สีดำ อำนาจ และการต่อต้าน ว่าด้วยประวัติศาสตร์รสขมอมหวานของสีดำ 

Highlights

  • สีดำถูกพูดถึงทั้งในแง่ดีและร้ายตลอดประวัติศาสตร์ ในภาษาละติน คำว่า สีดำ (ater) มีความเกี่ยวข้องกับความชั่วร้าย (atrocious) และ ปีศาจ (atrocity) ภาพวาดปีศาจในศิลปะยุคแรกมักถูกถ่ายทอดโดยใช้สีดำ โดยแฝงความหมายถึงความตายและความเศร้า
  • สีดำถูกนำมาใช้เพื่อการไว้ทุกข์อย่างกว้างขวางในยุควิกตอเรียน เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของควีนวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี 1861 ราชินีไม่เคยทำใจและใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการไว้ทุกข์กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 1901 ยุคสมัยที่ยาวนานแต่เปล่าเปลี่ยวของพระองค์ถูกเรียกกันว่า The Mourning Era (ยุคแห่งการไว้ทุกข์)
  • ศตวรรษที่ 20 สีดำได้ถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านการตีความทางแฟชั่นโดยCoco Chanelเจ้าแม่วงการแฟชั่นที่ปลดแอกสาวๆ และสลัดคราบสีดำจากการไว้ทุกข์ในยุคก่อนหน้า มาสู่ความหรูหรา มีสไตล์ กลายมาเป็นค่านิยมใหม่ของสีดำ
  • Karl Lagerfeld กล่าวถึงเหตุผลที่สีดำกลายเป็นสียอดนิยมของศตวรรษที่ 21 ไว้ว่าสีดำเป็นสีที่ใส่ได้กับทุกอย่าง ถ้าคุณใส่สีดำ ก็รับประกันได้ว่าคุณปลอดภัย

“ผมใช้เวลาร่วม 40 ปีเพื่อค้นพบว่าราชินีของทุกสีคือสีดำ”

ปีแยร์–โอกุสต์ เรอนัวร์ จิตรกรชาวฝรั่งเศสกล่าวถึงสีดำว่าเป็นเจ้าแม่ของทุกมวลสี 

‘สีดำ’ มีที่มาและจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปไกลพอๆ กับประวัติศาสตร์การมีอยู่ของมนุษยชาติ ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ภาพวาดฝาผนังถ้ำมักถูกวาดด้วยสีดำเพราะเป็นสีที่ทำขึ้นได้ง่ายจากคาร์บอนและแร่เหล็ก การจดบันทึกต่างๆ มักเขียนด้วยหมึกดำเขียนลงบนพื้นหลังสีขาว และในวันแรกที่มีการค้นพบการพิมพ์ ‘สีดำ’ ก็เป็นหมึกพิมพ์สีแรกที่ถูกพัฒนานำมาใช้

สีดำถูกพูดถึงทั้งในแง่ดีและร้ายตลอดประวัติศาสตร์ ในภาษาละติน คำว่า สีดำ (ater) มีความเกี่ยวข้องกับความชั่วร้าย (atrocious) และ ปีศาจ (atrocity) จึงไม่น่าแปลกใจที่ภาพวาดปีศาจในศิลปะยุคแรกมักถูกถ่ายทอดด้วยสีดำ โดยแฝงความหมายถึงความตายและความเศร้า

คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความมืดนั้นมีมาก่อนแสงสว่าง (Darkness was present before light.) ดังนั้นจึงมีการตีความว่าสีดำเป็นสีแรกที่เกิดขึ้นในโลก นักบวชในศาสนาแต่งกายสีดำเพื่อแสดงถึงความนอบน้อม การละแล้วซึ่งทางโลกเพื่อปฏิบัติตนตามกฎของศาสนา พระในยุคกลางบางกลุ่มเช่นนักบวชเยสุอิตที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำยังทำหน้าที่เป็นนักรบเพื่อปกป้องศาสนา ทำให้สีดำถูกผูกโยงเข้ากับศรัทธา ความกล้า และความเสียสละ เชื่อกันว่าเครื่องแบบของนักบวชเยสุอิต เป็นต้นแบบของเครื่องแบบทหารปรัสเซีย (แคว้นหนึ่งในเยอรมนี) ที่แต่งกายสีดำเพื่อเตือนใจให้ตนเองระลึกถึงความตาย สื่อความหมายว่าพวกเขาพร้อมสละชีพเพื่อชาติเสมอ 

ในมุมมองของวรรณกรรม การใช้สีดำมักสื่อถึงเรื่องลึกลับและความไม่แน่นอน ยกตัวอย่างเช่น อัศวินเกาะดำในนิยายของ Walter Scott เรื่อง Ivanhoe (1819) กล่าวถึงอัศวินปริศนาในเกราะสีดำที่มักเข้าช่วยเหลือตัวเอกของเรืองโดยไม่เปิดเผยตัวตน หรือ นิยายสยองขวัญของ Susan Hill เรื่อง The Women in Black (1983) กล่าวถึงผีหญิงชุดดำที่ปรากฏตัวพร้อมความแค้นและเรื่องราวดำมืดเบื้องหลังความตายที่เป็นปริศนา 

ในด้านแฟชั่น สีดำไม่ใช่สีที่ได้รับความนิยมโดยชนชั้นสูงช่วงยุคกลาง เนื่องจากชนชั้นสูงมักแสดงออกด้านเงินทองและอำนาจด้วยการหาซื้อเสื้อผ้าสีสันสดใสที่หาได้ยากและมีราคาแพง แนวคิดนี้เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงศตวรรษที่ 14 เมื่อมีการคิดค้นเทคนิคการย้อมสีดำคุณภาพดีที่สามารถย้อมสีได้ดำสนิท และเนื่องจากบางประเทศในยุโรปออกกฎหมายสงวนการสวมเสื้อผ้าบางสีให้เป็นสิทธิเฉพาะของชนชั้นสูง (เช่นผ้าสีแดงสดจากเวนิส และผ้าสีฟ้าเข้มขนนกยูงจากฟลอเรนซ์) ทำให้ชนชั้นกลางที่มีเงินมากอย่างชนชั้นพ่อค้า หาทางออกด้วยการหันมาใส่สีดำสนิท แต่ใช้ผ้าและวัตถุดิบอย่างดีที่สุดแทน ในยุคนั้นชุดเครื่องแบบของข้าราชการมักนิยมใช้สีดำ การแต่งกายด้วยสีนี้จึงมีนัยสื่อว่าบุคคลผู้นั้นมีความสำคัญในชุมชน 

เมื่อสีดำได้รับการตีความใหม่ ชนชั้นสูงก็หันกลับมาสนใจและเลือกสวมเสื้อผ้าสีดำกันมากขึ้น พัฒนาการความนิยมเสื้อผ้าสีดำเริ่มต้นในอิตาลีโดยมีดยุกแห่งมิลานและเคานต์แห่งซาวอยเป็นผู้ปั่นกระแส แฟชั่นสีดำเดินทางมาถึงฝรั่งเศสในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 6 (โดยมีน้องชายของพระองค์เป็นผู้นำด้านแฟชั่น) เดินทางถึงอังกฤษในปลายรัชสมัยของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ต่อมากลายเป็นสีที่ราชสำนักสเปนนิยมมากที่สุด พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 และพระโอรสของพระองค์–พระเจ้าฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน สวมใส่สีดำแทบจะตลอดเวลาและเปลี่ยนให้สีดำกลายเป็นสีประจำของราชวงศ์ฮาบส์บวร์กสายสเปน

บรรดาชนชั้นปกครองมอบความหมายใหม่ให้สีดำในฐานะสีแห่งอำนาจ เกียรติยศ ความอ้อนน้อมถ่อมตนและความประหยัดรู้จักประมาณตน น่าสนใจว่าสีดำสื่อสารถึงสองสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง–อำนาจและการอ้อนน้อม เกียรติยศและการประมาณตน สิ่งนี้ถือเป็นบุคลิกของสีดำที่ก้าวล้ำกว่าสีอื่น คือเป็นสีที่สื่อสารทั้งในเชิงพลังอำนาจแต่กลับไม่ต้องการเรียกร้องความสนใจ  

จอร์เจีย โอคีฟ ศิลปินชาวอเมริกัน กล่าวถึงสิทธิพิเศษของสีดำว่า “มันเป็นสีที่เป็นที่ซ่อนให้คุณได้” (You feel hidden away in it.) ต่างจากสีน้ำเงินที่เป็นสัญลักษณ์ทั่วไปสื่อถึงความสงบ น่าเชื่อถือ และสีแดงที่หมายถึงความหลงใหล ความปรารถนา สีดำสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่บอกอะไรเลย 

ควีนวิกตอเรีย

สีดำถูกนำมาใช้เพื่อการไว้ทุกข์อย่างกว้างขวางในยุควิกตอเรียน เมื่อเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของควีนวิกตอเรียสิ้นพระชนม์ในปี 1861 ราชินีไม่เคยทำใจและใช้ชีวิตที่เหลือไปกับการไว้ทุกข์กระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 1901 ยุคสมัยที่ยาวนานแต่เปล่าเปลี่ยวของพระองค์ถูกเรียกกันว่า The Mourning Era (ยุคแห่งการไว้ทุกข์) 

เป็นเวลาร่วม 40 ปี ที่การไว้อาลัยของราชินีกลายเป็นประเพณีที่ผู้คนในอังกฤษต้องถือปฏิบัติ และยิ่งคุณอยู่ใกล้ราชินีมากเท่าไหร่ คุณยิ่งต้องเล่นใหญ่มากเท่านั้น ชนชั้นสูงอังกฤษใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับงานศพ เสื้อผ้า และเครื่องประดับประกอบการไว้อาลัย นิตยสารขวัญใจแม่บ้านอย่าง The Queen and Cassell’s กล่าวถึงการไว้อาลัยว่า ต้องส่วมใส่สีดำ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณและความเศร้าหมอง ชุดสำหรับไว้อาลัยต้องทำจากผ้า parramatta silk หรือ bombazine ส่วนเครื่องประดับสำหรับไว้ทุกข์อนุโลมให้ใช้อำพันสีดำ อย่างไรก็ดีกฎมากมายเรื่องการแต่งกายไว้ทุกข์ของยุคนี้เคร่งครัดแค่กับผู้หญิงหรือแม่ม่าย เด็กไม่จำเป็นต้องแต่งไว้ทุกข์หรืออาจสวมแค่ชุดสีขาว ในขณะที่สุภาพบุรุษแค่สวมสูทสุภาพสีดำกับถุงมือและคราแวต (ผ้าพันคอชนิดหนึ่งที่นิยมพันรอบคอ) สีดำเป็นใช้ได้

แม่ม่ายในยุคนั้นต้องไว้ทุกข์กันนานราวสองปี แบ่งเป็นสามช่วง คือ full mourning, second mourning และ half mourning  ช่วง full mourning มีระยะเวลา 1 ปี กับอีก 1 วัน แม่ม่ายจะต้องแต่งดำล้วน ละการใส่เครื่องประดับและเว้นการออกจากบ้านหรือร่วมงานสังคม ส่วนสำคัญของเครื่องแต่งกายในระยะนี้คือผ้าคลุมหน้าสีดำ การแต่งกายแบบนี้บังคับให้แม่ม่ายละทิ้งชีวิตบันเทิงและใช้เวลากับการสวดมนต์ภาวนาให้สามีผู้ล่วงลับแต่ยังมีข้อยกเว้นให้กับแม่ม่ายที่ไม่มีเงินเลี้ยงดูลูก สามารถออกทุกข์และแต่งงานใหม่ได้หลังสามีตายไปแล้ว 6 เดือน ส่วนแม่ม่ายที่สามีห่างบ้านเกินปี (ไปรบหรือไปค้าขาย) หรือป่วยเป็นโรคร้ายเป็นเวลานาน สามารถออกจาก full mourning ได้ในเวลา 6 เดือน

second mourning ยาวนานต่อมาอีก 9 เดือน แม่ม่ายสามารถเปิดผ้าคลุมหน้าได้ และสามารถสวมเครื่องประดับได้เล็กน้อย เหล่าแม่ม่ายสามารถกลับมาใช้ชีวิตและพบปะผู้คนได้ตามปกติแต่ยังต้องบังคับให้สวมใส่แค่เครื่องแต่งกายสีดำ แม่ม่ายจะสามารถกลับมาสวมใส่เสื้อผ้าโทนสุภาพ เช่น สีเทา สีม่วงลาเวนเดอร์ และสีขาวได้บ้างในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการออกทุกข์หรือที่เรียกกันว่า half mourning 

Little Black Dress

โคโค่ ชาแนล

จากยุควิกตอเรียนมาจนถึงศตวรรษที่ 20 สีดำได้ถูกนำมาเล่าใหม่ผ่านการตีความทางแฟชั่นที่กลายเป็นโคตสั้นๆ อย่าง LBD หรือ Little Black Dress หมายถึงชุดกระโปรงสั้นสีดำ รูปแบบเรียบง่ายแต่ใส่ได้ทุกงาน คำนิยามใหม่ของสีดำที่ถูกรีไรต์โดย Coco Chanel เจ้าแม่วงการแฟชั่นที่นอกจากจะปลดแอกสาวๆ ออกจากการสวมใส่คอร์เซตรัดทรงมาสู่เสื้อผ้าตัวหลวมสวมใส่สบาย เธอยังสลัดคราบสีดำจากการไว้ทุกข์ในยุคก่อนหน้า มาสู่ความหรูหรา มีสไตล์ ซึ่งกลายมาเป็นค่านิยมใหม่ของสีดำ ชาแนลกล่าวว่า “สีดำเอาชนะทุกสิ่งรอบๆ ตัวได้” (Black wipes out everything else around.) สีดำไม่ได้เป็นที่นิยมเฉพาะกับผู้หญิงเท่านั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักร (ต่อมาสละราชสมบัติและได้รับยศเป็นดยุกแห่งวินเซอร์) ทรงสั่งให้ตัดทักซิโดของพระองค์เป็นสีน้ำเงินเข้ม (very dark midnight blue) เนื่องจากสีดำเมื่อโดนแสงไฟแล้วจะทำให้มีสีออกเขียว แต่สีน้ำเงินเข้มเมื่อต้องแสงไฟจะทำให้ดูคล้ายสีดำมากกว่า Karl Lagerfeld กล่าวถึงเหตุผลที่สีดำกลายเป็นสียอดนิยมของศตวรรษที่ 21 ไว้ว่า “สีดำเป็นสีที่ใส่ได้กับทุกอย่าง ถ้าคุณใส่สีดำ ก็รับประกันได้ว่าคุณปลอดภัย

ดยุกแห่งวินเซอร์

แต่ก็ใช่ว่าสีดำจะทรงคุณค่าแค่ในเชิงความหรูหราและแฟชั่น สีดำยังถูกนำมาใช้ในฐานะตัวแทนความรู้สึกต่อต้านผู้ถือครองอำนาจรัฐ 

“ฉันสวมสีดำเพื่อคนจนและผู้ถูกรังแก พวกเขาที่อาศัยในมุมหนึ่งอย่างสิ้นหวังและหิวโหย ฉันสวมสีดำเพื่อนักโทษที่ใช้กรรมเป็นเวลานาน ความผิดเดียวของเขาคือเกิดผิดที่อยู่ผิดเวลา” 

เนื้อร้องเพลง Man in Black ของ Johnny Cash นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวอเมริกันผู้ทรงอิทธิพล ตีแผ่มุมหนึ่งของสังคมและกลายเป็นแรงบันดาลใจในการใช้สีดำเพื่อเป็นการลุกขึ้นต่อต้านความอยุติธรรมของสังคม เป็นที่รู้กันว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนซึ่งมีความคิดแบบเดียวกัน สวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายสีเดียวกัน ข้อความของพวกเขาจะถูกผลักให้ดังชัดขึ้นยิ่งกว่าเก่า และในบรรดาสีสันที่เรารู้จักกันจนชินตา คงไม่มีสีไหนที่แสดงให้เห็นความรู้สึกต่อต้านได้ดีไปกว่าสีดำ

Thursdays in Black

ช่วงปี 1970 มีการนำสีดำมาเป็นสีหลักในการต่อต้านการใช้กำลังทางเพศ เรียกกันว่า  Thursdays in Black แคมเปญนี้เริ่มในแอฟริกาใต้ ก่อนแพร่กระจายกลายเป็นกระแสใหญ่ไปทั่วโลก การเลือกใช้สีดำของแคมเปญนี้เป็นตัวแทนแสดงความแข็งแกร่งและกล้าหาญของผู้เสียหายที่กล้าออกมาเปิดเผยเรื่องราวและทวงถามความยุติธรรมจากสังคม สีดำยังเป็นเครื่องหมายแสดงการท้าทายค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่นำไปสู่ปัญหาการข่มขืนในแอฟริกา แคมเปญที่ว่าเปิดให้คนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเพศใด อายุเท่าไหร่ หรืออาศัยอยู่ที่ไหน ร่วมกันแต่งกายสีดำทุกวันพฤหัสฯ

แคมเปญ #MeToo และ #Time’sUp ปรากฏการณ์รวมพลังต้านการคุกคามทางเพศที่โด่งดังไปทั่วโลกก็เลือกใช้สีดำในการแสดงออกถึงการต่อต้านปัญหายาวนานที่ฝังรากลึกในทุกภาคส่วนทางสังคม #Time’sUp ออกมากล่าวว่าการเลือกใช้สีดำของพวกเขานั้นหมายความว่าเรื่องที่พวกเขากำลังเรียกร้องนั้นมีความสำคัญเร่งด่วน สีดำยังเป็นสีที่สามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างเท่าเทียมเพราะเป็นสีที่ไม่ว่าใครก็ต้องมีในตู้เสื้อผ้า หมายความว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยเท่ากัน 

BlackLivesMatter

BlackLivesMatter

ไม่นานมานี้แคมเปญต่อต้านการเหยียดผิวและเลือกปฏิบัติในอเมริกา #BlackLivesMatter ที่โด่งดังไม่แพ้กัน ก็นำสีดำมาใช้ในการประท้วงเช่นเดียวกัน หนึ่งในมุมมองที่น่าสนใจของการเลือกใช้สีดำนอกไปจากความจริงจังและพลังที่มากับสี คือความจริงที่ว่าสีดำไม่ได้สื่อถึงความสุขหรือการเฉลิมฉลอง มันเป็นสีที่ทรงพลังและไม่ผิดกาลเทศะของการเรียกร้องที่มักมีที่มาจากความสูญเสีย

Michel Pastoureau ผู้เขียนหนังสือ Black: The History of a Color กล่าวว่าสีดำเป็นตัวแทนของอำนาจ และหมายถึงการต่อสู้เพื่อต่อต้านอำนาจด้วยเช่นกัน มันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้กันระหว่างสองขั้วความคิดที่แตกต่าง–อำนาจกับความอ่อนน้อม บาปกับความบริสุทธิ์ การยอมรับกับการต่อต้าน ความมั่งมีกับความขัดสน ความดีกับความชั่ว 

อย่างไรก็ดี ทั้งชื่อของสีและความหมายของมันล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นร่วมกันโดยมนุษย์ หากมองสีดำเป็นผลผลิตจากความทรงจำและประวัติศาสตร์ มันย่อมสามารถเปลี่ยนความหมายและการใช้งานได้ตามความต้องการของผู้ตีความตามแต่บริบท 

 

ภาพจาก

badisa.org.za
campaignlive.co.uk
dailymail.co.uk
en.wikipedia.org
hungertv.com
instagram.com
katetattersall.com
monovisions.com
scmp.com

อ้างอิง

artsandculture.google.com
owlcation.com
press.princeton.edu
sowetanlive.co.za
victorian-era.org

AUTHOR

ILLUSTRATOR

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา