เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว พวกเราชาว a team เคยสนทนากับ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ในวาระที่เขาเพิ่งออกผลงานหนังสือการ์ตูน รักเปื่อย (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ ที่นี่) และหนึ่งในคำพูดจากการพูดคุยในวันนั้นยังติดอยู่ในใจผมจนถึงทุกวันนี้
“ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา งานของเราทุกอย่างคือการตั้งคำถาม และเรายังไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหนเลยตลอดทั้งชีวิต บางทีก็เคว้งๆ เหมือนกัน อย่างตอนทำวงดนตรี วงเราก็ไม่ได้เป็นนักดนตรีจ๋า ตอนเขียนการ์ตูนก็เขียนด้วยความอยากเขียน ไม่ได้คิดว่าจะทำเป็นอาชีพ พอทำหนัง เราก็ไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับที่ไหน มีสิ่งเดียวในชีวิตที่รู้สึก belong to คือลูกกับเมีย พวกเขาเป็นยูนิตเล็กๆ ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง วันไหนที่งอนกับเมียเราจะรู้สึกฉิบหายวายป่วงมาก ส่วนอย่างอื่น ทุกวันนี้ก็ลอยตัวไปเรื่อยไม่ได้รู้สึกมีความสุขหรืออะไร”
จริงๆ แล้วถ้านอกจากบทสัมภาษณ์ในวันนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาคงเดชยังคงพูดเรื่องนี้ในสื่ออื่นๆ เรื่อยๆ บางครั้งอาจจะออกมาในรูปแบบผลงานของเขาเองที่บอกเล่าเรื่องราวของตัวตนไปจนถึงการวิพากษ์ประเทศ ซึ่งพอรู้เรื่องนี้อยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่นาทีแรกๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Where We Belong เริ่มต้น ผมรับรู้ได้แทบทันทีว่าคงเดชกำลังตั้งคำถามไปพร้อมกับพวกเราคนดูอีกครั้ง เพียงแต่คราวนี้คำถามของเขาหันหัวใส่ ‘ความรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่ง’ ที่ตัวเขาเองมีอยู่
Where We Belong เล่าเรื่องของ ‘ซู’ (นำแสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) หญิงสาวที่กำลังเข้าสู่วัยเปลี่ยนผ่านและรู้สึกว่าตัวเองเกิดผิดที่ เกลียดบ้านเกิดและเกลียดอาชีพที่ตกทอดของครอบครัวอย่างกิจการก๋วยเตี๋ยวหมูที่เธอต้องตื่นมาขายทุกวัน จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อซูได้รับทุนไปเรียนต่อเมืองนอก แต่ก็ต้องเจอแรงต้านจาก ‘เบล’ (นำแสดงโดย แพรวา สุธรรมพงษ์) เพื่อนรักที่ไม่อยากให้ซูไป และยังเห็นค่าการมีอยู่ของซูในทุกๆ วัน
เพียงแค่ฟังพล็อตคร่าวๆ ผมคิดว่าหลายคนก็พอเดาได้ว่าครั้งนี้คงเดชกำลังพูดถึงเรื่องที่เขารู้สึกอยู่ในใจมานานอีกครั้ง แต่หลังจากดูจบ ผมรู้สึกว่าทุกๆ อย่างที่อยู่ใน Where We Belong ไปไกลกว่า ‘เรื่องส่วนตัวของคงเดช’ เพราะมันสามารถทำงานกับความ ‘ไม่เป็นส่วนหนึ่ง’ ของพวกเราทุกคน
คุณเคยรู้สึกว่าไม่มีตัวตนไหม
เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นอากาศธาตุท่ามกลางคนมากมายหลายหลากที่เดินสวนไปมาหรือเปล่า
หรือสิ่งที่คุณคิดเห็น แต่สังคมนี้ ประเทศนี้ที่ใครต่างพร่ำบอกว่าเป็นบ้านที่ดีนักหนา กลับกลายเป็นคุณที่ไม่ได้รู้สึกห่าอะไรแบบนั้นเลย
คุณเคยเป็นไหม
ถ้าคำตอบคือใช่ ผมคิดว่าการปล่อยตัวปล่อยใจและขบคิดไปกับภาพยนตร์ตลอด 2 ชั่วโมงคือการโบยตีความรู้สึกแย่ในใจตัวเองให้เจ็บแสบดีนักแล
Where We Belong ดำเนินเรื่องผ่านตัวละครของซูเป็นหลัก สิ่งที่เธอค่อยๆ เจอตามเส้นเรื่องเป็นเหมือนคำบอกเล่า (และตัดพ้อก่นด่า) ของคงเดชกับความรู้สึกในใจตัวเอง หลายๆ สถานการณ์ ภาพยนตร์ค่อยๆ เสิร์ฟให้เรามาด้วยจังหวะเนิบช้าแต่ก็ได้มาซึ่งช่องว่างในหนังให้เราได้ใช้เวลาขบคิด ยิ่งถ้าเราวิเคราะห์จนเจอว่าสถานการณ์นี้ผู้กำกับจะสื่อถึงอะไร เราจะค่อยๆ รู้สึกต่อติดกับความต่อไม่ติดของซูและสังคมมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งนั่นตามมาด้วยอีกสิ่งหนึ่งที่ผมค่อนข้างมั่นใจว่าถ้าใครได้ดูจะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือการแสดงของเจนนิษฐ์
เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ของหนังเรื่องนี้ดำเนินไปพร้อมกับความคิด ความอ่าน และความรู้สึกของซู อาจจะพอพูดได้ว่าตัวละครนี้แบกหนังไว้อย่างแท้จริง ดังนั้นถ้านักแสดงทำไม่ถึง มีโอกาสสูงมากที่คนดูจะไม่อินและละสายตาจากหนังเรื่องนี้ไปตั้งแต่แรก ความกดดันทั้งหมดนี้เลยตกมาอยู่บนบ่าของเจนนิษฐ์ ซึ่งสำหรับผม เธอสอบผ่านมากๆ
จริงๆ แล้วถ้าใครติดตามเธอมาจะพอรู้ว่าเจนนิษฐ์มีความฝันและความตั้งใจในด้านการแสดง โอกาสจากการเป็น BNK48 ทำให้เธอลองงานสายนี้เรื่อยๆ แต่สำหรับ Where We Belong ประสบการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบททดสอบใหญ่ที่ดีที่สุดแล้วที่เธอเคยได้รับ การถ่ายทอดความรู้สึกของการไม่เป็นส่วนหนึ่ง ความกดดันที่ไม่อาจต่อติดกับสังคม หรือความเจ็บปวดที่ได้แต่เก็บไว้ กับหลายๆ สิ่งที่ไม่เข้าใจ ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการแสดงเป็นหลัก เพราะในเรื่องซูมีบทพูดค่อนข้างน้อย นั่นเองจึงเรียกร้องพลังและความสามารถจากเจนนิษฐ์มากๆ ซึ่งเธอเอาอยู่และทำให้คนดูเชื่อได้จริงๆ ว่าซูคิดอะไร
Where We Belong เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าในแง่ของการรีวิวนั้นเขียนออกมาได้ยากพอสมควร อะไรหลายๆ อย่างในหนังล้วนต้องอาศัยการตีความออกมาจากประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งการเปิดเผยบางส่วนนั้นอาจลดอรรถรสตอนดูภาพยนตร์ไป ดังนั้นที่ผมพอจะบอกได้คือถ้าคุณชอบหนังที่ต้องขบคิด นี่เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าคุณน่าจะลองไปดู หรือถ้าคุณชอบผลงานที่ผ่านมาของคงเดช ผมก็คิดว่าคุณน่าจะลองไปดูเพราะหนังเรื่องนี้มีความเป็นคงเดชอยู่สูงมาก
หรือยิ่งถ้าคุณเป็นมนุษย์ล่องหน (เหมือนผม) เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าไม่อาจเป็นส่วนหนึ่งกับที่ใด กับใคร หรือกับโลกนี้ การไปดูหนังเรื่องนี้อาจทำให้คุณได้คิดถึงความรู้สึกของตัวเองในจุดนี้มากขึ้น แต่มันจะช่วยให้คุณดีขึ้นหรือเป็นการโบยตีตัวเองให้หนักกว่าเดิม ผมแนะนำให้คุณลองไปหาคำตอบเองในโรงภาพยนตร์
และสุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณจะรู้สึกแบบไหน ผมขอให้คุณเจอ ‘ที่ที่เป็นของคุณ’ ในท้ายที่สุด
สถานที่ที่คุณ belong ต่อมันอย่างแท้จริง