เพราะโลกเป็น ฉันจึงเป็น : ทำไมตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งรอบตัว?

ฉันก็เป็นของฉันแบบนี้? ทำไมเขาเข้าใจเราผิดไป?

เราอาจรำพึงเมื่อคนอื่นเขามองเห็นเราต่างไปจากที่เราเห็นตัวเองอย่างน่าตกใจ เราอาจรู้สึกว่าไม่แฟร์เลย เราควรมีสิทธิเลือกได้ว่าเราคือใคร เป็นคนแบบไหน แต่เราเป็นตัวเราได้โดยปราศจากการตีความของคนอื่นจริงๆ เหรอ?

อยากแนะนำให้รู้จักกับสุภาษิตจากแอฟริกา “Umuntu ngumuntu ngabantu” เป็นวลีภาษา Zulu แปลว่า “คนหนึ่งคนเป็นคนโดยสมบูรณ์ผ่านคนอื่น” a person is a person through other persons หรือ a human being is a human being because of other human beings.

 

เราคิด…เราจึงเป็น หรือ เราเป็น…เพราะคนอื่นเป็น?

ในสายตาของวัฒนธรรมแอฟริกันที่มักอยู่เป็นหมู่เผ่าหรือสังคมแบบกลุ่มนิยม (collectivism) ซึ่งแตกต่างจากปัจเจกนิยม (individualism) แบบตะวันตก ไม่มีมนุษย์โดดเดี่ยวโดยสมบูรณ์ เราไม่สามารถอยู่ได้ตัวคนเดียว คนไม่ใช่ระบบปิด ตัวตนเราจึงไม่อาจสมบูรณ์ได้โดยปราศจากสิ่งแวดล้อมและผู้อื่นที่รายล้อมเรา ตัวตนของเรากับความสัมพันธ์ที่เรามีกับคนอื่นนั้นแยกจากกันได้ยาก เราเป็นเราเพราะความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้อื่น

“มนุษย์นั้นเคลื่อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมได้แทรกสอดเข้าไปในเขา ความจริงทั้งสองได้ดำรงอยู่และส่งผลต่อกันเสมอ มนุษย์ย่อมเห็นตัวเองรับฟังและพูดกับชีพจรของโลกเสมอ” Dominique Zahan ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Religion, Spirituality, and Thought of Traditional Africa

ในวิธีคิดแบบแอฟริกันโบราณ ทารกน้อยที่เพิ่งเกิดยังไม่มีตัวตน (Ena) พวกเขาจะได้ตัวตนผ่านประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ เสียก่อน ในมุมมองนี้ selfhood หรือตัวตนของเราเกิดขึ้นโดยมีเวลาและสถานที่ (space-time) มาเกี่ยวข้องเสมอ ตัวตนจึงไม่เคยเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้ว ทุกคนคือแบบร่างที่กำลังสร้างอยู่ไม่รู้จบ ตัวตนจึงไม่สามารถออกมาได้จากเพียงความคิดที่อยู่ในหัวเท่านั้น

แตกต่างจากสิ่งที่หลายคนคุ้นเคยกับคำพูดยอดฮิตตลอดกาล  “I think, therefore I am.” ของ René Descartes อันแปลว่า “เพราะฉันคิด ฉันจึงมีอยู่” ที่ให้ความสำคัญกับพลังของความคิดของเราอันมีผลต่อตัวตนเรามากกว่าสภาพแวดล้อมและสังคม แต่ John Mbiti นักปรัชญาชาวแอฟริกันกลับกล่าวไว้ว่า “‘I am because we are, and since we are, therefore I am.” หรือ “ฉันเป็นฉันเพราะเราเป็นเรา เพราะเราเป็นเรา ฉันจึงเป็นฉัน”

เราอาจมองว่าเราก็เป็นเราไง เรารู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร เราเป็นเราที่อาจเกี่ยวข้องกับผู้อื่นแค่ชั่วคราว แต่อย่าลืมว่าคนทุกคนเกิดมาในครอบครัว ภาษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนา เกิดมาในประเทศหนึ่ง อันมีประวัติศาสตร์เฉพาะแค่เวลาและสถานที่นั้น เกิดมาในย่านหรือดินแดนที่เขาอาจเลือกไม่ได้ และสิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบและสะท้อนตัวตนที่เรามี

แนวคิดแบบ Umuntu ngumuntu ngabantu หรือ Since we are, therefore I am. ไม่ได้หมายความว่ามันลดค่าความเป็นเรา หรือบอกว่าตัวตนปัจเจกไม่มีอยู่และไร้ความหมาย แต่เสริมเพิ่มเติมว่าตัวตนของผู้อื่นก็สำคัญกับการนิยามตัวเราเอง เสียงของคนอื่นไม่ถูกกลบไป ชวนให้ทุกคนลองพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตที่มีกับคนอื่นเพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่ และยอมให้เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ

 

ทำไมตัวตนของเราเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งรอบตัว?

“ทำไมเราถึงไม่เหมือนเดิม เมื่ออยู่กับกลุ่มคนที่เปลี่ยนไป หรืออยู่ในสถานที่ใหม่?”

ทุกคนอาจเคยมีห้วงที่สงสัยในตัวเอง เราคือคนที่สดใสหรือหม่นหมอง กล้าหาญหรือขี้ขลาด ฉลาดหรือโง่เขลา ตัวตนของเรามีอยู่จริงไหม? เราเป็นใครกันแน่?

เป็นเรื่องปกติมากๆ ที่เราจะมีนิสัยที่เปลี่ยนไปตามสถานที่ เวลา สภาพแวดล้อม หรือกระทั่งภาษาที่เราใช้ เราอาจคิดว่าตัวเราเป็นเราแบบนี้เสมอต้นเสมอปลาย แต่ความสัมพันธ์ใดๆ ก็สามารถเปลี่ยนตัวเราได้เสมอ และเราสามารถกลายเป็นคนอื่นได้อย่างง่ายดาย

Free Trait ทฤษฎีทางจิตวิทยา อธิบายพฤติกรรมที่คนเราทำอะไรไม่คาดฝันผิดจากนิสัยที่ทุกคนรู้จัก หรือ act out of character ไว้ว่า เราทุกคนเกิดมีตัวตนที่เป็นใจกลางหลัก (core personal projects) แต่เราก็สามารถขยับปรับตัวตนของเราไปตามวัฒนธรรม สภาพแวดล้อม และแรงจูงใจได้ เช่น เราอาจเป็นเจ้านายที่เข้มงวดปากจัด แต่เรากลายเป็นแม่ผู้ใจดีอ่อนหวานกับลูกน้อยทารกของเราที่บ้าน บางครั้งเราก็ยอมเปลี่ยนตัวเองได้หากพบสิ่งที่เราให้คุณค่า เช่น คนที่รัก งานที่เราต้องการทำให้สำเร็จ

ลองนึกถึงบางคนที่คุยเก่งอาจกลายเป็นคนเงียบเขินขี้อายไปเลยเมื่อต้องใช้ภาษาที่ไม่ถนัดหรือเข้าไปอยู่ในฝูงชนที่ไม่คุ้นเคย บางคนมีตัวตนที่ต่างกันอย่างมากขณะอยู่บ้านกับในที่ทำงาน บางคนกลายเป็นคนสนุกสนานรื่นเริงสดใสเพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับอาชีพ หรือเพราะหน้าที่ความรับผิดชอบทำให้เขากลายเป็นคนกล้าตัดสินใจ ตัวตนของเราลื่นไหลกว่าที่เราคิด

เราอาจมีนิสัยเปลี่ยนไปเมื่อย้ายถิ่นฐานหรือท่องเที่ยวเดินทาง บางทีเราอาจตกใจในความลื่นไหลของตัวเอง และแอบสงสัยในตัวตนจริงแท้ของตัวเอง เราหลอกลวงหรือเปล่า? หรือนี่คือตัวตนที่เราแอบซ่อนไว้?

อีกตัวอย่างของการที่คนอาจเปลี่ยนตัวตนของกันและกันได้ คือ Mirroring Effect ที่เกิดขึ้นเมื่อคู่แต่งงานที่แต่งงานกันยาวนานค่อยๆ เติบโต และเริ่มดูคล้ายกันไปเองในที่สุด เพราะพวกเขาได้สะท้อนหน้าตาและปฏิกิริยาของกันและกันในระยะเวลายาวนาน ยิ่งแต่งงานนานก็ยิ่งเห็นชัด

 

เพราะโลกเป็นโลก ฉันจึงเป็นฉัน เพราะเราสะท้อนกันและกันอย่างแยกออกยาก

เมื่อเราหลุดจากความคิดที่ว่า ตัวเราคือคนที่แยกออกได้สิ้นเชิงจากผู้อื่นบนโลก เพราะเรามีความคิดที่แตกต่างเราจึงแตกต่าง เราจะพบว่าชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับสังคมอย่างแยกได้ยาก การมองตัวเองโดยแยกออกจากสังคมและโลกมวลรวมกลายเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าที่คิด

สิ่งที่อยากให้ลองคิดดูก็คือ เราทุกคนสามารถเปลี่ยนตัวเองตามเวลาและสภาพแวดล้อมเสมอ เราแยกจากสภาพสังคม วัฒนธรรม และภูมิศาสตร์ได้ยากมาก เรานั้นเป็นผลผลิตของอุบัติเหตุทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ แต่เราทึกทักไปว่าเราคือปัจเจกที่เลือกได้ทั้งหมด เราต้องยอมถูกตีความและเห็นในแบบที่แตกต่างจากที่เรามองเห็นและคิดว่าเราเป็น

ลองคิดดูว่า เราอยากเป็นคนตามใจตัวเอง แต่หากเรายากจนและขาดทรัพยากรก็อาจทำให้ตัวเลือกมีจำกัด เราอาจรักความเป็นส่วนตัว แต่การมีพื้นที่ส่วนตัวได้อาจเป็น luxury สำหรับครอบครัวอพยพที่คนแปลกหน้าต้องถูก stack รวมกันในห้องรวมเพื่อความประหยัด เวลาเราหิวทำให้เราโกรธ การโกรธทำให้เราตัดสินใจเร็วขึ้น ความเศร้าทำให้เรายอมรับความเลวร้ายได้โดยจำนน ฯลฯ โลกมีตัวแปรเยอะมากที่มีผลให้เราเป็นเราแบบที่เรารู้จัก

David Eagleman เขียนไว้ในหนังสือ The Brain: The Story of You ว่า

“เราอาจทึกทักว่าตัวตนของเราจบที่ขอบเขตของผิวหนัง แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันไม่มีเครื่องหมายใดที่ระบุว่าจุดไหนคือจุดสิ้นสุดของตัวเราและเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เซลล์ประสาทของเรา ตัวเรา และคนอื่นๆ สื่อสารต่อกันเป็นระบบชีวิตขนาดยักษ์ที่เคลื่อนที่ขยับไป เราเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายสายใยของชีวิตที่ใหญ่กว่าตัวเรา”

ดังนั้น หากรู้สึกว่าคนอื่นไม่เข้าใจเรา หรือมองเห็นเราผิดไปจากที่เราคิด อย่าได้เศร้าโศกเสียใจและปฏิเสธความเห็นเขาไปสิ้นเชิง ระลึกไว้เสมอว่า มีแค่ตัวเราเองเท่านั้นที่มีโอกาสได้เห็นตัวเองเป็นไทม์ไลน์เส้นตรง เราอยู่กับตัวเองตลอดเวลา แต่คนอื่นเขาเห็นเราแค่ส่วนเสี้ยวของชีวิตเราเท่านั้น และบางครั้งตัวเราที่รู้จักก็อาจเปลี่ยนไปตามบริบทที่เราถูกจับวางเข้าไปอยู่ และเขาก็ตีความเราจากสิ่งที่เขาสัมผัสผสมประสบการณ์และความทรงจำของเขา เราเป็นอีกเราจากการตีความของคนอื่น และคงต้องเป็นเช่นนั้น

เราไม่สามารถดำรงอยู่ในสุญญากาศโดยปราศจากการมีอยู่ของผู้อื่น เราต้องยอมให้ผู้อื่นตีความเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางครั้งเราต้องยอมรับตัวตนที่เกิดขึ้นผ่านปฏิสัมพันธ์และความทรงจำของคนอื่นด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิง

Book extract: ‘The Brain: The Story of You’, by David Eagleman

Critical Psychology By Derek Hook, Anthony Collins, Nhlanhla Mkhize, Peace Kiguwa, Ian Parker, Erica Burman

Descartes was wrong: ‘a person is a person through other persons’

Long-Married Couples Do Look Alike, Study Finds

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ploypuyik

ทำงานกราฟิก ชอบทำงานภาพประกอบ และจริงๆ แล้วชอบเล่าเรื่องด้วยค่ะ