ใน ‘สีขาว’ มีสีดำ ฟังเรื่องราวมืดดำในประวัติศาสตร์ของสีที่สว่างที่สุดในโลก

Highlights

  • สีขาวอาจเป็นสีแห่งความดี ความงาม และความบริสุทธิ์ผุดผ่องในยุคปัจจุบัน แต่ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ สีขาวกลับแปดเปื้อนไปด้วยเรื่องราวดำมืด ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งแยกชนชั้น การเหยียดเชื้อชาติ หรือการครอบงำ
  • ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ศิลปินต่างพากันเชื่อว่างานศิลปะและสถาปัตยกรรมยุคโรมันนั้นมีสีขาวสะอาด และปัดตกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แย้งว่าอันที่จริงศิลปะยุคโรมันนั้นมีการลงสีหากแต่สีหลุดลอกไปตามกาลเวลา ในยุคนั้นสีขาวจึงถูกนำมาเชื่อมโยงกับความยิ่งใหญ่อันมีที่มาจากภาพจักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกร
  • ในยุคล่าอาณานิคม สีขาวและคนขาวยังมีความหมายถึงตัวแทนพระเจ้าที่จะนำความเจริญไปยังส่วนที่ป่าเถื่อนของโลก ประเทศในยุโรปจึงออกเดินทางไปยึดดินแดนโพ้นทะเลต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความ 'ซิวิไลซ์' ตามพันธกิจของพระเจ้า (ซึ่งในปัจจุบันเป็นความอับอายเสียมากกว่า)

สีขาว

ทุกวันนี้เราเห็นสีขาวเป็นสัญลักษณ์ของความสะอาด ความบริสุทธิ์ และการปล่อยวาง แต่ในประวัติศาสตร์สีขาวไม่ได้ไร้เดียงสาอย่างที่เข้าใจ เพราะผ่านกาลเวลายาวนานหลายร้อยปีและผ่านการใช้สีในศิลปะ สถาปัตยกรรม หรือแม้แต่วรรณกรรม สีขาวถูกใช้เพื่อบ่งบอกและแบ่งแยกสถานะ เป็นสัญลักษณ์ของความตื่นรู้ เป็นเครื่องหมายของยุคแห่งปัญญา ไปจนถึงใช้สื่ออุดมการณ์ทางการเมือง

ความดำมืดของสีขาวหลบเร้นอยู่ในการใช้สีเพื่อแบ่งแยก ควบคุม และเป็นสัญลักษณ์ของการตีกรอบเพื่อครอบงำ

 

แยกอดีตจากความจริง เมื่อสีขาวถูกใช้เพื่อย้อมประวัติศาสตร์

ปี 1938 มีการทำความสะอาดรูปปั้นครั้งใหญ่ใน British Museum สารคาร์โบรันดัมถูกนำมาใช้เพื่อขัดผิวของรูปปั้นให้มีสีขาวสะอาด หนึ่งในนั้นคือรูปปั้นแสนล้ำค่าจากวิหารพาร์เธนอนในประเทศกรีซ ผู้ที่ริเริ่มไอเดียการขัดสีฉวีวรรณครั้งนี้มีชื่อว่า Joseph Duveen ขุนนางอังกฤษและนักสะสมของเก่าแสนมั่งคั่ง ผู้บริจาคเงินจำนวนมากให้พิพิธภัณฑ์โดยมีเงื่อนไขว่าต้องขัดรูปปั้นทั้งหมดให้เป็นสีขาว (กว่านี้) 

ภาพ hisour.com

สีขาว

ทำไมน่ะเหรอ? ดูวีนเชื่อว่ารูปปั้นทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้มีสีที่ถูกต้อง และทุกสิ่งที่ก่อสร้างในยุคกรีกโรมันจำเป็นต้องมีสีขาวสะอาดเช่นเดียวกับหินอ่อน ความเชื่อของดูวีนฟังดูแปลกประหลาดและไม่เข้าท่า แต่มันมีที่มาย้อนกลับไปหลายศตวรรษ

ย้อนกลับไปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13-16) บรรดาศิลปินจำนวนมากเริ่มศึกษาศิลปะคลาสสิกจากอารยธรรมกรีก-โรมัน และเริ่มสร้างสรรค์งานใหม่โดยอ้างอิงหลักฐานยุคก่อนที่มองเห็นด้วยตา ไม่น่าแปลกใจที่ศิลปินยุคนั้นเข้าใจกันไปเองว่างานศิลปะแบบกรีก-โรมันไม่นิยมการลงสี เนื่องจากสีสันที่เคยถูกทาทับไว้ได้หลุดลอกไปตามกาลเวลา (ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยากับยุคกรีก-โรมันทิ้งช่วงเวลาห่างกันร่วมพันปี)

Johann Joachim Winckelmann เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องรับผิดชอบความเข้าใจผิดครั้งใหญ่นี้ เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 18 และเขียนหนังสือหลายเล่มซึ่งต่อมากลายเป็นตำราสำหรับผู้นิยมศิลปะยุคคลาสสิก วิงเคิลมันน์เคยทำงานในกรุงโรม เขาถูกใจรูปปั้น Apollo Belvedere เป็นพิเศษ และได้กล่าวว่างานชิ้นนี้เป็นศิลปะที่สวยงามที่สุดเพราะมันสะท้อนความสวยงามของมนุษย์ผ่านภาพลักษณ์ของอพอลโล–เทพแห่งดวงอาทิตย์

รูปปั้น Apollo Belvedere

Apollo Belvedere นำเสนอภาพเทพอพอลโลในวัยเยาว์ ผมของเขาปลิวไสว แต่ที่ถูกใจวิงเคิลมันน์มากที่สุดคือผิวพรรณขาวผ่องของเทพเจ้า เขาเชื่อว่าสีขาวคือสัญลักษณ์ของความเจริญทางปัญญาของชาวกรีก-โรมัน มันนำเสนอความสง่างาม ความบริสุทธิ์ ความเรียบง่าย และความมีอารยะ งานเขียนของเขาจุดประกายให้สีขาวกลายเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงยุคปัจจุบันเข้ากับความรุ่งเรืองแบบอารยธรรมในอดีต และแนวคิด White Utopia ของเขาก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้สิ่งก่อสร้างที่ทำเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกต้องมีสีขาวสะอาดในเวลาต่อมา

แนวคิด ‘ยิ่งขาวยิ่งสวย’ ของวิงเคิลมันน์ทำให้เขาปฏิเสธหลักฐานสำคัญร่วมสมัยที่แย้งว่าศิลปะยุคคลาสสิกอาจไม่ได้มีสีขาวบริสุทธิ์อย่างที่เข้าใจ ในศตวรรษที่ 18 เมืองปอมเปอีถูกค้นพบขึ้นทางตอนใต้ของอิตาลี เมืองนี้ถูกฝังอยู่ใต้เถ้าลาวาจากการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียสจึงถูกเก็บรักษาในสภาพเกือบสมบูรณ์ หากมองกันด้วยตา งานศิลปะที่พบในเมืองปอมเปอีเต็มไปด้วยสีสัน มีหลักฐานกระทั่งภาพวาดของศิลปินที่กำลังใช้พู่กันลงสีงานประติมากรรมต่างๆ วาดไว้บนผนัง เราจึงตีความกันได้ว่าชาวโรมันไม่ได้ทิ้งรูปปั้นไว้ขาวๆ เปล่าๆ อย่างที่คิด หากพวกเขาลงสีตกแต่งพวกมันให้มีสีหน้าและท่าทางใกล้เคียงกับบุคคลในชีวิตจริงมากที่สุด

หุ่นจำลองรูปปั้นโรมันมีสี

รูปปั้นโรมันที่ถูกพบแบบมีสี

รูปปั้น David ของ Michelangelo นำเสนอรูปปั้นกรีกแบบไม่มีสีตามที่ศิลปินในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาเข้าใจ

น่าสนใจว่าบรรดารูปปั้นที่ถูกพบแบบลงสีแล้วถูกปฏิเสธจากวิงเคิลมันน์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย พวกเขากล่าวว่างานศิลปะที่มีสีเป็นศิลปะที่ถูกทำขึ้นก่อนหน้ายุคกรีก-โรมันเลยยังไม่พัฒนาจนมีสีขาวสะอาดต่างหาก

ข้อมูลที่ค้นพบไม่เพียงถูกวิงเคิลมันน์และพรรคพวกปัดตก หลักฐานบางอย่างยังถูกทำลายเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ขาวสะอาดอย่างที่ต้องการ เช่น รูปปั้น Augustus of Prima Porta ที่ทุกวันนี้เราเห็นว่าเป็นสีขาว แต่หลักฐานแรกเริ่มกล่าวว่ารูปปั้นนั้นมีสีแดง สีเหลือง และสีม่วง เราไม่รู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับรูปปั้นหลังถูกค้นพบในศตวรรษที่ 19 เป็นไปได้ว่าสีที่ติดมาอาจจางลงหลังพบเข้ากับความชื้นในอากาศ หรือไม่แน่ว่ารูปปั้นอาจถูกขัดขาวด้วยความเชื่อใน White Utopia เช่นเดียวกับโบราณวัตถุจำนวนมากของ British Museum

ภาพกรุงโรมที่วาดโดยศิลปินยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาซึ่งคิดว่าเมืองคงมีสีขาว แต่จริงๆ สถาปัตยกรรมของเมืองมีการทาสีแต่สีหลุดออกตามกาลเวลา

ซากอารยธรรมโรมันที่ปรากฏในปัจจุบัน / ภาพ walksinrome.com

 

แยกคนขาวจากคนดำ วรรณกรรมที่ฉาวโฉ่ที่สุดในยุคล่าอาณานิคม

สีขาวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเมื่อประเทศในยุโรปเข้าสู่ยุคล่าอาณานิคมเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะเมื่อควีนวิกตอเรีย ราชินีแห่งอังกฤษในศตวรรษที่ 19 ริเริ่มแฟชั่นชุดแต่งงานสีขาวและทำให้มันกลายเป็นที่นิยมของชนชั้นสูง สีขาวในความหมายของควีนวิกตอเรียหมายถึงความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของหญิงสาวที่กำลังก้าวเข้าสู่ประตูวิวาห์ ทั้งยังแสดงว่าครอบครัวของเจ้าสาวมีฐานะจึงสามารถซื้อชุดแต่งงานที่อาจเปื้อนง่ายให้ลูกสาวได้ ส่วนการใส่สีขาวในชีวิตประจำวันก็ย้ำเตือนสถานะความเป็นชนชั้นสูงผู้ไม่ต้องหยิบจับงานอะไรที่อาจทำให้ชุดสกปรก หรือแม้จะสกปรกก็มีคนดูแลรักษาชุดให้ นั่นเป็นเหตุผลที่เกิดคำว่า White Collar ที่สื่อถึงบุคคลที่ทำงานนั่งโต๊ะหรือมีตำแหน่งในสังคมค่อนไปทางสูงนั่นเอง

ควีนวิกตอเรียในชุดแต่งงานสีขาว

นอกจากการแสดงถึงฐานะ สีขาวยังแฝงไว้ด้วยนัยยะด้านชาติพันธุ์และการกดขี่ ในปี 1899 ภาระคนขาว หรือ The White Man’s Burden ของ Rudyard Kipling คือหนึ่งในบทกวีที่ทรงอิทธิพล สะเทือนความคิดคนในสังคม และกลายเป็นนโยบายรัฐที่สร้างความเสียหายให้ชนพื้นเมืองจำนวนมาก

 

“จงรับภาระของคนขาว 

ส่งคนที่ดีที่สุดในเผ่าพันธุ์ออกไป 

จงไป ส่งบุตรของคุณออกไป

เพื่อสนองความต้องการของผู้ถูกจับ

คอยบริการในบังเหียนที่แสนหนักอึ้ง 

ผู้คนที่กระวนกระวายและป่าเถื่อน

บรรดาผู้คนแสนเศร้าสร้อยที่เพิ่งจับได้

ครึ่งปีศาจครึ่งเด็ก”

(สำนวนแปลโดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์)

 

คิปลิงซึ่งเป็นคนอังกฤษเขียนบทกวี The White Man’s Burden หรือชื่อเต็มอย่างเป็นทางการว่า The White Man’s Burden: The United States and the Philippine Islands. เพื่อให้คนอเมริกันรวมถึงภรรยาชาวอเมริกันของเขาอ่าน ส่วนคำว่า ‘ครึ่งปีศาจครึ่งเด็ก’ ที่ปรากฏในกวีนั้นหมายถึงชาวพื้นเมืองฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังต่อสู้ทวงคืนอิสรภาพจากสหรัฐอเมริกา

ผลงานของคิปลิงถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The Time (London) ในเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 1899 ตามมาด้วย หนังสือพิมพ์ The New York Sun ในเช้าวันต่อมา กวีบทนี้ถูกนำไปอ่านในที่ประชุมอภิปรายวุฒิสมาชิกของสหรัฐฯ เพื่อขอเสียงสนับสนุนในการเดินหน้าใช้กำลังควบคุมฟิลิปปินส์ ส่วนในอังกฤษ กวีของคิปลิงถูกตีความว่าชาวอังกฤษนั้นเป็นผู้รับภาระจากพระเจ้าให้ขยายอาณาจักรของพระองค์บนโลก เป็นการกระทำเพื่อนำ ‘ความซิวิไลซ์’ ไปสู่ประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนของประเทศนั้นๆ ในท้ายสุด

ในช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 อังกฤษซึ่งเป็นผู้นำของแนวคิดนี้สามารถขยายเขตอำนาจจากเส้นเมดิเตอเรเนียนที่เมืองกรีนิช ข้ามไปยังแอฟริกา ปาเลสไตน์ อินเดีย ไปจนถึงออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกมากมาย จนทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุคของควีนวิกตอเรียซึ่งดินแดนในปกครองของจักรวรรดิอังกฤษกว้างใหญ่ไพศาลจนแม้แต่อาณาจักรโรมันโบราณก็ไม่สามารถทาบรัศมีได้

ควีนวิกตอเรียกับคนรับใช้ชาวอินเดีย

คิปลิงเชื่อว่าเมื่ออังกฤษหมดรัศมีไป ประเทศที่ขึ้นมายิ่งใหญ่เป็นผู้นำโลกแทนที่จะต้องเป็นสหรัฐอเมริกาโดยมีอังกฤษเป็นพันธมิตร ซึ่งหากไม่ใช่พันธมิตรที่เป็นรองก็ต้องเป็นพันธมิตรที่เป็นมิตร ทั้งสองประเทศจะควบคุมโลกในฐานะเจ้านายผู้อารี

แนวคิดของคิปลิงพัฒนามาจากประสบการณ์ตรง เขาเกิดในประเทศอินเดียซึ่งตอนนั้นเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คิปลิงมองว่าจักรวรรดิของคนขาวมีพันธกิจคือการมอบอารยธรรมให้กลุ่มคนล้าหลังที่มีสภาพไม่ต่างจาก ‘ครึ่งปีศาจครึ่งเด็ก’ การสร้างจักรวรรดินั้นจึงมาจากความหวังดี เป็นภารกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของชาติใดชาติหนึ่ง และไม่ได้หวังคำขอบคุณจากชาวพื้นเมืองซึ่งไม่ตระหนักว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่ได้อยู่ใต้การปกครองของคนขาว

ภารกิจของคนขาวในยุคที่บทกวีนี้ถูกเขียนอาจแทนความรู้สึกที่มีเกียรติของคนทั้งประเทศ หากปัจจุบันที่โลกกระแสหลักเชื่อในความหลากหลาย บทกวีของคิปลิงก็คือความอับอายดีๆ นี่เอง

 

แยกคนทั่วไปออกจากงานศิลป์ เมื่อศิลปินบูชาทุกสิ่งที่เป็นสีขาว

James Abbott McNeill Whistler ศิลปินผู้ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 19 เจ้าของวาทกรรม ‘ศิลปะเพื่อความเป็นศิลปะ’ (Art for Art’s Sake) เป็นอีกหนึ่งคนที่นำสีขาวมาใช้เพื่อขีดเส้นแบ่งระหว่างโลกของคนธรรมดากับโลกของคนที่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณงานศิลป์ ในปี 1862-1867 วิสต์เลอร์วาดภาพสตรีในชุดขาวจำนวนสามภาพโดยใช้ชื่อซีรีส์ว่า Symphony in White ภาพวาดของวิสต์เลอร์เป็นที่โด่งดังในวงสังคมชั้นสูง หลายคนคิดว่าศิลปินอาจนำแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมที่กำลังโด่งดังของ Wilkie Collins เกี่ยวกับผู้หญิงปริศนาในชุดขาว เรื่อง The Woman in White

James Whistler’s Symphony in White no.1 (The White Girl), 1862

James Whistler’s Symphony in White no.2 (The Little White Girl), 1864

James Whistler’s Symphony in White no.3

ยังไงก็ดี หลายคนมองภาพนี้แล้วบอกว่าไม่ใช่ ผู้หญิงในภาพไม่ใช่สตรีที่ได้รับคำบรรยายไว้ในวรรณกรรม ถ้าอย่างนั้นเธอเป็นใคร? ทำไมถึงสวมเสื้อผ้าสีขาว? เธอกำลังคิดอะไรอยู่? ผู้หญิงคนนี้แต่งงานหรือยัง? หรือกำลังจะเข้าพิธีแต่งงาน? ชุดสีขาวกับดอกไม้ที่หล่นอยู่บนพื้นต้องการสื่อถึงอะไร? หรือศิลปินกำลังเปรียบเทียบเธอกับพระแม่มารี?

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ภาพวาดสตรีในชุดขาวเป็นกระแสไปไกล ในขณะที่ทุกคนต้องการคำตอบ วิสต์เลอร์กลับเงียบ ความเงียบของเขาทำให้ภาพที่ว่าถูกตีความไปมากกว่าเดิม 

ความจริงแล้วภาพวาดของวิสต์เลอร์ต้องการสื่อถึงอะไร คำอธิบายหนึ่งในวงการศิลปะกล่าวว่าศิลปินอาจไม่ได้ต้องการกล่าวถึงชีวิตของผู้หญิงในภาพ ในทางกลับกันหัวข้อที่วิสต์เลอร์สนใจคือการนำสีขาวมาบอกเล่าผ่านเฉดสีต่างๆ บนผืนผ้าใบโดยใช้สตรีเป็นแค่ส่วนประกอบ 

James Whistler

ความหลงใหลในสีขาวกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิสต์เลอร์ เขาไปไหนมาไหนในชุดสีขาว สวมถุงเท้าขาว เลี้ยงหมาพันธุ์ปอมเมอเรเนียนสีขาว และยังมีผมขาวกระจุกใหญ่อยู่บนศีรษะ ที่น่าสนใจกว่านั้นคือวิสต์เลอร์เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่แบ่งแยกสถานที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะออกจากอาคารทั่วไปโดยใช้พื้นที่สีขาว 

ในปี 1883 วิสต์เลอร์เปิดนิทรรศการใหม่โดยใช้สีขาวเป็นธีมหลัก ห้องสำหรับจัดงานถูกทาด้วยสีขาว กรอบรูปทั้งหมดมีสีขาว ภาพวาดทั้งหมดอยู่ในโทนสีโมโนโทน เขาจัดวางผลงานให้อยู่ห่างกันมากเพื่อให้สถานที่จัดงานดูเหมือนว่างเปล่า วิสต์เลอร์สนุกกับการควบคุมพื้นที่ของเขามากถึงขนาดจัดให้สตาฟในงานทุกคนต้องสวมชุดสีเหลือง สั่งทำเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับห้องสีเหลืองเข้าชุดกัน และเมื่อเห็นสีเหลืองเดินไปเดินมาในห้องสีขาวเขาก็เลยเรียกบรรดาสตาฟของเขาว่ามนุษย์ไข่ลวก (the poached egg man) 

แน่นอนว่าผู้เข้าชมงานศิลปะต้องรู้สึกแปลกแยกและอาจไม่สบายใจที่ต้องเดินไป-มาในห้องบรรยากาศแปลกประหลาด แต่นั่นคือสิ่งที่ศิลปินต้องการ เขาเปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาให้เป็นงานศิลปะ แยกมันออกจากโลกแห่งความจริงเพื่อต้อนรับเฉพาะแขกพิเศษที่มีรสนิยมเข้าใจงานศิลป์เพียงเท่านั้น แนวคิดการจัดพื้นที่สำหรับงานศิลป์โดยใช้สีขาวกลายเป็นแรงบันดาลใจของอาร์ตแกลเลอรีในยุคต่อมา ต้องยอมรับว่าสีขาวสามารถสร้างบรรยากาศบันดาลใจ มันเป็นสีแห่งความว่างเปล่าจึงเปิดกว้างให้จินตนาการและความเป็นไปได้ แต่ในทางกลับกัน แม้สีขาวจะดูสะอาด สงบ สบายตา แต่ก็ตามมาด้วยความรู้สึกกดดันและเย็นชาด้วยเหมือนกัน

สีขาวกลายเป็นสีแห่งโลกศิลปะ มันกลายเป็นสีหลักของการสร้างงานศิลป์ในยุคต่อมา ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่ผลงานศิลปะจำนวนมากถูกสร้างมาให้เป็นสีขาวโดยมีรูปลักษณ์และเรื่องราวที่น้อยคนจะเข้าใจ Marcel Duchamp ศิลปินชื่อดังถึงขั้นล้อเลียนวงการศิลปะนิยมสีขาวด้วยการนำ ‘โถส้วม’ สีขาวไปจัดแสดง สร้างความสับสนให้ผู้คนที่ไม่แน่ใจว่าสิ่งของตรงหน้าพยายามสื่ออะไร ดูว์ช็องเล่นตลกกับภาวะอัตวิสัยของศิลปินและการตัดสินใจให้อะไร ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ งานศิลปะ ในขณะที่จัดแสดงผลงานชิ้นนี้ก็มีข้อความน่าสนใจที่ศิลปินซ่อนไว้ คือการล้อเลียนประวัติศาสตร์แสนยิ่งใหญ่ในวงการศิลปะของสีขาว

Marcel Duchamp’s Fountain (1917)

 

แยกเขาออกจากเรา สีขาวในอุดมคติของฟาสซิสต์ยุคมุสโสลินี

“I found Rome a city of bricks and left it a city of marble.” 

คำกล่าวดังของจักรพรรดิออกัสตุสผู้ปกครองอาณาจักรโรมันราว 63 ปีก่อนคริสต์ศักราช กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำของอิตาลีหลายพันปีให้หลังอย่าง Benito Mussolini ในปี 1934 หลังมุสโสลินีขึ้นมามีอำนาจเบ็ดเสร็จเขามองตัวเองเป็นร่างทรงของระบบจักรพรรดิในศตวรรษที่ 20 และต้องการนำอิตาลีกลับไปสู่วันวานแห่งความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมันอีกครั้ง เขาหลงใหลในภาพลักษณ์เมืองหินอ่อนสีขาวและเริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างมากมายในกรุงโรมเพื่อเชิดชูศิลปะแบบโรมัน

หนึ่งในสิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นที่จดจำมากที่สุดในยุคมุสโสลินีคือเสาโอเบลิสก์หินอ่อนสีขาวล้วนทำจากหินอ่อนไวต์คาร์ราร่าจากแถบทัสคานีของอิตาลี และสลักชื่อของเขาต่อท้ายด้วยคำว่า dyx หมายถึงผู้นำ หินอ่อนที่ว่านี้มีสีขาวบริสุทธิ์เพราะมีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนผสมมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์

มุสโสลินีเปรียบตัวเองเป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันยุคใหม่

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคือการสร้างสนามกีฬาหินอ่อนสีขาวเพื่อเชิดชูความสามารถด้านการกีฬาของอาณาจักรโรมัน ภายในติดตั้งรูปปั้นถึง 59 ชิ้นเพื่อสื่อถึงจังหวัดต่างๆ ของอิตาลี รูปปั้นนักกีฬาเหล่านี้คือประชากรอิตาลีที่มุสโสลินีคาดหวัง พวกเขากำยำ แข็งแกร่ง และที่สำคัญคือ ‘มีผิวสีขาว’ ดังที่มุสโสลินีกล่าวถึงคนอิตาลีในสุนทรพจน์เมื่อปี 1935 

“อิตาลีเป็นชาติแห่งบทกวี ศิลปะ วีรบุรุษ นักบุญ นักคิด นักวิทยาศาสตร์ นักสำรวจ และผู้ค้นพบ”

สีขาว

สำหรับผู้นำผู้ทะเยอะทะยานจนบ้าคลั่ง อะไรล่ะที่จะสื่อถึงชนชาติยิ่งใหญ่อย่างอิตาลีที่สืบเชื้อสายมาจากอาณาจักรโรมันได้ดีไปกว่าหินอ่อนสีขาวบริสุทธิ์

 

มาถึงตรงนี้ คำว่า ‘บริสุทธิ์’ อาจไม่ใช่คำจำกัดความที่ดีที่สุดสำหรับสีขาว

สีขาวแปดเปื้อนไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคหนึ่ง ถูกยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของการตื่นรู้ทางปัญญา และเคยถูกมองว่าเป็นของชนชั้นสูงเท่านั้น มีไว้สำหรับผู้เข้าใจศิลปะจนถูกนำมาล้อเลียนเสียดสี สีขาวของมุสโสลินีสื่อถึงคนอิตาลีตามอุดมคติ เป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม แต่เหมือนๆ กันไปหมด แถมเต็มไปด้วยข้อจำกัดและออกจะน่าอึดอัดด้วยซ้ำไป 

เราได้เห็นพัฒนาการและเรื่องราวของสีขาวผ่านประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สีที่ดูเหมือนจะว่างเปล่าแต่แฝงด้วยสีดำหรือเรื่องเลวร้ายในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการได้มาซึ่งสีที่ขาวที่สุดที่จำเป็นต้องกำจัดและกีดกันสิ่งใดก็ตามที่สร้างรอยด่างให้หมดไป สีขาวคือเรื่องราวและภาพสะท้อนของความเป็นมนุษย์ มันเห็นแก่ตัว แบ่งแยก และเต็มไปด้วยอคติ แต่ก็มีมิติที่น่าศึกษา ค้นหา และที่สำคัญที่สุดคือน่าจดจำ


อ้างอิง

ซัตเทอร์แลนด์, จอห์น. วรรณกรรม: ประวัติศาสตร์เรื่องเล่าแห่งจินตนาการ. กรุงเทพฯ: บุ๊คสเคป, 2561. (273-276)  

asia.si.edu

enotes.com

fiveminutehistory.com

hisour.com

openculture.com

shutterstock.com

smithsonianmag.com

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที