เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ว่าด้วยนานาความหมายและประวัติศาสตร์ของ ‘สีเหลือง’

Highlights

  • สีเหลือง มีประวัติศาสตร์เกี่ยวพันกับมนุษย์มานานนับหมื่นปีและเคยถูกให้ความหมายทั้งดีและร้ายมามากมาย ตามความเชื่อในแต่ละยุคสมัย
  • จากความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณที่มองว่าสีเหลืองเป็นสีของแสงอาทิตย์และความเป็นนิรันดร์ เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของอาณาจักรโรมัน สีเหลืองก็พลันเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของโสเภณีและคนขี้เกียจ
  • ไม่กี่ปีมานี้ สีเหลืองเริ่มมีความหมายถึงความอาลัย เช่น การใช้ริบบิ้นสีเหลืองไว้อาลัยเด็กๆ ที่เสียชีวิตในเหตุเรือเซวอล ประเทศเกาหลีล่ม และริบบิ้นสีเหลืองยังถูกใช้สื่อความหมายด้านต่างๆ ตามบริบทของแต่ละประเทศด้วย

ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่าสีสันคือการนำเฉดต่างๆ มารวมกันเพื่อกำหนดนิยามและความหมาย ในบรรดาสีสันมากมาย ‘สีเหลือง’ เป็นตัวอย่างของการตีความเรื่องราวที่ต่างกันอย่างสุดขั้วตามช่วงเวลาและยุคสมัย

สีเหลืองปรากฏขึ้นครั้งแรกพร้อมๆ กับสีแดงในภาพวาดบนผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทั้งยังมีหลักฐานการใช้สีเหลืองจากแร่หรดาล (ochres) เพื่อตกแต่งร่างกายมนุษย์และภาพวาดตั้งแต่ 45,000 ปีก่อนคริสตกาล

ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าสีเหลืองและสีทองเป็นสัญลักษณ์ของแสงอาทิตย์ที่สาดส่องไปทุกหนแห่งและสัญลักษณ์ของความเป็นนิรันดร์ ดังนั้นการใช้สีเหลืองและทองในศิลปะของชาวอียิปต์โบราณจึงซ่อนแนวคิดความเป็นอมตะ พวกเขาเชื่อว่าผิวหนังและกระดูกของเทพเจ้าถูกสร้างด้วยทอง บรรดาเทพเจ้าจึงถูกแทนในภาพวาดด้วยสีเหลืองทองส่องประกาย ในขณะที่ผิวหนังของมนุษย์จะถูกระบายโดยใช้สีที่มีความสำคัญน้อยกว่าอย่างสีน้ำตาล

ในตำนานกรีกโรมัน สีเหลืองถูกเชื่อมโยงกับเทพเจ้าและดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน เฮลิออส เทพแห่งดวงอาทิตย์ สวมเสื้อคลุมสีเหลืองทรงรถม้าสีทองเทียมม้าสี่ตัวโลดแล่นไปทั่วท้องนภาท่ามกลางรัศมีสีเหลืองของดวงอาทิตย์ในเวลากลางวันที่สื่อความหมายถึงปัญญาที่ถูกส่งมอบมาจากเทพเจ้า

ในเชิงภาษา คำศัพท์เกี่ยวกับสีเหลืองถูกกล่าวถึงครั้งแรกในช่วงยุคหินใหม่ (อยู่ในช่วงเวลาประมาณ 10,200-4,500/2,000 ปีก่อนคริสตกาล) โดยมีการอ้างถึงสีเหลืองราวน้ำผึ้ง (yellow as honey) หรือสีเหลืองเหมือนข้าวสาลีสุก (yellow as ripe wheat)

จากสีของพระเจ้าสู่ความชั่วร้าย เมื่อสีเหลืองกลายเป็นเครื่องหมายของความหลอกลวง

ความหมายของสีเหลืองเริ่มปรากฏในเชิงลบเป็นครั้งแรกในช่วงปลายยุคกลาง (ราวศตวรรษที่ 15) โดยมีการกล่าวถึงสีเหลืองว่าเป็นสีของความอิจฉาริษยา ความหลอกลวง และผู้คิดคด การเปลี่ยนความหมายของสีเหลืองมาจากสองสาเหตุ สาเหตุที่หนึ่งคือองค์ความรู้ทางการแพทย์ในสมัยนั้นเชื่อว่าน้ำดี (ซึ่งมีสีเหลือง) เป็นเหตุผลทำให้คนอารมณ์ร้าย ไม่มั่นคง เจ้าคิดเจ้าแค้น และเจ้าเล่ห์

สาเหตุที่สองมาจากแนวคิดทางศาสนาที่มักวาดภาพคนบาปและอาชญากรสวมใส่เสื้อผ้าสีเหลือง ตัวละครที่ถูกพบเห็นในชุดเหลืองบ่อยที่สุดคือยูดาส คนทรยศผู้ชี้ตัวพระเยซูให้กับทหารโรมัน นอกจากนี้สีเหลืองในสมัยนั้นยังหมายถึงคนหลอกลวงหยาบช้า อันเป็นที่มาของรูปดาวเดวิดสีเหลืองซึ่งถูกใช้โดยนาซีเยอรมันเพื่อระบุตัวนักโทษชาวยิว

ในบางประเทศสีเหลืองถูกใช้เพื่อทาบนประตูบ้านของอาชญากรหรือผู้ต้องอาญาว่าเป็นกบฏ เมื่อ Jan Hus นักปรัชญาและบาทหลวงชาวเช็กซึ่งมีแนวคิดปฏิรูปศาสนาโดนตัดสินประหารชีวิต ตัวเขาถูกบังคับให้สวมชุดสีเหลืองก่อนถูกแห่ประจานและเผาทั้งเป็นต่อหน้าผู้คนมากมาย บทละครของเชกสเปียร์ในยุคหลังเองก็นำสีเหลืองมาใช้เพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครบนเวที แม้ว่าสีเหลืองจะไม่ได้แปลว่าตัวละครนี้ต้องรับบทร้ายเสมอไปแต่ก็ทำให้คนดูรับรู้ว่าอารมณ์ของบุคคลผู้นั้นไม่ปกติและมักอยู่ในอาการซึมเศร้า

 

สีเหลืองกับสตรี เมื่อสีนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการค้ากาม

สีเหลืองยังมีความหมายถึงการค้าบริการทางเพศ ประเด็นนี้ย้อนกลับไปไกลได้ถึงสมัยโรมัน เมื่อหญิงโสเภณีในยุคนั้นต้องย้อมผมเป็นสีเหลืองเพื่อบ่งบอกสถานะ ส่วนเหตุที่ต้องลงทุนย้อมผมเพราะผู้หญิงชาวโรมันส่วนใหญ่มักมีเส้นผมสีเข้ม ถึงอย่างนั้น เทคโนโลยีที่มีจำกัดในสมัยนั้นทำให้การย้อมผมจากสีเข้มให้เป็นสีอ่อนเป็นเรื่องยาก หญิงโสเภณีส่วนมากจึงนิยมแก้ปัญหาด้วยการหาวิกผมสีทองมาสวมใส่แทน

อันที่จริงกลุ่มชนในอาณาจักรโรมันที่มีเส้นผมสีทองส่วนใหญ่คือพวกทาสกวาดต้อนมาจากยุโรปเหนือ (หรือแถบสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน) มากกว่า และนอกจากเส้นผมสีเหลืองจะเป็นสัญลักษณ์ของโสเภณีแล้ว นักปราชญ์ในยุคนั้นยังกล่าวถึงผู้หญิงที่มีเส้นผมสีเหลืองหรือพยายามย้อมผมให้เป็นสีเหลืองว่า “เป็นพวกขี้เกียจและไร้ประโยชน์” ด้วย

ในจักรวรรดิรัสเซีย สีเหลืองถูกใช้เป็นเครื่องแบบอย่างเป็นทางการของโสเภณี แนวคิดนี้มาจากซาร์พอลล์ที่ 1 (1796-1801) กษัตริย์ที่โปรดความเป็นระเบียบและมักมอบยูนิฟอร์มให้กับทุกสรรพสิ่ง ยูนิฟอร์มสีเหลืองจึงถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าสีเหลืองมองเห็นได้ดีในความมืดซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สาวๆ ต้องปฏิบัติงาน

ต่อมาสีเหลืองถูกใช้แทนเอกสารประจำตัวของสาวๆ หรือที่เรียกกันว่า Yellow Card บัตรใบนี้บรรจุข้อมูลพื้นฐานของผู้ถือไม่ต่างจากบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตในยุคปัจจุบัน ที่พิเศษกว่านั้นคือบัตรประจำตัวของสาวๆ จะปรากฏข้อมูลทางการแพทย์และประวัติการรักษา ข้อมูลเหล่านี้ต้องได้รับการอัพเดตเดือนละสองครั้งและการตรวจเช็กสุขภาพจะทำกันที่สถานีตำรวจนั่นเลย

การจะได้มาซึ่งบัตรเหลืองหมายถึงสาวๆ ต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐ ระบบนี้ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเก็บภาษีแต่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์และการปกครองเป็นสำคัญ เพราะเมื่อใดที่หญิงสาวถูกขึ้นทะเบียน เจ้าของบัตรจะถูกริบพาสปอร์ตตัวจริงหรือ Resident Card ไว้เป็นของหลวง และจะต้องถือ Yellow Card เป็นเครื่องหมายแสดงตัวตนแทน

 

โปรดสวมชุดเหลืองให้ถูกเฉดสี ว่าด้วยสุภาพสตรีชุดเหลืองในอังกฤษ! 

น่าสนใจว่าความหมายของสีเหลืองเริ่มเปลี่ยนไปในยุควิกตอเรียนหลังกระแสโลกตะวันออกเริ่มเป็นที่นิยม ช่วงนั้นสินค้านำเข้าจากจีนมักมีสีเหลืองทำให้สีนี้เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นในภายหลัง (อย่างน้อยก็ในยุโรปตะวันตก) ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่าสีเหลืองเป็นสีที่ใกล้เคียงกับแสงสว่างมากที่สุดดังนั้นชุดสีเหลืองจึงควรถูกสวมใส่ในเวลากลางวัน เพราะมันดีต่อใจ ทำให้ผู้สวมใส่ดูเป็นคนสดใสอารมณ์ดี หนังสือแฟชั่นยุควิกตอเรียนยังกล่าวถึงการสวมใส่ชุดเหลืองว่า “ต้องเลือกให้ดี” เพราะสีเหลืองโทนเข้มควรสงวนไว้สำหรับสาวๆ ที่มีเส้นผมสีเข้ม ส่วนสาวๆ ผมสีอ่อน พวกเธอควรสวมแต่ชุดสีเหลืองที่เฉดใกล้สีทองหรือสีข้าวโพด

นอกจากนี้ยังมีกฎเหล็กของการสวมใส่สีเหลืองเฉดต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและช่วงเวลา ยกตัวอย่างเช่น สีเหลืองอ่อนค่อนไปทางขาวควรใส่แค่ในตอนกลางวันเท่านั้น เพราะมัน “ไม่สวยในแสงประดิษฐ์” (หมายถึงแสงอื่นๆ ที่ไม่ใช่แสงธรรมชาติ) และหากคุณอยากสวมสีเหลืองไปงานกลางคืน โปรดเลือกสีเหลืองที่มีเฉดใกล้เข้าไปกับสีทอง

 

“สีเหลืองช่างสวยงาม มันเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์” ว่าด้วยแวน โกะห์ ผู้เสกให้สีเหลืองโลดแล่นในวงการศิลปะ

ในบรรดาศิลปินชั้นนำของโลก คงไม่มีใครสามารถนำสีเหลืองมาสร้างสรรค์ได้สวยงามน่าจดจำเท่าศิลปินชาวดัตช์อย่าง Vincent van Gogh

สำหรับแวน โกะห์ สีเหลืองเป็นตัวแทนของดวงอาทิตย์และดอกไม้ เช่น ดอกทานตะวันที่เขารัก ซีรีส์ดอกทานตะวันที่โด่งดังถูกวาดขึ้นในวันที่แวน โกะห์ เริ่มจัดบ้านหลังใหม่ในเมือง Arles ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสเพื่อต้อนรับ Paul Gauguin เพื่อนศิลปินที่ตัดสินใจมาอยู่ร่วมชายคากับเขาเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ 

บ้านที่แวน โกะห์ เช่าไว้เพื่อทำสตูดิโอในฝันกับโกแกงมีชื่อว่า ‘บ้านสีเหลือง (The Yellow house)’ เนื่องจากแวน โกะห์ เลือกตกแต่งบ้านด้วยดอกทานตะวันซึ่งเป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์และศรัทธา การใช้สีเหลืองเป็นสีหลักของบ้านยังหมายถึงมิตรภาพและความหวังที่แวน โกะห์ กำลังตั้งตารอคอย

“ไม่มีสีน้ำเงินหากปราศจากสีเหลืองและสีส้ม ถ้าคุณวาดภาพด้วยสีน้ำเงิน แน่นอนว่าคุณต้องลงสีเหลือง ตามด้วยสีส้ม”

ความหลงใหลในสีเหลืองของแวน โกะห์ ไม่เพียงปรากฏขึ้นในภาพดอกทานตะวัน แต่ยังปรากฏในงานชิ้นสำคัญอย่าง The Starry Night ที่ศิลปินเอกผู้นี้เลือกใช้สีน้ำเงินที่เป็นสีโทนมืดแทนท้องฟ้ายามค่ำคืนแต้มด้วยสีเหลืองแทนการเคลื่อนที่ของดวงดาว เคยมีคนตีความว่าความหลงใหลในการใช้สีเหลืองของเขาอาจมาจากผลข้างเคียงของยารักษาลมชักที่เขารับประทานอยู่ ทำให้สายตาของแวน โกะห์ สามารถจับสีเหลืองได้ชัดเจนมากกว่าสีอื่นใด 

 

“ถ้าคุณยังรักฉัน โปรดผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้บนต้นโอ๊ก” การรอคอยและการกลับมาที่ถูกแทนค่าด้วยริบบิ้นสีเหลือง

‘Tie a yellow ribbon round the ole oak tree’ ประโยคดังจากเพลงฮิตของ Tony Orlando and Dawn วงดนตรีในยุค 1970 มอบความหมายใหม่ให้สีเหลืองในยุคใกล้ปัจจุบัน เพลงที่ว่าโด่งดังในช่วงปี 1973 โดยมีเนื้อหากล่าวถึงนักโทษพ้นคดีที่กำลังเดินทางกลับบ้านด้วยรถบัส เขาอยากรู้ว่าคนรักยังรอเขาอยู่หรือไม่จึงส่งจดหมายใจความว่า ‘ถ้าคุณยังรักผม โปรดผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้บนต้นโอ๊ก’

สีเหลืองที่มีความหมายเกี่ยวกับการรอคอยปรากฏขึ้นครั้งแรกในอังกฤษแต่มาโด่งดังในสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ย้อนกลับไปในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ (ปี 1642–1651) มีบทกวีและเพลงพื้นบ้านมากมายที่ใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีเหลืองแทนความอาลัย และการรอคอยทหารกล้าของสุภาพสตรี (“She wore a yellow ribbon”)

เมื่อชาวอังกฤษอพยพเข้ามาในอเมริกา ความเชื่อเรื่องริบบิ้นสีเหลืองก็ข้ามน้ำตามมหาสมุทรมาด้วย ในกองทัพสหรัฐฯ เพลงมาร์ช “Round Her Neck She Wears a Yeller Ribbon” (For Her Lover Who Is Far, Far Away) โดย George A. Norton ถือเป็นเพลงเดินแถวคลาสสิกที่ถูกใช้มาตั้งแต่ปี 1917 

สัญลักษณ์สีเหลืองกลายเป็นกระแสสังคมใหญ่ในปี 1979 เมื่อ กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนา โกรธที่สหรัฐอเมริการับอดีตกษัตริย์ Shah Pahlavi แห่งอิหร่านให้ลี้ภัยในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา จึงได้จับตัวผู้ทำงานสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะรานจำนวน 52 คน เป็นตัวประกันนานถึง 444 วัน 

เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกกันว่าวิกฤตการณ์ตัวประกันอิหร่าน (the 1979 US-Iranian hostage crisis) ในระหว่างการกักตัวประกัน Penne Laingen ภรรยาของนักการทูตท่านหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า การทำร้ายชาวอิหร่านในสหรัฐฯ ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น เธอเองก็หวังให้สามีและตัวประกันทุกคนกลับบ้านมาอย่างปลอดภัย เธอจึงผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้กับต้นไม้

คำกล่าวของ Laingen ประทับใจคนฟัง กลายเป็นกระแสสังคมที่สำคัญแห่งยุค ผู้คนแห่กันผูกริบบิ้นบนต้นไม้ใกล้บ้าน และแม้แต่ต้นคริสต์มาสใหญ่ของปีนั้น (National Christmas Tree) ก็ยังถูกประดับด้วยริบบิ้นสีเหลืองเพื่อส่งข้อความให้ตัวประกันว่าพวกเขายังเป็นที่รักและไม่ถูกลืม

ในประเทศแถบเอเชีย การใช้ริบบิ้นสีเหลืองก็มีให้เห็นอยู่เช่นกัน ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีการผูกริบบิ้นสีเหลืองเพื่อแสดงความอาลัยให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุเรือเซวอลล่มระหว่างเดินทางไปเกาะเซจูในปี 2014 เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน ผู้ปกครองจำนวนมากจึงผูกริบบิ้นสีเหลืองไว้ที่ Sewol memorial เพื่อหวังให้วิญญานลูกๆ สามารถเดินทางกลับบ้าน และมีชีวิตที่สงบสุขในปรโลก

ที่เกาะฮ่องกง ริบบิ้นสีเหลืองเคยถูกใช้เพื่อต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ Kacey Wong ศิลปินชาวฮ่องกง กล่าวถึงการเลือกใช้สีเหลืองเป็นตัวแทนการต่อสู่ว่า “ในประเทศตะวันตก ริบบิ้นสีเหลืองหมายถึงความเศร้าหรือความเห็นอกเห็นใจ ชาวฮ่องกงจึงใช้สีนี้เพื่อแสดงถึงความเห็นใจที่นักศึกษาอายุยังน้อย ต้องเป็นฝ่ายออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมจากผู้ใหญ่ในรัฐบาลจีน”

ส่วนในอนาคต สีเหลืองจะถูกใช้และแปรเปลี่ยนความหมายไปยังไง คงขึ้นอยู่กับการเลือกใช้สีเหลืองของเราในปัจจุบัน


อ้างอิง

artelisaart.blogspot.com

webexhibits.org

artsandcollections.com

shutterstock.com/blog/mellow-yellow-symbolism-history

theguardian.com

hyperallergic.com

mimimatthews.com

l.facebook.com

uk.lush.com

pravdareport.com

byrdie.com

AUTHOR

PHOTOGRAPHER

ฟาน.ปีติ

ปีติชา คงฤทธิ์ นักออกแบบภาพประกอบประจำนิตยสาร a day งานอดิเรกคือการทำอาหารคลีน, วิ่ง และต่อกันพลา