“บางวันฉันปราดเปรื่อง บางวันฉันทึ่มเกินทน” ทำไมความฉลาดของคุณถึงไม่คงเส้นคงวา

Highlights

  • คอลัมน์ sci-fine คือคอลัมน์ใหม่ของ a day จาก 'ธเนศ รัตนกุล'
  • คอลัมน์นี้จะชวนคุณไปทำความเข้าใจชีวิตประจำวันผ่านวิทยาศาสตร์และงานวิจัย แน่นอนว่าชีวิตคงไม่ดีขึ้นทุกด้านด้วยงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ไหนๆ ก็เกิดมาเป็นคน ธเนศจึงหวังใจว่า ความเข้าใจเรื่องใกล้ตัวผ่านวิทยาศาสตร์จะช่วยทำให้เข้าใจชีวิตอันสลับซับซ้อนของมนุษย์ขึ้นบ้าง และไหนๆ ก็ไหนๆ แชร์เรื่องราวกับผู้อ่านด้วยเลยก็แล้วกัน
  • ชิ้นแรกธเนศจึงขอพาไปทำความเข้าใจว่าทำไมความฉลาดของคนเราจึงไม่คงเส้นคงวา และอะไรกันหนาที่ทำให้ความฉลาดวันนี้สู้เมื่อวานไม่ได้

คุณจำวันที่ตัวเอง ‘รู้สึกฉลาดๆ สุด’ ได้ไหม ความรู้สึกราวกับว่าคุณเพิ่งค้นพบคำตอบของจักรวาล หรือถ้าหากคณะกรรมการโนเบลเดินผ่านมาเห็น จะต้องยัดรางวัลอันทรงเกียรติใส่มือให้เป็นแน่แท้ แต่อีกวันถัดมาอัจฉริยะอย่างคุณกลับลืมกุญแจบ้าน ลืมรหัสตู้เอทีเอ็ม ทั้งๆ ที่เคยกดมาแล้วหลายพันครั้ง เวลาซื้อของก็ค่อยๆ นับเงินทีละบาทหน้าแคชเชียร์ราวกับเพิ่งเปลี่ยนมาใช้เงินบาทแทนหอยเบี้ย

ความฉลาดปราดเปรื่องของเมื่อวานหายไปไหนเสียแล้ว สมองเล่นพิเรนทร์อะไรกับคุณอีก

พอยกเรื่องความฉลาดทางปัญญา (intelligence) ขึ้นมาพูดถึงกัน ก็อดไม่ได้ที่จะนึกภาพคนอัจฉริยะ เด็กเรียนเก่งไหวพริบดีหน้าห้อง แต่เป็นไปได้ไหมที่เหล่าคนฉลาดจะมีช่วงเวลาสตาร์ทไม่ติด ความฉลาดไม่ทำงานขึ้นมาสักวัน พลาดอะไรที่ไม่เป็นเรื่อง จนอาจกล่าวได้ว่า แม้คนที่ฉลาดที่สุดในมวลมนุษย์ก็ล้วนเผชิญวันแย่ๆ ที่ตัวเองจัดการไม่ได้เช่นกัน

เป็นเวลาร้อยกว่าปีที่มนุษย์เชื่อว่า คนฉลาดก็สมควรใช้ชีวิตอย่างฉลาด แต่เมื่อวิทยาศาสตร์เข้าใจความหมายของการตระหนักรู้ของสิ่งมีชีวิตมากขึ้น เรากลับพบว่า ความฉลาดนั้นไม่ควรถูกเหมารวมแบบยกเข่งและไม่ควรมีเพียงนิยามเดียวในการตัดสิน โดยเฉพาะรูปแบบการรู้คิดของมนุษย์ที่แต่ละคนก็ไม่ได้เรียบเฉยอยู่กับที่ แต่มีความพลิ้วไหว ขึ้นบ้างลงบ้างสลับกัน ไม่ได้เป็นกราฟเหินทะยานไปข้างหน้าตลอดเวลา บางวันคุณอาจรู้สึกหัวแล่นระเบิดความสร้างสรรค์ได้ไม่รู้จบ ถัดมาอีกวันอาจนั่งทึ่มคิดอะไรไม่ออก การตระหนักรู้ของมนุษย์จึงมีรูปแบบยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

แนวคิดนี้ได้อานิสงส์จากศาสตร์ด้านพฤติกรรมมนุษย์ (human behaviorstudy) ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในช่วง 20 ปีให้หลัง นักวิชาการต่างสนใจพฤติกรรม อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ในระดับปัจเจกมากขึ้น ความฉลาดทางสติปัญญาควรสังเคราะห์ให้ลึกขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ลึกในขนาดระดับจุลทรรศน์ เจาะจงไปยังช่วงเวลา ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ว่าความฉลาดของคุณเปลี่ยนแปลงอย่างไร หรือบางช่วงขณะของชีวิต  เช่น เมื่อคุณอยู่ในภาวะวิกฤตที่มีความเป็นความตายเท่ากัน คุณสามารถใช้ความฉลาดเข้าแก้ปัญหาได้ดีแค่ไหน ซึ่งสถานการณ์ทำนองนี้ยากจะวัดด้วยแบบทดสอบต่างๆ และนักวิจัยเชื่อว่า ความฉลาดในการจัดการชีวิต ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเรียนรู้มนุษย์ที่เราต้องเข้าใจธรรมชาติสมองให้มากกว่านี้

 

ความฉลาดที่ไม่คงเส้นคงวา

นักวิจัยกลุ่มแรกๆ ที่เป็นหัวหอกนำเสนอแนวคิดความฉลาดแบบไม่คงเส้นคงวา ส่วนหนึ่งมาจากสถาบัน Max Planck Institute for Human Development นำโดย Florian Schmiedek Martin Lövdén และ Ulman Lindenberger

พวกเขามีสมมติฐานคร่าวๆ ว่า ความสามารถทางการรู้คิด (cognitive ability) ของคนเรานั้นขึ้นๆ ลงๆ ในระหว่างวัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมที่มนุษย์ผู้นั้นเผชิญ บางคนสามารถรักษาความสามารถทางการรู้คิดได้ดีระดับหนึ่งแม้ปัจจัยแวดล้อมจะเปลี่ยนไป แต่สำหรับบางคนอาจสวิงได้มากกว่าคนอื่น และอีกหลายๆ คนอาจรุนแรงจนกระทั่งสูญเสียศักยภาพทางการรู้คิด

สรุปรวมได้ว่า ความสามารถทางการรู้คิดของมนุษย์แปรผันได้เสมอ อาจเกิดขึ้นยาวนานอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ชรา หรือเกิดขึ้นฉับพลัน ณ ช่วงขณะใดขณะหนึ่ง เช่น ในช่วงที่เราตื่นตระหนกตกใจ เรามักสูญเสียความทรงจำชั่วคราว (dementia) ลืมสิ่งที่ทำอยู่ประจำ สูญเสียทักษะที่เคยคิดว่าทำได้ดี สูญเสียการใช้เหตุผล อย่างไรก็ตามภาวะที่คุณสูญเสียความสามารถทางการรู้คิดเช่นนี้กลับไม่ใช่จุดบกพร่องในสมอง แต่เป็นสิ่งที่มีแบบมีแผนเชื่อมโยงกับปัจจัยอื่นๆ ตั้งแต่คุณกินดีอยู่ดีอย่างไร นอนหลับสบายไหม มีเวลานอนเพียงพอหรือเปล่า ไปจนถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ถูกรบเร้าจากสิ่งต่างๆ ระหว่างวัน ความเหนื่อยล้าทางร่างกาย

และอีกปัจจัยที่น่าสนใจคือ ‘ความยากจน’ (poverty) ที่ส่งอิทธิพลต่อการรู้คิดของมนุษย์ ยิ่งคุณอยู่เฉียดเส้นความจนมากเท่าไหร่ (poverty line) รายได้ขัดสนหรือถูกกีดกันจากทรัพยากรก็ยิ่งมีแนวโน้มทำให้ความสามารถทางการรู้คิดสวิงรุนแรงมากขึ้น จะเรียกว่า “ท้องไม่อิ่ม สมองไม่เดิน” ก็ย่อมได้

เพื่อพิสูจน์สมมติฐานนี้ งานวิจัยจึงติดตามชีวิตเด็กๆ ในช่วงปฐมวัยจำนวน 110 คนเป็นเวลา 4 สัปดาห์โดยให้พวกเขาทำแบบทดสอบที่ติดตั้งในสมาร์ตโฟน แล้วดูว่าเด็กๆ สามารถดึงความจำเพื่อใช้งาน (working memory) มาแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้มากน้อยแค่ไหน ผลออกมาน่าสนใจทีเดียว เมื่อเด็กๆ มีศักยภาพในการรู้จำแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกในระหว่างวัน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาปฏิสัมพันธ์ด้วยในขณะนั้น เด็กบางคนมีคุณสมบัติเรียนรู้สูงไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหนก็สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว (ใกล้เคียงกับคำนิยามที่กุมารแพทย์ W. Thomas Boyce เคยให้นิยามเด็กกลุ่มนี้ไว้ว่า ‘Dandelion’ อิงกับธรรมชาติของดอกแดนดิไลออนที่พลิ้วไหวตามแรงและเติบโตง่าย) เด็กกลุ่มนี้ปรับตัวได้ดี สามารถทำแบบทดสอบได้เฉลี่ยไปทางระดับปานกลาง

แต่มีเด็กอีกกลุ่มที่ดูเผินๆ พวกเขาอาจเรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น ดูอ่อนไหวต่อสิ่งเร้า และต้องการสภาพแวดล้อมจำเพาะต่อการเรียนรู้ ซึ่งเราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า ‘Orchid’ หรือกล้วยไม้ ที่มีธรรมชาติต้องการการประคบประหงมดูแล ถึงจะบานเป็นดอกไม้งาม เด็กกลุ่มกล้วยไม้นี้ก็เป็นเด็กที่มีศักยภาพสูงหากอยู่ในสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะปลดล็อกความสามารถในการรู้จำได้ดีกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นเองความฉลาดของคุณจึงสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่คุณปฏิสัมพันธ์ด้วย เพราะอารมณ์ความรู้สึกเป็นผลผลิตที่ซับซ้อนมากกว่าจะมาแยกระหว่าง IQ ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา และ EQ ความฉลาดทางอารมณ์ออกจากกัน และแน่นอนว่าการวัด IQ และ EQ ก็กำลังล้าสมัยลงไปเรื่อยๆ

 

อะไรที่ทำให้ความฉลาดวันนี้สู้เมื่อวานไม่ได้

แม้มนุษย์มีธรรมชาติในการเรียนรู้เฉพาะตัวเหมือนลายนิ้วมือที่ไม่ซ้ำกัน แต่หากคุณยืนยันว่าเมื่อวานฉันน่าจะฉลาดกว่าวันนี้ หรือวันนี้ฉันฉลาดกว่าเมื่อวาน อะไรเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ความสามารถรู้คิดไม่ค่อยคงเส้นคงวา

ลองทบทวนว่าตลอดวันคุณเจอภาวะบั่นทอนอะไรบ้าง ถ้ามันต่อเนื่องยาวนานเป็นสัปดาห์หรือว่าเป็นปี สมองเองก็เหนื่อยล้าได้ไม่ต่างจากอวัยวะอื่นๆในร่างกาย นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิด ‘cognitive fatigue’ หรือความอ่อนล้าในการรู้คิด ที่ทำให้อำนาจในการตัดสินใจและการใช้สติปัญญาลดลง เมื่อคุณต้องทำอะไรซ้ำๆ ต่อเนื่อง ต้องตัดสินใจเพื่อให้คนอื่นนำไปปฏิบัติต่อ หรือรับปากงานใครไว้ต้องสะสางให้เสร็จสิ้น แน่นอนว่ามันมีภาษีไม่น้อยที่สมองต้องจ่ายเป็นความเหนื่อยล้า ร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนเครียด Cortisol ที่กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตหัวใจ กล้ามเนื้อ และสมอง ถ้ามีนิดๆ หน่อยๆ ก็ทำให้ร่างกายพร้อมเข้าสู่โหมดเข้าสู้หรือถอยหนี (fight or flight) ที่เป็นกลไกทางธรรมชาติซึ่งจำเป็นมากที่ต้องมี

แต่ถ้าฮอร์โมนนี้อยู่ในร่างกายนานจนเกินไปจะลดศักยภาพของการสื่อสารเซลล์ประสาทในสมอง และถึงขั้นทำลายเซลล์ประสาทโดยเฉพาะบริเวณที่มีอิทธิพลต่อความทรงจำ ทำให้เกิดความเสื่อมถอยทางด้านสติปัญญา ความทรงจำ ความคิด การมีเหตุผล  สมองจะมีกลไกต่อต้านเป็นการ ‘ก่อม็อบ’ ที่รวมตัวโปรตีนผิดปกติอันประกอบไปด้วย beta-amyloid รวมกันจนเป็นกลุ่ม amyloid plaques กลุ่มโปรตีนที่บ่อนทำลายเซลล์ประสาท ทำให้คุณสูญเสียศักยภาพของสมองยาวนานเป็นสิบๆ ปี จนนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม cognitive fatigue ก็ยังไม่ใช่ภาวะรุนแรงระดับโรคอัลไซเมอร์ (และยังไม่ได้นิยามว่าเป็นโรค) คุณอาจรู้สึกหัวไม่แล่นบ้างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบที่พอบริหารจัดการปัจจัยที่ก่อเกิดภาวะนี้ได้ (อย่างน้อยถ้าสมองได้พักบ้าง ก็จะเป็นการปัดกวาดเอา amyloid plaques ออกไป)

วิธีที่อาจตรงไปตรงมาที่สุดคือการ ‘พักผ่อนด้วยการนอน’ หรือนอนให้ใกล้เคียงกับ cycle ธรรมชาติให้มากที่สุด นอนตามนาฬิกาชีวภาพของร่างกาย คือ การนอนในช่วงกลางคืน ช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง อุณหภูมิร่างกายต่ำลง การนอนเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองจะเก็บเกี่ยวเอาการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ มาจัดให้เป็นระบบระเบียบ และน่าสนใจขึ้นไปอีกที่สมองของคุณมีกลไกเก็บกวาดขยะของเสียด้วยตัวเองเมื่อนอนหลับ โดยจะปัดกวาด beta-amyloid โปรตีนผิดปกติออกจากสมอง และร่างกายจะสร้าง ‘เมลาโทนิน’ ช่วยกระตุ้นสร้างเซลล์ประสาทใหม่อย่างต่อเนื่อง

 

แต่นอนอย่างเดียวก็อาจไม่พอ หากจะต้องต่อกรกับ cognitive fatigue ก็ต้องมีการบริหารจัดการความวิตกกังวลในแต่ละวันอย่างเป็นระบบ ทุกๆ วันพวกเรามีเรื่องให้ตัดสินใจเยอะไปหมด และหลายๆ เรื่องพร้อมกัน หลายคนบอกว่า “มีความวิตกต่างหากถึงจะดี ตัดสินใจเฉียบขาดขึ้น งานถึงจะเดิน” แต่ความวิตกเองไม่ใช่ฐานที่ดีนักในมิติของทักษะการแก้ปัญหา (problem solving) เพราะการตัดสินใจด้วยความวิตกกังวลจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา (self-criticism) รู้สึกถึงการมีอยู่ของภัยในสักรูปแบบ แม้จะไม่มีภัยนั้นอยู่เลยก็ตาม

และเมื่อการตัดสินใจนั้นผิดพลาด มันจะสร้างความรู้สึกผิดให้กับตัวคุณเอง เนื่องจากคุณเป็นเจ้าของการตัดสินใจนั้น เมื่อความผิดพลาดมากเข้า คุณก็ไม่อยากตัดสินใจอะไรอีก เกิดอคติต่อตัวเอง เพราะกลัวผลลัพธ์ที่ออกมาจะสะท้อนถึงระดับสติปัญญาของคุณ สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณ แฝงฝังอัตลักษณ์ลงไปอย่างไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่เข้าท่าเอาซะเลยสำหรับการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในโลกใบใหม่

การสร้างความสามารถในการรู้คิด เป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไป และไม่ได้มีเส้นตรงเพื่อนำไปสู่ความฉลาดทางปัญญาอันถาวร เหมือนอย่างที่เราพยายามสอนเด็กให้ฉลาดไปในทิศทางเดียว โดยที่ไม่เคยแนะนำว่ามีวิธีอะไรบ้างในการรักษาความฉลาดนั้นไว้ และเพิ่มพูนให้งอกเงยอย่างไร

สมองของพวกเราเป็นผลผลิตจากความซับซ้อนของชีวภาพ ดังนั้นความฉลาดของคุณเองจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยทางชีวภาพที่รายล้อมเพื่อกอปรเป็นความฉลาดอันเป็น ‘ลายเซ็น’ ของคุณเอง

ถึงแม้วันนี้อาจจะไม่ใช่วันที่ดีที่สุดสำหรับคุณ แต่คุณจะไม่เผื่อใจหรือเปิดโอกาสให้วันพรุ่งนี้สักหน่อยหรือ

 

อ้างอิง

The COGITO Study:Overview of Research Design, Past Work, and Data Access

Younger Adults Show Long-Term Effects of Cognitive Training on BroadCognitive Abilities Over 2 YearsDevelopmental Psychology © 2014 American Psychological Association2014, Vol. 50, No. 9, 2304–2310 0012-1649

AUTHOR

ILLUSTRATOR

banana blah blah

นักวาดภาพประกอบ ที่ชอบกินอาหารสุกๆดิบๆ เป็นชีวิตจิตใจ ส่วนชีวิตนั้นก็สุกๆดิบๆไม่ต่างกัน