ถ้ากลิ่นกายของมนุษย์ ‘สื่อสารได้’ ทำไมเราถึงพยายามกลบกลิ่นตัวเองนัก?

Highlights

  • ทำไมมนุษย์จึงพยายามกลบกลิ่นของตัวเองนัก ทั้งที่กลิ่นกายเป็นช่องทางการสื่อสารที่เรามองข้ามไปหลายศตวรรษ
  • บทบาทของกลิ่นนั้นเริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดแรกของคุณเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดากลิ่นอาหารที่แม่กินสามารถส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางรก ดังนั้นเด็กจึงได้ลิ้มรสอาหารเช่นเดียวกันกับที่แม่กิน เด็กแรกเกิดมีความสามารถรับรู้กลิ่นนมแม่ได้แล้ว สามารถคุ้นกลิ่นนม เพื่อตามกลิ่นไปกินนมได้ถูกที่
  • นอกเหนือจากเรื่องความผูกพันแล้ว กลิ่นกายยังสื่อสารความรู้สึกที่เฉพาะเจาะจง ตั้งแต่ความกลัว ความเครียด และความวิตกกังวล แล้วอะไรที่ทำให้ความสำคัญของกลิ่นในมนุษย์ลดลงไปเรื่อยๆ ในเมื่อกลิ่นกายนั้นช่วยให้เรามีชีวิตรอดเพื่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน

อี๋ เหม็น’ ตัวรองในโฆษณาทำหน้าไม่สู้ดีเมื่อดมกลิ่นอับๆ ใต้วงแขน เธอมองซ้ายมองขวาไปสบตากับคนรอบข้างที่แสดงสีหน้าออกจะรังเกียจ ยิ่งตอกย้ำให้ตัวรองผู้น่าสงสารรู้สึกไม่มั่นใจท่ามกลางผู้คน ตัวเอกในโฆษณา (ที่ดูขาวใสกว่าหน่อย) ก็โผล่มาด้วยผลิตภัณฑ์โรลออนใหม่ในมือ เจ้าสิ่งนี้ช่วยมอบกลิ่นที่น่าหลงใหล กลบกลิ่นที่น่าอับอาย สร้างวงแขนขาวนวลน่าอัศจรรย์ แล้วทั้งสองก็จูงมือกันไปในฝูงชนด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยม

โลกเปิดรับฉันแล้ว เพราะฉันมีกลิ่นที่โลกยอมรับ

ผมต้องหรี่เล็กด้วยความสงสัยทุกครั้ง เมื่อโลกโฆษณาผลิตภัณฑ์ดับกลิ่นดิ้นไม่หลุดกับพล็อตทำนองนี้ ผลักให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ต้องวิตกกังวลกับกลิ่นของตัวเอง ทั้งที่เมื่อก่อนอาจไม่เคยเป็นปัญหาใหญ่ แต่พอโฆษณาฉายบ่อยๆ เข้าก็อดไม่ได้ที่จะดมเช็กระดับความเหม็นว่า กลิ่นตัวเราอยู่ในเลเวลที่ทำให้สังคมปฏิเสธแล้วหรือยัง อย่างน้อยๆ คุณก็มีมาตรฐานความเหม็นของตัวเองว่า ถ้าเหม็นเบอร์ไหนจะไม่กล้าฝ่าดงผู้คน หรือเบอร์ไหนที่ตุๆ พอรับได้แค่ไม่กางแขนออกเป็นพอ

ทำไมมนุษย์จึงพยายามกลบกลิ่นของตัวเองนัก ทั้งที่กลิ่นกายเป็นช่องทางการสื่อสารที่เรามองข้ามไปหลายศตวรรษ กลิ่นเป็นภาษาชั้นยอดที่เราสื่อสารกันโดยไม่ต้องเอ่ยปาก ไม่ต้องใช้เสียง ไม่ต้องใช้ตา แต่รับผัสสะทางเคมีซับซ้อนผ่านจมูก กลิ่นกายของพวกเราเป็นอีกหลักฐานทางวิวัฒนาการช่วงหลายล้านปี ที่ช่วยให้เรามีชีวิตรอดส่งต่อให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน

หากวันนี้คุณยังไม่ได้ปรุงแต่งกลิ่นตัวเองด้วยผลิตภัณฑ์ใดๆ ผมอยากให้คุณลองดมกลิ่นกาย ‘ตัวเอง’ แล้วอ่านบทความนี้ไปเรื่อยๆ จดจำกลิ่นดั้งเดิมสุดออริจินอลของคุณไว้ เราน่าจะมีเหตุผลพอที่เผยให้เห็นว่า กลิ่นกายของคุณเองนั้นอุดมไปด้วยความมหัศจรรย์ซ่อนอยู่

 

กลิ่นกาย’ การสื่อสารอัตโนมัติแห่งชีวิต

มนุษย์มีกลิ่นกายอันเป็นเอกลักษณ์ คุณและผมก็มีกลิ่นคนละแบบ แม้แต่ฝาแฝดแท้ๆ ก็ยังมีกลิ่นที่ไม่เหมือนกัน กลิ่นกายที่ลอยมาแตะจมูกทำให้เรารู้สึกมักคุ้นกับสิ่งต่างๆ ช่วยให้จดจำผู้คน ความคุ้นเคยค่อยๆ ก่อสร้างรากฐานเป็นหน่วยครอบครัว ช่วยในการเกี้ยวพาราสีหาคู่ครอง และพาเราหลีกหนีจากภัยอันตราย ความเจ็บป่วย โรคติดต่อ แม้กระทั่งความรุนแรงและโทสะก็ยังมีกลิ่นเฉพาะตัว

มีนักวิจัยจากสถาบัน French National Centre for Scientific Research (CNRS) เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส ที่วันๆ หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวของกลิ่น Camille Ferdenzi นิยามกลิ่นกายของมนุษย์ว่ามีความซับซ้อนในการสื่อสาร ถึงขั้นเป็น ‘ภาษา’ ที่รุ่มรวยมากกว่าที่พวกเราคาดคิด

แต่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกนั้น มนุษย์กลับพยายามหากลวิธีในการกลบกลิ่นกาย ไม่ว่าจะเป็นการขัดถู พรมน้ำหอม ใช้สารต่างๆ เพื่ออำพรางกลิ่นดั้งเดิม จนอาจกล่าวได้ว่าในทุกๆ วัน พวกเราพยายามหาทางควบคุมภาพลักษณ์ทางกลิ่น (olfactory image) ของตัวเองอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่กลิ่นเป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสาร

เราเหม็นน้อยลงก็จริง แต่ค่อยๆ สูญเสียผัสสะทางการดมกลิ่นลงไปเรื่อยๆ นี่จึงเป็นความย้อนแย้งที่นักพฤติกรรมสังคมพยายามหาคำตอบ

 

กลิ่นของมนุษย์เริ่มติดตัวมาตั้งแต่เกิด

บทบาทของกลิ่นนั้นเริ่มตั้งแต่จุดกำเนิดแรกของคุณเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดากลิ่นอาหารที่แม่กินสามารถส่งผ่านไปยังลูกน้อยทางรก ดังนั้นเด็กจึงได้ลิ้มรสอาหารเช่นเดียวกันกับที่แม่กิน เด็กแรกเกิดมีความสามารถรับรู้กลิ่นนมแม่ได้แล้ว สามารถคุ้นกลิ่นนม เพื่อตามกลิ่นไปกินนมได้ถูกที่ เมื่อใกล้เต้านมเด็กจึงมีพฤติกรรมตอบสนองอัตโนมัติพร้อมดูด กลิ่นของแม่เองยังช่วยทำให้เด็กรู้จักแม่มากขึ้น เพราะดวงตายังไม่สามารถมองเห็นได้ถี่ชัด เด็กจึงต้องการกลิ่นในการระบุตัวตนของแม่

‘กลิ่นเด็ก’ จึงเป็นอัตลักษณ์ที่สัตว์หลายสายพันธุ์ใช้ในการระบุว่า ‘นี่ฉันเป็นลูกเธอนะ’ ทั้งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และอาณาจักรนกก็อาศัยการดมกลิ่นเพื่อจดจำลูกน้อย กลิ่นเด็กจะค่อยๆ จางหายไปในช่วง 6 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นเด็กจะเริ่มมีกลิ่นอื่นๆ มาผสมเมื่อสัมผัสกับโลกภายนอกมากขึ้น ร่างกายของเรามีกลไกทางเคมีที่ทำให้กลิ่นเปลี่ยนแปลงตลอด รวมไปถึงประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยเฉพาะ ‘กลิ่นกาย’ (body odour หรือ BO) แม้กลิ่นใต้วงแขนของคุณออกจะเหม็นตุๆ ดูไล่ผู้ไล่คน จนเกือบเชื่อว่ากลิ่นใต้วงแขนเป็น ‘กลิ่นที่ขับไล่’ แต่ทีมวิจัยกลับเผยว่ากลิ่นกายไม่ใช่กลิ่นที่ร้ายกาจหรือน่ารังเกียจในเชิงวิวัฒนาการ

เหตุผลแรกคือกลิ่นกายแม้ออกจะเหม็นบ้าง แต่ไม่มีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ที่เป็นอันตรายเหมือนที่พบในของเน่าบูด ไม่มีสารเคมีเป็นพิษเมื่อสูดดม กลิ่นกายมีองค์ประกอบที่เป็นกุญแจหลัก 3 ประการคือ thiol, สเตียรอยด์ และกรดอีกหลายชนิด สารเคมีเหล่านี้ไม่มีกลิ่นในตัวมันเอง แต่แบคทีเรียที่อยู่บนผิวหนังคุณต่างหากที่มีปฏิกิริยาต่อสารเคมีและปล่อยกลิ่นออกมา

แบคทีเรียในสกุล Corynebacterium พบได้มากในเพศชาย สร้างกลิ่นฉุน และแบคทีเรียสกุล Staphylococcus ที่ให้กลิ่นฉุนน้อยลงมาหน่อย เมื่อเราเหงื่อออกมากๆ ร่างกายจะปล่อยสารเคมี 3 กลุ่มที่เป็นอาหารให้เหล่าแบคทีเรียกิน ระหว่างนั้นพวกมันก็ปล่อยกลิ่นออกมาเป็น by product มีงานวิจัยประเมินว่ากลิ่นที่แบคทีเรียปล่อยออกมาสามารถแบ่งประเภทได้มากถึง 10,000 กลิ่น ซึ่งมีความซับซ้อนมากทีเดียว และทักษะการดมกลิ่นของมนุษย์ในอดีตก็มีประสิทธิภาพมากที่สามารถแยกแยะกลิ่นได้ถึง 3 พันล้านกลิ่น ซึ่งถูกจัดอันดับอยู่ในระดับสูงมาก เป็นรองเพียงแค่สุนัขเท่านั้น

แม้เราจะไม่ค่อยได้ใช้ทักษะการดมกลิ่นเหมือนเพื่อนต่างสายพันธุ์ (คุณคงไม่ถึงขั้นดมก้นเพื่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่แบบสุนัขไช่ไหม) แต่พฤติกรรมดั้งเดิมก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เรายังชอบดมกลิ่นคนอื่นๆ แบบเนียนๆ จมูกจดจำกลิ่นของคนใหม่ๆ ที่เพิ่งพบได้ดีกว่าน้ำเสียงพูด และเรายังเผลอดมมือตัวเองหลังจากจับมือทำความรู้จักกับคนใหม่ๆ อย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมดั้งเดิมที่ลดทอนมาสู่ปัจจุบัน

อย่างนี้เราจะมีกลิ่นกายที่ทำให้เป็นที่นิยมได้ไหม หรือพัฒนาเป็นฟีโรโมนเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม แม้จะมีความพยายามทดลองหรือจำลองกลไกนี้ในทางวิทยาศาสตร์ แต่ยังไม่มีผลการทดลองใดๆ ที่ยืนยันว่า สามารถสร้างกลิ่นแบบ ‘ยาเสน่ห์’ (love potion) ได้จริง กลิ่นที่ใกล้เคียงที่สุดในนัยนี้คือ กลิ่นกายระหว่างแม่และลูก อันเป็นกลิ่นที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวได้รวดเร็วที่สุด และน่าจะนิยามว่าเป็นกลิ่นเสน่ห์ที่มีประสิทธิภาพเท่าที่มนุษย์สร้างได้

 

อะไรทำให้ความสำคัญของกลิ่นในมนุษย์ลดลงเรื่อยๆ

นอกเหนือจากเรื่องความผูกพันแล้ว กลิ่นกายยังสื่อสารความรู้สึกที่เฉพาะเจาะจง ตั้งแต่ความกลัว ความเครียด และความวิตกกังวล งานวิจัยในปี 2017 มีการทดลองกับนักกระโดดร่มดิ่งพสุธา ทีมวิจัยเก็บตัวอย่างเหงื่อของอาสาสมัครที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนและต้องฝึกกระโดดร่มครั้งแรก เหงื่อของพวกเขามีสารเคมีพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก 29 สาร เป็นสารที่ในยามปกติจะไม่มี ซึ่งสารเหล่านี้จะออกมาเฉพาะเวลาที่ร่างกายอยู่ในภาวะวิตกกังวลเท่านั้น หรือน้ำตาเองก็มีกลิ่นเฉพาะตัวเช่นกันที่มีผลทำให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในเพศชายลดน้อยลง จะเรียกว่า ‘แพ้น้ำตา’ ก็ไม่ผิดนัก ถ้าหนุ่มเห็นหยดน้ำตาของหญิงสาวก็มีอันแพ้พ่ายไป ซึ่งก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันเช่นกัน

แล้วอะไรที่ทำให้ความสำคัญของกลิ่นในมนุษย์ลดลงเรื่อยๆ ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือการมาของ ‘ภาษา’ ที่ทำให้การสื่อสารด้วยกลิ่นมีความสำคัญลดลง เช่นในกรณีของภาษาอังกฤษสมัยใหม่ที่มีคลังคำเกี่ยวกับกลิ่นน้อยมากเมื่อเทียบกับชนเผ่า Umpila ชนพื้นเมืองออสเตรเลียที่ยังดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และเก็บของป่า วิถีชีวิตของพวกเขายังต้องพึ่งพาทักษะการดมกลิ่นอยู่เสมอ ทำให้ชนเผ่านี้มีคลังคำเกี่ยวกับกลิ่นเยอะมากถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษสมัยใหม่ พวกเขามีคำที่บรรยายลึกซึ้งถึงกลิ่นธรรมชาติ กลิ่นลมร้อน กลิ่นลมฝน กลิ่นของความแห้งแล้ง และกลิ่นของความอุดมสมบูรณ์ ที่ธรรมชาติสร้างกลิ่นออกมาภายใต้ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่หากจำแนกออกได้ละเอียดเราก็สามารถคาดคะเนปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้

ภาษาค่อยๆ ทำให้ผัสสะในการวิเคราะห์กลิ่นของเรามีข้อจำกัด ถูกตีกรอบให้แคบลง จนเหลือนิยามไม่มากนัก กลิ่นกายของพวกเราจึงเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมของมนุษย์ที่ใช้สื่อสารกันก่อนที่จะมีเครื่องมือใหม่ๆ มาทดแทน แม้มันอาจดูมีความสำคัญลดลงไปบ้างตามวิวัฒนาการสังคม แต่ทักษะนี้ไม่เคยหายไปไหน ยังคงพร้อมรับใช้อยู่ หากฝึกฝนและไม่ละทิ้งไป

สูดดมกลิ่นอย่างถี่ถ้วน จำแนกกลิ่นของคุณเองให้ละเอียด ถึงแม้กลิ่นตัวคุณจะเหม็นบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีนัยเพียงแค่หอมหรือเหม็น เพราะกลิ่นยังแฝงฝังอัตลักษณ์บางอย่างที่ร่างกายพยายามสื่อสารออกมา ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอารมณ์

ถ้ายอมให้หนึ่งวันที่ร่างกายคุณไม่ต้องปรุงแต่งกลิ่นใดๆ เพื่อกลบตัวตนที่แท้จริง อย่างน้อยพวกเราอาจรับฟังร่างกายได้ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นก็ได้ เหม็นนิดเหม็นหน่อยจะเป็นไรไป ก็มันออริจินอลของตัวคุณนี่นา

 


อ้างอิง

Kin recognition : An overview of conceptual issues, mechanisms and evolutionary theory

Variability of Affective Responses to Odors : Culture, Gender, and Olfactory Knowledge

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน