ก่อนหน้านี้ทะเลเป็นสีแดง? เรื่องเล่าของ ‘สีฟ้า’ สีที่มีชื่อเรียกช้าแต่มีค่ากว่าทองคำ

Highlights

  • แม้มนุษย์จะเห็นท้องฟ้าหรือผืนน้ำอยู่ทุกวันแต่กว่ามนุษยชาติจะรู้จัก 'สีฟ้า' เป็นสีที่ไม่ถูกนิยามชื่อและไม่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์มาจนถึงศตวรรษที่ 6
  • นักวิชาการหลายยุค หลากสาขา ช่วยกันหาคำตอบว่าทำไม คำอธิบายหนึ่งคือในอดีต ตาของมนุษย์แยกแยะเฉพาะสีที่ต้องรับรู้เพื่อเอาตัวรอด เราจึงรู้จักสีขาวและดำก่อนเพราะสื่อถึงเวลากลางวันและกลางคืน และรับรู้สีแดงตามมาเพราะเกี่ยวข้องกับเลือดและความปลอดภัย
  • แม้สีฟ้าจะมีชื่อเรียกช้ากว่าสีอื่นๆ มาก แต่เมื่อชาวยุโรปเริ่มรู้จักการใช้สีฟ้า มันก็กลายเป็นของหรูหราเพราะสีฟ้าสกัดมาจากแร่ที่หายากกระทั่งศิลปินหลายคนวาดภาพไม่เสร็จเพราะไม่สามารถซื้อสีฟ้าได้นั่นเอง

สีฟ้า,/p>“การตอบกลับความเชื่อใจด้วยความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญในยุคปัจจุบัน สองคุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่เราค้นพบในสีฟ้าคลาสสิก (Classic Blue)”

Leatrice Eiseman ผู้บริหารของ Pantone บริษัทที่ทำธุรกิจการพิมพ์และการออกแบบในสหรัฐอเมริกาให้สัมภาษณ์ไว้ในวันที่เขาประกาศว่าสีประจำปี 2020 คือสีที่ดูเหมือนจะธรรมดา แต่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์มากล้น

“มั่นคง แน่วแน่ น่าเชื่อถือ เป็นคุณสมบัติของสีฟ้า เรามักคิดว่าสีนี้สื่อถึงบุคลิกพึ่งพาได้ เต็มไปด้วยความสุขุมและความรู้ สีฟ้ายังเป็นสีธรรมชาติของท้องฟ้าในยามราตรีที่บอกให้เรารู้ว่าตราบใดที่ขอบฟ้าไม่มีเขตกั้น ความคิดของเราก็สามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าที่ตาเห็น” 

สำหรับใครหลายคนโดยเฉพาะชาวยุโรปและอเมริกา สีฟ้าถือเป็นสีที่มีคนชอบมากที่สุด (อ้างจากผลสำรวจความคิดเห็น) อาจเพราะความจริงที่ว่าสีฟ้าอยู่คู่มนุษย์มาอย่างช้านาน เป็นสีตามธรรมชาติที่เรามองเห็นได้บนท้องฟ้าและมหาสมุทร แต่รู้หรือไม่ว่า ‘สีฟ้า’ เป็นสีที่ไม่ถูกนิยามชื่อและไม่ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ชิ้นไหนมาจนถึงศตวรรษที่ 6

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

น้ำมีอยู่ทุกที่ แต่มันมีสีแดง

ใครที่เป็นแฟนมหากาพย์ อีเลียตและโอดิสซีย์ ของโฮเมอร์อาจจะคุ้นคำเปรียบเปรยชื่อดังที่กวีชาวกรีกโบราณบรรยายมหาสมุทรว่า ‘มีสีแดงเช่นเดียวกับไวน์’ (wine-red sea) คัมภีร์ไบเบิลเองก็เคยบรรยายลักษณะของทะเลไว้อย่างหลากหลาย เช่น ทะเลนั้น ‘กว้างใหญ่ไพศาล’ ‘เงียบสงบ’ ‘เต็มไปด้วยพายุร้าย’ 

ถึงอย่างนั้น เมื่อพูดถึงสี กลับไม่มีสักครั้งที่ทะเลได้รับการบรรยายว่ามีสีฟ้า ในบรรดาบันทึกเก่าแก่มากมาย สีแดง สีดำ และสีขาวเป็นสามสีแรกที่ได้รับการบรรยายว่าเป็นสีของทะเล ตามมาด้วยสีเขียวและสีเหลืองตามลำดับ

William Gladstone นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในยุคควีนวิกตอเรียเคยทำการศึกษาเรื่องสีในขณะที่ยังมีอาชีพเป็นนักวิชาการ เขาศึกษาวรรณกรรมยุคคลาสสิกมากมายและได้กล่าวถึงการใช้สีแสนประหลาดของโฮเมอร์ ยกตัวอย่างเช่น ขนแกะและหนังวัวมีสีม่วง น้ำผึ้งมีสีเขียว ม้ากับสิงโตมีสีแดง ในขณะที่ท้องฟ้าที่พร่างพราวไปด้วยดวงดาวให้สีเหมือนเหล็กและทองแดง เขาจึงสรุปในรายงานการค้นคว้าของเขาว่า “คนในยุคโบราณอาจมองเห็นโลกด้วยสีที่ต่างไป” และนั่นอาจมีต้นเหตุมาจากการรับแสงของดวงตา 

William Gladstone

Lazarus Geiger นักภาษาศาสตร์ชาวเยอรมัน ศึกษาที่มาของสีฟ้าเช่นเดียวกัน เขาพบว่าคำว่า ‘สีฟ้า’ พัฒนามาจากคำศัพท์โบราณสำหรับเรียกสีดำและสีเขียว ถ้าให้เรียงลำดับ คำว่าสีแดงและสีดำเกิดขึ้นก่อนเป็นสองสีแรก ตามมาด้วยคำว่าสีเหลืองและสีเขียว จากนั้นจึงมีคำว่าสีม่วงตามด้วยคำว่าสีฟ้า

ลำดับการเกิดและที่มาของคำที่ใช้บรรยายลักษณะของสีน่าจะมีความสำคัญบางอย่างที่นักภาษาศาสตร์ยังไม่สามารถไขได้

ไม่กี่ปีต่อมานักกายวิภาคศาสตร์ชาวสวีเดนอีกท่านทำงานวิจัยคล้ายกันและค้นพบว่ามีผู้คนจำนวนมากป่วยเป็นโรคที่ทำให้ไม่สามารถมองเห็นสีได้ตามปกติ เขาเรียกอาการนี้ว่า ‘ตาบอดสี’ Hugo Magnus จักษุแพทย์และนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันนำรีเสิร์ชทั้งหมดมาสรุปรวมกันและสันนิษฐานว่ามนุษย์ในยุคโบราณนั้นอาจป่วยด้วยอาการตาบอดสี มันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้คนยุคก่อนหน้าเห็นสีฟ้าเข้มกว่าที่ควรเป็น ทำให้สีนั้นมีโทนคล้ายกับสีแดงไวน์ (ดังที่โฮเมอร์บรรยายไว้)

‘อะไรสักอย่าง’ ที่นักวิชาการยุคก่อนร่วมกันตั้งคำถามได้รับการอธิบายในยุคปัจจุบันว่าเป็นเรื่องของระบบประสาทและสมอง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เกิดจากวิวัฒนาการของมนุษย์ ในยุคโบราณที่ไม่มีความจำเป็นต้องแยกสีสันต่างๆ มากมายเพื่อเอาตัวรอด คนเราจึงรู้จักสีขาวกับสีดำก่อนเพื่อแยกเวลาระหว่างช่วงกลางวันและกลางคืน จากนั้นเรารู้จักสีแดงเพราะมันเป็นสีของเลือดและการระวังภัย สีเขียวและสีเหลืองปรากฏตามมาเมื่อมนุษย์รู้จักการเพาะปลูกและต้องแยกพืชผักผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้ออกจากกัน สีแดง สีเขียว และสีเหลือง ยังเป็นสีที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ในขณะที่สีฟ้าปรากฏน้อยมากในสัตว์และพืชผักชนิดต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

การทำงานของสมองและระบบภาษานั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อเราเริ่มมีการผลิตคำใหม่เพื่อจำแนกแยกสี สมองเราจะเริ่มแยกสองสีที่แตกต่างออกจากกันและจดจำมันที่ละน้อย ข้อสันนิษฐานนี้อาจไขข้อข้องใจได้ว่าทำไมสีฟ้าถึงปรากฏคำเรียกชื่อช้ากว่าสีอื่น

DANIEL SMITH Lapis Lazuli Genuine, PrimaTek Original Oil

ทำไมท้องฟ้าถึงมีสีฟ้า ว่าด้วยการทดลองของลีโอนาร์โด ดา วินชี

คำถามที่ว่าทำไมท้องฟ้าถึงมีสีดังที่เห็นเป็นสิ่งที่อัจฉริยะผู้ยิ่งใหญ่ ตั้งแต่ลีโอนาร์โด ถึงนิวตัน เรย์ลี และไอน์สไตน์ให้ความสนใจมาตลอด ลีโอนาร์โดตรวจสอบคำอธิบายหลายอย่างจนสุดท้ายมาลงตัวที่คำอธิบายซึ่งถูกต้องในระดับพื้นฐาน

“ฉันขอบอกว่าเหตุที่ท้องฟ้ามีสีฟ้าไม่ใช่ด้วยสีของมันเอง แต่เกิดจากความชื้นในอากาศ ความชื้นนี้จะระเหยในทุกๆ นาที และอนุภาคเล็กจิ๋วของมันจะพุ่งกระทบรังสีของพระอาทิตย์ ทำให้ตัวมันส่องสว่างในสีฟ้าที่มีระดับสีต่างกัน” เขากล่าวไว้ในสมุดบันทึก “หากท่านไปยังยอดเขาสูง ท้องฟ้าจะดูมีสีเข้มขึ้นตามสัดส่วนของอากาศที่ลดลง ยิ่งขึ้นสูงมากเท่าไหร่ท้องฟ้าก็จะเหลือแต่ความมืด” 

ลีโอนาร์โดรู้เรื่องนี้ได้ยังไง? หนึ่งในการทดลองน่าสนใจของเขาคือการใช้ควัน โดยตัวเขาก่อควันขึ้นจากเศษไม้และวางผ้ากำมะหยี่สีดำไว้ด้านหลัง เมื่อปล่อยให้แสงแดดตกกระทบควันเมื่อไหร่จะพบว่าควันทั้งหมดที่อยู่ระหว่างดวงตากับความมืดของผ้ากำมะหยี่ “มีสีฟ้าอันละเอียดอ่อน”

1490 Leonardo Da Vinci Colour Portrait is a photograph by Paul D Stewart | pixels.com

‘เลือดสีฟ้า’ และค่าของสีที่มีมากกว่าทองคำ

สีฟ้ามีความเชื่อมโยงกับความหรูหราซึ่งมีที่มาย้อนกลับไปในช่วงต้นยุคกลาง เมื่อการย้อมผ้าสีฟ้ายังเป็นเรื่องยากลำบาก ชาวบ้านจึงนิยมสวมผ้าที่ย้อมจากสีธรรมชาติทั่วไป เช่น สีน้ำตาลและสีเขียว ในขณะที่สีฟ้าเป็นสีที่ต้องนำเข้าจากกลุ่มประเทศในดินแดนแถบเมดิเตอเรเนียนเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มบุคคลที่สามารถซื้อหาเสื้อผ้าสีฟ้าได้ ถ้าไม่ใช่คนรวยมากก็ต้องมีสายเลือดสำคัญเกิดในตระกูลสูง ภาพวาดในศตวรรษที่ 15 มักนำเสนอบุคคลสำคัญที่มีสายเลือดยิ่งใหญ่ในสีฟ้า ยกตัวอย่างเช่น ภาพของกษัตริย์ชาเลอร์มาญกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 (เซนต์หลุยส์) ที่ปรากฏกายในอาภรณ์สีฟ้า แม้แต่ของประดับเกียรติของพระองค์อย่างดาบก็ยังมีสีฟ้าอย่างตั้งใจ 

พระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แม้แต่ดาบของพระองค์ก็เป็นสีฟ้า โดย Jean Bourdichon (1457-1521)

สีฟ้านั้นไม่ได้มีราคาแพงแค่ในวงการแฟชั่น แต่เป็นของหายากเหมือนกันในวงการศิลปิน ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา สีฟ้าที่ได้รับคำนิยามว่าสวยงามที่สุดเรียกกันว่า True Blue หรือ Ultramarine  

Ultramarine เป็นรากศัพท์จากภาษาละตินมีความหมายตรงตัวว่า beyond the sea เพราะการจะได้มาซึ่งสีนี้ มนุษย์ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปซื้อหามาจากทวีปเอเชีย สีที่ว่านี้สกัดมาจากลาพิสลาซูลี่–หินกึ่งอัญมณีนำเข้าจากเหมืองของประเทศอัฟกานิสถาน ด้วยความที่การเดินทางในยุคนั้นยากลำบากและใช้เวลานาน การซื้อหาลาพิสลาซูลี่เพื่อมาสกัดเป็นสีฟ้าจึงสูงค่ากว่าการซื้อหาทองคำทำให้ศิลปินหลายท่านถอดใจวาดภาพไม่เสร็จเพราะไม่มีทุนมากพอสำหรับค่าสี (หนึ่งในนั้นคือไมเคิลแองเจโล) หรือตัดงบประมาณด้วยการใช้สีฟ้าจากอะซูไรต์ก่อนใช้อัลตร้ามารีนทาทับแค่ชั้นบางๆ (หนึ่งในศิลปินที่หัวใสที่ใช้วิธีประหยัดงบแบบนี้คือราฟาเอล)

ด้วยความที่สีฟ้าเป็นของหายาก สีฟ้าในยุคนั้นจึงมักถูกเก็บไว้เพื่อวาดลงในภาพของบุคคลสำคัญระดับสูง หรือตัวละครที่มีเกียรติที่สุดของภาพ (เช่นพระเยซูหรือพระแม่มารี)

Jan Gossaert, The Adoration of the Kings, 1510–15. ภาพจาก Wikimedia Commons.

Gérard David. The Annunciation. 1506.

William Glass นักปรัชญาในยุคเดียวกันได้กล่าวถึงความสูงส่งและสูงค่าของสีฟ้าว่า “สีฟ้าปรากฏในทุกที่ ในน้ำ ในน้ำแข็ง แม้แต่ในเปลวไฟ สีฟ้ามีอยู่ในที่มืดและสว่างที่สุด สีฟ้าปรากฏบนผิวผลไม้และปรากฏอยู่ในเงาของดินโคลน แม้สีฟ้าจะมีอยู่ในทุกที่ แต่มนุษย์ก็ไม่อาจแตะต้องสีฟ้าในเปลวไฟหรือนำสีฟ้าของท้องฟ้ามากักเก็บไว้ในครอบครอง”  

อย่างไรก็ดีสีฟ้าเริ่มมีราคาถูกลงเมื่อสีย้อมอินดิโก้ (หรือสีคราม) จากเอเชียเริ่มเข้ามาตีตลาดตะวันตก อินดิโก้ที่ว่านี้ให้สีฟ้าเข้มสวยสำหรับการย้อมผ้าแถมมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบสำหรับย้อมในยุโรป ทำให้ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีต่างพากันออกมาแบนการนำเข้าสีเพราะเกรงว่าจะกระทบอุตสาหกรรมย้อมผ้าภายในประเทศ การปิดกั้นทางการค้าไม่เป็นผล ภายในศตวรรษที่ 16-17 การย้อมสีฟ้าด้วยอินดิโก้ก็ได้รับความนิยมแพร่หลายส่งผลให้สีฟ้าไม่ใช่ของหายากอีกต่อไป

ในภาพยนตร์เรื่อง Tulip Fever (2017) นางเอกของเรื่องซึ่งเป็นภรรยาของพ่อค้าร่ำรวยชาวดัชต์ใส่เสื้อสีฟ้าเพื่อบ่งบอกฐานะ

ปรัสเซียนบลู สีน้ำเงินกับการร่วมชาติสัญลักษณ์ ว่าด้วยการจดจำสงครามโลกครั้งที่ 1

หลายคนอาจจดจำการรวมชาติเยอรมนีจากนโยบายเลือดและเหล็กของบิสมาร์ก แต่รู้หรือไม่ว่าสัญลักษณ์แทนการรวมชาติเยอรมนีไม่ได้มีสีแดงหรือดำเหมือนดังเหล็กและเลือด แต่มีสีฟ้าซึ่งที่มีมาจากดอกไม้เล็กๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป เรียกกันว่าดอกคอร์นฟลาวเวอร์

เรื่องราวการนำดอกไม้สีฟ้ามาเป็นดอกไม้แทนการรวมชาติเยอรมนีย้อนกลับไปหลายปีก่อนหน้า ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ในขณะที่ยังเป็นเจ้าชายน้อยอายุเพียง 10 พรรษาต้องหลบหนีการตามล่าของกองทัพนโปเลียนไปซ่อนตัวอยู่ที่ไร่ข้าวโพดในพื้นที่ห่างไกล วิลเฮล์มในวัยเยาว์ไม่เข้าใจปัญหาการเมือง ได้แต่ร้องไห้ให้กับความยากลำบากที่ต้องเผชิญ เพื่อเป็นการปลอบใจ พระมารดาของพระองค์นำดอกคอร์นฟลาวเวอร์ซึ่งเป็นดอกไม้ที่พบได้ทั่วไปมาร้อยเป็นมงกุฎดอกไม้เพื่อมอบให้เจ้าชาย

หลายปีผ่านไปไกเซอร์ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ในวันนั้นว่า นอกจากจะทำให้ทรงระลึกถึงความลำบากของพระมารดา ดอกคอร์นฟลาวเวอร์ยังเป็นสัญลักษณ์ที่ย้ำเตือนถึงความอ่อนแอของปรัสเซียในอดีต จึงทรงฝันจะเปลี่ยนปรัสเซียให้เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถคว้าชัยในการรวมชาติเยอรมนีได้เป็นผลสำเร็จ 

วิลเฮล์มที่ 1 พระมารดา และพี่ชาย หลบหนีจากปรัสเซียหลังกองทัพรบแพ้นโปเลียน

ไม่มีใครทราบว่ามงกุฎดอกไม้ที่ทรงได้รับมีสีอะไรแต่ไกเซอร์ทรงเลือกให้ ‘คอร์นฟลาวเวอร์สีฟ้า’ เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ เหตุผลหนึ่งเพราะทรงโปรดสีฟ้าเป็นทุนเดิม อีกเหตุผลเพราะสีฟ้าสื่อถึงศรัทธา ความซื่อสัตย์ และความมั่นคงแน่วแน่ (ในสมัยนั้นมีการเรียกบุคคลที่มั่นคงแน่นอนว่า true blue) นอกจากนี้สีฟ้ายังเป็นสีของราชวงศ์ปรัสเซียมานาน (สีประจำราชวงศ์ปรัสเซียมีชื่อเรียกว่า ปรัสเซียนบลู อันที่จริงออกจะเข้มกว่าคอร์นฟลาวเวอร์สีฟ้าอยู่นิดหน่อย)

สำหรับไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 1 ดอกคอร์นฟลาวเวอร์เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญกับราชวงศ์ปรัสเซียไม่น้อยไปกว่า fleur-de-lys (ดอกลิลลี่) ของราชวงศ์บูร์บงแห่งฝรั่งเศส และเมื่อเวลาผ่านไป ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ 2 ผู้เป็นหลานชายก็ใช้ดอกไม้ดอกเดียวกันเป็นสัญลักษณ์ของทหารเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นดอกไม้นี้จึงมีความหมายถึงทหารเยอรมันที่เข้าร่วมการรบในสงครามโลกครั้งแรกพ่วงเข้าไปด้วย 

ที่ตลกร้ายคือดอกคอร์นฟลาวเวอร์มักขึ้นใกล้กับดอกป๊อปปี้–สัญลักษณ์ของทหารที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 หลักๆ หมายถึงทหารของฝ่ายสัมพันธมิตร ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะจินตนาการว่าหากเยอรมนีเป็นฝ่ายชนะสงคราม ดอกไม้ที่แทนการสูญเสียของทหารในสงครามโลกครั้งที่ 1 อาจไม่ได้มีสีแดงแบบดอกป๊อปปี้ แต่อาจมีสีฟ้าแบบดอกคอร์นฟลาวเวอร์ก็เป็นได้

ดอกคอร์นฟลาวเวอร์โดย Isaac Levitan


อ้างอิง

Buchmann, S. (2016). The Reason for Flowers: Their History, Culture, Biology, and How They Change Our Lives. Simon and Schuster.

Giloi, E. (2011). Monarchy, myth, and material culture in Germany 1750-1950. Cambridge University Press.

เลโอนาร์โด ดา วินชี โดย  Walter Isaacson แปลโดย  ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ สำนักพิมพ์: Be(ing)

arc-japanese-translation.com

artsandculture.google.com

bbc.com

hyperallergic.com

pantone.com

thedoctorweighsin.com

theparisreview.org

AUTHOR

ILLUSTRATOR

JARB

นักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ JARB ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าสไตล์ตัวเองจริงๆ คืออะไร แต่ก็ยังรู้สึกสนุกกับการทำงานหลากหลายสไตล์ โดยหวังว่าสักวันจะเจอสไตล์ที่ชอบจริงๆ สักที