกเราโฮโมเซเปียนถูกกดดันให้แอ็กทีฟตลอดเวลา และถ้าคุณมีพฤติกรรมขี้เกียจติดต่อกัน เช่น นั่งนานๆ หรืออยู่ในอิริยาบถเดิมๆ ร่างกายพวกเราจะเปลี่ยนแปลงในทางที่เลวร้ายอย่างรวดเร็ว แน่ล่ะ ทั้งอาการปวดหลัง ปวดคอบ่าไหล โรคออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งตรงกันข้ามกับเหล่าบรรดาวงศ์ลิงใหญ่ทั้งหลาย

น่าสนใจที่ไม่ค่อยมีรายงานว่าพวกมันจะเจ็บป่วยด้วยโรคในแบบที่มนุษย์เราเผชิญเมื่อขาดการออกกำลังกาย แม้มนุษย์แชร์ DNA ที่ใกล้เคียงกันกับลิงใหญ่ถึง 97 เปอร์เซ็นต์

บรรดาญาติของเรามีทั้งอุรังอุตัง กอริลล่า ชิมแปนซี และโบโนโบ เราต่างเป็นผู้ใช้เครื่องมือเหมือนกัน และมีพฤติกรรมต่อสู้แย่งชิงชนิดเลือดตกยางออกทั้งการรุกรานหรือปกป้องถิ่นฐาน หากกลับย้อนไปดูฟอซซิลบรรพบุรุษมนุษย์เมื่อ 2 ล้านปีก่อน พวกเราก็มีความใกล้เคียงกับโฮมินิดมากในเชิงกายภาพ

ภายในระยะเวลา 2 ล้านปี ทำไมเราถึงเปลี่ยนไปมากมายขนาดนี้ มากจนเกิดข้อสันนิษฐานขึ้นว่า มนุษย์ดำรงอยู่ได้ เพราะเราเคลื่อนไหวหรือไม่

หรือวิวัฒนาการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเราไม่ให้ขี้เกียจ

 

ลิงยุ่งแค่ไหนในชีวิตจริง 

Herman Pontzer นักมานุษยวิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัย Duke University เคยติดตามชีวิตลิงชิมแปนซีที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติคิบาเล ประเทศอูกานดา เขาสนใจลิงชิมแปนซีเป็นพิเศษ เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่าในวงศ์ลิงใหญ่ ชิมแปนซี (Pan troglodytes) เป็นลิงที่ ‘อยู่ไม่ค่อยสุข’ มีกิจกรรมยุ่งตลอดเวลา แต่เมื่อเขาติดตามกิจวัตรพวกมันนาน 6 เดือน ก็พบว่าชีวิตชิมแปนซีไม่ได้ยุ่งเสียเท่าไหร่ มีเวลาเหลือเฟือเพื่อการพักผ่อนด้วยซ้ำ

พวกมันมักตื่นเช้าเพื่อหาผลไม้กินในมื้อแรก ชิมแปนซีจะกินผลไม้จนอิ่มท้องและหาที่นอนพักเงียบๆ หรืออาจเลือกไปนอนตากแดดอ่อนๆ พอถึงช่วงบ่ายก็ไปนั่งบนต้นไม้หรืออาจไปพบปะเพื่อนฝูง จากนั้นจะนอนงีบต่อตอนบ่ายจนกระทั่งถึง 5 โมงเย็นค่อยออกหาผลไม้กินอีกครั้ง เมื่ออิ่มหนำแล้วจึงกลับขึ้นต้นไม้ที่ดูน่านอนสบาย อาจหากิ่งไม้หรือใบไม้มาดัดแปลงเป็นที่รองนอนง่ายๆ แล้วก็นอนหลับไป เป็นการจบกิจกรรมเบ็ดเสร็จใน 1 วันเต็ม แต่ถ้าเป็นจ่าฝูง (Alpha) อาจมีกิจกรรมเพิ่มเติม อาทิ การโชว์พละกำลังเพื่อข่มลิงตัวอื่น หรือมีการต่อสู้กันบ้างซึ่งก็กินระยะเวลาไม่นาน 

ภาพลิงชิมแปนซี โดย ธเนศ รัตนกุล

ชิมแปนซีใช้เวลาราว 10 ชั่วโมงในช่วงกลางวันเพื่ออยู่ในอิริยาบถสบายๆ นั่งและนอนเอกเขนก แถมเบิ้ลอีก 10 ชั่วโมงในตอนกลางคืนเพื่อการนอนหลับเป็นเรื่องเป็นราว รวมแล้วลิงมีเวลาพักผ่อนกว่า 20 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้ใช้พลังงานอะไรมากมาย ดังนั้นชีวิตของลิงในธรรมชาติก็จะชิลล์ๆ ไม่ได้ยุ่งเหยิงอะไร พวกมันชื่นชอบความสะดวกสบายจนมนุษย์อย่างเรายังแอบอิจฉา

แต่หลายคนอาจแย้งว่า ลิงชิมแปนซีต้องปีนต้นไม้ไม่ใช่หรือ ต้นสูงๆ ปีนยากก็เหนื่อยเอาเรื่อง แต่ชิมแปนซีปีนต้นไม้ต่อวันด้วยระยะทางเฉลี่ยเพียง 100 เมตรเท่านั้น ใช้พลังงานเทียบเท่ากับการเดิน 1.5 กิโลเมตรของมนุษย์  ซึ่งการเดินเพียง 1.5 กิโลเมตร สำหรับพวกเราก็ถือว่า ‘น้อยเกินไป’ จนอาจนำไปสู่โรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวานประเภทที่ 2

ลองนึกภาพคุณนั่งดูซีรีส์บนโซฟาเป็นเวลา 20 ชั่วโมงโดยไม่ขยับไปไหนที่ไกลเกินห้องน้ำและตู้เย็น เพียงไม่กี่วันคุณจะรู้สึกว่าร่างกายไม่ปฏิบัติตามที่คุณต้องการ ในขณะที่หากบรรดาลิงไม่ค่อยขยับกลับมีผลลบต่อร่างกายน้อยมาก โรคเบาหวานในลิงมีน้อย เมื่ออายุมากขึ้นความดันโลหิตก็ไม่สูง ไม่มีแววหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งในชิมแปนซีแทบจะไม่ปรากฏโรคหัวใจเหมือนที่มนุษย์เป็นเลย

ที่น่าตื่นเต้นมากคือเมื่อมีการตรวจสัดส่วนของไขมันในร่างกาย (body fat) ลิงชิมแปนซีนั้นมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอๆ กับนักกีฬาโอลิมปิกที่ฟิตเต็มขั้น โดยที่กิจวัตรชิมแปนซีคือการนั่งๆ นอนๆ แถมไม่ต้องวุ่นวายเข้าฟิตเนสด้วยซ้ำ

ดังนั้นการสืบหาคำตอบที่แปลกประหลาดของมนุษย์และโฮมินิดอื่นๆ จำเป็นต้องอาศัยหลักฐานทางฟอสซิลเพื่อหาว่า อะไรทำให้เราต่างจากบรรดาญาติและลักษณะทางกายภาพมีผลอย่างไรต่อการดำเนินชีวิตของพวกเรา

 

คนก็ยุ่งนี่นา แล้ววิวัฒนาการไหนทำให้เราต้องเคลื่อนไหวร่างกาย

สายบรรพบุรุษของเราแยกออกจากชิมแปนซีและโบโนโบราว 6-7 ล้านปีก่อนในช่วงยุคไมโอซีน (Miocene) แม้มีหลักฐานการค้นพบฟอสซิลมนุษย์ในยุคนั้นน้อยมากๆ ชนิดงมเข็มในมหาสมุทร แต่นักบรรพมานุษยวิทยายังสามารถพบโฮมินิด 3 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ ‘ซาเฮลแอนโทรปัส’ (Sahelanthropus) โอรอริน (Orrorin) และอาร์ดิพิเทคัสรามิดัส (Ardipithecus ramidus) ซึ่งทั้ง 3 มีลักษณะที่แตกต่างจากวงศ์ลิงใหญ่อยู่หลายจุด เช่น กะโหลก ฟัน และโครงกระดูกอุ้งเชิงกราน

บรรพบุรุษมนุษย์เหล่านี้แม้มีความสามารถในการเดิน 2 ขาได้บ้างแล้ว แต่ยังมีรูปแบบชีวิตคล้ายคลึงกับลิงอยู่ และมีขนาดย่อมๆ ใกล้เคียงกับลิงชิมแปนซี

ภาพวาด “อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส” จากจินตนาการของศิลปิน Arturo Asensio ที่มา quo.es.com

ในกลุ่มนี้ ‘อาร์ดิพิเทคัสรามิดัส’ มีอายุเก่าแก่ที่สุดราว 4.4 ล้านปี ขุดพบที่ประเทศเอธิโอเปีย เป็นหลักฐานของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เก่าแก่เท่าที่เรามี

อาร์ดี้’ มีแขนยาว นิ้วยาว และมีเท้าที่ยึดเกาะได้ สันนิษฐานว่าชีวิตส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่บนต้นไม้

คราวนี้น่าสนใจตรงที่ อาร์ดี้มีกระดูกอุ้งเชิงกราน (pelvic) ที่แทบจะตั้งตรง ทำให้ไม่ต้องใช้พลังงานมากในการเดิน แต่หากจะปีนขึ้นต้นไม้ก็ไม่ได้หนักหนาอะไร เรียกได้ว่าอาร์ดี้เป็นมนุษย์ 2 โลก ที่อยู่ได้ทั้งบนพื้นดินและบนต้นไม้

หลังจากนั้นมนุษย์รุ่นถัดไปที่เรารู้จักกันดีอย่าง ‘ป้าลูซี่’ (Lucy) ที่มีอายุราว 2 ล้านปี สกุล ‘ออสตราโลพิเทคัส’ (Australopithecus) มีท่อนขาช่วงล่างที่ยาวขึ้นทำให้เดินและวิ่งได้ดีขึ้น แต่สูญเสียความสามารถในการยึดเกาะด้วยอุ้งเท้า แสดงว่าป้าลูซี่น่าจะเดินบนพื้นดินเป็นส่วนใหญ่ มีนิ้วโป้งเท้าที่เรียงได้ระดับเดียวกับนิ้วเท้าอื่นๆ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญนี่เองทำให้ออสตราโลพิเทคัสเดินได้ไกลกว่าบรรดาลิงอื่นๆ ทำให้เราสร้างอาณาเขตในการหาอาหารได้กว้างไกลขึ้น ไม่จำเป็นที่ต้องกระจุกตัวหากินในที่เดียวอีกต่อไป การเดินของมนุษย์จึงใช้แคลลอรี่น้อยกว่า นั่นยิ่งทำให้เราอยากออกไปค้นหาพื้นที่ใหม่ๆ เพื่อหาแหล่งอาหารมากขึ้น นำไปสู่การทดลองใหม่ๆ เช่น การใช้เครื่องมือเพื่อช่วยในการหาอาหาร โดยดัดแปลงจากหินใกล้ตัว เป็นเครื่องมือหิน (stone tool) เพื่อช่วยในการตัดเฉือน และล่าสัตว์อื่นเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญในการดำเนินชีวิตแทนที่จะพึ่งพาผลไม้ที่ขึ้นตามฤดูกาล มนุษย์จึงสามารถอาศัยในระบบนิเวศอื่นได้ตราบเท่าที่มีสิ่งมีชีวิตอื่นให้บริโภค

ราว 1.8 ล้านปี มนุษย์จึงสามารถอพยพออกจากแอฟริกาไปสู่ทวีปยูเรเชีย เดินทางไปไกลถึงเทือกเขาคอเคซัสจวบจนป่าฝนในอินโดนีเซีย ดังนั้น การเดิน 2 ขาที่ใช้พลังงานต่ำ การเรียนรู้สร้างเครื่องมือหิน และการบริโภคเนื้อสัตว์ นำไปสู่สังคมมนุษย์ยุค ‘ล่าสัตว์และเก็บของป่า’ (hunting-and-gathering) โดยสมบูรณ์ ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมเป็นสังคม จวบจนถึงรุ่งอรุณของมนุษย์สกุล ‘โฮโม’ (Homo) ที่เป็นพวกเราในปัจจุบัน

ช่วงที่เราค้นพบการอยู่ร่วมกันแบบสังคมและมีนวัตกรรมใช้ ในขณะที่สัตว์อื่นไม่มี ทำให้เรามีโอกาสเข้าถึงอาหารที่มีแคลลอรี่สูง และมีโอกาสสืบพันธุ์มากขึ้น ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนเราจนกลายเป็นมนุษย์ปัจจุบัน (Modern Human) ในที่สุด

ภาพลิงชิมแปนซี โดย ธเนศ รัตนกุล

แล้วทำไมพอคนไม่ขยับร่างกายจึงแย่

คราวนี้เรามาดูว่ามนุษย์ที่อยู่ในสังคมนักล่าและนักหาของป่านั้น เขาออกเดินกันเป็นระยะทางเฉลี่ยต่อวันเท่าไหร่

คำตอบคือมนุษย์ในอดีตเดินเท้าเฉลี่ยถึง 9-14 กิโลเมตรต่อวัน หรือราว 12,000-18,000 ก้าวเลยทีเดียว เท่ากับว่ามนุษย์ในอดีตมีการออกกำลังกายใน 1 วัน เทียบเท่ากับคนในยุคปัจจุบันออกกำลังกายเฉลี่ย 1 สัปดาห์!

ดังนั้นเวลาคุณบ่นเวลาวิ่งในฟิตเนส 1 ชั่วโมง แต่ร่างกายเบิร์นไปแค่ 500 กิโลแคลอรี่ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะวิวัฒนาการทางโครงสร้างของเราทำให้การเดินและวิ่งใช้พลังงานน้อย ซึ่งในอดีตอาจเรียกเป็นพรสวรรค์อันเอกอุก็ได้ แต่ในปัจจุบันอาจทำให้คุณหมดความตั้งใจในการลดน้ำหนักครั้งแล้วครั้งแล้ว

มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘แอ็กทีฟเพื่อความอยู่รอด’ อย่างแท้จริง

ดังนั้นเมื่อการล่าสัตว์และหาของป่าเป็นเรื่องปกติ ระบบการทำงานของร่างกายของพวกเราจึงปรับเปลี่ยนให้เหมาะสำหรับภารกิจนี้  มีตัวอย่างสนุกๆ อย่าง กรณี ‘วิตามินซี’ ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมยุคแรกๆ มียีนที่สามารถสังเคราะห์วิตามินซีได้เองในร่างกาย (ซึ่งยังพบได้อยู่ในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ สัตว์กินเนื้อ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดในปัจจุบัน) แต่เมื่อบรรพบุรุษมนุษย์ที่เป็นไพรเมตกินผลไม้เป็นอาหารหลัก ทำให้รับวิตามินซีจากผลไม้มากขึ้น

ดังนั้นร่างกายจึงไม่จำเป็นต้องสังเคราะห์เองอีก โครงสร้างในร่างกายจึงเปลี่ยนไปทำให้เราต้องได้รับวิตามินซีจากการบริโภค เมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนไปร่างกายเราก็เปลี่ยนตามในระดับเซลล์

การออกกำลังกายจึงจำเป็นสำหรับมนุษย์อย่างยิ่งยวด เราไม่ได้ออกล่าสัตว์หรือหาของป่าแบบในอดีต แต่เรามีการทำปศุสัตว์ การทำฟาร์ม ระบบอุตสาหกรรม สังคมเมือง การขนส่งอาหารจากแหล่งผลิตสู่ที่พักอาศัย ทำให้มนุษย์ลดความอดอยากลง เรากินมากขึ้นแต่ออกกำลังกายน้อยลง ทำให้สมดุลของการใช้พลังงานไม่เท่ากัน ความขี้เกียจจึงก่อโรคให้กับโฮโมเซเปียนอย่างเราๆ ได้อย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายมอบสิ่งหนึ่งให้กับคุณ คือความรู้สึกผ่อนคลายสดชื่น เป็นสุข โดยร่างกายของเรามีระบบกัญชาในร่างกาย (endocannabinoid system) ที่ปล่อยสารสื่อประสาทหลายชนิด ที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย กระตุ้นความทรงจำ และทำให้ระบบเมตาบอลิกของร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ หลังออกกำลังกาย กล้ามเนื้อมนุษย์แบบ Slowtwitch อนุญาตให้ออกซิเจนไหลผ่านได้มากกว่า เราจึงไปได้ไกลกว่า และนั่นทำให้มนุษย์สามารถอยู่ได้ทุกที่บนโลก

โดยสรุปแล้ว 2 ล้านปีให้หลังของประวัติศาสตร์มนุษย์เปลี่ยนเราให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘แอ็กทีฟ’ โดยธรรมชาติ เราขยับเพื่อมีชีวิตรอด ดังนั้นความขี้เกียจจึงเล่นงานเราหนักหน่วงกว่าบรรดาญาติลิงสายพันธุ์อื่นที่พวกมันมีเหตุผลให้ต้องสงวนพลังงานและมีชีวิตแบบช้าแต่ชัวร์เอาไว้ก่อน

ถ้าสัปดาห์นี้คุณยังไม่มีเหตุผลดีๆ เพื่อออกกำลังกายเลย หวังว่าบทความนี้จะอยากให้คุณลุกขึ้นมาขยับบ้างนะ

อย่างน้อยวิวัฒนาการก็บังคับคุณมาเป็นล้านปีแล้วนี่

 

อ้างอิง

Chimpanzee locomotor energetics and the origin of human bipedalism

PNAS July 24, 2007 104 (30) 12265-12269

pnas.org

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน